บินหลาเดินทางมาจังหวัดน่านครั้งแรกในปี พ.ศ. 2533

เกือบยี่สิบปีถัดมา ผมจึงมีโอกาสได้มาเห็นเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำแห่งนี้

ปี 2539 เขาเขียนเรื่องสั้นชื่อ งามแสงดาว (รวมเล่มอยู่ในหนังสือ คิดถึงทุกปี) เขียนจากความประทับใจในชื่อหมู่บ้านแสงดาว จังหวัดน่าน หลงรัก หลงใหล แต่รักอย่างไรเขาก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ เขาไปมีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นฝ่ายผมเสียอีกที่กลายเป็นพลเมืองน่านไปเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อสี่ปีที่ผ่านมา

บ้านเกิดบินหลาอยู่ชุมพร แต่ไปโตที่สงขลา ทั้งสองจังหวัดเต็มไปด้วยสวนยางพารา บ้านผมอยู่โคราช ทั้งอำเภอไม่มีต้นยางสักต้น แต่รอบบ้านใหม่ที่น่านแวดล้อมด้วยสวนยาง

ผมพาบินหลามาเที่ยวบ้าน เหมือนเช่นที่เคยเชื้อเชิญมาหลายครั้ง แต่รอบนี้ดูเขาไม่รื่นรมย์นัก คงไม่เกี่ยวกับต้นยาง ภูเขา ป่าไผ่ ร่างกายเขาไม่เอื้ออำนวยเหมือนก่อน เดินเหินลำบากในพื้นที่ขรุขระลาดชัน

…..

แพลนที่จะให้เขาพักยาวๆ ที่บ้านสวนเป็นอันพับไป

ป่าไม่เหมาะก็เข้าเมือง

ห้องนอนของเขาชื่อ ‘ปรารถนา’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘บ้านๆ น่านๆ ห้องสมุดและเกสต์โฮม’ ของ ‘ต้อม’ – ชโลมใจ ชยพันธนาการ

บ่ายเย็นที่ขยัน ร่างกายเป็นใจ เราจะพากันไปซ้อมเดินกายภาพบำบัดที่ลานข่วงเมือง หน้าวัดภูมินทร์ ไม่ก็ริมถนนโล่งๆ ในโซนร้านเฮือนฮังต่อ

วันนี้ไปเดินเล่นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแฮด

“ผมเป็นคนโชคดีที่มีพี่น้องดูแล อยู่ไกลบ้านก็มีเพื่อนอย่างคุณ มีคนดีกับผมเยอะ แต่ผมก็โดนคนโวยวายหนัก พี่สาวผมเป็นพยาบาล เขาจะว่าผมทุ่มเทกับการจัดการตัวเองน้อยไปหน่อย ขี้เกียจดูแลตัวเอง อยู่บ้านที่สงขลา ผมมีน้องชายคอยดูแลใกล้ชิด ซื้อกับข้าวมาให้กิน บริการเต็มที่ พี่สาวว่าผมน่าจะใช้เวลากับการเดินให้ร่างกายฟื้นฟู ที่เป็นอยู่มันช้ากว่าความน่าจะเป็น ยิ่งเมื่อเทียบกับคนไข้ส่วนใหญ่ที่เคยเจอมา พี่สาวกลัวว่าผมจะติดเตียง ตามประสบการณ์ คนไข้ที่เคยเห็นมาติดเตียงเพราะขี้เกียจ ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ แก้ไขได้ เขากลัวว่าผมแก่ไปแล้วจะเป็นแบบนั้น กลัวว่าผมจะเสียคน เสียหาย ว่าผมบ่อย ซึ่งผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้รู้สึกเลยจริงๆ”

“ยังเถียงอีก” ผมแหย่ให้เขาหัวเราะ

“ผมคิดว่าผมอาจทำน้อยไป แต่ไม่ได้ทำน้อยเพราะขี้เกียจ ทำน้อยเพราะผมทำได้มากที่สุดแล้ว และไม่รู้ว่าต้องทำมากขนาดไหนถึงจะได้ผล พอดีผมไม่เคยต้องทำเรื่องพวกนี้ ผมใช้เวลาคิด เขียนหนังสือมาทั้งชีวิต ผมโตมาจากการนั่งโต๊ะและคิดว่าจะเขียนอะไรดี ผมทำงานตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสิบเอ็ดโมง บางทีถึงเที่ยง โดยไม่ได้พัก ทำติดต่อกันหลายปี เลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขี้เกียจ ผมว่าผมก็ขยันทำงานหาเงิน”

ผมแย้งว่าเขาไม่ได้พูดเรื่องขยันทำงาน เขาพูดเรื่องขยันออกกำลังกาย

บินหลาหัวเราะ ก่อนจะให้ข้อมูลว่าพี่สาวให้เดินวันละหนึ่งหมื่นสองพันก้าว

“เคยทำได้เท่าไหร่”

“พันกว่าก้าว ทำเต็มที่นะ”

“กี่วัน”

“วันเดียว”

“วันต่อมาล่ะ”

“ค่าเฉลี่ย เดานะ ผมไม่เคยวัด คิดว่าวันละไม่เกินสองร้อยก้าว ลุกขึ้นไปกินข้าว กลับมา เดินไปเข้าห้องน้ำ วันหนึ่งหลายเที่ยวเหมือนกัน อาจถึงสามร้อยก้าว”

“พันก้าวเคยทำได้ ทำไมวันต่อมาไม่เดินพันก้าวอีก ทำไมลดมาสองร้อย”

“ผมคิดว่าสายตาน่าจะเกี่ยว พันก้าวเป็นความพยายามที่จะทำ แต่ทำแล้วผมเริ่มมีปัญหาเรื่องมองอะไรไม่เหมือนแต่ก่อน มองไม่ค่อยชัด ตอนนั้นไม่รู้ว่ามีปัญหาเรื่องสายตา เพิ่งมารู้ทีหลัง มันคงมีมานานแล้ว พันก้าวเกิดจากการสู้เต็มที่ว่าได้เท่าไรกันแน่ เดินวนหน้าบ้าน แต่วันหลังๆ เดินนิดหน่อยผมก็หยุด”

“ได้ยินว่าช่วงที่เดินไม่ได้ก็เคยมีใช่ไหม”

“ใช่ เคยมีที่เดินเองไม่ได้ แต่ที่มาอยู่น่าน หลายวันนี้ผมรู้สึกว่าเดินได้มั่นคงกว่าอยู่สงขลา อาจเพราะผมมีความคิดว่า ถ้าผมจะอยู่เชียงใหม่อย่างที่ไม่มีคนอยู่ด้วย ผมจะทำยังไงได้บ้าง ก็พยายาม”

เชียงใหม่อีกแล้ว เขามักพูดถึงฉากและชีวิตที่เชียงใหม่อยู่เรื่อย ขณะที่ผมจินตนาการไม่ออกว่าเขาจะใช้ชีวิตตามลำพังได้อย่างไร บ้านหลังนั้นมีบันไดขึ้นลง ลดระดับตรงพื้นที่ทำครัว ยังไม่นับเรื่องห้องนอนบนชั้นสอง 

“ถ้าต้องขึ้นลงบันไดเอง คิดว่าทำได้ไหม ขึ้นโดยไม่มีคนช่วย กล้าไหม”

“ไม่แน่ใจ เดาว่าขาขึ้นผมน่าจะทำได้ ขาลงน่าจะไม่ได้ เพราะผมมีปัญหาในการเบรก ลงแต่ละครั้งมีคุณคอยดึงไม่ให้ผมทิ้งน้ำหนักมาก ซึ่งช่วยได้เยอะ ขาขึ้นคิดว่าทำได้”

วันแรกๆ เขาทำไม่ได้หรอก ผมเห็นอยู่ แต่วันหลังเริ่มดีขึ้น ทั้งการวางน้ำหนักมือเท้าและพละกำลัง สามารถเดินขึ้นบันไดรวดเดียวได้ช้าๆ โดยไม่ต้องหยุดพัก

“เมื่อวานกินเยอะเกินไป ไม่มีความสุขเลย ทรมานมาก กลับมาถึงบ้านอยากนอน อยากพักผ่อนอย่างเดียวเป็นครั้งแรก ขอโทษด้วยครับ ตอนกินไม่ได้คิดเรื่องนี้ เบรกได้เลยนะต่อไป ถ้าเห็นผมกินเยอะ ผมจะขอบคุณ และไม่โกรธแค้นเคือง”

“งั้นโปรแกรมไส้อั่วพรุ่งนี้เบรกไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวกินเยอะอีก น่าเป็นห่วง เกิดหลับไปไม่รู้เรื่อง หรือช็อกในภาวะที่ไม่มีคนเห็น” ชโลมใจว่า

“พูดจริงๆ นะ ผมอยากหลับไปเลย”

“มันจะไม่แบบนั้นไง”

“ผมกลัวว่าตื่นมารับรู้ว่าตัวเองยังไม่ตาย แต่ทำอะไรไม่ได้แล้ว นั่นคือสิ่งที่ผมกลัวที่สุด เมื่อวานมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นคือผมเจ็บที่ไหล่ เคยอ่านหนังสือเจอว่า คนที่เป็นโรคหัวใจจะเจ็บไหล่และปวดร้าวซึ่งผมก็ไม่เคยเป็น เมื่อวานก่อนนอนเหมือนผมเป็น มันส่ออาการโรคหัวใจ แต่ผมเคยผ่าหัวใจมา ตรวจเช็กแล้ว หมอบอกว่าหัวใจผมสมบูรณ์มาก เลยไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือบังเอิญ มันไม่น่ามาเกิดขึ้นช่วงนี้”

…..

เชียงใหม่ – น่าน – เชียงคาน – ปาย

จากนักข่าวในเมืองกรุง เขาเล็งฐานที่มั่นสำหรับคำว่า ‘บ้าน’ ไว้ที่สี่เมืองนี้ ด้วยเหตุผลของความงดงาม สงบ อากาศเย็นสบาย ในที่สุดเลือกเชียงใหม่เพราะคิดว่าลงตัวที่สุด โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญเรื่องมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล

ก่อนขึ้นมาที่น่าน เขาพักฟื้นอยู่บ้านที่สงขลานานสามปีกว่า

บินหลาเล่าว่า วันที่ขับรถออกจากเชียงใหม่ มุ่งไปลำพูน เมื่อสามปีกว่านั้น เขาไม่เอะใจเลยสักนิดว่ามันจะป็นการเดินทางยาวนาน นานกระทั่งถึงวันนี้ยังไม่ได้ย้อนกลับเชียงใหม่อีกเลย (ทริปนี้ แต่เดิมเขาจะไปเชียงใหม่ แต่เจออุปสรรคโควิด จำต้องเปลี่ยนเป้าหมาย) เนื่องจากป่วย พึ่งพาตัวเองไม่ได้ สุดท้ายจำยอมไปพักรักษาตัวที่สงขลา

“คิดถึงเชียงใหม่ อยากไปดูบ้าน อ่านหนังสือ ตำรา เอกสารค้นคว้าทุกอย่างของผมอยู่ที่นั่น ชีวิต ความผูกพัน เคยนั่งเขียนหนังสือที่นั่น ผมไม่เคยเขียนหนังสือที่สงขลาเลยก็ว่าได้ คิดว่าน่าจะมีความสุขถ้าได้ไป มันเป็นที่ที่เราคุ้นเคย จริงๆ สองสามปีหลังที่อยู่เชียงใหม่ผมก็ไม่ชอบเท่าไหร่ ไม่ค่อยออกไปไหน ถ้าไปก็แค่ไปรษณีย์ มช. ร้านกาแฟ ร้านหนังสือสุริวงศ์ ตอนนี้ถ้าไปอีก เอาเข้าจริงไม่รู้จะคุ้นเคยหรือรู้สึกแปลกหน้า”

บินหลาไปอินเดียตอนอายุ 29 ปี (เขียนเรื่อง ดื่มทะเลสาบ อาบทะเลทราย) กลับมาอยู่เกาะเต่าหนึ่งเดือน ถัดจากนั้นก็ไปปักหลักปักฐานอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2538

เขาอยากเดินให้เก่ง เดินจนเป็นธรรมชาติ อยากกลับไปขับรถได้เอง

พูดถึงเชียงใหม่ เขาตาวาวเหมือนเด็กได้ยินแม่บอกว่าจะให้กินขนม

…..

ไม่ใช่แค่แข้งขาหรือการเดินเท่านั้นที่เป็นปัญหา ดวงตาเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ในตอนนี้

“คนไม่เคยตาบอดจริงไม่เข้าใจหรอก ว่าคนที่มองไม่เห็นมันเป็นยังไง ผมมองไม่เห็นไง และจะมาโอดครวญก็ไม่ใช่ ไม่รู้จะโอดครวญให้ใครฟัง เวลาผมเดินไม่สะดวก คนอื่นมองเห็นยังอาจยอมรับได้ เข้าใจได้ แต่เรื่องตา ถ้าต้องไปบอกว่าผมมองไม่เห็นนะ ก็ไม่ใช่เรื่อง ผมเลยไม่ได้พูดเท่าไหร่ แต่จริงๆ ปัญหาของผมอยู่ที่ตาเยอะ เมื่อวานเป็นครั้งแรกที่มองพื้นแล้วเห็นว่ามันไม่เท่ากัน พื้นเอียงตลอดเวลา ถึงถามคุณว่าพื้นเท่ากันใช่ไหม ผมมองว่าเอียง ข้างซ้ายมันจะยกขึ้น ไม่เรียบเสมอกัน ผมเลยรู้สึกว่าทำไมวะ ทำไมเป็นแบบนี้ คือที่บ้านหรือในห้อง ผมอยู่ได้ เพราะผมรู้แล้วว่าเดินเท่านี้ ไปทางนี้ เข้าห้องน้ำได้ แต่ออกข้างนอกมันแย่

“ผมยังอยากเดิน อยากมีกิจกรรมที่ผู้คนเขามีกัน ยังรู้สึกว่าผมทำได้ แต่ผมก็คล้ายว่าไม่สมบูรณ์มากกว่า พอจะเดินก็มีปัญหา”

ที่น่าน มีจักษุแพทย์ที่บังเอิญว่าเป็นแฟนหนังสือบินหลา และเขามีใจ เดินทางมาตรวจไข้ให้ถึงห้อง เมื่อรับรู้ว่านักเขียนมองไม่ชัด

หอบเครื่องไม้เครื่องมือวนเวียนมาเช็กอาการหลายครั้ง ตลกปนซึ้งๆ ดี บางทีเขาจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยลายเซ็นบนปกหนังสือ

“หมอตรวจแล้วว่าไงบ้าง”

“เขาก็ไม่รู้ เท่าที่ดู เขาว่าไม่ถึงกับอันตราย แต่ไม่รู้สาเหตุ สิ่งที่กั้นตาผมอยู่มันหนา เขาอยากให้ไปส่องกล้องอย่างละเอียด ถึงจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่”

เครื่องมือแพทย์ที่น่านมีน้อย ไม่ครอบคลุมทุกอาการป่วยไข้ นายแพทย์นักอ่านเป็นภาระช่วยประสานไปยังโรงพยาบาลทางภาคใต้

“ที่สงขลามีเครื่องมือแพทย์ไหม”

“ไม่มีใครรู้ แต่ประเมินว่าน่าจะดีกว่าน่าน เป็นโรงพยาบาลค่อนข้างใหญ่ ทันสมัย ผมคิดว่าน่าจะมีเครื่องมือเพียงพอ”

“ตอนนี้มองเห็นข้างเดียว?”

“ใช่ ยังเป็นอยู่แบบนั้น ถ้าปิดตาข้างหนึ่งจะมองไม่เห็น มันจะเบลอๆ เหมือนมีม่านฝ้ามาบัง กลางวันตาข้างซ้ายมองไม่เห็นเลย กลางคืนพอจะเห็นแสงไฟรางๆ”

“เป็นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่”

“ช่วงเข้ากรุงเทพฯ ยังมองเห็นดีอยู่ แต่ไม่รู้วันไหนแน่ๆ น่าจะก่อนมาน่านวันสองวัน ซึ่งผมก็ไม่ได้ลื่นล้ม ไม่ได้กระแทกหรือกระทบกระเทือนอะไร ที่ล้มแรงสุดก็ที่นี่ ตอนจะเดินไปห้องน้ำ แต่ไม่ใช่เอาหัวฟาด แค่ล้มก้นกระแทก”

เขาล้มตอนดึก โทรเรียกผมให้มาช่วย สภาพที่เห็นคือร่างใหญ่ๆ ของเขาดิ้นขลุกขลักอยู่ที่พื้น ลุกขึ้นยืนเองไม่ได้

นานเท่าไรแล้วไม่รู้ และกว่าจะประคองเขากลับขึ้นเตียงอีกครั้งก็ไม่ง่าย

“ทุกวันนี้อ่านหนังสือด้วยตาเดียว อาจอ่านตาเดียวมาหลายวันแล้ว ผมแค่ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง มารู้ตัววันที่นั่งรถไปกับคุณ ผมลองหลับตาข้างขวาดู เลยเพิ่งรู้ว่า อ๋อ ตาซ้ายผมมองไม่เห็นตั้งนานแล้ว ใช้ตาขวาข้างเดียว ผมเคยอ่านมาว่าคนที่มองเห็นได้ข้างเดียวจะเห็นทุกอย่างเอียงหมด ไม่รู้ความลึก ตื้น เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่ามันคือยังไง เพิ่งมาเข้าใจตอนที่เจอกับตัว ถ้าเห็นสองตาจะรู้ความลึก ความโค้ง”

ไม่ว่าอยู่บ้าน นั่งรถ นั่งร้านกาแฟ เขาพยายามขยับมือไม้ ออกกำลังกายแข้งขา

หมายถึงว่าถ้าไม่ลืม

“ผมรู้สึกว่าหมอตรวจแต่ละทีก็เจอเรื่องใหม่อยู่เรื่อย และเรื่องใหม่จะเป็นเรื่องที่รักษาไม่ได้จนกว่าเรื่องเก่าจะแก้ปัญหาจบ ยกตัวอย่างว่าเริ่มจากผมเป็นเบาหวาน ต่อด้วยความดัน และหัวใจ สามอย่างนี้ซับซ้อนและมีผลต่อเรื่องอื่นๆ เยอะมาก เช่น มาตรวจพบทีหลังว่าไตก็มีปัญหา แต่หมอจะไม่กล้ายุ่งกับไตจนกว่าความดันจะลดลงคงที่ พอทำอะไรกับหัวใจ ก็ต้องระวังเรื่องไต ต้องระวังทุกอย่าง เลยกลายเป็นว่ามันมีอะไรค้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ก็รักษาไม่ได้ เพราะเกิดอีกอย่างมันฉุกเฉินขึ้นมาก็จะอันตรายกว่า

“ภาวะค้ำๆ กันอยู่แบบนี้ทำให้ผมแทบทำอะไรไม่ได้เลย ล่าสุดมีเรื่องสายตาเข้ามาอีก จริงๆ แล้วสายตากับเบาหวานน่าจะเกี่ยวข้องกันอยู่ คนที่เป็นเบาหวานมักจะถูกเตือนให้ระวังเรื่องสายตา แต่กรณีของผมน่าจะไม่เกี่ยวกับเบาหวาน เพราะค่าน้ำตาลลดลงมากจนปกติแล้ว แต่สายตาข้างซ้ายตอนนี้มองไม่เห็น เหมือนมีฝ้าใหญ่มาก หมอบอกว่ามันเหมือนเส้น เยื่อบุนัยน์ตา วุ้นในตาแตกหรืออักเสบ น่าจะแตก ต้องผ่านการส่องกล้องก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ ผมเลยยังไม่ทราบอาการที่ชัดเจน เท่าที่ทราบ หมอว่าไม่อันตราย แต่ผมก็ไม่สบายใจ มีแนวโน้มว่าอาจต้องผ่าตัด คร่าวๆ คือร่างกายผมไม่ดี พบแต่เรื่องไม่แข็งแรงเกิดขึ้นตลอดเวลา ก็ดูแล เยียวยาไป

“ผมห่วงว่าจะเขียนหนังสือไม่ได้ สูงสุดอาจได้นวนิยายอีกเล่มเดียว สังขารมันเป็นตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อน และสังขารผมไม่ดี กลัวว่าไม่มีความแข็งแรงพอที่จะทำงานต่อไปได้ ตอนนี้อันไหนคิดได้ก็อยากทำให้เรียบร้อย อย่างตอนนี้ผมคิดพล็อตนวนิยายเรื่องใหม่ขึ้นมาได้ คิดว่าอาจเป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนที่สังขารจะแย่กว่านี้ จนกระทั่งผมอาจพบว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว”

“เห็นว่าก่อนหน้านี้มีเรื่อง ‘กระสือ’ คิดว่าเขียนได้จบไหม”

“อยากเขียน ท้าทาย แต่ผมว่ากระสือมันยาก และบางอย่างผมยังอธิบายกับตัวเองไม่ได้ว่าตกลงผมคิดกับมันยังไง ผมจะเผชิญความเป็นจริงกับมันยังไง เท่าที่ดู กระสือของผมอาจเป็นระดับเฮฟวีเวท ผมอยากต่อยรุ่นฟลายเวทที่ผมถนัด และคิดว่าต่อยได้ดีกว่า เหมือนกับยังไงล่ะ เออ ตบเด็ก ผมถนัด (หัวเราะ)”

“วันก่อนก็คุยว่าจะเขียนนวนิยายว่าด้วยเรื่อง 2475”

เขาอยากฉายให้เห็นความแตกต่างว่า ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพระยาทรงสุรเดช คิดอ่านในมุมของแต่ละคนแบบไหน

“โอย เรื่องนั้นเขียนไม่ได้ เพราะต้องใช้ข้อมูลเยอะ งานระดับเฮฟวีเวท โคตรเฮฟวี ต้องอาศัยทั้งความเก่ง ทั้งปัญญา ความเป็นผู้ใหญ่เยอะมาก ซึ่งผมไม่น่าจะมีแล้ว เป็นงานในฝัน ผมทำไม่ได้หรอก”

…..

“ทำไม่ได้” ณ วันนี้บินหลาพูดชัด

ตระหนักรู้ข้อจำกัดของตัวเอง อะไรทำได้ ทำไม่ได้

มันทำให้ผมคิดถึง เพลงพญาเหยี่ยว นวนิยายที่เขาเขียนลง มติชนสุดสัปดาห์ ที่เขียนและเลิกกลางทาง

เป็นบาดแผลของเขา แผลเก่าที่คนหนุ่มสาวพึงรับไว้เป็นบทเรียน

เรื่องมันเริ่มจากความสนุกในการอ่านประวัติศาสตร์ชีวิต คอนสแตนติน ฟอลคอน (พระยาวิไชเยนทร์) ความบางตอนในสำนวนหนึ่งบันทึกว่า ภรรยาโกรธเกลียดเขามาก ถึงกับถ่มน้ำลายใส่ อีกสำนวนแย้งว่าเขาเป็นที่รักเทิดทูนของภรรยา

“มันอยู่ที่ใครเขียน” บินหลาว่า

นั่นยิ่งปลุกเร้าให้เขาสนใจประวัติศาสตร์ สนใจใคร่รู้ว่าอะไรคือความจริง ความลวง

สองปราชญ์ที่มีอิทธิพลและคุณูปการเรื่องประวัติศาสตร์สำหรับบินหลาคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ และนิธิ เอียวศรีวงศ์

ยิ่งอ่าน ยิ่งรัก หลงใหล ทำให้ติดตามศึกษามาเรื่อยๆ

เขาพบว่า ทุกอย่างที่มนุษย์กระทำเป็นความจงใจ ไม่ใช่อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว

เขาพบว่า เวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้น ไม่ได้เกิดจากความคิดเดียว

เขาเล่าไอเดียให้บรรณาธิการฟัง ต่อมาเขียนตอนแรกนำเสนอ ซึ่งได้ผล น่าสนใจ แต่ผู้อาวุโสกังวลว่าบินหลาจะเขียนได้ต่อเนื่องจนจบหรือเปล่า

นักเขียนลูกน้ำทะเลรับปากมั่นเหมาะ เพราะเชื่อว่าทำได้จริง ไม่ได้โม้ เขาวางเกมยาวไว้ว่านวนิยายมหากาพย์เรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ 200 ตอน

“คิดว่าทำได้โดยไม่มีปัญหาเลย ได้เงินเยอะด้วย เพราะเรื่องยาว หารู้ไม่ว่ายิ่งเขียนยิ่งยาก”

เพลงพญาเหยี่ยว ตีพิมพ์ไปเกิน 40 ตอน เขาไม่มั่นใจว่าเท่าไรแน่ แต่คงไม่ถึง 50 ตอน

“เขียนด้วยความสุข หลงใหล ฮึกเหิม ฟีดแบ็กดี คนอ่านชม บรรณาธิการชอบ”

นวนิยาย ‘ปลอมประวัติศาสตร์’ เขาคิดคำนี้ขึ้นมา คำใหม่ ปกติใครคนอื่นจะใช้ ‘อิงประวัติศาสตร์’

“ผมคิด กูจงใจปลอมแม่งเลย ตอนไหนจริงก็ช่วยไม่ได้ แต่แปะป้ายให้รู้ชัดๆ ว่ากูปลอม”

ทรงดี ท่าดีแต่แรก แล้วทำไม่ไม่รอด…

“เรื่องมันยากขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้จุดเริ่มต้น รู้จุดจบ แต่ตรงกลางคิดไม่ออก ถ้าเป็นทุกวันนี้ ถ้าผมรู้แต่แรกแล้วว่างานหนัก งานยาก ก็จะไม่ทำ ตอนนั้นผมไม่รู้ พอรู้ก็รับมือไม่ไหวแล้ว คิดไม่ได้ บางทีถึงเวลาควรเขียนก็ไม่เขียน ถ่วงเวลาไปเป็นวันๆ ครึ่งวัน สุดท้ายเขียนส่งไปแบบเสียมิได้ เริ่มรังเกียจงานที่เขียนส่งไป เพราะรู้ว่ามันไม่ดีเหมือนที่คิดฝันไว้ ทำลวกๆ ให้พอมีส่งไปแต่ละสัปดาห์

“ผมเคยมีความขี้เกียจสมัยเขียนเรื่องพุ่มพวง ดวงจันทร์ (ดวงจันทร์ที่จากไป) แต่ก็มีส่งทุกครั้ง บางตอนที่ตีพิมพ์ ผมเล่นดัมมี่อยู่กับเพื่อน ติดไพ่ และโทรศัพท์บอกให้คนพิมพ์ตามคำบอก เล่าให้ฟัง ไม่ได้เขียนเอง เหี้ย มึงทำไปได้ยังไงวะ โคตรทุเรศ”

ตอนที่ว่านั้นยังคงอยู่ในหนังสือ ไม่ได้ตัดทิ้ง

“ไม่มีใครรู้ ยิ่งย่ามใจ คึกคะนอง ปล่อยปละละเลยบ้าง เดี๋ยวก็ทำได้อีก แต่พอถึง เพลงพญาเหยี่ยว มันทำไม่ได้อีกแล้ว มันน่ากลัวมาก และผมกลัวเสียฟอร์ม กลัวบรรณาธิการด่า เขียนไม่ได้ก็ไม่กล้าสารภาพ สรุปทีแรกก็ยังมีส่ง ไม่เคยขาด แต่ทุเรศตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จากเคยเขียนตอนละ 8 หน้าเอสี่ ก็เหลือแค่ 4-5 หน้า และเต็มไปด้วยขยะ

“ส่งสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ผมคิดว่าทนอยู่ในสภาพนั้น 2-3 ครั้ง จนผมมีงานต้องไปนครวัด ก่อนไปก็เขียนส่ง พอกลับมาซื้อมติชนฯ ​เปิดดู อ้าว ไม่มีงานลง ผมนึกว่าคงลงเล่มหน้า พอเล่มหน้าก็ไม่มีอีก แย่แล้ว ผมรู้ชะตากรรมแล้วว่ากูโดนแน่

“มีคนมาบอกทีหลังว่าแกโกรธมาก และผมไม่ใช่คนแรกที่โดน ถ้าเจอแบบนี้ขอให้รู้ว่า ต้นฉบับถูกโยนทิ้งขยะไปแล้ว”

บรรณาธิการคนนั้นชื่อ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งบินหลาหลบหน้าอยู่สองสามปีกว่าจะกล้าเข้าไปกล่าวคำขอขมา

อะไรทำให้เขาเชื่อมั่น และเข้าใจผิดๆ

สารคดีชุด หลังอาน น่าจะมีส่วน ก่อนหน้า เพลงพญาเหยี่ยว บินหลาเคยเขียนส่งสัปดาห์ต่อสัปดาห์สำเร็จมาแล้ว เช่นเดียวกับ ดวงจันทร์ที่จากไป แต่ก็นั่นแหละ ที่ว่าเคยก็ใช่ว่าจะชัวร์เสมอไป ตราบาปนี้หลอกหลอนเขาหลายปี และที่สุดต้องกัดฟันบากบั่นเขียน ปุชิตา จนจบ ถึงกล้าส่งไปเสนอนิตยสาร ขวัญเรือน

ไอ้ประเภทเขียนไป ส่งไป ไม่เอาแล้ว โดยเฉพาะนวนิยาย รู้แล้วว่ายาก รู้แล้วว่าเอาไม่อยู่

“เราผิดเต็มๆ เลยไง เสียความเชื่อมั่นไปหมด เสียชื่อ และกลัวมาก ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะรวมรวบความกล้าหาญขึ้นมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่”

…..

บางบ่ายที่คิดถึงลมแม่น้ำ ผมขับรถพาเขามานั่งเล่นริมหาดผาขน

แดดเดือนมีนาคมเต้นระยิบ แต่สีเขียวของต้นไม้สองฟากฝั่งก็ช่วยผ่อนคลายได้มาก ฤดูร้อนในเมืองแห่งขุนเขาและแม่น้ำไม่ทรมานเหมือนเมืองหลวง เหนื่อยๆ เบื่อๆ ก็พอมีทางออก แต่ต้องมีเวลานะ ถ้าไม่มีก็ต้องหา เวลาคือเงาของมนุษย์ อย่าให้มันหายหัวหายหน้า แม้ในยามไร้แสง เวลาคือเงา ต้องกอดรัดมันไว้กับเราตลอด

ผมชอบเรื่องที่บินหลาเคยเล่า…

“งานหนังสือพิมพ์เอาเวลาผมไปมาก ตอนเป็นนักข่าวชีวิตยุ่งเหยิงวุ่นวาย สิ่งแรกที่เป็นนักเขียนคือความขี้เกียจ คือความรู้สึกว่าเราเป็นอิสระ ใช้เวลายังไงก็ได้ ทำงานก็ได้ ไม่ทำงานก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ความที่เราอยากจะสร้างงานให้ได้ เพราะผมเป็นคนที่ต้องใช้เงิน ถ้าขี้เกียจคืออดตาย เลยพยายามสอนตัวเอง ฝึกตัวเอง ผมตื่นเช้ามาก ตีสี่ตื่นแล้วก็เขียนหนังสือ”

วันนี้ไม่เขียน วันนี้มีเวลา เราชวนกันมาเที่ยว

ต้นน้ำนี้คือภูเขายอดดอยภูคา ทว่าต้นทางนักเขียนคือนักเขียน

บินหลาวัยมัธยมฯ ชอบอ่านงานของ พนมเทียน, ป. อินทรปาลิต และกิมย้ง พอเข้ามหาวิทยาลัย เขาหลงใหล โกวเล้งและ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

“ผมว่าจังหวะมันพอดี เป็นงานที่เหมาะกับช่วงวัย”

’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นครูผู้มีอิทธิพล เป็นมนุษย์ที่เขาใช้คำว่า ‘แสบ’

โดยรสนิยม เขาชมชอบผองชนผู้มีนิสัยแสบ

แปลกดี เพราะ พญาอินทรี โดยแท้ที่ทำให้ผมกับเขามาพบกัน ในวันที่นกใหญ่โบยบินคืนสู่ผืนฟ้าป่าอักษร ล่วงเลยสู่การร่วมแรงหลอมใจทำหนังสือที่ระลึกงานศพ

ช่วงหนึ่ง บินหลาเคยขับรถให้และเดินทางไกลกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

เขาเล่าว่ามันเป็นวันเวลาที่ดี

วันนี้ถึงทีผมบ้าง

…..

“ผมเคยคิดมาตลอด คิดว่าผมอายุไม่ยืน คิดมานานแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำยังไงให้อายุยืน ก็ปล่อยปละละเลยตัวเอง ซึ่งยิ่งทำให้อายุไม่ยืนแน่ๆ ผมคิดว่าทำไมต้องอายุยืนวะ ในเมื่ออายุไม่ยืน มึงรู้ตัวว่าอยากทำอะไรก็ทำไปสิ ถึงวันหนึ่งก็จบไป พอแก่ตัวขึ้นผมเริ่มมาพบว่า อายุไม่ยืนอาจแปลว่ามึงห้าสิบแล้วเขียนหนังสือไม่ได้ก็เท่ากับตาย คืออายุไม่ยืน กับอีกอย่าง เขียนหนังสือไม่ได้ และมึงยังไม่ตายด้วย มึงทรมานไปเรื่อยๆ นี่ก็คืออายุไม่ยืนเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่เราจะทรมานเยอะ

“ความทรมานเป็นเรื่องที่ผมไม่ทันได้คิดมากนักก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้คิดว่าทรมานแปลว่าอะไรจริงๆ ก่อนที่มันจะทรมาน พอวันนี้พบว่า ความทรมานมีมากกว่าที่คุณคิด แล้วมันกัดกร่อนมาก จะโตก็ไม่โต ตายก็ไม่ตาย เป็นช่วงอายุที่ถือว่าแย่มาก

“ผมไม่อยากเป็นซากศพที่ทรมานก่อนถึงวันตาย ในภาวะนี้ด้วย ผมอาจไม่มีคนดูแล ยิ่งทรมานไปใหญ่ มีปัญหากับคนอื่น คนที่มาดูแลผม โดยที่เขาอาจไม่รักผมเท่าไร แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มาก อาจเป็นญาติพี่น้องกัน ต้องดูแลไป ผมรู้สึกว่าผมผิด และไม่อยากให้มีภาวะแบบนี้เกิดขึ้น

“โอเค ยังไม่ทรมานแบบถาวร เพราะผมยังไม่รู้ว่าจะเขียนหนังสือไม่ได้จริงหรือเปล่า วันหนึ่งถ้าผมพบว่าตัวเองเขียนหนังสือไม่ได้จริงๆ และร่างกายยังเป็นแบบนี้อยู่ ผมคิดว่านั่นคือการทรมานอย่างถาวรไปจนกว่าจะตาย ซึ่งน่าจะเป็นความเศร้า เพราะทำอะไรไม่ได้แล้ว อยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ยังไม่ตาย”

“ตอนนี้ยังไม่เข้าโซนนั้น”

“ยัง แต่ใกล้เคียง ยังไม่รู้ผลว่าตกลงมันจะเป็นโซนนั้นแล้วหรือยัง”

“ถ้าประเมินตัวเอง คิดว่าแบกรับความทรมานได้แค่ไหน ความสามารถในการอดทนอดกลั้น”

“ผมว่ามีเท่าที่มนุษย์คนอื่นมี ผมไม่น่าเป็นคนที่สำออยหรืออดทนอดกลั้นน้อยกว่าคนอื่น แต่อาจทรมานตรงที่ผมเป็นคนไม่มีทรัพย์สินด้วย คือผมคิดว่าคนที่มีเงินมีทอง มีลูกเมีย อาจพอใช้เงินหรือใช้ลูกเมียบรรเทาความไม่สะดวกบางอย่างลงไปได้ แต่ผมไม่มีทุกอย่าง ทั้งเงิน ทั้งลูกเมีย พอไม่มี ผมต้องอาศัยการพึ่งพาคนอื่น ซึ่งยิ่งทำให้กดทับหรือทรมานซ้ำเพิ่มมากกว่าที่คนอื่นเขาเป็นกัน ผมว่าเรื่องนี้หนัก ไม่รู้ว่าผมจะทนได้สักแค่ไหน”

“เทียบในอดีตที่เคยพบและผ่าน กับความทุกข์ในอนาคต คิดว่าหนักเบาเท่ากันไหม”

“ในอดีต ผมทุกข์ทรมานด้วยตัวเองและผ่านมันไปได้ด้วยตัวเอง แต่ในอนาคต มันจะมีความทรมานบางอย่างที่ไม่สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยตัวเอง ต้องมีผู้ช่วยซึ่งผมไม่มี เลยไม่รู้ว่ามันจะผ่านไปได้ยังไง”

“คนที่มีลูกเมียแต่ลูกเมียไม่ช่วยอาจทรมานมากกว่าก็ได้นะ” ผมพูดอีกมุมหนึ่ง

“ก็เป็นไปได้” เขาหัวเราะ

“แต่เกมนี้มันไม่จิ๊บๆ ไม่ใช่เลย”

“สรุปว่าโดยรวมแล้วสภาพจิตใจเป็นยังไง”

“หดหู่เหมือนกัน บางช่วง บางเรื่อง คนอาจไม่เข้าใจ เช่น ผมเป็นคนนอนกรน ก็ธรรมดา อาจเกิดกับใครก็ได้ หรืออาจไม่เกิด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดไหม บังคับไม่ได้ แต่ก่อนผมไม่เคยคิดว่าเป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใคร ผมคิดว่าเป็นความซวย ซึ่งผมแก้ด้วยการนอนคนเดียว ผมอาจต้องจ่ายแพงขึ้นบ้าง ค่าห้องแพงขึ้น ตึกที่อาจต้องแพง มิดชิด คิดแค่นั้น

“แต่พอแก่ตัวขึ้นมาในสภาพที่ไม่ค่อยมีสตางค์ ผมพบว่าบางอย่างมันก็เลือกยาก ผมจะนอนยังไงในบางสถานที่ บางโอกาส โดยที่ไม่รบกวนคนอื่น ผมเกรงใจเขา สมมตินอนโรงพยาบาล ผมก็รู้สึกรบกวนคนไข้ด้วยกัน และเกิดคนป่วยด้วยกันดันนอนไม่หลับเพราะผมนอนกรน ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของผม เพราะผมก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องมาเศร้าที่ตื่นเช้ามาแล้วพบว่าเขานอนไม่หลับเพราะมึงนั่นไง ทั้งที่ในใจผมอาจคิดว่าไม่ใช่ความผิดกูนะ แต่กูก็ต้องมาเศร้า ต้องรับผิดชอบ ถึงไม่ใช่ความผิดของมึง มึงก็มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา

“แต่นาทีนี้ผมจะทำยังไงได้ มันก็เป็นความเศร้ากดทับ มึงนอนไม่หลับ กูก็เศร้า กูก็เครียด เช้ามากูก็ไม่อยากมองหน้ามึง ไม่อยาก ‘สวัสดีครับ คุณเป็นไงบ้าง’

“เรามีส่วนในความทุกข์ของคนอื่น เราไปรบกวนเขา บางอย่างมันไม่ใช่ความผิดของเรา ไม่ใช่ความแย่ เอาไปให้ศาลตัดสิน เราก็ไม่โดนลงโทษหรอก แต่ถ้าเกิดเขาถามว่า แล้วมึงมีส่วนรับผิดชอบกี่เปอร์เซ็นต์ ในใจมึงจะกล้าบอกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์เหรอ ในใจมึงโกหกไม่ได้ คือเรารู้อยู่ เราถึงต้องรับผิดชอบกับบางเรื่องที่มันไม่สามารถหาได้ว่าใครทำผิดแน่”

“ศาลท่านก็น่าจะกรนบ้างแหละ” ผมแทรก

“ใช่ บางอย่างต้องเมตตา และพยายามที่จะหาทางออก เช่น เลี่ยงไม่ให้มานอนรวมกัน ผมว่าการสนใจเรื่องเหล่านี้มันทำให้เรายังเป็นมนุษย์อยู่ มึงรู้ว่าความทุกข์ของโลกมีอะไรบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่การนอนกรนเรื่องเดียว ยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ

“การมองเห็นเรื่องแบบนี้ทำให้เราไม่ดูดายกับความทุกข์ยากที่ไม่ใช่ความผิดกู เราจะไม่คิดแบบ กูไม่ได้เป็นคนผิดนี่หว่า ผมว่าทุกอย่างจะแก้ปัญหาไม่ได้เลยถ้าปิดใจหรือเห็นแก่ตัว เพราะบางเรื่องมันไม่ใช่ความผิดของมนุษย์คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

“โดยรวมผมว่าจิตใจผมอยู่ในเกณฑ์หดหู่มากกว่า ไม่เบิกบาน มันไม่มีเรื่องน่าเบิกบาน แต่ก็หดหู่น้อยกว่าช่วงที่เคยทุกข์กว่านี้ ตอนที่ผมยังไม่แข็งแรงเท่านี้ ก็ยิ่งหดหู่มาก เศร้า ที่เพียงจะเดินก็เดินไม่ได้ ทำได้แค่นั่งคิดนอนคิด ทุกวันนี้ผมพอเดินได้ เริ่มมีความหวัง คิดว่าทุกอย่างอาจฟื้นคืนใกล้เคียงแบบเดิมได้

“แต่ก็ยังหดหู่เพราะบางอย่างยังหาทางออกไม่เจอ ยังเป็นแค่ความฝัน เอาว่าอันไหนทำได้ก็ทำไปก่อน เดี๋ยวถึงวันหนึ่งไม่มีเวลา ไม่มีแรงทำได้ จะยิ่งหดหู่”

ที่บ่นๆ ว่าอยากไปเชียงใหม่ เหตุผลหนึ่งคือบินหลาอยากไปจัดการข้าวของในบ้าน เลือกขายบางอย่างที่ขายได้

“ผมกลัวว่าเดี๋ยวถ้าเป็นอะไรมากกว่านี้ ผมจะจัดการบ้านไม่ได้ ก็จะยิ่งหดหู่ อย่างถ้าผมขายหนังสือไม่ได้เลย บ้านกลายเป็นกองขยะ ผมยิ่งใกล้ตายก็จะยิ่งเศร้า ตอนนี้ถ้าผมขายบางส่วน มันสามารถเก็บเงินไว้เป็นค่ายา ค่าอาหาร ค่าใช้ชีวิต ช่วยลดทอนภาระคนอื่นไปได้ พูดง่ายๆ ผมมาภาคเหนือครั้งนี้เพื่อมาทำในสิ่งที่ผมพอจะทำได้ ส่วนที่ทำไม่ได้ เช่น เขียนหนังสือ มันยาก ก็เก็บไว้ก่อน เป็นเรื่องท้ายๆ รอให้ผมแข็งแรงกว่านี้ หรือถ้าผมทำมันไม่ได้จริงๆ ก็ถือว่าปล่อย แต่ตอนนี้บางเรื่องที่ทำได้ ก็ลงมือทำเสียก่อน”

“เรื่องขายของ ตัดใจ ทำใจได้แล้ว?”

“ผมไม่เคยคิดเรื่องการขายหนังสือมาก่อน มันเป็นของไม่ขาย เพราะผมซื้อมาอ่าน เก็บ ตอนเขียนหนังสือ ผมไม่รู้จะไปค้นคว้าที่ไหน มันลำบาก ทรมาน แต่ตอนนี้ผมรู้ว่ามีหนังสือมากพอให้ค้นคว้า ผมไม่เคยคิดเรื่องขาย แต่ช่วงหลัง ผมว่าผมทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว ผมแค่เห็นมัน ตอนนี้หยิบมายังไม่รู้จะอ่านได้หรือเปล่า สายตาก็แย่ลง”

“หวงไหม”

“ไม่ ผมตัดใจได้”

“ไม่ใช่หนังสืออย่างเดียวที่จะขาย?”

“ใช่ หลายอย่าง ของเก่าต่างๆ มีอะไรระบาย ขายไปได้ ผมก็ทำ อีกเรื่อง ผมจะถ่ายรูปของเก็บไว้ทุกอย่าง ถ่ายไว้หมดและทยอยปล่อยขาย คือถ้าปล่อยได้จริง ผมว่าระยะเวลาการขายก็เป็นปี หรืออาจจะหลายปีกว่าจะหมด หรือกว่าจะลดลงน่าพอใจ หนังสือในบ้านผมคิดว่ามีเป็นหมื่นเล่ม สมมติขายเล่มละสิบบาท ผมก็ได้เงินเป็นแสน ก็ดูแลตัวเองได้หลายเดือน อาจจะถึงปีด้วยซ้ำ”

…..

10 มีนาคม 2564 บินหลาพูดเรื่อง ‘ไผ่ อานนท์ และคนหนุ่มสาวของเรา’ ที่ร้าน On the rose กรุงเทพฯ

ไม่คาดคิดมาก่อนหรอก เผอิญเข้ากรุงสัปดาห์หนึ่ง และสถานการณ์บ้านเมืองมันเลวร้าย พวกเรานั่งคิดกันว่าพอจะทำอะไรได้ก็ทำ อย่างน้อยลุกขึ้น เดินออกไปเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ก็ยังดี

น่ายินดีว่า มีเพื่อนพี่น้องนักเขียน นักอ่าน มาร่วมงานจำนวนมาก

และอีกเช่นกัน 6 เมษายน บินหลาเปิดเวทีที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ‘ว่าด้วยความรัก ความคิดถึง และ ม.112’ ด้วยสาเหตุและทางเลือกเหมือนเดิมคือในสถานการณ์แห่งทุกข์ หากเราพอจะทำอะไรที่แบ่งเบาบรรเทาทุกข์ได้บ้าง ก็ช่วยกันออกแรง เป็นปากเป็นเสียง

เพื่อนหนุ่มของเรา ธีร์ อันมัย ถือกีตาร์จากอุบลราชธานี มาร้องเพลง

ฝนตกหนักติดต่อกันมาเป็นวันที่สาม ถึงวันงาน ผู้ฟังก็ยังนั่งแน่นร้าน นักอ่านบางคนเดินทางมาจากจังหวัดเลย ภาพเหล่านี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ายังมีเสมอ ผู้คนที่สนใจและโหยหาความยุติธรรม แม้ในกระบวนการยุติธรรมอันผุกร่อนและห้วงเวลายากลำบาก

“เด็กติดคุกไม่ใช่เรื่องของผมโดยตรง ถ้ามีคนจัดการก็ปล่อยให้เขาจัดการไป แต่ผมมองแล้วไม่เห็นว่ามีการจัดการให้เด็กออกมาจากคุกได้ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องสะเทือนใจ เหมือนเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรกับมัน หรือทำอะไรกับมันไม่ได้ เช่น ปัญหาความยากจนในสังคม มันก็เกิดขึ้นมานานและเราทำอะไรไม่ได้ แต่พอเราเห็น เราก็เศร้าใจ

“ผมคิดเสมอนะ ไม่รู้ว่าผมทำอะไรได้ไหม ที่แน่ๆ คือแต่ก่อนผมไม่ได้ทำอะไรกับมัน ก็เลยเป็นปัญหาค้างคาใจ ถึงวันนี้ผมอยากลงมือทำเท่าที่ผมทำได้ จนกว่าผมจะรู้ว่าผมพยายามเต็มที่แล้วก็หมดทาง หมดสติปัญญา ถ้าเป็นแบบนั้น ผมก็จะวางมือ แต่ตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า เท่าที่ประเมิน สังคมนี้ใจดำเกินไป ทุกคนมองเหมือนกับผมหมดว่าตัวเองไม่มีปัญญาพอที่จะทำอะไรได้ และเลือกอยู่นิ่งเฉย ซึ่งผมไม่อยากเป็นแบบนั้น

“ผมเชื่อว่าสังคมน่าจะดีกว่านี้ก่อนที่เราจะตายไป ความเชื่อนี้ยังมีผลต่อตัวผมอยู่ ผมอยากจากไปโดยรู้สึกว่าพรุ่งนี้มันดีกว่าวันนี้ และตรงนี้ ถ้าผมทำให้มันดีกว่านี้ได้ ผมควรจะทำ ถ้าผมทำไม่ได้ ก็หวังว่าจะมีคนอื่นมาทำ แต่นาทีนี้ ผมยังบอกไม่ได้ทั้งสองอย่าง ว่าผมจะทำให้มันดีกว่านี้ได้ยังไง หรือผมจะรอให้คนอื่นคิดว่ามันจะดีกว่านี้ หรือทำยังไง ผมไม่เห็นทั้งสองอย่าง ผมเลยคิดว่าอันไหนทำได้ก็ทำไปก่อน”

“พูดง่ายๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใบหน้าของไผ่ อานนท์ เพนกวิน รุ้ง ฯลฯ วนเวียนอยู่ในใจตลอด?”

“ใช่ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าคนอย่างไผ่ เพนกวิน และคนอื่นๆ พ้นคุก พวกเขาจะทำให้สังคมดีกว่านี้ ผมเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำให้สังคมมันดีกว่านี้ได้ ศักยภาพคนพวกนี้สูง ผมรับรู้และสัมผัสได้

“สังคมไทยมีบทเรียนจากกรณีคล้ายๆ นี้มาหลายครั้ง เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ลงเอยด้วยการสูญเสีย ซึ่งทุกวันนี้สังคมไทยก็ตระหนักถึงข้อดีของการมีจิตรมากกว่าข้อเสีย และได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เขามีมาเรียนรู้ในขณะที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ผมเชื่อว่ากรณีเพนกวินก็จะคล้ายกัน แต่มันจะไม่เหมือนตรงที่ว่าเพนกวินยังไม่ตาย ฉะนั้น การตายของเพนกวินจะมีมากกว่ากรณีที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ตายไป

“ผมอาจคิดแบบนักการสงครามก็ได้ ถ้าเพนกวินตายจริง ผมว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลย

“ไม่ได้แปลว่าผมอยากให้เขาตาย แต่ผมเชื่อในแง่ว่าถ้าเขาตาย สังคมจะตื่น ซึ่งถ้าผมเลือกได้ ผมคิดว่าถ้าเขาไม่ตาย ก็จะสร้างคุณค่าให้สังคมได้มากกว่าที่เขาตาย คือเขามีความเก่งหลายอย่างที่ได้ทำแล้ว และถ้ายังมีชีวิตอยู่ เขาจะเก่งกว่านี้อีก ทำได้มากกว่านี้อีก ซึ่งเราต้องรอ

“เด็กคนนี้มีพลังมาก มีความคิด เป็นนักปราชญ์ ตอนผมเจอเขายังเรียนอยู่มัธยมฯ และเข้าใจประวัติศาสตร์ขนาดนั้นแล้ว ถึงวันนี้ เขาไปไกล และยิ่งสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า เด็กคนนี้จะมีพลัง เป็นคนที่มีคุณค่าต่อประเทศนี้มาก น่าเสียดายที่โดนจับติดคุก น่าเสียดายของ ประเทศนี้ไม่รู้จักของดี เอาของดีไปโยนทิ้งโยนเล่น เอาของดีไปทำลาย เป็นความโง่เขลา”

ถึงวันนี้ วันที่เราคุยกัน เพนกวินอดข้าวมานานจวนจะครบเดือน

“ในใจผมสงสารเขา ขณะเดียวกัน ผมยิ่งเคารพ ศรัทธาเขา ยิ่งรู้สึกว่านี่แหละคือคนที่สังคมต้องมองเขาให้ชัดเจนว่า เขาได้ทำอะไรหลายอย่างเพื่อพวกเรานะ เขาคิดแล้วและทำลงไป ความคิดเขาจะถูกหรือผิดเอามาพูดกันได้ เอามาวิจารณ์กันได้ แต่ต้องรู้จักความคิดเขาก่อน ไม่ใช่ตัดสินหรือกล่าวหาง่ายๆ เพนกวินโดนจำคุก ทั้งๆ ที่ยังไม่พิพากษา ซึ่งก็เท่ากับโดนพิพากษาแล้ว ผมสมเพชประเทศไทย สมเพชความโง่เขลา เพนกวินเป็นเพชรจริงๆ ใครที่ยังไม่รู้จัก ผมอยากให้ไปฟังสิ่งที่เขาพูด 

“ผมกินข้าวทุกวัน คิดถึงเพนกวินแล้วผมละอายใจ ที่เรามีชีวิตอยู่ในวันนี้โดยที่อีกชีวิตหนึ่งกำลังจะตายเพราะเขาทำเพื่อพวกเรา ทำเพื่อจะอธิบายว่าเขาคิดกับมันยังไง เขาโดนรังแกยังไง เขาโดนกระทืบโดยไม่มีโอกาสป้องกันตัวยังไง ผมว่ามันทรมาน”

“ทุกวันนี้ เวลาจะพูดจะเขียน หรือแสดงความคิดเห็น กังวลไหมกับเรื่อง 112”

“กังวลสิ ผมรักความสบาย และไม่อยากลำบาก สายตาผมไม่ดีนะ ทุกวันนี้ตาซ้ายมีปัญหา มองไม่เห็น ม.112 เหมือนตาของผมที่โดนบังอยู่นี้ มันมัวๆ พร่าๆ เลือนๆ ทำให้ผมมองทุกอย่างไม่กระจ่าง สังคมที่มองอะไรไม่กระจ่างจะนำไปสู่ปัญหาแน่นอน เราเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง ม.112 ไม่ได้หรอก คนทั่วไปเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งนักเขียนยิ่งเลี่ยงไม่ได้ที่สุด

“แต่นาทีนี้ก็ตระหนักแล้ว ผมคิดว่าถ้าจำเป็นต้องแลกจริงๆ กับความลำบาก เพื่อจะแสดงให้สังคมมันไปได้ในสิ่งที่ผมคาดหวัง ผมว่าผมจะแลก

“ผมอาจถูกจับขัง โดนทรมาน คือแค่ติดคุกสำหรับผมก็ทรมานแล้วนะ ผมจะนั่งส้วมยังไง แค่คิดผมก็ทรมานแล้ว แต่ว่า ถึงเวลาที่ผมยินดีจะแลกทุกอย่าง เพื่อให้สังคมไปต่อได้”

“เหตุผลที่พร้อมจะแลกเพราะ…”

“มันท้อแท้ไปหมดทุกเรื่อง ผมเห็นว่าสังคมกระเพื่อมน้อยเกินไป สำหรับผม นี่คือระเบิดนะ แต่มันกลับกลายเป็นก้อนหินก้อนเล็กๆ หล่นน้ำแล้วกระเพื่อมนิดหน่อยและเงียบหายไป ผมเสียดาย ทำให้ผมหมดหวังกับความเชื่อมั่นไปเรื่อยๆ ฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่า ยอมแลกความเชื่อมั่นสุดท้ายด้วยตัวเองดีกว่า ถ้าต้องแลกจริงๆ คือผมไม่รู้หรอกว่าผมจะทำให้สังคมกระเพื่อม หรือตื่นเต้น หรือรับรู้ความเคลื่อนไหวไปได้ขนาดไหน แต่คล้ายว่ามันก็ไม่น่าจะมีหินก้อนใหญ่อื่น ถึงเวลา ถ้าผมเป็นหินสักก้อนหนึ่ง และหวังว่าจะมีคนอื่น หินก้อนอื่นหลายก้อนหล่นลงมาพร้อมกัน และกลายเป็นก้อนใหญ่ในที่สุดเท่านั้นเอง

“ผมไม่เคยทำม็อบ ไม่เคยนำม็อบ ไม่เคยรู้ว่าพลังมวลชนมหาศาลที่เขาพูดกันว่ามันถาโถมทะลุทะลวงได้นั้นมีอยู่จริงไหม เคยแต่ได้ยิน หรือได้เห็นบ้างจากต่างประเทศ ในบ้านเราผมไม่รู้ว่าจะมีไหม แต่คาดหวังว่าวันหนึ่งมันจะเกิดพลังอย่างนี้ ในเมืองไทยอาจจะเกิดจากการปะทุของหลายๆ สิ่งเป็นร้อยสิ่ง ถ้าร้อยสิ่งนั้น ถามว่ามึงจะยอมเป็นหนึ่งในร้อยนั้นหรือเปล่า ผมยินดีนะ ถ้าผมจะมีส่วนทำให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อมแบบนั้นจริง

“เมืองไทยมีคนขี้ขลาดเยอะ ผมไม่รู้ว่าคนกล้ามีเยอะขนาดไหน ไม่กล้าประเมิน ไม่ว่าจะคนในอาชีพนักเขียน หรืออื่นๆ เท่าที่เห็นทุกวันนี้ ในบรรดาคนขี้ขลาดทั้งหมด ผมก็มองเห็นตัวเองอยู่ด้วย ในความขี้ขลาดของมนุษย์มันก็มีเหตุผลต่างๆ นานา และพอเห็นมากเข้าเราก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น”

“มีอาการลังเลหรือเสียใจบ้างหรือเปล่ากับการมาเคลื่อนไหวความคิดทางการเมือง”

“ผมเสียใจที่ผมขยับตัวเองช้าเกินไป ที่ผมรู้สึกวันนี้คือเรื่องนี้ คงดีถ้าผมสนใจศึกษารายละเอียดของมันจริงจังมากกว่านี้ ผมเป็นคนสนใจอะไรเร็ว แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สนใจ มันต้องศึกษาด้วย ผมสนใจเร็ว ประมาณสิบปี แต่ผมศึกษาช้ามาก การศึกษาคือการเข้าใจจิตใจของผู้คนให้มากกว่านี้ ถ้าผมมาเร็ว คงมองเห็นทางออกมากกว่านี้ ผมน่าจะทำอะไรได้หลายอย่างก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ”

“ไม่มีความรู้สึกว่าไม่น่ามายุ่ง?”

“ไม่มี ไม่ได้รู้สึกผิดอะไร รู้สึกว่าถูกต้องแล้วที่ทำ และน่าจะทำได้เร็วกว่านี้ ทำได้มากกว่านี้ ถามว่ากลัวไหม ผมกลัวแน่ๆ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ากลัวเพื่อตัวเองมากไปหน่อย คือมันน่ากลัว แต่ถ้าต้องติดคุกแล้วทำให้คนเห็นเรื่อง ม.112 เป็นเรื่องสำคัญ​ เป็นเรื่องที่คุณต้องต่อสู้ ต้องรณรงค์ มันก็คุ้มนะ

“ผมไม่ควรจะต้องมาจบด้วยการติดคุก แต่เอาวะ ถ้าสังคมมันไม่มีทางเลือกจริงๆ ผมเขียนหนังสือข้างนอกกับเขียนหนังสือในคุกก็ไม่น่าจะต่างกันมาก ติดก็ติด ถ้ามันทำให้ชีวิตของประชาชนไทยดีขึ้นก็ยอมครับ”

…..

“สมมตินะครับสมมติ ถ้าเป็นฝ่ายเจ้า คุณจะแก้ปัญหานี้ยังไง”

“ผมพูดได้เพราะผมไม่ใช่เจ้า ถ้าเป็นเจ้าจริงๆ สิ่งที่ผมจะทำคือ ยอมรับความจริงว่านี่มันเป็นโลกสมัยใหม่แล้ว เป็นโลกที่การปกครองประชาธิปไตยมีสิทธิ มีเสียง มีพลัง มีอานุภาพที่ชัดเจนที่สุด ดีที่สุด โลกวันนี้คุณต้องทำทุกอย่างให้เป็นประชาธิปไตย อะไรที่ไม่ใช่ ต้องยอมรับ ต้องลด ต้องเปลี่ยนแปลง หลักๆ ก็เท่านี้ ประชาธิปไตยมีบทบาทไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แก้ปัญหาบางจุดไม่ได้ เช่น คนรวยคนจน แก้ไม่ได้ คนรวยยังมีอำนาจมากกว่าอยู่ดี แต่ว่ามันก็แก้ปัญหาหลายเรื่องได้ คนจนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีที่ดิน เรายังพอแก้ไขได้

“ผมมองว่าเจ้าคือปฏิทินของปีที่แล้ว มีบทบาท มีหน้าที่ที่ดีเมื่อปีที่แล้ว ใช้บอกวันที่ บอกวันเวลาได้ แต่มาถึงวันนี้ ปีนี้ เป็นของข้ามปี ของเก่า ถ้าคุณเอามาใช้มันยิ่งผิด ทำให้หลายอย่างผิดตามไปด้วย คนเป็นเจ้าควรเข้าใจตรงนี้ ปัญหาอย่างหนึ่งคือถ้าเจ้าผิด คนที่จะแก้ได้คือเจ้าเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละ เจ้าไทยยากที่จะยอมรับว่าตัวเองผิด”

“วิธีที่ดีที่สุดตอนนี้คืออะไร”

“หาปฏิทินปีใหม่มาใช้ หรือต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่านี่คือวันนี้ ปีนี้ หรือปีหน้า ปฏิทินก็ต้องใช้ให้ถูก จะไปหยิบแผ่นเก่ามาใช้ได้ยังไง คุณต้องเลือกให้ถูกยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง ขยับตามกันไป ไม่ใช่หยุดขวาง อย่างในหลวงรัชกาลที่ 5 หลายอย่างท่านก็ไม่ทำตามรัชกาลที่ 4 เพราะนั่นคือปฏิทินของปีที่แล้ว ท่านมีวิธีใหม่ๆ เราไม่รู้ว่าท่านเลือกใช้เองหรือถูกบังคับให้ใช้ ผมก็ไม่รู้ อาจถูกสถานการณ์บังคับจนปฏิเสธไม่ได้ แต่อย่างน้อยท่านก็ใช้ถูกปี

“บางทีผมคิดถึงเจ้าญี่ปุ่นขึ้นมา คือญี่ปุ่นมีเจ้า และเจ้าอยู่ใต้กฎหมาย เปรียบเทียบกับลาวซึ่งตอนนี้ไม่มีเจ้า ผมรู้สึกว่ามีเจ้าอย่างญี่ปุ่นดีกว่าไม่มีเจ้าแบบลาว นึกออกใช่ไหมครับ สรุปคือมีหรือไม่มีไม่ใช่ประเด็น 

“ไม่มีใช่ว่าสังคมจะดี เจ้าไม่ใช่ตัวแปร อยู่ที่ฉันทาคติของสังคมนั้น แต่ถ้ามี มันจำเป็นที่เจ้าต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม เมืองไทยวันนี้เจ้าเป็นปัญหาแน่ๆ ปฏิเสธไม่ได้ ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ด้วย ใหญ่ที่สุดไหม ไม่รู้ แต่ใหญ่มาก เจ้ามีอำนาจมากเกินไป ทั้งในทางกฎหมายและความเชื่อ”

“งบประมาณแผ่นดินแต่ละปี คุณคิดว่าเจ้าใช้เงินมากไปไหม ใช้เหมาะสมแล้วหรือเปล่า”

“โคตรจะมากเลย พูดในฐานะคนจน คือคนจนเห็นคนรวยก็อิจฉาอยู่แล้ว เป็นความคิดของคนจน แต่ไม่รู้จะว่ายังไง แค่เห็นนายทรัมป์ คุณก็รู้สึกและไม่ชอบลึกๆ อาจไม่ชอบเพราะความรวยก็ได้ แต่ต้องลงรายละเอียดไปอีกว่าเพราะอะไร นี่คือนายทรัมป์ คุณไม่ชอบ คุณด่าได้ นินทาได้ ไม่ยกมือต้อนรับ หรือถุยน้ำลายใส่พื้น แต่กับเจ้ามันไม่ใช่”

“คิดเห็นยังไงกับข้อเรียกร้องสิบข้อของกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์”

“กฎหมายเป็นความรู้เฉพาะด้าน ต้องศึกษาลงลึกอย่างชัดเจนก่อน ผมไม่กล้าพูดตอนนี้ว่าผมเห็นด้วยทั้งหมดหรือเปล่า ที่แน่ๆ ข้อสิบ เห็นด้วยว่าน่ายกเลิกที่สุด คือห้ามไม่ให้ลงนามรับรองคณะรัฐประหาร มันชัดเจน เข้าใจง่าย กษัตริย์ต้องไม่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร ไม่ว่าจะสนับสนุน เห็นด้วย หรือลงนาม”

บินหลา สันกาลาคีรี เป็นนักเขียน แต่สมมติว่าเขาเป็นฝ่ายเจ้า และมีคนหนุ่มสาวถูกจองจำด้วยโทษสาหัสสากรรจ์เพียงเพราะการพูด ผมถามเขาซ้ำๆ อีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรกับการเมืองไทยวันนี้

“เอาว่าถ้าผมเป็นเจ้าในโรงลิเกก็แล้วกัน ประชาชนของผมเดือดร้อนลำบากขนาดนี้ ผมไม่อยากให้ประชาชนของผมต้องมาทุกข์ เพราะว่าถ้าประชาชนทุกข์ มันก็เหมือนกับมือที่ดึงกษัตริย์ไว้ ดูภายนอกเหมือนไม่เกี่ยวกัน เพราะสถาบันกษัตริย์อยู่ข้างบน ประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่ถ้าคุณมองให้เห็นมือที่มองไม่เห็น คุณจะรู้ว่าทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันหมด ถ้าคุณโดนมือเป็นล้านมือดึงมือคุณขนาดนั้น ผมว่าสุดท้ายคุณก็ขยับไม่ออก คุณหนีไปไหนไม่ได้ แล้ววันหนึ่งคุณก็จะล้มลงมาอยู่กับที่ราษฎรยืนอยู่นั่นเอง คือกษัตริย์กับราษฎรก็อยู่บนพื้นเดียวกัน”

…..

ช่วงสายๆ ของวันที่ 11 เมษายน ‘ศิษย์เก่าไรท์เตอร์’ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ทำหน้าที่พลขับพาบินหลาออกจากเมืองน่าน มุ่งสู่นครสวรรค์ กาญจนบุรี และปลายทางคือสงขลา ที่เข้าใจว่าราวสักปลายเดือน เขาน่าจะกลับถึงบ้าน

หลายความคิดคำพูดของเขายังค้างอยู่ในหัวผม เช่นเรื่องนี้

“ผมสนใจการเมืองเสมอ แต่ไม่เคยเอามาใช้ในงานเขียนเท่านั้นเอง ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ต่อให้คุณบอกว่าไม่สนใจ มันก็เข้าถึงตัวคุณ เป็นด้านหนึ่งของชีวิตที่เกี่ยวพันกับการเมือง ถ้าการเมืองดี ชีวิตเราก็มีปัญหาน้อยลง ถ้าการเมืองไม่ดี จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราแน่ เช่น ถ้าการเมืองเป็นเชื้อโรค เราก็ติดเชื้อโรคไปด้วย ถ้าการเมืองเป็นอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ร่างกายจิตใจเราก็จะพัฒนาไปด้วย ผมคิดว่ามนุษย์กับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ในร่างกายของทุกคน คุณหนีการเมืองไม่ได้ และคุณไม่จำเป็นต้องหนีมันด้วย เพราะมันอยู่รอบตัวเรา”

เชื่อมถึงเรื่องนี้

“ผมชอบอ่านข้อเท็จจริง มีความสุขกับการรู้เรื่องจริง เพราะมันอธิบายได้เยอะจากความจริง แต่พอความจริงถูกบิดเบือน เราจะไม่เข้าใจ เราจะหลงทาง อีกอย่างคือในเมืองไทย พระราชพงศาวดาร โดยศัพท์ตรงๆ ก็คือพงศา-อวตาร คือการลงมาเกิดของเทวดา กลายเป็นกษัตริย์ ฉะนั้น เป็นความชอบธรรมของเทวดาที่ต้องการปกปิดบางเรื่องไม่ให้มนุษย์รับรู้ ผมเข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเหตุผลของมนุษย์ที่จะปกป้องไม่ให้บรรพบุรุษเสียชื่อเสียง ตรงไหนปกปิดได้ก็ปิด แต่ว่าไม่ใช่หน้าที่เรา ผมอยากรู้ ผมพยายามอธิบาย อ่านให้มากที่สุด เพื่อหาความจริง สิ่งที่ได้มาอาจเป็นความสงสัย เป็นจุดจุดจุด เยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี เต็มไปด้วยปริศนาและน่าสนใจมาก น่าอธิบายให้ได้ว่าเป็นยังไง”

แต่ที่ยังค้างคา ติดอยู่ในใจมากที่สุด คือโครงเรื่องนวนิยายใหม่ที่เขาเล่าคร่าวๆ

อยากฟังต่อ อยากอ่าน เอาใจช่วยให้เขาแข็งแรง กลับมาเขียนได้หนังสือได้สำเร็จ

รอคอยวันนั้น วันที่ตัวละครในนวนิยายของเขาลุกขึ้นมาเดินบนหน้ากระดาษ พร้อมๆ กับจังหวะที่นักเขียนก้าวเดิน

ตัวเอกเป็นชายอายุห้าสิบเศษ เรียนหนังสือไม่จบ ไม่มีลูกเมีย กำลังพยายามสร้างหุ่นยนต์โดยการศึกษาด้วยตัวเองจากยูทูบ สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ควายรุกล้ำเข้ามากินต้นกัญชา ควายตัวนี้ใครทุบตีไม่ได้ ขายไม่ได้ ฆ่าไม่ได้ เพราะเป็นควายพระราชทาน เขาบอกว่าได้ไอเดียจากการเมือง เป็นการต่อสู้ของคนที่เหมือนสู้ไม่ได้ ทำไม่ได้ คนที่ไม่เคยเรียนจะสร้างหุ่นยนต์ได้ยังไง จะเอาชนะเทคโนโลยีชั้นสูงได้ยังไง

“ผมอยากจะบอกว่ามันทำได้ว่ะ ถ้ามุ่งมั่นจริง ศึกษาจริง อาจเริ่มต้นด้วยการเลียนแบบ เป็นการเรียนขั้นพื้นฐานมากๆ เลียนแบบไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งจะมีพัฒนาการไปเอง ฝึกจนเชี่ยวชาญ ลงมือทำจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ผมว่าเรื่องมันสวย ร่าเริง เหมาะกับวัยของผม

“ไอ้คนที่ว่ามันไม่จบแม้แต่อาชีวะฯ อายุห้าสิบกว่า ไม่มีลูกเมีย เป็นผู้แพ้สมบูรณ์แบบ อีกแง่หนึ่งก็คือตัวผมนี่แหละ ดูไม่เข้าท่า งี่เง่า แต่ถ้าเกิดคุณรู้จักตัวตน ได้คุย อาจพบว่า…”

…..

 

Fact Box

  • วุฒิชาติ ชุ่มสนิท เป็นชื่อจริงของ บินหลา สันกาลาคีรี เกิดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2508 ที่จังหวัดชุมพร
  • บินหลาคือชื่อนก สันกาลาคีรีคือชื่อเทือกเขาทางภาคใต้ เหตุผลที่เลือกใช้นามปากกานี้เพราะ “อยากให้รู้ว่า ผมบินมาจากที่ไหน”
  • เขาเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย ถูกรีไทร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครั้งที่สองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อีกสามสิบปีต่อมา เขาได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการบรรจุชื่อในฐานะศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  • ด้วยความฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ บินหลากางปีกโผบินจากห้องเรียนสู่โลกกว้าง เริ่มจากเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรและเขียนคอลัมน์ที่นิตยสาร ไปยาลใหญ่ เป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ มติชน 2 ปี จากนั้นรับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร ไปยาลใหญ่ 1 ปี แล้วกลับไปเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ ข่าวสด นาน 4 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว
  • มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กกว่ายี่สิบเล่ม ผลงานเด่นๆ ได้แก่ ฉันดื่มดวงอาทิตย์ (รวมเรื่องสั้น 2533), ดวงจันทร์ที่จากไป (สารคดีชีวประวัติพุ่มพวง ดวงจันทร์ 2536), หลังอาน (บันทึกการเดินทาง 2540), คิดถึงทุกปี (รวมเรื่องสั้น 2541), ดื่มทะเลสาบ อาบทะเลทราย (บันทึกการเดินทาง 2544), เจ้าหงิญ (รวมเรื่องสั้น 2546), ปุชิตา (นิยาย 2548) และ นกก้อนหิน (นิยาย 2552)
  • ปี 2548 ได้รับรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น จ้าหงิญ
  • ปี 2554 ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ‘นรา’ - พรชัย วิริยะประภานนท์ คืนชีพให้นิตยสาร ไรท์เตอร์ กลับมาโลดแล่นในวงการวรรณกรรม แม้ว่าจะปิดตัวลงในอีก 4 ปีต่อมา แต่เขาก็ยืนยันว่า “เป็นสี่ห้าปีที่มีความหมายกับชีวิตผมมาก”
  • ปัจจุบัน บินหลา สันกาลาคีรี ในวัย 56 ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา และยังมุ่งมาดปรารถนาที่จะกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง
Tags: , , , ,