ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 5 คน ครั้งที่สาม ปลายเดือนสิงหาคม 2564 ออกมาอย่างไม่เหนือความคาดหมาย ถึงแม้จะมีข่าวลือหนาหูว่า พรรคพลังประชารัฐ แกนนำการจัดตั้งรัฐบาลเกิดความแตกร้าว มีการตั้งโต๊ะแจกเงินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซีกรัฐบาลให้ยกมือโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ 

ผู้เขียนเห็นว่าผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ออกมาชนิดค้านสายตาประชาชนทั้งประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ในเมื่อเราอยู่ในระบอบอัปลักษณ์ที่ผู้มีอำนาจลอยนวลพ้นผิด อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากรัฐธรรมนูญอัปยศ 2560 และในเมื่อลอยนวลพ้นผิดตลอดเวลา จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใส่ใจประชาชน

อย่างไรก็ดี การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ก็เผย ‘ความไม่ชอบมาพากล’ หลายประการในการจัดหาวัคซีนและการรับมือกับโควิด-19 ของไทย บางเรื่องผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตในคอลัมน์นี้แล้ว บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งผู้เขียนคงได้ทยอยเขียนถึงในซีรีส์ ‘มหากาพย์วัคซีน’ ต่อไปอีกหลายเดือนเลยทีเดียว

ผู้เขียนคะเนว่าวันนี้เรายังมาไม่ถึง ‘ครึ่งทาง’ ของมหากาพย์นี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งที่จริงควรเรียกว่า ‘อภิมหากาพย์’ และผู้เขียนเชื่อว่า ‘ครึ่งหลัง’ ของมหากาพย์นี้ จะเปิดฉากได้ก็ต่อเมื่อ ‘กระบวนการตรวจสอบ’ เริ่มต้นได้อย่างจริงจัง

‘ข้อเท็จจริงใหม่’ ชิ้นหนึ่งซึ่งปรากฏในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ก็คือ สัญญาจองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส จากบริษัทแอสตราเซเนกา ฉบับไร้ถมดำ ที่พรรคก้าวไกลนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ 

ถึงแม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะยังไม่มีลายเซ็น แต่ผู้เขียนนำมาเทียบกับสัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดส ฉบับถมดำ ซึ่งมีลายเซ็นลงนามครบทุกฝ่าย ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งให้กับพรรคก้าวไกล เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบการเว้นวรรค ความยาวของประโยค ย่อหน้า ช่องไฟ ฯลฯ จนยืนยันได้ว่า เนื้อหาในสัญญาฉบับไร้ถมดำนั้นตรงกันกับสัญญาฉบับถมดำ แตกต่างกันเพียงจุดเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น สัญญาไร้ลายเซ็นไร้ถมดำมีช่องให้ลงชื่อพยานสองคน สัญญาฉบับถมดำมีลายเซ็นไม่มีพยานสองคนลงนาม (มุมขวาบนของสัญญาไร้ถมดำปรากฏคำว่า EXECUTION COPY ทุกหน้า นี่คือภาษาธุรกิจที่แปลว่า ‘สัญญาฉบับสมบูรณ์พร้อมลงนาม’) 

ผู้เขียนเคยเขียนถึงสัญญาแอสตราเซเนกาที่ทำกับรัฐบาลไทยไปครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้ ตอน โฆษณา ความจริง และสัญญาแอสตราเซเนกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ตอนที่เขียนบทความนั้น ผู้เขียนเห็นเพียงสัญญาฉบับถมดำเท่านั้น

ด้วยความที่เนื้อหาหลายส่วนอยู่ใต้ถมดำ ผู้เขียนจึงได้แต่ ‘ตั้งข้อสังเกต’ เกี่ยวกับเงื่อนไขสำคัญๆ ในสัญญา ซึ่งดูเพียงเนื้อหาที่ไม่ถมดำก็บอกได้แล้วว่า เป็นสัญญาที่ไทยเสียเปรียบมหาศาล ถึงแม้ว่า ‘ผู้ซื้อจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ’ เป็นปกติในภาวะฉุกเฉินอย่างโควิด-19 (อ่านตัวอย่างเงื่อนไขที่ ‘เสียเปรียบเป็นปกติ’ อาทิ กำหนดการส่งมอบที่ระบุกรอบเวลามากกว่าวันที่ชัดเจน และการยกเว้นความรับผิด (indemnities) ให้กับบริษัทผู้ผลิตอย่างกว้างขวาง ได้ในบทความชิ้นก่อนหน้านี้ของผู้เขียน) แต่สัญญาที่ไทยทำนั้นเสียเปรียบอย่างเหลือเชื่อ เพราะเสียเปรียบ ‘มากกว่า’ อีกหลายประเทศที่ซื้อวัคซีนจากบริษัทเดียวกัน

ผู้เขียนลองเปรียบเทียบสัญญาแอสตราเซเนกา ฉบับไร้ถมดำของไทย กับสัญญาซื้อวัคซีนยี่ห้อเดียวกันของอังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และบราซิล อย่างละเอียดกว่าตอนเขียนรอบที่แล้ว และเปรียบเทียบกับสัญญาซื้อวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ของสหภาพยุโรป อัลบาเนีย และสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขหลักๆ ในสัญญา

ผู้ใดสนใจสามารถอ่านตารางเปรียบเทียบเงื่อนไขในสัญญา 8 ฉบับดังกล่าวข้างต้น รวมถึงลิงก์ดาวน์โหลดสัญญาเหล่านี้ได้จากหน้านี้บน Google Sheets

แล้วสัญญาแอสตราเซเนกา ฉบับไม่ถมดำ มีอะไรที่ทำให้ผู้เขียนมองว่าไทยเสียเปรียบอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น? ผู้เขียนสรุปประเด็น ‘ใหม่’ ที่ค้นพบในสัญญาไร้ถมดำ ได้ 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. สัญญาของไทยเป็นฉบับเดียวที่ไม่ระบุกำหนดการส่งมอบวัคซีนใดๆ ทั้งสิ้น

สัญญาฉบับไร้ถมดำสะท้อนชัดเจนในสิ่งที่ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกต กล่าวคือสัญญาแอสตราเซเนกาไม่มีระบุกำหนดการส่งมอบใดๆ ทั้งสิ้น ข้อนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำบอกเล่าของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (คู่สัญญาของบริษัทที่ลงนามในสัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดส) ก่อนหน้านี้ที่อ้างว่า มีการทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดสในปี 2564

(อย่างไรก็ดี ตรงนี้ต้องหมายเหตุว่า กระทรวงสาธารณสุขยังไม่เคยเปิดเผยสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 35 ล้านโดส ลงนามในเดือนพฤษภาคม 2564 เลย เปิดแต่สัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดสแรกเท่านั้น นี่คือประเด็นที่เราต้องเรียกร้องความโปร่งใสกันต่อไป)

ผู้เขียนสรุปความแย่เรื่องการไม่มีกำหนดส่งมอบใดๆ ในสัญญาฉบับไร้ถมดำไว้ในภาพประกอบด้านล่าง

สรุปสั้นๆ ก็คือ สัญญาจองซื้อแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส เป็นสัญญาฉบับเดียวเท่านั้นในบรรดาสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ 8 ฉบับที่ผู้เขียนสำรวจ ที่ไม่มีการระบุกำหนดการส่งมอบใดๆ ไว้เลย แม้เป็น ‘กำหนดการส่งมอบเบื้องต้น’ (tentative delivery schedule) ก็ไม่มี!

การไม่ระบุกำหนดการส่งมอบว่าแย่แล้ว แต่สิ่งที่แย่ไปอีกขั้นก็คือ สัญญาฉบับนี้ ‘ไม่กำหนดวันหมดอายุสัญญา’ ด้วย บริษัทแอสตราเซเนกาจะใช้เวลานานเท่าไรก็ได้ในการส่งมอบ 26 ล้านโดส เพราะสัญญาบอกว่า สัญญานี้จะมีอายุไปถึงเมื่อไรก็ตามที่ส่งวัคซีนครบจำนวน 26 ล้านโดส แปลว่าต่อให้ส่งครบในอีก 18 เดือน, 5 ปี หรือแม้แต่ 10 ปีข้างหน้า ก็ไม่ถือว่าบริษัทผิดสัญญาแต่อย่างใด 

(โดยปกติแล้ว การเขียนว่า “สัญญานี้จะมีอายุไปถึงวันที่ส่งมอบของครบจำนวน” นั้น นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในการเขียนสัญญา เพราะเราคงไม่อยากให้บริษัทสิ้นสุดความรับผิดชอบก่อนส่งของให้เราครบ แต่ในเมื่อสัญญาไม่ระบุกำหนดการส่งมอบใดๆ เลย ไม่มีแม้แต่วันที่ต้องส่งครบ 26 ล้านโดส การเขียนตาม ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ข้อนี้จึงทำให้สัญญาฉบับนี้แย่กว่าปกติมาก) 

สัญญาที่แย่ขนาดนี้แปลว่า เราไม่มีการันตีใดๆ เลยว่ารัฐบาลจะสามารถไปเร่งรัดการส่งมอบวัคซีนได้ ลำพังแค่การบ่นว่า บริษัท ‘ส่งช้า’ ก็ยังทำไม่ได้ เพราะสัญญาไม่มีกำหนดการส่งมอบ ยังไม่ต้องพูดถึงการเขียนบทลงโทษในสัญญา ซึ่งไม่มีอยู่แล้ว เพราะต้นธารของบทลงโทษทั้งมวลคือความรับผิดชอบที่จะส่งของภายในระยะเวลาที่กำหนด

ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐบาลมาประโคมบอกประชาชนว่า “จะได้วัคซีนครบทั้งจำนวนภายในสิ้นปี 2564” นั้น จะพูดแบบไหนก็เป็นการอ้างแบบลมๆ แล้งๆ เพราะไม่มีข้อตกลงในสัญญารองรับแม้แต่น้อย

การไม่ระบุกำหนดการส่งมอบใดๆ นับเป็นการทำสัญญาที่ ‘หลวมโพรก’ อย่างเหลือเชื่อ เพราะแปลว่าไทยจะบริหารจัดการวัคซีนล่วงหน้าแทบไม่ได้เลย การส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทเป็นหลัก 

ผู้เขียนเขียนในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า ในทางตรงกันข้าม สัญญาแอสตราเซเนกาของหลายประเทศระบุกำหนดการส่งมอบชัดเจน อย่างน้อยเป็นรายไตรมาส ส่วนสัญญาของอังกฤษชัดเจนกว่านั้นอีก เพราะระบุกำหนดการส่งมอบเบื้องต้น (Proposed Delivery Schedule) ทั้งจำนวนวัคซีนและวันที่ส่งมอบ รวม 5 งวด โดยบริษัทจะต้องแจ้งกำหนดการส่งมอบที่ยืนยันได้ (Delivery Schedule) ต่อรัฐบาล ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันส่งมอบจริง

นอกจากนี้ สัญญาของอังกฤษยังระบุอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากบริษัทส่งวัคซีนช้ากว่ากำหนดการส่งมอบที่ยืนยันได้ จะถือว่าบริษัทละเมิดสัญญา ยกเว้นว่าเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เท่านั้น

ก. บริษัทเผชิญกับความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญ ในการได้รับอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนในสหราชอาณาจักร แต่เฉพาะในกรณีที่ (1) บริษัทในเครือและผู้รับเหมาช่วงได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ (best reasonable efforts) ในการขออนุมัติ และ (2) ความล่าช้านี้ไม่ได้เกิดจากการละเมิดสัญญานี้ หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยบริษัท บริษัทในเครือหรือผู้รับเหมาช่วง

ข. การส่งมอบวัคซีนจะไม่ตรงกับวันที่ในกำหนดการส่งมอบเล็กน้อย คือไม่เกิน 5 วันทำการ เนื่องจากการผลิตวัคซีนมีความไม่แน่นอน ตราบใดที่บริษัทแจ้งรัฐบาลอังกฤษล่วงหน้า (ว่าจะส่งช้าเล็กน้อย) หรือ

ค. ทั้งสองฝ่าย (บริษัทและรัฐบาลอังกฤษ) ตกลงกันว่าจะปรับเปลี่ยนกำหนดการส่งมอบวัคซีน 

พูดง่ายๆ คือ สัญญาของอังกฤษค่อนข้างดี เพราะมีกลไกที่ค่อยๆ ‘ตบ’ กำหนดการส่งมอบให้มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และก็ใช้กลไกนี้เป็นฐานในการกำหนดความรับผิดชอบของบริษัท

2. จ่ายค่ามัดจำถึง 60% สูงกว่าประเทศอื่น

ในบรรดาสัญญาซื้อวัคซีน 8 ฉบับที่ผู้เขียนเปรียบเทียบ (สัญญาซื้อแอสตราเซเนกาของไทย อังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และบราซิล และสัญญาซื้อวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ ของสหภาพยุโรป อัลบาเนีย และสาธารณรัฐโดมินิกัน) ปรากฏว่า ไทยจ่ายเงินค่ามัดจำวัคซีนสูงที่สุด โดยจ่ายมากถึง 60% ของราคาวัคซีนทั้งจำนวน (26 ล้านโดส) 

ประเทศที่จ่ายค่ามัดจำค่อนข้างสูง แต่ก็ยังน้อยกว่าไทยคือ อัลบาเนีย จ่ายค่ามัดจำยี่ห้อไฟเซอร์ล่วงหน้า 50% ซึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศนี้สั่งซื้อไฟเซอร์ค่อนข้างน้อย คือราว 5 แสนโดสเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยจองซื้อแอสตราเซเนกามากถึง 26 ล้านโดส (ยังไม่นับที่สั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคม 2564)

ส่วนประเทศอื่นๆ จ่ายเงินค่ามัดจำล่วงหน้าระหว่าง 16.7% (ไฟเซอร์ ซื้อโดยสาธารณรัฐโดมินิกัน) ถึง 38.6% (แอสตราเซเนกา ซื้อโดยสหภาพยุโรป) เท่านั้น

นอกจากประเทศไทยจะจ่ายค่ามัดจำสูงสุดในบรรดา 8 ประเทศแล้ว ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินมัดจำคืนเต็มจำนวนด้วย โดยสัญญาระบุว่า จะได้คืนเฉพาะกรณีที่บริษัทยกเลิกการพัฒนาวัคซีน หรือมีคู่สัญญาละเมิดสัญญา และจะได้เงินคืนเฉพาะในส่วนที่บริษัทยังไม่ได้จ่ายจริง หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัทก่อน (ซึ่ง ‘ค่าจองกำลังการผลิต’ ของโรงงานรับจ้างผลิตวัคซีนก็ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายของบริษัท ที่รัฐบาลไทยไม่มีสิทธิได้คืนด้วย) มิหนำซ้ำยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัท สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของเงินมัดจำ ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจงใจประพฤติมิชอบ (wilful misconduct) หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence) ของบริษัท 

ในทางกลับกัน สัญญาจองซื้อแอสตราเซเนกาของสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า อียูจะแบ่งจ่ายเงินมัดจำรวม 38.6% ของราคาวัคซีนออกเป็นสองงวด งวดแรก จำนวนสองในสาม ภายใน 5 วัน หลังเซ็นสัญญา 

เงินมัดจำที่เหลืออีกหนึ่งในสามจะจ่ายภายใน 20 วัน หลังจากวันที่บริษัทส่ง ‘หลักฐานยืนยัน’ การใช้เงินมัดจำงวดแรกว่า ใช้ไปในการเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนอย่างไรบ้าง

ถ้าหากบริษัทไม่ส่งหลักฐาน (ที่ชัดเจนว่านำเงินมัดจำงวดแรกไปใช้ในการเตรียมความพร้อมจริงๆ) อียูก็มีสิทธิไม่จ่ายงวดสอง และมีสิทธิเรียกคืนเงินมัดจำงวดแรกทั้งหมดหรือบางส่วน หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท ตามเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาได้

3. ต้องจ่ายเพิ่มถ้าบริษัทขาดทุน แต่ไม่ได้เงินชดเชยถ้าบริษัทมีกำไร

สำหรับเงื่อนไขที่เกี่ยวกับ ‘การปรับราคา’ นั้น ผู้เขียนสังเกตว่าเงื่อนไขนี้มีเฉพาะสัญญายี่ห้อแอสตราเซเนกาเท่านั้น เพราะบริษัทนี้ประกาศว่าจะขายวัคซีนโควิด-19 ‘โดยไม่แสวงกำไร’ แตกต่างจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา และยี่ห้ออื่นๆ ที่ตั้งราคาขายแบบ ‘แสวงกำไร’ ตามปกติของบริษัทวัคซีนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ สัญญาแอสตราเซเนกาจึงต้องระบุกลไกที่ให้ผู้ซื้อ ‘จ่ายเพิ่ม’ ถ้าต้นทุนจริงของบริษัทสูงกว่าต้นทุนที่ใช้ในการตั้งราคาขาย และ ‘ชดเชย’ ผู้ซื้อ ถ้าหากต้นทุนจริงของบริษัทต่ำกว่าต้นทุนประมาณการ (เพื่อไม่ให้บริษัทได้ ‘กำไร’ จากการขายวัคซีน)

ในส่วนนี้ สัญญาของไทยก็เสียเปรียบกว่าสัญญาของประเทศอื่นเช่นกัน ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตตอนที่เขียนถึงสัญญาฉบับถมดำว่า ราคาวัคซีนที่ไทยจ่ายคือ 5 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส นั้น แพงกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นฐานการผลิตแอสตราเซเนกาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือบราซิล

สัญญาฉบับไร้ถมดำของไทยระบุว่า ถ้าบริษัทพบว่าจะต้องผลิตวัคซีนในราคาขาดทุน รัฐบาลไทยต้องชดเชยผลขาดทุนนั้นให้กับบริษัท โดยที่บริษัทจะส่งบิลมาเรียกเก็บเงิน และถ้าหากผลขาดทุนส่งผลให้ราคาวัคซีนแพงกว่า 10 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส (สองเท่าของราคาขาย 5 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส) ไทยก็ต้องเลือกว่าจะจ่ายราคาแพงขึ้นหรือลดจำนวนโดสลง

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าปรากฏว่าต้นทุนจริงของบริษัทต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ตั้งราคา (กล่าวคือ บริษัท ‘ได้กำไร’ จากการขายวัคซีน) ในสัญญากลับไม่พูดถึงกลไกใดๆ ที่บริษัทจะจ่ายชดเชยรัฐบาล! 

ในทางตรงกันข้าม สัญญาแอสตราเซเนกาทั้งของอียูและอังกฤษ ระบุชัดเจนทั้งกลไก ‘จ่ายเพิ่ม’ (กรณีที่บริษัทขาดทุน) และ ‘คืนเงิน’ (กรณีที่บริษัทมีกำไร)

สัญญาของอียูระบุว่า บริษัทจะเรียกเก็บต้นทุนส่วนเพิ่มจากประเทศสมาชิก และหลังจากที่ข้อตกลงนี้สิ้นสุดแล้ว ถ้าเอกสารหลักฐานจากบริษัทชี้ชัดว่าต้นทุนการผลิตของบริษัทต่ำกว่า 870 ล้านยูโร (ต้นทุนประมาณการที่ใช้ตั้งราคา) บริษัทก็จะต้องส่งเงินส่วนเกินนั้นคืนให้กับอียูหรือประเทศสมาชิก แล้วแต่กรณี

ส่วนสัญญาของอังกฤษระบุว่า บริษัทจะส่งต่อ ‘ต้นทุนส่วนเพิ่ม’ ให้กับรัฐบาลโดยอัตโนมัติ แต่รัฐบาลอังกฤษก็มีสิทธิสอบถาม และส่งผู้สอบบัญชีไปตรวจสอบหลักฐานที่แสดงต้นทุนของบริษัท (ไม่ใช่ทำได้เพียงรอบริษัทวางบิลเรียกเก็บแบบรัฐบาลไทย) 

ถ้าผู้สอบบัญชีของอังกฤษพบว่าราคาขายของบริษัทสูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง บริษัทต้องชดเชยส่วนต่างให้กับผู้ซื้อพร้อมด้วยดอกเบี้ย ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ผู้ซื้อจ่ายเกิน (overpayment)

พูดง่ายๆ ก็คือ หลักการที่บริษัทเองประกาศว่า “แอสตราเซเนกาจะไม่แสวงกำไร” นั้น คุ้มครองทั้งฝั่ง ‘ผู้ขาย’ และ ‘ผู้ซื้อ’ ในสัญญาอียูและสัญญาอังกฤษ นั่นคือ ถ้าบริษัทจะได้กำไร (ผลิตด้วยต้นทุนต่ำกว่าประมาณการ) บริษัทก็ต้องชดเชยให้กับผู้ซื้อ แต่ถ้าบริษัทจะมีต้นทุนเพิ่ม (จากต้นทุนประมาณการที่ใช้ตั้งราคาขาย) ผู้ซื้อก็ต้องชดเชยให้บริษัท 

ในขณะที่สัญญาแอสตราเซเนกากับไทย รัฐบาลไทยต้องรับผลขาดทุนไปเต็มๆ ถ้าต้นทุนของบริษัทเพิ่ม แต่ถ้าบริษัทสามารถผลิตวัคซีนด้วยต้นทุนต่ำกว่าเดิม ไทยกลับไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น 

เท่ากับว่า แอสตราเซเนกา ‘อาจได้กำไร’ ในการขายวัคซีนให้ไทย ไม่ใช่ ‘ไม่แสวงกำไร’ แบบที่ขายให้กับอียูและอังกฤษ

สัญญาฉบับไร้ถมดำยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น อาทิ การยกเว้นความรับผิด (immunities) ให้กับบริษัท ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า แอสตราเซเนกาได้รับการยกเว้นความรับผิด ‘กว้างมาก’ แต่เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ต่างจากสัญญาแอสตราเซเนกาที่ทำกับประเทศอื่นๆ อาทิ อียูและอังกฤษ มากนัก และถึงอย่างไรก็ไม่ยกเว้นความรับผิดชนิด ‘ครอบจักรวาล’ อย่างน่าเกลียดเท่ากับสัญญาไฟเซอร์ที่ทำกับอัลบาเนียและสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งยกเว้นความรับผิดไปรวมถึงความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของบริษัทเองด้วย ซึ่งนับเป็นข้อที่ทำให้ประเทศผู้ซื้อเสียเปรียบโดยไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

(อย่างไรก็ดี ผู้เขียนจะยังไม่เขียนถึงสัญญาไฟเซอร์ในบทความนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาซื้อยี่ห้อของรัฐบาลไทย จะยกยอดเรื่องนี้ไปเขียนถึงในอนาคต)

ผู้เขียนสรุปความแย่ของสัญญาแอสตราเซเนกาบนเฟซบุ๊กของตัวเองว่า ต่อไปนี้เวลาใครอยากขายของหรือขายบริการให้หน่วยงานภาครัฐ บอกไปเลยว่า “อยากได้แบบสัญญาแอสตราเซเนกา” เพราะมันดีอย่างเหลือเชื่อสำหรับเราในฐานะคนขาย ดูซิว่าหน่วยงานจะยอมทำสัญญาด้วยหรือไม่

1. ไม่มีกำหนดการส่งงานหรือส่งของ มีแต่ตัวเลขกลมๆ ว่าต้องส่งของหรืองานทั้งหมด X ชิ้น เท่านั้น

2. ทยอยส่งของหรือส่งงานได้ตามใจชอบ วันไหนก็ได้ ในจำนวนเท่าไรก็ได้ ก่อนส่งทุกครั้งแค่วางบิลล่วงหน้า 30 วัน ถ้าหน่วยงานรัฐจ่ายช้าต้องจ่ายดอกเบี้ยมาด้วย

3. ไม่มีวันหมดอายุสัญญา ส่งงานหรือส่งของครบจำนวน X เมื่อไร สัญญาก็หมดเมื่อนั้น (กี่เดือนกี่ปีก็ได้)

4. ระหว่างทาง เรา (คนขาย) มีสิทธิจ้างผู้รับเหมาช่วง (subcontract) คนไหนก็ได้มาทำงานหรือทำของแทนเราบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแม้แต่แจ้งหน่วยงานรัฐล่วงหน้าก่อน

5. จ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า 60% ของราคาของหรืองานทั้งหมดทันทีที่เซ็นสัญญา ถ้าส่งของไม่ได้ ถือว่ารัฐรับความเสี่ยงไป ไม่มีสิทธิได้มัดจำคืนทั้งจำนวน

เมื่อผู้เขียนอ่านสัญญาไร้ถมดำจบลง ก็คิดว่าสมควรแล้ว ที่รัฐบาลจะถูกประณามว่า ‘ลวงโลก’ ในการจัดหาวัคซีน

Tags: , , , , ,