ผลการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะการที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ชี้ชัดว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนนั้นสำคัญก็จริง แต่คนไทยส่วนใหญ่อยากเห็น ‘การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง’ ด้วย

ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU ซึ่งลงนามโดย 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ข้อ 10 ระบุชัดเจนว่า “ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องแอลกอฮอล์ ด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา” 

ผู้เขียนเห็นว่าการประกาศยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม ตาม MOU ข้อ 10 นั้น นับเป็นนิมิตหมายใหม่ของการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใดสนใจเรื่องนี้มาก่อน

แต่ในฐานะที่เขียนซีรีส์บทความ ‘ฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ และ ‘การยึดกุมกลไกกำกับดูแล’ ในคอลัมน์นี้ติดต่อกันมาหลายตอน และจากประสบการณ์ทำงานก็เคยสัมผัสเรื่องทำนองนี้โดยตรงมาไม่น้อย ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเราจะยกเลิกหรือทลายทุนผูกขาดในไทยได้จริง เราจะต้องหาทาง ‘ทลายระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด’ เนื่องจากกลุ่มทุนที่ใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมในไทยนั้น โดยมากเถลิงอำนาจอยู่ได้เพราะมีเครือข่าย ‘ระบอบอุปถัมภ์’ คอยอุ้มชู ทำให้ตัวเองแทบไม่เคยต้องรับผิดหรือเผชิญหน้าความเสี่ยงที่จะถูกเปิดโปงหรือดำเนินคดีใดๆ

‘ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด’ ประกอบด้วยตัวละครหลายภาคส่วนที่อยู่นอกภาคธุรกิจ ตั้งแต่ข้าราชการระดับสูง ตุลาการระดับสูง นักการเมือง ตำรวจ ทนายความ องค์กรกำกับดูแล องค์กรอิสระ รวมไปถึงกลไกเชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย ซึ่งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการที่ออกมาร้องเรียนหรือวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทุน

การทลายระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา แต่ผู้เขียนเห็นว่าถ้าไม่เริ่มพยายามทำตั้งแต่วันนี้ สถานการณ์การผูกขาดและความเหลื่อมล้ำในไทยจะมีแต่เลวร้ายลง และเราก็จะยิ่งถอยห่างจากอุดมคติ ‘การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม’ ตามเป้าหมายใน MOU ข้อ 10

ผู้เขียนเห็นว่า การทลายระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด น่าจะต้องดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การทลายกำแพงกีดกันคู่แข่งรายใหม่ การคุ้มครองผู้ให้เบาะแส และการเลิกสนับสนุนระบอบอุปถัมภ์ทุนด้วยทรัพยากรสาธารณะ 

โดยมีรายละเอียดข้อเสนอดังนี้

1. การปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

1.1 เพิ่มการสื่อสารถึงความสำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560) และอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นถึงความแตกต่างระหว่าง A. การมีอำนาจเหนือตลาด B. การซื้อหรือควบรวมกิจการในทางที่อาจส่งผลต่อการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ และ C. การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม (Market Abuse) 

มีเพียงพฤติกรรมในข้อ C. เท่านั้นที่ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ส่วนข้อ B. ต้องขออนุญาตองค์กรกำกับดูแลก่อน

การสื่อสารและอธิบายความแตกต่างระหว่าง A. B. และ C. น่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันคนจำนวนมากในสังคมยังคงสับสน คิดว่า ‘ทลายทุนผูกขาด’ แปลว่ารัฐบาลใหม่จะหาทางกลั่นแกล้งกลุ่มทุนที่มีอำนาจเหนือตลาด ทั้งที่จุดเน้นที่แท้จริงคือ การมุ่งจัดการกับพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม (Market Abuse) ซึ่งปัจจุบันก็ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม รวมถึงมาตรการเปิดเสรีตลาดและส่งเสริมการแข่งขัน

1.2 แก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้ใช้การได้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอตอนหาเสียง เช่น ยกระดับกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายแม่บท ไม่ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ มาถูกทางแล้ว 

ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ หน่วยงานกำกับดูแลต้องสามารถกำกับอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่โดนยึดกุม (Capture) โดยกลุ่มทุน ไม่ว่าจะยึดกุมแบบอ่อน (Weak Capture) หรือแบบเข้ม (Strong Capture) ก็ตาม

2. การทลายกำแพงกีดกันคู่แข่งรายใหม่

2.1 ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าตลาดสำหรับธุรกิจทุกประเภท อาทิ เกณฑ์ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ คุณสมบัติผู้บริหาร โควตาใบอนุญาต ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าตลาดอย่างง่ายดายกว่าเดิม

การหาทางทลาย ‘กำแพง’ ที่กีดกันคู่แข่งรายใหม่ (เช่น เกณฑ์การเข้าตลาด) ดังตัวอย่างข้างต้น นับเป็นเป้าหมายเชิงนโยบายที่สำคัญ เนื่องจากช่วยเพิ่ม ‘ความเสี่ยงว่าจะมีคู่แข่ง’ (Threat of Competition) ในสายตาของผู้ครองตลาดรายเดิม ความเสี่ยงนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ครองตลาดต้องลงทุนพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค 

พูดอีกอย่างคือ ต่อให้ทลายกำแพงกีดกันรายใหม่แล้วผู้ครองตลาดรายเดิมไม่เสียส่วนแบ่งตลาด จำนวนผู้เล่นในตลาดไม่เพิ่มขึ้นเลย ‘ความเสี่ยงว่าจะมีคู่แข่ง’ ก็จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ครองตลาดต้องพัฒนาอยู่ดี ผลลัพธ์นี้ย่อมดีกว่าการไม่มี ‘ความเสี่ยงว่าจะมีคู่แข่ง’ ใดๆ เพราะกำแพงกีดกันทำให้ผู้ครองตลาดไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะพัฒนา 

2.2 แยกประเด็น ‘มาตรฐานการกำกับดูแล’ กับ ‘มาตรการส่งเสริมการแข่งขัน’ ออกจากกันให้ชัดเจน ผู้เขียนเห็นว่าข้อนี้สำคัญเนื่องจากผู้ครองตลาดบางรายมักใช้ข้ออ้างว่า ถ้าเปิดเสรีแล้วผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายจะไม่ดำเนินธุรกิจอย่างมีมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อาจก่อผลเสียหรืออันตรายต่อผู้บริโภค ฯลฯ ทั้งที่ ‘มาตรฐานการกำกับดูแล’ (ให้สินค้าและบริการได้มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค) กับ ‘มาตรการส่งเสริมการแข่งขัน’ เป็นคนละประเด็นกันอย่างสิ้นเชิง และต่างก็สำคัญทั้งคู่

3. การคุ้มครองผู้ให้เบาะแส

3.1 ออกกฎหมาย Whistleblower Protection (คุ้มครองผู้ให้เบาะแส) และยกระดับกลไกรับเรื่องร้องเรียนทุกจุุดของหน่วยงานกำกับดูแลทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ (เช่น กลไกของ กขค. กสทช. ธปท. กกพ. ฯลฯ) ให้มีมาตรฐานเดียวกัน คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ร้อง 

นอกจากนี้ ต่อไปนี้รัฐควรมองว่าเบาะแสเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Market Abuse) นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคุ้มครองผู้ให้เบาะแส ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้า ฯลฯ ไม่แพ้เบาะแสที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน 

3.2 ออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการดำเนินคดีของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เช่น 

– ออกกฎหมายหรือประกาศเพื่อต่อต้านการฟ้องปิดปากโดยบริษัทเอกชน (SLAPP)

– แก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ไม่ให้ใช้กับการแสดงออกออนไลน์ 

– แก้ไขปรับปรุงกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ให้ผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันฟ้องบริษัทเอกชนได้ง่ายขึ้น

4. การเลิกสนับสนุนระบอบอุปถัมภ์ทุนด้วยทรัพยากรสาธารณะ

4.1 ออกระเบียบหรือข้อกำหนดเพื่อกำกับ Revolving Door (ประตูหมุนระหว่างรัฐกับเอกชน) ตามมาตรฐาน OECD เช่น ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการระดับสูง และข้าราชการระดับสูง รับค่าตอบแทนใดๆ จากบริษัทเอกชน (เช่น ในฐานะกรรมการบริษัท หรือที่ปรึกษา) ที่ตนเคยเกี่ยวข้องในการหน้าที่สาธารณะ ทันทีที่พ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 2 ปี

(ข้อกำหนด Revolving Door ที่ได้มาตรฐานสากลในเมืองไทยก็พอมีบ้าง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เป็นส่วนน้อยและไม่ใช่ข้อกำหนดส่วนกลางที่ใช้กับหน่วยงานราชการ นิติบัญญัติ และศาลทุกองค์กร) 

4.2 ทบทวนความจำเป็นของ ‘หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร’ ในภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันตุลาการ ทุกหลักสูตรที่ใช้เงินสาธารณะ (เงินภาษี) ดำเนินการ โดยเฉพาะหลักสูตรที่ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานกำกับดูแลหรือผู้พิพากษา กลายมาเป็นเพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่ หรือรุ่นน้องของนักธุรกิจที่ตัวเองมีหน้าที่กำกับดูแลหรืออำนวยความยุติธรรม

ในระบอบอุปถัมภ์ทุนแบบไทยๆ การชักนำให้บุคคลที่ควรจะคานอำนาจกันโดยตำแหน่งหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลหรือองค์กรตุลาการ กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน และนักการเมือง มาเป็น ‘เพื่อนร่วมรุ่น’ กัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นมืออาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมอีกต่อไป เพราะถูกอิทธิพลของคำว่า ‘เพื่อน’ หรือ ‘รุ่นพี่’ ‘รุ่นน้อง’ บดบัง ดังที่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย

ดังนั้น หากจะมีหลักสูตรหรือโครงการใดๆ ที่สร้างหรือรักษาภาวะเช่นนี้ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ควรใช้แต่ทรัพยากรของเอกชน 100% ไม่ใช่ใช้ทรัพยากรสาธารณะ เช่น เงินงบประมาณ ในการดำเนินการ

Tags: , , ,