17 ตุลาคม 2562 พรรค ‘อนาคตใหม่’ สร้างปรากฏการณ์สำคัญ เมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. และเลขาธิการพรรค ลุกขึ้นยืนอภิปราย พร้อมกับนำ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 70 เสียง อภิปรายและโหวตแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ) ซึ่งนับเป็นการพูดเรื่อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ครั้งแรกในสภาชุดนี้

ผลที่ตามมาก็คือพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ปิยบุตรถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พร้อมกับกรรมการบริหารพรรค 10 ปี จากข้อกล่าวหาเรื่อง พรรค ‘ยืมเงิน’ จากหัวหน้าพรรค ซึ่งปิยบุตรให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ภายหลังว่า การอภิปราย พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ครั้งนั้น น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญซึ่งนำไปสู่การยุบพรรค เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

สภาผู้แทนราษฎรว่างเว้นการอภิปรายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไประยะหนึ่ง หลังพรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่การเป็นพรรคก้าวไกล ตรงกันข้ามกับบนท้องถนน ที่ความเคลื่อนไหวว่าด้วยการ ‘ปฏิรูป’ สถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงและหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ 

ตลอดครึ่งหลังของปี 2563 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิต-นักศึกษาแทน และหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญก็คือ ‘ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์’ จนถึงวันนี้ แม้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดข้อเรียกร้องเรื่อง ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ ได้อีกแล้ว

กลางดึกวันที่ 1 มิถุนายน 2564 วันเดียวกับข่าวการออกหมายจับ ‘ลุงพล’ – ไชยพล วิภา ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ‘น้องชมพู่’ ปรากฏผ่านสื่อ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. สมัยแรกของพรรคก้าวไกล พาสภาผู้แทนราษฎร ‘ยกระดับ’ ไปอีกขั้น ด้วยการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย 2565 ในประเด็น ‘โครงการที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์’ และแผนบูรณาการใหม่ 3.3 หมื่นล้าน ไล่เรียงไปตั้งแต่โครงการในพระราชดำริ โครงการเทิดพระเกียรติ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ การจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา พร้อมกับปิดท้ายด้วยการยืนยันว่างบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ต้องตรวจสอบได้ และ ‘หน่วยรับงบ’ อย่างส่วนราชการในพระองค์ ก็ควรต้องเข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการงบประมาณเพื่อให้เกิด ‘ความโปร่งใส’

ทันทีที่เบญจาพูดจบ พายชาร์ตว่าด้วยงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ได้กลายเป็นรูปโปรไฟล์หลายคนในเฟซบุ๊ก งบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ และการอภิปรายครั้งนั้นก็กลายเป็นไฮไลต์สำคัญของการอภิปรายยาว 3 วันทันที

แล้ว เบญจา แสงจันทร์ คือใคร กล้ามาจากไหน ถึงได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายในพื้นที่รัฐสภา จนกลายเป็นที่สนใจชั่วข้ามคืนแบบนี้

ก่อนหน้าที่จะเป็น ส.ส. เบญจา แสงจันทร์ คือใคร ทำไมถึงตัดสินใจเริ่มเส้นทางก้าวมาสู่การเป็น ส.ส.

เป็นคนสนใจการเมืองมาตั้งแต่มัธยมปลาย และด้วยความที่อยู่ในสภาพสังคมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเมืองก็เป็นอะไรที่ไม่ค่อยอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากนัก ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนหรือพูดคุยกับใคร แต่ตัวเองเป็นคนที่เชื่อในพลังของการถกเถียงและการพูดคุย 

เราโตมากับกระดานสนทนาอย่างเว็บบอร์ดพันทิป ห้องราชดำเนิน เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แล้วก็เว็บบอร์ดประชาไท ซึ่งทั้งหมด ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด แต่ประเด็นในการสนทนามันค่อนข้างเปิดกว้าง เสรีมาก ทั้งในเชิงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทีนี้ พอเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 จากความที่เราตื่นตัวด้านการเมืองอยู่แล้ว ก็ยิ่งตื่นตัวมากขึ้น

พอตื่นตัวมากขึ้น ก็ตามอ่านงานวิชาการต่างๆ เจองานวิชาการของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรืออาจารย์คนอื่นๆ ไม่ว่าจะ อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ เกษียร เตชะพีระ หรืออาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

แล้วพอเสิร์ชไปเสิร์ชมา สิ่งที่ติดตาก็คือภาพของผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นผู้ชายเซอร์ๆ ใส่เสื้อเชิร์ตสีขาว กางเกงผ้าฝ้ายทรงลุง ขึ้นเวทีเสวนา แล้วก็แต่งตัวแบบแปลกตา ปรากฏว่าผู้ชายคนนั้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองประธานกรรมการบริหารของบริษัทไทยซัมมิท แล้วสิ่งที่เขาพูดนั้นน่าสนใจกว่า ก็คือการวิพากษ์ทุนนิยมไทยหลัง 14 ตุลาฯ ซึ่งก็ทำให้เราสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น 

หลังจากนั้น เราก็ติดตามเขามาตลอด ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของกลุ่ม ‘นิติราษฎร’ ซึ่งมีอาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล, อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอาจารย์ สาวตรี สุขศรี ซึ่งนิติราษฎรก็เป็นอีกกลุ่มที่เราติดตามฟังเกือบทุกครั้ง

สิ่งที่ทำให้เบญจาตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับอนาคตใหม่คืออะไร 

เริ่มมาจากสิ่งที่คุณธนาธรวิพากษ์ทุน แล้วก็ในหลายๆ เวที เขาพูดอะไรที่มันตรงใจเรามาก นั่นก็ตรงประเด็นกับสิ่งที่เราสนใจ อย่างการแย่งชิงทรัพยากรของคนในพื้นถิ่น 

ต้องบอกก่อนว่าเบญจาคือคนชลบุรี ซึ่งเราได้รับผลกระทบจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดมาตลอด จริงๆ เติบโตมาประมาณอายุ 20 เรียนจบ ทำงาน แล้วก็ประกอบธุรกิจส่วนตัว หลังจากนั้น ก็ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในชลบุรี ทำให้เห็นปัญหาร่วมกันของชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งก็คือการแย่งชิงทรัพยากรของคนท้องถิ่น กลายเป็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ สิ่งที่คุณธนาธรพูดเรื่องนี้เลยตรงใจเรา 

พอคุณธนาธร ประกาศเมื่อปี 2561 ว่าจะตั้งพรรค เราก็ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะสมัคร ส.ส. สิ่งที่บอกกับตัวเองคือ ฉันจะต้องเข้ามาเป็นสมาชิก อย่างน้อยเป็นอิฐก้อนนึงในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้เท่านั้น แล้วก็จะสร้างฐานเพื่อเปลี่ยนไปสู่การเป็นประชาธิปไตยด้วยอิฐก้อนนี้ 

สิ่งที่คุณธนาธรพูดถึงก็คือ ต้องการทำนโยบายยกเลิกระบบรัฐราชการรวมศูนย์ สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ทำลายทุนผูกขาด หรือโอบรับความหลากหลายทางเพศ ยาวไปจนถึงการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งก็ตรงกับความคิดเรามากๆ

อยู่มาวันหนึ่ง เราก็ตัดสินใจทำงานร่วมกับทีมงานของพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดชลบุรี ในที่สุด พอคุณธนาธรลงพื้นที่ คุณธนาธรก็เอ่ยขึ้นมาเลยว่า “คุณเบญอย่ารอคอยการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณจงมาเป็นส่วนหนึ่งของมัน แล้วก็บอกว่าคุณต้องทำมันด้วยมือคุณเอง” 

นั่นคือคำที่ก้องอยู่ในหูจนถึงวันนี้ค่ะ และนั่นมันคือจุดเปลี่ยนชีวิตของเรา เราก็เลยสนใจ แล้วก็สมัครลงเป็น ส.ส. ในขณะที่ตอนนั้น เราไม่มีความรู้สึกเลยว่า เราจะได้เป็น ส.ส. เพราะว่าลำดับของเราเอง ก็ไม่ได้อยู่ลำดับต้นๆ (ลำดับที่ 40)

ตัดสินใจยากไหมกว่าจะทิ้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แล้วมาลงเป็น ส.ส.

ยากมาก ความเป็นนักธุรกิจ ไม่เหมือนนักการเมืองอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองใดขึ้นมา คุณก็ต้องทำงาน ทำธุรกิจให้ได้ อันนี้คือความคิดของนักธุรกิจทั่วไป และไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล นักธุรกิจก็ต้องทำความเข้าใจและทำความรู้จักกับเขาให้ได้ เวลาที่เราพูดกันเรื่องนี้ เรื่องธุรกิจก็มีผลที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง และเวลาที่จะวิพากษ์พรรคการเมืองใด ก็วิพากษ์ได้ไม่เต็มปากนะ เพราะว่าเวลาทำธุรกิจ มันก็จะส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานเรา เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นฝ่ายบริหาร เราก็ต้องยอมรับ 

ใช้เวลาราว 1 เดือน ก่อนที่คุณธนาธรจะลงไปที่ชลบุรีในการตัดสินใจ ปรึกษาคนอื่นๆ รอบตัว คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. ซึ่งวันที่สมัคร ส.ส. ก็ต้องเลิกทำธุรกิจทั้งหมดทันที 

ในฐานะ ส.ส. สมัยแรก ภาพของการเป็น ส.ส. กับที่เคยคิดไว้กับที่ได้มาเป็นจริงๆ ต่างกันไหม

แตกต่างกันมาก (เน้นเสียง) ก่อนที่เราจะมาเป็น ส.ส. เราคิดว่านักการเมืองคือคนที่ทำประโยชน์ให้กับคนส่วนรวม และเป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชน ที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน แต่จริงๆ หน้าที่หลักคือออกกฎหมายหรือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ 

ทว่า ในช่วงเวลา 30-40 ปีที่เราโตมา เราอยู่กับสังคมและนักการเมืองที่มีภาพว่า ถ้าเป็น ส.ส. เขต ก็ต้องลงพื้นที่ พบปะประชาชน รักษาพื้นที่ ส่วนการเป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก็คงทำงานเชิงประเด็น ทำงานในลักษณะโครงสร้าง เพื่อนำเอาประเด็นเหล่านี้ไปแก้ปัญหาในสภา ในการออกกฎหมายที่ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

แต่พอวันที่เข้ามาเป็นนักการเมืองจริงๆ เรารู้สึกเลยว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา 2 ปี ระบบการเมืองไทยทำให้นักการเมืองขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ แล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้แข่งขันอย่างเสรี อีกทั้งยังมีระบอบเผด็จการที่ผูกขาดอำนาจอยู่อีก

บรรยากาศแบบนี้ทำลายโอกาสในการแข่งขันของคนที่อยากจะเข้ามาทำการเมือง แล้วก็กีดกันคนที่มีความฝัน อยากจะทำการเมืองด้วย อย่างที่เห็นตัวอย่างชัดๆ คือการกีดกันคนคุณภาพของพรรคอนาคตใหม่ออกไป ไม่ว่าจะคุณธนาธร อาจารย์ปิยบุตร หรือบุคลากรของอนาคตใหม่ในอดีตที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ภาพในวันนั้นกับวันนี้จึงต่างกัน

ภาพในวันที่เรามองอยู่ข้างนอก เรารู้สึกว่าภาพนักการเมืองคือคนที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนจริงๆ แล้วก็ออกกฎหมายเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่วันนี้ กลับเป็นภาพของความล้าหลังมากกว่า 

ถ้าเราได้ติดตามการเมืองมาตลอด 2 ปี เราก็จะเห็นเลยว่าในสภามีการต่อสู้กันเรื่องนี้ คือเราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าแล้ว แต่สุดท้าย ก็จะมีคนบางส่วน หรือระบอบบางส่วนที่พยายามที่จะกดทับแล้วก็ดึงรั้ง ฉุดประเทศให้กลับไปข้างหลังเสมอ

อะไรทำให้อยู่กับข้อจำกัดของสภาที่คุณบอกว่าเป็นเผด็จการได้ 

ตอนมาอยู่พรรคอนาคตใหม่ ความพลุ่งพล่านและพลังในการทำงานมันเยอะมาก ที่เราพูดกันบ่อยๆ ในเวลานั้นคือ อนาคตใหม่เหมือนดวงไฟแห่งความหวังในใจของผู้คน แล้วก็ถูกจุดขึ้นมาในเวลาที่สังคมมืดมิดที่สุด

พอมันเป็นประกายไฟแห่งความฝัน เป็นความหวังของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ก็จริง แต่สุดท้ายมันกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของเราคือ อนาคตใหม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังหายใจอยู่ แล้วยังส่งพลังมาถึงเราวันนี้ ก็เลยยังไม่รู้สึกหมดหวังกับสภาพสังคมมากนัก

หลายคนจดจำชื่อเบญจาได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่แล้ว ที่คุณพูดเรื่องกลุ่มทุนพลังงานผูกขาด ทำไมถึงสนใจในประเด็นนี้

เราตั้งใจจะพูดถึงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ไร้ประสิทธิภาพของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วก็เป็นเรื่องการวางแผนนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการยกสัมปทานโรงไฟฟ้าฟรีๆ ให้กับนายทุนพลังงานเจ้าหนึ่ง 

อีกสิ่งที่เป็นไฮไลต์จริงๆ ก็คือประเด็นเรื่องของการประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง และประมูลโครงการท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าเบญจาเป็นคนภาคตะวันออก และเป็นคนที่ติดตามผลกระทบพี่น้องประชาชน ที่เกิดขึ้นในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มาต่อเนื่องตั้งแต่ตอนตั้งพรรคอนาคตใหม่ จนมาอยู่พรรคก้าวไกลก็ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ต่างกันมาก

เพราะว่าการให้สัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับบริษัทนายทุนพลังงานเจ้านี้ก็เกิดขึ้นที่ภาคตะวันออก และยังมีการแจกสัมปทานในการถมทะเลท่าเรือ ซึ่งถือเป็นการสะสมทุนอีกรูปแบบหนึ่งของนายทุนพลังงานเจ้านี้ ด้วยการไปทำธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานเลย เราก็ติดตาม ตรวจสอบ พบความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในโครงการมากมาย แล้วก็มีข้อมูลที่ชวนให้สงสัยมาก ก็เลยสนใจเป็นพิเศษ

แต่ผลจากการอภิปรายรอบนี้ กลายเป็นว่าคุณถูกบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

จริงๆ เตรียมใจไว้แล้ว แต่ตอนแรกคิดว่าจะเป็นคุณประยุทธ์มากกว่าที่ฟ้อง เพราะว่าในวันที่อภิปราย เราเห็นแล้วว่าผู้ที่ลุกขึ้นประท้วงให้เราหยุดพูด ไม่ให้เราพูดต่อแบบราบรื่น ก็คืออดีตกรรมการบริหารของกลุ่มทุนพลังงานบริษัทที่เบญจากำลังพาดพิง ก็คาดการณ์แต่แรกแล้วว่าน่าจะไม่ชอบมาพากล แล้วมันซ่อนอยู่ในวาระเร้นลับอันนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องหรือดำเนินคดี

แต่เรายืนยันว่า ด้วยเจตนาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เอื้อกลุ่มทุน โดยไม่ผ่านการประมูล หรือไม่ได้นำเรื่องอื่นไปพิจารณาเพิ่มเติมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยจริงๆ 

เพราะฉะนั้น เจตนาที่เราทำ ทำไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และไม่ได้พุ่งตรงไปที่นายทุนพลังงานเจ้านั้น แต่เรากำลังตั้งคำถามว่า มันมีการแจกสัมปทาน มีการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานเจ้านั้นเกินจำเป็นไปหรือไม่ 

สิ่งที่คนพูดกันบ่อยๆ ก็คือ ไม่ว่าฝ่ายค้านจะพูดอะไรไป พอยกมือโหวตก็แพ้อยู่ดี เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้จริง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ดิฉันต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า ยังมีความหวังกับระบอบการเมืองในระบบรัฐสภา แล้วก็ยังคิดว่าระบบการเมืองนี้ยังเป็นความหวังให้กับผู้คน รวมถึงยังเชื่อมั่นในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ว่าเรารับมอบอำนาจจากประชาชน ในการปกป้องผลประโยชน์และอำนาจแทนเขา 

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าทำอะไรก็แพ้ ยกมือก็แพ้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราแพ้หรือชนะ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าถ้าเราแพ้แล้ว เราสู้ต่อหรือเปล่า 

คือถ้าเรายังสู้ต่อเพื่อประชาชน ถึงแม้จะแพ้กี่ครั้ง แต่เรายังยืนยันและยืนหยัดตัวตรง พร้อมที่จะสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาต่อ แล้วเราก็ไม่ได้ท้อถอย ถ้าสู้แล้วแพ้ ก็เริ่มต้นใหม่ สู้ใหม่ เท่านั้นเอง

ตราบใดที่พี่น้องก็ยังมีความหวัง และมีความศรัทธากับพวกเรา แล้วพวกเขาก็สู้กันอยู่ข้างนอกโดยไม่ได้เกรงกลัวอำนาจใดๆ ถึงจะถูกจับติดคุกก็แล้ว ถูกปิดปากไม่ให้พูดก็แล้ว ก็ยังสู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็สู้ต่อ ไม่ว่าจะแพ้กี่ครั้งก็ต้องสู้ 

อย่างเรื่องทุนพลังงาน คุณคิดไหมว่าสู้แล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้  

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแน่ๆ ก็คือ เรื่องนี้ สามารถพูดในสภาได้ เพราะพอเราอภิปรายแล้ว มีหลายคนมากที่เป็น ส.ส. หลายสมัย มาพูดกับเราเลยว่า “เฮ้ย ไม่มีใครกล้าพูดแบบนี้ ไม่มีใครกล้าพุ่งไปที่นายทุนคนไหนตรงๆ แบบนี้” เพราะที่ผ่านมาใช้กันแต่ชื่อย่อ แล้วก็บอกว่าบริษัทเจ้านั้นเจ้านี้

แต่นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนกัน ว่าเราไม่ได้เกรงกลัวกับอำนาจหรือว่าการปิดกั้นใดๆ จากผู้มีอำนาจเลย เราก็ตั้งใจว่าการอภิปรายครั้งนี้ ถึงแม้จะมีผู้ท้วงติงว่าพูดแค่บริษัท ก. ก็พอไหม แต่เรายืนยันว่าจะพูดชื่อเต็ม เพราะเราพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ 

ฉะนั้น ถึงจะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ แต่เป็นการบอกแล้วว่าเราสามารถพูดเรื่องนี้ ถกเถียงกันได้ วิจารณ์กันได้อย่างเสรี แล้วก็ตั้งคำถามกับรัฐบาลได้ด้วย ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานหรือนายทุนคนใดก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการรับประโยชน์หรือรับการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล 

แล้วอีกอย่างหนึ่ง การตรวจสอบแบบนี้ก็จะทำให้ความเข้มข้นของอะไรที่ไม่ชอบมาพากลนั้น ลดดีกรีลงไปได้ 

ในส่วนการอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นมาอย่างไร ทำไมเบญจาถึงมาพูดเรื่องนี้ได้ 

เราไม่ได้พูดครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เราอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มา 2 ครั้งแล้ว ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 เราตั้งข้อสังเกตในการใช้งบประมาณเพื่อดูแลม้าทรง และในส่วนที่เกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง รวมถึงเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีการใช้งบประมาณในส่วนนี้กว่า 600 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาแล้ว 2 ปี เรื่องพวกนี้ เรารู้สึกว่าควรต้องตรวจสอบได้ และหน่วยรับงบประมาณเองก็ควรต้องโปร่งใส 

เพราะฉะนั้น ในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ต้องยอมรับก่อนว่า จริงๆ แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถพูดถึงได้ สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงสถาบันฯ โดยที่เราบอกว่าเราอยากจะพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความจริงใจ และด้วยความมีวุฒิภาวะ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันไปในวงกว้างแล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง 

การที่สภาเอาเรื่องนี้มาพูด ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะว่าเป็นการพูดที่มีวุฒิภาวะ และพูดด้วยความปรารถนาดี 

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ก็คือการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากเงินภาษีของประชาชน เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้วในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ และกระบวนการทำงานของฝ่ายบริหาร 

เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่กล้าหาญ ไม่ใช่เรื่องที่เสี่ยงอะไร เป็นเรื่องปกติ ที่เราควรต้องพูดให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย และพูดถึงได้ในสภา 

คุณเลือกจะอภิปรายเรื่องนี้เอง หรือพรรคเลือกให้อภิปราย 

เลือกเองค่ะ อย่างที่บอกว่าเมื่อปี 2563 ก็ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนั้นไม่ได้ชัดเจนมากนัก เพราะไปจับรายประเด็น เพราะงบประมาณที่เกี่ยวข้อง อย่างที่อภิปรายไป มันไปอยู่ในกระทรวงต่างๆ กรมกองต่างๆ 

ปี 2563 เราพูดถึงงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำงบประมาณไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ มีการขอจัดสรรเข้ามาประมาณ 1,900 กว่าล้านบาท แต่สุดท้าย เรื่องนี้ ก็ไปซ่อนอยู่ในงบอีกกระทรวงหนึ่ง ดั้งนั้น เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบความโปร่งใสทุกบาท ทุกสตางค์ จากภาษีประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ

คุณรู้สึกอย่างไรกับปฏิกิริยาของสังคม ที่ ‘ตื่นเต้น’ กับการอภิปรายของคุณกลางดึกวันนั้น

เอาอย่างนี้ก่อน ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นี่คือการอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งแรกในสภา และในเวลาเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้น ตลอด 2-3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น กระแสธารของประชาธิปไตยมันไหลเชี่ยวมากขึ้น และมันไม่สามารถหยุดยั้งได้ ความรู้สึกเราเป็นแบบนั้น 

นั่นคือกระแสของคนภายนอกด้วย หมายถึงว่าการเคลื่อนไหวเองของนักศึกษา การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อนกันอยู่นอกสภา นี่คือความรู้สึกของเรา

ในวันที่เราอภิปราย อย่างที่บอกว่า การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 ก็เคยอภิปรายเรื่องพวกนี้ไปแล้ว เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติมาก แต่ว่าครั้งนั้นเราพุ่งตรงไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็เหมือนกับการตรวจสอบหน่วยงานรับงบอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แบบเป็นระบบงบประมาณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยตรง เพราะฉะนั้น วันนั้นเป็นการอภิปรายที่ตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิตตั้งแต่อภิปรายมา 

จริงๆ อภิปรายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้รู้สึกเหมือนกับอภิปรายครั้งแรก แล้วก็ตื่นเต้นมาก ถามตัวเองตลอดเวลาว่าเราจะอภิปรายจบไหม หันไปมองที่ประธาน ประธานก็จับไมค์บ่อยมาก แล้วก็มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่นั่งเล็ง พอเรามองไป เขาก็มองตาเรากลับ ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกเกร็งๆ 

แต่พออภิปรายจบก็โล่งมาก โล่งเสร็จ เราก็ยังไม่ได้ติดตามอะไร แต่ว่าทีมงานพรรคกับเพื่อน ส.ส. ในพรรค ก็ส่งข้อความมาว่า มีรีแอกชันที่คนสนใจมากในทวิตเตอร์ จนช่วงดึกๆ ของวันนั้น หรือเช้าวันรุ่งขึ้น คนก็ยังรีทวีตกันอยู่ เราก็กลับไปติดตาม แล้วเราก็ตกใจ 

ต้องบอกว่าภูมิใจ แล้วก็ดีใจ ยิ่งมาพบทีหลังว่าพายชาร์ตงบประมาณสถาบันฯ ของเรา กลายเป็นพายชาร์ตที่สะเทือนไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นมีมที่ทุกคนเอาไปใช้ เอาไปตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ เราก็รู้สึกว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ นี่คือสังคมแห่งความหวัง พลังแห่งการพูดคุย พลังแห่งการถกเถียง พลังแห่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นกระแสที่ไหลบ่าอยู่ในช่วงเวลานี้ นี่คือสังคมที่กำลังก้าวไปข้างหน้า

งงไหม ที่ไม่มีใครประท้วงเลย

งง (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ ต้องบอกอย่างนี้คือ เราพูดในเวลาที่ดึกมากแล้ว เพราะฉะนั้นหลายคนก็อาจกลับบ้านไปหมดแล้ว ก็จะมีแต่ประธานสภา ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาตอนกำลังเปลี่ยนประธานพอดี 

ก็จะเห็นท่านประธานจับไมค์ แล้วก็เห็นหลายๆ คนมองเราด้วยสายตาเกร็งๆ ตลอดเวลา ก็ตื่นเต้นมาก 

สิ่งที่คุณพูดพยายามบอกวันนั้น คือการยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถพูดถึงได้ในสภา และในอนาคต คุณก็จะพูดถึงอีกใช่ไหม 

อย่างที่บอกว่ามันควรจะต้องทำให้มันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่านี่คือหน่วยงานที่นำงบประมาณเหล่านี้ไปใช้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่ขอจัดสรรงบประมาณเข้ามา ควรจะต้องผ่านสภา แล้วก็ผ่านการตรวจสอบ ทำให้โปร่งใส แล้วก็นำเงินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่อย่างนั้น สิ่งที่เราอภิปราย ไม่ว่าจะการใช้งบประมาณไปทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หรือทำอะไรก็ตาม ที่ตั้งอยู่ตามสี่แยก ตามสะพานลอยแบบนี้ มันไม่ได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แล้วในช่วงเวลาที่ประชาชนลำบากยากแค้นมากขนาดนี้ หน่วยงานราชการต่างๆ เหล่านั้นกลับใช้งบประมาณส่วนนี้ 11 ล้านบ้าง 20 ล้านบ้าง รวมๆ กันแล้วหลายพันล้านนั้น ไม่ได้ทำอะไรให้เพิ่มมูลค่าเลย 

เพราะฉะนั้น ถ้านำงบประมาณในส่วนนี้ไปทำอะไรให้เพิ่มมูลค่า ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เช่น ซื้อวัคซีน จะเป็นเรื่องดีกว่าไหม สิ่งที่เราตั้งคำถามพวกนี้ เป็นสิ่งที่ที่ควรจะพูดได้เป็นปกติ เพราะเราก็ตรวจสอบหน่วยงานรับงบอื่นๆ เป็นปกติอยู่แล้ว 

อย่างสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กลุ่มกระทรวงเหล่านี้ก็มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อยู่ทั้งนั้น แต่พอมันเป็นงบประมาณที่มีชื่อ-นามสกุลต่อท้าย ก็ทำให้ถูกละเลย ไม่ถูกตรวจสอบโดยสภา แล้วก็มีการตั้งข้อสังเกตให้ชวนสงสัยค่อนข้างมาก กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะมาก 

ดังนั้น การที่ทำให้เรื่องเหล่านี้โปร่งใสตั้งแต่แรก ก็จะทำให้หน่วยงานรับงบโปร่งใสตามด้วย แล้วก็จะไม่ส่งผลด้านลบ ไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ดีขึ้นด้วย เรื่องนี้เราจึงต้องพูดให้ชัดว่าสิ่งที่เราทำคือการปกป้องพระเกียรติ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ถามจริงๆ คุณคิดว่าเขาจะเลิกทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติราคาแพงไหม 

ก็คงมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น นี่คือความเปลี่ยนไป เพราะว่าการระวังก็อาจจะดีและไม่ดี ไม่ดีก็คือ อาจเอาไปซ่อนในงบอื่นๆ ทำให้เราตรวจสอบลำบาก แต่ว่าข้อดีก็คือ เมื่อเรามีการตรวจสอบที่เข้มข้น การที่จะขอจัดสรรงบประมาณอะไรเข้ามาที่ไม่มีความจำเป็น หรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือกระทรวง กรม กองต่างๆ มันก็ควรจะต้องมีการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

คุณปิยบุตรเคยให้สัมภาษณ์ The Momentum ไว้เมื่อหลายเดือนก่อนว่า การพูดเรื่อง พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ได้กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ คุณคิดไปถึงขั้นว่าพูดเรื่องนี้จะอันตรายกับพรรคไหม ถ้าเกิดพูดเรื่องนี้มากๆ แล้วจะซ้ำรอยเดิมอีก

มันคือการที่เรารับมอบอำนาจของพี่น้องประชาชนมา แล้วเราทำแทนพี่น้องประชาชนในลักษณะของการตรวจสอบงบประมาณ ถามว่ามีคนพูดไหมว่าเสี่ยง มีคนพูดแน่นอน แต่หลังจากการอภิปรายงบประมาณในวันนั้นจบไปแล้ว นอกจากมีคนที่เป็นกลุ่ม ‘หัวก้าวหน้า’ โทรมาให้กำลังใจ ก็ยังมีกลุ่มรอยัลลิสต์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่น้อยที่โทรมาชื่นชม พร้อมกับบอกว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอให้ทำต่อไป แล้วขอให้ติดตามตรวจสอบเข้มข้นแบบนี้ต่อไป 

แล้วเพื่อนเราหลายๆ คนที่เป็นรอยัลลิสต์ก็โพสต์เฟซบุ๊กด้วย เขาบอกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เขาไม่เคยชื่นชมพรรคเราเลย (หัวเราะ) เขาก็มีแต่พูดโจมตี พูดว่าร้ายเรา แต่ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาชื่นชม แล้วเขาก็บอกว่าอยากให้เราทำแบบนี้ มีแต่พรรคนี้ที่ปกป้องและเทิดทูนสถาบันจริงๆ ด้วยการทำให้เรื่องนี้โปร่งใส ไม่ทำให้สถาบันถูกนำไปแอบอ้าง และถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่สาธารณะ 

เพราะฉะนั้น จึงยังไม่คิดไปถึงขั้นว่าจะยุบพรรค เพราะเรามองว่า ไม่ใช่แค่คนที่เป็นผู้สนับสนุนเรา แต่คนที่ไม่เคยเห็นด้วยกับเรา หรือว่าคนที่ต่อต้านเรามาก่อน ก็หันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ 

ต้องยอมรับว่ากระแสคนไม่เห็นด้วยมีน้อยมากจริงๆ ถามว่ากระแสในโซเชียลต่อต้านเรื่องที่เราพูดบ้างไหม มี แต่เท่าที่เห็นก็ต้องบอกว่ามีน้อยมาก เพราะฉะนั้น ยังไม่คิดว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคอีกรอบ

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลก็จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อในชั้นกรรมาธิการในวาระ 2 วาระ 3 ใช่ไหม

จริงๆ แล้ว เราก็เคยพูดในชั้นกรรมาธิการ แต่เสียงมันอาจไม่ดังพอ แล้วคุณธนาธรเองก็พูดเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้วด้วย ปีนี้ เราก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึง เพราะว่าปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณเหล่านี้มาจากหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนทั้งนั้น  

ฉะนั้น การจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลเองควรที่จะต้องมีการคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และการที่เราต้องไปตรวจสอบ เพื่อที่จะตัดงบประมาณ ไม่ว่าจะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืองบประมาณที่เกี่ยวข้อง 5 ข้อหลัก ก็ควรจะต้องพูดถึงได้ 

มีคนพูดว่า ท่าทีในสภาของเบญจา เป็นเรื่องคู่ขนานกับบนท้องถนนที่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ คุณมองว่าอย่างไร 

ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่พูดได้ หากเราพูดถึงด้วยความปรารถนาดี พูดถึงอย่างมีวุฒิภาวะ สิ่งที่น้องๆ ทำกันอยู่นอกสภาโดยส่วนใหญ่ เราก็ไม่ได้เห็นว่ามีตรงไหนที่เป็นการแสดงออกถึงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย

เพราะฉะนั้น ถามว่าเป็นการหยิบยกเอาเรื่องนั้นมาทำหรือเปล่า การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนอาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ในสภา เราติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงไม่ใช่ประเด็นว่า พอเขาเคลื่อนไหวกัน เราค่อยหยิบเรื่องนี้มาพูด 

เอาจริงๆ ปี 2562 ตอนที่เราเข้ามาเป็น ส.ส. เราก็ตั้งใจกันไว้อยู่แล้วว่างบประมาณต้องตรวจสอบได้ทุกงบ ไม่ได้คิดว่าจะไปตรวจสอบงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อย่างเดียว สมมติมี 500 กระทรวง กรม กอง เราก็ต้องตรวจสอบทุกหน่วยงาน นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่เข้ามาเป็น ส.ส. ครั้งแรก ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรายังยืนยันว่าเรื่องนี้พูดถึงได้ แล้วเราก็ยืนยันมาตลอดว่าการปฏิรูปต้องไม่เท่ากับการล้มล้าง การปฏิรูปคือการทำให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้น ในช่วงสมัยที่ กปปส. ออกมาบอกว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั่นก็คือการล้มล้างการปกครอง ถือเป็นความผิดใช่ไหม 

ในฐานะ ส.ส.พรรคก้าวไกล คุณคิดอย่างไร ที่ตอนแรกมี ส.ส. 80 คน แล้วหล่นหายระหว่างทาง ทั้งโดนซื้อ ทั้งย้ายพรรคจำนวนมาก จนตอนนี้เหลือแค่ 50 คนนิดๆ 

แน่นอน มันก็เหมือนเราขึ้นรถมาคันเดียวกันตั้งแต่แรก วันที่เราขึ้นมาเราก็ขึ้นมากัน 80 คน แต่เมื่อเวลาผ่านไป แต่ละคนก็มีความอดทน อดกลั้น ความพยายามหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะลงไปกลางทางก่อน ไปไม่ถึงจุดหมาย คนที่เหลืออยู่ คือคนที่พร้อมที่จะเป็นความหวัง แล้วก็พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน พร้อมจะไปที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ และรับปากกับประชาชนไว้ เพราะฉะนั้น ที่เหลืออยู่ 53 คน เราก็ยังยืนยันว่ายังเป็นปึกแผ่น 

จะไม่มีใครหายไปอีกใช่ไหม

อย่างที่บอกว่าเวลาที่ขึ้นรถมาด้วยกันมันก็มีบ้างที่ต้องถกเถียงกัน พูดคุยกัน แนวคิดแตกต่างกันออกไป ในระหว่างนั้นก็มีคนชวนลงรถบ้าง มีคนชวนไปทำอย่างอื่นบ้าง อาจจะเปลี่ยนแนวทางไปบ้าง เราก็อาจจะไม่ได้มั่นใจทั้ง 100% ว่า ทั้ง 53 คนนี้ จะเดินทางไปถึงเส้นชัยพร้อมกันทั้ง 53 คน 

แต่ ณ วันนี้ แล้วก็คาดว่าสมัยของรัฐบาลนี้ 4 ปี ถ้าอยู่ถึงนะ คาดการณ์ว่าเราจะต้องไปพร้อมกันถึง 53 คน ส่วนหลังจากนั้น ก็เป็นเรื่องที่ใครจะตัดสินใจลงระหว่างทางหรือไม่ หรือจะแยกทางกัน

คุณยังคุยกับคนที่ลงรถไปได้อยู่หรือไม่ ไม่ได้โกรธกันใช่ไหม

ยังคุยได้ค่ะ ยังคุยกันปกติ เราเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เห็นด้วยคือการที่ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการให้มันยังคงอยู่ อันนั้นเราไม่เห็นด้วย แต่ในเรื่องส่วนตัว เรื่องของการพูดคุยกัน ก็ยังพูดคุยกันได้ปกติ

กับพรรคพลังประชารัฐ เรายังสามารถพูดคุยได้เลย แล้วอย่างคนที่เราร่วมงานกันมา ร่วมเดินกันมา เราก็พูดคุยกันได้ แต่เป็นเฉพาะในเรื่องของส่วนตัวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นในเรื่องของการทำงาน หรือเรื่องอะไรที่เราคิดว่ามันหลุดหลักการ หลุดอุดมการณ์ของเราไป ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือการพูดคุย

คนที่ออกไปเขาวิจารณ์เรื่องชนชั้นในพรรค คนที่ใกล้ชิดกับคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค) หรือคุณชัยธวัช (ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค) เบญจาอยู่ชนชั้นไหน

คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตลกมาก เป็นเรื่องตลกร้าย เพราะว่าอะไร คือสภาพการเมืองในสภาและในพรรคมันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาเล่าออกไปตามสื่อเลย เอาเข้าจริงแล้ว พรรคอื่นๆ ที่เขาย้ายกันไปมีความเป็นชนชั้นมากกว่าด้วยซ้ำ

ต้องบอกว่าพรรคก้าวไกลเราอยู่กันแบบเพื่อนพี่น้อง แล้วก็เป็นครอบครัวด้วยซ้ำไป เราพูดเรื่องนี้กันหลายครั้งว่าจริงๆ มันไม่มีชนชั้นอะไรเลย เราก็คนธรรมดามาก คุณทิมก็นั่งคุย นั่งกินข้าวกับพวกเราตามปกติ

ขณะที่บางคน บางพรรค ต้องมีการ์ดเดินตามเป็นสิบคน ต้องมีคนคอยถือกระเป๋าให้ อย่างนั้นไม่เป็นชนชั้นหรือ ก็เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องตลกจริงๆ ที่มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะจากกันไป

คุณคิดว่ารอบหน้าจะลงเลือกตั้งอีกไหม

ตอนแรก ใจไม่ได้อยากลงเลือกตั้งแล้ว เพราะว่า ตั้งแต่ปี 2562-2563 เราผิดหวังไปแล้วจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็มีความรู้สึกว่าทำไมการเมืองสกปรกจังเลย ไม่อยากลง ส.ส. อีกแล้ว และก็ยังรู้สึกแบบนั้นเรื่อยมา ขณะเดียวกัน การเมืองก็มีแต่คนหน้าเก่า วนเวียนซ้ำเดิม ไม่ได้มีคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้น ยังมีอำนาจพิเศษ ที่กีดกันคนที่มีความฝันในการอยากทำการเมืองไม่ให้เข้ามาในสภา

แต่พอปี 2563 เรามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากช่วยกับเราขับเคลื่อนอยู่นอกสภา ทำให้เราได้เห็นความหวังจากความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ทำให้รู้สึกกลับมามีความหวังอีกครั้ง สิ่งสำคัญที่ทำให้กลับมามีความหวังก็คือ ถึงเบญจาจะไม่อยากลงอีกสมัย แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่อนุญาตให้เราไม่ลงแล้ว

โดยเฉพาะเวลาที่ไปสังเกตการณ์ในม็อบ หรือไปช่วยประกันตัวน้องๆ ที่ถูกจับ น้องๆ ก็จะเข้ามาบอกเสมอว่า อยากให้พี่เป็นตัวแทนของพวกเรา เป็นกระบอกเสียง เอาสิ่งที่ขับเคลื่อนกันนอกสภา ส่งไม้ต่อให้ไปพูดในสภา ใช้กลไกสภาเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้เขา ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่ก้าวหน้า หรือการช่วยพวกเขาขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ ทำให้บรรดาคนรุ่นใหม่ยังมีความหวังกับพรรคก้าวไกลอยู่ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันก็คือ เราหมดหวังได้ แต่เราจะต้องแบกรับความหวังของพี่น้องประชาชนข้างนอกสภาด้วย 

เอาจริงๆ ถึงตอนนี้ก็ยังตัดสินใจอยู่ว่าครั้งหน้าจะกลับมาลงอีกไหม โดยส่วนตัวก็อยากเฝ้ามอง อยากดูการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กับคนรุ่นใหม่ๆ ขณะที่อีกด้านก็มองเห็นว่า เรามีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถ มีศักยภาพมากมาย อยากให้คนเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยกัน 

นอกจากนี้ยังคิดว่า ถ้าเกิดว่ามีคนใหม่ๆ เข้ามาจำนวนมากพอ ถ้ามีคนมาสมัคร ส.ส. กับเราเยอะ และมีศักยภาพมากเพียงพอ ครั้งหน้า เบญจาก็อาจจะอยู่ช่วยเบื้องหลัง เพื่อทำงานขับเคลื่อนนอกสภา ขับเคลื่อนทางสังคมแทนดีกว่า

Fact Box

  • สูตรการคิดคะแนนการเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์เมื่อปี 2562 ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ สูงถึง 57 คน เป็นพรรคที่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 20 คนเท่านั้น และทำให้เบญจา ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 40 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.
  • เมื่อปี 2563 หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่นาน เบญจาคือผู้ที่ออกมาแฉว่ามีข้อเสนอ ‘ซื้อตัว’ เธอ ให้ย้ายพรรคมาแล้ว 3 ครั้ง โดยมีการเสนอมูลค่าสูงถึง 23 ล้านบาทต่อหัว
  • หลังการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และกลุ่มคนรุ่นใหม่ เบญจาถือเป็น ส.ส. ‘หน้าประจำ’ ในการเดินทางไปยังสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของเธอ ‘ประกันตัว’ ให้กับแกนนำและผู้ชุมนุมทุกคน เมื่อถูกดำเนินคดี
Tags: , , , ,