ล่วงเข้าสู่เดือนตุลาคม 2564 เราอยู่กับโควิด-19 มายาวนานเกือบสองปีแล้ว นานาประเทศทั่วโลกต่างทยอยปรับตัวออกจากโหมด ‘เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่’ เข้าสู่โหมด ‘หาทางอยู่ร่วมกับโรค’ โดยลดความสาหัสจากโควิด-19 ให้เหลือเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนประกาศว่าจะ ‘เอาชนะ’ เชื้อโรคนี้ หรือลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือศูนย์อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากข้อมูลหลักฐานจากหลายประเทศล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เราไม่อาจคาดหวัง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ได้อีกต่อไป เมื่อสายพันธุ์เดลตาครองโลก แม้วัคซีนประสิทธิผลสูงสุดอย่างวัคซีนชนิด mNRA ก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อและการระบาด แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจนต้องเข้าโรงพยาบาล อาการหนัก และอัตราการเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี ทำให้คนในประเทศสามารถเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ รัฐไม่ต้องใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ อย่างเข้มงวดเหมือนกับช่วงก่อนมีวัคซีน 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสายพันธุ์เดลตายังระบาดได้ทุกเมื่อ แม้ในประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสเกินร้อยละ 70-80 ของประชากร และยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ นั่นหมายความว่าแม้ในประเทศที่ ‘เปิดเมือง’ แล้ว ประชาชนก็ยังต้องระมัดระวังตัว และรัฐก็ต้องเตรียมมาตรการสาธารณสุขให้พร้อมตลอดเวลา เช่น เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกครบโดสให้ได้มากที่สุดสำหรับประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง แจกจ่ายหรือจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ในราคาย่อมเยาที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ยกระดับระบบดูแลตัวเองที่บ้านและในชุมชน (home/community isolation) ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะกลับมาใช้มาตรการเข้มงวด ถ้าหากว่าสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ต้นเดือนตุลาคม 2564 รัฐบาลไทยกำลังเจริญรอยตามหลายประเทศ พยายามเข้าสู่โหมด ‘เปิดเมือง’ และ ‘เปิดประเทศ’ (เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ในเวลาไล่เลี่ยกัน จังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนเกณฑ์การเปิดเมือง-คลายล็อกดาวน์ของไทย เทียบกับเกณฑ์ของประเทศอื่นๆ ที่ทยอยเปิดเมืองไปแล้วก่อนหน้านี้

ในการตัดสินใจเปิดเมือง รัฐบาลควรใช้เกณฑ์อะไรบ้าง ในเดือนเมษายน 2563 องค์การอนามัยโลกช่วยตอบคำถามนี้ด้วยการออกข้อแนะนำ 6 ข้อ หรือ 6 ขั้นตอน ที่รัฐบาลควรพิจารณา ดังนี้

1. การแพร่เชื้อของโควิด-19 อยู่ภายใต้การควบคุม

2. ระบบสาธารณสุขสามารถสอบสวนโรค แยกกักตัว และดูแลผู้ป่วยติดเชื้อทุกกรณี

3. ความเสี่ยงของการระบาดลดลงเหลือน้อยที่สุดในพื้นที่เปราะบาง เช่น สถานพยาบาล

4. ที่ทำงาน โรงเรียน และสถานที่สำคัญทุกแห่งมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวัง

5. มีมาตรการรับมือกับความเสี่ยงของเชื้อโรคนำเข้า

6. ชุมชนต่างๆ ได้รับข้อมูล มีส่วนร่วม และได้รับการเสริมพลังที่จะรับมือกับธรรมเนียมใหม่ๆ

ในเวลาไล่เลี่ยกัน สหภาพยุโรปก็ออกแผนหรือ ‘โร้ดแมป’ การคลายมาตรการควบคุมโรค โดยแนะนำให้ประเทศสมาชิกพิจารณา ‘เกณฑ์สามชุด’ ในการประเมินว่าได้เวลาผ่อนคลายมาตรการแล้วหรือยัง ได้แก่

1. เกณฑ์ด้านระบาดวิทยา เช่น จำนวนผู้ป่วยใหม่ในโรงพยาบาล หรือจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กำลังลดลงอย่างสม่ำเสมอ

2. เกณฑ์ด้านศักยภาพของระบบสาธารณสุข เช่น จำนวนเตียง ยา อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ

3. เกณฑ์ด้านความพร้อมของการสอบสวนโรค เช่น ศักยภาพการตรวจหาเชื้อขนาดใหญ่ที่สามารถตรวจพบเชื้อและแยกตัวผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงศักยภาพในการติดตาม(ผู้ป่วย/ผู้สัมผัส)

เกณฑ์การคลายล็อกเหล่านี้ออกมาก่อนที่วัคซีนโควิด-19 จะได้ใช้อย่างแพร่หลาย หลังจากที่ประเทศต่างๆ เริ่มระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนของตัวเองแล้ว ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดส’ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเปิดเมืองเช่นกัน เนื่องจากต่อให้เราจะคาดหวัง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ไม่ได้แล้วหลังจากที่สายพันธุ์เดลตาครองโลก และต่อให้วัคซีนทุกยี่ห้อ ‘ภูมิตก’ เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ วัคซีนคุณภาพสูงก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการควบคุมโรค เนื่องจากช่วยลดอัตราการป่วยหนักและอัตราการตายได้อย่างมีนัยสำคัญ จนถึงระดับที่สังคมกลับไปใช้ชีวิตปกติได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ลำพังการฉีดวัคซีนครบโดสให้ครอบคลุมประชากรอย่างเดียวนั้น ‘ไม่เพียงพอ’ ต่อการเปิดเมือง แต่ก็เป็นสิ่งที่ ‘ขาดไม่ได้’ ถ้าเราอยาก ‘อยู่ร่วมกับโรค’ ให้ได้

เมื่อไล่ดูเกณฑ์การเปิดเมืองของประเทศต่างๆ เราจะพบว่าใช้ส่วนผสมระหว่างเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกหรือสหภาพยุโรปแนะนำ โดยเพิ่ม ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดส’ เข้าไปด้วย 

เข้าเกณฑ์ครบทุกข้อเมื่อไร ก็เปิดเมืองได้เมื่อนั้น ไม่จำเป็นจะต้อง ‘ฟันธง’ กำหนดวันที่ไว้ล่วงหน้า

พอพูดถึง ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดส’ ในฐานะเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจเปิดเมือง ผู้เขียนเห็นว่าข้อมูลนี้ในประเทศไทยยังคงมีปัญหา (อีกแล้ว) ทั้งด้าน ‘การนิยามเป้าหมาย’ และด้าน ‘การคำนวณสัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีน’

1. เป้าหมายที่สำคัญต่อการเปิดเมือง คือ ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดส’ ไม่ใช่ ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม’ หรือ ‘จำนวนโดสที่ฉีดได้’

งานประจำงานหนึ่งของผู้เขียนคือการออกแบบวิธีประเมินผลลัพธ์ทางสังคมตามตัวชี้วัด (indicators) ซึ่งหลักการสำคัญข้อหนึ่งของการกำหนด ‘ตัวชี้วัด’ ก็คือ เราต้องมั่นใจว่าตัวชี้วัดนั้นจะสามารถสะท้อน ‘เป้าหมาย’ ที่เราอยากไปให้ถึง

ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564

ตัวเลขนี้มาจากไหน? มาจากการตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนสองเข็มให้ครอบคลุม 70% ของประชากร หรือราว 50 ล้านคน ดังนั้นจึงต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส

(ตัวเลข 70% นั้นมาจากความเชื่อที่ทุกประเทศก็เคยเชื่อจนถึงกลางปี 2564 ว่า ถ้าฉีดวัคซีนคุณภาพดีเยอะๆ เราจะสามารถไปถึงระดับ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ได้ ซึ่งมาวันนี้เรารู้แล้วว่าไม่มีทาง แต่อัตราครอบคลุม 70% ก็ยังเป็นตัวเลขที่มีความหมาย เพราะยิ่งฉีดวัคซีนได้มาก ยิ่งมีแนวโน้มที่จะ ‘อยู่ร่วมกับโรค’ ได้)

ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงคือ ‘ประชากร 70% ได้วัคซีนครบสองเข็ม’ ไม่ใช่ ‘จัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส’ และตัวชี้วัดความคืบหน้าที่ตรงประเด็นที่สุดก็คือ สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม 

แต่เราไม่ค่อยเห็นรัฐบาลรายงานตัวเลขนี้ เรามักจะได้ยินแค่ ‘จำนวนคนที่ได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม’ และตัวเลข ‘วัคซีน 100 ล้านโดส’ ซ้ำๆ (หลังๆ มานี้ก็มีเพิ่มตัวเลขนี้เป็น 150 ล้านโดสบ้าง 178 ล้านโดสบ้าง) จนเราอาจหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงไปแล้ว  

มาวันนี้ การติดตามและรายงาน ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ ยิ่งสำคัญกว่า ‘จำนวนวัคซีนที่ฉีดได้’ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า การฉีดวัคซีนวันนี้เริ่มกระจัดกระจาย หลายคนได้เข็มสามหรือเข็มสี่แล้ว ทั้งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรก (ยังไม่ต้องพูดถึงเข็มสอง) 

จากข้อมูลในแอพฯ หมอพร้อม ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 มีคนไม่น้อยกว่า 1.47 ล้านคน ที่ได้วัคซีน ‘เข็มสาม’ แล้ว (ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์) และอีก 964 คน ได้วัคซีน ‘เข็มสี่’ แล้วด้วยซ้ำไป

การฉีดวัคซีนเข็มสามและเข็มสี่อาจมีความจำเป็นก็ได้ (ภูมิตกแล้ว ฯลฯ) แต่ตัวเลขเหล่านี้แม้จะนับรวมใน ‘จำนวนวัคซีนที่ฉีดได้’ ก็ไม่ช่วยเราเลยในการบรรลุเป้า ‘ประชากร 70% ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ เพราะไม่อยู่ในตัวเลข % ประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม (เพราะเข็มสามกับสี่ฉีดครบสองเข็มไปนานแล้ว) 

พูดอีกอย่างก็คือ สมมติมีคนฉีดเข็มสามและเข็มสี่รวมกัน 10 ล้านโดส ก็ไม่ทำให้ตัวเลข ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ เปลี่ยนแปลง และไม่ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายที่แท้จริง คือ ‘ประชากร 70% ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ ถึงแม้ 10 ล้านโดสนี้จะนับรวมอยู่ในตัวเลข ‘จำนวนวัคซีนที่ฉีดได้’ 

(อย่างไรก็ดี ความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนมากกว่าสองเข็มก็น่าจะทำให้เราเห็นความสำคัญของการจัดหาวัคซีนแบบ ‘เผื่อ’ เกินเป้าไปมาก เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ซึ่งหลายประเทศก็ใช้หลักคิดเช่นนี้ ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่จัดหาวัคซีนแบบ ‘ไม่เผื่อ’ แถมวัคซีนที่จัดหาก็ช้ามากเมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาด และมีเสียงวิจารณ์อื้ออึงเรื่องประสิทธิผล)

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐและสื่อมวลชนควรเลิกเน้นตัวเลข 100 ล้านโดส จำนวนโดสที่ฉีดได้ และสัดส่วนประชากรที่ฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม หันมาติดตามและรายงาน ‘สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ แทน เพราะนี่คือตัวชี้วัดเป้าหมายที่แท้จริง และมีความหมายต่อการเปิดเมือง

2. การคำนวณสัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีน ควรรวมเฉพาะผู้ที่อาศัยในจังหวัดนั้นๆ เท่านั้น

วันที่ 20 กันยายน 2564 ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ขณะนี้ในกรุงเทพฯ มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกถึง 102% ของประชากรแล้ว

ตัวเลขนี้ประกาศแล้วย่อมทำให้หลายคนแปลกใจ จะเป็นไปได้อย่างไรที่สัดส่วนนี้จะเกิน 100% ในเมื่อถ้าคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกคนมาฉีดวัคซีน สัดส่วนสูงสุดก็ต้องเท่ากับ 100% เท่านั้น

พลันที่ประกาศ คนกรุงเทพฯ จำนวนมากก็ออกมาบ่นทันทีว่า เอาตรงไหนมา 102% ในเมื่อฉันยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกเลย!

ความเป็นไปได้ของตัวเลขนี้คือ ตัวตั้งสูงเกินจริง ตัวหารน้อยเกินจริง หรือทั้งสองอย่าง

ตัวหารคือ ‘ประชากรแต่ละจังหวัด’ ที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ มาจากทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง และข้อมูลประชากรแฝงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนมีนาคม 2564

ตัวเลขนี้ของกรุงเทพฯ คือ 7,699,175 ล้านคน น่าจะต่ำเกินจริงไปพอสมควร แต่เราอาจโทษทางการไม่ได้ เพราะนี่คือ ‘ข้อจำกัด’ ของข้อมูล

ตัวตั้งดูมีปัญหามากกว่า เพราะการที่คำนวณสัดส่วนออกมาเกิน 100% ได้ แปลว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องรวมคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดินทางมาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ เข้าไปด้วย

คนกลุ่มนี้ไม่ได้รวมอยู่ในตัวหาร แต่กลับเอามารวมอยู่ในตัวตั้ง – นี่เป็นการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะรวมคนกลุ่มนี้ในการคำนวณสัดส่วน ก็ต้องรวมเข้าไปในตัวหารด้วย

“คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดินทางมาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ” มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากการจัดหาวัคซีนโดยเฉพาะระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 มีความล่าช้าและวุ่นวายมาก คนจำนวนมากพยายามจองคิวฉีดผ่านระบบหมอพร้อม แอพพลิเคชันต่างๆ นานา แต่ไม่สำเร็จ หลายคนจองคิวได้ แต่ถูกเลื่อนคิวฉีด บางคนถูกเลื่อนคิวฉีดอย่างไม่มีกำหนด 

ในเมื่อการจัดการวัคซีนมีปัญหา จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ เหมารถ’ จากหลายจังหวัดมาฉีดวัคซีนแบบ ‘ไม่ต้องจองคิว ที่สถานีกลางบางซื่อในกรุงเทพฯ 

กลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนเชิญชวนให้ผู้ที่ติดตามเพจเฟซบุ๊กของผู้เขียน ร่วมกันตอบแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเวลา 3 วัน มีผู้ตอบ 615 คน ในจำนวนนี้มีมากถึง 179 คน หรือร้อยละ 29 ของผู้ตอบทั้งหมด ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 

(ผลการสำรวจนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมาก ผู้เขียนจะประมวลมานำเสนอในมหากาพย์นี้ ในตอนที่ว่าด้วยการจัดสรรวัคซีนในโอกาสต่อไป)

ในเมื่อตัวตั้งบางส่วนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวหารด้วย วิธีคำนวณที่ถูกต้องจึงต้องแยกคนกลุ่ม ‘ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แต่มาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ’ ออกไปจากการคำนวณสัดส่วนประชากรกรุงเทพฯ ที่ได้ฉีดวัคซีน ไปรวมอยู่ในตัวเลขของจังหวัดที่เขาหรือเธอพำนักแทน 

(และแน่นอนว่า ไม่ควร ‘นับซ้ำ’ รวมคนกลุ่มนี้ในตัวตั้งของทั้งกรุงเทพฯ และของจังหวัดที่พำนัก! แบบนั้นจะยิ่งผิดไปไกล และยิ่งทำให้เรามองสถานการณ์ดีกว่าความเป็นจริง)

คำถามต่อไปก็คือ ไทยใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการ ‘เปิดเมือง’ และแนวโน้มปัจจุบันเป็นอย่างไร

เดือนตุลาคม 2564 เป็นเดือนที่รัฐบาลประกาศว่า เริ่มเตรียมความพร้อมในการ ‘เปิดรับนักท่องเที่ยว’ และ ‘เปิดประเทศ’ ต่อไป

พูดง่ายๆ คือ หลังจากที่ค่อยๆ เริ่ม ‘เปิดเมือง’ ด้วยการผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วในเดือนกันยายน ก้าวต่อไปก็คือการ ‘เปิดประเทศ’ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ดี การเปิดเมืองและเปิดประเทศก็ไม่ควรทำอย่างผลีผลาม เพราะถ้าสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจ ศักยภาพในการตรวจเชิงรุก (โดยเฉพาะการแจกจ่ายชุดตรวจ ATK ฟรี หรือในราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้) และมาตรการป้องกันยังไม่พร้อมจริงๆ การตัดสินใจ ‘เปิด’ ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าได้ ถ้าเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วรุนแรง ระบบสาธารณสุข ‘เอาไม่อยู่’ ดังเช่นที่เราประสบในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

ถ้าเปิดแบบไม่พร้อม เปิดแบบดันทุรัง ทั้งๆ ที่ยังไม่บรรลุเกณฑ์การเปิด ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง สุดท้ายรัฐก็อาจต้องกลับมาประกาศ ‘ปิด’ อีกรอบ

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย ณ ต้นเดือนตุลาคม 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับจุดที่แย่ที่สุด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และจำนวนผู้ตายรายวันค่อยๆ ลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ส่วนใหญ่เนื่องมาจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากในกรุงเทพฯ แต่สถานการณ์ในหลายจังหวัดยังไม่น่าไว้วางใจ บางจังหวัด เช่น ยะลา ปัตตานี พัทลุง แนวโน้มผู้ป่วยยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของไทยยังอยู่ที่หลักหมื่นคน ติดอันดับ Top 10 ของโลก แถมการรายงานตัวเลขนี้ก็ยังไม่รวมผลตรวจ ATK เป็นบวก ทั้งที่ควรรวมเข้ามาด้วย 

จำนวนการตรวจหาเชื้อในแต่ละวันถูกปิด ข้อมูลอัตราการตรวจพบเชื้อ (Positive rate) ยังไม่น่าเชื่อถือ และประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ เช่น ATK ได้ในวงกว้าง และในราคาฟรีหรือย่อมเยา (ไม่เกิน 30-40 บาทอย่างในต่างประเทศ ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมประกาศขาย ATK 40 บาท ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2564 แต่จำหน่ายผ่านร้านขายยาของตัวเองเท่านั้น แสดงว่ารัฐยังไม่ช่วยให้คนเข้าถึงชุดตรวจ ATK อย่าง ‘ทั่วถึง’ ดังที่ควรทำ)

ส่วนตัวเลขประชากรที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ณ 4 ตุลาคม 2564 ทั้งประเทศอยู่ที่ 19.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของประชากร ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมาย 50 ล้านคน (ร้อยละ 70 ของประชากร)

วันที่ 27 กันยายน 2564 ศบค. ประกาศ “เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยมี 3 ระยะ ระยะนำร่อง 1-31 ตุลาคม มี 4 จังหวัด ดำเนินการในพื้นที่นำร่องเดิม เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพีพี เป็นต้น ส่วนระยะที่ 1 เปิดเพิ่มเติม 10 จังหวัด ระหว่าง 1-30 พฤศจิกายน 2564 เช่น กรุงเทพฯ หัวหิน ชะอำ บุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมือง), ระยะที่ 2 เปิดเพิ่มเติม 20 จังหวัด ระหว่าง 1-31 ธันวาคม 2564 และระยะที่ 3 เปิดเพิ่มเติมอีก 13 จังหวัด ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน 2564 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมเปิดพื้นที่สีฟ้าใน 10 จังหวัด ระยะที่ 1 ว่า จังหวัดที่จะดำเนินการนำร่องท่องเที่ยวหรือพื้นที่สีฟ้า ต้องมีความพร้อมทั้ง ‘ด้านสถานการณ์’ และ ‘ด้านการบริหารจัดการ’ 

สำหรับความพร้อมด้านบริหารจัดการ ต้องมีการร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนบริหารจัดการ แผนทรัพยากร และทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตามเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการ และมีการประเมินทุกสัปดาห์ก่อนที่จะดำเนินการ

สำหรับด้านสถานการณ์ เกณฑ์แนะนำคือ 

1. ความครอบคลุมวัคซีนระดับจังหวัดอย่างน้อย 50% และกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์) อย่างน้อย 80% 

2. มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ โดยดูตัวชี้วัด อัตราครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดงไม่เกิน 80%  

3. มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน (ใช้ค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์)

สรุปเกณฑ์แนะนำของ สธ. เป็นตารางได้ดังภาพประกอบด้านล่าง

เกณฑ์ที่ สธ. เสนอให้พิจารณาในการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวนั้น นับว่าครอบคลุมตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ยกเว้นการเตรียมความพร้อมของชุมชนและเพิ่มศักยภาพของประชาชนในการดูแลตัวเองที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะ ‘ความพร้อมด้านบริหารจัดการ’ ดูจะเน้นแผนแบบรวมศูนย์ที่สั่งการจากส่วนกลางเป็นหลัก

เกณฑ์ที่เป็น ‘ตัวเลข’ ในเกณฑ์แนะนำของ สธ. มีสามตัว ได้แก่ สัดส่วนประชากรในจังหวัดที่ได้วัคซีนครบโดส อย่างน้อย 50%, สัดส่วนประชากรกลุ่ม 608 ในจังหวัดที่ได้วัคซีนครบโดส อย่างน้อย 80% และผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในจังหวัดไม่เกิน 10 รายต่อประชากรแสนคน ใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน

สถานการณ์จริงของตัวเลขเหล่านี้เป็นอย่างไร ผู้เขียนนำข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 จากกระทรวงสาธารณสุข มาพล็อตกราฟเปรียบเทียบ ‘สัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีนครบสองเข็ม’ และ ‘ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่อประชากรแสนคน เฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน’ ของแต่ละจังหวัด แสดงเป็นกราฟได้ดังนี้ 

กราฟิกโดย น้ำใส ศุภวงศ์

จากกราฟด้านบนจะเห็นว่า ไม่มีจังหวัดใดเลยในบรรดา 47 จังหวัด (ที่ ศบค. ประกาศเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ระยะนำร่องและระยะที่ 1-3) ที่เข้าเกณฑ์ ‘เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว’ ที่ สธ. แนะนำ (สัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีนครบสองเข็มอย่างน้อย 50% และผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่อประชากรแสนคนไม่เกิน 10) 

วันนี้ไม่มีจังหวัดใดเลยทั้งประเทศที่เข้าเกณฑ์ทั้งสองเกณฑ์ มี 41 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันต่อประชากรแสนคนต่ำกว่า 10 แต่ไม่มีจังหวัดใดในจำนวนนี้ที่ประชากรฉีดวัคซีนครบสองเข็มเกิน 50% ส่วนถ้ามองเฉพาะเกณฑ์การฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีเพียง ภูเก็ตและกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ประชากรฉีดวัคซีนครบสองเข็มเกิน 50% แล้ว แต่ทั้งสองจังหวัดนี้ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อประชากรแสนคนเกิน 10 มาก (ผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เฉลี่ย 7 วัน ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 20.85 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนตัวเลขนี้ของภูเก็ตอยู่ที่ 37.3 คนต่อประชากรแสนคน)

(ยังไม่นับว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาการคำนวณสัดส่วนนี้ดังที่กล่าวไปข้างต้น)

สถานการณ์ของกลุ่มเสี่ยง ‘608’ น่าเป็นห่วงกว่านี้มาก ข้อมูลหมอพร้อมไม่จำแนกการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายรายจังหวัด ผู้เขียนจึงต้องใช้ข้อมูล รายงานสรุปวัคซีนรายวัน บนเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ที่มีการจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย แต่รายงานนี้หยุดเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ

เมื่อผู้เขียนนำ ‘สัดส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้วัคซีนครบสองเข็ม’ (ตัวเลข ณ 22 กันยายน 2564 หรือวันสุดท้ายที่มีการเปิดเผย) และ ‘ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่อประชากรแสนคน เฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน’ มาพล็อตเป็นกราฟ ก็จะได้กราฟด้านล่าง 

(หมายเหตุ: ผู้เขียนคำนวณสัดส่วนการฉีดวัคซีน ‘กลุ่มเสี่ยง’ ได้เฉพาะกลุ่ม 607 กล่าวคือ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เนื่องจากรายงานสรุปวัคซีนไม่มี ‘จำนวนหญิงตั้งครรภ์’ ในแต่ละจังหวัด ผู้เขียนจึงไม่นับกลุ่มนี้) 

กราฟิกโดย น้ำใส ศุภวงศ์

จากกราฟจะเห็นว่า สัดส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้วัคซีนครบสองเข็มของทุกจังหวัด ยังน้อยกว่าเกณฑ์ 80% ที่ สธ. แนะนำสำหรับการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว อย่างมีนัยสำคัญ 

นั่นหมายความว่า แต่ละจังหวัดจะต้องเร่งฉีดวัคซีนคุณภาพสูงแบบ ‘เชิงรุก’ ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมถึงต้องควบคุมการระบาดให้ดีกว่าที่ผ่านมาด้วย 

นอกจากนี้ รัฐบาลและสังคมไทยควรต้องร่วมกันเรียนรู้บทเรียนจาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ อย่างเร่งด่วน ในฐานะจังหวัดแรกที่ ‘เปิดพื้นที่’ รับการท่องเที่ยว ฉีดวัคซีนสองเข็มครอบคลุมที่สุดในประเทศถึง 74.6% ของประชากร (ในจำนวนนี้ราว 72% เป็นวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค) แต่ยังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ขั้นวิกฤต มีผู้ติดเชื้อรายวันกว่า 200 คน ต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ จนต้องประกาศปิดสถานที่-ห้ามจัดกิจกรรมชั่วคราวและขยายมาตรการคัดกรอง แต่ถึงกระนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในภูเก็ตก็ยังคงไม่ลดลงจนถึงปัจจุบัน (ต้นเดือนตุลาคม 2564)

เราต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนคุณภาพสูง เร่งควบคุมการระบาด เร่งเตรียมความพร้อม และถอดบทเรียนทุกมิติอย่างรอบด้านจาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เพื่อให้ประเทศไทย ‘พร้อม’ อย่างแท้จริงที่จะเปิดเมือง-เปิดประเทศ 

เพราะถ้าหาก ‘ไม่พร้อม’ หรือที่แย่กว่านั้นคือ ไม่พร้อมแต่บิดเบือนหรือปกปิดตัวเลขเพื่อสร้าง ‘ภาพลวงตา’ ว่าพร้อม ผลลัพธ์ที่ตามมาสุดท้ายแล้วอาจ ‘เสียมากกว่าได้’ ในระยะยาว 

Tags: , , , , , ,