19 ตอนที่ผ่านมา ตลอด 10 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้เขียนเริ่มเขียนซีรีส์ ‘มหากาพย์วัคซีน’ ตอนแรกช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 ไม่กี่วันหลังจากที่รัฐบาลเริ่มแคมเปญ ‘ปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19’ ทั้งประเทศ ประเทศไทยก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านโศกนาฏกรรมจากโควิด-19 มาแล้วหลายระลอก
ณ วันที่ผู้เขียนเขียนอยู่นี้ หลังวันหยุดสงกรานต์เดือนเมษายน 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทะลุหลัก 100 คนต่อวันเกิน 1 สัปดาห์ ทว่าตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อรายวัน’ ที่ทางการรายงาน ยังคงไม่นับรวมกับตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย’ (ATK) ทั้งที่ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพียงติดเชื้อเข้าข่ายก็เข้ารับการรักษาได้แล้ว มิหนำซ้ำตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังมีแนวโน้ม ‘ลดลง’ สวนทางกับแนวโน้มตัวเลขผู้เสียชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันอย่างเป็นทางการ ลดจาก 25,139 คน ในวันที่ 10 เมษายน 2565 วันแรกที่สถิติผู้เสียชีวิตทะลุ 100 คนในระลอกโอมิครอน เป็น 16,994 คน ในวันที่ 18 เมษายน 2565 ทั้งที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 10 เมษายน จนมาอยู่ที่ 124 คน ในวันที่ 18 เมษายน 2565
หลายเดือนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเขียนถึงปัญหา ‘การสื่อสาร’ ของรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและประเมินสถานการณ์ดีกว่าความจริง และยกตัวอย่างความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลโควิด-19 ของรัฐไปแล้วหลายกรณี
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มาแล้วกว่าสองปี คนก็ยังต้องตั้งคำถามกับแทบทุกมิติของข้อมูลทางการ ตั้งแต่ประเด็นความ (ไม่) ถูกต้อง ความ (ไม่) ครอบคลุม ความ (ไม่) โปร่งใส และความ (ไม่) ตรงไปตรงมา
บางคนมองว่า การไม่เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันต่อสาธารณะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้คน ‘อยู่ร่วมกับโรค’ ได้ เพราะช่วยทำให้คนเลิกตื่นกลัว แต่ผู้เขียนอยากย้ำอีกทีว่า ‘วิธีสื่อสาร’ ก็เรื่องหนึ่ง ‘วิธีเก็บข้อมูล’ ก็อีกเรื่อง ตราบใดที่ตัวเลขทางการไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง หรือไม่น่าเชื่อถือ ตราบนั้นก็ไม่มีแพทย์หรือนักระบาดวิทยาคนใดสามารถคาดการณ์แนวโน้มการติดเชื้อ การตาย รวมถึงจุดสูงสุดและขาลงของโควิด-19 ตามหลักวิชาการได้ และตราบใดที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่อาจวางแผนได้อย่างมีประสิทธิผล
หันมาดูสถานการณ์การฉีดวัคซีน ณ กลางเดือนเมษายน 2565 การฉีดวัคซีนทั่วประเทศแผ่วลงมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลนวัคซีน ทั้งที่ศักยภาพการฉีดของระบบได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถฉีดได้มากกว่า 1 ล้านเข็มต่อวัน และทั้งที่โควิด-19 ระลอกโอมิครอนยังคงคร่าชีวิตคนไทยมากกว่าวันละ 100 คน สร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขต่อเนื่อง และทั้งที่สถิติทางการก็ชี้ชัดแล้วว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) บางคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ขณะที่การฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงวัยได้ถึง 31 เท่า เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
จากสถิติการฉีดวัคซีนล่าสุด ทั่วประเทศฉีดเข็ม 3 ได้วันละหลักหมื่นโดสเท่านั้น รวมทั้งประเทศมีคนฉีด 3 เข็มแล้วราว 25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35.9 ของประชากร อัตรานี้ในกลุ่มผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด มีจำนวน 12.7 ล้านคนทั่วประเทศ ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเพียงเล็กน้อย โดย ณ กลางเดือนเมษายน 2565 มีผู้สูงวัยได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียงร้อยละ 39.4 แปลว่ามีผู้สูงวัยมากถึง 5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับเข็มที่ 3 นอกจากนี้ยังมีผู้สูงวัยอีกราว 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
ก่อนเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่าจะฉีดเข็มที่ 3 ให้กับผู้สูงวัยให้ถึงร้อยละ 70 ของประชากรสูงวัยทั้งหมด แต่หลังสงกรานต์ก็ชัดเจนว่ายังห่างไกลจากเป้ามาก โดยถ้าจะให้บรรลุอัตราการฉีดเข็มที่ 3 ร้อยละ 70 ภายใน 30 วัน ก็แปลว่าต้องเร่งฉีดเข็มที่ 3 ให้กับผู้สูงวัยให้ได้เฉลี่ยวันละประมาณ [12.7 x (70% – 39.4%)] /30 = 130,000 เข็ม – ซึ่งระบบทำได้สบายๆ แต่รัฐต้องใช้มาตรการเชิงรุกมากกว่าที่แล้วมา รวมถึงการเร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นชนิดหลักที่ใช้ฉีดกระตุ้น (ไม่ว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO และสื่อเสี้ยมที่ผ่านมาจะทำให้คนกลัวเกินเหตุไปมากเพียงใด)
ระหว่างที่ #มหากาพย์วัคซีน ยังคงดำเนินต่อไป สังคมไทยยังคงรับมือกับโควิด-19 ระลอกโอมิครอน ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะส่งท้ายบทความซีรีส์นี้ด้วยการสรุป ‘ข้ออ้าง vs ความจริง’ ในมหากาพย์เรื่องนี้ ตลอดจนคำถามบางข้อที่ยังคงไร้ซึ่งคำตอบ
ก่อนที่ผู้เขียนจะนำบทความชุดนี้ไปปรับปรุง เพิ่มเติมเนื้อหาและเรียบเรียงใหม่ทั้งหมดเป็นฉบับหนังสือในวาระต่อไป
—–
ข้ออ้างตอนถูกถามช่วงปลายปี 2563–ต้นปี 2564 ว่าทำไมไม่สั่งวัคซีนชนิด mRNA มาใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ: “รัฐบาลทำเต็มที่แล้ว ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ผลิต ผู้ซื้อต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้”
ความจริงที่ปรากฏในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ: “[รัฐบาล]ตั้งใจเทวัคซีนคุณภาพและเทไมตรีจิตลงอ่าวไทย และกล้าพูดได้เลยว่าไม่ใช่รัฐบาลที่ต้องไปตามไฟเซอร์ในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นไฟเซอร์ต่างหากที่ต้องตามไทย โดยเราได้เทโอกาสนี้ทิ้งไป”
“เดือนกันยายน 2563 มีโทรเลขจากสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ส่งกลับมาว่า บริษัท ไฟเซอร์ พยายามติดต่อทั้งกรมควบคุมโรค ทั้งสถาบันวัคซีน เรื่องการจองวัคซีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม [2563] ไฟเซอร์พยายามติดต่อกับรัฐบาล แต่ไม่ได้รับคำตอบ ไม่ติดต่อกลับ ในการหาวัคซีนที่มีคุณภาพชนิด mRNA ลองไปดูรัฐบาลอื่นเขาตามกันเต็มที่ อิสราเอล นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู โทรไปหาไฟเซอร์ถึง 30 ครั้ง หรืออย่างญี่ปุ่น ผู้นำบินไปพบด้วยตัวเอง แต่รัฐบาลไทยในเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ผลเป็นแบบนี้ อย่างน้อยสุดคือเกียร์ว่าง อย่างมากที่สุดคือตั้งใจที่จะไม่พิจารณาม้าตัวนี้ ต้องขอโทษที่ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่การแทงม้าตัวเดียว แต่คือการล็อกผลม้า”
“เดือนพฤศจิกายน 2563 Pfizer แจ้งเตือนมาอีกครั้ง บอกให้ประเทศไทยรีบไปจองวัคซีน เพราะความต้องการทั่วโลกสูง เป็นห่วงว่าเราจะจองไม่ทัน แต่รัฐบาลของเราก็ไม่สนใจตอบกลับ ทั้งที่เขาแทบจะใส่พานให้รัฐบาลไทยด้วยซ้ำ”
ข้อความข้างต้นมาจากคำอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมว. สาธารณสุข ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564
—–
ข้ออ้างตอนไม่เข้าโครงการโคแวกซ์ (COVAX): “ต้องจ่ายเงินก่อน มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับวัคซีนหากผลการวิจัยล้มเหลว สั่งซื้อล่วงหน้าก่อนรู้ผลไม่ได้ ติด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง”
ความจริงตอนลงนามในสัญญาซื้อวัคซีน แอสตราเซเนกา 61 (26+35) ล้านโดส: จ่ายมัดจำล่วงหน้าสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ก่อนรู้ผลวิจัย ผลิตไม่สำเร็จก็ไม่ได้เงินคืน ออกประกาศตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ให้จ่ายเงินจองล่วงหน้าได้
“ในวันนั้นกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่าพร้อมที่จะช่วย แต่จะช่วยผ่าน COVAX เช่นเดียวกัน หรือต่อมาไทยหารือเรื่องการบริจาควัคซีน Sanofi ของฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสก็บอกไทยว่าจะบริจาคผ่าน COVAX ทั้งที่เรามีโอกาสได้ทั้ง AstraZeneca และวัคซีนของ Sanofi แต่การยืนยันไม่ยอมกลับลำเข้า COVAX ทำให้เสียโอกาสนี้ไป” (คำอภิปรายในสภาของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564)
—–
ข้ออ้างตอนทำสัญญาซื้อวัคซีน mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ ช้าเป็นเต่าคลาน (คณะรัฐมนตรีเพิ่งลงมติอนุมัติให้สั่งซื้อล็อตแรก 20 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 หรือ 8 เดือนหลังจากที่ประชาชนและแพทย์เรียกร้องให้นำเข้าวัคซีนชนิด mRNA): “ต้องดูสัญญาอย่างละเอียด ไทยต้องไม่เสียเปรียบบริษัทผู้ผลิต”
ความจริงในสัญญาซื้อวัคซีนยี่ห้อ แอสตราเซเนกา: สัญญาไม่ระบุกำหนดการส่งมอบ ไม่มีกำหนดเวลาใดๆ ทั้งสิ้น บริษัทจะส่งของครบจำนวนเมื่อไรก็ได้ ทยอยส่งเมื่อไร งวดละเท่าไรก็ได้
—–
ข้ออ้างตอนที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา ช้าเป็นเต่าคลาน: “ต้องรอโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาให้ อภ. ให้ครบก่อน จึงจะเซ็นสัญญาได้”
ความจริงที่ปรากฏในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 สิงหาคม 2564 โดย ส.ส. ประเสริฐ จันทรรวงทอง พรรคเพื่อไทย: ตอนสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค อย่างน้อย 18 ครั้ง อภ. ควักเงินตัวเองจ่ายไปก่อน มาเบิกจากกรมควบคุมโรคทีหลัง ดังคำชี้แจงของ นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. ในประเด็น ‘ส่วนต่างซิโนแวค’ ว่า “อภ. ใช้เงินขององค์กรจัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้นเมื่อได้ของ ก็กำหนดราคาขาย ซึ่ง อภ. ต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน และยืนยันว่าไม่มีส่วนต่างแต่อย่างใด”
—–
ข้ออ้างตอน อภ. ลงนามสั่งซื้อโมเดอร์นา เพียง 5 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งที่มีคนจองผ่านโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ กว่า 9 ล้านโดส: “บริษัทมีของส่งไทยได้แค่นี้ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65”
ความจริงที่ปรากฏ 2 เดือนนับจากนั้น: ในวันที่ 14 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติงบกลาง 946 ล้านบาท ให้สภากาชาดไทยซื้อโมเดอร์นา เพิ่ม 1 ล้านโดส และในวันเดียวกันนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงนามสั่งซื้อโมเดอร์นา 8 ล้านโดส โดยประกาศว่าของจะทยอยส่งระหว่างไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ปี 2565
—–
ข้ออ้างตอนอธิบายว่าทำไมไทยจึงสั่งซื้อแอสตราเซเนกา ยี่ห้อเดียวมากถึง 61 ล้านโดส: “บริษัทไม่ค้ากำไร ขายให้ไทยแบบ no profit, no loss”
ความจริงที่ปรากฏในสัญญาสั่งซื้อ แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดสแรก ฉบับไร้ถมดำ: ถ้าต้นทุนจริงสูงกว่าต้นทุนที่ตั้งราคาขาย ไทยต้องชดเชยให้บริษัท (แปลว่าไม่ขาดทุน) แต่ถ้าต้นทุนจริงต่ำกว่า บริษัทไม่ต้องชดเชยให้ไทย (แปลว่าทำกำไรได้)
ข้อนี้แปลว่าสัญญาของไทยเป็นแบบ no loss, profit okay ไม่ใช่ no profit, no loss ต่างจากสัญญาแอสตราเซเนกาที่ทำกับอียูและอังกฤษ ที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า บริษัทต้องชดเชยทั้งขาดทุนและกำไร (ทำให้เป็น no profit, no loss อย่างแท้จริง)
นอกจากนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบเงินกู้ให้ซื้อแอสตราเซเนกา เพิ่มอีก 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5 ล้านบาท เท่ากับราคาเฉลี่ย 312.7 บาทต่อโดส (รวมค่าบริหารจัดการ) แพงกว่าราคาที่ซื้อ 61 ล้านโดสแรกราว 2 เท่า – เท่ากับละทิ้งหลักการ no profit, no loss อย่างสิ้นเชิง
—–
ข้ออ้างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ตอนที่ถูกถามในสภาถึงความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน: “บางประเทศได้รับในฐานะที่ยอมให้ประชาชนได้รับการทดลองวิจัยวัคซีน ไม่ใช่เป็นผู้ซื้อ และเขามีผู้ป่วยเพียงพอในการทดลอง ซึ่งประเทศไทยมีไม่พอและไม่เคยอยู่ในหัวของ รมว.สาธารณสุข คนนี้ จะเอาคนไทยมาเป็นผู้ที่จะถูกการทดลอง” – รมว.สาธารณสุข
ความจริงที่ปรากฏในอีก 1 ปีต่อมา: ประเทศไทยกลายเป็นดินแดนแห่งสูตรไขว้หลากหลายรูปแบบ ผู้เขียนนับได้มากถึง 25 สูตร ในจำนวนนี้ 16 สูตร ไม่พบในประเทศอื่น
สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่า ข้ออ้าง vs ความจริง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คนไทยทุกคนพินิจพิจารณาถึงต้นทุนและความเสียหายที่เกิดจาก #มหากาพย์วัคซีน อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการร่วมกันเรียกร้องทั้งความรับผิด และความรับผิดชอบจากผู้ดำเนินนโยบายในอนาคต
Tags: การจัดสรรวัคซีน, สูตรไขว้, วัคซีน, สฤณี อาชวานันทกุล, Citizen 2.0, โควิด, มหากาพย์วัคซีน