ก่อนหน้านี้คุณอาจคุ้นชื่อ เอ๋-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ในฐานะอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คุณอาจคุ้นชื่อเขาในฐานะ ‘เลขาธิการพรรคกล้า’ และคุณอาจคุ้นชื่อเขาในฐานะหนึ่งในแนวร่วม กปปส.

แต่วันนี้อรรถวิชช์นั่งเก้าอี้ตัวใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เขาสวมสูทกลับมานั่งตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รัฐมนตรีชื่อว่า ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และเปิดตัวทำงานร่วมกับพรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร เต็มตัว

“ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น แล้วเราก็ไม่เคยเห็นแบบนี้ แต่ว่าจนถึงตอนนี้ก็คิดว่ามันก็ดีเหมือนกัน ด้วยความที่เมื่อก่อนเราเสนอเอ เขาเสนอบี พอเราได้ทำงานร่วมกัน มันรู้สึกว่ามันอยู่บนโลกความเป็นจริง งานกฎหมายหรืองานบริหารก็สมูตขึ้น มันเหมือนกับ Check and Balance ไปในตัว”

ภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมของอรรถวิชช์คือ การทำงานในด้านที่เขาถนัดอย่างเรื่องกฎหมายอย่างเข้มข้น เขากำลังดันกฎหมายตั้งกองทุนใหม่ว่าด้วยการจัดการ ‘กากอุตสาหกรรม’ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับภารกิจผลักดันการตั้งองค์การ ‘ปาล์ม’ เพื่อจัดการพืชผลปาล์มในเชิงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร รวมถึงการดันกฎหมาย ‘สุรารวมไทย’ ปลดล็อกผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีที่ทางสู้กับรายใหญ่มากขึ้น

The Momentum นั่งคุยกับอรรถวิชช์ยาวๆ ถึงบทบาทที่กระทรวงอุตสาหกรรม ตัวตนของเขาและภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปกับ ‘พี่เอ๋’ แหล่งข่าวที่เราคุ้นเคย ให้ช่วยเล่าภารกิจของเขาให้ฟัง

ช่วยเล่าคร่าวๆ วันนี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม คุณทำอะไรอยู่บ้าง คุณสนใจประเด็นอะไรอยู่บ้าง

ผมเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีขิงซึ่งสนิทกันอยู่ก่อนแล้ว รัฐมนตรีขิงกับผมเห็นตรงกันว่า ขณะนี้มรสุมสําคัญที่สุดของผู้ประกอบการไทยคือ การทุ่มตลาดในสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานในเวลาเดียวกัน เมื่อมาตรฐานต่ำแล้ว ราคาก็ถูกตามไปด้วย ฉะนั้นโรงงานในไทยสู้ไม่ได้ โรงงานก็ต้องปิด หน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมคือต้องช่วยเขา

อุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญแห่งชาติ ถ้าเราไม่ช่วย เขาตายนะ รวมไปถึงการผลิตสิ่งของต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศ อุตสาหกรรมต่างๆ พวกนี้ก็ตายเหมือนกัน เพราะโดนการทุ่มตลาดจากของที่คุณภาพต่ำ ของหลายชิ้นขายในบ้านเราผ่านออนไลน์ ไม่ได้ขายในบ้านเขา แต่มาขายที่นี่ เพราะฉะนั้นเราสู้เรื่องมาตรฐานสินค้าให้มันขึ้นมาและป้องกันการทุ่มตลาด 

หนึ่ง คือมีการตั้งคณะกรรมการมีการตั้งทีม เราเรียกว่า ‘ทีมสุดซอย’ คือตรวจสุดซอยไม่มีเจรจา ตรวจอะไรบ้าง-ตรวจมาตรฐานสินค้า ไม่ให้มาตรฐานสินค้าต่ำกว่าที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนด ขณะเดียวกันใครที่เป็นคนเข้าใหม่ อยากจะนําเข้า การอนุมัติมาตรฐาน มอก.ต่างๆ ก็จะเร็วมากขึ้น คือพูดง่ายๆ เราไม่ให้มั่ว ถ้าเราปล่อยมั่ว คนดีในระบบจะหายไปทั้งหมด จะมีแต่คนสีเทาที่รวยขึ้น 

สอง คือเรื่องสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมคือกระทรวงที่สร้างมลพิษคนสำคัญ เพราะโรงงานทั้งหมดอยู่กับเรา ฉะนั้นเราเป็นปลายทางก็ต้องกำกับให้ดีที่สุด ก็จะมีการทำกฎหมายชื่อว่า กฎหมายกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นครั้งแรกที่ประเทศนี้จะมีกฎหมายฉบับนี้ในการกํากับเต็มรูปแบบ เชื่อมโยงหลายหน่วยงาน ผมรับหน้าที่เป็นประธานร่างกฎหมายฉบับนี้

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าโรงงานเกิดขึ้นในประเทศไทยเยอะ จากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ภูมิรัฐศาสตร์เขาฟาดฟันกันขณะนี้ โรงงานก็ไหลเข้าเมืองไทย เวลาไหลเข้ามา แม้โรงงานดีๆ ของจีนจะมีเยอะ แต่โรงงานแสบๆ ก็มาก 

ฉะนั้นต้องจัดการโรงงานพวกนี้ก่อน โดยเฉพาะโรงงานที่รับผิดชอบขยะพิษ กากพิษ ใครจะเชื่อว่า โรงงานพวกนี้ที่รับไปจัดการ รับเงินค่าธรรมเนียม กำจัดขยะด้วยวิธีขุดแล้วฝัง ฉะนั้น 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราจึงพบการลักลอบขุด ลักลอบฝังจำนวนมาก แล้วบริษัทพวกนี้ก็ได้ค่าบริหารจัดการไปแล้ว สุดท้ายมีการฟ้องดำเนินคดี มีคนถูกตัดสินจำคุก แต่หลายครั้งคนที่ติดคุกก็ไม่ใช่ตัวจริง ในขณะที่น้ำในแหล่งน้ำ ในหมู่บ้านนั้นจบเลย ความเสียหายยิ่งกว่า

กลายเป็นว่าบริษัทพวกนี้อาจรับค่าธรรมเนียมมาที่ 10 ล้านบาท แต่ถ้าจะกู้ความเสียหาย อาจเป็น 100 ล้านบาท ก็ไม่รู้จะกู้คืนมาได้ไหม เรื่องนี้กระจายทั่วประเทศไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แล้วถ้ายังมีเพิ่มอีก ประเทศไทยจะกลายเป็นที่ทิ้งขยะ เป็นที่ปล่อยสารพิษ โดยที่ไม่มีกฎหมายที่ทันสมัยมากพอเข้าไปจัดการ

ยกตัวอย่างกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เวลาที่โรงงานทําผิด เราสั่งปิดโรงงานแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมไปยุ่งอะไรไม่ได้เลย หมดอํานาจของเรา แต่ขยะก็ยังกองอยู่ 

ที่น่าสนใจคือ งบเยียวยาพิเศษของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด อยู่ที่งบฉุกเฉินจังหวัดละ 10 ล้านบาท แต่โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานกากพิษระเบิด แค่โรงงานเดียว 10 ล้านบาทก็ไม่พอแล้ว ต้องใช้เงินเป็น 100 ล้านบาท พอถึงเวลากระทรวงก็ไม่มีงบ ต้องของบฉุกเฉินจากนายกรัฐมนตรีก็ต้องใช้เวลานานอีก

เราจะเห็นได้ว่า พอโรงงานระเบิดโรงงานไฟไหม้ กากก็อยู่ตรงนั้น งบที่ทำได้ก็แค่ขุดคลอง ขุดคูรอบๆ ไม่ให้น้ำทะลักไปที่อื่น แต่ถามว่าถูกไหม ไม่ถูกหรอก

ฉะนั้นหน้าที่ของคุณคือ เขียนกฎหมายขึ้นใหม่ แก้ปัญหาเดิมๆ 

ใช่ เราเสนอให้จัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมฯ ที่ผมกำลังร่าง กองทุนนี้จะเข้าไปเยียวยาชาวบ้านที่เดือดร้อนก่อน หมดกี่บาท ไปจัดการมาก่อนเลย

จากนั้นเราจะเป็นโจทก์ฟ้องค่าเสียหาย ค่าเยียวยาจากโรงงาน ไม่ต้องรอให้ชาวบ้านฟ้อง พอปีถัดมา เราก็ตั้งงบประมาณ ของบประมาณคืนใส่กองทุน มันก็จะมีเงินหมุนอย่างนี้ เงินจ่ายออกไปก่อน แล้วกลับมาใหม่ 

ในเวลาเดียวกันกองทุนมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จะไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่นี้ แต่ยังทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการปล่อยกู้ เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ที่อยากให้กองทุนเข้าไปสนับสนุนบริษัทนั้นๆ ในเรื่องความยั่งยืนหรือ Sustainability พูดง่ายๆ คือสร้างธุรกิจใหม่ในเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

เราจะเป็น Funding ให้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมทุน การให้ทุน หรือการให้กู้ ขณะเดียวกันก็จะเป็นกองทุนในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น ทั้งเรื่องสารพิษ กากพิษ อีกด้วย

ตอนแรกก็ตั้งใจกันไว้ 4 เดือน แต่เราตั้งใจจะทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน เอาเป็นว่าต้นปีหน้า เราจะเขียนกฎหมายส่งให้ได้ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมนี้

ในประเทศเราจะพูดกันบ่อยว่าต้อง ‘กิโยตีนกฎหมาย’ ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น แต่สำหรับผม ผมมีทฤษฎีส่วนตัวที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีไม้เสียบลูกชิ้น’ สมมติเราจะเดินทางในเรื่องขยะ กากพิษ กฎหมายไหนที่เป็นอุปสรรค ก็เสียบเป็นลูกชิ้นให้หมดเอามาร้อย แล้วบอกว่ากฎหมายนี้จะไปถึงกฎหมายของการกำจัดกากอุตสาหกรรมกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายไหนที่มีอยู่แล้วก็ยกเว้นเสีย ไม่ต้องยกเลิก หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ แต่กฎหมายฉบับนี้เสียบลูกชิ้นหลายลูก ทั้งกฎหมายของการกำจัดกากในกฎหมายโรงงาน ในกฎหมายลูก กฎหมายด้านสาธารณสุข เรื่องขยะมูลฝอย เยอะมาก แต่ต้องเอามาร้อยทุกตัว เพื่อไปสู่เป้าหมาย

ภายใต้กองทุนใหม่ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน

เรารู้ว่ารัฐบาลไม่มีเงินตั้งกองทุนใหม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่อันที่จริงเรามีกองทุนเดิม กองทุนเอสเอ็มอีประชารัฐเดิมที่อยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดนะ ก็จะเอากองทุนนี้มาอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ เปลี่ยน-เพิ่มวัตถุประสงค์ลงไป ฉะนั้นรัฐไม่ต้องควักเงิน เพียงเอาของเดิม มาแปลงร่างให้ทำได้หลายฟังก์ชันมากขึ้นผ่านการแก้กฎหมาย

ปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมไทยตอนนี้เกิดปัญหาว่า เอสเอ็มอีสู้กับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศไม่ได้ โดนสินค้าจีนทุ่มตลาดลงมา ในมุมมองคุณประเทศไทยมีอำนาจต่อกรอะไรได้ไหม

ในโลกสมัยใหม่ เราไม่สามารถบอกเขา ไม่สามารถชี้หน้าว่า “ไม่ให้คุณเข้ามา” ไม่มีทางได้ สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างมาตรฐาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ เรื่องพวกนี้เป็นสิทธิในประเทศที่เราจะตั้งกําแพง เป็นการตั้งกำแพงผ่านมาตรฐาน และการปกป้องเรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้คือสิ่งที่รัฐมนตรีขิงกับผมเห็นว่าเป็นตัวจักรสำคัญ

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดให้ต่างชาติเข้ามา แต่สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำได้คือตั้งมาตรฐาน ฉะนั้นกฎหมายต้องทำให้ทัน ไม่ให้ตกเป็นเรื่องของลูกหลานคือ ถ้าเราช้าในห้วงเวลานี้ เราจะเป็นที่รับขยะ แล้วกฎหมายฉบับนี้ที่ผมดีไซน์เอาไว้ เราจะไม่ให้ทิ้งขยะในประเทศนี้ เช่น คุณสั่งขยะเข้ามา แล้วคุณบอกว่ามันเป็นอย่างอื่น วัสดุอุปกรณ์อย่างอื่น ผมไม่ให้

ผมจะระบุชัดลงไปเลยในกฎหมายว่า ผมจะให้นําเข้า Raw Materials อะไรบ้าง ผมไม่ให้คุณมานั่งเอาชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทั้งกอง พอใส่คอนเทนเนอร์เข้ามาบอกเป็น Secondhand แล้วคุณไปจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านในจังหวัดในภาคอีสาน มานั่งแกะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากญี่ปุ่นเพื่อจะเอาชิ้นส่วนสําคัญ แล้วที่เหลือเอาไปฝัง จนแหล่งน้ำทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะรู้ต่อเมื่ออีก 10 ปีข้างหน้า เราจะไม่ให้เกิดอย่างเดิมอีกต่อไปแล้ว

ตอนนี้เรื่องใหญ่อีกเรื่อง แบตเตอรี่รถอีวีที่กําลังทําในประเทศจีนแบตเตอรี่ที่เข้ามามันเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Second Life แบตเตอรี่ที่เอาเข้ามาเป็นแบตเตอรี่ปกติและ Second Life คือเอามาฟื้นเป็นชีวิตที่ 2 พอผ่านกระบวนการชีวิตที่ 2 ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำลาย 

ทั้งนี้หากเราไม่สร้างขั้นตอนในการทำลาย ทำได้เพียงแค่ฝัง ก็จะสร้างปัญหาให้กับคนในประเทศ สร้างปัญหาด้านสุขภาพ มนุษย์จะกลายพันธุ์ เด็กบางคนอาจมีปัญหาโครโมโซม บางคนอาจนิ้วกุด แล้วจะพิการในดีเอ็นเอ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำ ต้องเร่งแก้ ซึ่งผมกำลังศึกษากฎหมายจากญี่ปุ่นหลายฉบับ และอยู่ในระหว่างการทำกฎหมายเรื่องนี้

แสดงว่าเจออะไรที่อยู่ใต้พรมเยอะ

เยอะ เอาขึ้นให้หมดเที่ยวนี้ ผมยกตัวอย่าง เปิดโรงงานขอลายเซ็นทำใบอนุญาตในการทำลายกากอุตสาหกรรมหนักหน้าฉาก แต่พอไปตรวจโรงงานข้างใน เขาฝังกลบเลย นี่เราพร้อมถล่ม เรามีทีม ‘สุดซอย’ พร้อมถล่มเต็มที่

อีกเรื่องหนึ่งล่าสุดเราไปตรวจสายไฟที่คนไทยใช้อยู่ตามบ้านที่วางขายอยู่ พบว่าเกินกว่า 60% ที่ไปตรวจ ผิดมาตรฐานหมด พูดง่ายๆ คือรวมหัวทำให้ต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงว่ากลไกมีปัญหา

ถามว่าทำไมเป็นอย่างนี้ เขาบอกว่าตลาดจีนทุ่ม พอจีนทุ่มตลาด ก็ต้องทำมาตรฐานให้ต่ำกว่าสเป็ก แต่คำถามคือคุณมีสิทธิอะไรทำให้ต่ำกว่าสเป็ก

ก็ต้องทำความเข้าใจไปด้วยกันว่าผู้ประกอบการไทยอย่าไปลดสเป็กสู้กับเขา เราจะช่วยเรื่องการทุ่มตลาดเอง แต่คุณอย่าไปลดมาตรฐาน 

โรงงานบางโรงเหมือนกัน ไปตั้งโรงงานแล้วก็เก็บขยะ ย่อยขยะ ไปตั้งในเขตพวกคลังสินค้าทัณฑ์บน (พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นคลังสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร) หลายคนคิดว่าเราเข้าไปไม่ได้ จริงๆ เราก็เข้าไปได้เหมือนกัน 

เพราะฉะนั้น เราจะมีทีมบู๊ที่เข้าไปป้องกันการทุ่มตลาด ตรวจสอบมาตรฐาน ปกป้องผลประโยชน์ให้คนไทย ขณะที่ทีมกฎหมายก็ต้องแบ็กอัปข้อกฎหมายให้ปึ้ก นี่คือวิธีการทำงานของเรา

แนวทางการพัฒนาตัวอุตสาหกรรมใหม่ของไทย ที่เป็น New S-Curve ในฐานะที่คุณนั่งอยู่ตรงนี้ คุณคิดว่าควรทำอย่างไรดี เพราะอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่เหมือนจะอ่อนแรงลงแล้ว 

คือเราต้องพัฒนาให้มันเป็น อยู่ใน Supply Chain ของโลก เช่นสมมติว่าเขาทำสมาร์ตโฟนกัน ก็ต้องมีชิ้นส่วนหนึ่งจากไทยเข้าไปอยู่ในมือถือให้ได้

นั่นแปลว่า Local Content ทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ จะต้องไปอยู่ใน Global Issue ให้ได้คือ ทั่วโลกพูดกันเรื่องไหน ของไทยต้องเข้าไปอยู่ใน Supply Chain นั้น

ยกตัวอย่าง ทั่วโลกกําลังจะไปที่รถยนต์อีวี เอารถอีวีมาผลิตในประเทศ คำถามคือเรามี Local Content ไหม คนก็ไม่ได้ ของก็ไม่มี กระจัดกระจายไปหมด ฉะนั้นเวลาเราได้บีโอไอเข้ามา คำถามก็คือในขณะที่คนเข้ามาแล้ว ฟรีภาษี 8 ปี มาตั้งในนิคมในประเทศไทย เรามี Local Content อะไรให้เขาไหม

ตอนนี้คุณเอกนัฏกำลังทำสิ่งที่เรียกว่า นิคมเอสเอ็มอี คือขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนอยู่เยอะ รวมไปถึงนิคมของการนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยเราขอพื้นที่ 3% ในทุกนิคมอุตสาหกรรม ให้มีนิคมเอสเอ็มอีไปประกบในนิคมใหญ่ สมมติว่านิคมคุณมี 1,000 ไร่ คุณจะต้องมี 30 ไร่ ที่ให้เป็นนิคมเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างนิคมของ WHA ทำเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์อีวี เราขอเจียดพื้นที่ 3% ในราคาเช่าอัตราที่ถูกที่สุด ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่นี้ ไม่ว่าจะทำโครงรถ ทำเบาะรถยนต์ ก็ต้องเข้ามาอยู่ในนี้ให้ได้

ก่อนหน้านี้ก่อนผมเข้ามา คุณเชื่อไหมว่าโรงงานจีนมาตั้งเมืองไทย เขาสั่งโครงเหล็กมาเอง เสาสำเร็จรูป โครงสำเร็จรูป เอาเข้ามาทำเองในไทย เพราะว่าเวลาคุณนำเข้าเหล็ก ถ้าเป็นรูปพรรณมันต้องผ่าน มอก. แต่ถ้ามาเป็นต้น มาเป็นเสา ไม่ต้องมี นั่นแปลว่าเขาก็ศึกษาเหมือนกัน ซึ่งเราไม่ได้อะไรเลย แทนที่ช่างเชื่อมจะได้งาน จะได้ขายเหล็กในประเทศ ก็กลายเป็นไม่ได้ 

อีกส่วนก็คือ ความท้าทายใหม่ๆ ต้องดึงให้ค่ายรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นที่กระทบกับอีวีจากจีน ขณะนี้ ค่ายรถยนต์ใหม่ๆ พาร์ตเนอร์เก่าจากญี่ปุ่นที่เงื่อนไข สิทธิประโยชน์บีโอไอกำลังหมด รัฐมนตรีขิงเพิ่งไปคุยมาเป็น 10 เจ้าให้เขาอยู่ต่อ แล้วก็ต้องมีมาตรการช่วยให้เขาอยู่ต่อ ตอนนี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการดึงรายเก่าให้อยู่ แล้วก็สร้างธุรกิจ New S-Curve ให้เกิดใหม่ 

อีกเรื่องคือทำสินค้าเกษตรให้กลายเป็น Supply Chain ที่เราจะเริ่มต้นที่ตัวปาล์มน้ำมัน ผ่านการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ 

ปัจจุบันเรื่องปาล์มไม่มีเจ้าภาพ มีแค่คณะกรรมการปาล์มระดับชาติ แต่ไม่ได้มีองค์กรเข้ามาจัดการ ทั้งที่ปาล์มเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ครบวงจรได้ หากอ้อยเป็นพืชพลังงาน ปาล์มก็พืชพลังงานได้ เรารู้เลยว่า 2 ตัวนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ทำไมปาล์มกลับไม่ถูกกำกับเต็มรูปแบบ ครั้งนี้เราจะกำกับเต็มรูปแบบตัด ‘คนกลาง’ ออก

ผมบอกได้เลย สินค้าประเภทเดียวที่ขึ้นแล้วผมแฮปปี้คือน้ำตาล น้ำตาลขึ้นราคา 1-2 บาทต่อถุง ที่พวกเราบริโภค เกษตรกรได้เต็มๆ เลย เพราะไม่มีคนกลาง เพราะฉะนั้นถ้าปาล์มเป็นอย่างนั้นได้ จะเป็นอย่างไร 

แล้วอ้อยยังได้แค่เอทานอล กากน้ำตาล ชานอ้อย แต่ปาล์ม นอกจากเป็นน้ํามันปาล์มแล้ว ยังไปเป็นเครื่องสําอางได้หลากหลายประเภท เป็นไบโอพลาสติกได้ เป็นสีเคลือบยูรีเทนได้ เป็นยาปราบศัตรูพืช เป็นยาฆ่าหญ้าได้ด้วย

ผมเลยคิดว่า ถ้าผมทำเรื่องปาล์มขึ้นมาเป็น สำนักงานคณะกรรมการปาล์มได้เหมือนอ้อย เราจะมีธุรกิจ New S-Curve ขึ้นอีกมหาศาล เพราะไทยปลูกปาล์มมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังส่งออกไม่มากนัก แปรรูปไม่มากนัก ถ้าแปรรูปอย่างเป็นระบบ นี่ละอุตสาหกรรมนำการเกษตร

ตัวนี้ก็จะออกมาเป็นพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันซึ่งกำลังทำอยู่ ก่อนหน้านี้หลายคนพยายามจะทํา แต่ไปมองกลไกเหมือนกระทรวงเกษตรฯ ไปมองเหมือนพืชเกษตรที่ต้องได้รับการดูแลรวมกลุ่ม ซึ่งก็ดีนะครับ แต่ผมจะใส่ให้ครบในมุมว่าเอาอุตสาหกรรมนำการเกษตรอย่างไร เพราะเห็นอยู่ว่าน้ำตาลเป็นพืชพลังงานทำได้ ปาล์มก็พืชพลังงาน ทำได้เหมือนกัน

คิดว่ากฎหมายนี้จะผ่านได้เร็วขนาดไหน

สำหรับปาล์มก็จะเร่งสุดชีวิตให้ทันในสมัยประชุมนี้ (เดือนเมษายน) แต่หากไม่ทันก็จะยื่นภายในกลางปี ทั้งหมดก็เร่งสปีดเต็มที่ โดยยึดพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นแม่แบบ

คุณเร่งเรื่องนี้ เพราะฐานเสียงของรวมไทยสร้างชาติอยู่ภาคใต้หรือเปล่า

ใช่ ก็ต้องทำ พูดอีกก็ถูกอีก ฐานเสียงอยู่ภาคใต้ก็ต้องทำ มันเป็นโอกาสที่ว่าภาคใต้ก็เขาปลูกปาล์มเป็นหลัก ก็ทำทั้งหมดล่ะ แต่อันนี้ภาคใต้ได้ประโยชน์มากที่สุดและปาล์มจะเป็นอนาคตของภาคใต้

ถามในฐานะนักการเมือง ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน อยากให้คุณลองประเมิน 1 ปีครึ่งของรัฐบาล นับตั้งแต่สมัย เศรษฐา ทวีสิน ถึงสมัยนี้ คุณมองเห็นอะไรบ้าง

การร่วมรัฐบาลครั้งนี้เป็นรัฐบาลผสมที่ต่างคนต่างใช้ต้นทุนของตัวเองที่สูง เนื่องจากค้านกันมานาน งัดกันมานาน พอมันรวมกันเที่ยวนี้ ผมคิดว่าทุกคนก็ตั้งใจทำเพื่อประเทศ ใครอยู่กระทรวงไหน ก็ทำงานกระทรวงนั้นให้ดีที่สุด แล้วเดี๋ยวประชาชนจะเป็นผู้ตอบเองว่าใครมีผลงานหรือไม่

ที่รวมกลุ่มกันในซีกรัฐบาล ผมว่าก็รวมกันได้อย่างเหนียวแน่น เพราะไม่ก้าวก่ายกันกระทรวงใครก็คนนั้นรับผิดชอบงานคนนี้นะ คนนี้รับผิดชอบ แล้วก็ทําให้ดีที่สุด

แล้วที่สําคัญ เราไม่เกี่ยงว่าผลงานใครมาก่อน อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ต้องยอมรับว่า เป็นความประสงค์ของรัฐบาลเพื่อของพรรคเพื่อไทยที่จะแจก แต่สุดท้ายเมื่อแจกไม่ได้ ก็ต้องมาใช้กระบวนการแจกแบบของรัฐบาลลุงตู่ แต่ถามว่าเงินถึงมือประชาชนไหม ก็ถึง

สุดท้ายถึงประชาชนกลุ่มแรกที่ได้เงินจะได้จากบัตรลุงตู่ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) แต่ก็เป็นเงินที่รัฐบาลเพื่อไทยจัดสรรลงมา ซึ่งผมคิดว่ามันก็ดีนะ ไม่ต้องมาแยกมึงแยกกู ได้ทำให้ประเทศชาติเป็นหลัก

แต่ทีนี้รัฐบาลแบบนี้ ต้นทุนที่ใช้มันแพง เพราะแต่ละพรรคก็มีแฟนๆ ของตัวเอง เมื่อต้นทุนสูง ต้องทํางานให้เร็ว ต้องตอบโจทย์ให้ทัน เพราะว่าถ้าเลือกตั้งมันมา ก็คือเสียงจากประชาชนที่จะตอบ ผมคิดว่าอยู่ที่ผลงานนะ รัฐบาลนี้ไม่มีเวลาเอ็นจอย ไม่มีเวลาฮันนีมูนก็เห็นกันอยู่แล้ว

ถ้าให้วิเคราะห์ก็คิดว่า ยังคงรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น กฎหมายหลายตัว เวลาเข้าที่ประชุมวิป ก็พบว่า การโหวตก็ไม่ได้ติดขัด ไม่มีการแย้งกัน พออยู่ด้วยกัน เลยได้คุยกันมากขึ้น

เราพบว่า การออกกฎหมายของรัฐบาลผสมครั้งนี้ค่อนข้างเมกเซนส์ อันไหนไม่ควรออกก็กล้าที่จะคว่ำ 

ส่วนตัวคุณเองอยู่มาหลายรัฐบาล คุณอยู่ในแวดวงการเมืองมานานกว่า 20 ปี มองรัฐบาลชุดนี้ เทียบกับสภาพการเมืองแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น แต่ว่าจนถึงตอนนี้ก็คิดว่ามันก็ดีเหมือนกัน ด้วยความที่เมื่อก่อน เราเสนอเอ เขาเสนอบี พอเราได้ทำงานร่วมกัน มันรู้สึกว่ามันอยู่บนโลกความเป็นจริง งานกฎหมายหรืองานบริหารก็สมูทขึ้น มันเหมือนกับ Check and Balance ไปในตัว

แต่ทั้งหมดก็ต้องยอมรับว่า อยู่ภายใต้ภาระหนักอึ้ง เพราะกระทรวงเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ขนาดกระทรวงอุตสาหกรรมยังขนาดนี้ ไม่รู้ว่ากระทรวงอื่นที่พรรคเพื่อไทยดูจะขนาดไหน แต่เราก็รู้หน้าที่ของเรา เรารักษาฐานผลิต แล้วในเวลาเดียวกับที่โปรโมตการสร้างโรงงานรถอีวีจากจีน ก็ต้องรักษาฐานการผลิตของยานยนต์ญี่ปุ่นไปด้วย แต่เท่าที่คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พิชัย ชุณหวชิร) ก็คุยกันรู้เรื่อง รัฐบาลภาพรวมก็ยังไม่มีอะไรที่คิดว่าเป็นรอยร้าวที่ทำให้เดินต่อไม่ได้ 

มีคนประเมินว่า พรรคก้าวไกลเป็นตัวเชื่อมให้คุณกับพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วยกันได้

ผมว่า (นิ่งคิด) เขาก็เป็นฝ่ายค้านนั่นละ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาในสภาฯ ก็ลงตัวนะ ประเด็นไหนที่เขาเห็นว่าไม่ดี เขาก็มาเสนอเรา เราก็แก้ไขไป 

ผมจะใช้คำว่าอะไรดี การไม่ ‘สุดโต่ง’ การนำสู่ภาคปฏิบัติจริง เป็นเรื่องสำคัญ การไม่สุดโต่ง ต้องปฏิบัติได้จริง แต่ต้องใหม่ ไม่ใช่อยู่ในวงจรเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ เราต้องอยู่ในโลกที่ปฏิบัติได้จริง 

กฎหมายหลายตัวของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิม ก็เป็นกฎหมายที่ซักฝั่งรัฐบาลเดิมก็เห็นเหมือนกัน แต่เราต่างกันในไส้ใน ฉะนั้นกฎหมายตัวของพรรคประชาชนก็ถูกคว่ำในสภาฯ ไปเยอะมาก แต่ไม่คว่ำก็ไม่ได้ เพราะมันสุดโต่งเกินไป เราเห็นปัญหาเหมือนกัน แต่เราแก้คนละวิธี ก็ต้องรอจนกว่าเขาจะขึ้นเป็นรัฐบาล 

ยกตัวอย่าง ผมร่างกฎหมายหนึ่งฉบับชื่อสุรารวมไทย ก้าวไกลก็มีกฎหมายของเขาชื่อสุราก้าวหน้า สมัยก่อน ก้าวไกลเขาชอบทำเบียร์ แต่ผมชอบสนับสนุนการทำสุราชุมชน เพราะสุราชุมชนคือการเอาพืชผลทางการเกษตรออกมาแล้วกลั่นออกมาเป็นสุราชุมชน ส่วนของเขาพูดเรื่องเบียร์ ให้เบียร์แข่งกับรายใหญ่ได้ ตอนยุคนั้นมันยังต้องนำเข้าฮอบส์ แต่เหล้าชุมชนมันเอามาจากพืชผลเกษตร บรั่นดีมาจากสับปะรด รีเจนซี่ก็มาจากสับปะรดกลั่นมา ฉะนั้นเรามองคนละมุม

แต่เรามีจุดร่วมคือเราเห็นปัญหาเรื่องการผูกขาด ก็ต้องแก้ไม่ให้ผูกขาด แต่เราไม่ไปแบบเขาที่ใครใคร่จะทำอะไรก็ทำ ต้มที่บ้านก็ได้ มีเครื่องกลั่นที่บ้านก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต ถ้าจะขออนุญาตก็ต่อเมื่อการค้าอย่างเดียว

ผมก็บอกว่าแบบคุณผมไม่เอา ถ้าเป็นแบบคุณ ผมจะแยกของดี-ของเลวในตลาดได้อย่างไร ของเลวก็มี ของดีก็มี แล้วมันทุ่มตลาดแข่งกัน อะไรคือมาตรฐาน ผมก็ไม่ไปวิธีเขา ผมก็ไปวิธีผม สุราก้าวหน้าก็โหวตตก สุรารวมไทยก็ผ่าน แต่พอผ่าน ก็มีคุณเท่าพิภพ (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน) มาเป็นกรรมาธิการ เขาก็รับฟัง 

เราทำการเมืองมา 20 ปี ถ้าเราทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ เมื่อสุดโต่งเกินไป เราไม่ได้ทำ เอาที่ได้ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศชาติดีกว่า คิดแค่นั้น 

ต่อจากนี้พรรครวมไทยสร้างชาติจะไปอย่างไรต่อ หลายคนประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่มีพรรคนี้ด้วยซ้ำ เพราะพรรคนี้ตั้งขึ้นมาให้ ‘ลุงตู่’ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นแคนดิเดตนายกฯ 

คือผมไม่ได้ร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติมาแต่ต้น ไม่ได้อยู่พรรคตอนที่พลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ มาอยู่ในยุคที่มีพี่ตุ๋ย-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค มีคุณเอกนัฏเป็นเลขาธิการพรรค ผมคิดว่ารวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ชัดเจนแล้วก็มีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน ผมคิดว่าหลายเรื่องของเขาเมกเซนส์ในมุมที่ผมคิดว่าไปได้ แล้วก็ต้องมีพรรคการเมืองแบบนี้ในประเทศไทย

คนเราคิดต่างกันได้ใช่ไหม บางอย่างเราอาจคิดแบบสุดขั้วทางใดทางหนึ่ง แต่ผมว่ารวมไทยสร้างชาติไม่สุดขั้ว เราคุยได้ เจรจาได้ แต่เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เราชัดเจน

สำหรับผม เรื่องที่ไม่ควรแตะ อย่าไปแตะให้ปวดหัว เรื่องที่ต้องแตะให้ปวดหัวยังมีอีกเยอะ 

คุณยืนยันใช่ไหมว่า พรรคนี้ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ 

คงไม่ใช่แล้วละครับ เพราะลุงตู่ก็ไม่ได้อยู่ในพรรคนี้แล้วใช่ไหม แล้วตอนผมเข้า ก็ไม่ได้เข้าเพราะลุงตู่ ผมเข้าเพราะผมเชื่อในคุณพีระพันธุ์ แล้วคุณเอกนัฏก็ทำงานได้ เป็นคนที่ทำงานได้มันคนหนึ่ง ผมก็คิดว่าทั้งพี่ทั้งน้องเราเขาทำงานจริง เราก็เดินได้

บางทีเดินเข้าพรรคการเมือง ก็ต้องดูว่าคนนี้ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้อย่าอยู่ ออกซะ เสียเวลา ถ้าคนไหนไม่ใช่ก็เปล่าประโยชน์ เพราะเวลาทำงานให้หลวง ไม่ได้เอาเงิน มันเป็นการทํางานให้ส่วนรวม

เอาจริงๆ วันนี้เห็นหน้าคุณ หลายคนยังนึกถึงพรรคกล้า คุณถอดบทเรียนจากพรรคกล้าอย่างไร

ผมภูมิใจเสมอนะที่ผมตั้งพรรคกล้า ความน่าเสียดายของพรรคกล้าเป็นเพราะตอนนั้นเราตั้งบนระบบ ‘บัตรใบเดียว’ ซึ่งบัตรใบเดียว คนที่ได้เป็นนักการเมืองจะมีโอกาสเป็น ส.ส.ค่อนข้างมาก ผมอยากเห็นแบบนั้น แล้วถามว่าพรรคอนาคตใหม่ เขาก็เกิดจากบัตรใบเดียว พรรคพลังประชารัฐรอบแรกก็เกิดจากบัตรใบเดียวเหมือนกัน

บัตรใบเดียวทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ ทำให้คนแต่ละคนบอกได้ว่า สเตอริโอไทป์ของตัวเองเหมาะกับพรรคแบบไหน แต่พอมันกลายเป็นบัตร 2 ใบก็จบ หมดโอกาสของพรรคกล้า เพราะเรารู้แล้ว มันต้องไปสู่บ้านใหญ่ มันต้องไปสู่การเมืองที่มีก๊วน มีกลุ่ม มีฐานการเมืองแต่เดิม ไม่อย่างนั้น คุณก็ไม่ชนะเลือกตั้ง

ทั้งหมดเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ผมคิดว่าไม่ควรแก้ แต่ผมภูมิใจเสมอที่ผมตั้งพรรคกล้า ผมลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาแล้วตั้งในสิ่งที่ผมเชื่อ มาวันนี้ผมคิดว่า สิ่งที่ผมเก็บมาตลอดคือประสบการณ์ตอนที่ผมอยู่ที่พรรคกล้า 4-5 ปี ได้ลงไปคุยกับชาวบ้าน คุยกับเอ็นจีโอ ทำกฎหมาย ทีมงานของผม ลงไปล่ารายชื่อให้ครบหมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย โคตรยากลำบาก 

ผมทำกฎหมายเครดิตบูโร ไปเจอพี่ตุ๋ยถามว่า “เอ๋ได้กี่รายชื่อแล้ว” ผมบอกว่าได้มา 5,000 กว่า พี่ตุ๋ยบอกไม่ต้อง เอา ส.ส.พรรครวมไทย 20 คน เข้ากรรมการบริหารพรรคจบ เซ็นมา 30 กว่าคน แถมมาให้ด้วย ยื่นได้เลย เข้าสภาฯ ไปเรียบร้อย เตรียมบรรจุวาระ

แกก็บอกเอ๋ เอาที่มีทั้งหมด มาช่วยพี่ นี่ผมดันกฎหมายไปหลายตัวแล้ว ทั้งสุรารวมไทย ก็เกิดขึ้นสมัยพรรคกล้า เครดิตบูโร ก็สมัยพรรคกล้า แล้วก็กฎหมายโซลาร์รูฟท็อป หรือร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผมร่างเสร็จแล้ว ก็ได้ข้อมูลจากการทำงานภาคประชาชน เรื่องกากอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องปาล์ม ก็เช่นกัน ทั้งหมดมาจากการสั่งสมการทำงานกับภาคประชาชน ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคกล้า ความมันของผมคือ ผมได้ทําในสิ่งที่ผมตั้งใจได้ทั้งหมดแล้ว

เอาจริงๆ การมารับตำแหน่งในรัฐบาลแพทองธารที่คุณต่อสู้มาตลอด เวลาคุณบอกกับแฟนคลับ บอกกับคนรอบตัว ปฏิกิริยาเขาเป็นอย่างไร

ผมบอกว่าผมทํางานของผม แล้วก็ผมทํางานของผมให้ดีที่สุด แล้วผมเชื่อว่า ถ้างานของผม งานของกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาดี ท่านนายกฯ ก็รับตามนั้น ผมคิดว่าท่านนายกฯ เอง ก็คิดเหมือนกัน ตัวผมเองเคยเจอตอนหาเสียงด้วยกันหนเดียว เคยได้คุยกัน 1-2 คำเท่านั้น ยังไม่เคยประชุมกับท่านอย่างเป็นทางการ

แต่ที่ผ่านมา อะไรที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ท่านนายกฯ ไม่เคยขวาง หรือเป็นอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น คือกติกาพรรคร่วมก็มี เราก็ทำของเราให้ดีที่สุด 

คือบางทีคิดมากก็ปวดหัวนะ เพื่อนผมก็ถามว่าเป็นอย่างไร เราก็บอก เราทำของเราให้ดีที่สุดพอ ฉะนั้น ก็มีโอกาสแล้ว ก็ทำให้ดีที่สุด 

พูดถึงหลักสูตรใหม่ที่ทำกับ ‘นิด้า’ ที่ทำเรื่องบีซีจี ทำไมถึงมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อเรื่อง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น เราต้องจบเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น เราทำหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (NIDA Bio Circular Green-Economy Executive Program: NIDA BCG) ซึ่งจะเริ่มเปิดเรียนในวันที่ 15 มกราคม 2568 ก่อนหน้านี้ เราอาจจะเห็นหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนมาก แต่ความจริงแล้ว ถ้าอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าใจง่ายที่สุด 

เพราะในมุมผมเรื่อง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) มันคือเครื่องมือกีดกันทางการค้าชัดเจน ในอดีตเราอาจเคยเห็นการกีดกันทางการค้าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงานทาสต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ ชัดแล้วว่าเขากีดกันกันด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม

จะมีภาษีตัวใหม่เรียกว่า Carbon Tax มาแทนการเก็บภาษีศุลกากร จะมีพิกัดสินค้าใหม่เกิดขึ้น เมื่อก่อนเราคุ้นเคยคําว่า Harmonize Code ที่เป็นพิกัดภาษีศุลกากรใช่ไหม แต่ปัจจุบันจะมีพิกัดใหม่ เป็นพิกัดสินค้าที่เกี่ยวกับคาร์บอนว่า สินค้านั้น ใครปล่อยคาร์บอนเท่าไร กี่ตัน ฉะนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับผู้ประกอบการโดยตรง

แล้วก็อีกในวันที่ 1 มกราคม 2569 จะเกิดการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคสําคัญ ซึ่งก็แปลว่าเหลืออีก 1 ปี 1 เดือน ที่จะมีการประกาศพิกัดสินค้าโดยบอกว่าสินค้านั้นจะปล่อยกี่ตันคาร์บอน แล้วจะเก็บภาษีตรงนั้น 

แปลว่าโลกกําลังจะเปลี่ยนจากภาษีศุลกากรปกติ ไปสู่การเก็บภาษีคาร์บอน เราเตรียมรับมือหรือยัง นักอุตสาหกรรมไทยเตรียมรับมือหรือยัง คำตอบคือยัง 

หลายคนบอกว่าสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่า สวยงาม โลกสวย สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โลกที่ดีขึ้นแต่หลักสูตรนี้ไม่ได้สอนเรื่องโลกที่ดีขึ้นอย่างเดียว แต่เรากำลังสอนว่า ในฐานะนักอุตสาหกรรม คุณจะสู้กับเครื่องมือกีดกันทางการค้าแบบไหน อย่างไร เราเอาวิทยากรมือฉมัง พี่ปืน (นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปลัดปั้น (ดร.ณัฐพล รังสิตพล) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีขิง รวมถึงผมเอง ก็จะเข้าไปพูด รัฐมนตรีพีระพันธุ์ก็จะเข้ามาพูดด้วย อีกทั้งยังมี อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มี รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แล้วก็ยังมี ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT มาร่วมอบรม

เพราะฉะนั้นทุกคนคือตัวจริงเสียงจริงหมด มาบรรยายและแชร์ประสบการณ์ ที่สำคัญคือเรายังทำแล็บให้ด้วย ถ้าสเกลใหญ่มาก วิธีการคิดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทใหญ่ (Corporate Emission) ที่ต้องใช้มือวิเคราะห์ฉมัง ก็มีมือวิเคราะห์ฉมังมาช่วยวิเคราะห์ หรือถ้าเป็นบริษัทเล็ก S หรือ M ก็มีโปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยคำนวณ

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์โลกขณะนี้ แม้ยังไม่มีการเก็บ Carbon Tax แต่ในปี 2569 จะเริ่มเก็บอย่างไร เพราะฉะนั้นทุกคนคือของจริงหมด 

อย่างที่บอก เราไม่ได้พูดในลักษณะชวนกันไปรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เราชวนมาคือสู้กับการกีดกันทางการค้า ถ้าประเด็นนี้เป็นมีด ก็แทงเข้าหน้าอกเลย 

ถ้าให้คุณประเมิน คุณคิดว่านักอุตสาหกรรมไทยพร้อมเรื่องพวกนี้แค่ไหน

ไม่พร้อมเลย คือองค์กรยักษ์ใหญ่หลายองค์กรยังต้องการคนมาแนะนํา ซึ่งเดี๋ยวในหลักสูตร ก็จะมีบริษัทที่พร้อมแนะนําท่านได้มาด้วย

คือคนไหนรู้เยอะ ก็รู้เยอะจริง คนไหนรู้เลยคือไม่รู้เลยจริงๆ ก็จะเอามาเจอกันครั้งนี้ จากรุ่นแรกก่อน ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าพูดแบบผมหรอกว่า นี่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าแต่ผมกล้าพูดมันคือมาตรการกีดกันการค้าแบบใหม่ ซึ่งนักอุตสาหกรรมต้องเอาตัวรอดให้ได้ และผลพลอยได้จากเรื่องนี้คือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 

เราจะไม่เริ่มต้นโจทย์กับการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่เริ่มต้นโจทย์ด้วยการสู้กับการกีดกันทางการค้าให้ได้ 

ในฐานะที่คุณมองเรื่องพวกนี้เป็นการกีดกันทางการค้า ไทยจะได้ประโยชน์กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างไร

สหรัฐฯ กีดกันจีน ประเทศอื่นก็ต้องเสียบแทน ในขณะที่เราก็อยากเสียบ เวียดนามก็อยากเสียบ แล้วใครพร้อมเสียบกว่ากัน ในขณะที่เราพร้อมเสียบ เราแต่งตัวพร้อมหรือยัง คุณมีเครื่องมือพร้อมหรือยัง คุณรู้หรือยังว่าเครื่องมือกีดกันทางการค้ามีอะไรบ้าง 

สหรัฐฯ กีดกันจีน เพราะจีนทุ่มตลาดไปยังสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ก็ต้องกีดกันคนอื่นด้วยแต่เวียดนามกับเรา เขาจะกีดกันใคร เราก็ต้องดูว่าเขาจะใช้เครื่องมืออะไรกับเรา เขาก็ต้องใช้เรื่องสิ่งแวดล้อม กับเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเข้ม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาก็ทำในมุมเขา เราก็ทำในมุมของนักอุตสาหกรรม 

เพราะฉะนั้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นจังหวะที่ดี แต่นักอุตสาหกรรมก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วย ฉะนั้นเราจะเจาะเข้ากลางหัวใจ ถ้าได้คนดีๆ มาเรียน มาแลกเปลี่ยนมุมมอง แชร์เรื่องต่างๆ เราอาจได้เห็นมาตรการดีๆ ของประเทศไทยออกมาได้ด้วย

Tags: , , ,