คอลัมน์นี้ตอนที่แล้วผู้เขียนเขียนถึงความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติในการจัดสรรวัคซีน โดยเสนอว่าเราสามารถมองปัญหาทั้งหลายในการจัดสรรผ่านเลนส์ของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใน 5 มิติ ที่มีความเกี่ยวโยงกัน มิติเหล่านั้นได้แก่ ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้นและคอนเนกชัน และ ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ
ตอนนี้ผู้เขียนชวนมองความเหลื่อมล้ำสองมิติแรก นั่นคือความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย และความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ก่อนที่จะไปพูดถึงความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรวัคซีนในมิติอื่นๆ ในตอนต่อไป
1. ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย
ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่า หลักการสำคัญที่ประเทศทั่วโลกใช้ในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 คือ เน้นฉีดวัคซีนให้กับ ‘กลุ่มเสี่ยง’ ก่อนกลุ่มอื่น ในประเทศไทยเรียกกลุ่มเสี่ยงว่า ‘กลุ่ม 608’ หมายถึง กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ที่มีความเสี่ยงสูงหากติดเชื้อโควิด-19 (ได้แก่ โรคปอดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และ โรคอ้วนชนิดรุนแรง) และหญิงมีครรภ์
นอกจาก ‘กลุ่ม 608’ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐต้องจัดสรรวัคซีนให้เป็นอันดับแรก เนื่องจากแพทย์เสี่ยงที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรักษา และถ้าแพทย์หนึ่งคนป่วย นั่นหมายถึงผู้ป่วยอีกหลายสิบคนจะสูญเสียโอกาสในการรักษา ส่งผลสืบเนื่องต่อกันเป็นลูกโซ่
ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย หมายถึง การจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลทางการแพทย์ เช่น ไปเน้นฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น คนวัยทำงาน ฯลฯ ก่อนที่กลุ่มเสี่ยงจะได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม หรือ การจัดสรรวัคซีนประสิทธิภาพต่ำให้กับกลุ่มเสี่ยงสูง และจัดสรรวัคซีนประสิทธิภาพสูงให้กับกลุ่มเสี่ยงต่ำ เป็นต้น
แล้วความเหลื่อมล้ำชนิดนี้เกิดในไทยมากน้อยเพียงใด?
คุณดีแลน เจย์ (Dylan Jay) นำข้อมูลการฉีดวัคซีนสำหรับแต่ละกลุ่มของกรมควบคุมโรคตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เมื่อมีการจัดสรรวัคซีนลอตแรก (จำนวนไม่กี่แสนโดส ก่อนที่การจัดสรรจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2564) มาพล็อตเป็นกราฟอย่างชัดเจน (ดูกราฟด้านล่างประกอบ)
กราฟนี้แสดงอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส (สองเข็ม) ของคนกลุ่มต่างๆ ในไทย จำแนกตามกระทรวงสาธารณสุขดังนี้
– บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ จำนวน 1.7 ล้านคน
– เจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่นๆ จำนวน 1.9 ล้านคน
– คนอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.9 ล้านคน
– ผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูง 7 โรค จำนวน 6.3 ล้านคน
– ประชากรทั่วไป จำนวน 46.2 ล้านคน
– หญิงมีครรภ์ จำนวน 0.5 ล้านคน
– นักเรียนอายุ 12-17 ปี จำนวน 4.5 ล้านคน
จากกราฟชี้ชัดว่ารัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้กับ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ก่อนกลุ่มอื่นมาตั้งแต่แรก และกลุ่มนี้ก็ได้รับวัคซีนครบโดสถึงร้อยละ 94.5 ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565การเร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อนกลุ่มอื่นเป็นเรื่องที่ถูกต้องสมควรแล้ว เนื่องจากแพทย์เป็นทั้งกลุ่มเสี่ยงสูง และเป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19
อย่างไรก็ดี น่าตกใจและน่าเศร้าที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่นๆ (อาทิ กู้ภัย) ซึ่งในการทำงานนับว่าเสี่ยงไม่แพ้บุคลากรทางการแพทย์เพราะต้องสัมผัสผู้ป่วย นอกจากจะได้วัคซีนครบโดสช้ากว่าบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังได้ในอัตราครอบคลุมต่ำกว่าราวสองเท่าตลอดมา และจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 คนกลุ่มนี้ก็ยังได้วัคซีนเพียงร้อยละ 62.4 เท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมาย ‘ร้อยละ 70 ของประชากร’
(อนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีเรื่อง ‘ชนิด’ ของวัคซีน ที่แพทย์จำนวนมากเรียกร้องวัคซีนประสิทธิภาพสูง mRNA แต่วัคซีนชนิดนี้ที่เข้าไทยเป็นลอตแรก กลับเป็น ‘ไฟเซอร์บริจาค’ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาถึงแล้วรัฐก็ใช้เกณฑ์การจัดสรรประหลาดๆ ที่เปิดช่องให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติทางชนชั้น-คอนเนกชันอย่างชัดเจน – ผู้เขียนจะเขียนถึงกรณีนี้เมื่อเขียนเรื่องความเหลื่อมล้ำชนิดนี้ในตอนต่อไป)
ถัดจากกลุ่มแพทย์ กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงมีครรภ์ ซึ่งในไทยเรียกสามกลุ่มนี้รวมกันว่า ‘กลุ่ม 608’ แต่จากกราฟของคุณ Dylan เห็นชัดว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 ที่ไทยประสบปัญหาวัคซีนขาดแคลน ขณะเดียวกับที่โควิด-19 ระบาดหนัก มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตสูงสุดที่เคยเจอ (ค่ามัธยฐาน (median) ของอายุผู้ป่วยที่ตายจากโควิด-19 อยู่ที่ 68-78 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา) กลุ่มเสี่ยงสูงกลับได้วัคซีนครบโดสช้ากว่ากลุ่ม ‘ประชากรทั่วไป’ ที่เสี่ยงน้อยกว่าอย่างชัดเจน
ดังเห็นชัดว่าเส้นอัตราการฉีดครบสองเข็มของกลุ่ม ‘อายุ 60 ปีขึ้นไป’ และ ‘ผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูง 7 โรค’ ซึ่งรวมกันมีจำนวนมากถึง 17.2 ล้านคน อยู่ต่ำกว่าอัตราการฉีดครบโดสของ ‘ประชากรทั่วไป’ ตลอดช่วงที่วัคซีนขาดแคลน นั่นคือ มิถุนายน-สิงหาคม 2564
อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของกลุ่ม 60+7 นี้ รัฐเพิ่งมา ‘เร่งเครื่อง’ จนสูงกว่าอัตราฉีดครบโดสของกลุ่ม ประชากรทั่วไป ในเดือนกันยายน 2564 นี้เอง (สังเกตจากกราฟสองเส้นของสองกลุ่มนี้เริ่มแซง ประชากรทั่วไป ในช่วงนั้น) ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ภาวะขาดแคลนวัคซีนเริ่มซา (หลักๆ เป็นเพราะในเดือนกันยายน แอสตราเซเนกา ส่งมอบได้ถึง 8 ล้านโดส เป็นครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาลรับปากว่าจะซื้อเพิ่มอีก 60 ล้านโดส สำหรับปี 2565 ซึ่งต่อมาเรารู้จาก มติ ครม. ว่า ยอมซื้อในราคาแพงกว่าเดิมถึงสองเท่า และไฟเซอร์ที่รัฐบาลซื้อลอตแรกเดินทางมาถึงไทย 2 ล้านโดส)
ส่วนกลุ่ม ‘หญิงมีครรภ์’ ข้อมูลบ่งชี้ว่าแทบจะถูกละเลย เพราะจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มเพียงร้อยละ 17.7 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 5 แสนคน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการตัดสินใจของหลายคนที่จะไม่ฉีดเนื่องจากกลัวอันตรายต่อลูกในท้อง อีกส่วนมาจากการที่ไทยซื้อวัคซีนชนิด mRNA (ชนิดที่มีข้อมูลวิจัยยืนยันชัดที่สุดว่าปลอดภัยสำหรับคุณแม่) ช้ามาก กว่าไฟเซอร์ลอตแรกจะมาถึงไทย ก็ปาเข้าไปเดือนกันยายน 2564 แล้ว ขณะที่กลุ่มอื่นได้ฉีดวัคซีนที่ไม่ใช่ mRNA (ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564
แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของกลุ่ม หญิงมีครรภ์ ที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นมาก ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ก็บ่งชี้ว่าที่ผ่านมา รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้เท่าที่ควร
ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 กลุ่ม 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค มีอัตราการฉีดครบโดสเพียงร้อยละ 70.5 และร้อยละ 74 ตามลำดับ ต่ำกว่าเป้าหมาย ‘ร้อยละ 80’ สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำก่อนการเปิดประเทศ
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงสูง ’608’ มากกว่ากลุ่มอื่นอย่างจริงจังดังที่ควรทำตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในภาวะที่วัคซีนขาดแคลนและโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รัฐควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเหล่านี้ก่อนประชากรทั่วไป (ซึ่งในกรณีนั้น เส้นกราฟ อัตราฉีดวัคซีนครบโดส ของกลุ่มเหล่านี้ ก็จะอยู่สูงกว่าเส้นกราฟอัตราฉีดครบโดสของประชากรทั่วไป อย่างคงเส้นคงวาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน)
แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม
ผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ ‘ลำดับความสำคัญ’ ในการจัดสรรวัคซีนในไทยดูบิดเบี้ยวในบางช่วง ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน อาจมาจากการแข่งกันสร้างคะแนนนิยมของนักการเมืองบางคนในพรรครัฐบาลที่มีอำนาจควบคุมการจัดสรรวัคซีน แต่ประเด็นนี้ผู้เขียนจะยกยอดไว้ไปเขียนในตอน ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้น-คอนเนกชัน
2. ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี
ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมายดังอธิบายข้างต้น ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้ใช้วิธี ‘เชิงรุก’ ในการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนเท่าที่ควร แต่ให้มา ‘ลงทะเบียน’ จองคิววัคซีน ผ่านแอพพลิเคชันสมาร์ตโฟน หรือเว็บไซต์ของรัฐเป็นหลัก การเลือกใช้วิธีนี้เท่ากับกีดกันคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน หรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต คนเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้สูงวัยรายได้น้อย อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ’608’ ที่ควรได้รับวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้นจึงเท่ากับว่า รัฐเลือกวิธีจัดสรรวัคซีนที่กลุ่มเสี่ยงสูงเสียเปรียบตั้งแต่ต้น สุ่มเสี่ยงว่าจะเข้าไม่ถึงแม้แต่การ ‘จองคิว’ ตั้งแต่แรก ก่อเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยีที่รุนแรง ระหว่างคนที่มีสมาร์ตโฟนกับไม่มี และระหว่างคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับเข้าไม่ถึง
ที่ผ่านมา ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นใครทำการศึกษาหรือสำรวจความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรวัคซีนอย่างเป็นระบบ แต่จากการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านเพจส่วนตัวของผู้เขียนในเดือนกันยายน 2564 มีผู้มาตอบแบบสอบถามออนไลน์ 615 คน ในจำนวนนี้มากถึง 236 คน คิดเป็นร้อยละ 38.4 ที่จองวัคซีนผ่านช่องทางมากกว่า 1 ช่องทาง
ในจำนวนผู้ตอบ 236 คน ที่จองวัคซีนมากกว่า 1 ช่องทาง มีถึง 38 คน ที่ใช้ช่องทางมากถึง 4 ช่องทาง (!) และมี 10 คน ที่จองวัคซีนมากถึง 5 ช่องทาง (!!)
คนที่ตอบว่าจอง 5 ช่องทาง บางท่านตอบว่าจองผ่านช่องทางทั้งหมดต่อไปนี้
– แอพฯ หมอพร้อม
– โครงการไทยร่วมใจ
– แอพฯ หรือเว็บไซต์ของบริษัทเอกชน (เช่น บริษัทมือถือ)
– นายจ้างจัดการจองให้
– ญาติหรือคนรู้จักจัดการจองให้
อีกหลายคนตอบช่องทางคล้ายกัน แต่เปลี่ยนตัวเลือกบางตัวเป็น ‘แอพฯ หรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาล’ หรือ ‘จองกับ อสม.’ หรือ ‘เป็นผู้ติดตามผู้สูงวัย 60 ปี’ (ข้อหลังนี้เป็นนัยว่า สุดท้ายได้วัคซีนด้วยเหตุนี้)
ผลการตอบแบบสอบถามชี้ว่า คนไทยจำนวนมากต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 และพยายาม ‘ทำทุกวิถีทางที่ทำได้’ เพื่อเข้าถึงวัคซีน เนื่องจากความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ประกอบกับความสับสนและความไม่แน่นอนในการจัดการวัคซีนของรัฐ โดยเฉพาะระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ที่ตอบไม่ได้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไร เท่าไร
คนจำนวนมากที่พยายามจองคิวผ่านแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ต้องลุ้นยิ่งกว่าสลากกินแบ่งว่าจะเข้าได้ แถมต่อให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนสำเร็จ ก็ต้องรอการแจ้งคิวจากโรงพยาบาลหรือสถานฉีดวัคซีนอีก หลายคนจองแล้วถูกเลื่อนคิวฉีด หรือได้ยี่ห้อแตกต่างจากที่ได้รับแจ้งล่วงหน้า ฯลฯ
ช่องทางจองคิววัคซีนยอดนิยมที่ผู้ตอบแบบสอบถามใช้มากที่สุด ได้แก่ โครงการไทยร่วมใจ (ร้อยละ 20.7 ของผู้ตอบทั้งหมด), แอพพลิเคชันหมอพร้อม (ร้อยละ 20.4), นายจ้างจัดการจองให้ (ร้อยละ 15.2), แอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์โรงพยาบาล (ร้อยละ 14.1), แอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของจังหวัดหรือ อบต. (ร้อยละ 11), แอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์เอกชน (เช่น บริษัทมือถือ) (ร้อยละ 10.6) และญาติหรือคนรู้จักจัดการจองให้ (ร้อยละ 9.7)
ช่องทางอื่นๆ ที่มีผู้ตอบ มีความหลากหลายกว่านี้อีก เช่น ได้โควตาหน่วยงานรัฐ, เป็นผู้ติดตามผู้สูงวัย, อสม. ดำเนินการให้ ฯลฯ
ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยีในการจัดสรรวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย ถ้าหากรัฐคำนึงถึงหัวอกและพฤติกรรมของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงวัยรายได้น้อย กลุ่มเสี่ยงสูงที่มักจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และจำเป็นต้องมีการจัดการแบบ ‘เชิงรุก’ ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างแท้จริง
แล้วความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรวัคซีนอีกสองมิติ คือ ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และความเหลือมล้ำเชิงชนชั้น-คอนเนกชัน มีบทบาทอย่างไร ผลพวงของมันคืออะไร ผู้เขียนชวนมาร่วมกันหาคำตอบในตอนต่อไป
แต่ระหว่างนี้ ผู้สนใจสามารถดูกราฟเปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนสองเข็มสะสม อัตราการฉีดวัคซีนเข็มสามสะสม กับอัตราการติดเชื้อสะสมในแต่ละจังหวัด ระหว่าง 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2564 ได้จากด้านล่าง
(ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณพรรณิสา นิรัตติวงศกรณ์ และ ชารินทร์ พลภาณุมาศ สำหรับการประมวลผลและแสดงกราฟข้อมูลรายจังหวัด และขอบคุณ คุณน้ำใส ศุภวงศ์ สำหรับการออกแบบกราฟิก)
Tags: โควิด-19, Citizen 2.0, การจัดสรรวัคซีน, วัคซีน