สองตอนก่อนหน้านี้ผู้เขียนเขียนถึงมหากาพย์รถไฟฟ้า กทม. และมหกรรมกินรวบโรงไฟฟ้า IPP ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มทุนในยุครัฐบาลทหาร จุดร่วมของทั้งสองกรณีนี้ คือ การใช้คำสั่งหรือประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทำให้ คสช. และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานทุกระดับที่ทำตาม ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทางกฎหมายทั้งสิ้น ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวาทะอมตะของลอร์ดแอกตัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้รจนาในจดหมายเมื่อปี ค.ศ. 1887 ว่า “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงมักเป็นคนเลว”
การใช้ ‘กฎหมาย’ เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในทางที่ไม่แยแสผลกระทบต่อประชาชนนั้น มิได้มีเพียงสองกรณีนี้เท่านั้น แต่ยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากมาย
กรณีหนึ่งที่ผู้เขียนติดตามมานานหลายปีในฐานะที่ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนคือ ‘เตาเผาขยะ’ และ ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ ซึ่งมักเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากมองว่าเป็นธุรกิจเดียวกัน นั่นคือ รับจ้างกำจัดขยะจากราชการส่วนท้องถิ่น จากนั้นก็นำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า
เรียกว่ามีรายได้ ‘สองต่อ’ เลยทีเดียว คือจากการรับจ้างกำจัดขยะ และจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ
ในประเทศไทยที่การจัดการขยะยังมีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เตาเผาขยะนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ธุรกิจนี้สร้างผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากถ้าจัดการไม่ดี โดยเฉพาะสารก่อมะเร็งไดออกซิน มลพิษร้ายแรงที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะที่ไม่สมบูรณ์ และใครๆ พอได้ยินคำว่า ‘ขยะ’ ก็ย่อมเกิดความกังวล (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นธุรกิจแบบ ‘NIMBY’ ย่อมาจาก Not in My Backyard คือจะสร้างก็ได้ แต่อย่ามาอยู่ติดบ้านฉัน)
ด้วยเหตุนี้ เตาเผาขยะจึงต้องอยู่ภายใต้กลไกการควบคุมโดยรัฐที่รัดกุมรอบคอบกว่าธุรกิจทั่วไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน โดยเฉพาะที่อาศัยในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งมักจะเป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อย เพราะถ้ามีรายได้เยอะคงพักอาศัยในที่ดินราคาแพง ไม่มาอาศัยอยู่ในที่ที่จะสร้างเป็นเตาเผาขยะ
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 กลับกลายเป็นตรงกันข้าม
แต่ผู้เขียนติดตามกรณีนี้มานาน เพิ่งมาถึง ‘บางอ้อ’ เมื่อได้ฟังคำอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของ ส.ส. ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จากพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
กล่าวโดยสรุป ส.ส. ประเดิมชัยได้ชี้ถึงความผิดปกติในการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย ระบบเตาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวันที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช กรุงเทพฯ (กทม.) ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 4,380 ล้านบาท ส่อว่าจะมีการใช้กลไกทางกฎหมายวางแผนการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยลมาตั้งแต่สมัย คสช. โดยมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงทั้งผู้มีอำนาจใน คสช. ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการ กทม. ที่มีพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง จาก คสช. ให้เป็นผู้ว่า กทม. ขณะที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมกรรมสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ก็มีชื่อเกี่ยวกันกับการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะฉาวครั้งนี้ด้วย
ส.ส. ประเดิมชัยประกาศว่าจะยื่นเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อไป ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่โครงการเตาเผาขยะ กทม. ตกเป็นข่าวอื้อฉาว ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ก่อนการเปิดประมูลโครงการสองโครงการนี้ของ กทม. เมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าอาจมีการ ‘ล็อกสเปก’ เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย
สำนักข่าวไทยพับลิก้าสรุปเหตุการณ์ชุลมุนช่วงนั้นว่า “แต่ยังไม่ทันได้ประกาศชื่อผู้ประมูลงานที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก รองผู้ว่า กทม. ก็ยื่นใบลาออกต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถึง 2 คน …ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว กทม. …ว่าอาจจะถูกกดดันให้ลงนามอนุมัติผลการประมูลโครงการกำจัดขยะทั้ง 2 แห่ง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามที่มีข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนว่าการจัดงานประมูลโครงการนี้อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประมูลบางรายหรือไม่ อย่างไร”
เท่ากับว่าการเปิดประมูลสองโครงการ วงเงินงบประมาณรวม 13,140 ล้านบาท อาจส่งผลให้รองผู้ว่า กทม. ลาออกติดกันสองคน สันนิษฐานว่าอาจป่วยเป็นโรค ‘เรื่องอะไรจะเอาคอไปขึ้นเขียง’
ระหว่างที่ทุกคนรวมทั้งผู้เขียนยังรอคอยผลการสอบสวนกรณีนี้ของ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ซึ่งผ่านมาเกือบสองปีแล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้า ผู้เขียนอยากชี้ชวนให้ดูมิติของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่เกี่ยวข้อง
เพราะการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจเตาเผาขยะมีการใช้อำนาจเผด็จการและแก้กฎหมาย ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว แต่เปิด ‘ไฟเขียว’ ทางกฎหมายให้มากถึงห้าครั้งด้วยกัน!
ครั้งแรก วันที่ 9 กันยายน 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการซึ่งต้องจัดทำรายงาน EIA (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 ยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงาน EIA อีกต่อไป จากเดิมที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงาน EIA
ประกาศฉบับนี้กำหนดให้โรงไฟฟ้าขยะไปทำตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice/COP) แทนที่ EIA ทั้งที่มันทดแทนกันไม่ได้เลย เนื่องจาก COP เป็นเครื่องมือชนิด ‘อ่อน’ คือเป็นเพียงคู่มือรายการสิ่งแวดล้อม (Environmental checklist) ให้โครงการปฏิบัติตามและติดตามด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ดังเช่นกรณีของรายงาน EIA
ครั้งที่สอง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2559 ในเดือนมกราคม 2559 ให้ยกเว้นผังเมืองรวมสำหรับกิจการบางประเภท เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้า และ ‘ธุรกิจที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะ’
กฎหมายผังเมืองนับเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยประสานประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์เอกชน และประโยชน์ชุมชนเข้าด้วยกัน ในการหา ‘ฉันทามติ’ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่
มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจว่า ในประเทศไทย กฎหมายนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ของไทยที่กำหนดว่าต้องจัดให้มีการ ‘รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องที่’ โดยบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518
แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2559 กลับอ้างเหตุผลที่ผู้เขียนเห็นว่าฟังไม่ขึ้นว่า จำเป็นต้องออกคำสั่งยกเว้นการใช้ผังเมืองรวม เพราะผังเมืองรวมเป็น ‘ข้อขัดข้องหรืออุปสรรค’ ในการแก้ปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและปัญหาขยะมูลฝอย และ ‘พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติ คำสั่งฉบับนี้อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการกิจการต่างๆ ตามประกาศนี้สามารถขออนุญาตดำเนินกิจการในสถานที่ใดๆ ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งหรือกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ในเวลาต่อมา ที่การขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะหรือเตาเผาขยะสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยโรงงานเหล่านี้ทุกแห่งทั่วประเทศจะได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ไม่สามารถเพิกถอนใบขออนุญาตได้แม้ไม่ถูกต้องตามผังเมือง เนื่องจากคำสั่งและประกาศ คสช. มีสถานะพิเศษ เจ้าหน้าที่ที่ทำตามไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทางแพ่ง อาญา หรือวินัย
ต่อมาอีกสองเดือน ในเดือนมีนาคม 2559 ก็มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559 อนุญาตให้หน่วยงานสามารถขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการที่ ‘จำเป็นเร่งด่วน’ ก่อนที่จะรู้ผลการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)
สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการชุมชนอิสระและแนวร่วมเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ริเริ่ม ‘ธรรมนูญอ่าวอุดม’ ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งฉบับนี้ “คือกระบวนการทำลายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของประเทศ …มันคือกระบวนการที่ EIA ยังไม่เสร็จ แต่ไปจัดจ้าง จัดประมูล หรือจัดทำสัญญาไว้ก่อนรอเซ็น พอกฎหมายบังคับแล้ว มันเป็นกฎหมายระเบียบพัสดุ มีเรื่องของระเบียบบังคับ เพราะฉะนั้นถ้าเกินกำหนดเอกชนสามารถฟ้องกลับได้ …พอเอกชนจะฟ้องก็ต้องไปบีบทาง คชก.สผ. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้ต้องรีบอนุมัติ EIA”
ลองคิดเล่นๆ ดูว่า สมมุติมีโครงการมูลค่า 2,000 ล้านบาทที่หน่วยงานเปิดประมูลไปแล้ว ได้เอกชนมาดำเนินโครงการแล้ว เหลือแต่รอรายงาน EIA ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สมมุติต่อไปว่าในร่างรายงาน EIA ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้บรรเทาผลกระทบด้วยการติดตั้งระบบบำบัด ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนอีก 300 ล้าน แต่ระเบียบพัสดุออกมา 2,000 ล้านบาทตามมูลค่าโครงการ ก็ไม่สามารถไปแก้ไขเพิ่มตัวเลขเป็น 2,300 ล้านบาทได้ ซึ่งย่อมแปลว่ามาตรการบรรเทาผลกระทบที่รายงาน EIA แนะนำจะเป็นหมัน ถ้าหน่วยงานเจ้าของโครงการและเอกชนเล็งเห็นล่วงหน้าว่าอาจเป็นอย่างนั้น ก็แน่นอนว่าจะเกิดการบีบคั้น คชก.สผ. ให้ไปแก้ไขและอนุมัติ EIA ให้เป็นไปตามกรอบที่ตัวเองอยากเห็น ไม่ใช่เป็นไปตามหลักวิชาการที่ควรเป็น
แต่กระบวนการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนยังไม่จบลงเท่านี้สำหรับเตาเผาขยะ แม้จะมีประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ และคำสั่ง คสช. ปูทางให้แล้วรวมกันสามครั้ง
‘ไฟเขียว’ ดวงที่สี่มาถึงในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2560 มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ศ. 2560 โดยในมาตรา 34/1 ระบุว่า การมอบให้เอกชนมาร่วมดำเนินการเก็บ ขน และกำจัดขยะ “มิให้ถือเป็นการร่วมลงทุน” ตามพระราชบัญญติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน)
เท่ากับว่าเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะที่มีมูลค่าโครงการเกินหนึ่งพันล้านบาท ไม่จำเป็นต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอีกต่อไป ทั้งที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนคือกลไกหลักที่เราใช้ในการกำหนดกติกา กำกับ และติดตามตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่
แต่ยัง ได้ไฟเขียวสี่ดวงแล้วก็ยังไม่พอ!
ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2560 กระทรวงมหาดไทยมีการออกประกาศเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ในข้อ 18 กำหนดว่า หลังจากที่ รมว.มหาดไทยให้ความเห็นชอบกับการมอบหมายให้เอกชนมาดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอยแล้ว “…ให้ราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทําข้อเสนอคัดเลือกเอกชนโดยนําหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ใช้วิธีการประมูลก่อน โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ที่ราชการส่วนท้องถิ่นและประชาชนจะได้รับอย่างเป็นธรรม”
คำว่า ‘โดยอนุโลม’ แปลว่า ให้นำหลักการมาใช้ แต่แก้ไขรายละเอียดได้ ซึ่ง ส.ส. ประเดิมชัยเปิดเผยว่า การอนุโลมในกรณีนี้ก็คือ หากมีการอุทธรณ์ตามประกาศฉบับนี้ จะไปใช้ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ไม่ใช้กระบวนการอุทธรณ์และร้องเรียนตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
เรื่องนี้เป็นปัญหา เพราะการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง นั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดภายในกระทรวงมหาดไทย ไม่มีหน่วยงานอื่นมาเกี่ยวข้อง ขณะที่กระบวนการอุทธรณ์และร้องเรียนในมาตรา 41 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างนั้น เป็น ‘อิสระ’ ได้มาตรฐานสากลกว่ากันมาก เพราะกำหนดให้มี ‘คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเรื่องร้องเรียน’ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 5-7 คน โดยให้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง
สรุปสั้นๆ ได้ว่า ไฟเขียวดวงที่ห้านั้นเจาะจงให้เลิกใช้กระบวนการอุทธรณ์ตามกฎหมายสมัยใหม่ที่พยายามจะเป็นอิสระ มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านกลับไปใช้กฎหมายเก่ากว่าที่ทุกขั้นตอนเกิดขึ้น และสิ้นสุดภายในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว ผู้เขียนเห็นว่าการทำแบบนี้ไม่มีเหตุผลรองรับใดๆ เลย ยกเว้นจะคิดในแง่ร้ายว่า ผู้มีอำนาจหยั่งรู้ล่วงหน้าว่ากระบวนการประมูลเตาเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะนั้นน่าจะมีข้อครหา น่าจะมีเอกชนที่เข้าร่วมประมูลบางรายเห็นว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง อยากอุทธรณ์ ดังนั้นจึงต้องหาทางแก้กระบวนการให้จบในกระทรวงเท่านั้น จะได้ ‘คุม’ ผลลัพธ์ได้!
ซึ่งเหตุการณ์จริงก็ปรากฏว่า การประมูลโครงการเตาเผาขยะ กทม. ทั้งสองแห่งคืออ่อนนุชและหนองแขม ก็มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างที่เอกชนผู้เข้าร่วมหลายรายจะอยากอุทธรณ์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความเร่งรีบของกระบวนการประกวดราคา ข้อพิรุธในเอกสารเสนอราคา การที่ กทม. ไม่มีการพิจารณาคะแนนด้านผลประโยชน์ตอบแทนคืนกลับให้รัฐ ส่งผลให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ที่เสนอราคาค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะสูงถึง 789 บาทต่อตัน โดย กทม. ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ คืนตลอดอายุโครงการ 20 ปี ขณะที่การดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันในเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเฉลี่ยเพียง 404 บาทต่อตันตลอดอายุโครงการ 20 ปี นอกจากนั้นยังมีผลตอบแทนคืนให้รัฐอีกร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิ
สรุป ไฟเขียวทางกฎหมายที่เปิดให้กับธุรกิจเตาเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะตลอดสี่ปีที่ผ่านมาได้ว่า
2558 ไฟเขียวดวงแรก ออกประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องทำรายงาน EIA
2559 ดวงที่สอง ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเว้นให้ไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง
2559 ดวงที่สาม ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ ครม. มีอำนาจเห็นชอบให้หน่วยงานคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการ ‘จำเป็นเร่งด่วน’ ได้โดยไม่ต้องรอรายงาน EIA
2560 ดวงที่สี่ แก้กฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้โครงการพันล้านบาทขึ้นไป ไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน
2560 ดวงที่ห้า ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้การอุทธรณ์กลับไปใช้กระบวนการที่สิ้นสุดภายในกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว แทนที่จะใช้กระบวนการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและหลากหลายหน่วยงาน ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง
‘ไฟเขียว’ ทั้ง 5 ดวงนี้ ถ้าดูทีละกรณีอาจไม่เห็นภาพใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาต่อกันตามช่วงเวลา เปรียบเทียบกับความไม่ชอบมาพากลของโครงการเตาเผาขยะ กทม. ก็ชัดเจนว่าไฟเขียวทั้งหมดนี้เข้าข่าย ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่เปิดให้โครงการเตาเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดทั่วประเทศผ่านฉลุย ดำเนินการได้อย่างง่ายดายกว่าธุรกิจอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ราวกับเป็น ‘ธุรกิจเทวดา’ ก็ไม่ปาน
นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์เอกชนอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ‘ไฟเขียว’ เหล่านี้ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับโครงการเตาเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะที่ไม่มีการบริหารจัดการผลกระทบอย่างเพียงพอ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกการควบคุมดูแลถูกตัดตอน ดังที่เราเริ่มสังเกตเห็นแล้วทั่วประเทศไทย
Tags: Citizen 2.0, Power Corrupt, โรงไฟฟ้าขยะ, การฉ้อฉลเชิงอำนาจ