คอลัมน์นี้สองตอนที่แล้ว ผู้เขียนเสนอกรอบคิดในการมองความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในการจัดสรรวัคซีน โดยเสนอว่า เราสามารถมองปัญหาทั้งหลายในการจัดสรรผ่านเลนส์ของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใน 5 มิติ ที่มีความเกี่ยวโยงกัน มิติเหล่านั้นได้แก่ ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้นและคอนเนกชัน และ ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ

ตอนที่แล้วผู้เขียนเขียนถึงความเหลื่อมล้ำในสองมิติแรก นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย และความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยีไปแล้ว ตอนนี้มาว่ากันต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติที่สาม นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ 

ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ย่อยจนถึงระดับสถานฉีดวัคซีนเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งอาจเพราะนักการเมืองในอำนาจอยากใช้อิทธิพลและอำนาจของตัวเอง จัดการให้วัคซีนมาลงใน ‘พื้นที่ฐานเสียง’ ของตัวเองเป็นอันดับต้นๆ โดยไม่คำนึงถึงเกณฑ์การจัดสรรทางการของกระทรวงสาธารณสุข

กรณีแรกๆ ที่ทำให้เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรรวัคซีน คือ กรณีที่จังหวัดบุรีรัมย์ฉีดวัคซีนให้กับประชากรในจังหวัดมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนโควิด-19 ในประเทศยังคงขาดแคลน สวนทางกับระลอกการระบาดในช่วงเวลาเดียวกัน 

หลายคนสนใจกรณีนี้ เนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในความดูแลของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนักการเมืองของพรรคได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการรับมือกับโรคโควิด-19 รวมถึงการจัดหาและจัดสรรวัคซีน

รายงาน ‘ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน’ โดยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 กล่าวถึงกรณีนี้อย่างชัดเจนว่า

“ปัญหาสำคัญในการกระจายวัคซีนก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพ โดยพรรคร่วมรัฐบาลได้แย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดหลายช่องทางในการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ทั้งช่องทางของหมอพร้อม ระบบประกันสังคม (มาตรา 33) แพลตฟอร์มไทยร่วมใจ และการลงทะเบียนแบบ on site โดยไม่มีกลไกการประสานงานที่ดี นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตามช่องทางดังกล่าวยังสามารถจัดลำดับการฉีดวัคซีนเอง โดยไม่มีกลไกติดตามและกำกับให้เป็นไปตามลำดับตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือการกระจายวัคซีนบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่าบางจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็มหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก และไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วนในการได้รับวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม (ดูตารางที่ 1)”

 

ตารางที่ 1 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร 100 คน 15 อันดับแรก (ณ วันที่ 7 ก.ค. 2564) จากรายงานทีดีอาร์ไอ

หลังจากที่ทีดีอาร์ไอออกรายงานชิ้นนี้ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 รองอธิบดีกรมควบคุมโรคก็ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า “เหตุผลที่ จ.บุรีรัมย์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องตามแผนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะมีการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ โมโตจีพี ซึ่งได้มีการเลื่อนการแข่งขันจากปี 2563 เป็น 2564 ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ จึงเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน และผู้ที่อยู่บริเวณโดยรอบสนามแข่งขัน ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์”

ผู้เขียนฟังคำอธิบายนี้แล้วก็รู้สึกแปลกดีที่มีการอ้างว่าบุรีรัมย์เป็น ‘จังหวัดนำร่อง’ ตาม ‘แผนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา’ เพราะ ณ เดือนกรกฎาคม 2564 ประเทศไทยทั้งประเทศยังอยู่ในภาวะปิดประเทศ ไม่มีใครได้ยินมาก่อนว่าบุรีรัมย์จะเป็น ‘จังหวัดนำร่อง’ ด้านการท่องเที่ยว มีเพียงโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ (เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2564) เท่านั้น ที่เปิดเป็น ‘จังหวัดนำร่อง’ ด้านการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน

แม้ในเวลาต่อมา เมื่อ ศบค. ประกาศเปิด ‘พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว’ ในเดือนกันยายน 2564 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์ถึงได้มาอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัด ‘ระยะที่ 1 ที่ตั้งใจจะเปิดเพิ่มเติมในช่วง 1-30 พฤศจิกายน 2564

ส่วนงาน โมโตจีพี ซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็น ‘เหตุผล’ ในการเร่งฉีดวัคซีนกว่า 3 แสนเข็ม ส่งผลให้บุรีรัมย์มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศ ณ 7 กรกฏาคม 2564 ก็ไม่ได้จัด ถูกเลื่อนจัดออกไปสองครั้ง จน ณ วันที่ผู้เขียนเขียนบทความอยู่นี้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) ยังไม่มีกำหนดการจัดใหม่แต่อย่างใด

ผู้อ่านท่านใดสนใจประเมิน ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่’ ในการจัดสรรวัคซีน ผู้เขียนชวนดูกราฟเปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนสองเข็มสะสม อัตราการฉีดวัคซีนเข็มสามสะสม กับอัตราการติดเชื้อสะสม ในแต่ละจังหวัด ระหว่าง 1 มกราคม 2564 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2565

(ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณพรรณิสา นิรัตติวงศกรณ์ และ ชารินทร์ พลภาณุมาศ สำหรับการประมวลผลและแสดงกราฟข้อมูลรายจังหวัด และขอบคุณ คุณน้ำใส ศุภวงศ์ สำหรับการออกแบบกราฟิก)

เมื่อดูตัวอย่างของจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรในจังหวัด ทั้ง 1 เข็ม และ 2 เข็ม อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน ถึงตุลาคม 2564 ในขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อ (จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรในจังหวัด) ในบุรีรัมย์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมากกว่า 2 เท่าตลอดมา และมีอัตราผู้ติดเชื้อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกว่า 3 เท่า ตั้งแต่ราวกลางเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมา (ซึ่งหลายคนมองว่า ข้อมูลนี้สะท้อนความสำเร็จของมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัด) – ดูกราฟด้านล่าง

โดยสามัญสำนึก เราย่อมคาดหวังให้รัฐกระจายวัคซีนไปตามจังหวัดต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และจัดอันดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่น แต่เราก็ยอมรับได้หากมีข้อพิจารณาอื่นๆ เช่น สถานการณ์การระบาด จังหวัดไหนมีอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายสูงมาก ก็สมควรได้รับวัคซีนอย่างเร่งด่วนกว่าจังหวัดอื่น อัตราการฉีดวัคซีนควรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ก็ปรากฏชัดในกรณีนี้เช่นกัน เริ่มจากการดูสถานการณ์อัตราการติดเชื้อ อัตราการตาย และอัตราฉีดวัคซีน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เรียงตาม ‘จำนวนผู้เสียชีวิต ต่อประชากรล้านคน’ ในแต่ละจังหวัด – ดูตารางด้านล่าง

เมื่อเปรียบเทียบ ‘จำนวนผู้เสียชีวิต ต่อประชากรล้านคน’ กับตัวเลข ‘การได้รับวัคซีน:ประชากร’ ซึ่งสะท้อนอัตราการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ในแต่ละจังหวัด ข้อมูลก็ชี้อย่างชัดเจนว่า ในบรรดาจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 จังหวัดแรก มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 5 จังหวัดเท่านั้นที่ประชากรได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 74% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด (74% คือ ค่าเฉลี่ยอัตราการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ของทั้งประเทศ) ได้แก่ สมุทรสาคร (มีประชาได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 98%) กรุงเทพมหานคร (123%) สมุทรปราการ (86%) ตาก (77%) และ ปทุมธานี (86%)  

จังหวัดท็อปเทนที่เหลืออีก 5 จังหวัด ประชากรล้วนได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 74% มาก ได้แก่ สมุทรสงคราม (59%) ปัตตานี (55%) ยะลา (65%) นครนายก (57%) และ นครปฐม (59%)

ผู้เขียนเห็นว่า การที่จังหวัดที่มีสัดส่วนการตายจากโควิด-19 สูงสุด 10 อันดับ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มที่มีจำนวนเท่ากัน คือ 5 จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ และ 5 จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก เป็นภาพสะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่’ ในการจัดสรรวัคซีนที่ชัดเจน

ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าคือ 3 ใน 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนการตายจากโควิด-19 ค่อนข้างสูงและฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศมาก ได้แก่ สมุทรสงคราม ปัตตานี และ นครนายก โดยเป็นจังหวัดที่อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสยิ่งถอยห่างจากค่าเฉลี่ยของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป แม้อัตราการติดเชื้อของประชากรในจังหวัดจะเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศมาก โดยเฉพาะหลังต้นเดือน ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา

ผู้เขียนชวนดูข้อมูลจาก กราฟเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อสะสม กับอัตราการฉีดวัคซีน 1 เข็ม และ 2 เข็ม ของจังหวัด สมุทรสงคราม ปัตตานี และ นครนายก เปรียบเทียบกับ กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 1 มกราคม 2564 – 22 กุมภาพันธ์ 2565 ดังต่อไปนี้

 

 ผู้อ่านหลายท่านคงสังเกตว่า ‘อัตราการฉีดวัคซีนครบโดส’ ในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 114% (ถ้านับเฉพาะอัตราการฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม ตัวเลขนี้ก็สูงถึง 123% เลยทีเดียว)

อัตราการฉีดวัคซีน ‘เกิน 100%’ ของกรุงเทพมหานคร บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในระดับ ‘สถานฉีดวัคซีน’ นั่นคือ คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ อุตส่าห์เดินทางมาเข้าคิวฉีดวัคซีน ณ สถานีกลางบางซื่อ

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตในบทความก่อนหน้านี้ว่า

“คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดินทางมาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากการจัดหาวัคซีน โดยเฉพาะระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 มีความล่าช้าและวุ่นวายมาก คนจำนวนมากพยายามจองคิวฉีดผ่านระบบหมอพร้อม แอพพลิเคชันต่างๆ นานา แต่ไม่สำเร็จ หลายคนจองคิวได้ แต่ถูกเลื่อนคิวฉีด บางคนถูกเลื่อนคิวฉีดอย่างไม่มีกำหนด

ในเมื่อการจัดการวัคซีนมีปัญหา จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ ‘เหมารถ’ จากหลายจังหวัดมาฉีดวัคซีนแบบ ‘ไม่ต้องจองคิว’ ที่สถานีกลางบางซื่อในกรุงเทพฯ

กลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนเชิญชวนให้ผู้ที่ติดตามเพจเฟซบุ๊กของผู้เขียน ร่วมกันตอบแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเวลา 3 วัน มีผู้ตอบ 615 คน ในจำนวนนี้มีมากถึง 179 คน หรือร้อยละ 29 ของผู้ตอบทั้งหมด ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ”

สถานีกลางบางซื่อ ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม กระทรวงที่นักการเมืองจากพรรคภูมิใจไทย ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ จึงกลายเป็น ‘สถานฉีดวัคซีนหลัก’ ของประเทศ เพราะคนจำนวนมากมองว่า การถ่อมาจองคิว หรือต่อคิวฉีดที่นี่ ‘ชัวร์’ กว่าการรอฉีดวัคซีนในภูมิลำเนาของตัวเอง

เกิดเป็นภาพความแออัดยัดทะนานที่เราได้เห็นตามหน้าสื่อ แพทย์หลายคนชี้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่น้อยติดเชื้อระหว่างการรอคิวฉีดวัคซีน

ถ้าเราอนุมานคร่าวๆ ว่า มีคนราว 12.5% % ที่ได้ฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ (ครึ่งหนึ่งของ 123% ลบด้วย 100%) โดยไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็แปลว่าคนที่ดั้นด้นเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ อาจมีจำนวนสูงถึง 12.5% x 7.699 ล้านคน (ตัวเลขประเมินผู้อาศัยในกรุงเทพฯ จากกระทรวงสาธารณสุข) หรือ 8.8 แสนคนเลยทีเดียว

เราอาจไม่มีวันได้รู้ตัวเลขที่แท้จริง จนกว่าจะมีการสำรวจประสบการณ์ของคนที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการและเป็นระบบ

แต่อย่างน้อย ภาพความเดือดร้อนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า เสียงบ่นระงมจากผู้ที่ต้องหาทางมากมาย ตะเกียกตะกายกว่าจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีน เทียบกับสถิติอัตราการป่วยและตายรายจังหวัดที่ผ่านมา ก็บอกเรามากเกินพอว่า ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่’ ในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 นั้นมีอยู่จริง และแม้ประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับโควิด-19 มากว่าสองปีแล้ว ปัญหานี้ก็ไม่เคยถูกมองเห็นเป็น ‘ปัญหาเร่งด่วน’ ที่สมควรได้รับการแก้ไข ในสายตาของผู้ดำเนินนโยบายภาครัฐ 

Tags: , , , , ,