ผมมองว่าพรรคกล้าอยู่ในมุมความคิดก้าวหน้า เพราะว่าเราสู้กับระบบราชการล้าหลัง แต่ก็ยังยึดหลักสำคัญที่สุดคือ โครงสร้างหลักของชาติไม่นำมาเป็นความขัดแย้ง ดังนั้นคำตอบก็คือเราอยู่ซีกหัวก้าวหน้าที่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังจากที่อรรถวิชช์ สุวรรณภักดีจับมือกับกรณ์ จาติกวณิชลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และก่อตั้งพรรคกล้า พรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่มีรูปมือเป็นสัญลักษณ์ของพรรค พร้อมกับการประกาศตัวทันที ว่าพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้สนับสนุนแนวคิดปฏิบัตินิยมและรวบรวม DNA ของคนที่กล้าลงมือทำ

แม้หลายคนจะค่อนขอดว่าเป็นประชาธิปัตย์สาขา 2’ เป็นพรรคนีโอสลิ่มหรือเป็นพรรคของชนชั้นนำ ที่ตั้งขึ้นเพื่อชนกับพรรคก้าวไกล แต่จากการสนทนากับ The Momentum อรรถวิชช์ยืนยันว่าพรรคชื่อพยางค์เดียวนี้ เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ มุ่งหน้าทำลายระบบราชการที่ล้าหลัง แต่ยังคงไว้ซึ่งรากเหง้าของประเทศไทย อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์

Close-Up สัปดาห์นี้ เราชวน อรรถวิชช์ เลขาธิการพรรคกล้ามาตอบข้อสงสัยทั้งหมด รวมถึงแนวทางและนโยบายของพรรคที่หวังจะเป็นทางเลือกใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไปจนถึงมุมมองต่อสถานการณ์การเมือง ตั้งแต่ม็อบเยาวชน การสืบทอดตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จนถึงตอนนี้พรรคกล้ามีความพร้อมกับการเลือกตั้งครั้งใหม่มากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้ผมใช้คำว่า เราพร้อมแล้ว ขณะนี้พรรคกล้าได้เดินทางไปทุกจังหวัดในประเทศไทย มีการตั้งตัวแทน ตั้งสาขากระจายไปทั่ว จริงๆ ถ้าช่วงก่อนหน้าโควิด-19 ไม่ระบาดหนัก เราคงตั้งจำนวนสาขาได้เยอะกว่านี้ แต่เอาละ ตอนนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ก็รอดูต่อไปว่าผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรพรรคเราก็พร้อมสู้กับการเลือกตั้งทั้งสองระบบ ไม่ได้มีปัญหาในตัวกติกา 

คำว่าพร้อมของพรรคกล้า คือพร้อมในด้านไหนบ้าง

ในแง่ของคนและ DNA ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการต้มยำรวมมิตร เราต้องการผลิตคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดปฏิบัตินิยมลงมือทำ (Pragmatism) ซึ่งเป็นใจความสำคัญของพรรคกล้า ดังนั้นเราก็ต้องคัดเลือกสมาชิกเป็นอย่างดี คัดเลือกให้ถึงขนาดที่สมาชิกต้องมีความหลากหลายในองค์ความรู้  ไม่ใช่อดีตนักการเมืองก็ไม่มีปัญหา ถ้าความรู้ด้านนั้นของคุณเป็นของจริง ถ้าคุณชำนาญเรื่องเพชรพลอยก็ต้องรู้อย่างแท้จริง ต้องรู้ว่าธุรกิจของเพชรพลอยเป็นอย่างไร คุณชำนาญเรื่องสมุนไพร ต้องเป็นมิสเตอร์สมุนไพร สามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดได้

ที่ทำแบบนี้ เพราะเราอยากเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะต่างไปจากเดิมที่เรามีคุ้นชินกับสมาชิกพรรคที่เป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเราอยากเปลี่ยนแปลงให้มีความหลากหลายมากกว่านี้ เพื่อที่เวลาเขาขึ้นพูดในรัฐสภาก็จะได้เห็นคนที่รู้จริงจากพรรคกล้า อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

อีกอย่างคือ ต้องมีทัศนคติที่หาทางออกเสมอ ไม่ว่าจะเกิดข้อโต้แย้งอะไรก็แล้วแต่ ต้องหาทางออกเสมอ พรรคกล้าเราไม่อยู่ซ้าย ไม่อยู่ขวา และเราก็ไม่อยู่ตรงกลางด้วย เพราะจะไม่มัวมาแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นซ้ายขวา เราจะหาทางออกของมัน ทุกประเด็นต้องมีทางออก ทุกประเด็นต้องทำได้ทันที

การที่พรรคกล้ามีจุดยืนแบบไม่เลือกฝั่งทางการเมืองเลย มีข้อดีอย่างไร

เพราะ 20 ปีมานี้ เราเคยชินกับการเมืองแบบแบ่งค่าย มีฝ่ายเทพ ฝ่ายมาร ฝั่งซีกประชาธิปไตยกับฝั่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย คือเราขีดเส้นแบ่งให้กับมัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราลืมทุกครั้งเลยว่า ถ้าเราขีดเส้นแบ่งคนทะเลาะกันเป็นสองฝั่ง เราจะเลือกตั้งด้วยความเกลียด เราจะเลือกตั้งด้วยความกลัว กลัวว่าเขาจะมา เกลียดมันเลยไม่เลือกมัน ซึ่งถ้ายังมัวแบ่งเส้นแบบนี้อยู่ ก็จะไม่นำไปสู่เป้าหมายใดๆ โดยเฉพาะเป้าหมายของประเทศขณะนี้อย่างวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโรคระบาด ที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า จะแก้วิกฤตินี้กันอย่างไร 

เราเลยเปลี่ยนทัศนคติ มาสู้กับสิ่งที่ต้องต่อสู้ด้วยจริงๆ อย่างการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่การหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือสร้างความเกลียดชังให้อีกฝ่าย 

การเลือกตั้งในปี 2562 ที่ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง DNA แบบนี้ของสมาชิกในพรรคกล้าหรือไม่

การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา มันเกิดการแบ่งคนเป็นสองฝ่ายทุกครั้งก่อนการเลือกตั้ง ทุกครั้งเลยนะ ย้อนกลับไปเราก็จะเห็นพรรคการเมืองฝ่ายเทพ พรรคการเมืองฝ่ายมาร หรือมีการแบ่งพรรคประชาธิปไตย อีกฝั่งไม่ใช่ประชาธิปไตย แบบนั้นก็มี 

สิ่งที่ผมเห็นคือเส้นแบ่งเหล่านี้มันไม่ตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปความล้าหลังในประเทศอย่างที่ผมบอกไปแล้วคือ วิธีคิดเช่นนี้จะผลักให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองด้วยความเกลียดกับความกลัวเท่านั้น แบบนี้ประเทศไทยก็ไม่เดินไปข้างหน้าสิ ดังนั้น เราต้องเลือกฟังว่านโยบายแต่ละพรรคไปทางไหน วิกฤตแบบไหนกำลังเกิดขึ้น เราก็ต้องเลือกพรรคที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาวิกฤตนั้นๆ

หรือในบางกรณีที่พยายามบิดเบือนวิกฤตเรื่องอื่นๆ ให้กลายเป็นวิกฤตแบบสมมติทางการเมืองขึ้นมา อันนี้ก็เป็นปัญหาอีก เพราะจะนำไปสู่การเลือกคนที่รัก กันคนที่ไม่ชอบเช่นเดิม ซึ่งสำหรับผมในห้วงเวลา 7-8 ปี มันพอแล้ว ที่เราจะเลือกด้วยความเกลียดหรือความกลัว แล้วผมไม่นิยมให้พรรคไหนทำแคมเปญแบบนี้ด้วย 

ในเชิงนโยบายของพรรคกล้า อะไรคือความสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

สำคัญที่สุดคือสู้เพื่อปฏิรูประบบราชการที่ล้าหลัง ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง เราเน้นเรื่องเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก หมายความว่า คนตัวเล็กต้องมีการช่วยเหลือ 

ดังนั้น นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่ทำให้เขามีโอกาสเท่าเทียมกันเราจะลงมือทำ ซึ่งอันดับแรกคือการกิโยตินกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือการร้อยเรียงกฎหมายที่ช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคม เราจะเสียบกฎหมายเหล่านี้เป็นไม้ลูกชิ้น เป็นแพ็คเกจให้คนตัวเล็กได้เปรียบกว่าคนตัวใหญ่ซึ่งแน่นอนพอเขาโตขึ้นมาจุดหนึ่งจนพ้นจากความตัวเล็กแล้ว ก็ต้องสู้กันแบบ Fair Game กันต่อไป 

ที่ผมพูด ผมพูดทั้งระบบ ซึ่งมันก็จะแตกหน่อออกไปได้หลายเรื่อง ทั้งสุราชุมชน การทำโฮมสเตย์ต่างๆ ที่จะทำสักหนึ่งเรื่องแล้วเจอกฎกติกามากมาย พรรคกล้าจึงมีไอเดียที่จะทำคอมโบกฎหมายมาช่วยเหลือในจุดนี้ 

เรื่องการศึกษาคืออันดับต่อมา เพราะเป็นปัญหาในขณะนี้ เราจะทำรูปแบบการศึกษาแบบสบายใจ จบมาแล้วได้ใช้กับการทำงานจริง ไม่ใช่เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่ากลัวมากในปัจจุบัน ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง มีเทคโนโลยี มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอด การศึกษาไทยกลับยังเป็นรูปแบบการตัดเสื้อโหลอยู่ หมายถึงทุกคนต้องเรียนหลักสูตรขั้นพื้นฐานเหมือนกันหมด 

ผมถามหน่อยว่าทำไมต้องเหมือนกันวะ ถ้าเกิดเราอยากจะตัดบางวิชาที่เราไม่อยากเรียนออกไป เพราะเราไม่ได้ใช้ในการทำงานของเรา เราต้องมีสิทธิเลือกได้ไม่ใช่หรือ สมัยผมเอนทรานซ์ในมหาวิทยาลัยปี 2538 ที่นั่งในมหาวิทยาลัยน้อย ก็ต้องแย่งกันไป เราก็ต้องติวหนังสือ อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติตามหลักกลไกการตลาด แต่ตอนนี้ต่างออกไป ที่นั่งเหลือเป็นแสน แต่ทำไมเด็กรุ่นนี้ติวหนังสือมากกว่ารุ่นผม ผมมองว่ามันเกิดความผิดปกติในวงการการศึกษา 

ดังนั้น การเรียนรู้หลังจากนี้ไป มันต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต นี่เขาก็เริ่มจะไม่มีรีไทร์แล้วทุกอย่างมันต้องสอดคล้องกันหมด วันนี้เป็นไปได้อย่างไรที่เราต้องการความเป็นเลิศทางการศึกษาแล้วเราบอกว่าให้ผู้ปกครองช่วยเด็กเรียนหนังสือช่วงโควิด-19 ถ้าเด็กไม่มีพ่อมีแม่ หรือไม่มีเวลาช่วยสอน เขาจะอยู่ในระบบนี้ไม่ได้หรือ คนมันเท่าเทียมกันตรงไหน 

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองต้องมีอยู่แล้ว เหมือนความเป็นประชาธิปไตย คือไม่ต้องมาโชว์แข่งกันว่าเลือดของใครสีเข้มหรือจางกว่ากันมันไม่ใช่ มันอยู่ที่นโยบายต่างหากว่าจะไปในทิศไหน 

ดังนั้นเวลาหลายคนบอกพรรคกล้าไม่ชัดเจน ผมซัดกลับเลยว่าเราไม่ชัดเจนตรงไหน เรื่องนโยบายเราชัดเจน คุณลองพูดเรื่องปัญหาสิ เรามีทิศทางของเราหมด 

ทำไมพรรคกล้าถึงให้ความสำคัญกับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก

เพราะเราเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นขณะนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความกินดีอยู่ดีของบ้านเมืองในปัจจุบัน

แต่ที่อยากฝากไว้คือ อย่าพยายามดันให้กลายเป็นวิกฤติทางการเมือง เพราะอะไรเพราะตัวผมเองเคยทำงานในรัฐสภาก็ทำมาแล้ว ไปชุมนุมบนท้องถนนไล่รัฐบาลก็ทำมาแล้ว ตอนนั้นผมสู้ในความเชื่อว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ และไม่คาดคิดว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 

สุดท้ายก็ไม่ใช่อย่างนั้น ดังนั้นความขัดแย้งตรงนี้จะมีประโยชน์อะไรขึ้นมา ไม่มีเลย แล้วผมก็รู้ว่าเหตุการณ์ชุมนุมที่น้องๆ ชุมนุมกันอยู่ทุกวันนี้ เขาไม่ได้อยากได้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแต่เชื่อไหมว่าเดินไปเรื่อยๆ เขาจะเจอแบบผม จะเจอคนที่รอจังหวะทำรัฐประหารเหมือนกัน       

หลายคนมองว่าพรรคกล้าค่อนข้างอนุรักษนิยม คุณรู้สึกอย่างไร

ไม่ใช่อย่างแรง พรรคกล้าไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม แม้เราจะเชื่อในรากเหง้าของสังคมไทย แต่ว่าเราคิดถึงอนาคตข้างหน้า ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม ใช้คำว่าตระหนักรู้ถึงรากเหง้าดีกว่า 

ผมพูดกับคนในพรรคอยู่เสมอว่า ต้นหญ้าเกิดบนภูเขา มันก็สูงกว่าต้นสักร้อยปีที่เกิดจากพื้นดินดังนั้น ถ้าเรามีรากเหง้าที่ดี มีรากฐานที่ดีอยู่แล้ว ก็ต่อจากยอดเขาขึ้นไปเลย แล้วค่อยปรับเปลี่ยนมันให้เข้ากับยุคสมัย แต่ถ้าเราสลายมันซะ บอกว่าจะขึ้นต้นใหม่อีกครั้ง ร้อยปีก็สูงไม่ทัน ดังนั้นรากฐานเป็นเรื่องสำคัญ อย่าทำลายรากฐานของชาติ เพราะมันจะขัดขวางการก้าวไปต่อของประเทศ

รากเหง้า หรือรากฐานที่ดีในมุมมองของคุณหมายถึงอะไร

การที่อย่าทำลายบรรยากาศของคนไทยที่เป็นคนโอบอ้อมอารีต่อกัน ผมว่าคนไทยเป็นคนที่ใจดี เอาเป็นว่าอยู่เมืองไทยไม่อดตาย การที่เด็กสอนผู้ใหญ่ได้ การที่เด็กรับฟังผู้ใหญ่ได้ ผมว่ามันเป็นประเพณีที่น่าจะสืบต่อกันได้

รวมไปถึงสำคัญที่สุดคือระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเชิงการเป็นอุดมการณ์ของนักปฏิบัตินิยม ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์บ้านเราไม่เหมือนบ้านอื่น ของเราเป็นองค์กรในการยุติความขัดแย้งด้วยในตัว หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาทมิฬ (2535) ที่มีการชุมนุมแล้วเกิดการเข่นฆ่า จะเห็นได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะเข้ามายุติความขัดแย้งได้ทุกครั้ง 

คนไทยสักการะพระเจ้าอยู่หัวในเชิงของศรัทธา ซึ่งถ้าเราทำลายทุกศรัทธามันไม่ได้หายไปเฉพาะระบบกษัตริย์ แต่รวมไปถึงกลไกยุติความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดด้วย ซึ่งผมว่านี่เป็นข้อได้เปรียบของสังคมไทย 

การที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้พูดด้วยการเป็นขวานะ แต่ผมพูดในมุมของการเป็นนักปฏิบัตินิยม 

ดังนั้นถ้าใครบอกว่าต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ต้องมาคุยกับพรรคนี้เลยหรือเปล่า

คือผมเน้นในการธำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมก็ยืนหยัดว่าไม่แก้ ไม่ยกเลิก ด้วยเหตุผลที่ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน หากมีการแก้กฎหมายจะมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้น ถ้าแก้แล้วคนจะชนกันสองฝั่งแน่นอน และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การทำรัฐประหาร 

ทำไมผมถึงบอกว่าคนถึงจะชนกัน คุณลองไปดูข้อมูลของการแจ้งมาตรา 112 แล้วคุณจะเข้าใจว่า คดี 112 ที่มันเยอะขึ้นในปีนี้ กว่าครึ่งมันเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ มันไม่ได้เกิดจากการที่ภาครัฐไปฟ้องหรือไปกล่าวโทษเขานะ ดังนั้นต่อให้คุณแก้นิดเดียวก็เป็นประเด็นแน่นอน ทะเลาะกัน ม็อบชนม็อบ รัฐประหาร ทะเลาะกัน ม็อบชนม็อบ รัฐประหาร วนเวียนเหมือนเดิมไม่รู้จบแน่ 

แบบนี้ผมไม่เอาด้วย ผมไม่กลับไปลูปเดิมหรอก ดังนั้นสิ่งที่ผมจะเสนอคือให้เกิดการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองมาตรา 112 หมายความว่าบ่อเกิดกฎหมายมันเกิดได้ทั้งในสภาและคำพิพากษาก็รวบรวมเอาคำพิพากษามาจัดระเบียบใหม่ หากใครที่โดนกล่าวโทษร้องทุกข์เข้ามา ถ้าไม่เข้าข่ายก็ระงับการดำเนินคดี แต่ตอนนี้มันระงับไม่ได้ ตำรวจและอัยการไม่มีใครกล้ากระทำ ดังนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสิ ถ้ากลั่นกรองก่อน คดีมันก็ลด 

ดังนั้นเวลาพูดคุยมาตรา 112 พูดกับผมได้ไหม ผมก็พูดอยู่กับสื่อสาธารณะ ผมพูดและผมทำด้วย ผมมีใจบริสุทธิ์ว่าสถาบันกษัตริย์ต้องมีอยู่ นี่คือรากเหง้า แบบนี้คือวิธีคิดของผม ผมชัดเจน 

ในวันที่คุณอรรถวิชช์ดีเบตกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อเลิกแก้ไม่แตะ 112’  ในรายการของ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ หลายคนมองว่าเป็นชัยชนะของคุณ คุณคิดอย่างไรบ้าง

ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ก่อนเข้ารายการก็ยังคุยกันดีอยู่ เพราะตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเข้ามาตอนปี 2538 อาจารย์ปิยบุตรเข้ามาตอน 2540 ถือเป็นพี่น้องกัน ก็ยังหยอกกันก่อนเข้ารายการ เพียงแต่ในรายการเราพูดกันแบบวิชาการล้วนๆ 

ผมก็ยังไม่เคยฟังเต็มๆ ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับมาตรา 112 แต่พอได้ฟังในวันนั้นก็รู้ทันทีว่าคิดไม่เหมือนกัน เช่นการที่อาจารย์ปิยบุตรพูดถึงการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะหมิ่นสถาบันหรือหมิ่นคนปกติทั่วไป ให้เหลือแค่ปรับอย่างเดียว หรือเป็นคดีแพ่งไปเลย ผมก็คิดในหัวเลยทันทีว่า แบบนี้คนไม่เท่ากันสิ คนจะเท่ากันได้อย่างไร คนรวยก็ด่าได้ มีเงินเสียค่าปรับเป็นต้น เราก็ไล่ไปทีละเรื่องแบบนี้ เขาพูดผมก็ตอบไป ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้ไปหักล้างอะไร

จริงๆ วันนั้น ผมตั้งใจไปชวนเขาคิดเรื่องคณะกรรมการช่วยเหลือน้องๆ มากกว่าด้วยซ้ำเพราะตัวอาจารย์ปิยบุตรเองเขาไม่โดนดำเนินคดีมาตรา 112 เลย ทั้งที่เขาเป็นคนริเริ่มความคิดด้านนี้ เพราะอะไร เพราะเขาเรียนกฎหมาย เขารู้ว่าจะนำเสนอแบบไหน ซึ่งเขาต้องช่วยกันหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมน้องๆ ถึงโดน มันต้องหาทางออก 

อีกประเด็นหนึ่ง หลายคนมองว่าพรรคกล้าเป็นพรรคที่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านก็เป็นคนที่ยุติความขัดแย้งได้จุดหนึ่งในอดีต แต่โจทย์ในอนาคตที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ท่านไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ตอบโจทย์แล้ว มันไม่เหมาะกับวิกฤติที่ท่านเคยทำการยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝั่ง แต่ก็อยู่ที่พวกเรา คือถ้าทำให้วิกฤตการเมืองเกิดขึ้นอีก ก็ไม่แน่  

ระบบนิเวศการเมืองในปัจจุบัน เอื้อมากน้อยแค่ไหนที่พรรคกล้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และร่วมพัฒนาประเทศ

มันอยู่ที่การรับรู้ของคนด้วย ถ้าตราบใดที่ขั้วการเมืองฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ยังมีทิศทางเช่นนี้อยู่ก็เป็นเรื่องยาก เราก็จะมีแต่ความสูญเสีย แต่ถ้าในอนาคตคิดว่าหากเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายของพรรคกล้า ผมว่าเราเป็นคนที่ตอบโจทย์ก็เข้าไปอยู่จุดนั้นได้ ดังนั้นคงต้องวัดกันตอนเลือกตั้ง

จริงหรือไม่ที่พรรคกล้าคือพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อมาชนกับพรรคก้าวไกล 

ผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่เราต่างกัน คือการมองสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่าง และอีกสิ่งที่พรรคกล้าแตกต่าง คือเราไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า  ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลตั้งขึ้นมา เพราะต้องการให้ประเทศดีขึ้นเหมือนกัน เพียงแต่ปรัชญาเรื่องความเชื่อในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมไม่แน่ใจว่าเราเหมือนกันหรือไม่

รวมไปถึงวิธีการทำงานไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เขาพูดถึงการไม่เกณฑ์ทหาร กลับกัน ผมมองว่าการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ต้องเกณฑ์ เพียงแต่ต้องเพิ่มสวัสดิการทหาร เพิ่มการเรียน คือไปเป็นทหารเกณฑ์ต้องจบ .6 ได้ด้วย ต้องเรียนต่อปริญญาตรีได้ด้วย ต้องฝึกอาชีพได้ด้วย เงินเดือนลื่นไหลได้เป็นนายสิบได้ด้วย ผมเชื่อว่าแบบนี้คนจะมาสมัครกันเต็ม 

คุณอรรถวิชช์มองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ประเทศนี้อยู่ได้ด้วยคนรุ่นใหม่ ในอนาคตข้างหน้า ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีวิวัฒนาการของมัน พอเขาโตมาถึงจุดหนึ่งเขาจะเรียนรู้ เขาจะเข้าใจการเมือง จะเข้าใจวงเวียน จะรู้ว่าการไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่แบ่งคนออกเป็นสองฝั่ง จะดีกว่า 

ผมเสียดายอย่างหนึ่งคือ ช่วงที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ท่านไม่ได้ระบุเหตุผลว่าทำไปเพราะอะไร เหตุผลที่ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตอนนั้นก็พูดถึงแค่ความขัดแย้งแต่ไม่เจาะไปก่อนว่าก่อนจะเกิดความขัดแย้งนั้น มันเกิดจากการฉ้อฉลขนาดไหน จนสามารถทำให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ขึ้นได้ 

ผมเชื่อเลยว่าน้องๆในยุคนี้ ถ้าเขาทันช่วงเวลานั้น เขาจะออกมาชุมนุมคัดค้าน ...นิรโทษกรรม แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้มันกลับหายไปในช่วงเวลา 5-6 ปี มันกลายเป็นเราลืมไปแล้วว่าทำไมคนออกมาเป็นล้าน ซึ่งถ้ามีการถ่ายทอดให้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังเหล่านี้พวกเขาจะเข้าใจ 

ดังนั้น ถ้าเราได้เข้าไปอธิบายกับคนรุ่นใหม่บ้าง เปิดใจกันบ้าง ผมว่าเราก็ไปกันได้ แต่ถ้าคิดจะใส่กันอย่างเดียวก็เข้าอีหรอบเดิม แบ่งซ้ายแบ่งขวากันไม่รู้จบ 

ฟังดูพรรคกล้าจะไม่ลงรอยกับความขัดแย้งทางการเมืองเป็นอย่างมาก คุณมีแนวทางแนะนำในการแก้ไขปัญหานี้บ้างไหม

เริ่มต้นที่ตัวเอง เริ่มต้นที่ตัวเรา ทำไมผมถึงไปออกรายการกับอาจารย์ปิยบุตรแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย  ทั้งที่เรามีเรื่องซัดกันได้หลายเรื่องแบบเต็มเหนี่ยวเลย เพราผมรู้ดีว่าทะเลาะกันไปไม่มีประโยชน์ เราคุยกันด้วยเหตุผลจะดีกว่า เหตุผลของผมก็ส่งต่อไปยังคนที่เชียร์อาจารย์ปิยบุตรเหตุผลของอาจารย์ปิยบุตรก็ส่งต่อมาถึงคนที่เชียร์ผม ผมว่าการใช้อารมณ์ใส่กันไม่มีประโยชน์ ผมว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวเรา 

บางคนบอกว่าทำไมพรรคชื่อกล้าทำแบบนี้มันไม่กล้า แต่ไอ้นี่ล่ะที่ผมเรียกว่ากล้า เพราะเรากล้าชี้นำสังคมไปอีกทาง ไม่ว่าคนจะว่าอย่างไรก็ตาม ดีกว่าการที่คนอื่นเฮไปทางไหน เราเฮไปนั้นเดี๋ยวเฮไปซ้าย เดี๋ยวเฮไปขวา แบบนี้ไม่ได้เรียกว่ากล้าในนิยามของเรา 

ขอคำสรุปแบบชัดเจนอีกครั้ง หากจะแบ่งขั้วการเมืองเป็นฝั่งซ้ายที่เรียกว่าหัวก้าวหน้า และฝั่งขวาหรืออนุรักษนิยม พรรคกล้าอยู่ตรงจุดไหน

ผมว่าเราอยู่ในมุมความคิดก้าวหน้า เพราะว่าเราสู้กับระบบราชการล้าหลัง แต่ก็ยังยึดหลักสำคัญที่สุดคือโครงสร้างหลักของชาติ ไม่นำมาเป็นความขัดแย้ง ดังนั้นคำตอบก็คือเราอยู่ซีกหัวก้าวหน้าที่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์

คือเวลาพูดแบบนี้ต้องมาถามอีกว่าเอาอะไรเป็นเส้นตัด อะไรคือเส้นแบ่ง ถ้าพูดในอังกฤษก็เป็นอีกนิยาม พูดในสหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกนิยาม คือมันพูดยากมากว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน 

ถ้าผมพูดว่าเอาสถาบันกษัตริย์เต็มที่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่ไม่เอาระบบราชการล้าหลังผมเชื่อกลไกการตลาดเสรี บอกแบบนี้ผมเป็นอนุรักษนิยมไหม 

แต่หลายคนมองว่า พรรคกล้าไม่เห็นจะกล้าสมชื่อ คุณคิดว่าเพราะอะไร เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารตรงจุดไหน ทั้งที่คุณยืนยันว่าพรรคกล้ามีแนวทางการดำเนินงานที่กล้ามาโดยตลอด

       เพราะเขายังอยู่บนเส้นแบ่งเดิม คือเป็นพรรคประชาธิปไตยหรือพรรคไม่ประชาธิปไตย และกำลังเข้าสู้เส้นแบ่งใหม่คือ ปฏิรูปสถาบันฯ หรือไม่ปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งจะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่สำคัญมาก ดังนั้นผมจึงจะไม่แบ่งเส้นแบบนั้น แต่ถ้าเรื่องอื่นๆ คุณลองลากเส้นสิ เรื่องระบบราชการล้าหลัง ผมอยู่กับสิ่งนี้มาก่อน ผมเข้าใจว่าระบบมันเละแค่ไหน 

ในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณมีอะไรอยากบอกกับกลุ่มคนที่เห็นต่างกับคุณบ้าง

ผมอยากบอกทุกคนว่า ความรักมันห้ามกันไม่ได้ แต่ความเชื่อมันต้องมีอยู่ ธำรงอยู่ มันต้องเป็นเอกฉันท์ ใครจะรักไม่รักเป็นเรื่องส่วนตัว แต่การเชื่อของการธำรงอยู่ คนในชาติต้องเชื่อเหมือนกันมันคือภารดรภาพ  

วันนั้นที่ดีเบตกับอาจารย์ปิยบุตร ผมก็พูดเรื่องนี้อยู่ ระบบสถาบันฯ ไม่ใช่สิ่งที่จะโหวตว่าเอาไม่เอา ถ้ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองคิดว่าฉันเป็นเสียงข้างมากเอา เสียงข้างน้อยไม่เอาไม่ใช่ แบบนี้ไม่ได้ มันต้องเอาเอกฉันท์ ส่วนเรื่องรักไม่รักมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลกันไป 

แล้วจะบอกอย่างไรกับคนที่คิดว่าพรรคกล้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์สาขา 2 

บอกเลยว่าไม่ใช่ และไม่มีวันใช่ 

Fact Box

  • อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจตุจักร เมื่อปี 2554 โดยในปี 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก่อนที่ปีต่อมาจะได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาก่อตั้งพรรคกล้าร่วมกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • อรรถวิชช์เคยรับราชการสังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มีผลงานเด่นหลายเรื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน การกำกับดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลให้อยู่ในระดับร้อยละ 28 ต่อปี รวมถึงงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร หลายฉบับ
  • นอกจากประวัติทางด้านการเมือง อรรถวิชช์มีงานอดิเรกคือการสะสมรถโบราณ โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย และยังมีค่ายมวยเป็นของตัวเอง ชื่อ ส.สุวรรณภักดี ที่มีนักมวยในสังกัดเป็นแชมเปี้ยนของเวทีมวยลุมพินีอย่าง ขวานเพชร ส.สุวรรณภักดี 
Tags: , ,