ตอนที่แล้ว ผู้เขียนพูดถึงความอลหม่านของ ‘วัคซีนทางเลือก’ โมเดอร์นา ซึ่งมีความซับซ้อนวุ่นวายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยถ้านับเฉพาะสัญญาซื้อ 5 ล้านโดสแรก หน่วยงานของรัฐและองค์กรสาธารณะเข้ามาเกี่ยวข้องมากถึง 4 หน่วย (องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย โรงพยาบาลของรัฐ 12 แห่ง และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 38 จังหวัด) จากเดิมที่การจัดหาวัคซีนยี่ห้อนี้จะดำเนินการโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น

ยังไม่นับโมเดอร์นาล็อตหลังจากนั้นอีกหลายสัญญา เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศว่าสั่งซื้อตรงอีก 8 ล้านโดส สภากาชาดไทยสั่งซื้อตรงอีก 1 ล้านโดส และวัคซีนยี่ห้อนี้อีก 1 ล้านโดส ที่รัฐบาลอเมริกันบริจาคแก่รัฐบาลไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2564

หลายคนมองว่ารัฐย่อมต้องมาเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน เพราะผู้ผลิตวัคซีนหลายยี่ห้อ อาทิ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จะขายให้กับรัฐเท่านั้น ไม่ขายให้กับเอกชนโดยตรง การพูดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐจำเป็นจะต้อง ‘ผูกขาด’ การจัดหาวัคซีนทุกมิติ โดยไม่เปิดช่องให้เอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยจัดหาหรือจัดสรรวัคซีนเลย

สองตอนก่อนหน้านี้ ในบทความ ทำไมโมเดอร์นาจึงต้องเป็น ‘ทางเลือก’ ผู้เขียนยกตัวอย่าง ‘วิธี’ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการนำเข้าวัคซีนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ

“สิ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำก็คือ ร่างและผลักดันกฎหมายใหม่ ชื่อ ‘COVID-19 Vaccination Program Act of 2021’ (กฎหมายโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปี 2021) ผ่านสภาสูงและสภาล่าง กฎหมายนี้อนุญาตให้บริษัทเอกชน และรัฐบาลท้องถิ่น สามารถจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่ อย. ฟิลิปปินส์อนุมัติ โดยมาทำสัญญาสามฝ่ายกัน ระหว่างบริษัทหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่อยากซื้อ กับรัฐบาลกลาง (โดยกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานระดับชาติเรื่องโควิด-19) และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ภายใต้กฎหมายและ ‘สัญญาสามฝ่าย’ นี้ รัฐบาลกลางฟิลิปปินส์จะรับผิดชอบความเสียหายและผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยกเว้นความรับผิดให้กับบริษัทผู้ผลิต และสร้างหลักประกันว่า วัคซีนที่ซื้อมาจะนำไปขายเชิงพาณิชย์ไม่ได้ และการฉีดจะต้องอยู่ภายในกรอบการจัดลำดับความสำคัญที่รัฐบาลประกาศเท่านั้น”

“ถ้าเอกชนประสงค์จะเก็บเงินค่าวัคซีน เพราะประชาชนจำนวนมากยินดีจ่าย รัฐก็สามารถควบคุมราคาให้สมเหตุสมผล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐต้องประกาศว่าจะรับผิดชอบความเสียหายและผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนทุกชนิด เพื่อที่เอกชนจะได้ไม่ต้องไปควานหาและจ่ายค่าประกัน ซึ่งก็จะทำให้วัคซีนแพงเกินจำเป็น”

ผู้เขียนสรุปในบทความนั้นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น ที่วัคซีนประสิทธิผลสูงอย่างโมเดอร์นา จะต้องถูกกันให้เป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนเสียเงินซื้อตั้งแต่แรก และต่อให้เป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ แล้ว รัฐบาลก็สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนของเอกชน แบ่งเบาภาระของประชาชนได้มากมาย

แต่รัฐบาลไทยไม่ทำสิ่งเหล่านี้เลย นอกจากจะไม่ทำแล้วยังขัดขวางไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน (ยี่ห้อที่ อย. อนุมัติแล้ว) ดังที่ปรากฏชัดในกรณีวัคซีนบริจาคโมเดอร์นา 1.5 ล้านโดส ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเจรจาสำเร็จ แต่ไม่สามารถนำเข้าจากโปแลนด์ และการ ‘หิ้ว’ วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากกัมพูชาเข้ามาขายในไทย ซึ่ง อย. ประกาศเตือนแล้วว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่ อย. เองอนุมัติวัคซีนยี่ห้อนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 และการสั่งซื้อยี่ห้อนี้ของรัฐบาลยังไร้ความคืบหน้าใดๆ แม้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว (นับถึงสิ้นเดือน พ.ย. 64) และเคยมีกระแสข่าวว่าจะซื้อ 5 ล้านโดส

ส่วนกรณีโมเดอร์นาบริจาค เกิดขึ้นหลังจากเดือนสิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ออกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งให้ มธ. รวมถึงหน่วยงานของมหาวิทยาลัยอย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สามารถดำเนินการเจรจาและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ได้เอง 

ในฐานะหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ควรจะดำเนินการได้โดยตรง (ด้วยความเห็นชอบจากรัฐบาล) ไม่ต่างจากที่สภากาชาดไทยสั่งซื้อโมเดอร์นาโดยตรง หรือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งซื้อทั้งซิโนฟาร์มและโมเดอร์นาโดยตรงเช่นกัน 

ยิ่งจัดหา ‘วัคซีนบริจาค’ มาได้ (แน่นอนว่าเฉพาะยี่ห้อที่ อย. เห็นชอบ) ยิ่งน่าจะเป็นผลดีกับประเทศ

อย่างไรก็ดี มธ. กลับเจออุปสรรคจากภาครัฐ จนต้องล้มเลิกการจัดหาวัคซีน โมเดอร์นา 1.5 ล้านโดส จากประเทศโปแลนด์ไป

ทีมข่าว WorkpointTODAY สรุปลำดับเหตุการณ์โดยสังเขปว่า “มธ. ได้รับบริจาควัคซีนโมเดอร์นา จากความร่วมมือขององค์กร Rzadowa Agencia Rezerw Strategicznych (RARS) ซึ่งมีกำหนดส่งมอบช่วงปลายเดือน ต.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนมีอายุใช้งานได้ถึงเดือน เม.ย. 2565”

ต่อมา “มธ. ได้ทำหนังสือแจ้งขอความอนุเคราะห์ให้กระทรวงการต่างประเทศมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบวัคซีน และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของโปแลนด์ จัดส่งวัคซีนดังกล่าวมายังประเทศไทย พร้อมให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ เป็นตัวแทนขอบคุณหน่วยงานภาครัฐของโปแลนด์ในการบริจาควัคซีน”

“วันที่ 22 ต.ค. 2564 กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือด่วน ตอบกลับถึงธรรมศาสตร์ 3 ข้อ โดยสรุปคือ ไม่ใช่การบริจาคในลักษณะรัฐต่อรัฐ ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หารือกับกรมควบคุมโรค เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และในการบริจาควัคซีนให้รัฐบาลไทยที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ความยินยอมด้วย มธ. จึงอาจพิจารณาแนวปฏิบัติโดยถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการร้องเรียนจากฝ่ายใดในภายหลัง”

จากนั้นเมื่อเกิดกระแสคัดค้านในโซเชียลมีเดีย กระทรวงต่างประเทศก็ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยได้รับการยืนยันเรื่องการบริจาคนี้ในระดับรัฐบาลผ่านกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ หรือสถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย …มีประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งคือ ประเด็นการชดเชยความเสียหายในกรณีที่ผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดผลข้างเคียง จึงให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจพิจารณาหารือกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรง ในประเด็นการชดเชยความเสียหายด้วย”

ต่อมาเพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โพสเพิ่มเติมในวันที่ 1 พ.ย. 64 หลังจากวันที่ 31 ต.ค. ผ่านไปโดยไม่มีการส่งมอบวัคซีนใดๆ ว่า “สาเหตุมาจากก่อนหน้านี้ธรรมศาสตร์ได้รับการประสานจากหน่วยงานผู้บริจาคว่า ฝ่ายผู้บริจาคประสงค์จะให้รัฐบาลไทย โดยหน่วยงานภาครัฐที่มีสถานะเป็นผู้แทนรัฐบาล แจ้งแสดงเจตนาจะรับบริจาค โมเดอร์นา จำนวน 1.5 ล้านโดสดังกล่าวไปยังรัฐบาลโปแลนด์ หรือสถานทูตโปแลนด์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยยินดีรับบริจาควัคซีนดังกล่าวจากรัฐบาลโปแลนด์…ทางธรรมศาสตร์จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้ช่วยประสานการดำเนินการดังกล่าวให้ โดยการออกจดหมายยืนยัน แต่ธรรมศาสตร์ไม่ได้รับจดหมายดังกล่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ จึงไม่สามารถยืนยันสถานะของตัวเองว่าเป็นตัวแทนในการรับบริจาคในนามของรัฐบาลไทยได้”

หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็ชี้แจงเพิ่มในวันที่ 2 พ.ย. ว่า มธ. แจ้งว่าจะรับวัคซีนจำนวน 500,000 โดส หรือหนึ่งในสามของที่ได้รับมา ไปฉีดฟรีแก่ประชาชน ส่วนอีก 1,000,000 โดส จะให้เอกชนที่เป็นหุ้นส่วนนำไปจำหน่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ “กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์แล้ว ได้รับแจ้งว่าไม่อนุญาตให้นำวัคซีนที่ได้รับบริจาคไปขาย และฝ่ายไทยต้องได้รับ market authorization จากบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นาด้วย ซึ่งทั้งสองประเด็นเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไปของการบริจาควัคซีนและเวชภัณฑ์ระหว่างประเทศ และไม่สามารถเจรจาต่อรองเป็นอื่นได้”

ดังนั้น ในเมื่อ มธ. จะนำวัคซีนบริจาคส่วนหนึ่งให้เอกชนหุ้นส่วนไปขาย และไม่มีหลักฐานว่าได้รับ market authorization จากผู้ผลิต “กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะมีหนังสือยืนยันว่ารัฐบาลไทยยินดีรับบริจาควัคซีนดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปแลนด์ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทย”

ต่อกรณีนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โพสตอบในเพจเฟซบุ๊กว่า

1. มธ. ได้แจ้งแก่ผู้แทน กต. ตั้งแต่ต้นว่า ผู้รับบริจาควัคซีนล็อตนี้มีค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาท เพราะจะต้อง “ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบสภาพ สถานะ และล็อตการผลิต ตลอดจนจัดเตรียม dossier ในการจัดส่งและตรวจสอบ จัดการในเรื่อง logisticในการนำวัคซีนไปยังสนามบิน จัดการในเรื่องการขนส่ง การประกันภัยวัคซีน พิธีการศุลกากร และการบริหารจัดการคลังเก็บวัคซีนในประเทศ ตลอดทั้งการประกันภัยผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนเอง” ดังนั้นในเมื่อ มธ. ไม่มีงบประมาณพอจ่าย จึงขอให้เอกชนที่เข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญา ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ โดยตกลงให้นำวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ไปฉีดโดยคิดค่าบริการตามราคาต้นทุนที่จ่ายจริง (at cost) ไม่มีการแสวงกำไร ซึ่ง มธ. เปิดเผยว่า ราคาจะอยู่ที่ 400 บาทต่อโดส (ต่ำกว่าราคา 1,100 บาทต่อโดส ที่องค์การเภสัชกรรมเรียกเก็บจากสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก)

2. กต. ไม่เคยแจ้งให้ มธ. (ซึ่งก็เป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน) ทราบมาก่อนถึงความกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพิ่งมาปรากฏในคำชี้แจงเมื่อ 2 พ.ย. นี้เอง ซึ่งถ้า กต. แจ้งแก่ มธ. ล่วงหน้าว่าการนำวัคซีนบริจาคบางส่วนไปจำหน่ายอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มธ. ก็อาจขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอกชน มาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

 3. มธ. แจ้งแก่ผู้แทน กต. แล้วเช่นกันว่า กำลังดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบ (market authorization) จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน คู่ขนานไปกับขอจดหมายรับรองจาก กต. อยู่ ซึ่งถ้าหาก กต. ออกจดหมายรับรองให้กับ มธ. การขอ market authorization ก็ย่อมเป็นไปอย่างราบรื่น (นอกจากนี้ การแบ่งวัคซีนบางส่วนไปขายในราคาทุน เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการนำเข้า ก็ไม่ผิดเงื่อนไขของผู้ให้บริจาคแต่อย่างใด)

ผู้เขียนเห็นว่า มธ. ชี้แจงชัดเจนว่าได้แจ้งแนวทางและกระบวนการทั้งหมดนี้ รวมถึงราคาขาย 400 บาทต่อโดส ของเอกชนหุ้นส่วน แก่ กต. ล่วงหน้านานแล้ว และในความเป็นจริง มธ. ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นการที่ กต. ปฏิเสธไม่ออกจดหมายรับรอง ‘สถานะผู้แทนรัฐบาล’ ให้กับ มธ. จึงฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผล

เป็นที่น่าเสียดายว่า บทสรุปของ มธ. ก็คือ “…จะยกเลิกความพยายามในการติดต่อขอรับบริจาควัคซีนในอีกหลายกรณีที่ได้ติดต่อประสานงานไว้แล้ว ถ้า…จะพยายามทำเรื่องนี้ต่อไปให้สำเร็จ คงจะเป็นการติดต่อเพื่อซื้อวัคซีนเข้ามาโดยตรงเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น”

ทั้งที่รัฐบาลไทยจะทำคล้ายกับที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ทำได้ นั่นคือออกประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานใดก็ตามที่ประสงค์จะช่วยจัดหาวัคซีน (ที่ อย. เห็นชอบ) มาให้กับประชาชน โดยประกาศว่ารัฐจะรับความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนและภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง รวมถึงดูแลผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

หรือถ้าจะมีการคิดราคา รัฐก็สามารถระบุได้ว่าให้คิดแค่ราคาทุนแบบที่ มธ. เจรจากับเอกชนหุ้นส่วนไว้ ซึ่งราคานี้น่าจะไม่สูงมาก ถ้ารัฐประกาศว่าจะรับความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจากการฉีดวัคซีน รวมถึงผลข้างเคียงจากการฉีด แบบเดียวกับที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำ (ผู้เขียนเคยเขียนอธิบายแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนย่อมอยากได้การยกเว้นความผิดที่กว้างขวางมาก ลำพังเอกชนในฐานะผู้ซื้อไม่อาจรับภาระนี้ได้)

ทำได้ แต่ไม่ทำเท่านั้นเอง

ในเมื่อ มธ. เจรจาสำเร็จแล้ว แต่กลับนำเข้าวัคซีนบริจาคไม่ได้ ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ก็เท่ากับว่าเราจะได้เห็นแต่วัคซีนบริจาคลักษณะ ‘รัฐต่อรัฐ’ คือรัฐบาลไทยเจรจาโดยตรง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย

การจัดสรรวัคซีนบริจาคยี่ห้อโมเดอร์นา 1.5 ล้านโดสจากโปแลนด์ จึงต้อง ‘เป็นหมัน’ ไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่รัฐบาลไทยเดินหน้ารับมอบวัคซีนบริจาคจากประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลไทยได้รับโมเดอร์นา 1 ล้านโดส จากสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 พ.ย. 2564

เกิดเป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อสำหรับคนที่จ่ายเงินจองซื้อโมเดอร์นาไปนานหลายเดือนแล้ว เพราะเท่ากับว่าวันนี้มีทางเลือกสองทางเท่านั้น

ทางเลือกแรก ทิ้งโมเดอร์นาที่จองไว้ เพื่อไป ‘ลุ้น’ ฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันจากรัฐ ซึ่งทั้งหมดมีเพียง 1 ล้านโดส เท่ากับไปเสี่ยงกับระบบการจองฉีดของรัฐที่ต้องลุ้นยิ่งกว่าหวยและแย่งชิงยิ่งกว่าประเพณีชิงเปรต ไม่แน่นอนว่าจะได้ฉีดจริงไหม และได้ฉีดวันไหน ต้องคอยหูไวตาไว ลุ้นประกาศจากสถานฉีดในจังหวัดตัวเองว่าจะมีไหม ถ้ามีก็ต้องรีบจองด้วยความเร็วเกือบเท่าแสง หรือไม่ก็ไปแออัดยัดทะนานที่สถานีกลางบางซื่อ สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อโควิด-19 อีก

หรือทางเลือกที่สอง กัดฟันรอโมเดอร์นาที่จองไว้ ด้วยความมั่นใจว่าถ้าของมาจะได้ฉีดแน่ และไม่ต้องไปแออัดยัดทะนานกับคนอื่น แต่ปัญหาคือความไม่แน่นอนถึงขีดสุดว่า วัคซีนที่ถึงคิวเรานั้น ‘จะมา’ วันไหนกันแน่ ต้องรออย่างลมๆ แล้งๆ และต่อให้ของมาแล้ว โรงพยาบาลเอกชนที่เราจองไว้ก็อาจถูก ‘ปาดหน้า’ เอาโควตาไปให้ใครก็ไม่รู้ได้ทุกเมื่อ (มีคนหลังไมค์มาฟ้องเรื่องนี้กับผู้เขียนหลายคน)

สรุปว่าทำได้เพียงประเมินว่าทางเลือกไหนน่าจะ ‘แย่น้อยกว่ากัน’ เท่านั้น ในความอลหม่าน ไร้ประสิทธิภาพ และการผูกขาดอำนาจของรัฐในการจัดหาและจัดสรรวัคซีนโควิด-19 

Tags: , , , ,