ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตของมนุษยชาติที่กลืนกินชีวิตเดิมของทุกคน มันอาจกลืนกินในรูปแบบของการสูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียอาชีพการงาน สูญเสียเงินเก็บก้อนสุดท้าย ไปจนถึงสูญเสีย ‘ความหวัง’ 

ปี 2020 เป็นปีที่ทุกคนตั้งตารอให้วัคซีนพัฒนาเสร็จ ขณะที่ปี 2021 เราตั้งตารออีกครั้งว่าประชากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนครบหรือไม่ และปี 2022 ที่กำลังใกล้เข้ามานี้ เราจะตั้งตารออะไรต่อ? 

สำหรับประเทศไทยที่ถูกความล้มเหลวของรัฐดึงให้ต้องอยู่กับโควิดนานขึ้น อาจยังนึกภาพ ‘โลกหลังโควิด-19’ ไม่ออก แม้ปัจจุบันจะมีการประกาศคลายล็อกดาวน์บางส่วนลง พร้อมอ้าแขนเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา แต่การเปิดประเทศไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ รัฐยังมีโจทย์อีกมากมายที่ต้องตามแก้ โดยเฉพาะโจทย์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ชื่อของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นที่รู้จักดีในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ ด้วยประวัติการศึกษาที่เพียบพร้อมและประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group แพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena, Shopee และ SeaMoney โดยก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suisse รวมถึงทำงานกระทรวงการคลังประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation (GIC)

เรียกว่าสันติธารเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินอันดับต้นๆ ของเอเชียเลยก็ว่าได้ การันตีจากการเป็นคนแรกจากอาเซียนที่ได้เชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ เพื่อช่วยออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community) 

ช่วงกลางปี 2021 ระหว่างทั่วโลกกำลังเจอสายพันธุ์เดลตาเล่นงานอย่างหนัก เป็นจังหวะเดียวกับหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ THE GREAT REMAKE สู่โลกใหม่ ของสันติธารออกมาพอดี หนังสือเล่มนี้ชวนจินตนาการว่านอกจากโควิดจะทำให้แผลในสังคมถูกเปิด อะไรบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร รวมถึงต้องวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ทันต่อโลกใหม่หลังโควิด 

บทสนทนานี้อาจกระตุกความคิดบางอย่างเพิ่มเติมว่า โลกหมุนเร็วขึ้นเพียงใดเมื่อเราหยุดอยู่กับที่ และคำถามตอนต้นที่ว่า ปี 2022 เราจะตั้งตารออะไรต่อ? อาจไม่สำคัญเท่าไทยจะเขียนอนาคตอย่างไร เพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวนแห่งการเปลี่ยนแปลง

เข้าใจว่าตอนที่คุณเขียนหนังสือ THE GREAT REMAKE เป็นช่วงก่อนที่โลกจะเจอคลื่นการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เมื่อจุดสิ้นสุดของวิกฤตลากยาวออกไปมากกว่าที่คิด ในเชิงภาพรวมมีอะไรน่ากังวลเพิ่มเติมบ้าง 

ในหนังสือจะมีแบ่งว่า ระยะสั้นเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรถ้ายังอยู่ในโควิด และมีช่วงโลกหลังโควิด ตอนนั้นผมคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่าจะตัดช่วงโควิดทิ้งไปเลยดีไหม เพราะดูเหมือนว่าเราจะพ้นแล้ว แต่เอะใจขึ้นมาเพราะบางประเทศเริ่มกลับมาระบาด และเริ่มมีข่าวกลายพันธุ์นิดๆ จึงเป็นไปได้ว่าจะยังไม่จบเร็วๆ นี้ ซึ่งก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูก และในหนังสือมีพูดไว้ในส่วนชื่อว่า Recovery กรอบแนวคิดที่สำคัญมากในวิกฤตนี้ เราต้องคิดเป็น ‘3 อยู่’ นั่นคือ อยู่รอด, อยู่เป็น, และ อยู่ยืน 

อยู่รอด คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนเรากำลังดับไฟ เรากำลังจมน้ำอยู่และพยายามตะเกียกตะกายหาอะไรเกาะ หลังจากนั้นเราจะเข้าไปอยู่ในเฟสกลาง ซึ่งเฟสกลางเป็นเฟสที่คนไม่ค่อยพูดถึง คนจะชอบคิดว่าแก้ปัญหาได้แล้วก็จบ บางคนคิดว่ากลับไปเป็น Old Normal ด้วยซ้ำ แต่ในหนังสือเราบอกว่า 1. พอจบเฟสแรกจะยังไม่ได้เข้าสู่เฟสหลังทันที แต่มีเฟสกลางที่เรียกว่า อยู่เป็น มาคั่น เป็นส่วนของ New Abnormal ที่ยังไม่ปกติ เรายังเดินทางในต่างประเทศไม่ได้ ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย ยังต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง เฟสนี้เป็นเฟสที่มีความเสี่ยงสูง วันหนึ่งเราอาจจะไปคอนเสิร์ต ใช้ชีวิตเหมือนปกติเลย อีกวันเราอาจจะต้องกลับมาล็อกดาวน์ นี่จึงเป็นเฟสที่ยาวเหมือนกัน ดีไม่ดีปีหน้า 2022 เราจะยังอยู่ในเฟสนี้ เราต้องคอยรับมือกับความเสี่ยงว่าโควิดมันไม่มีวันหายไปไหน มันยังอยู่กับเราอยู่ อันนี้เป็นเฟสที่ผมว่าแตกต่างกว่าตอนผมเขียนหนังสือ ในใจผมไม่ได้คิดว่า ‘อยู่เป็น’ จะนานขนาดนี้ การก้าวผ่านมันนานกว่าที่คิด เพราะการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้เป็นการต่อสู้ระหว่างวัคซีนกับไวรัสอยู่เรื่อยๆ 

ถัดมาเฟสสุดท้ายเป็นเฟส อยู่ยืน ถ้าเมื่อกี้คือเรือแตก เราหาเรือเล็กเกาะ พายเรือเล็กไปสักพักหนึ่ง เราต้องขึ้นเกาะ แต่เกาะที่เราจะขึ้นไม่ใช่เกาะเดิม ด้วยความที่เราอยู่เฟสตรงกลางนานขึ้น ผมว่าโลกจะยิ่งเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ที่จะเปลี่ยนไป ผมสรุปเป็น 6D ได้แก่ 1. Debt สภาวะหนี้ท่วม 2. Divided ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น 3. Deglobalisation การเสื่อมถอยของโลกาภิวัตน์ 4. Divergence การเปลี่ยนขั้วอำนาจท่องเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับตะวันตก 5. Digitalisation การเข้าสู่โลกดิจิทัล 6. Degradation of environment ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม

 ยกตัวอย่างเรื่องดิจิทัล ถ้าเราใช้ดิจิทัลแค่ครึ่งปี ก็ไม่เหมือนเราต้องใช้สองปีเต็ม หรือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าโควิดจบตั้งแต่ปีที่แล้ว ความเหลื่อมล้ำจะไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าโควิดอยู่นาน 6D จะยิ่งแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะ ถ้าตอบสั้นๆ ว่าอะไรเพิ่มเติมมาก็คือเฟสตรงกลาง ‘อยู่เป็น’ จะนานขึ้นกว่านี้อีก และทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิดรุนแรงมากขึ้นกว่าเก่า

ตอนนี้หลายประเทศกำลังขยับจากช่วง ‘อยู่รอด’ ไปสู่ ‘อยู่เป็น’ ใช่ไหม 

บางประเทศเริ่มคิดเรื่องอยู่เป็นบ้าง แต่ต้องอยู่รอดก่อน ผมว่าไทยตอนนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องอยู่เป็นด้วยซ้ำ ไทยตอนนี้คิดแค่เรื่องอยู่รอดอย่างเดียว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามเหมือนกัน สิงคโปร์เริ่มคิดเรื่องอยู่เป็นแล้ว สหราชอาณาจักร อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้เริ่มคิดเรื่องอยู่เป็นมากขึ้น แม้แต่จีนก็คิดเรื่องอยู่เป็น 

โดยอยู่เป็นแต่ละที่ไม่เหมือนกัน คีย์เวิร์ดอยู่เป็นคือ Risk หรือความเสี่ยง เราต้องยอมระดับหนึ่งว่าปี 2022 อาจจะยังไม่จบ ไวรัสยังอยู่กับเรา อีกด้านหนึ่งคือถ้าเราปิดเศรษฐกิจ ปิดไม่ให้มีการท่องเที่ยว เราจะไปรอดได้แค่ไหน นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มเลือก และต้องพยายามบาลานซ์ให้ได้ ซึ่งในเฟสนี้ตัวเลือกแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราอาจจะเห็นด้านสุดโต่งของจีนที่เกือบจะออกไปทางซีโร่โควิด คือไม่ให้มีเลย ถ้ามีปุ๊บ ปิด และตรวจหา เอาให้หายก่อน จนเกือบศูนย์ถึงจะเปิดใหม่ แต่มีหลายบริบทที่ทำให้จีนทำอย่างนั้นได้ 1. จีนค่อนข้างจะชินกับวิธีนี้แล้ว 2. จีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่มาก การที่เขาปิดประเทศไม่ให้ต่างชาติเข้ามา เศรษฐกิจเขาก็ยังไปได้ เพราะเขาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างเยอะ 

อย่างสหราชอาณาจักรก็สุดโต่งไปเลย เขาเลือกจะยอมอยู่กับโควิดไปนี่แหละ อยู่กันในแง่ที่ว่าเป็น Freedom Day มีเคสมีอะไร ไม่เป็นไร ลุยไป เพราะอังกฤษพึ่งพาเศรษฐกิจนอกประเทศค่อนข้างเยอะ ทั้งภาคการเงินที่ต้องเดินทาง การส่งออก การท่องเที่ยว และลอนดอนเป็นฮับด้วย จึงยากจะปิด ส่วนสิงคโปร์ผมว่าอยู่ตรงกลาง ยังหาจุดยืนตัวเองอยู่ว่าอยากจะไปทางไหน ใจอยากจะเอียงไปอังกฤษ แต่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะไปได้ไกลขนาดไหน ยังไม่กล้าบริหารความเสี่ยงว่าคนจะติดเชื้อได้มากขนาดไหน นี่จะเป็นโจทย์สำคัญว่าสุดท้ายแต่ละประเทศจะหาจุดยืนของตัวเองยังไง ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและโครงสร้างของประเทศด้วย

 ของไทยถ้าให้ทาย ผมว่าจะต้องคล้ายกับสิงคโปร์ในระดับหนึ่ง เพราะประเทศเราไปทางจีนไม่ได้แน่นอน เราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าสิงคโปร์ด้วยซ้ำ ไทยพึ่งพาท่องเที่ยวอย่างเดียว คือ 12% ของจีดีพี แต่สิงคโปร์ 5% ของจีดีพี เราพึ่งพาเยอะขนาดนั้น ยังไงเราก็ต้องมีการเดินทาง ไม่งั้นเศรษฐกิจไปไม่รอด แต่โจทย์ที่ตามมานอกจากวัคซีนต้องครบ เราจะต้องมีการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เวลามีการระบาดขึ้นมาจะได้สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีเรื่องของการเจรจาเปิดการเดินทางใหม่ ซึ่งผมมองว่าในอนาคตจะเหมือนกับทำเขตการค้าเสรี (FTA) เลย เราต้องเจรจาเป็นประเทศๆ ไปว่าจะตกลงกันยังไง คุณจะใช้ระบบไหน วัคซีนพาสปอร์ตอาจไม่พอด้วย ต้องเป็น Digital Health Pass มีข้อมูลตั้งแต่ว่าคุณเคยป่วยไหม ฉีดวัคซีนอะไร เมื่อไร และมีข้อมูลว่าเดินทางไปที่ไหนมา โดยต้องรู้กันข้ามประเทศ ซึ่งถ้าเราไม่ได้เจรจา และไม่ได้อยู่ในเซฟลิสต์ของประเทศอื่น เขาก็จะไม่เดินทางมาประเทศเรา เพราะกลับประเทศไปเขาจะโดนกักตัว เพราะฉะนั้นต้องมาเจรจากัน มันไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว กระทรวงต่างประเทศก็ต้องมานั่งคุยด้วย

อีกประเด็นหนึ่งจากการเรียนรู้ครั้งที่ผ่านมาคือ เราต้องประสานงานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจกับสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ พื้นที่ไหนกลายเป็นสีแดง เราต้องมีการปิดส่วนนั้น และมีมาตรการเยียวยาตามมาทันที ไม่ต้องรอให้วันจันทร์คอยประชุมใหม่ สองอย่างนี้ต้องมาด้วยกัน และที่สำคัญมากคือเรื่องการทำ Digitalization (การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กร) อันนี้ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายพวกนี้จะช่วยลดความเสี่ยงทางการค้า เราทำการศึกษาทั่วทั้งภูมิภาคมาเหมือนกันว่า ร้านค้าที่ทำ E-commerce หรือเดลิเวอรีต่างๆ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยกว่า แต่ก็ยังกระทบอยู่ดี 

ในประเทศไทยมีกรณีที่ผู้คนเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐ หรือเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาออกไปจำนวนมากจากการเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี โดยเฉพาะเมื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและขยายโอกาสให้พวกเขาอีกทางหนึ่ง 

ผมว่าประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะดิจิทัลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็สร้างความเหลื่อมล้ำในตัวเอง ดิจิทัลเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต และมีสะพานที่เราต้องสร้างเพื่อจะไปถึงเกาะดิจิทัล หลักๆ มี 2 อย่างคือ 1. สัญญาณอินเทอร์เน็ตของเราดีไหม พอเราใช้เยอะๆ ใช้เพื่อการศึกษา เพื่อการทำงานด้วย สัญญาณต้องดี และราคาต้องไม่แพง 2. เรื่องของ Device หรือเครื่องมือที่ใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป แท็บเล็ต หรือว่าโทรศัพท์มือถือ จริงอยู่ว่าคนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือค่อนข้างเยอะ แม้แต่เด็กกลุ่มรายได้น้อยก็มีแต่อาจยังมีไม่พอหรือแพงเกินไป ซึ่งก็มีรัฐบาลหลายประเทศใช้วิธีแจกเลย นั่นเป็นก้อนแรกของสะพานใหญ่ที่ต้องสร้าง

ก้อนที่สองเป็นเรื่องของทักษะ ทักษะในการใช้ดิจิทัลมีตั้งแต่ระดับเบสิก เช่น จ่ายเงินออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ หาข้อมูลในกูเกิล จนถึงอะไรที่มากกว่าการใช้ทักษะในเรื่องออนไลน์อย่างเดียวแต่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างที่ดีมากๆ คือเรื่องของการศึกษา การศึกษาออนไลน์ไม่ใช่แค่ว่าอาจารย์นั่งพูดอยู่หน้าจอเหมือนกับออฟไลน์ แล้วฉายสไลด์อย่างเดียว อันนี้ไม่ใช่อย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนวิธีทำคอนเทนต์ว่าทำยังไงให้เด็กมีส่วนร่วม ทำยังไงจะดูได้ว่าเด็กเข้าใจหรือหลับไปแล้ว การตรวจข้อสอบก็ทำยังไงไม่ให้โกง สิ่งเหล่านี้มีเทคนิคเยอะมาก

ก้อนที่สามเป็นเรื่องการเข้าถึงทุน ปัญหาส่วนใหญ่คือ มีคนอยากจะทำร้านขายของออนไลน์หรือเปิดร้านอาหาร แต่อาจจะไม่มีเงินทุนเริ่มต้น จึงต้องมีขั้นตอนให้เขาเข้าถึงทุนได้ และเป็นประเด็นในเมืองไทยเหมือนกัน เพราะหนี้ครัวเรือนไทยสูงมาก แต่กระจุกตัวค่อนข้างเยอะ ตัวเลขก่อนโควิดจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่ามีหนี้ 60% อยู่ในมือลูกหนี้ 10% เท่านั้น คนเข้าไม่ถึงหนี้เยอะกว่าอีก การเข้าถึงทุนจึงสำคัญ และสุดท้ายเราจะต้องมีความ Empathy ต้องเข้าใจว่าออนไลน์เป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง มันไม่สมบูรณ์หรอก และเราต้องคิดด้วยว่าคนเข้าถึงออนไลน์ไม่ได้จะทำยังไง อย่าไปคิดว่าร้านอาหารคุณทำเดลิเวอร์รีสิ คุณเป็นร้านขายปลีกก็ลงออนไลน์เป็น E-commerce สิ ใช่ ออนไลน์มันมาช่วย แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด

ยกตัวอย่างสิงคโปร์ จะคล้ายๆ ไทย ตรงที่เขามีแอพลิเคชันเหมือน หมอชนะ เราชนะ เป็นตัวช่วยติดตามการเดินทาง แต่หลายคนไม่ได้มีสมาร์ตโฟน หลายคนอาจจะไม่อยากจะใช้สมาร์ตโฟนตัวเองเพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือบางคนเป็นเด็ก สิงคโปร์เขาเลยแก้ปัญหาด้วยการทำ TraceTogether เป็นพ็อกเก็ตเครื่องเล็กๆ มาแจก ทุกคนทั้งเกาะสามารถหยิบได้ฟรี นี่เป็น Empathy ที่ดี ที่คิดว่าคนไม่มีมือถือก็สามารถเช็กอิน-เช็กเอาต์ได้ การใช้ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่เราต้องคิดถึง Customer Journey เป็น Design Thinking ด้วยว่าคนที่เขาเข้าไม่ถึง เราจะแก้ปัญหาให้เขายังไง

ปัญหาโควิดเข้ามาตอกย้ำให้เห็นว่าระบบราชการบ้านเรามีปัญหาขนาดไหน และคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้คือประชาชน ในเชิงเศรษฐกิจหากมีการปฏิรูประบบราชการจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าระบบระเบียบราชการหลายอย่างทำให้ขาดความคล่องตัว มีการศึกษาที่ทางทีดีอาร์ไอทำเอาไว้ค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับการโละกฎหมายเก่าๆ ว่าถ้าเราทำสำเร็จ จะลดต้นทุนทางเศรษฐกิจได้ไปประมาณแสนกว่าล้านบาท ซึ่งเยอะมาก ประมาณ 0.9% ของจีดีพี แปลว่ามากกว่าเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เราสร้างกันสารพัดอีก แถมทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลย และโลกข้างหน้าเป็นโลกที่เราต้องอ่านกันยาวๆ เป็นโลกของสตาร์ทอัพ ทุกคนจะต้องมีจิตวิญญาณของสตาร์ทอัพระดับหนึ่ง แม้แต่ในระดับรัฐ บางทีเรากำลังเห่อแพลตฟอร์ม จะรัฐก็ดี จะอะไรก็ดี ล้วนสร้างแพลตฟอร์มหมด แต่อย่าไปเอาแค่สร้างแอพฯ หวังให้คนใช้เยอะๆ แพลตฟอร์มมีอะไรมากกว่านั้น

สิ่งที่เราควรจะเอามาศึกษาไม่ใช่ตัวแพ็กเกจจิงว่าเป็นอะไร แต่ควรไปดูปรัชญา ไปดูโมเดลของมันว่าคืออะไร อะไรที่ทำให้แพลตฟอร์มเติบโตได้ ซึ่งผมก็ไปถอดมาว่าเราจะบริหารรัฐแบบแพลตฟอร์มยังไง สรุปสั้นๆ คือจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นครูหน้าห้อง มาเป็นครูหลังห้อง ครูหน้าห้องคือครูแบบ Top Down ครูรู้ดีที่สุด นักเรียนฟังเราอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นครูหลังห้องจะกลับกัน เราอาจจะตั้งโจทย์ให้เป็นกรอบกว้างๆ จากนั้นเด็กก็ไปนั่งทำงานกลุ่มกันเองตามโจทย์ และเราแค่อยู่ข้างหลัง คอยดูว่าเด็กติดขัดตรงไหน เราอาจจะไม่ใช่ผู้รู้ดีที่สุด เด็กอาจจะรู้ดีกว่าก็ได้ อันนี้คือปรัชญาแบบ Bottom Up มาก ซึ่งตรงกับแพลตฟอร์มของโลกสตาร์ทอัพ เวลาเราพัฒนาอะไร เราไม่ได้ทำเองทุกอย่าง นี่เหมือนกัน รัฐไม่ควรทำเองทุกอย่าง บางอย่างรัฐควรปล่อยให้เอกชนทำ เพราะเอกชนทำได้ดีและตรงประเด็นกว่า แต่บทบาทของรัฐเหมือนครูที่ดูแลเด็ก เด็กติดอะไรก็เข้าไปช่วยเติมเต็ม เข้าไปช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เข้าไปช่วยอุดหนุนเงินบางอย่าง และจะต้องมองประชาชนเป็นเหมือนผู้บริโภค มองผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดว่ากฎหมายเป็นแบบนี้ เราทำไม่ได้ ต้องตั้งโจทย์ก่อนว่ ปัญหาของประชาชนคืออะไร พวกเขาต้องการอะไร และเราต้องไปหาคำตอบมาให้ได้ว่าจะทำอะไรเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้น

นี่เป็นอีกปรัชญาหนึ่งเลยในการบริหารประเทศ และจำเป็นที่เราจะต้องขยับเข้าไปสู่โมเดลนั้นให้มากที่สุด  แต่ต้องยอมรับว่ารัฐเองก็มีข้าราชการดีและเก่งจำนวนมาก หลายคนพยายามจะสู้กับระบบ พยายามจะช่วยประชาชนจริงๆ แต่เขาก็เหนื่อย เพราะระบบมันรุงรัง สิ่งหนึ่งที่ผมไม่อยากเห็นคือ พี่ๆ น้องๆ คนทำงานเหล่านี้เขาหมดกำลังใจ หมดไฟ และเลือกยอมแพ้ ถ้าเรายิ่งแก้เรื่องพวกนี้ได้เร็ว เรายิ่งช่วยพวกเขา

ปีที่ผ่านมา เอเชียเป็นภูมิภาคที่รับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดี แต่ปีนี้เรากลายเป็นพื้นที่ที่ต้องรับศึกหนัก ขณะหลายประเทศก็ฉีดวัคซีนได้ล่าช้า การหยุดชะงักของเศรษฐกิจเอเชียกระทบต่อภูมิภาคอื่นยังไง

มีสองมุม ตอนนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นในแบบที่เรียกว่า ‘K-Shaped’ การส่งออกฟื้นตัวค่อนข้างดี และหลายประเทศที่เน้นส่งออก เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างไทย เวียดนาม สิงคโปร์ หรือแม้แต่เกาหลีที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างเยอะ การส่งออกโตดีมาก แต่หากประเทศคู่ค้าเรากลับมาติดโควิดใหม่ เขาจะมีกำลังซื้อมากแค่ไหน นี่เป็นเรื่องของดีมานด์ที่จะกระทบอันแรก ซึ่งมีให้เห็นบ้าง แต่อาจจะด้วยตลาดใหญ่ของเรายังเป็นจีน อเมริกา และยุโรปที่ฟื้นตัวดี เราจึงยังไม่ได้กระทบมากนัก

อันที่สองเป็นซัพพลายหรือห่วงโซ่ต่างถิ่นถูกกระทบ เห็นได้ค่อนข้างชัดเหมือนกัน จีนนี่ชัดมาก เพราะจีนเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมโลก พอเมืองท่าเขากลับมาติดโควิดรอบใหม่ ซัพพลายเชนก็ได้รับผลกระทบตามกันไปหมด เมือง Shipping เป็นประเด็นใหญ่เหมือนกัน ค่า Shipping สูงขึ้นเยอะ และมีหลายปัญหา เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน หรือ Shipping มีของตีกลับมาจำนวนมาก คนที่ทำงานด้านนี้ก็ขาดแคลน เพราะหลายคนป่วยเป็นโควิด ฉะนั้นเรื่อง Shipping ได้รับผลกระทบมาก และกระทบทุกผลิตภัณฑ์เลย เพราะการค้าของโลกใช้เรือเป็นส่วนใหญ่

อีกอันเป็นพวกเกี่ยวกับ Ships Electronic จีนอาจจะไม่กระทบเท่าไร แต่เห็นได้ชัดในเวียดนาม ที่โรงงานหลายแห่งโดนปิดไป และห่วงโซ่อุปทานของพวกอิเล็กทรอนิกส์สำคัญมาก บวกกับเทรนด์ดิจิทัลมาแรงด้วย ความต้องการเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ยิ่งสูง เมื่อดีมานด์เยอะกว่าซัพพลาย ต้นทุนจึงสูง ค่า Shipping ก็สูง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาระยะยาว เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความตะกุกตะกักระยะสั้นมากกว่า ผมว่ามันแย่ตรงตอนนี้ส่งออกเป็นพระเอกของเอเชียอยู่ รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้นถ้าสะดุดที เราไม่มีอะไรเหลือแล้ว

หนี้ครัวเรือนก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก การที่ทางแบงก์ชาติคาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสแตะ 93% ซึ่งตัวเลขในความเป็นจริงอาจสูงกว่านั้น ไทยจะเจอปัญหาอะไรตามมา และเราควรต้องรับมืออย่างไรดี

ผมคิดว่าอาจจะมี 2-3 ข้อที่เป็นเรื่องใหญ่ของเรื่องนี้ ประเด็นแรกมันมีสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘แผลเป็น’ บางทีถ้าเศรษฐกิจแย่เฉยๆ และฟื้นขึ้นมายังไม่เท่าไร แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่และมีหนี้ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทธุรกิจหลายแห่งคงต้องล้มละลายไป ล้มละลายไม่พอ หลายคนไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ก็คือเจ้าตัวนั่นแหละ เอาบ้านไปค้ำไว้แล้วเป็นหนี้ เพราะฉะนั้น ต่อให้วันที่เศรษฐกิจฟื้น ถ้าเขาจะมาทำธุรกิจใหม่ เขาจะเอาเงินจากไหนมาจ้างคนใหม่ ในเมื่อยังติดหนี้อยู่ รายได้เข้ามาก็เอาไปใช้จ่ายหนี้หมด เปรียบเทียบได้กับนักกีฬาที่พอบาดเจ็บ เราต้องทำกายภาพบำบัดอยู่นาน กว่าจะกลับไปลงเล่นใหม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่แม้โควิดจบ มันจะยังมีแผลเป็นที่ติดตัวเราไปนานพอสมควร และต้องทำกายภาพบำบัดอีกนานอยู่เหมือนกัน 

อีกประเด็นคือความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นเพราะหนี้กระจุกตัว คนเข้าถึงสินเชื่อเจอปัญหาเยอะก็จริง แต่อย่างน้อยเขายังเข้าถึงสินเชื่อได้ ขณะคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงสินเชื่อสถาบันการเงินเลย หลายคนจึงต้องไปพึ่งเงินนอกระบบ พอไปพึ่งเงินนอกระบบมากขึ้น ก็จะเริ่มมีปัญหาในระยะยาว และเป็นปัญหาที่แก้ยากด้วย เพราะอยู่นอกระบบ เราเลยมองไม่เห็น

นี่จึงเป็นประเด็นใหญ่ว่า เราจะทำยังไงให้คนเข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อธนาคารทั้งหลายเข้ามาในระบบมากกว่าออกไปกู้นอกระบบ มันจึงผูกกับประเด็นที่สามคือ ปัญหาสังคมที่อาจจะตามมา ปัญหาหนึ่งแน่ๆ เลยคือเรื่องความเครียด หนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เครียดมากที่สุด เพราะเป็นเหมือนกรรมเก่าที่ใช้เท่าไรก็ใช้ไม่หมด และเราเห็นกรณีที่ไม่อยากเห็นเยอะแยะไปหมดในเรื่องคนเครียดจนไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต และวังวนของหนี้อาจจะมีผลกระทบไม่ใช่แค่ในเจเนอเรชันของเรา แต่ยังมีผลในเจเนอเรชันของลูกหลานต่อไปด้วย ถ้าหลายครัวเรือนมีหนี้เยอะจนทำให้ตกลงไปอยู่ในความยากจน อีกปัญหาที่ตามมาคือ เด็กอาจจะต้องหยุดเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ปัจจุบันมีตัวเลขของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประมาณการว่าจะมีเด็ก 6-7 หมื่นคนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา นั่นเป็นปัญหาใหญ่เพราะจะทำให้เกิดวังวนของความเหลื่อมล้ำซ้ำเข้าไปอีก กลายเป็นว่าพ่อแม่ฐานะการเงินไม่ดี ลูกก็จะฐานะการเงินไม่ดีต่อไปในอนาคต เนื่องจากเขาไม่ได้รับการศึกษาที่ควรจะได้ และไปจำกัดโอกาสเขาในอนาคตอีก 

แต่ผมอยากพูดข้อดีอย่างหนึ่งของประเทศไทยบ้าง ไทยถือว่ามีสถาบันการเงินค่อนข้างเข้มแข็งอยู่ บางประเทศเขาอาจจะต้องกังวลว่าหนี้ขนาดนี้ สถาบันการเงินไม่มีหนี้เสียท่วมเลยเหรอ และสถาบันการเงินจะมีปัญหาไหม ตรงนี้ไทยไม่น่าห่วงมาก สถาบันการเงินเราค่อนข้างจะไปได้ดี และมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างเข้มแข็ง โจทย์จะกลับกันว่าทำยังไงให้สถาบันการเงินช่วยคนได้มากกว่านี้

จีดีพีปีนี้เราน่าจะอยู่ที่ติดลบอีก ขณะที่ปีก่อนติดลบ 6.1% มีวิธีไหนไหมในการปรับโครงสร้างเพื่อให้โตได้ ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังโงหัวขึ้นแล้ว 

ในระยะปีนี้ถึงปีหน้า เราต้องดูว่าจะทำยังไงให้จีดีพีแย่น้อยได้มากที่สุด ถ้าไล่ดูตามเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ตัวแรกการส่งออกนั้นไปได้ดีอยู่แล้ว ผมว่าโจทย์ใหญ่ของการส่งออกคือ เราจะทำยังไงให้เอสเอ็มอีได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งออกมากขึ้น ส่งออกตอนนี้ค่อนข้างกระจุกตัว และเป็นผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ๆ พอสมควร ซึ่งก็มีหลายวิธี วิธีหนึ่งคือใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่ในประเทศจับมือกับเขาว่าช่วยพาเอสเอ็มอีไปส่งออกข้างนอกมากขึ้นได้ไหม เหมือนสิงคโปร์ที่มี Enterprise Singapore คอยทำงานกับตลาดต่างประเทศ ให้เขาเปิดตลาดหรือหาตลาดให้ เรื่องพวกนี้น่าคิดในด้านของการส่งออก 

ตัวที่สอง การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวที่สำคัญที่สุด การส่งออกฟื้นตัวเร็ว แต่การท่องเที่ยวจะเป็นตัวสุดท้ายที่จะฟื้น ไม่ว่าจะประเทศอะไรก็ตาม การท่องเที่ยวจากต่างประเทศคิดเป็น 12% ของจีดีพี ถ้ารวมในประเทศด้วยคือ 18% ของจีดีพี พวกแซนด์บ็อกซ์อะไรต่างๆ ยังต้องทำต่อ แต่ต้องเป็นแซนด์บ็อกซ์จริงๆ นะ แซนด์บ็อกซ์แปลว่าเราลองถ้าไม่เวิร์กหรือมีปัญหาอะไรก็ปรับเปลี่ยนไป ไม่ใช่ดาหน้าทำต่อไปเรื่อยๆ และการท่องเที่ยวเรายังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าลองทำอยู่เหมือนกัน ตอนนี้เรารับคนมากไม่ได้ จึงต้องคิดว่าทำยังไงให้คนอยู่นานมากที่สุด ซึ่งมีธีมหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง Work Vocation หรือการทำงานในต่างประเทศ จริงๆ คนชอบมาเมืองไทยอยู่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่คนอยากมากันเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์พวกนั้นด้วย แต่คงต้องใช้เวลา

ระหว่างนี้จึงต้องมีตัวคอยมาช่วยก่อนการท่องเที่ยวจะฟื้นเต็มที่นั่นก็คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล หรือ Government Spending ที่ต้องมาแก้ขัด แต่รัฐบาลยังมีเงินหรือเปล่า เพราะถ้าดูหนี้สาธารณะเราอยู่ที่ประมาณ 56-57% ของจีดีพี ใกล้ 60% แล้ว ถ้าในมุมมองของผม ผมว่ามีนะ และอย่างที่ท่านเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกมาพูดว่า กู้เพิ่มอีกล้านล้านก็ทำได้ ถ้าหนี้เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพีก็ยังอยู่ในระดับรับได้ ดอกเบี้ยที่เรากู้ค่อนข้างถูก และหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ เพราะฉะนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรในเรื่องนั้น แต่คำถามคือกู้แล้วเอาไปใช้ในประเภทที่ได้ประโยชน์สูงสุดหรือเปล่า 

ถามว่าอะไรบ้างที่ควรจะใช้ ผมคิดว่าควรพยายามยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือพยายามผูกโยงโจทย์ระยะสั้นกับโจทย์ระยะยาวเท่าที่ทำได้ โจทย์ระยะสั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการเยียวยา การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พยายามมองว่าถ้าเราต่อยอดไปช่วยแก้ปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างได้พร้อมกันจะยิ่งดี ยกตัวอย่างเรื่อง Health Care ที่ค่อนข้างชัดเจน อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะใช้จ่ายอย่างมาก เรื่องของวัคซีน เรื่องความสามารถในการตรวจหาเชื้อ เพราะเรายังตรวจหาเชื้อน้อยอยู่ เรื่องของ Hospitel เรื่องของสถานที่กักตัวทั้งหลายพวกนั้นต้องทำหมด ลงทุนได้เลย ไม่ใช่ว่าโควิดจบแล้วจะไม่ได้ใช้อีก เพราะโควิดมันอยู่นาน และต่อไปเราอยากจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพอยู่แล้ว เราอยู่ในสังคมสูงอายุด้วย เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับ Health Care จะได้ใช้

อันที่สองคือเรื่องของ Digital Infrastructure ดิจิทัลเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องใช้จ่ายแน่นอน ลงทุนไปกับพวก Data Center ระบบคลาวด์ 5G ให้สัญญาณอะไรต่างๆ ดีขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เสียเงินเปล่าแน่นอน เพราะไม่ได้แค่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ช่วยในระยะยาวด้วย ถ้าลงทุนด้านดิจิทัลแล้ว ต้องลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยในเรื่องของโลจิสติกส์ด้วย เพราะเมื่อทำ E-commerce จะมีการขนส่งตาม

อันที่สามพวก Green Infrastructure ลงทุนในเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ว่าจะโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับพวก EV (Electric Vehicle) สถานีบริการชาร์จไฟฟ้าต่างๆ ผมว่าเรื่อง Green Electronic มาแรง และเป็นหนึ่งในเรื่องเทรนด์ 6D ที่ผมพูดถึงในหนังสือ อันนี้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย และสามารถช่วยวันข้างหน้าได้อีกเยอะ 

สุดท้ายเป็นเรื่องของการศึกษา การศึกษาอันหนึ่งที่ผมสนใจคือ นโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เขาบอกว่า Child Care เกือบจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานตัวใหม่เลย เขาอยากจะลงทุนโดยเน้นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยดูแลเด็กและการศึกษาเด็กปฐมวัย เน้นลงเงินไปกับตรงนั้น เพราะผลตอบรับที่ได้ในอนาคตมันสูงมาก ยิ่งเด็กเล็กยิ่งสำคัญ บางทีเราไปคิดว่าเด็กโตสำคัญ แต่จริงๆ วัยปฐมวัยสำคัญมาก และการทำ Child Care มีผลทางอ้อมอย่างหนึ่งคือ ทำให้ผลกระทบของโควิดกับผู้หญิงลดน้อยลง ผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบเยอะ เพราะต้องทำงานด้วย ต้องมาดูแลเด็กด้วย ถ้ามีสถานที่ดูแลเด็กดีๆ จะสามารถช่วยให้ผู้หญิงทำงานได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นอีกประเด็นที่น่าลงทุน ถ้ากู้เงินมาแล้ว ควรลงทุนไปกับพวกนี้ ลงไปเลย จัดเต็มที่ เพราะมันไม่ใช่แค่แก้ปัญหาจีดีพีระยะสั้น แต่ช่วยเรื่องโครงสร้างในระยะยาวด้วย 

มีบทวิเคราะห์ไม่นานนี้เรื่องโลกไม่สนใจไทย ไทยไม่ได้มีเสน่ห์ดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นเรื่องของการรับจ้างผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมีจุดเด่นอะไรหากเทียบกับชาติอื่น เราอาจปรับตัวไม่ทันกับคลื่นดิสรัปชันนี้ ในฐานะที่อยู่ข้างนอก มองกลับเข้ามาที่บ้านเราอย่างไร

ก็เป็นประเด็นใหญ่นะครับ สมัยผมทำงานอยู่ภาคการเงิน ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกันว่ามีความเสี่ยงสูงมากเลยที่ไทยจะเริ่มถูกเมิน ถ้าเปรียบเทียบไทยเป็นนักเรียน เราเป็นนักเรียนที่ไม่ได้แย่นะ ไม่ใช่เด็กเกเรที่อาจารย์หมายหัวไว้ แต่เราไม่ใช่ตัวเด่นแน่นอน เราเป็นเด็กที่ดูกลางๆ คือดีนะ แต่จำไม่ค่อยได้ เพราะเราตกเทรนด์ไปหลายอย่าง ไทยเลยขาดสิ่งที่เด่นๆ 

และถ้าพูดถึงในมุมของนักลงทุนต่างประเทศ เขามองว่า ข้อดีของไทยคือเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างดี เช่น หนี้สาธารณะ ที่ก่อนโควิดไม่ได้สูงมาก ถึงมีโควิดมาก็ยังไม่ได้ถือว่าสูงเกินไป ด้านเงินเฟ้อก็ไม่ได้สูง ค่าเงินบาทออกจะแข็งไปด้วยซ้ำ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงินอ่อนเหมือนสมัยต้มยำกุ้ง ส่วนหนึ่งเพราะเราเรียนรู้มาจากช่วงต้มยำกุ้งด้วย กระทรวงการคลังเลยระวังเรื่องนี้มาก ด้านเศรษฐกิจมหภาคจึงดี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ต่างชาติยังชอบซื้อพันธบัตรไทยอยู่ แต่ถ้ากลับไปดูด้านตลาดหุ้น ตรงนี้จะเริ่มมีประเด็น เพราะเราไม่ค่อยมีการเติบโต เรามีเสถียรภาพ แต่เราขาดการเติบโต เศรษฐกิจไทยตอนนี้แบบไม่นับรวมโควิด โตเฉลี่ยประมาณแค่ 3% ถือเป็นรถที่ขับได้ไม่ค่อยเร็วเท่าไร ไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจ เรามีธุรกิจดี เก่ง เด่น แต่เป็นธุรกิจหน้าเดิมๆ เราขาดธุรกิจที่กองทุนต่างชาติเขามองว่าเซ็กซี่ เช่นพวกเทคโนโลยีทั้งหลาย ฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เหมือนกับว่าเราขาดความน่าสนใจ เปรียบเทียบได้เหมือนกับเราเป็นรถที่ขับช้าๆ ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยมั่นคง แต่ช้าจนทุกคนแซงหมด 

ถามว่าทำยังไงถึงจะแก้ตรงนี้ได้ ก็วกกลับไปเรื่อง Health Care, Green Economy และเรื่องดิจิทัลทั้งหลาย พวกนั้นต้องทำ อาจจะเสริมอีกอันหนึ่งคือ ไทยต้องคิดมิติใหม่เกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมโยงกับโลกให้มากขึ้น บางประเทศที่เขามีตลาดเศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่มาก บางครั้งเขาไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องการเชื่อมโยงกับโลกมาก เช่น จีน ซึ่งเขาก็เชื่อมนะ แต่เขาพัฒนาตลาดธุรกิจในประเทศของเขา แค่นั้นก็ดึงดูดคนได้มหาศาลแล้ว จีนชัดเจน อินเดียชัดเจน อินโดนีเซียก็เป็นแบบนั้น ประชากรเป็นร้อยล้านคนของอินโดนีเซียเขาดึงดูดคนได้มหาศาล และถ้าไปดูในวงการเทคโนโลยีสตาร์ทอัพของอินโดนีเซีย แค่ขายคนในประเทศได้ ก็ไต่ขึ้นไประดับยูนิคอร์นได้ไม่ยาก แต่ถ้าไปดูอีกด้านหนึ่งเลยอย่าง สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เศรษฐกิจเล็กและตลาดในประเทศไม่พออยู่แล้ว ตั้งแต่วันแรกพวกเขาตั้งเป้าเลยว่าจะทำให้คนเก่งๆ จากทั่วโลกมาตั้งธุรกิจหรือมาทำธุรกิจประเทศเราให้มากที่สุด 

 สิงคโปร์ประมาณ 5-6 ปีที่แล้วแทบจะไม่มีสตาร์ทอัพออฟฟิศเลย แต่ปัจจุบันที่มีมากนั้น เพราะเขาบอกว่าเราสร้างตลาดเองยาก ฉะนั้นเราจะใช้วิธีดึงดูดพวกกองทุนใหญ่ๆ พวก Venture Capital (ธุรกิจเงินร่วมลงทุน) Private Equity (หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์) กองทุนอะไรต่างๆ ให้มาอยู่ในประเทศเรา เราจะดึงดูดพวกสตาร์ทอัพ พวก Incubator (โครงการบ่มเพาะ) ที่ช่วยฟักตัว ดูแล และก่อสร้างสตาร์ทอัพมาอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดยให้สิ่งจูงใจอะไรต่างๆ สารพัด ไปดึงคนมาเรื่อยๆ ไปจีบแหลกเลย เพื่อให้เขามาอยู่ในประเทศ เมื่อคนพวกนี้มาอยู่ในประเทศเขา สตาร์ทอัพที่ไม่ใช่ของสิงคโปร์ก็อยากจะมาตั้งธุรกิจเพราะ Ecosystem มีทั้งคนให้ลงทุน มีทั้งทีมวิจัย มี Talent ต่างๆ บริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ ของอเมริกา หรือบริษัทของจีนมาสร้างเต็มไปหมด มันเลยทำให้ Ecosystem ดีขึ้นเรื่อยๆ 

ถึงบริษัทหลายแห่งส่วนใหญ่จะเป็นของต่างชาติ แต่เขาจ้างคนสิงคโปร์ คนสิงคโปร์หลายคนออกจากบริษัทไป เขาก็เอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองเคยทำไปตั้งบริษัทของตัวเอง ตอนนี้ยูนิคอร์นหลายตัวในสิงคโปร์เป็นศิษย์เก่าพวกนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นเลยว่าการทำยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับโลกให้แน่นแฟ้นขึ้น มีผลค่อนข้างเยอะในการช่วยพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสิงคโปร์ แม้แต่อินโดนีเซียเอง เวียดนามเอง จะเห็นว่าหลายคนที่เก่งๆ บางทีเป็นคนเคยอยู่ต่างประเทศ กลับมาจากซิลิคอนแวลลีย์ หรือกลับมาจากที่ต่างๆ การสร้างความเชื่อมโยงกับโลกจึงสำคัญมาก

สุดท้ายตอนนี้โลกของเทคโนโลยี โลกของสตาร์อัพ มันเป็น Global Game เป็น Global Talent ด้วย ไทยยังไม่เข้าใจตรงนี้ ไทยแปลกเหมือนกันในแง่ที่ว่าทุกคนอยากมาเที่ยวเมืองไทย คนมาเมืองไทยเมื่อก่อนปีละ 40 ล้านคน จะว่าเราไม่มี Global Connection เลยคงไม่ใช่ เรามี แต่ในด้านเทคโนโลยีหรือด้านต่างๆ เรายังไม่ค่อยมี เรายังไม่มี Venture Capital ใหญ่ๆ มาตั้งที่เมืองไทย เรายังไม่มีสตาร์ทอัพของเราไปอยู่ต่างประเทศและเชื่อมโยงกับเรา ถ้าคนไทยไปทำในต่างประเทศก็แทบจะไม่พูดถึงเลย เหมือนเขาไม่ใช่คนไทย 

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าเมืองไทยอยากจะเพิ่มความน่าสนใจของตัวเองมากขึ้น ผมว่าต้องถอดบทเรียนหลายๆ อย่างจากสิงคโปร์ จากประเทศพวกนี้ที่พยายามใช้วิธีดึงดูดพวกคนมากความสามารถ ดึงดูดพวกกองทุนใหญ่ๆ ให้มาอยู่ในประเทศตัวเอง และสร้าง Ecosystem และอาจจะต้องเปลี่ยนชุดความคิดหมือนกัน เพราะถ้าเรามีชุดความคิดว่าเราดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องพึ่งพาข้างนอก มันจะไปยากนิดหนึ่ง

เทรนด์การค้าและการลงทุนหลังโควิด มีอะไรน่าจับตามองบ้าง 

ผมคิดว่าจะมี 3 ด้านใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ ก้อนแรกคือ Health Care เพราะช่วงโควิดทำให้การลงทุนทางด้าน Health Care ค่อนข้างก้าวกระโดดมาก เมื่อก่อนหลายแห่งอาจจะไม่อยากทำ Telehealth (การแพทย์ทางไกล) แต่ตอนนี้ถูกบังคับให้ลองหมดแล้ว และหลังจากนี้พวกเทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ รวมไปถึงเรื่องของพวก Health Tourism ทั้งหลายจะพัฒนาขึ้นเยอะ เรื่องสุขภาพจิตผมก็หวังว่าจะมี Mental Health Wellness มากขึ้น เพราะฉะนั้น Health Care เป็นก้อนหนึ่งที่ใหญ่มาก

ก้อนที่สอง เป็นเรื่อง Green Economy เทรนด์เรื่องแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environment, Social, Governance) มาแรงมาก โดยเฉพาะกองทุนใหญ่ๆ ใส่มาเป็นเงื่อนไขเลยว่าองค์กรที่เขาลงทุนด้วยต้องมี ESG พวกนี้จึงไปสร้างความกดดันให้บริษัทอีกที ก็จะเป็นเทรนด์ใหญ่สำคัญเหมือนกัน และเรื่องรถยนต์อะไรจะเปลี่ยนไปทาง EV หมด ล่าสุดเราเห็นแล้วว่าแม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ดั้งเดิม เขาเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนด้าน EV และด้านพลังงานทางเลือกเหมือนกัน 

สุดท้ายก้อนที่สามคือ Digital จะมาแรงต่อไปอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างในอาเซียน รายงานของเฟซบุ๊กที่เพิ่งออกมาไม่นานว่บอกว่าตั้งแต่โควิดมา Digital consumer ในอาเซียนเพิ่มขึ้น 70 ล้านคน เท่ากับประเทศไทยประเทศหนึ่งเลย และ Digital consumer ไม่ใช่คนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่รวมคนที่ใช้เงินในโลกอินเทอร์เน็ตด้วย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 70 ล้านคน และเราเริ่มเห็นคนซื้อของหลายประเภทมากขึ้น แต่ก่อนธุรกิจ E-commerce ส่วนใหญ่คนจะซื้อพวกสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ว่าตอนนี้เครื่องประดับ อาหาร ของแต่งบ้าน ของสุขภาพ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ และเทรนด์นี้กระจายไปต่างจังหวัดด้วย ช่องว่างระหว่างต่างจังหวัดกับเมืองใหญ่ลดน้อยลง และ E-commerce ไม่ได้มาโดดๆ เพราะสิ่งที่ตามมาคือ E-payment คนใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดมากขึ้น E-payment โตมาก และทำให้ธุรกิจ FinTech (เทคโนโลยีด้านการเงิน) โตขึ้นตาม เพราะเข้าไปเสริมธุรกิจทั้งโลจิสติกส์ และ E-commerce จนไทยเองมีธุรกิจยูนิคอร์นตัวแรกเป็นโลจิสติกส์ และมีธุรกิจโฆษณาเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวนี้อีกตัว ตอนนี้จึงเห็นค่อนข้างชัดว่าพวกที่เกี่ยวกับการลงทุนด้านดิจิทัลหรือสตาร์ทอัพมาแรงมา

การมาถึงของสายพันธุ์เดลตาทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศร่ำรวยที่สามารถฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ ในขณะที่ประเทศยากจนกลับยังไม่ได้รับเข็มแรกเลย คุณมองประเด็นนี้อย่างไร 

ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในแง่ว่าวัคซีนกลายเป็นปัจจัยสำคัญมาก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำด้วย ผมเพิ่งอ่านหนังสือ Ten Lessons for a Post-Pandemic World ของ ฟารีด ซาคาเรีย ไป เขาพูดเรื่องนี้เหมือนกันว่าพวกความเหลื่อมล้ำในประเทศ จริงๆ แล้วเป็นความเหลื่อมระหว่างประเทศด้วย เพราะประเทศส่วนใหญ่ที่คิดค้นวัคซีนเป็นประเทศร่ำรวย และประเทศที่ขาดแคลนวัคซีนมักเป็นประเทศยากจน ไทยหรือในอาเซียนซื้อวัคซีนได้ช้า ยังขาดไปหลายอัน แต่เรายังมีประเทศอื่นในแอฟริกาที่ไม่มีเงินซื้อด้วยซ้ำ แล้วหนทางรับมือคืออะไรบ้าง 1. เราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีวัคซีนสำคัญ เมืองไทยเองไม่ใช่ไม่มี เรามีการวิจัยและพัฒนา (R&D) หลายอย่าง แต่มันชัดเลยว่าถ้าเรามี R&D และสามารถวิจัยจนพัฒนาวัคซีน mRNA หรือวัคซีนเชื้อตายของเราได้เอง บวกกับได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จะสามารถช่วยได้เยอะขนาดไหน นี่คือสิ่งที่สิงคโปร์เขาทำ ล่าสุดดึง BioNTech มาลงทุน ตั้งโรงงาน และตั้งศูนย์วิจัย mRNA ในประเทศ ซึ่งไม่ได้ดูแค่วัคซีนอย่างเดียว แต่ดูวัคซีนอย่างอื่นในอนาคตด้วย อีกอันคือการซื้อ เราผลิตเองไม่พออยู่แล้ว เราต้องซื้อจากหลายประเทศ การซื้อก็สำคัญว่าเราจะซื้อจากไหน อย่างไร 

บทเรียนหนึ่งที่สำคัญคือ เราต้องใช้ทีม Thailand จริงๆ ต้องมีหลายหน่วยงานอยู่ด้วยกัน ทั้งกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน เราต้องใช้คอนเนกชันทุกอย่าง ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจของสิงคโปร์ คนบอกว่าสิงคโปร์แน่มากเลย กล้าซื้อไฟเซอร์ โมเดอร์นา ล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะยังวิจัยไม่เสร็จเลย แต่จริงๆ มันมีเบื้องหลังนิดหน่อยตรงที่ว่าสิงคโปร์เขามีข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองอยู่พอสมควร เพราะเขามีกองทุนขนาดใหญ่ระดับประเทศอย่าง Temasek ที่ไปลงทุนทั่วโลกและเขาก็ลงทุนใน BioNTech ด้วย ทำให้เขารู้ว่าวัคซีนตัวนี้น่าจะมีโอกาสมามากที่สุด ซึ่งคอนเนกชันเหล่านี้สำคัญมากในการที่จะซื้อวัคซีน เพราะตอนนี้วัคซีนส่วนใหญ่อยู่ในมือของประเทศพัฒนาแล้ว 

ถ้าพูดโดยรวมคือ มันทำให้เกิดวิกฤตใหม่ของการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศหรือยุทธศาสตร์ต่างประเทศกำลังเปลี่ยนไปเข้าสู่ New Normal อย่างชัดเจน แปลว่านโยบายต่างประเทศไม่ได้เป็นของกระทรวงต่างประเทศกระทรวงเดียวเท่านั้น ทุกคนมีมิติต่างประเทศหมด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเศรษฐกิจต้องมาเกี่ยวข้องด้วย กระทรวงต่างประเทศเองก็จะไม่สามารถทำเฉพาะการต่างประเทศอย่างเดียวได้ ต้องเข้าใจด้านสาธารณสุข ด้านอื่นๆ ด้วย เราต้องสร้างทีม Thailand ขึ้นมาเพื่อทำงานประสานกัน 

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 คือวิกฤตการเมืองในหลายประเทศ ไม่ว่าจะการทำรัฐประหารหรือการประท้วงของประชาชน สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อสังคมในระยะยาวอย่างไร

เราพอนึกภาพออกว่าทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ เพราะเรื่องของความเหลื่อมล้ำหรืออะไรต่างๆ มันรุนแรงขึ้น วิกฤตนี้เป็นวิกฤตมนุษยชาติที่รุนแรงมาก จนเปิดแผลหลายๆ แผล แถมไม่ได้เปิดแผลอย่างเดียว ขยี้ซ้ำเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ผลที่ตามมาก็จะรุนแรง ผมคงพูดสำหรับทุกประเทศไม่ได้ แต่จะพูดหลักการกว้างๆ ว่า จุดอ่อนต่างๆ นั้นรุนแรงแค่ไหนในสถานการณ์นี้ 

 ถ้าเราคิดดูอีกทีแผลทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นแผลที่เรามีอยู่แล้วในสังคมหรือประเทศนั้นๆ มองในทางกลับกัน ถ้าเราใช้โอกาสนี้ รู้ว่านี่คือจุดอ่อนของเรา และหาทางแก้ นี่จะเป็นโอกาสสำคัญมากเหมือนกัน ผมว่าสังคมไหนที่สามารถฟังเสียงแล้วนำเอาปัญหาทางการเมืองต่างๆ พวกนี้มาเป็นโอกาสแก้ปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น สังคมนั้นจะได้ประโยชน์ ได้เปรียบ และเป็นผู้ชนะได้ในโลกของอนาคต 

ผมพูดไปแล้วเรื่องระบบราชการที่ควรทำให้ยืดหยุ่นขึ้น แต่อันหนึ่งที่ยังไม่ได้พูดคือเรื่องข้อมูล ซึ่งเป็นจุดอ่อนใหญ่ของเราเหมือนกัน ข้อมูลเราน้อยมาก เราไม่ค่อยรู้ว่าข้อมูลของเอสเอ็มอีมีเท่าไร หรือ 3 ล้านรายที่มีเขาทำอะไรกัน เราไม่ค่อยมีข้อมูลของแรงงานนอกระบบ และนอกภาคเกษตรกรรมประมาณ 10 ล้านกว่าคน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ และสิ่งที่ตามมาจากการไม่รู้คือระบบเครือข่ายรองรับทางสังคม ก็ไม่ค่อยมีสำหรับคนพวกนี้เท่าไร เพราะฉะนั้นนี่เป็นโจทย์ที่เรารู้อยู่แล้วว่ามีมานาน แต่เรื่องนี้มันชัดมากว่าไม่ไหว ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหา เราควรจะมานั่งคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง และใช้วิกฤตนี้มาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง 

มีคนบอกว่าคนเจเนเรชันนี้โชคร้าย ต้องเผชิญทั้งสถานการณ์โควิด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ แถมยังอยู่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่มีเสถียรภาพการเมือง คำแนะนำของคุณสำหรับคนเจเนเรชันนี้คืออะไร 

อันดับแรกคือเห็นใจ และเข้าใจว่ามันยากจริงๆ แต่ในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากจะเห็นแต่ยังไม่เกิด นานเป็นสิบๆ ปีแทบไม่ขยับไปไหน ช่วงวิกฤตกลับสามารถก้าวไปข้างหน้าได้หลายก้าว ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดหวัง 

แต่การเปลี่ยนแปลงจะไปได้ดี เราต้องหาคนที่เป็น Change maker มารวมอยู่ด้วยกัน อย่าอยู่คนเดียว เราทำคนเดียวไม่ได้หรอก ซึ่งมันจะไปเชื่อมโยงอีกประเด็นหนึ่ง ที่บางครั้งเราต้องหาพันธมิตรเป็นคนรุ่นก่อนหน้าเราด้วย ในเมืองไทยอาจจะดูยากนิดหนึ่ง เพราะว่าผู้ใหญ่คิดไม่เหมือนเรา มีงานหนึ่งที่ผมทำอยู่ด้วย เป็นควิซจากโครงการหลักสูตรสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD Program) 2020 เขาทำเครื่องมือนี้ขึ้นมาเพื่อให้การสื่อสารระหว่างรุ่นดีขึ้น ให้มี Emphathy ต่อกันมากขึ้น พอเข้าไปทำดู ผมรู้สึกว่าเราควรระวังอคติที่มีต่อกันให้เยอะๆ เราอาจจะแปะป้ายว่าคนรุ่นใหญ่เป็นแบบนี้ คนรุ่นใหญ่ก็บอกว่าคนรุ่นเด็กเป็นแบบนี้นะ แต่จริงๆ ถ้าก้าวข้ามวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันไปได้ เราจะเห็นความคิดบางอย่างที่คนหลายรุ่นมองปัญหาคล้ายกับเรา เขาไม่ได้ปิดหูปิดตาเสียทีเดียว ลองพยายามสื่อสารกับผู้ใหญ่ดู เพราะถ้าเราก้าวข้ามตรงนั้นไปได้ เราจะค้นพบว่าตัวเองมีพันธมิตรมากกว่าที่คิด และจะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว 

วิกฤตสุขภาพจิตน่าจะเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ทุกประเทศต้องหาทางตั้งรับ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มันจะส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเศรษฐกิจอย่างไร

ผมมีรายงานชิ้นหนึ่งที่ทำร่วมกับ World Economic Forum ซึ่งสำรวจคนรุ่นยุคดิจิทัล อันหนึ่งที่ชัดมากคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต หนึ่งในสิ่งที่คนไทยจินตนาการอยากเห็นในโลกหลังโควิดคือ อยากจะเห็นเรื่องการตระหนักถึงสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่ใหญ่มากในช่วงโควิด สิ่งที่เราค้นพบคือ บางกลุ่มจะหนักขึ้นกว่าปกติ เช่น ในหมู่ผู้หญิง ความเครียดดูจะสูงกว่าในหมู่ผู้ชาย ทุกคนเครียดเหมือนหมด แต่ผู้หญิงอาจจะสูงกว่า เป็นไปได้ว่าสะท้อนถึงภาระในการต้องดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ ดูแลรับผิดชอบอีกหลายอย่าง บทบาทในสังคมไทยถ้าดูตัวเลขต่างๆ ยังเป็นผู้หญิงทำเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเครียดตรงนั้นเสริมเข้ามา อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเครียดสูงคือ กลุ่มผู้ประกอบการ ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน อาจถูกลดเงินบ้าง แต่ยังมีเงินเข้ามา แต่ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการ เวลาเงินหายมันหายเลย ถ้ามีหนี้ที่กู้มาด้วย เศรษฐกิจก็เดินไม่ได้ หรือคนที่ไม่ได้เดือดร้อนด้านเศรษฐกิจมากนัก เขาอาจจะเครียดเรื่องอื่นได้เหมือนกัน 

นี่จึงเป็นประเด็นที่มีผลต่อผู้คนมาก และเป็นอีกอันหนึ่งที่ถ้าพูดเรื่องเปิดแผล ผมอยากจะให้เราใช้โอกาสนี้สร้าง Mental Health Awareness ในโลกหลังโควิด เริ่มจากการยอมรับก่อนว่าการมีปัญหาสุขภาพทางจิตไม่ได้แปลว่าบ้า ไม่ได้แปลว่าโรคจิต ไม่ได้เป็นอะไรด้านลบที่บางทีเราชอบแปะป้ายมัน อันนี้สำคัญที่สุด 

อันที่สองคือการเข้าไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ การไปหาจิตแพทย์สามารถที่จะทำได้เหมือนการไปหา Fitness Trainer เราอยากจะทำให้หุ่นเราดีขึ้น อยากจะลดน้ำหนักลงให้ได้เท่านี้ แบบเดียวกันที่เราไปหาจุดอ่อนตัวเองและทำให้สุขภาวะทางจิตของเราดีขึ้น 

อันที่สาม ผมมองว่าต้องมีความเข้าใจว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ผมเจอกับคนใกล้ตัวเยอะ บางครั้งเราพูดเรื่องสุขภาพจิต สังคมไทยถึงแม้ยอมรับ แต่จะพูดแนวทางเดียวว่าไปเข้าวัดสิ ปฏิบัติธรรมสิ แค่นั้นจบ ซึ่งผมเชื่อว่ามันโอเคนะ เพราะคุณแม่ผมก็ปฏิบัติธรรม แต่เราต้องมี Empathy ว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องเปิดใจเรื่องตัวเลือกที่หลากหลายให้คนเข้าถึงด้วย 

ข้อสุดท้ายผมอยากให้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตต่างๆ เป็นหนึ่งในวิชาชีวิตที่ควรเรียนทั้งในรั้วมหาลัยหรือว่าในโรงเรียนด้วยซ้ำ บางทีเราเรียนวิชาทั่วไปเยอะ แต่เราไม่ค่อยเรียนเรื่องวิชาชีวิต สุขภาพจิตเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ ไม่ใช่แค่ต้องรอให้ป่วยแล้วค่อยรักษา เราสามารถออกกำลังสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นได้เลย

สุดท้ายเราจะอยู่กับโควิดในปี 2022 อย่างไรดี

ก็คงคล้ายๆ ที่คุยกันไปก่อนหน้าคือ เรื่องของวัคซีน จุดตรวจ การเจรจาเปิดการท่องเที่ยวใหม่ นโยบายสาธารณสุขกับเศรษฐกิจที่ต้องบาลานซ์กันตลอดเวลา และต้องมีการทำ Digitalization ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากนั้น เป็นการสื่อสาร อันนี้สำคัญ เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การบอกผู้คนว่าเราจะต้องอยู่ในโลกที่โควิดยังไม่หายไป มันไม่ง่าย หลายคนยังมีชุดความคิดว่ากัดฟันให้มันพ้นตรงนี้ไป พอพ้นไปแล้วมันจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเราต้องบอกเขาหลายครั้งว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เรากัดฟันผ่านพ้นอันนี้แล้วแต่โควิดจะยังอยู่กับเรานะ ทุกคนจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ต้องเข้าใจว่าโควิดมจะกลับมาใหม่ได้ ผมว่าการสื่อสารตรงนี้ค่อนข้างสำคัญและเป็นเรื่องที่ยากมาก 

เพราะฉะนั้นการสื่อสารให้ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริง พูดสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง แต่ในขณะเดียวกันก็มี Empathy เพราะความร่วมมือของประชาชนสำคัญมาก ถ้าสื่อสารไม่ดีประชาชนจะไม่ร่วมมือ แล้วนี่เป็นวิกฤตที่ผู้นำจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ทุกคน ทุกภาคส่วนขยับร่วมกัน การสื่อสารจึงเป็นประเด็นใหญ่ และสำคัญมากว่าจะทำเรื่องทั้งหมดที่พูดมานี้ให้เป็นจริงไปได้ไหม

Fact Box

  • ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นคนไทยคนเดียวที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) รวมถึงจบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics and Political Science 
  • ประสบการณ์ทำงานภาคการเงิน เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suisse ทำงานกระทรวงการคลังประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) 
  • สันติธารเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวในเอเชียที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลกของ Consensus Eocomics ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นคณะกรรมการ Digital Readiness Council ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประเทศ และเป็นคนแรกของอาเซียนที่ได้เชิญจาก World Economic forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community)
  • หนังสือ THE GREAT REMAKE สู่โลกใหม่ เป็นผลงานเขียนล่าสุดของสันติธาร กล่าวถึงการใช้ชีวิตและเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังโควิดที่ผู้ประกอบการจนถึงบุคคลทั่วไปควรปรับตัวเรียนรู้ให้เท่าทันปรากฏการณ์ดิจิทัลดิสรัปชันที่กำลังรุกคืบเข้ามาในทุกระดับ กระแสเงินและกระแสทุนที่ผกผันในทิศทางที่แตกต่างจากอดีต ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปสู่อีกหลายกิจการ รวมถึงปัจจัยอีกมากมายที่จะนำไปสู่โลกธุรกิจและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร
Tags: , , , , ,