ตอนที่แล้วผู้เขียนสรุปว่า แผนการจัดการวัคซีน ‘ฉบับแรก’ ที่เปิดเผยต่อประชาชนในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 มกราคม 2564 ค่อนข้างพอใช้ได้ในแง่ของการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากระบุว่าไทยจะจัดหาวัคซีนร้อยละ 40 จากแอสตร้าเซเนก้า, ร้อยละ 40 จากการเข้าโครงการ COVAX (ซึ่งในตัวมันเองก็เป็นวิธีกระจายความเสี่ยงแล้วระดับหนึ่ง เพราะโครงการนี้จะจัดหาวัคซีนหลายยี่ห้อ) และที่เหลืออีกร้อยละ 20 จาก ซิโนแวค
ปัญหาของแผนวัคซีนฉบับแรกไม่ใช่การไม่กระจายความเสี่ยง แต่อยู่ที่ ‘ความไม่เพียงพอ’ ของวัคซีนที่จัดหา เพราะทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนในแผนนั้น ตั้งเป้าว่าจะครอบคลุมประชากรเพียง 33 ล้านคน หรือร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ทั้งที่ถ้าจะไปให้ถึงจุดที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจจะสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ได้ จะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร เท่ากับต้องจัดหาวัคซีนมาไม่น้อยกว่า 92 ล้านโดส
หลังจากนั้นรัฐบาลก็ปรับแผนใหม่ ประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนรวม 100 ล้านโดส ซึ่งตอบโจทย์เรื่องความไม่เพียงพอได้ แต่กลับกลายเป็นว่าการกระจายความเสี่ยงถดถอยลงอย่างมาก กลายเป็น ‘กระจุก’ ความเสี่ยง เพราะจากวัคซีนที่รัฐบาลไทยลงนามสั่งซื้อแล้ว ณ ปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2564) มีเพียงสองยี่ห้อเท่านั้น คือแอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวค ส่วนโครงการ COVAX ที่เคยอ้างว่าจะเข้า สุดท้ายนอกจากจะไม่ได้เข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐยังออกมาทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ด้วยการยกข้ออ้างที่ล้วนแต่ฟังไม่ขึ้นว่าทำไมไทยจึงไม่เข้าร่วม ซึ่งผู้เขียนได้สรุปความเข้าใจผิดหลักๆ เกี่ยวกับโครงการ COVAX ไปแล้วในบทความตอนที่แล้ว
ในเมื่อไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ฟังขึ้น ที่ไทยจะเปลี่ยนแผนไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX แถมยังหาข้ออ้างต่างๆ นานา การเปลี่ยนแผนจึงนับเป็น ‘ความไม่โปร่งใส’ ประการแรกในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล
ผลลัพธ์ของการตัดสินใจ (อย่างกลับหลังหันและไม่โปร่งใส) ที่จะไม่เข้าร่วม COVAX ทำให้การจัดซื้อวัคซีนของรัฐกระจุกตัวอยู่เพียงสองยี่ห้อเท่านั้น คือแอสตร้าเซเนก้าและ ซิโนแวค (ยี่ห้ออื่นๆ ที่รัฐบาลเริ่มต้นเจรจาแล้ว อาทิ ไฟเซอร์และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผู้เขียนไม่นับว่า ‘ซื้อแล้ว’ เพราะยังไม่มีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อวัคซีนแต่อย่างใด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564)
ผู้เขียนสรุปในบทความตอนที่แล้วว่า มีเพียงสามประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่พบว่าใช้เพียงสองยี่ห้อนี้ ได้แก่ ไทย อาเซอร์ไบจาน และเบนิน
การมีวัคซีนเพียงสองยี่ห้อผิดหลักการกระจายความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งการจัดหาสองยี่ห้อนี้ก็มีคำถามมากมายที่รัฐบาลยังไม่ได้ตอบ ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เรียบเรียงประเด็นมาอธิบายโดยลำดับ
แต่ก่อนที่เราจะมองเห็นปัญหาในการจัดหาวัคซีนของไทยได้อย่างถ่องแท้ ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นที่เราจะมาทบทวนสถานการณ์การจัดหาวัคซีน ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน คือชาติสมาชิกอาเซียน (ASEAN) กันก่อน เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดบางประการที่ยังแพร่หลายในสังคมไทย เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19
ความเข้าใจผิด 1 “เราสั่งวัคซีนยี่ห้ออื่นไม่ได้ เพราะเขาส่งช้า ไม่มีของ ความต้องการล้น ฯลฯ”
จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2564) คนจำนวนไม่น้อยยังคงปักใจเชื่อว่า แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลล่าสุดที่สั่งแต่ยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวค โดยไม่เข้าโครงการ COVAX นั้น เป็นแผนที่ ‘ถูกต้อง’ และ ‘ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้’ แล้ว เพราะยี่ห้ออื่นล้วนแต่เล่นตัว หรือไม่มีของจะส่ง เนื่องจากความต้องการทั่วโลกล้นเกินศักยภาพการผลิต ต่อให้เราสั่งได้วันนี้ ก็ต้องรออีกนานหลายเดือนกว่าจะได้ของ
ถ้าเราอยากรู้ว่าความเชื่อทำนองนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใด ก็ควรมาดูไทม์ไลน์การสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ของประเทศต่างๆ ในโลก ผู้เขียนรวบรวมไทม์ไลน์เฉพาะของประเทศสมาชิกอาเซียน เท่าที่หาข้อมูลได้ในข่าวต่างประเทศ และเว็บไซต์ทางการของประเทศต่างๆ โดยสรุปไทม์ไลน์ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 ถึงมิถุนายน 2564 ของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย แยกตามยี่ห้อวัคซีน ได้เป็นแผนภาพดังต่อไปนี้
หมายเหตุ: ภาพประกอบทั้งหมดในบทความชิ้นนี้จัดทำโดย น้ำใส ศุภวงศ์, โครงการ COVAX ประกอบด้วยวัคซีนหลายยี่ห้อ, จนถึงมิถุนายน ยี่ห้อที่ส่งแล้วคือแอสตร้าเซเนก้าและไฟเซอร์, ยอดการส่งมอบวัคซีนแต่ละยี่ห้อรวมถึงยอดที่ได้รับจากการบริจาคด้วย)
แผนภาพข้างต้นบอกอะไรเราบ้าง ผู้เขียนคิดว่ามีประเด็นที่น่าสังเกตอย่างน้อยสองข้อดังต่อไปนี้
1. วัคซีนแต่ละยี่ห้อมีความช้า-เร็วในการส่งของล็อตแรก นับจากเดือนที่ลงนามในสัญญาสั่งซื้อไม่เท่ากัน ยี่ห้อที่ส่งของเร็วสุดได้แก่ ซิโนฟาร์มและซิโนแวค ใช้เวลาส่งของไม่ถึงหนึ่งเดือนนับจากวันสั่งซื้อ รองลงมาคือไฟเซอร์ โมเดอร์นา และสปุตนิก วี ใช้เวลา 1-3 เดือนนับจากวันสั่งซื้อ ส่วนยี่ห้อที่ค่อนข้าง ‘ส่งช้า’ เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ได้แก่ โครงการ COVAX และแอสตร้าเซเนก้า ใช้เวลา 2-5 เดือนนับจากวันสั่งซื้อหรือเข้าร่วมโครงการ
ข้อมูลนี้บอกเราด้วยว่า แต่ละประเทศมีระยะเวลาการได้ล็อตแรกแตกต่างกันอย่างมาก เช่น เมียนมาได้วัคซีนล็อตแรกจากโครงการ COVAX ค่อนข้างเร็ว คือภายใน 2 เดือนหลังจากที่เข้าร่วม ในขณะที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ต้องรอถึง 4-5 เดือน กว่าจะได้วัคซีนล็อตแรกจากโครงการ
สาเหตุของความแตกต่างระหว่างประเทศนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ COVAX ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจนเป็นหลัก ประเทศไหนยิ่งยากจน ยิ่งน่าจะได้วัคซีนก่อนประเทศอื่น ส่วนแอสตร้าเซเนก้าซึ่งเป็นยี่ห้อหลักที่ส่งวัคซีนเข้าโครงการ COVAX พึ่งพาสถาบันเซรุมแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) เป็นกำลังหลักในการผลิต ก็เผชิญกับภาวะการระบาดระลอกสองที่รุนแรงมากในอินเดีย ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกวัคซีน ทำให้แผนการส่งวัคซีนของ COVAX ต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาก
(จากแผนภาพ สามประเทศที่ทั้งเข้าโครงการ COVAX และสั่งซื้อตรงจากแอสตร้าเซเนก้า ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ล้วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจาก COVAX ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มากกว่าจำนวนที่ได้รับจากสัญญาซื้อตรงกับบริษัท นับเป็นข้อพิสูจน์ว่า COVAX ช่วยบรรเทาและกระจายความเสี่ยงให้กับประเทศเหล่านี้ได้)
2. ถ้าไม่นับประเทศที่ยากจนที่สุดในอาเซียน (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนักในการจัดหาวัคซีน และไม่นับสิงคโปร์ (ประเทศที่คนฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่าร้อยละ 51 ของทั้งประเทศ) ประเทศอื่นในอาเซียนยกเว้นไทย ล้วนแต่เพิ่มความหลากหลายของประเภทและยี่ห้อวัคซีนที่สั่งซื้ออย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา หลังจากที่เริ่มมีข่าวความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนจีน โดย จอร์จ ฟู เกา ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลจีน ยอมรับในเดือนเมษายนว่า จะต้อง ‘ทำอะไรสักอย่าง’ เพื่อแก้ปัญหาที่วัคซีนจีน โดยเฉพาะซิโนแวค ซึ่งมีอัตราการป้องกันการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ แม้จะป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี
หลังจากนั้นก็มีข่าวการติดเชื้อระลอกใหม่ในประเทศที่ฉีดวัคซีนจีนให้กับประชากรไปแล้วเกินครึ่งประเทศ เช่น บาห์เรน (ประชากรร้อยละ 65.3 ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว) หมู่เกาะเซเชลส์ (ร้อยละ 69.8 ฉีดครบสองเข็ม) และมองโกเลีย (ร้อยละ 51.3 ฉีดครบสองเข็ม) ข่าวการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในอินโดนีเซีย 350 คน ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ในจำนวนนี้เสียชีวิต 26 คน ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คนฉีดซิโนแวคครบสองเข็ม
ความกังวลและหลักฐานเชิงประจักษ์ของการระบาดรอบใหม่ในประเทศที่ประชากรเกินครึ่งได้รับวัคซีนแล้ว ประกอบกับผลการประมาณการของนักวิจัยว่า วัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวคและวัคซีนของซิโนฟาร์ม น่าจะป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์อันตราย ‘เดลตา’ ได้ค่อนข้างน้อย (คาดว่าซิโนแวคมีประสิทธิผลร้อยละ 28 ในการป้องกันการติดเชื้อเดลตา ส่วนซิโนฟาร์มคาดว่ามีประสิทธิผลร้อยละ 41) เป็นเหตุผลสำคัญที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ลงนามในสัญญาสั่งซื้อวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ประเทศละหลายสิบล้านโดสตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ส่วนมาเลเซียซึ่งใช้ยี่ห้อนี้อยู่แล้วก็ประกาศสั่งเพิ่มอีก 12.8 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน โดยทั้งสามประเทศคาดว่าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกในเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม ซึ่งก็สอดคล้องกับสถิติการส่งมอบวัคซีนยี่ห้อนี้ที่ผ่านมา กล่าวคือวัคซีนล็อตแรกส่งได้ภายใน 2 เดือน (กรณีสิงคโปร์) ถึง 3 เดือน (กรณีมาเลเซีย) หลังจากที่ลงนามในสัญญาซื้อ
ส่วนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลไทยเพียงแต่ลงนามในเอกสารระบุเงื่อนไข (Term Sheet) กับบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทคเท่านั้น ยังมิได้มีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อข้างต้นจากแผนภาพ บอกเราอย่างชัดเจนว่า คนที่เชื่อว่าไทยสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น โดยเฉพาะไฟเซอร์ไม่ได้ เพราะ ‘ไม่มีของ’ หรือ ‘ส่งช้า’ นั้น เป็นความเข้าใจผิดที่ไม่มีมูลความจริงใดๆ รองรับ เพราะที่ผ่านมาทุกยี่ห้อก็ส่งมอบล็อตแรกได้ภายใน 1-3 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
ความเข้าใจผิด 2 “กระบวนการจัดซื้อวัคซีนในไทยเหมือนกันทุกยี่ห้อ”
หลายคนที่ไม่ได้ติดตามกระบวนการจัดหาวัคซีนยี่ห้อต่างๆ อย่างใกล้ชิดเชื่อว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนในไทย ‘เหมือนกัน’ ทุกยี่ห้อ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ ทุกยี่ห้อต้องทำตามขั้นตอนเดียวกัน มีระยะเวลาพอๆ กัน
ความเชื่อนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกัน
ผู้เขียนรวบรวมข้อมูล ‘เส้นทาง’ ของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ในไทย ทั้งวัคซีนทางหลักที่รัฐบาลจัดหา (ฉีดฟรีให้กับประชาชน) และวัคซีนทางเลือกที่เอกชนจัดหา (มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนที่ต้องการ) จากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการและข่าวต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้
แผนภาพนี้บอกเราอย่างน้อยสองข้อด้วยกัน
1. เส้นทางของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ มีความแตกต่างกันพอสมควร วัคซีนสามยี่ห้อที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนแวค (วัคซีนทางหลัก) และซิโนฟาร์ม (วัคซีนทางเลือก) มีเส้นทางที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นทั้งหมด โดยซิโนแวคและซิโนฟาร์ม วัคซีนจากจีน ใช้เวลาเพียงไม่ถึงสองเดือนเท่านั้น ระหว่างวันเริ่มต้นเจรจาจนถึงวันที่วัคซีนล็อตแรกมาถึงไทย (ในกรณีของซิโนฟาร์ม ผู้เขียนอนุมานว่าเริ่มเจรจาในเดือนเมษายน หลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ของเอกชน)
ในทางกลับกัน วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (วัคซีนทางหลัก) หรือโมเดอร์นา (วัคซีนทางเลือก) ล้วนแต่เผชิญกับกระบวนการที่ยาวนานกว่านั้นหลายเดือน เช่น โมเดอร์นา เอกชนเริ่มต้นเจรจาตั้งแต่ก่อนปี 2564 แต่จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนก็ยังไม่สามารถนำเข้ามาได้ คล้ายกับไฟเซอร์ ซึ่งมีข่าวตั้งแต่ปลายปี 2563 ว่ารัฐบาลเจรจากับบริษัท แต่ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วัคซีนยี่ห้อนี้ ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นเจรจาอีกครั้งในเดือนเมษายน 2564 ทว่าเวลาผ่านมาอีกสองเดือนก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อ
ส่วนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นับจากวันที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดหา 5 ล้านโดส ในแผน 100 ล้านโดส เวลาผ่านมาเกือบสามเดือนยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
2. วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนที่ผลการทดลองและทดสอบในโลกจริงบ่งชี้ว่ามีประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อ เป็นวัคซีนยี่ห้อแรกในโลกที่ WHO อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยได้รับอนุมัติตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 แต่ อย. ไทยเพิ่งมาอนุมัติในเดือนมิถุนายน 2564 นี้เอง 6 เดือนหลังจากที่ WHO ให้การอนุมัติ ส่วนวัคซีนยี่ห้ออื่นอีกสามยี่ห้อ คือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม อย. อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ WHO อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อนี้จากแผนภาพจึงบอกเราว่า กระบวนการจัดหาวัคซีนในไทยมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างยี่ห้อต่างๆ ซึ่งก็เป็นเหตุผลอีกข้อที่เราควรจับตาเรื่อง ‘ความโปร่งใส’ ในการจัดหาวัคซีน
ข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมข้างต้น รวมถึงประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกบอกเราว่า วันนี้ ‘โจทย์’ ที่สำคัญที่สุดในการจัดหาวัคซีนก็คือ การจัดหาวัคซีนที่หลากหลาย เพียงพอ และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า
วัคซีนทุกยี่ห้อมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนักจากโควิด-19 ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ‘ฉีด’ ดีกว่า ‘ไม่ฉีด’ อย่างแน่นอน แต่วันนี้เรารู้แล้วว่า วัคซีนแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิผลไม่เท่ากัน และถ้าเราอยาก ‘เปิดประเทศ’ ให้ได้ เราก็จะต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ใช่แค่ป้องกันการป่วยหนัก และฉีดให้ได้ครอบคลุมที่สุด เพื่อเร่งเวลาที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศ นี่คือสิ่งที่มาเลเซียและสิงคโปร์ทำไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังเดินตามด้วยการสั่งซื้อวัคซีน mRNA ประสิทธิผลสูงจากไฟเซอร์-ไบออนเทค ประเทศละหลายสิบล้านโดส ดังที่ผู้เขียนสรุปในแผนภาพข้างต้น
อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์เปลี่ยน ประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่ประเทศยากจนล้วนปรับแผนกันหมดแล้ว แต่แผนการจัดหาวัคซีนของไทยกลับดูเหมือนไม่เปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยล่าสุด ในเอกสารประกอบการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ระบุว่า ขณะนี้ไทยมีการจัดหาหรือเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส ตัวเลขนี้รวมวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อ
ที่น่าสังเกตก็คือ ในตัวเลข 105.5 ล้านโดสของ ศบค. เป็นวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคมากถึง 19.5 ล้านโดส และยิ่งไปกว่านั้น ในแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส ในปี 2565 ก็ระบุว่าจะจัดหายี่ห้อนี้มาอีก 28 ล้านโดส
ซิโนแวคเป็นบริษัทเดียวที่ ศบค. ระบุยี่ห้อในแผนการจัดหาเพิ่ม 50 ล้านโดส ที่เหลือ 22 ล้านโดส ใช้เพียงคำว่า ‘ยี่ห้ออื่นๆ’ เท่านั้น
ตามแผนนี้ เท่ากับว่าไทยจะใช้วัคซีนซิโนแวคมากถึง 19.5 + 28 = 47.5 ล้านโดส คิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของ 150 ล้านโดส เป้าหมายที่รัฐบาลจะจัดหาภายในปี 2565
การเพิ่มจำนวนซิโนแวคมากถึง 28 ล้านโดส ในแผนการจัดหาปี 2565 เป็นแผนที่ ‘ไม่มีเหตุผล’ ใดๆ ทั้งสิ้นที่ฟังขึ้น ทั้งเหตุผลทางการแพทย์หรือเหตุผลในทางปฏิบัติเรื่องความเพียงพอของอุปทาน
วันนี้เรามีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายจากทั่วโลกว่า ประสิทธิผลของซิโนแวคไม่สูงเท่าวัคซีนชนิดอื่น (ข้อนี้ทางการจีนเองก็ยอมรับ) และเราก็เห็นแล้วว่าวัคซีนแทบทุกยี่ห้อสามารถส่งของได้ภายใน 2-3 เดือน นับจากวันสั่งซื้อ ดังแผนภาพการจัดซื้อของประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ผู้เขียนอธิบายข้างต้น
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลลงนามสั่งซื้อตั้งแต่เดือนกรกฎาคม หรือแม้แต่สิงหาคม ไม่มีเหตุผลใดๆ ให้เชื่อว่าจะมียี่ห้อไหนไม่สามารถส่งมอบล็อตแรกภายในต้นปี 2565
แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายท่านทยอยออกมาเตือนแล้วว่า รัฐบาลไทยกำลัง ‘สวนกระแสโลก’ อย่างชัดเจน และกำลังทำในสิ่งที่ไม่อาจนำไปสู่การเปิดประเทศได้จริง
นภชาญ เอื้อประเสริฐ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกแผนการจัดซื้อ ซิโนแวค เพิ่มอีก 28 ล้านโดส จาก 50 ล้านโดส ว่า “เป็นแผนการจัดซื้อวัคซีนที่แย่ที่สุดในโลก และสวนทางกับทุกประเทศทั่วโลก เป็นแผนการที่ไม่ได้อ้างอิงความรู้ใดๆ ในโลกปัจจุบัน และสวนทางกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหา variant of concern ของ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิด COVID-19 …ถ้าบอกว่าทั้งนี้ขึ้นกับประสิทธิภาพของวัคซีนและสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ ตอนนี้ต้องยกเลิกแผนได้แล้วครับ ปีหน้าอีก 50 ล้านโดส ต้องเป็น mRNA based vaccine อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ร่วมกับ แอสตร้าเซเนก้าอีก 100 ล้านโดส ไม่ใช่ 50 ล้านโดส และถ้าจะต้องฉีดเพิ่มในเด็กอายุ 2-17 ปี ต้องจัดหาเพิ่มอีกเป็น 130 ล้านโดส คือแย่ทั้งชนิดของวัคซีนที่เลือก และปริมาณวัคซีนที่ต้องจัดหาเพิ่ม”
แผนที่จะซื้อ ซิโนแวค เพิ่มอีก 28 ล้านโดส นอกจากจะไม่มีเหตุผลใดๆ ทางการแพทย์และทางปฏิบัติที่ ‘ฟังขึ้น’ แล้ว ยังน่ากังวลเนื่องจากการจัดซื้อยี่ห้อนี้ที่ผ่านมามีความ ‘ไม่โปร่งใส’ น่ากังขาอย่างน้อยสี่ข้อด้วยกัน
1. การจัดซื้อซิโนแวคที่ผ่านมา ปรากฏมติ ครม. ระบุชัดเพียง 2.5 ล้านโดสเท่านั้น
ปกติการสั่งซื้อวัคซีนจะต้องเสนอให้ ครม. อนุมัติ เพราะใช้เงินจำนวนมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ให้สัมภาษณ์เองหลายครั้งว่า การซื้อวัคซีนใช้งบกลางและงบเงินกู้โควิด-19 ซึ่งตามระเบียบงบกลาง ถ้าจะใช้งบกลางเกิน 100 ล้านบาท ก็ต้องขอ ครม. อนุมัติ ส่วนงบเงินกู้โควิด-19 เคร่งครัดกว่านั้นมาก เพราะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ก่อนเสนอให้ ครม. อนุมัติ
วัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าที่ไทยมีสัญญาสั่งซื้อ 61 ล้านโดส มีมติ ครม. รองรับชัดเจน แต่สำหรับวัคซีนซิโนแวค มีเพียง 2.5 ล้านโดสแรกเท่านั้นที่ปรากฏมติ ครม. รองรับชัดเจนว่า ให้นำไปซื้อวัคซีนราคาใด จำนวนเท่าใด (ดูภาพประกอบด้านล่าง ดัดแปลงจากภาพขององค์การเภสัชกรรม หรือ อภ.) คือ 2 ล้านโดส ปรากฏในมติ ครม. วันที่ 5 มกราคม 2564 และ 5 แสนโดส ปรากฏในมติ ครม. วันที่ 27 เมษายน 2564 วงเงินรวม 1,228 ล้านบาท และ 321 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนวัคซีนที่เหลืออีกราว 6 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ ‘ซื้อแล้ว นำเข้าแล้ว’ (ไม่นับ 5 แสนโดส ในภาพ ที่รัฐบาลจีนบริจาคให้) ผู้เขียนหามติ ครม. ที่ชัดเจนไม่เจอ
ถ้าใช้ตัวเลข 19.5 ล้านโดส ตามเอกสาร ศบค. ข้างต้น ที่บอกว่าจัดหาแล้วใน 100.5 ล้านโดส ตัวเลขนี้ ถ้าหัก 1 ล้านโดส ที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ออก บ่งชี้ว่าซื้อแล้ว 18.5 ล้านโดส แปลต่อไปได้ว่า ซื้อมากถึง 18.5-2.5 = 16 ล้านโดส ที่ไม่ปรากฏว่ามี มติ ครม. ใดๆ รองรับ
ตัวเลข 16 ล้านโดส ถ้าใช้ราคารวม 605.2 บาทต่อโดส (ค่าวัคซีน 542.5 บาทต่อโดส บวกค่าบริหารจัดการ 62.7 บาทต่อโดส) จาก มติ ครม. 27 เมษายน 2564 แปลว่าจะต้องใช้เงินมากถึง 10,291 ล้านบาท
นี่คือเงิน 10,291 ล้านบาท ที่เราไม่เห็น มติ ครม. ที่ชัดเจนอย่างตอนที่กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติใช้งบกลางจาก ครม. วันที่ 27 เมษายน 2564 ไปซื้อซิโนแวค 5 แสนโดส ใกล้เคียงที่สุดที่ผู้เขียนหาได้คือ มติ ครม. วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ซึ่งสรุปเพียงสั้นๆ ว่า ครม. “อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576,629,322 บาท” โดยไม่แจกแจงรายละเอียด ผู้เขียนคิดว่าการจัดซื้อซิโนแวค 6-16 ล้านโดส อาจอยู่ในงบประมาณจำนวนนี้ก็ได้
คำถามคือ เหตุใดการจัดซื้อซิโนแวค 6 ล้านโดส หรือ 16 ล้านโดส จึงไม่มีมติ ครม. ชัดเจน ที่ระบุวงเงิน จำนวน และราคาซื้อ เฉกเช่นตอนที่มาขออนุมัติซื้อ 5 แสนโดสจาก ครม. ในวันที่ 27 เมษายน 2564
2. กระบวนการจัดซื้อซิโนแวคแตกต่างจากยี่ห้ออื่นๆ โดย ‘ซื้อตรง’ ไม่ผ่าน ‘ตัวแทน’
องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้าซิโนแวคจากจีน พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ซื้อตรง’ จากบริษัทโดยไม่ผ่าน ‘ตัวแทน’ เหมือนกับยี่ห้ออื่น และรัฐบาลก็ไม่ได้ให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการเหมือนกับการซื้อยี่ห้ออื่น แต่กลับให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการโดยตรง
คำถามคือ ทำไมกระบวนการซื้อยี่ห้อนี้ยี่ห้อเดียว จึงแตกต่างจากยี่ห้ออื่นที่รัฐบาลจัดซื้อ และมีเหตุผลอะไรที่ไม่ให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการ ทั้งที่เป็นหน่วยงานโดยตรง และดูแลการซื้อยี่ห้ออื่นทุกยี่ห้อ เอกสารเผยแพร่ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564
3. ราคาที่ไทยซื้อซิโนแวคแพงกว่าหลายประเทศ
ราคาวัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลไทยจ่าย อยู่ที่ 542.50 บาทต่อโดส (นับเฉพาะค่าวัคซีนเท่านั้น ไม่รวมค่าบริหารจัดการ ใช้ตัวเลขจาก มติ ครม. 27 เมษายน 2564) ขณะที่อินเดียจ่ายประมาณ 439 บาทต่อโดส, ฟิลิปปินส์จ่ายราว 426 บาทต่อโดส และอินโดนีเซียจ่ายราว 440 บาทต่อโดส
คำถามง่ายๆ คือ ทำไมไทยต้องจ่ายแพงกว่าประเทศอื่นราว 100 บาทต่อโดส
4. บริษัทซิโนแวคมีประวัติการติดสินบนหน่วยงานรัฐมายาวนาน
ข่าวต่างประเทศหลายชิ้นรายงานว่า บริษัทซิโนแวคมีประวัติการติดสินบนหน่วยงานรัฐในจีนนานข้ามทศวรรษ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารโรงพยาบาลอย่างน้อย 20 คน จาก 5 จังหวัดในจีน ยอมรับต่อศาลว่ารับสินบนจากพนักงานของซิโนแวค ระหว่างปี ค.ศ. 2008 และ 2016 ต่อมาในปี 2017 อดีตรองผู้อำนวยการ อย. จีน ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ปรับ 500,000 หยวน โทษฐานรับสินบนจากซิโนแวคและบริษัทอื่นๆ อีกเจ็ดแห่ง ให้อนุมัติผลิตภัณฑ์ยา ซีอีโอของซิโนแวคให้การต่อศาลว่า เขาถูกเรียกสินบน เมื่อถูกเรียกก็ต้องให้ ไม่อาจปฏิเสธได้
ประวัติ ‘สีเทา’ ของบริษัททำให้เกิดคำถามว่า คนไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่ผ่านมา และที่ประกาศว่าจะซื้ออีกอย่างน้อย 28 ล้านโดส ในปี 2565 (ซึ่งดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ใดๆ รองรับ) จะมีความโปร่งใส ไม่มีการ ‘หากิน’ กับวัคซีน
วัคซีนซิโนแวครวม 47.5 ล้านโดส ที่ ศบค. ระบุในแผนการจัดหา 150 ล้านโดสนั้น ถ้าซื้อทั้งหมดในราคาเดียวกันกับที่ซื้อ 2.5 ล้านโดสแรก (ที่มีมติ ครม. รองรับ) จะต้องใช้เงินมากถึง 47.5 x 542.5 = 25,768 ล้านบาท และถ้าใช้ตัวเลข ‘ค่าบริหารจัดการ’ 62.7 บาทต่อโดส จากมติ ครม. 27 เมษายน 2564 ก็เท่ากับว่าจะมีค่าบริหารจัดการอีก 47.5 x 62.7 = 2,979 ล้านบาท
รวมแล้วไทยอาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 28,748 ล้านบาท ในการซื้อวัคซีนที่ประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ ในท้องตลาด ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตา และมี ‘ความไม่โปร่งใส’ หลายข้อในกระบวนการจัดหา
ดังที่ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นในบทความนี้
Tags: วัคซีน, COVID-19, Citizen 2.0, Vaccine, มหากาพย์วัคซีน