หลายตอนที่ผ่านมาผู้เขียนเขียนถึงกรณี ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่ใช้คำสั่ง คสช. หรือกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย หรือธุรกิจบางธุรกิจอย่างเฉพาะเจาะจงในโครงการหรือธุรกิจที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้วว่าจะทำ

การเอื้อประโยชน์ในระดับที่อาจเรียกว่า ‘เหนือเมฆ’ กว่านั้นไปอีกก็คือ กระบวนการ ‘ล็อกเลข’ อย่างเป็นระบบตั้งแต่บันไดขั้นแรกด้วยการ ‘ชง’ แนวคิดโครงการเลยทีเดียว 

โดยเฉพาะถ้าหากอภิมหาโปรเจ็กต์ระดับหมื่นหรือแสนล้านไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ ‘ทางเลือก’ ต่างๆ อย่างถี่ถ้วนว่าควรพัฒนาพื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ (ไม่ใช่ต่อกระเป๋านายทุนพรรค) แต่อยู่ๆ รัฐบาลก็ใส่พานให้เอกชนเดินหน้า โครงการแบบนี้ก็น่าจับตามองและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า อาจเข้าข่ายการฉ้อฉลเชิงอำนาจหรือไม่ อย่างไร ซึ่งโครงการ ‘จะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ เป็นตัวอย่างอันดีของโครงการแนวนี้ในยุครัฐบาลทหาร 

หลายคนอาจรู้จักโครงการนี้เป็นครั้งแรกในการเดินทางไกลจากสงขลาเข้ากรุงเทพฯ กลางเดือนธันวาคม 2563 ของ ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ หลายสิบคนที่มาปักหลักค้างคืนติดกับทำเนียบรัฐบาลหลายวัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการนี้ โดยสิ่งที่เครือข่ายฯ เรียกร้องก็คือ 

1. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในทันที

2. เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ต่อไป

หลายคนสงสัยว่าโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ มีปัญหาอะไร ใครมีส่วนได้ส่วนเสียกันแน่ บางคนคิดในแง่ร้ายกว่านั้นอีกว่า ขึ้นชื่อว่า ‘การพัฒนา’ แต่ไหนแต่ไรมาก็เห็นมีแต่เอ็นจีโอออกมาคัดค้านไม่ใช่หรือ รอบนี้ ‘ชาวบ้าน’ ที่ออกมาคัดค้านเป็นชาวบ้านตัวจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ

ถ้าจะเห็นภาพรวมของมหากาพย์ เริ่มแกะรอยปัญหา คงต้องย้อนกลับไปถึงปี 2559 สมัยที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเห็นชอบ ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ดำเนินการ

ศอ.บต. ไม่ใช่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการตามเป้าหมายนโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวันนี้ขอบเขตงานก็ครอบจักรวาลตั้งแต่การเมือง การปกครอง การพัฒนาประสิทธิภาพข้าราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม รวมถึง ‘การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน’

โครงการเมืองต้นแบบฯ ระบุว่ามี 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทั้งหมดนี้จะพัฒนาในรูปแบบเขตพัฒนาพิเศษ วางเป้าหมายไว้ที่การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้คน 

รูปแบบเศรษฐกิจที่โครงการเมืองต้นแบบฯ ประกาศว่าจะพัฒนา นั่นคือ ให้อำเภอหนองจิกเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน โดยส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่, ให้อำเภอเบตงเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวในพื้นที่ และให้อำเภอสุไหงโกลกเป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเขตการค้าเสรีหรือ free trade zone

พูดง่ายๆ คือ ถึงแม้การให้หน่วยงานความมั่นคงเป็นหัวหอกการพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่ใช่เรื่องปกติ แม้จะอ้างเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม แต่อย่างน้อยโครงการเมืองต้นแบบฯ ทั้งสามพื้นที่ ก็ยังพยายาม ‘ต่อยอด’ จากจุดเด่นและทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวของยะลา การเกษตรของปัตตานี หรือการค้าชายแดนของนราธิวาส

หมุนเวลามาอีกสามปีเศษ อยู่ๆ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ในการประชุมครั้งท้ายๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่ง คสช. แต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งหมด ครม. ก็มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ ‘ขยายผล’ โครงการเมืองต้นแบบฯ ไปยังอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ โดยให้ ศอ.บต. ประกาศให้พื้นที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็น ‘พื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ’ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553

การกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแปลว่าโครงการลงทุนต่างๆ ในพื้นที่นี้จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนและกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ คล้ายกับเขตเศรษฐกิจ EEC 

ครม. เห็นชอบตามที่ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอว่า จะกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนไปลงทุนในพื้นที่ ซึ่งตามแผนการพัฒนาพื้นที่ปี 2562-2566 มีเนื้อที่รวม 16,753 ไร่ ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่ 

 1. การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เป็นท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 

 2. การวางแผนและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า 

 3. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 

 4. การบริหารจัดการด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม 

 5. การจัดตั้งกองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

พูดง่ายๆ คือ โครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าฯ อยู่ๆ ก็ลอย ‘เหนือเมฆ’ มา โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รู้เรื่องและไม่ได้มีส่วนร่วมมาก่อน รูปแบบการพัฒนาหลักๆ จะเน้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 3,700 MW และ ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ขนาดใหญ่ที่ให้เอกชนจัดการเอง ไม่ใช่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ต่อมา ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 21 มกราคม 2563 ให้จัดสรรงบประมาณก้อนแรกจำนวน 18,680 ล้านบาท ให้กับโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ ยังไม่นับเงินลงทุนจากภาคเอกชน

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือของบริษัทเอกชนสองแห่ง ซึ่งได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 ประมาณ 10,800 ไร่ (ราว 64% ของพื้นที่โครงการตามแผน) แบ่งเป็นที่ดินของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย (TPI) 7,000 กว่าไร่ และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บริษัทในเครือ ปตท. มีที่ดิน 3,000 กว่าไร่

วันนี้ไออาร์พีซีอยู่ในเครือ ปตท. ก็จริง แต่เดิมบริษัทนี้คือ TPI บริษัทของนายประชัยที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงเมื่อครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มหากาพย์อันเต็มไปด้วยคดีความมากมายระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สุดท้ายจบลงด้วยการที่ ปตท. เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น IRPC ส่วนประชัยก็เหลือเพียงทีพีไอ โพลีน (TPIPL) กิจการผลิตปูนซีเมนต์ และทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ (TPIPP) กิจการโรงไฟฟ้า ซึ่งวันนี้จะเป็นผู้ดำเนินโครงการ

ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่า ที่ดิน 3,000 ไร่ของ IRPC ที่จะนำมาทำโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ นั้น น่าจะติดมากับ TPI ตั้งแต่แรก IRPC ไม่ได้ซื้อเอง

ดังนั้น ถึงแม้สองบริษัทผู้ดำเนินโครงการคือ TPIPP และ IRPC จะฟังเผินๆ เหมือนเป็นสองบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทว่าสุดท้าย ‘ที่ดิน’ ที่จะนำมาทำโครงการก็มีเจ้าของดั้งเดิมเจ้าเดียวกัน

ก่อให้เกิดคำถามทันทีว่า การผลักดันโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ นั้น เป็นความตั้งใจของรัฐบาลประยุทธ์ที่อยากเห็นอำเภอจะนะพัฒนา ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือว่าเป็นความพยายามของเจ้าของ TPIPL ที่อยากพัฒนาที่ดินในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองกันแน่ ถ้านักธุรกิจสามารถยืมอำนาจรัฐมาลัดขั้นตอนและเอื้อประโยชน์ได้ เหตุใดเขาจึงจะไม่อยากทำ

นอกจากที่มาและกระบวนการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ จะมีข้อครหาแล้ว แนวคิดและความเป็นไปได้ของโครงการนี้ก็เต็มไปด้วยคำถามตัวโตๆ เช่นกัน

ไม่ใช่แค่คำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวอำเภอจะนะ แต่รวมถึง ‘ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ ที่โครงการกล่าวอ้าง

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าและการลงทุน อธิบายในบทความ 5 คำถามต่อเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ในเดือนตุลาคม 2563 ว่า จากการศึกษารายงาน กรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 ‘เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้เกิด ‘การบริหารและการพัฒนาในภาพรวมที่เป็นรูปธรรม เชื่อมโยงการสร้างสันติสุขในพื้นที่ด้วยแนวทางการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาขนและประเทศชาติโดยรวมต่อไป’ ได้อย่างไร

ดร.เสาวรัจชี้ว่า รายงานดังกล่าวเขียนเรื่อง ‘ผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม’ มีเนื้อหาเพียงหน้าเดียว ระบุแต่เพียงสั้นๆ ดังต่อไปนี้ 

โครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวม ดังนี้

สร้างงานสร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่าการเกิดโครงการจะก่อให้เกิดการจ้างงานขึ้น 100,000 อัตรา

ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการหมุนเวียนของการจ้างงานมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท/ปี

แก้ปัญหาความยากจนและความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ขณะที่ในการส่งเสริมโครงการฯ ดังกล่าว รัฐจะเสียรายได้จากภาษี (เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก 10 ปี เป็นต้น) แต่เมื่อเปรียบเทียบการเกิดการจ้างงานที่เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงการทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีและเกิดความคุ้มค่าในเชิงของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่จะได้ในระยะยาว

ดร.เสาวรัจชี้ต่อไปว่า การสรุปรวบยอดเรื่องประโยชน์ของโครงการโดยที่ไม่แสดงข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ ทำให้เกิดคำถามห้าประการ 

ประการแรก เหตุใดคณะรัฐมนตรีจึงมีมติ ‘เห็นชอบ’ โดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการต่อส่วนรวมที่ชัดเจนก่อน 

ประการที่สอง โครงการจะทำให้เกิดการจ้างงาน 100,000 ตำแหน่งจริงหรือไม่ และจะเกิดประโยชน์แก่แรงงานในพื้นที่จริงหรือไม่ ในเมื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการนี้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักร อุตสาหกรรมหนัก ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital intensive) ไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำมาก ราว 1-2% เท่านั้น

ประการที่สาม นิคมอุตสาหกรรมจะนะในพื้นที่จังหวัดสงขลามีความจำเป็นจริงหรือไม่ ในเมื่อจังหวัดสงขลามีนิคมอยู่แล้ว 3 แห่ง รวมกันยังมีพื้นที่ว่างและพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือจัดหาที่ดินมากกว่า 1,400 ไร่ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวจากผลพวงของวิกฤติโควิด-19 

ประการที่สี่ โครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่ออุตสาหกรรมต่างๆ ในนิคมที่จะสร้าง เช่น อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า ล้วนไม่มีความเชื่อมโยงกับการประมงและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สองอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะ 

ประการสุดท้าย ถ้ามองเหตุผลด้านความมั่นคง ก็น่าสงสัยว่าโครงการนี้จะ ‘สร้างสันติสุข’ ได้จริงหรือ เพราะไม่มีเนื้อหาใดๆ ที่อธิบายอย่างชัดเจนว่า โครงการจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ศอ.บต. เขียนบทความยืดยาวมาตอบคำถาม 5 ประการของ ดร.เสาวรัจ

ผู้เขียนอ่านคำตอบของ ศอ.บต. แล้วก็เห็นว่า ‘น้ำท่วมทุ่ง’ และไม่ได้ให้ความกระจ่างแต่อย่างใด

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เราเริ่มต่อจิ๊กซอว์ได้มากขึ้น จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดย ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ สรุปคำอภิปรายบางส่วนไว้ดังนี้ 

“…เอกสารเตรียม EIA ของบริษัท TPIPP เอง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 บอกชัดเจนเลยว่า TPIPP เป็นคนไปเสนอแผนการผลักดันพัฒนาโครงการในพื้นที่จะนะ ซึ่งวันที่ 21 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบไปแล้ว 1,700 เมกะวัตต์ ที่เอื้อให้เกิดโรงไฟฟ้าของบริษัท TPIPP ขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังสงสัยว่าทำไมไม่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นฝ่ายทำ

ประเสริฐพงษ์ได้ข้อมูลมาจากสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ โดยได้มาเพียงเดือนเดียวคือเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เดือนที่ ครม. มีมติเปลี่ยนสีผังเมือง พบการซื้อขายที่ดินอย่างผิดปกติมากมายหลายรายการ กล่าวคือ ‘พบการกว้านซื้อของรายใหญ่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ 5 คนที่เป็นเครือญาติของนิพนธ์ มีการรับซื้อที่ดิน 23 ธุรกรรม พื้นที่ 464 ไร่ มูลค่า 110 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 236,166 บาทต่อไร่ และอีกกลุ่มที่มีปริมาณการซื้อที่ดินมากผิดปกติคือ บริษัท TPIPP มีการกว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่ ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าราคาที่ดินที่บริษัทซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่เฉลี่ยไร่ละ 600,000 บาท ขณะที่เครือข่ายนิพนธ์ซื้อที่ดินแค่ในราคาเฉลี่ยเพียง 240,000 บาทต่อไร่เท่านั้น ราคาต่างกันเกินเท่าตัว’ 

นอกจากนี้ จากข้อมูลการซื้อขายยังพบว่า ‘กลุ่มของนิพนธ์ซื้อที่ดินจากชาวบ้าน 2.5-3 แสนบาทต่อไร่เท่านั้น อาจแพงกว่าราคาตลาดประมาณ 1.5-2 เท่า แต่กลุ่มเครือข่ายครอบครัวของนิพนธ์สามารถเอาที่ดินไปขายได้ราคาเพิ่มขึ้นถึงไร่ละ 6-8 แสนบาท กินส่วนต่างราคาที่ดิน 2-3 เท่าจากที่ซื้อมาจากชาวบ้าน และถ้าบริษัท TPIPP เอาที่ดินไปพัฒนา เกิดนิคมอุตสาหกรรมได้จริง ก็จะสามารถขายที่ดินในนิคมได้ไร่ละ 3 ล้านบาท มูลค่าที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นจากที่ชาวบ้านขายเกิน 10 เท่าตัว และเพื่อให้เห็นภาพ ตนลองคิดจากที่ดินที่เครือข่ายครอบครัวของนิพนธ์รับซื้อในเดือนมกราคม 2563 จำนวน 464 ไร่ มูลค่าที่ดินที่นิพนธ์ซื้อทั้งหมดประมาณ 110 ล้านบาท แต่เมื่อนำไปขายให้บริษัท TPIPP จะขายได้ 280 ล้านบาท เครือข่ายของนิพนธ์กินส่วนต่างราคา 170 ล้านบาท” 

นอกจากจะเปิดโปงพฤติกรรมของเครือญาตินิพนธ์แล้ว ประเสริฐพงษ์ยังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินอำพรางด้วย ยกตัวอย่างเช่น “มีที่ดินแปลงที่ TPIPP รับซื้อจาก 2 คนที่เป็นเครือญาติของนิพนธ์คือวุฒิชัยและชัยโรจน์ ในวันที่ 28 มกราคม 2563 รวมกันไม่น้อยกว่า 361 ไร่ มูลค่า 226 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 85% ของเงินทั้งหมดที่บริษัทซื้อที่ดินในเดือนมกราคม 2563 ที่ผิดปกติคือที่ดินแปลงทั้งหมดที่วุฒิชัยและชัยโรจน์เสนอขายนี้มาจากบริษัท ทาวน์ แอนด์ ซิตี้ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มีลูกชายและลูกสาวนิพนธ์ถือหุ้นรวมกัน 92% โดยวุฒิชัยและชัยโรจน์รับซื้อที่ดินมาในวันที่ 24 มกราคม 2563 ก่อนหน้าที่จะขายให้ TPIPP เพียง 4 วันเท่านั้น โดยรับซื้อมาในราคารวมกันประมาณ 78 ล้านบาท ผ่านไป 4 วัน ขายได้ 224 ล้านบาท ได้กำไรสูงถึง 147 ล้านบาท”

วุฒิชัยและชัยโรจน์มีศักดิ์เป็นเครือญาติกับลูกชายและลูกสาวนิพนธ์ เจ้าของบริษัทที่ขายที่ดินให้ “จึงชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า การออกแบบธุรกรรมแบบนี้เป็นการซื้อขายที่ดินอำพรางหรือไม่ ถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า การกระทำแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ว่าการที่เครือญาติรัฐมนตรีใน ครม. ของท่านมีพฤติกรรมการซื้อขายที่ดินกับกลุ่มทุนโดยปกปิดอำพรางเช่นนี้ เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่” ประเสริฐพงษ์กล่าว

เรียกได้ว่าทุกแง่มุมของโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ ตั้งแต่ที่มา ผู้ดำเนินโครงการ ไปจนถึงกระบวนการ ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้น สวนทางกับการมีส่วนร่วมทำกำไรโดยใช้ ‘ข้อมูลภายใน’ ของเครือญาติรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้ทำให้เราทุกคนต้องตั้งคำถามดังๆ ว่า รัฐบาลเข้าใจแก่นสารของคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (sustainable development) จริงหรือไม่

และ ศอ.บต. ปัจจุบันมีบทบาทใดมากกว่ากัน ระหว่างการเป็นผู้สร้างสันติภาพในชายแดนใต้ กับการเป็นผู้สร้างความขัดแย้งรูปแบบใหม่กับชาวบ้าน

Tags: , , ,