หลังจากที่คนไทยทั้งประเทศอดทนรอและอดทนลงทะเบียนในแอพพลิเคชันจองวัคซีนหลายชนิดมานานหลายเดือน วันที่ 7-12 มิถุนายน 2564 สัปดาห์แรกของการเริ่มต้น ‘ปูพรม’ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งประเทศ ก็ผ่านไปด้วยความโกลาหลทุลักทุเล หลายคนจองผ่าน ‘หมอพร้อม’ มานานหลายเดือนแต่ถูกเทกะทันหัน หรือไปถึงที่ฉีดแล้วได้รับแจ้งว่า มีแต่วัคซีนซิโนแวคให้ฉีด ทั้งที่เคยคิดว่าต้องเป็นแอสตร้าเซเนก้า เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 โรค หรืออายุเกิน 60 ปี สวนทางกับอีกหลายคนในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่กลับได้ฉีดแอสตร้าเซเนก้า แทนที่จะเป็นซิโนแวค เพราะวัคซีนบางส่วนถูกดึงกลับจากนอกกรุงเทพฯ มาเร่งฉีดในกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็น ‘จังหวัดเสี่ยงสูง’ ทำให้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนมากพลอยถูกเบี้ยวนัดฉีดวัคซีนไปด้วย

โรงพยาบาลและแพทย์จำนวนมากรายงานตรงกันว่า เพียงไม่กี่วันหลังจาก 7 มิถุนายน วัคซีนที่ได้มาก็หมดแล้ว เพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ บรรยายอย่างเห็นภาพว่า 

“แม้จะพยายามดูดวัคซีนแอสตร้าให้ได้ขวดละ 12 โดส บวกกับซิโนแวคที่เสริมมาแล้ว ก็ยังไม่พอกับคนที่จองไว้

“หลายโรงพยาบาลเริ่มท้อใจ เพราะผู้จองวัคซีนกับหมอพร้อมยังเดินทางมาขอฉีดวัคซีนตามนัด แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด หลายคนยืนยันว่า รมต.บอกว่าวัคซีนพอไง วัคซีนหายไปไหน สร้างแรงกดดันกับเจ้าหน้าที่หน้างานและโอเปอร์เรเตอร์รับโทรศัพท์อย่างมาก จะประกาศเลื่อนนัดออกสื่อก็ไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีขู่เพ่งโทษเอาไว้”

คนจำนวนมากที่ลงทะเบียนมาหลายเดือน กลับถูกเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โรงพยาบาลและสถานฉีดหลายแห่งบอกตรงไปตรงมาว่า “วัคซีนไม่พอ” ประกาศเลื่อนฉีดการวัคซีนสำหรับคนที่ได้คิวฉีด 14-20 มิถุนายน 2564 หรือตั้งแต่วันที่ 15 ออกไปก่อน จนกว่ารัฐบาลจะจัดสรรวัคซีนมาให้

คนที่ถูกเทในช่วง 7-12 มิถุนายน หรือได้ฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อกับที่เคยรับแจ้ง หรือถูกเลื่อนฉีดในวันที่ 14-20 มิถุนายน เป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ถือเป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ ที่ลงทะเบียนด้วยความยากลำบากมาแล้วหลายเดือน นานก่อนที่จะมีโครงการฉีดวัคซีนของผู้ประกันตน ‘ม33เรารักกัน’ และโครงการ ‘ไทยร่วมใจ’ ของกรุงเทพมหานครเสียอีก แต่หลายคนในโครงการที่มาทีหลัง ลงทะเบียนทีหลัง กลับได้รับวัคซีนก่อน

ความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ และการถูกเทอย่างกะทันหันทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นทั้ง ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ที่เลวร้ายลงอย่างมากในยุคนี้ และปัญหาการจัดการวัคซีนของรัฐบาลอย่างชัดเจน

ปัญหาไม่ใช่ศักยภาพในการฉีด เพราะโรงพยาบาลและสถานให้บริการทั่วประเทศฉีดรวมกันได้ถึง 416,847 โดส และ 472,128 โดส ในวันที่ 7 และ 8 มิถุนายน ตามลำดับ สองวันแรกของการเริ่ม ‘ปูพรม’ นี่เป็นข่าวดี เพราะถ้าหากเราจะบรรลุเป้าหมาย ‘ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่’ ภายในสิ้นปี 2564 อัตราการฉีดวัคซีนระดับนี้ก็จำเป็น ซึ่งระบบสาธารณสุขของเราก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘ทำได้’

แต่ปัญหาอยู่ที่ความล่าช้า ความไม่เพียงพอ และความไม่แน่นอนของวัคซีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของระบบสาธารณสุข เป็นเรื่องของนโยบายทางการเมือง ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล และความสามารถในการบริหารความเสี่ยง

ผู้เขียนเฝ้าดูความโกลาหล ความไม่แน่นอน และอาการ ‘ไม่ยอมรับความจริง’ ของผู้มีอำนาจจัดการวัคซีนมาหลายเดือน สังเกตว่ามีความเข้าใจผิดอยู่หลายประการด้วยกันในสังคม บางส่วนก็เกิดจากการไม่พูดความจริง การบิดเบือนความจริง หรือการพูดความจริงครึ่งเดียวของเจ้าหน้าที่ระดับสูง 

วันนี้จึงอยากรวบรวมความเข้าใจผิดหลักๆ 4 ประการ มาเขียนถึงและอธิบายเป็นบทความ เพราะดูท่าว่า ความเข้าใจผิด ความโกลาหล และความไม่แน่นอนในแผนการจัดการวัคซีนของรัฐ จะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่เลยทีเดียว

หมายเหตุ: ในสังคมวันนี้มีความเข้าใจผิดที่แพร่หลายมากเกี่ยวกับการทำงานและประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ผู้เขียนจะไม่เขียนถึงประเด็นเหล่านี้ เพราะมีแพทย์ที่ตรงไปตรงมาต่อวิชาชีพหลายท่านกำลังพยายามถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

1. ‘แทงม้าเต็ง’ สู้ ‘กระจายความเสี่ยง’ และ ‘ซื้อให้มากพอ’ ไม่ได้

ใครที่ทำงานในภาคธุรกิจย่อมรู้ซึ้งถึงความสำคัญของ ‘การกระจายความเสี่ยง’ ไม่มากก็น้อย บริษัทไม่ว่าจะใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม จะมีนโยบายไม่สั่งซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์เจ้าเดียว ส่วนธนาคารทุกแห่งก็มีนโยบายจำกัดสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกค้าธุรกิจที่มาจากกลุ่มเดียวกันเช่นกัน เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัว (ข้อนี้เป็นกฎหมายด้วย) 

ไม่ใช่เพราะว่าซัพพลายเออร์ไม่เก่ง หรือลูกค้าธุรกิจชำระหนี้ธนาคารคืนไม่ได้ แต่ธุรกิจและธนาคาร ‘กระจายความเสี่ยง’ เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจต้องสะดุด จำกัดวงความเสียหายในกรณีที่ความเสี่ยงกลายเป็นความจริง ตรงตามสำนวนที่ว่า ‘อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว’ เพราะเผื่อตะกร้าตก ไข่จะได้ไม่แตกหมด

วัคซีนโควิด-19 สำคัญยิ่งกว่าวัตถุดิบหรือสินค้าไหนๆ ในยามนี้ เพราะเป็นความหวังที่จะได้เปิดประเทศ เศรษฐกิจจะได้เริ่มฟื้นตัว คนจะได้เริ่มลืมตาอ้าปาก 

หลักการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนนั้น นอกจากจะสำคัญเพราะเป็นหลักการทั่วไปดังที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว ยังสำคัญในกรณีนี้เป็นพิเศษ เนื่องจาก 

1. วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดทุกยี่ห้อ เร่งวิจัยและผลิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น เราไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดตั้งแต่ต้นว่าวัคซีนตัวไหนมีประสิทธิผลดีที่สุด ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ยี่ห้อไหนจะประสบปัญหาการผลิต ส่งของไม่ได้ในช่วงไหน ดังนั้นจึงต้องพยายามซื้อหลากหลายชนิดและยี่ห้อ 

2. วัคซีนแต่ละชนิดมีข้อจำกัด อาจไม่มีชนิดไหนเหมาะกับประชาชนทุกกลุ่ม คนที่แพ้วัคซีนตัวใดตัวหนึ่งควรมีทางเลือกอื่น 

3. โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนที่ผลิตออกมาแล้วบางยี่ห้อจึงอาจรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ได้ ความหลากหลายของวัคซีนในมือจึงสำคัญ นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมที่จะมองหาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าตลอดเวลาด้วย

แผนการจัดการวัคซีนโควิด-19 ของไทย ถูกสื่อเรียกว่า แผน ‘แทงม้าเต็ง’ หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอบคำถามสื่อ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า 

“ถามว่าแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราแทงม้าเต็ง เพราะเราเห็นว่าม้าจากแอสตร้าเซเนก้าวิ่งนำมาแล้ว กล้าสนับสนุนประเทศไทยก่อน ส่วนม้าตัวอื่นบอกว่าจะให้วัคซีนเราเร็วที่สุดในกันยายน ยังบอกเงื่อนไขไม่ได้ บอกจำนวนไม่ได้”

‘ม้าเต็ง’ ในคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหมายถึงวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งเป็น ‘วัคซีนหลัก’ ของไทย เพราะรัฐบาลลงนามสั่งซื้อมากถึง 61 ล้านโดส หลายคนพอได้ยินคำว่าม้าเต็งบ่อยเข้า ก็อาจลืมคิดไปว่า ที่จริงแผนการจัดการวัคซีนของไทยนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็มีการคิดจะ ‘กระจายความเสี่ยง’ อยู่แล้วระดับหนึ่ง เพราะแผนที่ปรากฎต่อสาธารณะครั้งแรกในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 มกราคม 2564 ระบุว่า รัฐจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 ทั้งสิ้น 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้วัคซีนจะมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่

1. การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26 ล้านโดส) และคาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (จะเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาจำนวน 61 ล้านโดส

2. การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด เพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสถาบันอาหารและยา (อย.) ประเทศจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228,208,000 บาท

3. การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง

ตัวเลขเบื้องต้นจากสามแหล่งนี้ดูมีการ ‘กระจายความเสี่ยง’ ที่พอใช้ได้ นั่นคือจากจำนวนวัคซีนที่จะจัดหาทั้งหมด 66 ล้านโดส (ครอบคลุม 33 ล้านคน) ร้อยละ 40 มาจากแอสตร้าเซเนก้า (สัญญาแรกคือ 26 ล้านโดส) ร้อยละ 40 มาจากโครงการ COVAX และที่เหลืออีกร้อยละ 20 มาจากซิโนแวค

ปัญหาของแผนการจัดหาวัคซีนแผนแรกจึงไม่ใช่ว่าไม่กระจายความเสี่ยง แต่อยู่ที่ ‘ความไม่เพียงพอ’ ของการจัดหา เพราะตั้งเป้าว่าจะครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ทั้งที่ถ้าจะไปให้ถึงจุดที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจจะสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ได้ จะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร เท่ากับต้องจัดหาวัคซีนมาไม่น้อยกว่า 92 ล้านโดส (เพื่อครอบคลุมประชากร 46 ล้านคน) 

หลังจากที่แผนแรกปรากฏต่อสาธารณะ ในเดือนเมษายน รัฐบาลก็ขยับเป้าหมายเป็นว่า จะจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส หลังจากที่เกิดคลัสเตอร์ระบาดระลอกใหม่จากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษเป็นครั้งแรก 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมาย ‘ความเพียงพอ’ ในแผนการจัดหาวัคซีน ดูจะต้องแลกมาด้วย ‘การกระจายความเสี่ยง’ ที่ไม่เป็นไปตามแผนเดิม เพราะจนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลลงนามสั่งซื้อวัคซีนไปแล้วเพียงสองยี่ห้อเท่านั้น คือยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส และยี่ห้อซิโนแวคจากจีนอีก 7 ล้านโดส (ในจำนวนนี้รวม 1 ล้านโดส ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน)

ยอดสั่งซื้อแอสตร้าเซเนก้า รวม 61 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของวัคซีนทั้งหมดที่ซื้อ (ไม่ใช่ร้อยละ 40 ตามแผนเดิม) ที่เหลือร้อยละ 10 คือวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค

ส่วนโครงการ COVAX ความร่วมมือระดับโลก ที่ ครม.เคยมีมติในเดือนมกราคม 2564 ให้จัดหาวัคซีนร้อยละ 40 ของวัคซีนทั้งหมด กลายเป็นว่าไทยไม่เข้าร่วม มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของรัฐ ยังออกมาให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชน เพื่อสร้างเหตุผลอธิบายว่าทำไมไทยถึงไม่เข้าร่วม (อ่านคำอธิบายว่าทำไมเหตุผลเหล่านี้จึง ‘ฟังไม่ขึ้น’ ได้ในข้อ 2. ของบทความนี้) 

แผนการจัดหาวัคซีนของไทย จากเดิมที่กระจายความเสี่ยง 40-40-20 (แอสตร้าเซเนก้า-COVAX-ซิโนแวค) กลับกลายเป็นแผน 90-10 (แอสตร้าเซเนก้า-ซิโนแวค) ที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิง แถมนอกจากจะไม่กระจายความเสี่ยงของ ‘ยี่ห้อ’ วัคซีนแล้ว ยังไม่กระจายความเสี่ยงของ ‘แหล่งผลิต’ ด้วย เพราะคาดหวังวัคซีนร้อยละ 90 หรือทั้ง 61 ล้านโดส จากโรงงานผลิตโรงเดียวในประเทศ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ผลิตวัคซีนใดๆ มาก่อน

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วประเทศอื่นมีการ ‘กระจายความเสี่ยง’ ของการจัดหาวัคซีนดีกว่าไทยหรือไม่ อย่างไร

เราตอบคำถามนี้ได้จากข้อมูลบนเว็บ Our World In Data และข้อมูลจากโครงการ COVAX ผู้เขียนนำข้อมูลทั้งสองแหล่งมาประมวลสรุปได้ว่า จากประเทศในโลกทั้งหมด 211 ประเทศ มีลักษณะการใช้วัคซีนโควิด-19 ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 64)

– ประเทศที่ปัจจุบันใช้วัคซีน 1 ยี่ห้อ (นับ COVAX เป็น 1 ยี่ห้อ) มี 77 ประเทศ (36.5% ของทั้งหมด)

– 2 ยี่ห้อ มี 51 ประเทศ (24.2 %)

– 3 ยี่ห้อ มี 41 ประเทศ (19.4%) 

– อย่างน้อย 4 ยี่ห้อ มี 42 ประเทศ (19.9%) 

ประเทศที่ใช้วัคซีนยี่ห้อเดียว 77 ประเทศ เกือบทั้งหมดเป็นประเทศยากจนที่เข้าโครงการ COVAX หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า ถึงแม้จะอยากกระจายความเสี่ยงก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน

มี 83 ประเทศทั่วโลก (ราว 30%) ที่สั่งซื้อวัคซีนมากกว่า 2 ยี่ห้อ ส่วนไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ 51 ประเทศ (24%) ที่ใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อ 

แต่ประเทศที่ใช้เพียงยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวคมีเพียงสามประเทศเท่านั้นในโลก คือ ไทย อาเซอร์ไบจาน และเบนิน

2. ไทยไม่เข้า COVAX: ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นที่ฟังขึ้น

จากที่ผู้เขียนอธิบายในข้อ 1. ว่า ที่จริงรัฐบาล ‘เคย’ มีแผนที่จะจัดหาวัคซีนร้อยละ 40 ของทั้งหมด จากการเข้าร่วมโครงการ COVAX ตามมติ ครม. วันที่ 5 มกราคม 2564 แต่หลังจากนั้นกลับไม่ทำตามแผน โดยที่ตัวแทนภาครัฐก็ออกมาให้เหตุผลต่างๆ นานา เช่น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน เข้าร่วมโครงการไม่ได้, ต้องจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า ไม่รู้ว่าจะได้ตัวไหนบ้าง, COVAX แพง และคิดค่าบริหารจัดการเพิ่มเติม, วัคซีนหลักของ COVAX คือแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งไทยซื้อตรงอยู่แล้ว ฯลฯ

ข้ออ้างเหล่านี้ไม่ถูกต้องหรือไม่ก็พูดความจริงครึ่งเดียว ทุกข้อ ‘ฟังไม่ขึ้น’ แม้แต่น้อย ลองมาดูกันทีละข้อ

ข้ออ้าง 1 ไทยไม่ใช่ประเทศยากจน เข้าร่วมโครงการไม่ได้

ข้ออ้างนี้ผิดเต็มประตู

COVAX เป็นโครงการของ GAVI แนวร่วมวัคซีนระดับโลก ซึ่งมีองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เป็นสมาชิกด้วย มี 184 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ คิดเป็น 97% ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในจำนวนนี้เป็น ‘ประเทศยากจน’ ที่เข้าข่ายได้รับวัคซีนฟรี จำนวน 92 ประเทศ ที่เหลือเป็นประเทศร่ำรวย และประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle income countries) เข้าร่วมโครงการในฐานะประเทศผู้บริจาค และได้สิทธิซื้อวัคซีนในโครงการ

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า ‘ไทยไม่ใช่ประเทศยากจน’ จึงเข้าร่วมโครงการไม่ได้ จึงเป็นคำกล่าวเท็จ ลำพังในกลุ่มประเทศอาเซียน สมาชิกอาเซียนก็เข้าร่วมทุกประเทศ ยกเว้นไทย รวมทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งที่ไม่ใช่ประเทศยากจนแต่อย่างใด  

ข้ออ้าง 2 ต้องจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า ไม่รู้ว่าจะได้ตัวไหนบ้าง

ข้ออ้างนี้พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว 

ถ้าใครไปอ่านเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ COVAX สำหรับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศยากจน จะพบว่า COVAX ให้ทางเลือกสองแบบในการจองซื้อวัคซีน แบบแรกเป็นสัญญาซื้อขายแบบผูกมัด (Committed Purchase Arrangement: CPA) จะต้องจ่ายเงินมัดจำ 1.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส หรือ 15% ของราคาเต็มต่อโดส และต้องวางหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 8.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส หรือ 17.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ถ้าเลือกสัญญาแบบนี้จะเลือกชนิดวัคซีนไม่ได้ แต่ข้อดี (เมื่อเทียบกับแบบที่สอง) ก็คือ จ่ายเงินล่วงหน้าน้อยกว่า 

แบบที่สอง สัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก (Optional Purchase Arrangement: OPA) ประเทศที่เลือกสัญญานี้ สามารถถอนตัวออกจากการรับวัคซีนตัวใดก็ได้ โดยไม่ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนตัวอื่นๆ ได้ในปริมาณเต็มจำนวนที่ต้องการ สำหรับทางเลือกนี้ จะต้องจ่ายมัดจำล่วงหน้าต่อโดสมากกว่าแบบแรก อยู่ที่ 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส และไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกัน ในทางเลือกนี้ ประเทศที่เข้าร่วมต้องตัดสินใจว่าจะซื้อวัคซีนยี่ห้อไหน ถ้าไม่ตัดสินใจก็อาจได้รับวัคซีนช้า ข้อดีก็คือเลือกวัคซีนที่ต้องการได้ ข้อเสีย (เมื่อเทียบกับสัญญาแบบแรก) คือ ต้องจ่ายเงินมัดจำมากกว่า

ดังนั้น จะเห็นว่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการ COVAX สามารถเลือกวัคซีนที่ต้องการได้ถ้าลงนามในสัญญาแบบที่สอง (OPA) ไม่ใช่ว่าเลือกยี่ห้อไม่ได้เลยแต่อย่างใด และต่อให้เลือกทำสัญญาแบบแรกคือ CPA วัคซีนทุกยี่ห้อที่ใช้ในโครงการ COVAX ก็จะเป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ผ่านความเห็นชอบขององค์การอนามัยโลกอยู่ดี 

อีกทั้งการเข้าร่วมโครงการนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ติดต่อซื้อวัคซีนต่างๆ จากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ดังที่เราก็เห็นว่านับร้อยประเทศทำทั้งสองอย่าง คือเข้าร่วม COVAX และเจรจาซื้อโดยตรง

ข้ออ้าง 3 COVAX แพง และคิดค่าบริหารจัดการเพิ่มเติม

ข้ออ้างนี้ส่วนแรกเป็นความเห็น ส่วนหลังเป็นความจริง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

โครงการ COVAX สั่งซื้อวัคซีนแทนสมาชิก 184 ประเทศ มีอำนาจต่อรองสูงมากกับบริษัทผู้ผลิตแต่ละเจ้า อีกทั้งเป็นโครงการที่มุ่งช่วยประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ราคาที่ได้จึงน่าจะถูกกว่า ถ้าหากแต่ละประเทศไปเจรจาเอง

ส่วน “ค่าบริหารจัดการ” นั้น COVAX ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการจัดหาวัคซีน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็อย่างเช่น การทำประกันการเข้าทำสัญญาจองซื้อล่วงหน้า ค่าธรรมเนียมทางการเงิน (เช่น การจัดหาเงินกู้มาจ่ายเงินมัดจำ เป็นต้น) โดย COVAX ประมาณการว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารตัวโครงการจะคิดเป็น 0.2% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

สำหรับตัวอย่างรูปธรรม ลองมาดูมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เข้าร่วมโครงการ COVAX ตั้งแต่ปี 2563 กัน 

มาเลเซียเข้าร่วมในสถานะประเทศกำลังพัฒนา ‘รายได้ปานกลางระดับสูง’ จึงต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีน โดยตั้งเป้าจะจัดหาวัคซีนจากโครงการนี้ 6.4 ล้านโดส ครอบคลุมร้อยละ 10 ของประชากร นอกจาก COVAX แล้ว มาเลเซียสั่งซื้อตรงจากแอสตร้าเซเนก้า จำนวน 6.4 ล้านโดส และสั่งซื้อยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทคอีก 25 ล้านโดส

รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจเข้าร่วม COVAX แบบ OPA (สัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก) โดยจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าไปแล้ว 94 ล้านริงกิต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 709 ล้านบาท โครงการ COVAX ตั้งราคาวัคซีนเฉลี่ยที่ 10.55 เหรียญสหรัฐต่อโดส หรือ 328 บาทต่อโดส เท่ากับว่ามาเลเซียต้องจ่ายเงินรวมเฉลี่ย 328 x 6.4 = 2,100 ล้านบาท สำหรับวัคซีนจาก COVAX (โดยจ่ายเงินส่วนที่เหลือจากมัดจำ) แต่สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อวัคซีนแต่ละตัวในโครงการ

ราคาเฉลี่ย 328 บาทต่อโดส “แพง” หรือไม่? ผู้เขียนคิดว่า อาจจะ “แพง” ถ้า COVAX ส่งได้แต่เฉพาะวัคซีน AstraZeneca (ซึ่งไทยซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ในราคาราว 152 บาทต่อโดส) ซึ่งวันนี้ COVAX ส่ง AstraZeneca อยู่สองเวอร์ชันคือ Covishield (หรือ SII-AstraZeneca) จับมือกับ Serum Institute of India (SII) ในการผลิต และ AstraZeneca ผลิตในโรงงานรับจ้างผลิตทั่วโลก ทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 เป็นต้นมา

แต่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา COVAX กำลังทยอยส่งวัคซีนยี่ห้ออื่น อาทิ ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งส่งยี่ห้อนี้ไปแล้ว 1.37 ล้านโดส ณ กลางเดือนมิถุนายน 2564 ช้ากว่ากำหนดที่คาดไว้ แต่ในอนาคตคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เมื่อมีวัคซีนบริจาคและยี่ห้ออื่นๆ เข้ามามากขึ้น อาทิ ยี่ห้อโมเดอร์นาในปี 2565

มองในแง่นี้ ราคาเฉลี่ย 328 บาทต่อโดส ไม่น่าเรียกว่า “แพง” แต่อย่างใด อีกทั้งราคาที่จ่ายส่วนหนึ่งยังนับเป็นการการันตี “ปริมาณ” ด้วย เพราะถ้าเจรจาซื้อตรง ก็ไม่แน่ว่าบริษัทผู้ผลิตจะมีวัคซีนส่งได้เต็มจำนวนที่อยากได้

(โดยเปรียบเทียบ วันนี้ไทยซื้อวัคซีนซิโนแวคในราคา 542 บาทต่อโดส) 

ข้ออ้าง 4 วัคซีนหลักของ COVAX คือแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งไทยซื้อตรงอยู่แล้ว

ข้ออ้างนี้ถึงจะจริง ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ไทยไม่ควรเข้าร่วม!

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า โครงการ COVAX ปัจจุบันส่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก แต่ก็กำลังเริ่มส่งยี่ห้ออื่นด้วย และการเข้าร่วม COVAX ก็ไม่ได้เป็นการปิดกั้นไม่ให้สั่งซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิต

COVAX มีประโยชน์ในแง่การ ‘กระจายความเสี่ยง’ อย่างไร ลองมาดูจากประสบการณ์จริงของประเทศเพื่อนบ้าน

แผนภาพด้านล่างนี้แสดงการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ของสิบประเทศอาเซียน นับเฉพาะที่เซ็นสัญญาซื้อแล้วเท่านั้น ข้อมูลเท่าที่หาได้ ณ 13 มิถุนายน 2564 (ตัวเลขของไทย ผู้เขียนใช้แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส + ซิโนแวค 7 ล้านโดส)  

ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนมากชนิดที่สุดคือฟิลิปปินส์ นับได้ 8 ยี่ห้อ แถมยังเข้า COVAX ด้วย (ในคำว่า ‘ยี่ห้ออื่นๆ’ ของฟิลิปปินส์ ได้แก่ โคแวกซิน, โนวาแวกซ์, สปุตนิก วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน) 

จากแผนภาพนี้ เห็นชัดว่ามีสามประเทศอาเซียนที่ได้แอสตร้าเซเนก้าจากการเข้าร่วม COVAX แต่ก็สั่งซื้อแอสตร้าเซเนก้าโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตด้วย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ 

ณ กลางเดือนมิถุนายน ทั้งสามประเทศได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจากโครงการ COVAX ไปแล้วในจำนวนมากกว่าส่วนที่สั่งซื้อโดยตรง เช่น เวียดนาม ได้รับแล้วกว่า 2.4 ล้านโดสจาก COVAX ส่วนที่ซื้อตรงกับแอสตร้าเซเนก้าได้รับมาเพียงสี่แสนโดสเท่านั้น น้อยกว่ากันหกเท่า ทั้งที่เวียดนามสั่งซื้อตรงกับแอสตร้าเซเนก้า 30 ล้านโดส น้อยกว่าที่เข้าโครงการ COVAX 38.9 ล้านโดส เพียงเล็กน้อย

ณ กลางเดือนมิถุนายน 2564 เช่นกัน โครงการ COVAX ส่งวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าให้กับประเทศอาเซียน (ทุกประเทศยกเว้นไทย เพราะไทยไม่ได้เข้า) ไปแล้ว 11.4 ล้านโดส (แหล่งผลิตคืออินเดียและเกาหลีใต้) ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และส่งยี่ห้อไฟเซอร์ให้กับประเทศอาเซียนไปแล้วราวสามแสนโดส

ด้วยเหตุนี้ การที่แอสตร้าเซเนก้าเป็นวัคซีนหลักในโครงการ COVAX และเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกันกับที่ไทยซื้อตรง จึงไม่ใช่เหตุผลที่ไทยไม่ควรเข้าร่วม COVAX แต่อย่างใด 

ในทางตรงกันข้าม ไทยยิ่งควรเข้าร่วม COVAX เพราะจะได้มีทางเลือกเพิ่มเติมในการเข้าถึงวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า กระจายความเสี่ยงในแง่แหล่งผลิต และมีโอกาสได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

ความเข้าใจผิดเรื่อง ‘ม้าเต็ง’ กับ COVAX สรุปได้ประมาณนี้ ตอนต่อไปจะมาว่ากันถึงความเข้าใจผิดที่แพร่หลายอีกสองประการ นั่นคือ ความ(ไม่)โปร่งใสในการจัดหาวัคซีน และสัญญากับแอสตร้าเซเนก้าที่ควรเป็น

โปรดติดตามตอนต่อไป

Tags: , , , , ,