16 ตุลาคม 2564 พรรคก้าวไกลเปิดตัวแพ็กเกจนโยบาย อีสานสองเท่าในเวทีการประชุมใหญ่พรรคที่จังหวัดขอนแก่น ผ่าน Think Tank หรือองค์กรคลังสมองแห่งใหม่ของพรรคที่ชื่อว่า Think Forward Center มุ่งมั่น ปั้นนโยบายระดับภูมิภาค หวังจะปักธงพื้นที่ภาคอีสาน พื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทยให้ได้ 

เป้าหมายสำคัญคือ ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของภาคอีสานให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเฉลี่ย 83,594 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2565 เป็น 183,676 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2575 หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภาคอีสานชะลอตัว ขยายตัวช้ามาก ศักยภาพของภาคอีสานจึงถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง คนอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 1 ใน 3 รายได้เฉลี่ยของผู้คนทั้งประเทศมาเนิ่นนาน และตอนนี้ ก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม

ข้อมูลจากพรรคก้าวไกลยืนยันว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือหลังจากปี 2566 อีสานจะเป็นภาคเดียวในประเทศที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เศรษฐกิจรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และหากปล่อยให้สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่เป็นเช่นนี้ต่อไป อีสานก็จะ ‘ต้องคำสาป’ ต่อไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแพ็กเกจ ‘อีสานสองเท่า’ แพ็กเกจนโยบายเชิงภูมิภาค ในการลบคำสาป ลบปัญหาเรื้อรังของภาคอีสานเดิมๆ อย่างปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ปัญหาความยากจน ปัญหาความแห้งแล้ง ฯลฯ และปลุกปั้นอีสานขึ้นใหม่ โดยใช้คำว่า ‘2 เท่า’ เป็นจุดขาย พร้อมยังยืนยันว่าทั้งหมดจะสามารถทำได้จริง เพื่อปักหมุดการแข่งขันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่เพิ่มสัดส่วน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เป็น 400 คน และเพิ่มจำนวน ส.ส.อีสาน จาก 116 คน จากการเลือกตั้งปี 2562 เป็น 133 คน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

The Momentum ชวน เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ Think Forward Center มาเล่าถึงปัญหาของภาคอีสาน และแผนของพรรคก้าวไกลในการปักหมุดลงบนดินแดนที่ราบสูง โดยใช้ฐานทาง วิชาการและความรู้เป็นตัวนำ

อีสาน 2 เท่า มาจากเรื่องอะไร ทำไมพรรคถึงเริ่มให้ความสนใจ?

จริงๆ แล้วโจทย์ของเรื่องอยู่ที่ว่า Think Forward Center ต้องทำ Local Policy (นโยบายท้องถิ่น) หรือ Regional Policy (นโยบายระดับภูมิภาค) ของแต่ละภูมิภาค เพราะฉะนั้นก็ต้องชัดเจน เราเริ่มจากการจัดประชุมใหญ่ที่ภาคอีสานก่อน จึงเป็นโจทย์ที่ต้องนำเสนอในส่วนของภาคอีสาน หลังจากนั้นก็มีในอีกหลายพื้นที่ คือมีการลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ด้วยความตั้งใจว่าสุดท้าย เราจะมีนโยบายของแต่ละภาคที่ชัดเจน

สมมุติฐานแรกที่คุณและทีมมองอีสานคืออะไร

สมมติฐานแรกที่เห็นร่วมกันระหว่าง Think Forward Center และพรรคก้าวไกลก็คือ ส่วนที่คุณศิริกัญญา (ตันสกุล) พูด นั่นคือภาคอีสานถูกจัด Priority หรือจัดลำดับความสำคัญในแง่ของการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่าภาคอื่น ศักยภาพในการพัฒนาของภาคอีสานก็เลยต่ำกว่าภาคอื่นๆ 

ถ้าพูดแบบสั้น จุดสำคัญก็คือการที่ภาคอีสานถูกละเลย โจทย์ที่ผมได้รับต่อจากคุณศิริกัญญาก็คือ ถ้าภาคอีสานไม่ถูกละเลย ศักยภาพของภาคอีสานจะไปได้ถึงไหน

ตัวชี้วัดเรื่องรายได้ต่อหัวนั้นเห็นชัดเจน คือรายได้ต่อหัวของภาคอีสานนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศมาเนิ่นนานแล้ว และยังเป็นภาคเดียวที่ไปไม่ถึงเกณฑ์รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง คือถ้าเราเป็นเหมือนกับที่รัฐบาลชอบพูดคือเราอยู่ในครอบครัวเดียวกันหรือบ้านเดียวกัน การที่เราเห็นว่ามีคนคนหนึ่งมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรจะเป็นก็สะท้อนว่ามีปัญหามาก

ทีนี้ถ้านำเรื่องทั้งหมดมาลองเรียงกัน ก็พบว่าภาคอีสานสามารถเพิ่มรายได้ต่อหัวขึ้นเป็น 2 เท่าได้ ภายในระยะเวลา 10 ปี จึงได้กลายมาเป็นโจทย์เรื่องอีสานสองเท่า

ข้อค้นพบของคุณคืออะไร ทำไมรายได้ต่อหัวของภาคอีสานถึงได้ต่ำขนาดนั้น

ภาคอีสานมีสัดส่วนของเศรษฐกิจที่โตไว แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กมาก เวลาเราพูดว่าเล็กมาก ก็แปลว่าคนส่วนใหญ่แทบไม่ได้อะไรเลยจากสัดส่วนที่โตไว ขณะเดียวกัน สัดส่วนเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ก็เติบโตช้ามาก เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จุดสำคัญ เราก็สามารถจัดลำดับความสำคัญ กำหนดแนวทางการทำงานได้ 4 ส่วนที่เป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากของภาคอีสาน ก็คือ

1. ปัญหาของภาคการเกษตร เห็นได้ชัดเลยว่าถ้าไม่ยกระดับภาคเกษตรให้โตที่ GDP ประมาณ 4% โอกาสที่รายได้ต่อหัวของภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นนั้น แทบจะไม่มี เพราะฉะนั้นต้องกำหนดแนวทางในเรื่องภาคการเกษตรให้ชัดเจน 

2. ปัญหาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโตช้ามาก ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นอีกภาคหนึ่งที่ต้องยกระดับให้ดีขึ้น

3. ปัญหาภาคการศึกษา มองได้ 2 แง่ หลายคนมักไม่ได้มองในแง่เศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษาของอีสานเป็นส่วนสำคัญในระยะยาวอยู่แล้ว เพราะว่าคุณภาพการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และการลงทุนในภาคอีสานก็เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างน้อย จุดที่เราอยากทำให้เห็นก็คือ หากลงทุนจนทำให้คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้นในระยะสั้น GDP ส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้น และในระยะยาว คุณภาพของคนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

4. เรื่องค้าส่ง-ค้าปลีก การเติบโตในส่วนนี้จริงๆ อาจจะไม่ถึงขั้นต่ำมาก อยู่ในระดับปานกลาง แต่ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกของอีสานยังมีช่องทางไปได้ไกล ไม่ว่าจะเส้นทางจากจีนไปลาว ไปยังอินโดจีน 

เพราะฉะนั้น 4 เรื่องนี้ ต้องโตให้ไวมากขึ้น และหาก 4 เรื่องนี้ทำได้ ภาพรวมของเศรษฐกิจอีสาน 2 ใน 3 ก็จะไปต่อได้ สิ่งที่ต้องเริ่มอันดับแรก 3 เรื่อง คือ การเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา นั้นต้องชัด

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่เป็นดาวรุ่งอย่างมากคือเรื่องพลังงาน บันเทิง ศิลปะ และวัฒนธรรม แม้กระทั่งเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งหมดสามารถยกระดับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ว่ายังเล็กมาก การท่องเที่ยวของอีสานเองก็โตขึ้นไวมาก แต่อีกด้านคือยังเล็กมาก โจทย์ทั้งหมดคือทำอย่างไรให้ทุก Sector เหล่านี้โตขึ้นได้ต่อเนื่อง ถ้าเรานำทั้งสองตัวนี้มาประกบกันก็จะแข็งแรงมาก 

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มบริการพื้นฐานอย่างโทรคมนาคมในอีสาน ก็จะพบว่าอินเทอร์เน็ตของภาคอีสานนั้นยังไม่ดีนัก ขณะที่น้ำประปา ระบบประปา ก็ยังน้อยกว่าภาคอื่น และเรื่องวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและด้านสื่อด้วย ทั้งหมดนี้รวมกันก็กลายเป็นแนวทางที่เราเสนอ เป็นเรื่องอีสานสองเท่า

พูดถึงรายได้ต่อหัวที่ต่ำ ถ้าเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ ทำไมภาคอีสานถึงได้รายได้ต่ำขนาดนั้น

ผมคิดว่าการพัฒนาประเทศเราคือวิธีการพัฒนาแบบ พุ่งเป้าพอมีเงินก็เลือกพัฒนาเฉพาะบางส่วน เช่น กรุงเทพฯ จะเป็นจุดที่ได้งบประมาณเยอะ หลังจากนั้นก็มีคำว่า Eastern Seaboard มีคำว่า EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทุกเมืองหลักๆ ก็จะมีคำแบบ เศรษฐกิจพิเศษ 

คือเราคิดว่าทรัพยากรน้อย ต้องลงไปแต่ละจุดให้เข้มแข็ง ก่อนจะกระจายไปยังจุดอื่น มันถึงคำหนึ่ง เรียกว่า Growth Pole เป็นเสาหรือเป็นบริเวณที่มันเกิดการเติบโตสูง แล้วจะกระจายต่อไปยังจุดอื่น 

วิธีในการกำหนด Growth Pole ก็จะพบปัญหาข้อที่ 1 คือ ไม่ค่อยมี Growth Pole ในภาคอีสาน จะมีบ้างก็เป็นเมืองหลักอย่างขอนแก่น อุดรธานี 

ปัญหาข้อที่ 2 ก็คือ ถึงจะเกิด Growth Pole จริง แต่การกระจายไปยังพื้นที่ข้างๆ กลับไม่ได้ดีมากนัก แม้กระทั่งระยอง ไม่ต้องพูดเลย Growth Pole มันใหญ่มาก แต่ถามว่าคนที่อยู่ในระยอง คนที่อยู่รอบนอก ฐานะทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตเขาเหล่านั้นดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ก็ไม่ใช่ จังหวัดรอบนอกอาจไม่ได้ผลอะไรมากนัก จริงๆ แล้ว จันทบุรีมีหลายข้อที่ดีกว่าระยอง แต่ก็ไม่ใช่ผลจาก Growth Pole ของระยอง แต่เป็นผลจากการที่เขายังเก็บอะไรบางอย่างในจังหวัดของเขามากกว่าด้วยซ้ำ 

เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว ข้อสองสำคัญกว่าข้อแรกอีก ข้อแรกคือ Growth Pole ไม่ค่อยอยู่ในอีสาน ข้อสองคือโมเดล Growth Pole ที่เราสงสัยว่าสุดท้ายจะไม่ได้เป็นเสาจริงๆ 

พรรคก้าวไกลประมวลเป็นคำได้ว่า การกระจายอำนาจคือนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล จริงๆ คือใช่เลย แต่ทุกอย่างมันยังเป็นงานวิชาการ การที่จะทำให้อีสานสองเท่าเกิดขึ้นได้จริง การแก้ปัญหาก็ต้องเกิดขึ้นได้จริง ทุกอย่างต้องกระจายอำนาจลงไป แต่กระจายอำนาจในที่นี้ไม่ใช่กระจายอำนาจแบบเดิมๆ ที่เรามักพูดถึงการย้ายข้าราชการ การโอนข้าราชการ แต่คือการให้บทบาทในประเด็นเศรษฐกิจ และการให้งบประมาณเพิ่มขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ

อะไรที่ทำให้เห็นว่า Growth Pole กระจายไปไม่ถึงภาคอีสาน

ผมยกตัวอย่างเรื่องแรกเลย เรื่องแหล่งน้ำในภาคอีสาน เราตอบได้ไหมว่า ถ้าไม่มีการพัฒนาเรื่องนี้ การเกษตรจะดีขึ้นได้อย่างไร ตอบไม่ได้ เพราะสุดท้าย มันเป็นตัวที่เชื่อมโยงกัน 

ต้องตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา อีสานได้งบประมาณเท่าไร คำตอบคือได้น้อยมาก ซึ่งในที่นี้ อาจจะใช้คำว่า Growth Pole ไม่ได้ แต่คอนเซ็ปต์ก็คล้ายกันคือ ถ้าคุณเป็นกรมชลประทาน คุณก็จะไม่เลือกพัฒนาอีสานเป็นที่แรก เพราะว่าเทียบกับปริมาณน้ำ เทียบกับพื้นที่ชลประทาน คุณก็จะบอกว่ามาทำที่ภาคกลาง ยกตัวอย่างเช่น ผันน้ำจากแม่น้ำยวม มาลงแม่น้ำปิงที่เขื่อนภูมิพล จะได้น้ำเยอะกว่า ระบบชลประทานก็จะมาลงที่ภาคกลางมากกว่า

ดังนั้นภาคอีสานจะได้ Priority ในการจัดการระบบชลประทานน้อยมาก แต่ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างไร มันมีอยู่ทางเดียวคือ เงินต้องถูกส่งลงไปที่ท้องถิ่น แล้วท้องถิ่นก็จะเป็นคนไปบอกว่าควรจัดสรรสัดส่วนอย่างไร แต่ละพื้นที่ก็ไปพัฒนาแต่ละจุดของตัวเอง 

ดังนั้น การพัฒนาที่เดิมที่ยังอยู่ตรงนี้ เราไม่รู้ว่าจะไปถึงเมื่อไร ทฤษฎีของเราจึงอยู่ตรงข้ามกับทฤษฎีการพัฒนาที่ผ่านมา นั่นคือให้อำนาจไปที่ปลายทางก่อน แล้วจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าตัวทวีคูณ ก็คือเมื่อพื้นที่นี้ปลูกได้ดีขึ้น จากที่แต่ก่อนปลูกได้รอบเดียว แต่ตอนนี้ปลูกได้หลายรอบมากขึ้น ก็จะเกิดเศรษฐกิจทวีคูณในท้องถิ่น ซึ่งต้องไปพยายามเร่งการทวีคูณเหล่านี้ 

และคอนเซ็ปต์ของเรา เมื่อพูดถึงทฤษฎีการพัฒนา มันเป็นทฤษฎีที่ตรงข้ามกันทั้งหมด จากที่หาจุดใหญ่ๆ จุดเก่งๆ แล้วกระจายออกไป แต่ของเราให้เริ่มจากจุดที่เป็นเส้นเลือดฝอย แล้วพอเส้นเลือดฝอยได้รับการพัฒนาที่ดีพอ ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีพอ ทุกอย่างก็จะรวมกันเป็นระบบนิเวศที่ทำให้พื้นที่เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

พอพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ อาจจะเป็นนโยบายที่ดูใหญ่เกินตัวเกินไปหรือไม่ ที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจะพูดถึง

ในเชิงงบประมาณ ก็ยากในแง่ที่เราต้องแบ่งจากเงินงบประมาณส่วนกลาง ไปอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น ถามว่ายากไหม ก็ยาก แต่ถ้าแบ่งเงินไม่ได้ ที่เราคิดในเชิงหลักการมาทั้งหมด ก็ไม่มีความหมายใดๆ 

พูดง่ายๆ ว่า สมมติเรากระจายอำนาจไป แต่ไม่มีทรัพยากรอะไรให้ทำ ท้องถิ่นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในเชิงงบประมาณ เราเชื่อว่าเราสามารถลดบทบาทของส่วนกลาง แล้วโอนงบประมาณไปลงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนกลางก็จะทำหน้าที่อีกบทบาทหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา ส่วนกลางยังทำหน้าที่หารายได้ที่เพิ่มขึ้นได้ไม่ดีนัก 

ผมเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลมีความคิดว่าต้องลงประชามติ ว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยน เพื่อให้คนไทยลงประชามติร่วมกันว่าประเทศนี้ต้องมีการกระจายอำนาจที่มากขึ้น เราอาจยุบ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคบางส่วนหรือทั้งหมด แล้วให้อำนาจนั้นลงไปสู่ท้องถิ่นโดยตรง 

แต่สมมติว่าพรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้ง หรือได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้เสียงที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเปลี่ยนในทันทีทันใด เราจะใช้เสียงในการเลือกตั้งนั้นนำไปสู่การลงประชามติ และในระหว่าง 1 ปี ในการเตรียมลงประชามติ ก็ต้องเสนอความเห็นกันว่าโมเดลที่จะเปลี่ยนคืออะไร ฝั่งที่เปลี่ยนและฝั่งที่ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างไร ให้ช่วยกันเสนอ แล้วให้คนทั้งประเทศตัดสินใจ จุดสำคัญที่จะชี้ขาดตอนนี้ ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการลงประชามติ

อยากให้คุณพูดถึงเป้าหมายและผลลัพธ์ของ อีสานสองเท่า ว่าถ้าเลือกพรรคก้าวไกลจะได้เห็นอะไรบ้าง 

ผมคิดว่าในลำดับแรก คือรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี ก็คือในปี 2575 และแปลว่าระยะห่างระหว่างภาคอีสานกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศนั้นลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ก็ต้องบวกกับสวัสดิการที่มีลักษณะแบบถ้วนหน้า 

เราจะมีเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ตามหลังเรื่องการกระจายอำนาจ โดยจะเป็นตัวที่แบ็กอัพการตัดสินใจทั้งหมด ที่เลือกขึ้นมาเป็นเพราะไม่ว่าจะพัฒนาเรื่องการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือพลังงาน ทั้งหมดอาจมีคนที่ตกหล่นอยู่ แต่หากเป็นเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ทรัพยากรที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเขาได้ 

เพราะฉะนั้น เราเชื่อว่าโดยเบ็ดเสร็จ ความยากจนในภาคอีสานนั้นน่าจะลดลงมาก น่าจะเหลือไม่เกิน 3-4% จากที่ในปัจจุบัน บางปีอาจเกิน 10% ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างระหว่างภาคอีสานกับภาคอื่นๆ ในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงการพัฒนานั้นจะลดน้อยลง บวกกับการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำ เรื่องที่ดิน ก็จะได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องไปต่อคิวกับใคร เพื่อให้ได้คิวลำดับท้ายๆ 

อีกปัญหาที่คนพูดถึงกันเยอะคือการอพยพของคนอีสาน เพื่อย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ คุณมองอย่างไร

จริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้มันลดลงไปโดยปริยายพักหนึ่งแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ติดตามตัวเลข หรืออาจจะยังได้เจอกับคนอีสานรุ่นพี่เราที่เข้ากรุงเทพฯ แต่ปัญหานี้มันเปลี่ยนไปได้สักประมาณ 10 ปี ตัวเลขของคนอีสานในปัจจุบันอาจไม่ได้ไหลเข้ามากรุงเทพมากมายเหมือนเดิม แต่วันนี้ โจทย์มันกลับกันว่า ในเมื่อมีคนอีสานกลับไปอยู่ในภาคอีสาน หรือเลือกที่จะยังอยู่ในภาคอีสาน เขาจะอยู่ได้ดีมากน้อยแค่ไหนภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ เพราะฉะนั้น จึงนำมาซึ่งคำถามว่า จะพัฒนาท้องถิ่นอย่างไรให้ท้องถิ่นมีทางเลือกได้เอง ให้คนอีสานสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ด้วยตัวเอง 

พูดถึงเรื่องการเกษตรว่าการกระจายอำนาจ เราพอรู้ว่าการ allocate งบประมาณและนโยบายได้มากขึ้น แต่เรื่องอุตสาหกรรมต้องทำอย่างไร

สำหรับภาคอุตสาหกรรม จะมีโจทย์อีกอันหนึ่งขึ้นมาว่า แค่เรากระจายทรัพยากรลงไปก็อาจไม่พอ หากไม่มีทิศทางที่ดี เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรม ถ้าไม่มีทิศทางร่วมกัน ก็ไม่สามารถเป็นอุตสาหกรรมที่เข็มแข็งได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำก็คืองบประมาณส่วนที่ลงไปสู่ท้องถิ่นเนี่ย มันจะมีงบอยู่ส่วนหนึ่ง ที่เราเสนอตัวเลขไว้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เรียกตัวเลขว่าเป็นงบที่จดสรรให้แก้ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล 

หมายความว่ารัฐบาลจะเซ็ตโจทย์ขึ้นมาหนึ่งข้อ สมมติว่าเป็นโจทย์เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร เราก็จะบอกท้องถิ่นว่าภายใต้วงเงิน 2 หมื่นล้าน ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ถ้ารัฐบาลมีแนวความคิดแบบนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนมีข้อเสนอหรือมีนโยบายแบบไหนที่สามารถจะปรับให้เป็นไปตามทิศทางของรัฐบาล งบประมาณก็จะไปอยู่ตรงนั้น ลงไปในท้องถิ่นนั้นโดยตรง

ถามว่าแตกต่างจากปัจจุบันไหม แตกต่างตรงที่ตามแนวคิดของเรา รัฐบาลไม่ได้เป็นคนที่เขียนโครงการ รัฐบาลเขียนแค่แนวทาง สมมติเราบอกว่าเราจะต้องไปทาง BCG ก็ต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกันไป หรือถ้าเป็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เมือง ก็ทำโครงการเสนอเข้ามา

เราจะเห็นว่าพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพสูงมากในอนาคต เราก็อาจจะพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมือง การปฏิรูปที่ดินในเมือง เราจะมีวงเงินให้ ปฏิรูปการเรียนรู้ในเมือง และสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง 

ที่คุณเห็น มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วไหม 

อย่างกรณีขอนแก่นก็ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ผมมีโอกาสไปเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง ที่เกิดข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับชุมชนริมทางรถไฟ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นจัดบ้านมั่นคงให้กับชาวชุมชนริมทางรถไฟ ผมคิดว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก ก็คือทำให้คนมีความมั่นใจในที่อยู่อาศัยได้ และคนที่นั่นก็มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการสร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจเลย 

ผมเองไม่เคยนึกมาก่อนเหมือนกันว่า พอคนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ก็จะมีความพร้อมในการหารายได้มากขึ้น มีความพร้อมในการลงทุนมากขึ้น และมีศักยภาพในการลดปัญหาหนี้สินลงมาได้ 

ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในที่อยู่อาศัย คือการลงทุนด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมา เราไม่เคยคิดถึงเรื่องตัวทวีคูณ เราคิดว่าการขายบ้านให้คนจนนั้นได้เงินน้อยกว่าขายบ้านให้คนรวย แต่จริงๆ สิ่งที่มันเยอะกว่าคือตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ 

ในอุดรธานีก็เกิดตัวอย่างที่น่าสนใจมากว่า ไม่ว่าจะเป็น หนองประจักษ์ อุดรธานี หรือย่าน UD Town ซึ่งเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด พื้นที่เหล่านี้ ได้กลายเป็นแหล่งธุรกิจใหม่ของพื้นที่

เรื่องของสวัสดิการ ทั่วประเทศคือสวัสดิการเดียวกัน อีสานจะต่างจากภาคอื่นๆ ไหม

สวัสดิการจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า แต่จะมีรายละเอียดที่ต่างกัน เดี๋ยวอธิบายอย่างนี้ว่า สวัสดิการถ้วนหน้ามันจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน 

ส่วนแรก เราอาจจะเรียกว่าเป็นเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะมีให้ เช่น ถ้าเป็นผู้สูงอายุ เราเสนอว่าเป็นตัวเลข 2,800+200 หรือเด็กเล็กเป็น 600 บาทถ้วนหน้า แล้วก็ค่อยๆ ขึ้นตามลำดับขั้น อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะเสนอ สุดท้ายก็น่าจะไปจบประมาณที่ 1,200 บาทต่อเดือน 

ถ้าเป็นเด็กเล็ก ทาง Think Forward Center ก็เสนอว่า เมื่อเด็กเล็กอายุพ้น 6 ปีแล้ว ก็ควรจะมีเงินอีกก้อนหนึ่งต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทุกเดือน จนถึงอายุประมาณ 22 ปี คือสวัสดิการที่ได้เท่ากัน 

ทีนี้ถามว่าท้องถิ่นมีบทบาทไหม มีแน่นอน ก่อนหน้านี้เงินส่วนที่ให้กับผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ 600-1,000 บาท รัฐบาลมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นคนจัดสรรให้ แล้วก็บอกว่าเงินก้อนนี้คือเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ท้องถิ่น แต่จริงๆ ท้องถิ่นไม่ได้เอาเงินไปทำอะไรได้ ต้องเอาเงินไปให้เท่านั้น 

Think Forward Center เสนอไว้เลยว่า เราจะย้ายงบประมาณตัวนี้มาอยู่ในงบประมาณสวัสดิการของประชาชน แปลว่ารัฐบาลจะต้องเติมเงินส่วนนี้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินส่วนนี้เราจะไม่เรียกว่าเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกต่อไป รัฐบาลตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นผู้ตัดสินใจจะจ่ายเงินอันนี้ แต่ดันตัดสินใจและอ้างว่านี่เป็นเงินท้องถิ่น เหมือนกับท้องถิ่นมันก็ได้ตัวเลขอันนี้ไป แต่ไม่ได้เงิน ซึ่งหลังจากนี้ไม่ใช่ เราจะแยกออกมาเป็นหมวดสวัสดิการถ้วนหน้าของประชาชน 

แปลว่ารัฐบาลจะต้องเติมเงินให้ท้องถิ่นอีกประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดย 1.8 แสนล้านบาท จะลงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง 1.8 แสนล้านบาท ลงไปยังประชาชนแต่ละคนโดยตรง ท้องถิ่นก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมคือว่า ได้เงินเพิ่มจากเงินก้อนใหม่มา 1.8 แสนล้านบาท

คราวนี้ก็จะมีส่วนที่ 2 ที่เราเสนอเพิ่ม ที่เราพูดเรื่อง 2,800+200 ก็คือเราเตรียมเงินว่า รัฐบาลควรจะมีงบประมาณให้กับผู้สูงอายุที่ประมาณ 3,000 บาทต่อหัว แต่ใน 3,000 บาท เราคิดว่า ถ้ามีเงิน 200 บาทต่อหัว เราขอกันเอาไว้ คือรัฐบาลจ่ายให้ 200 บาทต่อหัว เป็นระบบสำหรับดูแลผู้สูงอายุระยะยาว คือติดบ้านติดเตียง เป็นหลักประกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ในประเทศไทย ถ้าสมมติว่ามีอาการป่วยติดบ้านติดเตียง ก็ใช้เงินกองทุนนี้เข้าไปดูแล ถ้าคุณพ่อคุณแม่เจ็บป่วย ลูกก็ไม่ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ แต่เราจะมีคนเข้าไปดูแล 

200 บาทต่อหัวที่เราจัดสรร ท้องถิ่นก็เข้ามาได้ หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ตัวเงินเท่ากัน แต่ตัวบริการน่ะ คราวนี้ท้องถิ่นก็มาใส่ได้ เช่น ใส่เงินเพิ่มเติม มีดีไซน์เพิ่มเติม การจ้างงานเพิ่มเติมได้ 

มันมีอีกตัวหนึ่งที่คุณพูดถึงตอนนั้นก็คือ การเชื่อมแม่น้ำโขง และประเทศอื่นๆ รอบบ้าน ตรงนี้ยังไงบ้างครับ

จริงๆมันมีตัวเลขอยู่ 3 ตัว 

1. ค้าส่งค้าปลีก เป็นตัวสำคัญอยู่แล้ว ภาคนี้มีศักยภาพเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่ไทยมีเยอะมากกว่าประเทศอื่น เราอาจจะพูดว่าเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่ในจำนวนผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้เยอะเท่าไทย ตรงนี้ไทยยังเป็นจุดสำคัญอยู่ 

2. ศิลปะ ความบันเทิงทั้งหลาย ที่เราคิดว่าเป็นตัวดาวรุ่งของภาคอีสาน อันนี้ถ้าพูดในภาษาสมัยใหม่คือเป็น Soft Power แบบหนึ่ง อันนี้มันเป็นตัวที่อีสานนี่ แทรกซึมได้ดีมาก ดูตัวอย่างจากสเกลของไทย เราก็จะเห็นได้เลยว่าอีสานแทรกซึมได้ค่อนข้างดี เราเชื่อว่า Soft Power ของอีสานจะสามารถแทรกซึมไปยังลาว เวียดนาม กัมพูชา ได้ 

3. การท่องเที่ยว เป็นอีกตัวหนึ่งที่เรามีศักยภาพสูง แล้วก็ถ้าเราวางเส้นทางการท่องเที่ยวให้ดีๆ อีสานจะเป็นเหมือนศูนย์กลางในเรื่องการท่องเที่ยว พูดง่ายๆ ว่า ตั้งแต่จีนไปยังกัมพูชา มันผ่านอีสานใช่ไหม พม่าไปเวียดนามก็ผ่านอีสานได้ เพราะฉะนั้น หากเราสามารถวางแนวทางการท่องเที่ยวได้ มันทำให้ผู้คน สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกันได้หลายประเทศ อีสานก็จะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ สุดท้ายอีสานก็จะเป็นศูนย์กลางในแง่เส้นทาง 

มีคนมองว่า ที่ก้าวไกลมองเรื่องอีสาน เป็นเพราะอยากได้ ส.ส. ตรงนั้น เพราะว่ามีจำนวนสัดส่วน ส.ส. เยอะที่สุดในประเทศ

คงเป็นส่วนที่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าภาคอีสานมี ส.ส. มากที่สุด และความนิยมของอีสานที่มีต่อพรรคก้าวไกลก็เพิ่มขึ้นตามจุดยืนทางการเมือง ถ้าเปรียบเทียบกับภาคใต้ ก็อาจเห็นได้ว่าจุดยืนทางการเมืองของคนภาคอีสานก็อาจจะใกล้เคียงการพรรคก้าวไกลมากทีเดียว ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ เป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อไรที่นโยบายอีสานสองเท่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้

แน่นอนคือว่าเรายังไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร เราก็ลองทำแบบภาคอีสานที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะพัฒนาข้อเสนอในแง่ของภูมิภาค เราจัดไปแล้วที่ภาคเหนือตอนล่างช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แล้วก็คงจะไปจัดที่ภาคอื่นๆ รวมถึงที่ภาคอีสานต่อไปด้วย 

สิ่งที่ต้องชัดขึ้นสำหรับภาคอีสานสองเท่าคือ หลังจากนี้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ให้พี่น้องตัดสินใจได้ว่า เส้นทางที่เขาควรเป็นนั้นควรเป็นอย่างไร และเมื่อตัดสินใจแล้ว ก็จะช่วยทำให้พี่น้องสามารถตัดสินใจได้ว่า เส้นทางที่เขากำลังจะไปต่อนั้นควรเป็นอย่างไร และหากเขาตัดสินใจเลือกเราแล้ว ก็มาจี้ที่เราได้ว่ารัฐบาลได้ทำตามนั้นหรือไม่ 

เมื่อพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจ คุณพูดเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ วันนี้คุณเห็นอะไรบ้าง มีพัฒนาการบ้างไหม

ก็คงชัดเจนว่าท้องถิ่นก็เจอปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 10 ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลของการดึงอำนาจของส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่มีการฝากเอาไว้ ดึงอำนาจในการจัดการในงานบุคคล มีการไปล็อกว่าเรื่องนี้ต้องให้ส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ ทำให้ท้องถิ่นมันมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วส่วนกลางก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบ 

ผมคิดว่าตัวอย่างของรัฐบาลยุคปัจจุบัน คือการแก้ปัญหาไปวันๆ ไม่ได้มีอะไรยืนยันได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลจะพาประเทศไทยไปได้นั้นจะพาไปสู่จุดไหน อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลพร้อมจะรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่เคยมี เราจึงมีอดีตรองนายกฯ พูดถึงเรื่องคนจนจะหมดจากประเทศ 

จริงๆ ตอนที่ถึงเวลาที่เค้าพูด เค้ายังเป็นรองนายกฯ อยู่นะ หมายถึงว่าบอกว่าภายในปีนั้น แต่เค้าก็ไม่ได้กลับมาพูดอะไร ไม่แม้แต่จะบอกว่า ผมทำไม่สำเร็จ ไม่เคย แม้แต่จะขอโทษ ผมคิดว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่ ผมคิดว่าในบริบทการเลือกตั้งของเมืองไทยยังเป็นบริบทที่ขาดหายไป 

ผมอยากเห็นพรรคก้าวไกลและทุกพรรคพูดว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ แต่ตอนนี้ไม่มี อย่างเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หลายพรรคโฆษณาว่า ถ้ามีสวัสดิการเด็กเล็ก จะได้แบบถ้วนหน้า บางพรรคพูดถึงว่าเกิดปั้บรับแสน แต่ทั้งหมดก็ไม่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบใดๆ ไม่เคยแม้แต่จะขอโทษอย่างเป็นทางการ

เราต้องเซ็ตก่อนว่าสิ่งที่เราจะพาไป เราจะต้องพาไปถึงจุดนี้ให้ได้ แล้วเราถึงจะถอนกลับมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องทำอะไร เช่น ถ้าเราตั้งเป้าแล้วว่า ภาคเกษตรจะต้องโต 10% ต่อไป เราจะต้องไล่มาเลยว่าพืชแต่ละชนิดเราจะต้องทำรายได้จากมันประมาณไหน ทั้งในแง่เป้าหมาย ผลผลิต และราคา

อย่างทัศนคติของคนที่มองว่าองค์การปกครองท้องถิ่นคือการคอร์รัปชัน คือเสากินรี คุณจะอธิบายอย่างไร

ผมคิดว่ามันคือข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราชการส่วนกลางไม่โกง แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท้องถิ่นโกงมากกว่าด้วย ที่ผมมี ไม่เคยมีตัวเลขนั้นเกิดขึ้นเลย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมืองไทยใช้วิธีการแบบนี้ในการโจมตีกันไปมา แต่ถ้ารัฐบาลกลางมีตัวเลขว่าท้องถิ่นโกงมากกว่า ก็ช่วยชี้แจงด้วย 

ทั้งหมดนี้ เราก็หวังว่าในขั้นตอนของการลงประชามติ จะได้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าตกลงแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ แต่สิ่งที่ผมมีมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะครับ ที่มันน่าสนใจมากกว่าก็เช่นเรื่องคุณภาพการศึกษา ตอนหลังเราเริ่มเห็นชัดเจนว่าโรงเรียนที่ย้ายไปสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีคุณภาพการศึกษาที่เทียบเท่าหรือดีกว่า เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่อยู่กับส่วนกลาง

ที่คุณเกริ่นมาหน่อยหนึ่ง เรื่องอีสานว่ายังมีปัญหาเรื่องการศึกษา อันนี้เป็นมาอย่างไร

คือผมคิดว่าปัญหาของอีสานมันแบ่งอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนแรกคือเราอาจจะเรียกว่าการลงทุนที่มันต่ำเกินไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ต ครู พาร์ตนี้จะต้องแก้เป็นพาร์ตแรก อันนี้คือพาร์ตที่หนึ่ง

พาร์ตที่สอง เวลาเราพูดถึง Soft Culture เราพูดเรื่องศิลปะวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เราเชื่อจริงไหม ถ้าเราเชื่อจริง ผมว่าหลักสูตรการศึกษาบางอย่างต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ภาษาไทย เราคิดไหมว่าภาษาไทยมีภาษาเดียว ยกตัวอย่าง ก้อง ห้วยไร่ เราคิดว่า ก้อง ห้วยไร่ มีอัจฉริยภาพในการใช้คำไหม แล้วก้อง ห้วยไร่อยู่ในวิชาภาษาไทยไหม ก็ไม่

อย่างนี้ครับ เราจำเป็นจะต้องแก้ด้วยตัวหลักสูตร ขณะที่สายวิทยาศาสตร์ เราเชื่อว่าอีสานมีศักยภาพอะไรบ้าง การหมัก ไม่ว่าจะหมักเพื่อเป็นอาหาร หมักเพื่อเป็นพลังงานชีวมวล เนื้อหาเหล่านี้อยู่ในวิชาไหม ก็ไม่อยู่ ช่าง อาหาร การปรุงอาหาร เรารู้ว่าเชฟสวนใหญ่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นคนอีสานทั้งนั้น แล้วมันก็มีศักยภาพในเชฟเหล่านี้เค้าจะ Mix กันด้วย 

ส่วนพาร์ตที่ 3 ไม่ว่าเราจะปรับปรุงเนื้อหาอย่างไรก็ตาม ห้องเรียนในโลกยุคหน้าคงตอบโจทย์ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่ง แล้วเราจะไปลงทุนส่วนที่อยู่นอกห้องเรียนได้อย่างไร หมายความว่าเราก็จะต้องลงทุนในส่วนที่อยู่นอกห้องเรียนให้ได้ ให้เกิดศูนย์การเรียนรู้อย่างกว้างขวางขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าหลักสูตรฐานสมรรถนะเกิดขึ้นได้ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องอินเทอร์เน็ตต้องพร้อม เนื้อหาต้องปรับ สิ่งที่เป็นภูมิปัญญา เป็นศักยภาพ เป็นอัจฉริยภาพของความเป็นอีสาน ก็ต้องใส่เข้ามา การแต่งเพลงแบบ ก้อง ห้วยไร่ การ Mix and Match ของอาหารต่างๆ นั้นต้องเข้ามาให้เต็มที่ 

การเลือกตั้งรอบหน้าจะสามารถแข่งกันด้วยนโยบายได้ไหม ถ้าลองเทียบกับคราวที่แล้ว ที่ดูเหมือนเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ

ประชาธิปไตยกับเผด็จการก็ยังคงอยู่มั้ง ในภาพของประชาธิปไตยและเผด็จการก็ยังมีอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากเลย คือที่เราเรียกว่าท่าที หรือวิธีการแสดงออก ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยเลือกแต่ละพรรคเลือกจากจุดนี้ เช่น คนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ ก็เลือกเพราะต้องการให้มีท่าทีแบบนี้ในวงการการเมืองของไทย ตรงนี้ ในฐานะคนทั่วไปอาจจะเรียกว่าตัวตน ไม่ได้หมายถึงจุดยืนในแง่ประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่วิธีสื่อ วิธีที่เราพูด มุมมองที่เรามีแต่ละเรื่อง ล้วนเป็นจุดสำคัญ

ตัวต่อไปก็คือนโยบาย แต่ว่านโยบายผมคิดว่ามันจะเริ่มมี 3 สิ่งที่แตกต่างกันออกไป นโยบายแต่ก่อนคือพูดว่าจะทำอะไร ต่อไปมันจะเริ่มประเด็นว่า จะทำอย่างไร คำว่าจะทำอย่างไร น่าจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จริงๆ แล้วส่วนนี้มีความสำคัญมากขึ้นเยอะ ความสำคัญนี้จะมากเพิ่มขึ้นแค่ไหนไม่รู้ แต่เพิ่มมากขึ้นแน่ 

สังเกตได้เลยว่าทุกโพสต์ในเฟซบุ๊กของ Think Forward Center ที่เสนอไป จะมีคนคอมเมนต์รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง จะทำอย่างไรตลอดเลย มันแปลว่าโอเค กำลังมา เกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายก็คือจะรับผิดชอบอย่างไรต่อสิ่งที่ทำ ซึ่งข้อนี้ผมอยากให้ประชาชนเรียกร้องให้หนักขึ้น หนักขึ้นก็ตรงที่ว่า เวลาเราพูดถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย เราทำอย่างไรให้แต่ละพรรคพูดถึงข้อเสนอ 3 ข้อ 

ข้อแรกก็เหมือนที่แต่ละพรรคพูดล่ะว่าจะทำอะไร ทำทำไมด้วยนะ ตอนนี้ ‘ทำทำไม’ จะมีความสำคัญมากขึ้น ตามกระแสเรื่องของการลงทุนในธุรกิจแบบสมัยใหม่

เราก็จะอธิบายให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหมื่นล้านบาท เพื่อมาแก้ไขที่ดิน ทำไมเราคิดหมื่นล้านบาท อย่างนี้คำว่าทำไมมันก็จะมีความหมาย คือถ้าเราอธิบายได้ไม่ดี นโยบายนี้ก็ไม่ได้มีผลเหมือนกับทางการตลาดการเมือง

คือผมว่ามันน่าสนใจมากเลยนะครับ สิ่งที่เปลี่ยนไปมากก็คือโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้น เราสามารถที่จะดึงกลับมาได้ใช่ไหมว่าเค้าพูดอะไร ตอนนี้เกมมันจะไม่เหมือนเมื่อ 510 ปีที่แล้ว เหลือแต่ว่าคนไทยจำนวนหนึ่งรู้ แต่เฉย โจทย์ตอนนี้เหลือแค่ว่าทำยังไงที่เขารู้แล้วเขาจะไม่เฉย 

ในมุมมองคนทำงานด้านวิชาการ มีความเป็นไปได้ไหมที่จะล้มพลเอกประยุทธ์หรือระบบรัฐราชการด้วยการเสนอนโยบายในลักษณะนี้ 

อืม… ตอบอย่างไรดี เอาเป็นว่าโจทย์ที่ผมได้รับมาคือการที่เราจะชนะพลเอกประยุทธ์ด้วยการเลือกตั้ง เอาอย่างนี้ดีกว่า โจทย์ของผมคือตอนนี้ ในพรรคเรามีการแบ่งงานกันทำชัดเจน เพราะฉะนั้น สมมติ อยู่ๆ ถ้าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนะครับ ทีมของคุณไหม (ศิริกัญญา) ก็จะทำงานเป็นหลัก เขาอาจจะถามผมถึงข้อมูลบางเรื่อง ให้ช่วยทำบางเรื่อง เพราะฉะนั้น ทีม Think Forward Center ก็จะไม่ได้มี Agenda กับฝ่ายการเมือง 

ก่อนหน้านี้ Agenda ของเรา คือการทำข้อเสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้งเป็นหลัก เพราะฉะนั้นผมไม่อาจจะได้ทันได้คิดมากนักว่า ตกลงแล้วจะล้มรัฐบาลประยุทธ์ก่อนการเลือกตั้งได้อย่างไร แต่คือต้องเอาชนะในการเลือกตั้ง

แล้วก็ไม่ใช่ชนะแค่เลือกตั้ง แต่ว่าต้องชนะหลังจากเลือกตั้งด้วย ความหมายก็คือว่า สิ่งที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นจริง การกระจายอำนาจ สวัสดิการถ้วนหน้า อีสานสองเท่า มันต้องเกิดขึ้นได้จริงด้วย ถึงจะทำให้ชัยชนะเป็นชัยชนะที่ถาวร ไม่ใช่ถาวรในฐานะของพรรคอย่างเดียว แต่ในฐานะของทิศทางการพัฒนาการเมืองในยุคต่อไป

ถ้าอีสานสองเท่าแล้ว เหนือกับใต้นี่จะเป็นอย่างไร จะมีคีย์เวิร์ดอะไรอีกไหม

ครับ เราก็ต้องไปคุยกับแต่ละที่ แต่ว่าตอนนี้มันมีการเปลี่ยนนิดหนึ่งก็คือการที่เราจะใช้วิธีไปคุยกับพื้นที่ก่อน แล้วเราค่อยนำเสนอ แต่ผมยกตัวอย่าง อย่างภาคใต้ ปัญหาสำคัญของภาคใต้ เราคิดว่าคืออะไรครับ

ปัญหาสำคัญของภาคใต้

ถ้าเรามองจากมุมเศรษฐกิจ 

ราคาปาล์ม ราคายาง 

ใช่ครับ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากภาคอื่นใช่ไหม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากภาคอื่นอย่างมาก ถ้าเราไปดูในมุมเศรษฐกิจภาคใต้ เราจะพบว่าเศรษฐกิจของภาคใต้นี่เหมือนรถไฟเหาะตีลังกา คือแบบว่า ก่อนที่ราคายางดีๆ เศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากเลยนะ แล้วพอราคายางตก เศรษฐกิจก็ตกลงมากเลย 

แล้วถ้าเราเรียกเศรษฐกิจตกต่ำ ก็คือตอนที่ GDP ตกลง ภาคใต้คือลงต่อเนื่องกัน 4 ปี คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ไหม แต่มันไม่ได้เป็นโจทย์ไง แต่ถ้า GDP ประเทศไทยตกปีหนึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่แล้วใช่ไหม แต่ GDP ภาคใต้ตก 4 ปีติดต่อกัน ไม่มีใครพูดอะไร 

แต่ถามว่า ถ้าย้อนกลับไปดูแล้ว มันตกลงเพราะอะไร ก็ต้องตอบว่าภาคใต้พึ่งพาพืชชนิดเดียว อย่างสงขลา ตัวเลขปลูกยางอย่างเดียว 80% บางจังหวัด 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็มี 

หลังจากราคายางตก ตอนหลังมา GDP ของภาคใต้ก็ขึ้นมาอีก ขึ้นมาด้วยอะไรรู้ไหมครับ ขึ้นมาด้วยการท่องเที่ยว GDP ขึ้นเหมือนรถไฟเหาะ แต่พอเจอโควิด-19 ก็ร่วงอีก เพราะบางจังหวัดพึ่งพาการท่องเที่ยวเข้าไป 30% กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งหมดแปลว่าวิธีคิดแบบเศรษฐกิจขาเดียวของภาคใต้ จับจังหวะให้ถูก แล้วก็ใช้จังหวะนี้เป็นตัวนำ ถือเป็นวิธีการที่เสี่ยงมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะไปแก้ในภาคใต้ ก็คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจในภาคใต้ไม่ใช่เศรษฐกิจขาเดียว 

แต่การที่ภาคใต้เลือกเศรษฐกิจขาเดียวเนี่ย มันจะบอกว่าเป็นนโยบายของรัฐแต่เพียงอย่างเดียวก็จะไม่ใช่นะ เราต้องไปคุยกับเขาว่าเห็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจขาเดียว ยกตัวอย่างเช่น โมเดลชุมพร ชุมพรเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่โมเดลมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อมาได้ ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรกว่า 10% ของพื้นที่ภาคใต้ แต่ตอนนี้มี GDP ภาคเกษตรประมาณ 20% ของภาคใต้ ถามว่าแล้วเคล็ดลับของชุมพรคืออะไร เคล็ดลับคือปลูกไม่รู้ตั้งกี่อย่าง แต่คุณคิดว่ามันใช่โมเดลของจังหวัดอื่นไหม ยังไม่รู้ อันนี้ก็ต้องไปคุยกัน

Tags: , , ,