กรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งเคยงดงาม จนได้รับการขนานนามว่า ‘เมืองเทพสร้าง’ ‘เมืองฟ้าอมร’ หรือ City of Angels

แต่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่สะสมปัญหาไว้รอบด้าน การจราจรที่ติดขัด ประชากรที่แออัด คลองที่ไร้ซึ่งการบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ เหล่านี้คือปัญหาคลาสสิกของกรุงเทพฯ ที่สืบเนื่องมายาวนาน แต่ที่เพิ่มขีดของปัญหามากขึ้นในปัจจุบันคือความบกพร่องในการจัดการรับมือกับโควิด-19 จนส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงกว่าจังหวัดอื่นอยู่เสมอ

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ คือหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขามาร่วมพูดคุยกับ The Momentum ถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้กรุงเทพฯ ทรุดตัวลงอย่างรอบด้าน และหากมีโอกาสได้ดูแลเมืองหลวงแห่งนี้ เราก็อยากรู้ว่าเขาจะแก้ไขปัญหาท่วมท้นที่สั่งสมมายาวนานเหล่านี้อย่างไรบ้าง

อ้างอิงจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ในทุกระลอกของการแพร่ระบาด กรุงเทพฯ มักเป็นเมืองที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอยู่เสมอ คุณมองว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้กรุงเทพฯ เอื้อต่อการติดเชื้อเช่นนี้

ผมแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสำคัญที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ทำให้กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย

อันดับแรก กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยวในประเทศ ความหมายคือ พอไม่มีเมืองใหญ่เช่นเดียวกัน คนในประเทศจึงหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรที่ลงทะเบียนอยู่ทั้งหมด 6 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงมีมากถึง 10 ล้านคน แน่นอนว่าปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้นนี้ย่อมส่งผลต่อการแพร่กระจายไวรัสอยู่แล้ว

ต่อมาคือกรุงเทพฯ มีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงเยอะ เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากภาคปกครองไม่มีมาตรฐานในการควบคุมที่ดีพอ เช่น ในตลาด ในแคมป์ก่อสร้าง ไปจนถึงกิจการต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น บ่อนการพนัน สถานบริการที่ผิดกฎหมาย เหล่านี้นำไปสู่การเกิดคลัสเตอร์ในกรุงเทพฯ ได้ง่ายมาก

พอเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาในบางจุดก็เป็นปัญหาต่อเนื่องคือ การอาศัยแบบแออัดของประชาชนที่ไม่เอื้อต่อการกักตัว หลายคนไม่สามารถมี social distance ได้ ด้วยข้อจำกัดทางที่อยู่อาศัย ไหนจะลักษณะงานที่ต้องออกไปทำงาน ไม่สามารถ work from home อีก

สุดท้ายคือปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ที่เห็นได้ชัดเลยคือเส้นเลือดฝอยของระบบสาธารณสุข กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เยอะมาก แต่กลับมีหน่วยหน้า (Primary Care) เช่น ศูนย์สาธารณสุขชุมชนค่อนข้างน้อย ดังนั้นพอเวลาเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา คนในกรุงเทพฯ ก็จะหันไปหาเส้นเลือดใหญ่ก่อนเสมอ

ตอนโควิดระบาดสามครั้งแรกโรงพยาบาลอาจจะยังรับมือได้ แต่ในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเส้นเลือดใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ แล้วพอเส้นเลือดฝอยเราไม่แข็งแรงอีก เลยทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวตามที่เห็นกัน

คุณมองว่าวิธีแก้ไขเรื่องข้อจำกัดในการกักตัวของคนในกรุงเทพฯ ควรเป็นอย่างไร

อย่างแรกคือต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการบริหารจัดการในส่วนนี้ของเรามีปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งผมแบ่งออกไป 2 ประเภท

อันดับแรกคือเชิงพื้นที่และกายภาพ หากไปสำรวจชุมชนคลองเตยจะพบว่าใน 1 ห้อง อาจจะมีคนอาศัยอยู่ 6-7 คน ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนั้นหลายคนเขาไม่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงได้ เขายังต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้าน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากคนในกรุงเทพฯ สุ่มเสี่ยง 1 คน จะกลายเป็น 7 คนโดยทันที

อีกประเภทที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงมากคือ จากที่ผมไปลงพื้นที่มา มีหลายครอบครัวที่มีคนหาเงินเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น อาจเป็นบ้านที่มีลูกเล็ก มีผู้ป่วยติดเตียง ผมเจอครอบครัวที่มีคนหนึ่งคนหาเงินเลี้ยงดูสมาชิก 10 คน ดังนั้น คนที่หาเงินคนนั้นจะไม่สามารถป่วยได้เลย ถึงรู้สึกว่าป่วยเขาก็ไม่อยากไปตรวจ เพราะถ้าเขาไม่สามารถทำงานได้ จะเท่ากับว่าอีก 10 คนที่เหลือจะอดตาย นี่คือเรื่องจริงในกรุงเทพฯ ที่เราต้องยอมรับ

พอเข้าใจปัญหาก็มองถึงวิธีแก้ไข ผมมองว่าอันดับแรกคือความช่วยเหลือต้องเข้าไปถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ต้องให้อุปกรณ์ยังชีพเลย ทำอย่างไรให้เขาไม่ต้องพาตัวเองไปเสี่ยง ทำอย่างไรให้เขาอยู่บ้านแล้วสามารถหาข้าวเลี้ยงครอบครัวที่เหลือได้

ซึ่งนอกจากงบประมาน สิ่งที่ผมอยากเสนอคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วยกันเอง เราทำให้คนข้างในช่วยเหลือกันเองได้ไหม ผมเชื่อว่าพวกเขาย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าชุมชนมีปัญหาตรงไหนบ้าง รัฐอาจให้งบประมาณพวกเขาทำครัวกลาง ทำที่พักชั่วคราวในชุมชน แบบนี้มันจะมีประสิทธิภาพกว่าให้บุคลากรสาธารณสุข 20 คน ต้องไปดูแลคนเกือบ 9 หมื่นกว่าคนอย่างทุกวันนี้

ส่วนเรื่องการจัดสรรเงินเยียวยาในแต่ละโครงการของรัฐบาล รวมไปถึงความเหมาะสมของจำนวนเงินชดเชยต่อคน คุณมองอย่างไร

ถามว่าเงินเยียวยาพอไหม ต้องพูดว่าไม่พอ เพราะประชาชนลำบากกันทุกคน สิ่งที่ต้องยึดมั่นไว้เสมอคือมันต้องเท่าเทียมและทั่วถึง

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเต็มที่ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิงกลางคืน รัฐต้องปรับมุมมองใหม่ ต้องยอมเป็นหนี้แทนประชาชน ปัจจุบันหนี้ของรัฐประมาณ 60% ของ GDP แต่หนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ของ GDP ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกู้ การที่รัฐกู้เงินมาเยียวยาประชาชนเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วโลก และต้องดูแลธุรกิจให้อยู่รอดด้วย

 ส่วนเรื่องการจัดสรรเงินเยียวยา ผมว่าบางทีมันยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร ผมว่าอาจจะเป็นปัญหาที่มาจากโครงสร้างของเราตั้งแต่แรกแล้ว เนื่องจากระบบฐานข้อมูลเราไม่ดี การช่วยเหลือจึงช้ากว่าปกติ แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่ามันเริ่มดีขึ้นระดับหนึ่งจากการที่เราลงทะเบียนหลายครั้งขนาดนี้ ทั้งเราชนะ ทั้งคนละครึ่ง จากตอนแรกที่มั่วน่าดู

ที่ยังน่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการเยียวยา กลุ่มที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับ Digital Platform ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเอาคนเข้าไปช่วย ต้องดูแลให้ทั่วถึง หาวิธีอื่นที่เขาสามารถเข้าถึงได้

อีกอย่างคือความชัดเจนของการให้มาตรการ อย่างล่าสุด เพื่อนผมทำร้านอาหาร เขาติดต่อไปขอมาตรการเยียวยาร้านอาหารจากภาครัฐ แต่ถูกถามกลับมาว่าร้านอาหารปิดหรือยัง ถ้าร้านอาหารยังไม่ปิดก็จะไม่ได้รับการเยียวยา คือต้องให้เจ๊งก่อนถึงจะให้เงิน แบบนี้คือคุณจะบอกว่าร้านที่เปิดได้คือร้านที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือ มันไม่ถูกต้อง ร้านเขาก็ต้องแบกรับภาระจากการเปิดหน้าร้านให้นั่งไม่ได้เหมือนกัน

ดังนั้น เราต้องมาวางแผนกันใหม่ให้ชัดเจนว่าช่วยเหลือใคร อย่างไร จำนวนเท่าไร และทำอย่างไรให้ทั่วถึง

แน่นอนว่ามันก็ต้องพิจารณาจากงบประมานที่ได้มา แต่ผมอยากเสนอว่าการอัดฉีดเงินไม่ใช่วิธีเดียวในการช่วยเหลือประชาชน มันวิธีอื่นอีกมากที่ช่วยผู้ได้รับผลกระทบได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงหลังผมมักเห็นการช่วยเหลือในรูปแบบการทำครัวกลาง ทำอาหารเลี้ยงกันเอง คือแทนที่เราจะแจกเงินให้คนละ 3,000 เราอัดฉีดเงินและอุปกรณ์ความช่วยเหลือในการทำครัวกลาง สร้างงานสร้างอาชีพโดยจ้างคนในชุมชนให้มาทำงานในส่วนนี้แทนได้ไหม สร้างเครือข่ายให้ชุมชนเริ่มสู้ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น แบบนี้มันจะช่วยแก้ปัญหาอัดฉีดเงินเท่าไรก็ไม่เคยพอสำหรับการช่วยเหลือได้

ปัจจุบันสิ่งที่รัฐบกพร่องไปคือความไว้ใจต่อชุมชน ไม่ยอมให้เกิดการช่วยเหลือในหน่วยหน้าเท่าที่ควร จะตรวจหาเชื้อก็ต้องไปหารัฐ จะทำจุดพักคอยก็ต้องเป็นของรัฐและถูกต้องตาม พ.รบ.โรคติดต่อเท่านั้น คือภาครัฐพยายามดึงอำนาจไปไว้ที่ตัวเองทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าความเข้มแข็งของชุมชน (Social Capital) สำคัญมากในตอนนี้ และผมเชื่อว่าประชาชนจะสามารถผ่านวิกฤติจากระบบตรงนี้ได้มากกว่าระบบของรัฐ

ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมปัจจุบันรัฐถึงพยายามกุมอำนาจไว้คนเดียว มันจะดีกว่าไหม ถ้าสามารถดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในแผนแก้ปัญหาและเยียวยา 

ใช่ ผมมองว่าเป็นหัวใจของการทำงาน เป็นอนาคตของประเทศเลย วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ เคยพูดเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า โควิด-19 จะทดสอบ 3 อย่างของประเทศคือ ระบบสาธารณสุข การบริหารจัดการภาครัฐ และทุนทางสังคม ซึ่งสองระบบแรก ประชาชนทั่วไปเราไม่มีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมเลย ระบบสาธารณสุข การจัดหาวัคซีนและเตียงผู้ป่วยของภาครัฐ ซึ่งประชาชนทำได้ก็เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์เขา

แต่เครือข่ายทางสังคมของประชาชนและภาคเอกชนที่มีค่านิยมร่วมกัน ตรงนี้รัฐยังไม่ได้ให้ความสนใจและใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งผมมองว่าทุนทางสังคมอย่างเช่นเรื่องการทำครัวกลาง การทำศูนย์พักคอย การจ้างแรงงานคนในชุมชนให้ดูแลกันเอง ถ้าทำจริงๆ งบประมานที่ต้องการไม่ได้ใช้เยอะเลย และมันจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างถ้วนหน้าด้วย ที่สำคัญ หลังจากนี้ทุนทางสังคมจะนำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งได้อีกต่างหาก

นี่เป็นเรื่องที่ผมได้สัมผัสกับตัวจากการลงพื้นที่ ชุมชนไหนที่เขามีความเข้มแข็งทางเครือข่ายชุมชน พวกเขาจะรับมือกับปัญหากันเองได้ ผมลงไปชุมชนหนึ่งตรงอ่อนนุช มีคุณยายคนหนึ่งอายุ 90 เป็นอัลไซเมอร์ที่ยังรอลูกสาวกลับบ้าน ทุกวันนี้แกอาศัยอยู่บ้านคนเดียวมา 10 กว่าปีแล้ว ก็ได้คนในชุมชนนั่นแหละที่มาช่วยเหลือแกทุกวัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือการทำกันเองของคนในชุมชนโดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น หากกรุงเทพฯ มีการเติมเต็มตรงนี้ให้เกิดเครือข่ายที่เข็มแข็ง มันจะสร้างการบริหารจัดการในเมืองที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ คือรัฐต้องอย่ามองว่าประชาชนเป็นหนี้ เราคือทุนที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนช่วยสร้างสังคมให้เข้มแข็ง เมื่อรัฐรู้ตัวว่าเริ่มรับมือไม่ไหว

นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว คุณมองว่ากรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเรื่องไหนที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควรอีกบ้าง

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอีกปัญหาสำคัญและจะถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในอนาคตหลังจากเริ่มจัดการกับโควิด-19 ได้ดีขึ้น แต่ที่ผมอยากพูดถึงจริงๆ คือปัญหาสุขภาพจิต ตอนนี้อัตราของคนฆ่าตัวตายเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2563 เพิ่มขึ้นในอัตราส่วน 7.37 คนต่อแสนคน ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2560 ที่ 6.03 ต่อแสนคน ผมว่าเรื่องนี้ภาครัฐและสังคมต้องให้ความสำคัญ พอเรากักตัว พอเรากังวลกับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น มันง่ายต่อการบั่นทอนสุขภาพจิต

ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะของเด็กเล็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ผมว่าช่วงอายุ 2-4 ขวบ การที่เขาขาดประสบการณ์เข้าสังคม 1 ปีกว่าๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการของเขา The lost year ที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็น Lost decade ของการเป็นผู้ใหญ่ได้เลย การเจอผู้คน การเข้าสังคม การช่วยเหลือผู้อื่น เหล่านี้คือสิ่งที่หายไป ดังนั้นศูนย์เด็กเล็กต้องร่วมกันหาทางออก

ข้อเสนอแนะของผมในเรื่องนี้คืออย่างไรก็ต้องเปิดให้เกิดการเรียนการสอน แต่ต้องทำให้ศูนย์มีขนาดเล็ก สร้างงานใหม่ให้คนที่ไม่มีงานทำด้วยการให้เขาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ตัวศูนย์เองจากศูนย์หนึ่งมี 20 คน อาจจะเหลือ 4-5 คน หรืออาจเปลี่ยนการเรียนเป็นวันเว้นวัน แบ่งกลุ่มเด็กเพื่อความปลอดภัย ผมว่าเรื่องนี้จะใช้มาตรการเรียนออนไลน์แบบเหมาโหลจากเบื้องบนไม่ได้ เรื่องอนาคตของชาติเราต้องละเอียด ทำให้รัดกุม รัฐต้องยอมรับความจริงว่าจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ฉายาเวนิสตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่หวนกลับมาอีกครั้ง จากสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่าความสำเร็จในการพัฒนาคลองโอ่งอ่าง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีคลองแสนแสบที่เป็นเส้นทางสัญจรของคนในชีวิตประจำวัน ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘สกปรกตลอดกาล’ อยู่ในเมืองเดียวกัน คุณมองว่าอย่างไร

เรื่องคลองเป็นเรื่องใหญ่ในกรุงเทพฯ คลองโอ่งอ่างก็เป็นตัวอย่างที่ดี ผมก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ถ้าทำได้ดี มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีหากจะเอาไปขยายผลต่อ แต่หัวใจที่ต้องให้ความสำคัญคือ หลังจากนี้เราจะขยายผลอย่างไร

จริงๆ แล้วคลองแสนแสบกับคลองโอ่งอ่างเป็นคลองที่ต่อเนื่องกัน คลองแสนแสบทางแยกซ้ายไปคลองโอ่งอ่าง แยกขวาไปคลองบางลำพู ดังนั้นคลองแสนแสบกับคลองโอ่งอ่างจึงถือเป็นน้ำเดียวกัน เพียงแต่คลองโอ่งอ่างอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า ประตูน้ำจึงค่อนข้างเยอะ มีการดูแลเป็นพิเศษ

แล้วพอมาดูคลองแสนแสบที่ยาวถึง 72 กิโลเมตร ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายนะ ปัญหาคือคลองแสนแสบมีที่รับน้ำเสียเยอะ มีคลองมาเชื่อม 100 กว่าคลอง ไหนจะบ้านเรือนและชุมชนอีก พูดง่ายๆ คือกลายเป็นท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร

ซึ่งหลังจากนี้จะมีงบประมาณพันกว่าล้านมาปรับปรุง ถ้าเอาบทเรียนจากคลองโอ่งอ่างมาขยายในแสนแสบได้ ผมว่ามันจะดีตามกันไป คลองมันเป็นหัวใจของเมือง ต้องรีบแก้ไข วิธีที่ผมเสนอคือขยายผล ยุคนี้มันต้องขยายผลจากสิ่งที่สำเร็จให้ถ้วนหน้า

เรื่องนี้ภาครัฐเพียงลำพังจะแก้ไขได้หรือไม่ ทำอย่างไรที่ชุมชนริมคลองจะมีส่วนร่วมทำให้คลองแสนแสบสะอาดขึ้น และไม่กลับไปเน่าเหม็นอีกครั้ง

หัวใจคือทำระบบน้ำเสีย อย่าให้เขาทิ้งขยะและดูแลริมคลองของชุมชน ผมชอบแผนของคุณสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรี ที่มีปัญหาเรื่องคลองเหมือนกัน แต่เขาแก้ปัญหาโดยการจัดให้มีการประกวดชุมชนคลองสะอาด มีการให้รางวัล สร้างกิจกรรมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่รัฐรับผิดชอบอย่างเดียว ทำให้ชุมชนมีความภูมิใจในการเป็นเจ้าของคลอง ผมมองว่าวิธีนี้ดี รัฐอาจไม่ต้องเอาคนมาแก้ปัญหาระบายน้ำ แต่รัฐอัดฉีดให้คนในชุมชนดูแลคลองกันเองได้ไหม

ผมว่าการลงทุนในระดับเส้นเลือดฝอยมันคุ้มค่า ทำบ่อบำบัดน้ำเสียให้ชุมชน ให้เขาดูแล ใช้ชุมชนกับรัฐมาเป็นต้นทุนที่เป็นประโยชน์กับเมือง

พูดถึงเรื่องความแออัดของกรุงเทพฯ บ้าง คุณมองว่าปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ไหมที่คนต้องเข้ามารวมศูนย์กันที่เมืองนี้ มีแนวโน้มที่จะกระจายประชากรไปสู่จังหวัดอื่นๆ หรือสร้างเมืองหลวงใหม่ได้ไหม

เราต้องตั้งประเด็นกันก่อน คนต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพมหานครทำไม คำตอบคือเข้ามาหางาน ดังนั้นเมืองที่พวกเขาหลั่งไหลมาจึงมีสถานะเหมือน ‘ตลาดแรงงาน’ คนในเมืองจะอยู่รอดก็เพราะมีงานทำ ไม่ใช่เรื่องผังเมืองเลย หากจะไปสร้างเมืองใหม่ต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ

การจะสร้างเมืองหลวงใหม่ไม่ง่ายเลย เพราะตัวแปรสำคัญคือต้องสร้างความมั่นใจว่าจะมีงานรองรับ ถ้าวันหนึ่งอยู่ดีๆ ผมไปตั้งจังหวัดใหม่แล้วประกาศว่านี่เป็นเมืองหลวงนะ คุณคิดว่าประชาชนเขาจะตามผมไปไหม เขาก็คงไม่ไปกัน เพราะเขาไม่รู้ว่าไปอยู่แล้วจะมีงานให้ทำไหม

ดังนั้นหัวใจคือต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจและตลาดแรงงานกระจายไปอยู่เมืองอื่น ซึ่งวิธีจะไปสู่จุดนั้นได้ ปัจจุบันคำตอบจะต่างไปจากเมื่อก่อนแล้ว ถ้าเมื่อก่อนถามว่าเมืองที่เหมาะกับการสร้างงานคืออะไร คำตอบคือโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ ถนนหนทาง เหมือนกับที่เราลงทุนกับกรุงเทพฯ เอาไว้ในอดีต คนและงานเลยมากระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะ

 แต่ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนไม่ได้ทำงานในเชิงโมเลกุล แต่เราทำงานกันแบบบิต (bit) และไบต์ (byte) แทน เราค้าขายออนไลน์กัน เราทำงานผ่านเครือข่ายออนไลน์ ทำให้หัวใจการสร้างเมืองทุกวันนี้คือ ถ้าคุณสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองอื่น และสามารถเชื่อมโยงดิจิทัลได้ดี คุณจะเห็นงานเริ่มเกิดจากที่เมืองอื่นมากขึ้น

ทุกคนอยากออกจากกรุงเทพฯ อยากกลับบ้านกันอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อก่อนนอกกรุงเทพฯ ไม่มีงานให้เขาเท่านั้นเอง ดังนั้นเราต้องสร้างงานไปอยู่นอกเมืองบ้าง แล้วมาจูงใจกันที่คุณภาพชีวิต ทำให้จังหวัดอื่นๆ มีสวัสดิการ มีจราจรที่ดี ลดความแออัด ปลอดมลพิษ หลากหลายจังหวัดในตอนนี้ก็น่าอยู่ เช่น พิษณุโลก

หากเมื่อเมืองหลวงที่หมายถึงตลาดแรงงานมีการกระจายอำนาจ (Decentralization) ออกไป เมืองหลวงที่เคยเป็นเหมือนศูนย์รวมอำนาจนั้น (Centralization) ในอนาคตหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ก็ต้องย้ายไปอยู่บน Cloud ในเครือข่ายออนไลน์เช่นกัน สมัยก่อนเมืองหลวงความหมายคือศูนย์ราชการ ดังนั้นในอนาคตที่ตำแหน่งของศูนย์ราชการไม่มีความจำเป็นแล้ว ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ากรมสรรพากรตั้งอยู่ตรงไหนในกรุงเทพฯ เพราะเรายื่นภาษีออนไลน์กัน มันเลยหมดยุคที่จะคุยว่าจะย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดไหนกันแล้ว

อีกปัญหาที่คลาสสิกตลอดมาคือเรื่องการจราจร คุณก็เคยออกมาพูดถึงปัญหานี้หลายปีแล้ว เหตุใดปัญหานี้ถึงยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

กลับมาเรื่องเดิมคือโครงสร้างของเมือง ประเทศไทยของเราเป็นมหานครซอยตัน เรามีบล็อกของเมืองใหญ่มากเกินไป จุดที่ชวนสังเกตคือตรงบริเวณหลักสี่ เรามีถนนวิภาวดีฯ มีถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งข้างในบล็อกระหว่างถนนที่ตัดกันมีพื้นที่มากถึง 25 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น หากคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นอยากจะเดินจากบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ทำได้ยาก ต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัว ก็กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทางออกที่ทำได้ในตอนนี้ สำหรับผมคือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เข้มแข็งขึ้น เวลาเราพูดถึงรถติด เราชอบเอารถเป็นตัวตั้ง มานั่งกำหนดว่าต้องลดจำนวนรถที่ขับลงเท่าไร แต่ถ้าเราเปลี่ยนโจทย์ใหม่มาโฟกัสถึงการเข้าถึงและคุณภาพของระบบขนส่งให้เหมาะสมกับคนในสังคม ทำให้น่าใช้ขึ้น ราคาสมเหตุสมผล จะแก้ปัญหาได้มากกว่า

มีนักศึกษาเคยพูดกับผมว่า เดี๋ยวเราทำรถไฟฟ้าเสร็จ รถหายติด หนูเอารถขับไปทำงานได้ไหม นี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลยว่ารถขนส่งสาธารณะไม่ได้อยู่ในตัวเลือกของประชาชนคนไทย เราต้องพัฒนาขนส่งสาธารณะให้กลายเป็นตัวเลือกในการเดินทาง

นอกจากนี้ สิ่งที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครขาดแคลนในตอนนี้ก็คือเรื่องการสนับสนุนเชิงวัฒนธรรม เรามีสวนสาธารณะและอาร์ตแกลเลอรีน้อยมาก เมื่อเทียบกับเมืองหลวงในประเทศอื่น

ที่เป็นอยู่คือเรามีสถานที่ขนาดใหญ่แต่มีน้อยจำนวน ที่มีก็จะเป็นแบบเส้นเลือดใหญ่มากกว่า เรามีหอศิลป์ใหญ่โต เรามีสวนลุมพินี สวนรถไฟ แต่ปัญหาคือเราไม่มีระดับเส้นเลือดฝอยเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หอศิลป์ที่ดีคือหอศิลป์ที่เราไปได้ทุกวัน หรือสวนสาธารณะที่ดีคือสวนสาธารณะที่เราไปได้ทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเดินทางไปสวนลุมพินีได้ทุกวัน ไม่ใช่ทุกคนจะนั่งรถไปเป็นชั่วโมงเพื่อไปหอศิลป์ได้ มันต้องมีการปรับปรุงให้มีสวนสาธารณะที่เดินไปได้ใน 15 นาที

ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเสนอคือการทำ Public Space ขนาดเล็กในชุมชน มันอาจไม่ใช่แค่หอศิลป์หรือสวนสาธารณะ แต่มันอาจเป็นสวนขนาดเล็กที่แสดงงานศิลปะไปด้วยก็ได้ ผมว่าภาคชุมชนสามารถผลักดันกันเองในชุมชนให้เป็นเส้นเลือดฝอยได้ มันจะสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ในการทำงานร่วมกัน ในการพูดคุย อันนี้มันจะเปลี่ยนค่านิยมและวิถีชีวิตของเมืองได้

จากประเด็นต่างๆ ที่เราคุยกันมา ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ คือการที่ภาคปกครองให้ความสำคัญกับเส้นเลือดใหญ่มากเกินไปในแทบทุกเรื่อง จนลืมมองถึงเส้นเลือดฝอยในแง่ของชุมชน

คือเส้นเลือดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์มันดูตื่นเต้น มันดูเซ็กซี่ กลับกันเส้นเลือดฝอยมันดูยาก ดูเป็นเรื่องน่าปวดหัว เพราะมันเป็นงานละเอียด แต่ผมยังยืนยันว่ามันสำคัญ เพราะชีวิตเราอยู่กับเส้นเลือดฝอยเยอะ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราใช้เส้นเลือดฝอยเยอะ ขยะหน้าบ้าน ท่อระบายน้ำหน้าปากซอย เหล่านี้มันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษก่อน

ในแง่ของอำนาจในการบริหาร ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครจะทำอะไรก็ต้องถูกครอบโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครอีกที เลยกลายเป็นปัญหาว่าผู้ว่าราชการฯ หรือพ่อเมืองไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง เป็นเหมือนตัวแทนที่รับคำสั่งจากภาครัฐมากกว่า คุณมองว่าระบบเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการปรับปรุงเมืองด้วยไหม

ผมว่ามีสองประเด็นสำคัญ คือถ้ามองในแง่ผู้ว่าราชการ เราคงไปพูดถึงเรื่องข้อกฎหมายได้ไม่เต็มปาก เพราะมันคือเงื่อนไขที่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่คุณมี คุณต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเราคงไม่สามารถไปเปลี่ยนพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้ทันที หากไม่พอใจแน่นอนว่าบางอย่างบางเรื่องในนั้นมันต้องแก้ไข แต่ผมอยากชวนให้ทุกคนอย่าเพิ่งมองภาพไกล ลองให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาดำรงตำแหน่ง มาเจอปัญหา มาสู้ตรงนี้ก่อน คือมันง่ายมากถ้าจะบอกว่ากฎหมายไม่ได้เรื่อง มันต้องเปลี่ยนก่อน แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นเงื่อนไขที่เราได้รับมา ต้องทำตรงนี้ให้ได้ก่อน มองให้เห็นถึงปัญหาจริงๆ มันจะนำไปสู่การแก้กฎหมายที่ตรงจุดได้

ดังนั้น ปัญหามีจริงไหม ผมยอมรับว่ามี แต่หากพูดในตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ต้องดำเนินการเป็นลำดับเช่นนี้ไปจะดีกว่า

แต่ที่แน่ๆ หากผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้ ก็น่าจะมีส่วนนำไปสู่การออกแบบและบริหารกรุงเทพฯ ได้ดียิ่งขึ้น

ถูกต้อง หากเราเป็นผู้ว่าฯ ที่ลงไปฟังเสียง ไปเจอปัญหาของประชาชนมาก่อน การร่างกฎหมายในครั้งต่อๆ ไปนั้น ในแต่ละตัวอักษรมันจะมีเจตจำนง มีความต้องการของประชาชนกรุงเทพฯ อยู่

เพราะเมืองมันหมายถึงผู้คน ผู้คนมาอยู่ในพื้นที่นี้จึงทำให้เกิดเมืองขึ้น เราในฐานะผู้ดูแลเมืองจะทำอะไรก็ต้องคำนึงประโยชน์ของคนกลุ่มนี้เป็นสำคัญ

Fact Box

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีนโยบายจะผลักดันให้ประเทศไทยไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงทุกภาคภายในปี 2020 ด้วยงบประมาณเงินกู้  2 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พ.ร.บ.เงินกู้ ขัดต่อวินัยการเงินการคลังและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้ โครงการดังกล่าวจึงถูกปัดตกไปในเวลาต่อมา
  • หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คณะรัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งแต่งตั้ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่เขาได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยให้เหตุผลว่าตัวเองไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดและหลักการของยุทธศาสตร์ชาติอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังติดภาระงานประจำ ที่เป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทมหาชนในขณะนั้น
Tags: , , , , , , , , , ,