(1)
ปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 106 ปี แน่นอนว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ ‘เก่าแก่’ ที่สุดในไทย และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย พร้อมมีคำขวัญเก๋ๆ ที่ตั้งมานานกว่าสิบปีแล้วว่า เป็น ‘เสาหลักแห่งแผ่นดิน’
ไม่ว่าคุณจะรู้สึกบวกหรือลบกับคำนิยามดังกล่าว แต่ความท้าทายของจุฬาฯ ณ วันนี้ มีมากพอสมควร ในระดับโลก จุฬาฯ ถูกมองว่ายังไม่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยดังของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ในระดับประเทศ จุฬาฯ ถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัย ‘อนุรักษนิยม’ เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่า-คร่ำครึ ขณะเดียวกัน ก็ถูกวิพากษ์เช่นเดียวกันว่าบางครั้ง จุฬาฯ ทำตัวเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์มากกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หากประเมินจากการพัฒนาพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสยามสแควร์หรือบริเวณตลาดสวนหลวง-บรรทัดทอง
แล้วจุฬาฯ ควรเป็นอย่างไรกันแน่? ในปีนี้ จุฬาฯ กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีคนปัจจุบัน กำลังจะครบวาระ 8 ปี และถึงเวลาที่จุฬาฯ จะได้อธิการบดีคนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2567
หนึ่งในผู้ที่เสนอตัวคือ ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 4 ปี วันนี้ เขาประกาศตัวว่าเขาคือหนึ่งในคนที่ ‘พร้อม’ ที่สุด ที่จะพาเสาหลักแห่งแผ่นดินเสานี้ไปต่อในระดับโลก ช่วยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สามารถเชื่อมภายใน–ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์ และพานิสิตจุฬาฯ ให้เป็นนิสิตที่มีคุณภาพระดับโลก เป็น ‘Global Citizen’
ก่อนประชันวิสัยทัศน์ไม่นาน เราชวนหมอพรชัยถอดเสื้อกาวน์ มานั่งตอบคำถามจากอดีตนิสิตจุฬาฯ พร้อมกับไล่เรียงว่าเป้าหมายของเขาต้องการอะไร เขามีดีอะไรที่กรรมการสรรหาต้องเลือกให้เขาเป็นอธิการบดีคนต่อไป แล้วตัวตนจริงๆ ของคุณหมอเป็นอย่างไร
เมื่อปลายปีที่แล้ว เขาได้รับการชักชวนจาก ‘ผู้ใหญ่’ คนหนึ่งของจุฬาฯ ที่บอกว่าเขาน่าจะมีความรู้ความสามารถมากพอในการรับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งนี้
อันที่จริง หมอพรชัยไม่ใช่คนหน้าใหม่ เขาเข้าเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2528 เป็นความใฝ่ฝันของคนคนหนึ่งที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งให้ได้
หลังจากอยู่ในสนามวิชาชีพ พร้อมกับเริ่มเข้าสายงานบริหาร ก็ถึงเวลาที่พรชัยจะเสนอตัวเป็น ‘อธิการบดี’ เบอร์หนึ่งของจุฬาฯ
ก่อนจะถึงตรงนั้น เราชวนคุยกับเขาในหมวกของผู้บริหารคณะก่อน
คณะทันตแพทยศาสตร์อยู่ติดกับรั้วสยามสแควร์ คณะนี้ไม่ได้เล็ก ไม่ได้ใหญ่ แต่ในแง่หนึ่ง เมื่อคุณหมอพรชัยเข้ารับตำแหน่ง เขาเปลี่ยนคณะนี้มากพอสมควร
หากเราวัดคุณภาพมหาลัยด้วย ‘อันดับโลก’ เมื่อคุณหมอพรชัยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ เขาพาโรงเรียนทันตแพทย์ของจุฬาฯ ที่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศอยู่แล้ว จากอันดับ 100 ของโลก จากการจัดลำดับของ ‘QS Universities’ ให้ขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 70 ติดท็อปเท็นของเอเชีย ผ่านการเพิ่มงานวิจัยให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ
คำถามก็คือทำอย่างไร?
“ผมเปลี่ยนด้วยการมองภาพว่า… เมื่ออาจารย์มีงานเต็มมือแล้ว ผมก็ต้องเพิ่มนักวิจัย เพิ่มผู้ช่วยนักวิจัย เพิ่มงบประมาณ ให้เขามีเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย ขณะเดียวกัน ก็เข้าไปเปลี่ยนขั้นตอนงานที่ยุ่งยาก เช่น ต้องรายงานขั้นตอนงานวิจัยทุกสามเดือน เปลี่ยนเป็นปีหนึ่ง หรือค่า Page Charge เพื่อยกระดับงานวิจัยให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ คณะทันตแพทยศาสตร์ก็สนับสนุนให้
“เพราะสิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ Journal ดีๆ ค่า Page Charge ก็แพงตาม ก่อนหน้านี้ พอค่าตีพิมพ์แพง ก็ไม่มีใครอยากส่ง เราปล่อยอย่างนี้ไม่ได้ ก็เลยสนับสนุนทุกด้าน ผลที่ตามมาก็คือจากปี 2563–2566 เรามีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับ Tier 1 เพิ่มขึ้นกว่า 200% ยกระดับคณะเราได้ในทุกด้าน”
ขณะเดียวกัน ข้อสำคัญคือการ ‘หาเงิน’ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณหมอพรชัยก็พยายามตั้งโจทย์ใหม่ ด้วยการทลายข้อจำกัดเดิม ใช้ประโยชน์จากคณะทันตแพทยศาสตร์เพื่อหารายได้ผ่าน ‘คลินิกพิเศษ’ และโรงพยาบาลของคณะ เพื่อให้คณะสามารถลงทุนด้านการศึกษาได้มากขึ้น
“ปัจจุบัน เรารู้ว่าคณะต่างๆ ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องมีสถานะการเงินที่มั่นคง แต่สิ่งที่ต้องยอมรับตรงๆ ก็คือ หลักสูตรปริญญาตรีของเรา ยิ่งรับนิสิตมากยิ่งขาดทุน เพราะต้นทุนเขาหกแสนบาทต่อคนต่อปี แต่เราได้ค่าเทอมประมาณแปดหมื่นถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่อปีเท่านั้น”
ด้วยโจทย์นี้ หากจะให้โรงเรียนทันตแพทย์ จุฬาฯ สยายปีกได้มากขึ้น ก็ต้องหาเงินมาสนับสนุน เทคนิคของคุณหมอพรชัยคือการทำงานกับอธิการบดี ทำงานกับสภามหาวิทยาลัยใกล้ชิด ใช้ข้อบังคับใหม่ในการเป็น ‘หน่วยงานในงานในกำกับ’ ของคณะเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ให้สามารถจ้างคนได้เพิ่ม ไม่ติดกรอบอัตรากำลังของจุฬาฯ เพื่อจัดกรอบอัตราเงินเดือนด้วยตัวเอง
คาดการณ์รายได้ของบริการคลินิกพิเศษของคณะทันตะฯ คาดว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวจาก 400 ล้าน สู่ 800 ล้านบาท ทำให้โรงเรียนทันตแพทย์เติบโตขึ้น มั่นคงขึ้น และเลี้ยงตัวเองได้ พร้อมกับสร้างตัวเองในระดับโลก
“ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งคือพื้นฐานความเป็นทันตแพทย์ด้านศัลยกรรม ที่ฝึกให้เรามองภาพการป่วยของคนไข้ ต้องคิด–ต้องทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาก่อนผ่าตัด ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ ต้องไม่ลังเล ต้องแน่วแน่”
ขณะเดียวกัน ต้องกำกับดูแลสม่ำเสมอ นี่เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ยังต้องใช้กับงานบริหาร นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เสนอตัวเป็น ‘อธิการบดี’
(2)
จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัย Conservative ไหม? อาจารย์พรชัยพยักหน้ารับ
“แต่ผมไม่ได้มองเป็นข้อเสียนะ เราไม่ได้โบราณ ไม่ได้ล้าหลัง ถ้าเราจะเปลี่ยน เราเป็นมหาวิทยาลัยที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนแบบช้าๆ แต่มั่นคง เรามีองค์ความรู้เยอะ มีอาจารย์ที่เก่งที่สุด เมื่อเราจะเปลี่ยน มันอาจไม่ได้เปลี่ยนแบบ Disruptive ทันทีทันใด เราใช้คำว่า Transformative มากกว่า
“ข้อดีของเราคือเรายอมรับความแตกต่าง เรามีหน่วยงานที่ให้ความรู้ได้หลากหลาย ทั้งนิติศาสตร์ ทั้งรัฐศาสตร์ เราไม่ได้โบราณ แล้วเรายังมีคนช่วยอยู่เยอะ โดยเฉพาะศิษย์เก่า”
วันนี้ แม้จุฬาฯ จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมายาวนาน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ในระดับโลก อันดับของจุฬาฯ ไม่ได้งดงามนัก ในระดับโลก จุฬาฯ อยู่อันดับที่ 211 และหากเทียบเฉพาะในเอเชีย จุฬาฯ อยู่อันดับที่ 43 ท่ามกลางคู่ท้าชิงใหม่ๆ ว่า มหาวิทยาลัยในจีนและมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหลายแห่งก็แซงไปเรียบร้อย โดยมีมหาวิทยาลัยใน ‘เวียดนาม’ จ่อเข้ามาติดๆ
แล้ว ‘Ranking’ ในความหมายของอาจารย์พรชัยเป็นอย่างไร?
“ที่จริง Ranking เป็นยาขมของบางคณะ เมื่อเราเทียบกันด้วย Ranking วัดกันสองส่วน ส่วนหนึ่งคืองานวิจัย คือต้องมีผลงานตีพิมพ์ที่มีคุณภาพ กับอีกส่วนคือชื่อเสียง เพราะฉะนั้น หากจะให้จุฬาฯ มี Ranking ที่ดี ก็ต้องทุ่มเทกับงบวิจัย และความมีชื่อเสียง ก็ต้องสนับสนุนให้อาจารย์ออกไปเลกเชอร์ ไปสร้างหลักสูตรที่มีชื่อเสียง ถ้าหลักสูตรจุฬาฯ มีชื่อเสียง คนก็กลับมาเรียน”
ในมุมมองของพรชัย เขาอยากให้จุฬาฯ มี National University of Singapore (NUS) เป็นคู่แข่ง ปัจจุบัน NUS อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย
“เอาเข้าจริง ผมคิดว่าจุฬาฯ ควรจะสู้ได้ แต่ก็ยังห่างเยอะ ส่วนหนึ่งถ้าให้เปรียบเทียบคืองานวิจัยมีหลากหลาย มีคุณภาพ เขาจ้างคนด้วยเงินเดือนสูงกว่า แม้แต่เงินเดือนของนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Research Fellows) ก็สูงกว่าเงินเดือนศาสตราจารย์ที่นี่ หรือเขามีเงินลงทุนไปจ้างศาสตราจารย์จาก John Hopkins University มาเป็นรองอธิการบดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องบอกว่าเราต้องใช้เงินขับเคลื่อน สังคมไทย เราไม่ค่อยอยากพูดเรื่องเงิน แต่สำหรับผม ถ้าจะต้องใช้เงินก็ต้องใช้ ต้องสื่อสารกับรัฐบาล ต้องให้เงินเรา แล้วใช้เงินขับเคลื่อนให้เป็นไปได้จริง
“ถ้าเราจะชนะได้ งานวิจัยจะมีคุณภาพได้ต้องใช้เงิน ต้องปรับแผนวิจัย ต้องเพิ่มงบประมาณวิจัย เพื่อขับเคลื่อนให้งานวิจัยผลิตงานที่มีคุณภาพมากขึ้น สร้าง Academic Reputation ให้ดีขึ้น จากทั้งสายสังคม สายวิทย์” พรชัยสรุป
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความปรารถนาของเขา ก็คือการ ‘ปั้น’ นิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานะเสมือนหนึ่ง Global Citizen
ในมุมของพรชัย เขาเชื่อว่าศักยภาพนิสิตไทยสามารถส่งออกไปทำงานได้ทั่วโลก ไม่ได้ยึดติดเพียงการทำงานในประเทศไทย เพียงแต่ที่ผ่านมา นิสิตเหล่านี้อาจยังไม่แน่ใจในศักยภาพตัวเองนัก
“เราจะเพิ่มสกิลเขาผ่านวิชา Gen Ed เราจะเพิ่มทักษะความเป็นผู้นำ ถ้าอยากได้โค้ชชิง เราจะหาโค้ชมาให้ ถ้าคุณอยากทำคอนเทนต์ อยากเป็นยูทูเบอร์ เรามีคนมาอบรม ถ้าคุณอยากเป็นสตาร์ทอัพ เราจัดหาที่ทางให้ เราพร้อมเป็น Incubator ให้ เราอยากผลิตเขาออกไปด้วย Mindset ว่า คุณทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ Anytime Anywhere
“สมัยก่อน รุ่นผม เวลาเขาเสนอว่าจะอยู่ต่างประเทศต่อไหม หลายคนปฏิเสธ ขออยู่กับพ่อแม่ แต่คนรุ่นนี้ไม่ใช่แล้ว เขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เราจะทำการศึกษาให้ไร้พรมแดน วันนี้คนอายุยาวขึ้น แต่ความรู้นั้นสั้นลง เราจะใช้เครื่องมือ ใช้ระบบนิเวศต่างๆ กระตุ้นให้เขาเรียนรู้ได้มากขึ้น เราจะจัดหาคอร์สฟรีให้มากขึ้น ตรงกับที่เราอยากให้การเรียนนั้นเป็นเรื่องไร้พรมแดน”
(3)
แล้วอะไรคือ ‘จุดแข็ง’ และ ‘จุดอ่อน’ ของจุฬาฯ เราถามพรชัยถึงแพสชันของเขากับจุฬาฯ ในวันนี้
“เรามีจุดแข็งหลายอย่าง อาจารย์มีคุณวุฒิสูง นักเรียนเข้ามา ก็เขามาด้วยคุณภาพที่สูง เราเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพสูง ฉะนั้น ใครๆ ก็อยากเข้า ขณะเดียวกัน เราเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่มานาน ฉะนั้น เครื่องมือต่างๆ เรามี
“ปัญหาก็คือเรามีแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Ecosystem) แล้ว แต่สำหรับผม มันยังไม่ได้ถูกต่อยอดจนครบวงจร สิ่งที่ผมอยากทำ คือทำนวัตกรรมให้ชัดเจน สร้างการศึกษาที่ไร้พรมแดนให้กับประชาชน ตอนนี้เรามีแล้ว แต่ผมว่าประชาชนยังไม่ได้รู้สึกมากพอ ว่าพอเราพูดเรื่องการศึกษาไร้พรมแดนแล้วจะนึกถึงจุฬาฯ เป็นที่แรก”
พรชัยยกตัวอย่างว่า วันนี้ หากนั่งหา ‘คอร์ส’ เรียนออนไลน์ใน ‘Coursera’ วันนี้คนทั่วไปอาจยังไม่ได้นึกถึงจุฬาฯ เป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ
ฉะนั้น หากเขาได้เป็นอธิการบดี เขาจะกระตุ้นให้เกิดคอร์สออนไลน์ ทำการสื่อสารเชิงรุกในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การเรียนการสอนไร้พรมแดน มีนวัตกรรมใหม่ๆ
ขณะเดียวกัน สำหรับเขาที่มาจากสายวิทย์แข็งๆ เขาก็บอกว่า เขาไม่ลืมสายสังคมศาสตร์ ไม่ลืมสายมนุษยศาสตร์ แม้จะไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่ก็เป็นเสาหลักของประเทศในการพัฒนาประเทศได้เช่นกัน
ใช่ Ecosystem คือคำที่เขาพูดอยู่บ่อยครั้ง… สิ่งที่พรชัยนำเสนอในวิสัยทัศน์คือเรื่อง Environment, Social, และ Governance (ESG) หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ วันนี้ ถึงเวลาที่ในแต่ละหน่วยงาน แต่ละภาควิชา แต่ละคณะต้องทำงานด้วยกัน ต้องทำแผนจริงๆ และเป็นผู้นำของประเทศในเรื่องเหล่านี้
ในมุมมองของเขา จุฬาฯ เด่นในเรื่องแต่ละคณะ และทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยผลผลิตของแต่ละคณะ ไม่ใช่จากทีมบริหาร
“ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำได้ดีกว่านี้คือการเชื่อมโยงกับแต่ละคณะ ให้มีพลัง ให้สามารถสื่อสารถึงกัน หากมีคณบดีคนไหนขึ้นมาใหม่ ก็อบรม พัฒนา ให้เห็นเป้าหมายตรงกัน ให้มียุทธศาสตร์ร่วมกัน แล้วจุฬาฯ ต้องไปให้ทันกับสิ่งที่ทั่วโลกพูดถึง”
แล้วทำไมทันตแพทย์คนหนึ่งถึงอยากจะเข้าไปนั่งบริหารเก้าอี้มหาวิทยาลัย
“ผมทำงานที่ไหนก็มักจะนั่งมองปัญหา ผมทำงานคณบดีก็รู้สึกว่ามีบางเรื่องที่ผมเข้าไปแก้ได้ เป็นฟันเฟืองในการแก้ปัญหาประเทศได้ ถ้าผมเป็นทันตแพทย์ เรื่องที่แก้ไขได้ก็คือปัญหาสุขภาพช่องปาก แต่ถ้าผมมีโอกาสขึ้นมา ผมก็อยากแก้ปัญหาเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่างคะแนนสอบ PISA
“ถ้าเป็นทันตแพทย์ ผมทำได้ไม่ครบลูป แต่ถ้าผมเป็นอธิการบดี ก็สามารถระดมคนมาแก้ปัญหา จุฬาฯ มีความเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน คณบดีครุศาสตร์ก็มีพื้นฐานข้อมูล อีกส่วนหนึ่ง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ก็เคยทำไว้แล้วว่าต้องทำอะไร เราเห็นแล้วว่า 15 ปี ไม่เคยเปลี่ยนหลักสูตร ตรงนี้ จุฬาฯ เป็นแกนกลางได้ ในการเริ่มต้น ‘เปลี่ยน’ ระบบการศึกษา”
ถึงตรงนี้ พรชัยที่เคยเรียนหลักสูตร ‘วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร’ เรียนหลักสูตร ‘นักบริหารยุติธรรมระดับสูง’ เรียนหลักสูตร ‘วิทยาลัยตลาดทุน’ และเรียนหลักสูตร ‘การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง’ บอกว่าเขาพร้อมใช้ ‘เครือข่าย’ ที่มีในการแก้ปัญหาประเทศและจุฬาฯ ในยุคของเขาจะเป็นตัวริเริ่มในการแก้ปัญหาที่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้ ไม่นั่งดูปัญหาเหล่านี้ผ่านไปเฉยๆ แน่นอน
(4)
บทสนทนาพาเราไปถึงบทบาทของจุฬาฯ และความมั่งคั่ง แน่นอนว่าพื้นที่จุฬาฯ ครอบคลุมไปถึง ‘ทำเลทอง’ ใจกลางเมือง ไม่ว่าจะสยามสแควร์, MBK Center, สามย่านมิตรทาวน์, จามจุรีสแควร์ เรื่อยไปจนถึงย่าน ‘บรรทัดทอง’ โดยหากคิดราคาประเมินมูลค่าที่ดินอาจสูงนับแสนล้านบาท
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ จุฬาฯ ร่ำรวยเกินไป สนใจ ‘คนเล็กคนน้อย’ น้อยเกินไป และมุ่งมั่นแสวงหากำไรจากสินทรัพย์เหล่านี้จนหลายครั้งออกจะเลยเถิด
แล้วจุฬาฯ รวยเกินไปจริงไหม? เราถามอาจารย์พรชัยตรงๆ
“หลายคนคิดว่าเรารวย ผมว่าไม่ใช่ ต้องมองภาพว่า จุฬาฯ มันใหญ่นะ บริษัทใหญ่ๆ ต้องใช้เงินในการพัฒนา แล้วเราก็ไม่อยากจะอยู่นิ่งๆ ถ้าเป็นบริษัทแล้วมีเงินเท่านี้ มันโตกว่านี้ไม่ได้ แล้วจุฬาฯ ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ถ้าอยากก้าวหน้าต้องขยายงาน ต้องมีงานวิจัยเพิ่ม ต้องมีงบประมาณพัฒนาบุคลากรเพิ่ม ซึ่งเราเองวันนี้ก็เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มากๆ
“แต่ในส่วนของงบประมาณ จุฬาฯ ได้งบประมาณสักประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันล้านบาทถึงสองหมื่นล้านบาท คิดเป็นหนึ่งในสาม อีกหนึ่งส่วนคือ ‘ค่าเทอม’ จากนิสิต และอีกหนึ่งส่วนคือรายได้จากการจัดการทรัพย์สิน สำหรับผม เราไม่ต้องการหากินผ่านสำนักงานจัดการทรัพย์สินมากเกินไป แต่เราก็ต้องรักษาบาลานซ์นี้ไว้
“เพราะถ้าไม่ทำก็แปลว่าเราต้องขึ้นค่าเทอม หรือไม่ก็ต้องของบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ฉะนั้น สำหรับผม ก็ต้องรักษาบาลานซ์นี้ไว้ให้ดี ให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียม ให้ค่าเทอมยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก”
พรชัยบอกว่า ค่าเทอมของจุฬาฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพงมากนัก ด้วยสาเหตุหนึ่ง คือจุฬาฯ สามารถหารายได้จากพื้นที่รอบๆ ไข่แดงใจกลางกรุงเทพฯ นั่นทำให้ค่าเทอม ยังอยู่ในระดับ 2–3 หมื่นบาท ทั้งที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ค่าเทอมไปไกลกว่านั้นมากแล้ว
แล้วถ้าคุณเป็นอธิการบดี นโยบายเรื่องการจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ จะเป็นอย่างไร
“ผมพูดตรงๆ ว่าวันนี้ การจัดการทรัพย์สินอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก ผมพยายามทำให้มีประสิทธิภาพขึ้น จะได้ไม่ต้องไปขึ้นค่าเช่า ได้มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่มี ‘ความขัดแย้ง’ ในมุมของทันตแพทย์ เขาบอกว่า คงอยากอยู่แบบ ‘เป็นมิตร’ มากกว่าจะสร้างความขัดแย้งแบบในอดีต
“ขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องยึดหลักการ ‘จุฬาฯ’ ทำเอง เพราะหากให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์ทุกอย่างคงแพงกว่านี้ และหลักการสำคัญของจุฬาฯ ในการดูแลพื้นที่รอบๆ ควรเป็นไปในลักษณะให้มีรายได้เพียงพอ เลี้ยงตัวเองได้ ขยายโอกาสในอนาคตได้ และไม่ต้องขึ้นค่าเทอมเท่านั้น
“สถานศึกษากับชุมชนรอบข้างต้องอยู่กันแบบเป็นมิตรจริงๆ ต้องยอมรับว่าเราขาดเรื่องซีเอสอาร์กับหน่วยงานรอบๆ ซึ่งผมก็อยากดูแลในจุดนี้ให้มากขึ้น ทำโครงการที่ให้นิสิตเรา ให้คณะต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่”
เป็นต้นว่า ‘สยามสแควร์’ ก็ควรมีกิจกรรมนิสิต มีพื้นที่ของนิสิต มากกว่าจะเป็นพื้นที่การค้า พื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างเดียว เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่หอคอยงาช้าง
“โอเค ผมอยู่กับสยามสแควร์มานาน วันนี้ ท่านอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าเช่าแพง ท่านอยู่ไม่ได้ ซึ่งผมบอกได้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งคือมันเกิดจากการเช่า เซ้ง เปลี่ยนมือ แต่สำหรับผม ถ้าผมมีโอกาสเข้ามาบริหารงาน ผมจะรับฟังเสียงของท่าน เราจะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร และทำให้จุฬาฯ ไม่ได้มีภาพลบเป็นนายทุนเจ้าของพื้นที่”
ในมุมมองของพรชัย เสน่ห์ของสยามฯ คือการเป็นพื้นที่พบปะ ไม่ว่าจะในยุคที่มีโรงหนังสกาลา มีร้านอาหารนิวไลท์ มีฮาร์ดร็อกคาเฟ่ จนถึงวันนี้ที่เป็น ‘วอล์กกิงสตรีท’ ใหญ่ เขายังไม่อยากให้การเป็นพื้นที่ ‘ปล่อยของ’ เป็นถนนที่คนเดินได้–เดินดี และมีสินค้าในราคาย่อมเยาหายไป อยากให้พื้นที่นี้ยังคงเป็นจุดขายของกรุงเทพฯ ต่อไป
ขณะที่ประเด็น ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ พรชัยตอบสั้นๆ ว่า “ต้องสื่อสาร รับฟังความคิดเห็นกัน ให้อยู่กันได้ โดยไม่ได้มีความขัดแย้งกัน”
(5)
“ผมอยากเป็น ‘เพื่อน’ กับนิสิต” คือคำตอบของคณบดีคณะทันตะฯ ผู้เสนอตัวท้าชิงตำแหน่งอธิการบดี
นอกจากจะทำงานบริหารแล้ว เขาเป็นคุณพ่อที่มีลูก 2 คน เรียนอยู่ที่จุฬาฯ ทั้งคู่
เป็นจุฬาฯ ยุคใหม่ ที่หลายคนมองว่า ‘แรง’ หากวัดจากการจัดกิจกรรมในระยะหลัง องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่เมื่อปี 2562 จาก เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ผู้ซึ่งเดินเครื่อง ‘เปลี่ยน’ จุฬาฯ ทั้งการเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ ระหว่างพิธีถวายบังคมต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล เมื่อปี 2559
ในฐานะอาจารย์คนหนึ่งที่จะกุมบังเหียนมหาวิทยาลัย คุณคิดอย่างไรกับเด็กรุ่นใหม่ที่หลายคนบอกว่าอาจ ‘แข็งกร้าว’ เหลือเกิน
“ผมรับได้ ผมเรียนรู้จากพวกเขานะ ในฐานะพ่อ ผมก็เป็นพ่อของลูกที่อยู่ปีสี่คนหนึ่ง และอยู่ปีสองอีกคนหนึ่ง เขาโตมาในอีกยุค นั่นคือชีวิตเขา ถ้าเราไปบังคับเขา เขาก็แอบทำอยู่ดี
“ลูกผมแต่งตัวนู่นนี่ที่ผมไม่เห็นด้วยเท่าไร เขาก็ถามกลับว่า หรือพ่อจะให้เดินออกจากบ้านไปแล้วไปเปลี่ยนเสื้อข้างนอก (หัวเราะ) จริงๆ เด็กยุคนี้ เขามีแพตเทิร์นการเรียนรู้ต่างๆ ที่แตกต่างออกไป เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในแพตเทิร์นอย่างนี้ ผมยอมรับความแตกต่าง แล้วก็พยายามสื่อสารกับเขา”
ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ พรชัยเปิดแพลตฟอร์ม Voice To Dean ให้นิสิตคุยกับเขาโดยตรงหากมีปัญหา และต้องการหาทางออก
“ถ้าเราแก้ปัญหาให้เขาได้ ก็คุยกัน มันมีทางออกเสมอ ถ้าได้คุยกัน สื่อสารกัน เราก็เหมือนกับเพื่อนเขาคนหนึ่ง ไม่ต้องไปเคลื่อนไหวอะไร ไม่ต้องไปร้องสื่อ”
แล้วคุณรับได้ไหม ถ้ามีการเคลื่อนไหวแรงๆ ในจุฬาฯ
“ผมว่า… (นิ่งคิด) ก็แล้วแต่ช่วงเวลา ช่วงเวลาบางอย่าง เขาอาจมีความคิดทางการเมือง เรื่องการศึกษา เรื่องสังคมที่แตกต่าง ก็ต้องใช้เวลาคุยกับเขา ให้เรายอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าเราเป็นเพื่อนกัน เรารู้จักกัน เราก็คงแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วพัฒนาด้วยกันไปได้”
แต่นั่นคือเรื่องที่ผ่านมา สำหรับผม เราจะพัฒนาคน เราจะเพิ่มประสิทธิภาพคน เพื่อให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างแท้จริง
ในมุม ‘เพื่อน’ คนหนึ่งของนิสิต พรชัยตั้งใจให้มีกิจกรรมนิสิตมากขึ้น ให้พื้นที่หน้าเสาธงกลับมาสนุกสนานคึกคักเหมือนเดิม เหมือนกับที่เขาเคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อน
“มุมที่ผมชอบที่สุดคือตรงต้นจามจุรี หน้าเสาธงจุฬาฯ ที่ชอบเพราะนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาฯ ผมรู้สึกว่าที่ตรงนั้นคือที่ที่มีชีวิต มีตักบาตรทุกวันพุธ เย็นๆ ก็เตะบอลกัน พอช่วงลอยกระทงก็มารวมตัว กิจกรรมเหล่านี้ทำให้จุฬาฯ มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงมุมที่แต่ละคนนั่งรถผ่านกันไปเฉยๆ”
นั่นคือสิ่งที่เขาปรารถนาเห็นจุฬาฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง….
“ยกตัวอย่าง ประเพณีลอยกระทง ต้องกลับมาสนุกสนานเหมือนเดิม ต้องมีกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างคณะ วันไหนว่างๆ ผมจะไปจัดทาวน์ฮอลล์ พูดคุย รับฟังนิสิตแล้วผมจะจัดการแสดง มีอะไรให้เชื่อมโยงระหว่างคณะมากขึ้น เพื่อเติมในส่วนที่หายไปจากช่วงโควิด-19
“ผมคิดว่าอธิการบดีไม่ควรมีระยะห่างกับนิสิต กิจกรรมนิสิตต้องมีมากขึ้น ถ้าบรรยากาศเหล่านี้กลับมา เรื่องอึมครึมหลายอย่างก็จะดีขึ้นเอง”
Fact Box
- การสรรหาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทุก 4 ปี อธิการบดีคนก่อนหน้าคือ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล จากคณะแพทยศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งคู่ล้วนดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 8 ปี
- การสรรหาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรอบนี้ มีตัวเลือกเป็นต้นว่า ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยการแสดงวิสัยทัศน์จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567