ผู้เขียนเขียนเรื่องมหากาพย์วัคซีนติดต่อกันมาแล้วห้าตอน วันนี้น่าจะถึงเวลาเลี้ยวมาดูเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะ ‘มหากาพย์’ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในไทยนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องวัคซีน แต่เป็นมหากาพย์แทบทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่ประเด็นการสื่อสารสถานการณ์โควิด-19 ของหน่วยงานภาครัฐ

ในภาวะวิกฤตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างโควิด-19 สิ่งที่รัฐควรทำก็คือสื่อสารข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที โปร่งใส และตรงไปตรงมา ไม่ใช่บอกความจริงครึ่งเดียว ใช้ตัวเลขไม่สำคัญเพื่อสื่อให้คนเข้าใจผิด หรือบิดเบือนผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ประชาชนไม่ใช่เด็กน้อยที่รัฐต้องคอยปลอมประโลมหรือหวั่นเกรงว่าจะตื่นตระหนกกับความจริง ในทางตรงกันข้าม การไม่บอกความจริงหรือบอกความจริงไม่หมดต่างหาก ที่จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และพานไม่ไว้ใจรัฐเข้าไปใหญ่

ในคอลัมน์ ‘พักเบรก’ จากมหากาพย์วัคซีน วันนี้ ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างวิธีสื่อสารสถานการณ์ของภาครัฐที่ ‘ไม่ควรทำ’ สามตัวอย่างด้วยกัน 

1. ตีความข้อมูลผิด: ตัวเลข ‘หายป่วยกลับบ้าน’ บอกไม่ได้ว่าล็อกดาวน์ได้ผลหรือไม่

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 1.37 ล้านคน โพสต์กราฟิกข้อความสั้นๆ ว่า ‘ล็อกดาวน์’ เริ่มได้ผล แนวโน้มหายป่วยกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ ส่งสัญญาณมีเตียงเพียงพอ ลดความกดดันบุคลากรทางการแพทย์ (ดูภาพประกอบด้านล่าง, ตัวหนังสือในกรอบสีส้มเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

เนื้อหาในภาพนี้เป็นการสรุปความแบบไม่ครบถ้วนทีเดียวนัก จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งวันก่อนหน้านั้น และประโยคที่สรุปมาก็นับว่าแย่ เพราะตีความข้อมูลผิดอย่างสิ้นเชิง 

ถ้าเราลองใช้เพียงสามัญสำนึก ก็จะมองเห็นว่า ตัวเลข ‘หายป่วยกลับบ้าน’ ในแต่ละวันบอกเราไม่ได้เลยว่ามาตรการล็อกดาวน์เริ่มได้ผลหรือไม่ เพราะเป้าหมายหลักของมาตรการล็อกดาวน์อยู่ที่การลดโอกาสการแพร่เชื้อ ด้วยการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนไหวของผู้คน 

ดังนั้น ถ้าจะดูว่าล็อกดาวน์เริ่มได้ผลหรือไม่ ก็ต้องดูจากตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อเพิ่ม’ ในแต่ละวันว่ามีแนวโน้มลดลงหรือไม่ ไม่ใช่ ‘หายป่วยกลับบ้าน’

นอกจากนี้ ตัวเลขที่รัฐไทยเรียกว่า ‘หายป่วยกลับบ้าน’ ยังชี้ชวนให้เข้าใจผิด เพราะตัวเลขนี้ไม่ได้นับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายขาดจากโรคนี้แล้ว แต่ยังนับรวมผู้ป่วยที่ถูก ‘เชิญออก’ จากโรงพยาบาลก่อนกำหนด (อยู่โรงพยาบาล 7-10 วันหรือน้อยกว่านั้น แทนที่จะเป็น 14 วัน) เพื่อไปดูแลตัวเองที่บ้าน ตามมาตรการกักตัวที่บ้านหรือชุมชน (home/community isolation) เพื่อกันเตียงให้กับผู้ป่วยอาการหนัก – ดูตัวอย่างในข้อถัดไป

2. ตัวเลขประจำวันไม่ครบถ้วนและชวนให้เข้าใจผิด: กราฟิกประจำวันของศูนย์ข้อมูล COVID-19

ผู้เขียนเชื่อว่าแทบทุกคนคงคุ้นเคยกับกราฟิก ‘สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย’ ประจำวัน ผลิตโดยศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของกรมประชาสัมพันธ์เช่นเคย 

กราฟิกนี้ ว่ากันตามจริงที่ผ่านมาก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ทางการมีการปรับเปลี่ยนมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเริ่มใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) และแยกกักตัวในชุมชน (community isolation) ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากที่ระบบสาธารณสุขตึงตัวมากๆ ผู้เขียนก็เห็นว่าการจัดทำกราฟิกสถานการณ์ประจำวันของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ก็ยังมีความไม่ครบถ้วนและชวนให้เข้าใจผิด ผู้เขียนสรุปได้ 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบด้านล่าง, ตัวหนังสือในกรอบสีส้มเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

ประการแรก คำว่า ‘หายป่วยกลับบ้าน’ ในกราฟิกนี้ ชวนให้เข้าใจผิดว่า ตัวเลขนี้บอกจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยแล้วในแต่ละวัน แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขนี้คือผลรวมของคนสามกลุ่ม นั่นคือ ผู้ป่วยที่หายป่วยจริง, ผู้ป่วยที่ถูกเชิญออกจากโรงพยาบาล และผู้ที่กักตัวอยู่บ้านครบ 14 วัน ซึ่งสองกรณีหลังอาจไม่ได้ ‘หายป่วย’ ทุกคน 

ตั้งแต่รัฐเริ่มใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชน (home/community isolation) ก็มีการเปลี่ยนเกณฑ์ให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักกลับไปรักษาตัวเองต่อที่บ้าน เพื่อกันเตียงในโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยอาการหนักเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันและอาการดีขึ้น จะถูกเชิญออกจากโรงพยาบาลไปรักษาตัวต่อที่บ้านหรือชุมชน การ ‘กลับบ้าน’ จากโรงพยาบาลในกรณีเหล่านี้จึงไม่ได้แปลว่า ‘หายป่วย’ แล้ว เป็นเพียง ‘ผู้ป่วยที่ถูกเชิญออกจากโรงพยาบาล’

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังกล่าวว่า ผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านนั้น ‘เมื่อรักษาครบ 14 วันก็ถือว่าหายป่วย’ ตัวเลข ‘หายป่วยกลับบ้าน’ ที่ทางการรายงานนับรวมผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย ทั้งที่ ‘ผู้ที่กักตัวอยู่บ้านครบ 14 วัน’ อาจไม่ได้หายป่วยทุกคน แต่เมื่อครบ 14 วัน การดูแลจากทางการก็ถือว่าสิ้นสุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถ้าจะรายงานตัวเลขเดิมที่รวมคนทั้งสามกลุ่มข้างต้น ทางการควรเปลี่ยนจากคำว่า ‘หายป่วยกลับบ้าน’ เป็น ‘ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวครบ 14 วัน’ เพื่อให้สอดคล้องกับความจริง

ประการที่สอง ตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อเพิ่ม’ รายวันที่ทางการรายงาน ไม่รวม ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย’ ที่ได้ผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นบวก แต่ยังไม่ได้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR (ซึ่งเที่ยงตรงมากกว่า) ทั้งที่ควรนับรวมตัวเลข ATK เป็นบวกด้วย เพื่อให้คนได้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันที่แท้จริง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเองก็ประกาศว่า ผู้ที่พบผลตรวจ ATK เป็นบวก สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ home isolation ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลตรวจยืนยันจาก RT-PCR ก่อน และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ยืนยันว่า เมื่อนำผล ATK ไปเทียบกับวิธีมาตรฐานอย่าง RT-PCR พบว่า ATK ให้ผลตรวจที่ผิดพลาดเพียง 3% เท่านั้น

ประการที่สาม ตัวเลขผู้ป่วยที่ ‘กำลังรักษา’ มีความคลาดเคลื่อน โดยถ้าเราเอาตัวเลข ‘กำลังรักษา’ ของเมื่อวาน มาบวกกับตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้’ ของวันนี้ ลบด้วยตัวเลข ‘หายป่วยกลับบ้าน’ ของวันนี้ เราจะได้ตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลข ‘กำลังรักษา’ ที่ทางการรายงาน ประมาณวันละ 200-300 คน ทั้งที่ตัวเลขนี้ควรมีค่าเท่ากับสมการที่ผู้เขียนพูดถึง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มแปลว่าผู้ป่วยกำลังรักษามีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวนหายป่วยกลับบ้านแปลว่าจำนวนผู้ป่วยกำลังรักษามีจำนวนน้อยลง 

ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลข ‘กำลังรักษา’ ของทางการ อาจไม่นับรวมผู้ป่วยที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก และกำลังรักษาตัวเองที่บ้าน โดยไม่ได้ลงทะเบียนเข้าระบบ home isolation ของทางการ

3. เปรียบเทียบ ‘ผิดฝาผิดตัว’ : ใช้ตัวเลขสะสมข้ามปีแทน ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ และไม่เทียบประชากร

การรายงานข้อมูลแบบตีความผิด ใช้คำไม่ถูกต้อง และไม่ได้รวมตัวเลขที่ควรรวม ดังตัวอย่างสองตัวอย่างที่ผู้เขียนยกข้างต้นนั้น นับเป็นการสื่อสารที่ไม่ควรทำ แต่ปัญหาที่อาจแย่ไม่แพ้กันก็คือ การสื่อสารชนิด ‘ผิดฝาผิดตัว’ ในทางที่ทำให้สถานการณ์ดู ‘เบา’ กว่าข้อเท็จจริง

สองตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณี ‘ผิดฝาผิดตัว’ คือ การเทียบอันดับการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ จากตัวเลขจำนวนสัมบูรณ์ (จำนวนวัคซีน) โดยไม่เทียบสัดส่วนประชากร และการรายงาน ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เทียบกับต่างประเทศ ด้วยการใช้ตัวเลข ‘สะสม’ ตั้งแต่มกราคม 2563 นานนับปีก่อนที่โลกจะมีวัคซีนใช้ 

สำหรับตัวอย่างแรก กระทรวงสาธารณสุข อว. และหน่วยงานอื่นๆ มักจะกล่าวอ้างว่า “ไทยฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน” (ตัวอย่างข่าว 15 สิงหาคม 2564) โดยจัดอันดับจาก ‘จำนวนวัคซีน’ ที่ฉีด แทนที่จะดู ‘อัตราการฉีดต่อจำนวนประชากร’ ตามมาตรฐานที่ควรเป็น

การใช้ ‘จำนวนวัคซีน’ ในการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ นอกจากจะผิดหลักการและไม่ได้มาตรฐาน ยัง ‘ไม่ยุติธรรม’ กับประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรน้อยเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วถึงร้อยละ 76.2 นำโด่งในอาเซียน แต่กลับอยู่อันดับที่ 7 ในตารางของทางการไทย เพียงเพราะเป็นประเทศขนาดเล็ก (ต่อให้ฉีดครบ 100% ของประชากร ก็ไม่มีวันได้อันดับหนึ่ง!) 

ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจไม่น้อยก็คือ อว. เองก็เคยจัดอันดับการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง คือใช้ข้อมูลอัตราการฉีดวัคซีน (จำนวนที่ฉีดต่อประชากร) ในการรายงานข้อมูลนี้เมื่อหลายเดือนก่อน เช่น ในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา (ดูภาพประกอบด้านล่าง) 

ดังนั้น การ ‘เปลี่ยน’ มาจัดอันดับผิดๆ ในหลายเดือนต่อมา จึงไม่น่าจะเกิดจากความไม่รู้ของ อว. เท่ากับความอยากนำเสนอข้อมูลในทางที่ทำให้สถานการณ์ของไทย ‘ดูดีกว่าความจริง’ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ตัวอย่างที่สองของการเปรียบเทียบผิดๆ ก็คือ การใช้ตัวเลข ‘สะสม’ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ในการรายงาน ‘สถานการณ์’ ป่วยและตายจากโควิด-19 ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นภาพนี้ของกระทรวงสาธารณสุข 

ภาพนี้จั่วหัวว่า ‘สถานการณ์’ ก็แปลว่าอยากนำเสนอ ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’  แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับใช้ตัวเลขอัตราการป่วยและอัตราการตายสะสม ตั้งแต่ต้นปี 2563 นานนับปีก่อนที่โลกจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ แล้วเลือกตัวเลขสะสมจากหลายประเทศมาสื่อว่า อัตราการป่วยและตายของไทยยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศ (ดูภาพประกอบด้านล่าง, ตัวหนังสือในกรอบสีส้มเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

การใช้ตัวเลข ‘สะสม’ ข้ามปีมารายงาน ‘สถานการณ์’ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะทำให้เรามองไม่เห็นสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร

เหมือนกับสมมติมีคนพูดว่า “จีดีพีเรายังเติบโตดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก” โดยเอาจีดีพีตลอด 20 ปีมาเทียบ แทนที่จะเอาข้อมูลไตรมาสล่าสุดมาเทียบ คำพูดนี้ต่อให้จริงก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย เพราะเราสนใจการเติบโต ‘ปัจจุบัน’ มากกว่า 

หรือถ้าเราเป็นผู้บริหารบริษัท ถามลูกน้องว่า สถานการณ์ยอดขายวันนี้เป็นอย่างไร ลูกน้องตอบว่าเติบโตได้ดี โดยดูจากอัตราการเติบโตของยอดขายสะสมย้อนหลัง 10 ปี เจอแบบนี้เราคงโวยวายและสั่งให้ลูกน้องไปหาตัวเลขไตรมาสล่าสุดมาเท่านั้น

การเลือกตัวเลขป่วยและตาย ‘สะสม’ ตั้งแต่ต้นปี 2563 มารายงาน ‘สถานการณ์’ นั้น นอกจากจะไม่ถูกต้องแล้ว ยัง ‘ไม่ยุติธรรม’ กับประเทศต่างๆ เพราะทุกคนก็รู้ว่า ปี 2563 เกือบทั้งปี โลกยังไม่มีวัคซีนใช้ ดังนั้นอัตราการป่วยและการตายของหลายประเทศจึงย่อมสูงกว่าปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศฉีดวัคซีนไปเยอะแล้ว

ดังนั้น ถ้าจะเทียบสถิติช่วงโควิด-19 ที่จะบอกเราเรื่อง ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เทียบกับ ‘ต่างประเทศ’ ได้ ไม่ว่าจะเป็น อัตราการป่วย อัตราการตาย อัตราการฉีดวัคซีน หรือสถิติอะไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นควรเทียบ 1. ต่อจำนวนประชากร (เพราะประเทศเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน) และ 2. ใช้ค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง (7-day rolling average) เพื่อฉายภาพ ‘แนวโน้ม’ และ ‘สถานการณ์’ ล่าสุด ไม่ใช่ใช้ตัวเลข ‘สะสม’ แบบที่ทางการไทยชอบทำ

ตัวอย่างต่างๆ ที่ผู้เขียนยกมาในตอนนี้ คงทำให้พอเห็นภาพว่ารัฐบาลควรปรับปรุงการสื่อสารและการใช้ข้อมูล COVID-19 ให้ได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการบอกข้อมูลไม่ครบ หรือหยิบข้อมูลบางส่วนมาใช้ในทางที่ชวนเข้าใจผิด

เพราะการแก้ปัญหาที่แท้จริง ย่อมเริ่มต้นไม่ได้ถ้าหากว่าเราไม่ยอมรับความจริง

Tags: , , , , ,