เช้าวันหนึ่ง กลางเดือนพฤษภาคม 2564 เราตื่นมาเจอข้อความจากเพื่อนเก่าเขียนมาปรับทุกข์เรื่องความกังวลของสถานการณ์ระบาดระลอกล่าสุดที่เข้ามาประชิดตัวทุกที เขาเล่าว่ามีเพื่อนบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะแม่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ตัวลูกชายไม่ได้กักตัว เพราะต้องออกไปขายของที่ตลาดทุกวัน เขาอยากใช้สัญลักษณ์บางอย่างติดไว้หน้าบ้านของกลุ่มเสี่ยง เพื่อเตือนชุมชนและพนักงานเก็บขยะให้ระมัดระวังขยะติดเชื้อจากบ้านนี้เป็นพิเศษ

คอกกั้นขยะพับได้เพื่อความงามของกรุงเทพมหานครที่บังความสกปรกให้พ้นสายตา แต่ไม่สามารถกั้นหนูและแมลงสาบออกจากกองขยะได้

เขารู้ดีว่าการติดสัญลักษณ์ดังกล่าวหน้าบ้านที่มีสมาชิกกำลังอยู่ในระยะเฝ้าระวังหรือระหว่างรอการรักษานั้น เป็นการละเมิดสิทธิและซ้ำเติมผู้ติดเชื้อรอการรักษาหรือเฝ้าดูอาการ แต่เขาก็นึกไม่ออกว่าจะหาวิธีไหนที่จะเตือนเพื่อนบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือเจ้าหน้าที่เก็บขยะให้ระวังกับจุดเสี่ยงบางจุดในชุมชน

เป็นใครก็คงผวา ถ้าเจอถุงพลาสติกรัดปากถุงที่เผยหน้ากากอนามัยใช้แล้วให้เห็น เราเข้าใจดีว่าระบบการจัดการขยะแบบเปิดในบ้านเรานั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์การควบคุมโรคติดต่อเป็นไปได้ง่ายเลยสักนิด และยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนเก็บขยะในเครื่องแบบที่ไร้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อใดๆ แต่เราคงไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ‘เตือนภัย’ ในลักษณะนี้ 

ทำไมเราจึงปล่อยให้การจัดการขยะที่ประสิทธิภาพต่ำ กลายเป็นเครื่องมือประณามเหยื่อและกีดกันใครคนหนึ่งออกจากชุมชนเพียงเพราะเขาป่วย เพราะการทำสัญลักษณ์หน้าบ้านใครคงทำให้เพื่อนบ้านหลายคนตื่นตระหนก ไม่อยากเข้าใกล้หรือเสวนาด้วย เพราะไม่รู้ว่าคนคนนั้นอยู่ในระยะเฝ้าระวังหรือรักษาหายแล้ว 

กองขยะที่ล้นออกมานอกถังบ่งบอกถึงความขาดแคลนถังขยะในเมือง

ความกังวลเรื่องขยะติดเชื้อที่อยู่ในถุงขยะวางปะปนกับขยะทั่วไปเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นทุกระลอก บอกถึงแนวโน้มการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเริ่มแนะนำให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ดีกว่าแทนหน้ากากผ้าที่เคยใช้กัน หรือแม้แต่ให้ใส่สองชั้น

ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษพบว่า ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 ธันวาคม 2563 มีขยะติดเชื้อถึง 17.89 ตัน จากจุดทิ้ง 2,690 แห่งทั่วประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีขยะหน้ากากอนามัยสูงกว่านี้มาก เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยอมรับว่ามีขยะติดเชื้อที่เกิดจากการบ้านเรือน โรงพยาบาลสนาม หรือ hospitel สูงถึงเกือบ 20 ตันต่อวัน

ในขณะที่หน้ากากอนามัยและชุดพีพีอีที่หมอและพยาบาลในโรงพยาบาลจัดเป็นขยะอันตรายที่ถูกทิ้ง เก็บ ขนย้าย และทำลายอย่างระมัดระวัง หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของทุกคน แต่มีคนจำนวนมากไม่แน่ใจว่าจะทิ้งขยะติดเชื้อได้ที่ไหนอย่างปลอดภัย 

ถึงวันนี้ การแพร่ระบาดระลอกสามยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ต่ำกว่าสองพันคนต่อวัน แต่ กทม. ก็ยังไม่มีนโยบายในการทิ้งและเก็บขยะติดเชื้อตามบ้านเรือนที่ชัดเจนนัก มีเพียงการตั้งถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใน กทม. 1,000 จุด เช่น สำนักงานเขต โรงเรียนในสังกัด สวนสาธารณะ สถานีดับเพลิง แต่จุดที่ตั้งถังขยะดังกล่าวอาจจะมีน้อยไปหรือไม่มีในเขตชุมชน ทำให้เรายังคงเห็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่ถูกทิ้งบนถนนหรือในคลองทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้ การทิ้งขยะติดเชื้อให้ปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละบุคคลและครัวเรือน ว่าสามารถคัดแยกและทิ้งขยะติดเชื้อได้ถูกต้องเพียงไร

น่าแปลกใจที่เจ้าหน้าที่ของ กทม. เองกลับไม่มีข้อมูลการปฏิบัติงานของหน่วยงานตัวเอง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสำนักงานเขตใกล้บ้านบอกเราว่า ที่สำนักงานแห่งนั้นไม่มีจุดทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว แต่ละบ้านควรรวบรวมใส่ขวดพลาสติก (แบบที่หลายเพจรีไซเคิลขยะไม่แนะนำ) แล้วทิ้งไปพร้อมขยะทั่วไป แต่เมื่อเราเดินเลยประตูทางเข้าเขตมาก็เจอถังขยะสีส้มสำหรับใส่หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว พร้อมคำและภาพอธิบายขั้นตอนการพับทิ้งและทำความสะอาดตั้งอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแสดงให้เห็นว่า กทม. เองก็ยังไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการทิ้งและเก็บขยะติดเชื้อ ทั้งที่แนวโน้มของการระบาดนับวันจะรุนแรงขึ้น และปริมาณขยะติดเชื้อทวีคูณเป็นเงาตามตัว

จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่ และการจัดการในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการคัดแยกขยะและการทำลาย แต่หมายถึงรายละเอียดในการจัดทิ้งและเก็บก่อนขั้นตอนสุดท้ายของการฝังกลบหรือเผาทำลาย เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีหลายมิติของการอยู่อาศัย ตั้งแต่คอนโดฯ และหมู่บ้านจัดสรรที่มาพร้อมกับการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ บ้านเรือนเดี่ยวในชุมชนเดิมที่การจัดการขยะอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด หรือชุมชนแออัดที่ความสำคัญของการจัดการขยะเป็นศูนย์

กทม. อ้างว่า มีถังขยะสำหรับใส่หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ววางอยู่ 1,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ

คงจะเป็นการกล่าวร้าย ถ้าบอกว่า กทม. ไม่เคยคิดจะปรับปรุงการจัดการขยะ เมื่อกลางปี 2562 กทม. พยายามขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขยะจาก 20 บาท เป็น 80 บาท สำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่มีขยะไม่เกินวันละ 20 ลิตร โดยตั้งเป้าให้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ค่าธรรมเนียมใหม่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากัน คือค่าจัดเก็บขนและค่ากำจัดขยะ แทนการคิดค่าธรรมเนียมแบบเดิมที่จัดเก็บเพียงค่าเก็บขนเพียงอย่างเดียว 

แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมประเทศชะลอตัวส่งผลกระทบภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทำให้สภากรุงเทพมหานครตัดสินใจประกาศเลื่อนการขึ้นค่าธรรมเนียมออกไปหนึ่งปีเป็นเดือนตุลาคมปี 2563 เพื่อลดภาระของประชาชน แต่การขึ้นค่าธรรมเนียมก็ต้องถูกยืดออกไปอีกครั้งเมื่อถึงกำหนดในปลายปี ที่ทุกคนต่างต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

หลายคนตั้งคำถามว่าค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นถึงสี่เท่าจะถูกใช้ไปกับส่วนใด เพราะตลอดสามปีที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มีการพัฒนาในการจัดการขยะเลย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ที่ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ในขั้นน่ากังวลสำหรับคนทั่วไป เมืองหลวงของเราไม่เคยมีถังขยะเพียงพอสำหรับประชากรและธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนและร้านค้าทำได้เพียงนำขยะใส่ถุงดำรัดปาก และวางทิ้งบนทางเท้าตอนบ่ายหรือเย็น รอให้รถขยะมาจัดเก็บในตอนหัวค่ำ และจุดทิ้งขยะก็ไม่เคยมีถังเป็นกิจลักษณะ แต่ทำเป็นเพียงคอกกั้นเพื่อบดบังความสกปรกของถุงขยะ ไม่ได้ป้องกันหนูหรือแมลงสาบมาแทะถุงขยะเหล่านั้น

ถุงขยะสีฟ้าในเมืองบรูจส์ ประเทศเบลเยี่ยมสำหรับทิ้งวัสดุรีไซเคิล เช่น พลาสติกและอลูมิเนียม

ในประเทศในยุโรปหลายแห่ง รวมถึงหลายประเทศในเอเชีย เช่น ไต้หวัน มีการจัดการเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกัน โดยจุดทิ้งขยะและถังขยะในระบบปิดจะถูกออกแบบให้ตรงกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย คนอยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์จะต้องนำขยะไปทิ้งรวมกันในถังขยะส่วนกลางของตึก เช่นเดียวกับคอนโดฯ ที่เกิดใหม่ในบ้านเรา โดยส่วนใหญ่ แต่ละตึกจะมีการคัดแยกขยะอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร พลาสติกรีไซเคิล ขวดแก้ว โดยบริษัทกำจัดขยะจะมาเก็บตามวันและเวลาที่กำหนด

ส่วนคนที่อาศัยตามบ้านต้องเอาถุงขยะที่แยกตามประเภทออกมาวางหน้าบ้านตามวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น เช้าวันจันทร์เก็บขยะเปียก เช้าวันอังคารเก็บขยะรีไซเคิล เช้าวันพุธเก็บขยะวัสดุธรรมชาติ และสีของถุงขยะจะเป็นตัวกำหนดขยะที่อยู่ข้างใน และถุงขยะจะต้องเป็นของที่เทศบาลแต่ละเมืองขายเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมเก็บและกำจัดขยะไปในตัว และหน้ากากอนามัยสามารถทิ้งรวมกับเศษอาหารได้ เพราะขยะทั้งถุงจะถูกทำลายในเตาเผาพร้อมกันหมด

ถังขยะในสนามบินเก่า Berlin Tempelhof Airport ที่ปัจจุบันกลายเป็นสวนสาธารณะอนุญาตให้ปิกนิกและย่างบาร์บีคิวได้ ถังสีแดงและสังกะสีสำหรับทิ้งเถ้าถ่านหรือเศษวัสดุจากการจุดเตา ถังสีดำสำหรับทิ้งขยะอื่นๆ

บริเวณสวนสาธารณะจะมีจุดทิ้งขยะตามกิจกรรมที่ได้รับอนุญาต เช่น ในสวนสาธารณะบางแห่งในเบอร์ลินจัดมุมให้ปิกนิกและจุดวางเตาย่างบาร์บีคิวได้ นอกเหนือจากถังขยะทิ้งเศษอาหารและอื่นๆ เราจะเห็นถังขยะสำหรับทิ้งเถ้าถ่านหรือเศษจากการจุดเตาทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของคนและสัตว์ในบริเวณโดยรอบ

การแพร่ระบาดครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการขยะในเมืองได้ดี ถ้าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวเกินกว่าที่คนจำนวนมาจะให้ความร่วมมือด้านการจัดการขยะ เรื่องสุขอนามัยและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เอาจริงเอาจังกับการทิ้งขยะเสียที เพราะจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราหาทางปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะให้เป็นระบบปิดเพื่อลดความสกปรก และยังลดความเสี่ยงให้กับคนทำงาน 

 

อ้างอิง

http://www.bangkok.go.th/environmentbma/page/sub/6671/title/0/info/212120/

https://www.sanook.com/news/7766394/

https://www.posttoday.com/social/general/598993

https://news.thaipbs.or.th/content/303786

Tags: , , ,