ตอนที่เราปั่นจักรยานแหวกลงไปในบึงน้ำยามบ่ายของฤดูใบไม้ผลิวันหนึ่งเมื่อสองปีที่แล้ว เราไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นมากเท่าที่คาดหวังจากภาพที่เราเคยเห็นวิดีโอที่ฝูงจักรยานปั่นแหวกลงไปกลางบึง เราใช้เวลาสามชั่วโมงนั่งรถไฟมาจากฝั่งตะวันตกของประเทศเบลเยียมเพื่อการปั่นจักรยานแหวกลงไปกลางบึงในบ๊อกเรก (Bokrijk) ที่ซึ่งอยู่เกือบสุดขอบตะวันออกของประเทศ 

เส้นทางคอนกรีตขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 212 เมตร อันมีลูกเล่นเป็นการตัดผ่าลงกลางบึงในบ๊อกเรกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลิมเบิร์กแห่งนี้ ดูเกือบจะธรรมดาเมื่อเทียบกับสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาที่เราเคยชินในประเทศไทย เส้นทางคอนกรีตสั้นๆ ผ่าลงกลางบึงนี้เป็นเพียงแค่ลูกเล่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาปั่นจักรยานไปบนเครือข่ายเส้นทางจักรยานในสวนและป่าที่อุดมสมบูรณ์ของเมือง

แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวัง เรากลับรู้สึกทึ่งกับความทุ่มเทของแผนระยะยาว ที่จะเปลี่ยนเมืองที่แทบจะไม่มีจุดเด่นให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนใช้จักรยานที่หลากหลาย ทั้งมาแบบครอบครัว คนวัยทำงาน และกลุ่มคนวัยเกษียณที่ปั่นทัวร์ระยะไกลมาเยี่ยมเยียนในบ่ายวันจันทร์ รวมถึงตัวเราที่มาจากเมืองไทย และต้องขอให้เจ้าถิ่นพาไปให้เห็นกับตาและปั่นผ่ากลางน้ำกับเท้า

ลิมเบิร์กคงไม่ใช่จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ เพราะมันเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้หลัก ที่สร้างผลิตผลมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศเพื่อการบริโภคภายในและส่งออก แต่นอกเหนือจากความเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ฟังดูบ้านๆ เมืองลิมเบิร์กกลับกล้าที่จะขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘สวรรค์สำหรับจักรยาน’

เราทึ่ง เพราะเบลเยียมไม่ใช่เมืองที่โดดเด่นเรื่องทางจักรยานแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อเทียบจำนวนประชากรจักรยานที่มีเพียงแค่ 48% กับตัวเลข 60% ในฟินแลนด์, 76% ในเยอรมนี หรือ 99% ในเนเธอร์แลนด์ แต่กลับทำให้คนบนโลกโซเชียลฯ (รวมถึงชาวจักรยานคนไทยจำนวนมาก) เห็นแล้วแทบจะปักหมุดเป็นจุดหมายปลายทางถัดไปในทันที

แน่นอนว่าความกล้าที่จะอวดอ้างแบบนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะเมืองลิมเบิร์กไม่ได้มีแค่การขีดเส้นแบ่งทางด้านขวาสุดของถนนให้เป็นสีฟ้า แล้วก็เติมรูปจักรยานไปทั่วทั้งเมือง เพื่อให้ผู้ว่าเมืองคว้าจักรยานมาปั่นโชว์ในวันเปิดงาน แต่เมืองที่แสนเกือบจะธรรมดาแห่งนี้ มีทั้งเส้นทางจักรยานที่พานักปั่นไปแหวกน้ำและแหวกป่า 

เป็นที่ยอมรับกันว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เส้นทางจักรยานในลิมเบิร์กเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะคลิปวิดีโอ ‘บึงแหวก’ ที่ชวนให้ผู้คนไปปั่นหรือเดินแหวกบึง ที่ทางเมืองเรียกมันว่า ‘Cycling through Water’ นั้น นับว่าประสบความสำเร็จเพราะมันถูกแชร์ในโลกโซเชียลมีเดียไปมากมาย รวมถึงคนไทยจำนวนหนึ่งที่ได้นำคลิปมาเผยแพร่ด้วยความอิจฉาอยู่บ่อยๆ

 

 

ความพยายามสร้างเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางจักรยานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน เพราะคงมีนักท่องเที่ยวไม่มากนักที่จะเดินทางไปเพียงเพื่อปั่นผ่าน้ำหรือผ่าป่าแบบเรา แต่เป็นเพราะความครอบคลุมของเครือข่ายเส้นทางจักรยาน ที่เมืองลิมเบิร์กวางแผนไว้เมื่อครั้งตั้งเป้าว่าจะทำตัวเองให้เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวทางจักรยานตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยการสร้างเครือข่ายชุดเชื่อมทางจักรยาน (cyclilng junction) ขึ้น ซึ่งหมายถึงจุดตัดของเส้นทางจักรยานนอกถนนหลัก และได้สร้างทางจักรยานขึ้น 2,000 กิโลเมตร ที่ต่อมาได้รองรับนักปั่นมากถึงปีละสองล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรเพียง 11.5 ล้านคน และจากข้อมูลของ statista.com ที่พบสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 18.1 ล้านคนในปี 2562

หลังจากสร้างเครือข่ายทางจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับคนเดินทางด้วยจักรยานแล้ว เมืองลิมเบิร์กก็เริ่มสร้างทาง ‘บึงแหวก’ ในปี 2559 เพื่อชวนนักปั่นมาเที่ยว แต่หลังจากสร้างความฮือฮาได้เพียงแค่สองปี เมืองลิมเบิร์กก็สร้างกระแสในโลกโซเชียลมีเดียผ่านแก๊งคลั่งจักรยานอีกครั้ง ด้วยการลงทุน 2.7 ล้านยูโร (ประมาณ 97 ล้านบาท) สร้างทางวงเวียนลอยฟ้า (circular cycleway) ที่ถูกเรียกว่า Cycling through the Trees ในเขต Bosland ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร และเปิดตัวไปเมื่อตอนกลางปี 2561

ทางที่เรายังไม่เคยได้ไปเยือนนี้ มีแนวคิดของเส้นทางลอยฟ้าไม่ต่างกับทางเดินเข้าชมป่าโกงกางในบ้านเรา แต่ถูกออกแบบเป็นเส้นทางวนเป็นวงกลมยาว 700 เมตร ที่ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปด้วยความชันเฉลี่ยที่ 3-4 องศาจนไปสุดทางที่ความสูงสุดจากพื้นที่ 10 เมตรเพื่อให้ได้ชื่นชมวิว 360 องศาของป่าแห่งนี้

ทางยกระดับนี้ทีมสถาปนิกออกแบบ Burolandschap ได้พยายามทำให้ทางลอยฟ้านี้กลมกลืนกับพื้นที่มากที่สุด เสาค้ำยันที่ถูกออกแบบให้หน้าตาเหมือนต้นสนเพื่อให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบ แน่นอนว่าการสร้างทางลอยฟ้านี้ต้องมีการตัดต้นไม้บางส่วน ซึ่งทีมสถาปนิกก็นำไม้เหล่านั้นไปสร้างศูนย์ข้อมูล

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือโครงการเหล่านี้ได้ความร่วมมือจากองค์กรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมืองลิมเบิร์ก กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานด้านป่าไม้และการอนุรักษ์ในลิมเบิร์ก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางจักรยาน 

เราทึ่งกับความพยายามที่ไม่เคยหยุดของลิมเบิร์ก ที่จะสร้างการท่องเที่ยวจักรยานให้เป็นจุดเด่นของเมือง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาปั่นชมสวนและป่า โดยที่ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่เคยมี หรือถางป่าเพิ่มเพื่อสิ่งก่อสร้างใหม่ แต่ทำให้คนอยากมาปั่นเพียงเพื่อชมธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว

 

 

แต่เมื่อลองกลับมาดูบ้านเรา ที่มักนำเสนอแผนการพัฒนาทางจักรยานให้เราได้ยินอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นไปแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่มีความต่อเนื่องหรือเชื่อมโยงใดๆ ลองดูแค่เมืองหลวงของเรากับเมืองท่องเที่ยวแบบเชียงใหม่

จำได้ไหมว่า กรุงเทพมหานครเราได้มีความพยายามสร้างเส้นทางจักรยานแล้วกี่หน แต่กลับต้องเริ่มใหม่แทบทุกปี

จำภาพ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมลงมือทาสีทางจักรยานในเขตรัตนโกสินทร์เมื่อปลายปี 2557 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ ได้หรือเปล่า เส้นทางจักรยาน 8 กิโลเมตรในเขตเมืองเก่า กับงบประมาณมากกว่า 80 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางจักรยานในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในช่วงปี 2557-2559 แต่กลับถูก สตง. เพ่งเล็งว่าเส้นทางที่สร้างขึ้นนั้นไม่คุ้มค่าการใช้งาน เพราะสุดท้าย เลนจักรยานก็กลายเป็นที่จอดรถเข็นขายของหรือจอดรถยนต์ แบบที่แทบไม่มีใครนึกออกว่าการขีดเส้น ทาสี และปักเสาแบ่งเลนหนึ่งเมตรจากถนนที่แคบอยู่แล้วนั้นทำไปเพื่ออะไร

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแผนส่งเสริมการใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 31 เส้นทางบนถนน 48 สาย รวมระยะทางทั้งหมด 232 กิโลเมตร เวลาผ่านไปแปดปี เส้นทางจักรยานนั้นยังคงอยู่ก็จริง แต่ถูกใช้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เราเคยตั้งคำถามว่า เส้นทางปั่นเพื่อการท่องเที่ยวแบบที่ไม่เชื่อมโยงนี้ใช้ได้จริงหรือเปล่า

เรามองเห็นเส้นทางจักรยานคู่ขนานถนนประดิษฐ์มนูญธรรม (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ถนนเลียบทางด่วน) ที่ถูกออกแบบมาอย่างลงตัวนั้นถูกใช้งานมากน้อยแค่ไหน หรือมันกลายเป็นที่จอดรถและเส้นทางมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนทางหลัก จนทำให้คนใช้จักรยานน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่

แต่เราก็มองเห็นสนาม ‘เจริญสุขมงคลจิต’ ที่สุวรรณภูมิ ที่สปอนเซอร์ลงทุนไปเกือบพันล้านบาท เพื่อปรับปรุงลู่จักรยานและลานจอดรถอำนวยความสะดวกให้คนหอบจักรยานใส่ท้ายรถเพื่อไปปั่นออกกำลังกาย เพราะเส้นทางจักรยานแห่งนี้ไม่ได้มีเครือข่ายเชื่อมโยงใดๆ

หรือเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ที่มีขนาดเหมาะกับระยะปั่น และน่าจะเป็นเมืองแห่งจักรยานได้อย่างลงตัว กลับไม่เคยมีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยหรือเหมาะสม เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2562 เมืองเชียงใหม่ได้ทุ่มงบประมาณ 19.8 ล้านบาทเปิดเส้นทางจักรยานกว้าง 1.5 เมตร ยาว 4.5 กิโลเมตรจากขอบเมืองเชียงใหม่ออกไปห้วยตึงเฒ่า และเล็งที่จะเพิ่มงบประมาณอีก 10 ล้านบาท เพื่อเชื่อมเส้นทางเข้าสู่ตัวเมือง ทั้งนี้เพื่อเอื้อผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่ม และกระทรวงคมนาคมยังมีแผนทุ่มงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทางจักรยาน 13 เส้นทางทั่วประเทศ

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี กับงบประมาณหลายร้อยหรือพันล้านบาท แต่เส้นทางจักรยานบ้านเรากลับดูเหมือนต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เกือบตลอดเวลา ประเทศไทยคงจะมีเส้นทางจักรยานใหม่ตลอดทุกสองหรือสามปี แต่เส้นทางเหล่านี้จะไม่เคยถูกใช้จริง และค่อยๆ เลือนหายไปเพราะไม่มีคนใช้งานและไม่คุ้มค่าการลงทุน ก่อนที่เริ่มต้นตั้งงบประมาณเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ วนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องและไม่จริงจังกับความพยายามจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริง

 

อ้างอิง

https://www.insider.com/cycle-through-water-in-limburg-belgium-2019-5

https://landezine-award.com/cycling-through-water/

https://www.visitlimburg.be/en/cycling-through-water

https://www.visitlimburg.be/en/cycling-through-the-trees

https://www.visitlimburg.be/en/cycling-through-the-heathland

https://worldarchitecture.org/article-links/ecnff/burolandschap-built-circular-cycle-path-among-trees-in-belgium.html

https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1089763/

https://www.isranews.org/isranews-scoop/48585-eeeii.html

https://www.thairath.co.th/content/617753

Tags: , , ,