ในบรรดาปัญหา ‘เข้าใจยาก’ ทั้งหลายในสังคม ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาจริยวิบัติ (Moral Hazard) เป็นปัญหาชนิดที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่ามันสร้างความเสียหายได้เพียงใด 

โดยเฉพาะในระบบการเงินการธนาคารที่เราใช้ ‘เศรษฐกิจระบบตลาด’ ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจแบบสั่งการรวมศูนย์ รัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อในจำนวนและดอกเบี้ยที่ตนต้องการ ปัญหาจริยวิบัติที่บางคนอาจมองว่า ‘เรื่องเล็กน้อย’ หรือ ‘เรื่องส่วนตัว’ อาจส่งผลกระทบกว้างไกล ทำให้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เดือดร้อนและเพิ่มต้นทุนโดยรวมของระบบ 

ก่อนอื่นผู้เขียนอยากทบทวนนิยามของ ‘จริยวิบัติ’ (Moral Hazard) เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่าเรากำลังพูดถึงอะไร

คำว่า Moral Hazard พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำแปลไว้ค่อนข้างตรงตัวว่า ‘ภัยทางศีลธรรม’ แต่ส่วนตัวผู้เขียนชอบคำว่า ‘จริยวิบัติ’ มากกว่า เพราะคำว่า ‘วิบัติ’ สื่ออย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาว่า เกิดความบิดเบี้ยวทางจริยธรรมบางอย่างขึ้นแล้ว 

จริยวิบัติมีต้นกำเนิดมาจากธุรกิจประกัน สื่อถึงสถานการณ์ที่บุคคล (หรือนิติบุคคล) มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามีคนรับผิดชอบแทน ตัวเองไม่ต้องรับผลหรือต้นทุนทั้งหมดของการกระทำนั้นๆ 

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของรถที่ไปทำประกันอุบัติเหตุรถยนต์ เมื่อทำแล้วก็มีแนวโน้มที่จะขับรถด้วยความประมาทกว่าตอนที่ยังไม่ได้ทำประกัน เพราะรู้ดีว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น บริษัทประกันต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถให้ 

บริษัทประกันก็รู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงจริยวิบัติข้อนี้ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีแก้ปัญหา เช่น คิดเบี้ยประกันแพงๆ กับผู้เอาประกันที่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุบ่อย ฝั่งเจ้าของรถผู้เอาประกันเมื่อรู้เงื่อนไขข้อนี้แล้ว ก็จะขับรถอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะไม่อยากจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม 

ด้านธุรกิจประกันสุขภาพ บริษัทประกันชีวิตไทยหลายแห่งก็ทยอยออกมาให้ข้อมูลเช่นกันว่า หลายบริษัทเจอปัญหาจริยวิบัติจากการที่ผู้เอาประกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ป่วยเป็นโรคเล็กน้อยทั่วไป เช่น ไอ เป็นหวัด ปวดท้อง ซึ่งเป็นลักษณะผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มาเบิกเคลมประกันสุขภาพในลักษณะเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ซึ่งปกติต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 

สถานการณ์เช่นนี้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ค่ารักษาพยาบาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้บริษัทประกันจำนวนมากเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะบังคับให้ผู้เอาประกันมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) เป็นรายบุคคล กรณีที่มีการเคลมประกันด้วยโรคเล็กน้อยทั่วไปเกินระดับที่เหมาะสม (Overclaim) เป็นวิธีลดปัญหาจริยวิบัติ 

ลองคิดดูว่า เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าเป็นผู้เอาประกันที่ไม่เคย Overclaim หรือประพฤติเสี่ยงใดๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะบริษัทประกันตัดสินใจแก้ปัญหาจริยวิบัติที่เจอ ด้วยการขึ้นค่าเบี้ยประกันกับผู้เอาประกันทุกรายทุกประเภททุกกรณี โดยไม่สนใจจะแยกแยะว่าใครบ้างที่มีปัญหา

นอกจากปัญหาจริยวิบัติในธุรกิจประกันแล้ว จริยวิบัติก็เกิดในภาคการเงินการธนาคารเช่นกัน และเกิดได้ทั้งฝั่งลูกหนี้และฝั่งเจ้าหนี้ 

ยกตัวอย่างปัญหาฝั่งเจ้าหนี้ก็อย่างเช่น แทบทุกครั้งที่ธนาคารกลางหรือรัฐบาลยื่นมือเข้ามา ‘อุ้ม’ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหาทางการเงิน นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินจำนวนไม่น้อยก็จะไม่เห็นด้วย เพราะการ ‘อุ้ม’ ของรัฐบาลอาจทำให้สถาบันการเงินขาดความระมัดระวังรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ ปล่อยกู้และลงทุนเสี่ยงสูงเกินควร เพราะคาดหวังว่า ถ้าเกิดปัญหาเดี๋ยวรัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มตัวเองอีก

หันมาดูด้านลูกหนี้ ถ้าจะยกตัวอย่างมาตรการของรัฐหรือกฎหมายที่สร้างปัญหาจริยวิบัติของลูกหนี้ในประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่า 2 กรณีที่สร้างปัญหาค่อนข้างแพร่หลาย แต่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนักในสังคม คือ กรณีการแก้เงื่อนไขกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในปี 2566 และกรณีผลกระทบจากคำพิพากษาศาลฎีกาหลายคดีที่เกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงร่างกฎหมาย Lemon Law 

กรณี กยศ.การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไม่เกิน 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับแก่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จากไม่เกิน 7.5% ต่อปี เหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี ย่อมส่งผลให้ลูกหนี้ กยศ.จำนวนไม่น้อยมีแรงจูงใจน้อยลงที่จะมาชำระหนี้ตรงเวลา เพราะเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี กรณีที่ผิดนัดชำระหนี้นั้น ถูกกว่าดอกเบี้ยปกติที่ 1% ต่อปีเสียอีก

ปัญหาจริยวิบัติจากการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ดังกล่าว มีส่วนทำให้ กยศ.คาดการณ์ว่า อาจต้องประสบวิกฤตสภาพคล่อง ในปี 2568 ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการลดการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้รายใหม่ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB ประเมินผลกระทบจากทางเลือกนี้ว่า “ตามขนาดการให้สินเชื่อที่เฉลี่ย 62,865.9 บาทต่อคน แปลว่าผู้ขอกู้รายใหม่จะถูกตัดโอกาสไปราว 1.8 แสนคน ขณะที่ กยศ.มีผู้กู้รายใหม่ต่อปีประมาณ 2 แสนคน การตัดโอกาสนี้จึงหมายถึงประมาณ 89.2% ของผู้ที่กำลังจะขอเงินกู้ใหม่ทั้งหมด” 

กรณีนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาจริยวิบัติของคนส่วนน้อย (ลูกหนี้ที่อยากชักดาบหรือชะลอการชำระหนี้) อาจส่งผลกระทบกว้างไกลต่อคนส่วนใหญ่ (ตัดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษา)

ส่วนปัญหาจริยวิบัติในธุรกิจเช่าซื้อมีรากมาจากการตีความมาตรา 573 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” มาใช้กับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์

ในการเช่านั้น ผู้ให้เช่ามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตลอดอายุการเช่า ไม่มีการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของใดๆ ดังนั้นการให้ผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินคืน จึงนับว่าสมเหตุสมผล แต่การเช่าซื้อจัดเป็นหนี้ประเภทหนึ่ง เพราะสัญญาเช่าซื้อคือการผ่อนสินค้า เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนจ่ายครบถ้วนตามที่ตกลงในสัญญา ผู้เช่าซื้อก็จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ ไป 

การนำมาตรา 573 ที่ใช้กับการเช่ามาอ้างว่า ผู้เช่าซื้อมีสิทธิคืนรถได้ทุกเมื่อ จึงย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยและการประเมินความเสี่ยงของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมาคำพิพากษาศาลฎีกาหลายคดีนำมาตรา 573 มาตัดสินคดีเช่าซื้อรถยนต์ เช่น 

1. สิทธิของผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญา ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทุกเมื่อ โดยส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของ และเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ฎีกาที่ 447/2564, 1203/2565, 3238/2552, 5239/2561)

2. กรณีที่ผู้เช่าซื้อยังไม่เป็นฝ่ายผิดนัด หากผู้เช่าซื้อส่งคืนทรัพย์สินในขณะที่ยังไม่มีหนี้ค้างชำระ หรือยังไม่ได้ผิดนัด ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดราคา จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น (ฎีกาที่ 5239/2561, 1203/2565) 

3. กรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดนัด ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ก่อนคืนรถ และในสัญญามีเงื่อนไขที่ให้รับผิดชอบส่วนต่างของราคาขายหลังการคืนรถ ผู้เช่าซื้ออาจต้องรับผิดในค่าขาดราคานั้น (ฎีกาที่ 447/2564)

4. กรณีที่มีข้อตกลงเรื่องค่าขาดราคาในสัญญา แม้ว่าสัญญาเช่าซื้อบางฉบับจะมีข้อกำหนดว่า ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าขาดราคา หากคืนรถและรถถูกขายได้ต่ำกว่ามูลหนี้ แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัด ศาลจะไม่บังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าขาดราคาดังกล่าว (ฎีกาที่ 1203/2565, 5239/2561) 

5. การเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อ ในบางกรณีที่มีการคืนรถเพื่อเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อ หากเจ้าของกรรมสิทธิ์ (เช่น บริษัทลิสซิ่ง) ไม่อนุมัติการเปลี่ยนตัวภายหลังจากรับรถคืนแล้ว ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่รับคืนรถ และผู้เช่าซื้อเดิมไม่มีภาระผูกพันต่อไป (ฎีกาที่ 3238/2552)

คำพิพากษาทั้งหมดนี้เท่ากับบอกว่า หากผู้เช่าซื้อนำรถไปคืนก่อนผิดนัด เท่ากับไม่มีหนี้ค้างและไม่ต้องจ่ายค่าขาดราคา แม้ว่ามีข้อตกลงค่าขาดราคาในสัญญาก็ตาม และถ้าหากมีการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อ แต่ไม่ได้รับอนุมัติ เท่ากับว่าสัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันคืนรถ 

ผลกระทบในแง่จริยวิบัติจากคำพิพากษาเหล่านี้คืออะไร ผู้เขียนสอบถามผู้บริหารบริษัทลิสซิ่งรายหนึ่ง ได้ข้อมูลว่า ทั้งระบบทุกวันนี้มีผู้เช่าซื้อมาคืนรถเดือนละประมาณ 2,500 คัน คิดเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมาณปีละ 5,400 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนรถคืนนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่า เกิดจากปัญหาจริยวิบัติเป็นสัดส่วนเท่าใด 

ถ้าคิดว่ากึ่งหนึ่งหรือ 50% ของการคืนรถทั้งหมดเกิดจากจริยวิบัติ (ลูกหนี้ฉวยโอกาสคืนรถเพื่อไม่ต้องจ่ายหนี้คงค้าง) และประกอบกับข้อมูลว่ามีการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ราว 1 ล้านบัญชี (ไม่รวมมอเตอร์ไซค์) ต้นทุนจากจริยวิบัติที่บริษัทลิสซิ่งส่งต่อให้กับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ทั้งระบบ (ทั้งลูกหนี้ดีและลูกหนี้ฉวยโอกาส) เช่น ในรูปของค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ก็จะตกที่คนละ (5,400 ล้าน/ 1 ล้าน) x 50% = 2,700 บาทต่อคนต่อปี

ปัญหาจริยวิบัติในธุรกิจเช่าซื้อยังไม่หมดแค่นี้ ล่าสุดกลางปี 2567 มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … หรือชื่อเล่น กฎหมาย Lemon เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง

ผู้เขียนเห็นด้วยในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ แต่ข้อที่น่าตกใจและน่ากังวลคือ มาตรา 22 ในร่างกฎหมายกำหนดว่า ‘ในกรณีที่เป็นสินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ซื้อ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นเช่นเดียวกับผู้ขาย’ ซึ่งเท่ากับกำหนดให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นเพียงผู้ปล่อยสินเชื่อ ต้องร่วมรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นๆ ด้วย

การบังคับให้เจ้าหนี้ต้องร่วมรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้า เป็นเพียงผู้ปล่อยสินเชื่อนั้น นอกจากจะผิดสามัญสำนึกอย่างมากแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาจริยวิบัติในวงกว้าง ซึ่งเจ้าหนี้ก็คงต้องรับมือด้วยการคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น เพิ่มวงเงินดาวน์หรือเข้มงวดกับการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น 

การรับมือเหล่านี้ของเจ้าหนี้ย่อมส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบแพงขึ้น และคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้น้อยลง 

ลองจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหาก ‘หลักการ’ (ที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล) ข้อนี้ถูกใช้กับเรื่องอื่นๆ ทำนองเดียวกัน เช่น เจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อห้องชุดคอนโดฯ​ ต้องร่วมรับผิดด้วย หากลูกหนี้พบว่าห้องในคอนโดฯ ชำรุดบกพร่องเพราะช่างทำงานไม่เรียบร้อย หรือเจ้าหนี้เงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดด้วย หากลูกหนี้พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นใช้ไม่ได้ ฯลฯ 

ถ้าหากเป็นเช่นนี้ เราก็คงได้แต่ภาวนาว่า เจ้าหนี้จะไม่ขึ้นราคาหรือปรับเงื่อนไขสินเชื่อที่เกี่ยวข้องมากนัก และประชาชนที่ต้องการสินเชื่อบางกลุ่มจะเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง เพราะเจ้าหนี้ต้องหาทางรับมือกับความเสี่ยงจริยวิบัติ 

ตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นคงทำให้เห็นว่า ปัญหาจริยวิบัติหรือ Moral Hazard นั้น ไม่ใช่แค่แนวคิดนามธรรมที่พูดกันลอยๆ แต่สามารถสร้างผลเสียกว้างไกลในชีวิตจริง นอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวบุคคลจากการที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ยังอาจสร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่นๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตามไปด้วย

โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถระบุตัวผู้ที่สร้างปัญหาจริยวิบัติได้อย่างชัดเจน หรือรู้วิธีระบุตัวแต่ต้นทุนสูงเกินไปจนไม่คุ้มค่า จึงตัดสินใจส่งต่อต้นทุนมาให้กับลูกค้าทุกกลุ่มแทน

ปัญหาจริยวิบัติที่อาจส่งผลเสียได้มากที่สุดต่อสังคมส่วนรวม อาจเป็นจริยวิบัติที่เกิดเป็นวงกว้าง อันเป็นผลจากนโยบายหรือกฎหมายแนว ‘ประชานิยมทางการเงิน’ ที่สนแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ใส่ใจผลกระทบในระยะยาว

Tags: , , , ,