สองตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเริ่มพูดถึงองคาพยพของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่กำลังดึงสังคมไทยถอยหลังครั้งใหญ่ไปหลายสิบปี เริ่มจาก วิธีที่รัฐธรรมนูญ 2560 ลดทอนความโปร่งใสและตัดสิทธิการตรวจสอบของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปราบปรามคอร์รัปชัน และมอบอำนาจไร้ความรับผิดใดๆ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนถึงวิธีที่ รัฐทหารทำปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations: IO) กับประชาชน ด้วยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งนอกจากจะตอกลิ่มความขัดแย้งให้ซึมลึกรุนแรงกว่าเดิมแล้ว ยังขัดต่อกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเคยลงนามด้วย
ผู้เขียนเสนอว่า “ผลลัพธ์ของการฉ้อฉลเชิงอำนาจก็คือ องคาพยพทั้งหมดของรัฐเอียงข้างกระเท่เร่และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนโจ๋งครึ่มโดยไม่มียางอายใดๆ เพราะไม่เคยต้องรับผิด พวกพ้อง ‘ฝ่ายตัวเอง’ ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องรับผิด จ้องเอาผิดใครก็ตามที่มองว่าอยู่ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ไม่ได้รับใช้ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคอย่างที่ควรเป็น กฎหมายทุกระดับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของตัวเองและเล่นงานคนอื่น”
คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูก ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นร้องว่าพักอาศัยในบ้านพักของกองทัพบกตลอดมา แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วในปี 2557 เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ไม่ผิด น่าจะเป็นอีกตัวอย่างในยุคนี้ที่คนจำนวนมากจะวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันอีกนานว่าอาจเข้าข่าย ‘การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ’ โดยเฉพาะในเมื่อตุลาการศาลนี้ 7 จาก 9 คน มาจากการแต่งตั้งหรือต่ออายุโดย คสช. และสถานะสุดท้ายของ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็คือหัวหน้า คสช. นั่นเอง
ปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกับออกมาโพสข้อความบนเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าวว่า “…ประยุทธ์พูดเป็นเชิงว่าตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งคณะเป็นทาสเขา เพราะตั้งมากับมือทุกคน ถ้าไม่ตัดสินอย่างนี้ต้องถือว่าเนรคุณ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สมควรรีบยุบศาลรัฐธรรมนูญเสีย ผมเสียดายทั้งประชาธิปไตยและภาษีประชาชน”
มีนักกฎหมายหลายท่านวิเคราะห์และวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ โดยรวมผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ ออกมาโพสเฟซบุ๊กว่า “การพิจารณาเพียงแค่ส่วนของ ‘ผู้ให้ประโยชน์’ อย่างกองทัพว่าการให้บ้านพักพร้อมค่าน้ำค่าไฟเป็นกรณีปกติวิสัยหรือไม่อาจไม่ครบถ้วนตามหลักการ หากแต่ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องพิเคราะห์ต่อไปอีกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ‘ผู้รับประโยชน์’ มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการตัดสินใจใดๆ ลงไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองเพื่อตอบแทนกองทัพหรือไม่อย่างไรด้วย”
เนื่องจากสาระสำคัญของกรณีนี้เป็นเรื่อง ‘การขัดกันแห่งผลประโยชน์’ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ‘ความชอบด้วยกฎหมาย’ ของระเบียบกองทัพบก ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรพิจารณาให้ครบถ้วนทั้งฝั่ง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ ไม่ใช่ดูเฉพาะฝั่ง ‘ผู้ให้’ ดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัย
ในฐานะที่สนใจประเด็นธรรมาภิบาลมานาน ผู้เขียนอยากชวนย้อนกลับไปทบทวนเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมอง ‘นัย’ ของคำวินิจฉัย ชวนคิดว่าถ้าหากคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวกลายเป็นบรรทัดฐานในสังคม กลไกป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์สำหรับผู้มีอำนาจทางการเมืองจะยังใช้การได้อยู่หรือไม่
ก่อนอื่น เราควรต้องแยกแยะว่า ประเด็นความเหมาะสมของการให้อดีตนายพลอยู่บ้านพักหลวงหลังเกษียณอายุราชการก็เรื่องหนึ่ง ประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (หรือไม่) เมื่ออดีตนายพลคนนั้นไปเป็นนายกฯ แล้วยังอยู่บ้านพักของกองทัพก็อีกเรื่อง ผู้เขียนเห็นว่าเราควรถกเถียงทั้งสองประเด็น แต่ไม่ควรนำมาปนกัน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในบทความนี้คือประเด็นหลังเท่านั้น
‘การขัดกันแห่งผลประโยชน์’ หรือ conflict of interest สำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องคิดกลไกป้องกัน ผู้เขียนคิดว่าความสำคัญของประเด็นนี้ถดถอยลงมากในยุค คสช. ที่ระบอบอุปถัมภ์เถลิงอำนาจถึงขีดสุด ดังนั้นสมควรย้อนทบทวนว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะอะไร
กล่าวอย่างรวบรัด ทุกสังคมไม่อยากเห็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะเราอยากให้ทุกคนทำหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่อยากเห็นสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงที่จะตัดสินใจในทางที่บิดพลิ้วต่อหน้าที่
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท มีวาระการพิจารณาคัดเลือกบริษัทไอทีเพื่อรื้อระบบสารสนเทศในบริษัทใหม่ ในบรรดาบริษัทไอทีที่ส่งข้อเสนอเข้ามา มีบริษัทของน้องชายเรารวมอยู่ในนั้นด้วย กรณีนี้ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิด ‘การขัดกันแห่งผลประโยชน์’ คือสถานการณ์ที่เราจะอยากโหวตเลือกบริษัทของน้องชายเพียงเพราะอยากช่วยคนในครอบครัว แทนที่จะเอาประโยชน์ของบริษัทเป็นตัวตั้ง พิจารณาจากเงื่อนไขและราคาด้วยเกณฑ์เดียวกันกับที่พิจารณาบริษัทอื่นๆ
ลองสมมติต่อไปว่า บริษัทของน้องชายเราชนะการประกวดราคา ได้งานของบริษัทไป โดยที่เราเป็นหนึ่งเสียงที่ยกมือโหวตให้ คนก็ต้องคิดว่าเป็นเพราะเราอยากช่วยน้องชาย ไม่ใช่เพราะเราเห็นว่าบริษัทของน้องชายส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท ต่อให้เราพยายามอธิบายว่าเราตัดสินใจโดยยึดประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้งจริงๆ ไม่ใช่เพราะเป็นบริษัทของน้อง ก็คงไม่มีใครเชื่อ
ตัวอย่างสั้นๆ นี้คงพอให้เห็นภาพว่า เราจะอยาก ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่มีทางพิสูจน์ได้เลยว่าปัจเจกจะแยกแยกระหว่าง ‘หมวก’ หรือสถานะแต่ละอย่างของตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่อาจเชื่อใจได้ว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ผลประโยชน์แต่ละ ‘หมวก’ ขัดแย้งกันขึ้นมา บุคคลคนนั้นจะสามารถตัดสินใจตาม ‘หมวก’ ใบที่เราคาดหวัง
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การหาวิธี ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ตั้งแต่ต้น ในกรณีการประกวดราคาไอทีในตัวอย่างข้างต้น บริษัทก็สามารถออกระเบียบมาว่า กรรมการคนไหนก็ตามที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ประมูลงาน จะต้องเปิดเผยส่วนได้เสียนั้นๆ (เช่น แจ้งบริษัทว่าหนึ่งในผู้เข้าประมูลเป็นบริษัทของน้องชาย) กับบริษัท และไม่เข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจ (ไม่เข้าประชุมในวาระที่โหวตเลือกบริษัทไอที) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ในแวดวงการเงินที่ผู้เขียนเคยประกอบอาชีพเกือบสิบปี การห้ามไม่ให้พนักงานซื้อหรือขายหุ้นที่บริษัทกำลังทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ นับเป็นนโยบายปกติที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่คนภายนอกจะมองว่า พนักงานสามารถนำข้อมูลภายในที่ได้รับจากบริษัทลูกค้าไปใช้ โกยกำไรจากหุ้นเข้ากระเป๋าตัวเอง
ต่อให้ไม่มีพนักงานคนไหนอยากฉวยโอกาสหาประโยชน์ส่วนตัวจากตำแหน่งหน้าที่ตัวเอง ถ้าบริษัทไม่ประกาศนโยบายนี้ออกมา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนนอกจะกังขาและตั้งข้อครหา ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงโดยไม่จำเป็น
ในเมื่อ ‘ความไว้วางใจ’ จากสาธารณะเปรียบดั่ง ‘สกุลเงินง ที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ กลไก ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เป็น ‘การขัดกันแห่งผลประโยชน์’ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะลำพังการถูกครหาว่า ‘อาจ’ เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น (perceived potential conflict of interest) ก็ส่งผลเสียแล้ว อย่างน้อยก็กระทบกับชื่อเสียง ไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (actual conflict of interest) ขึ้นจริงๆ ก่อน
พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ต้องรอดูให้เกิดสถานการณ์ขัดแย้ง ยังไม่ต้องพูดถึงการรอดูพฤติการณ์ของปัจเจกว่าตัดสินใจในสถานการณ์นั้นอย่างไร เพราะอะไร เพราะดังที่อธิบายไปแล้วในตัวอย่างข้างต้นว่า เราไม่มีทางพิสูจน์หรือหลบเลี่ยงข้อครหาได้เลย
การป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์การขัดกันแห่งผลประโยชน์ในภาคธุรกิจยังสำคัญขนาดนี้ การป้องกันสถานการณ์แบบนี้ในภาครัฐยิ่งสำคัญเป็นทวีคูณ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐสามารถให้คุณให้โทษกับประชาชนได้ การทำงานใช้เงินภาษีประชาชน ดังนั้นจึงถูกคาดหวังให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้มีอำนาจทางการเมืองก็มีอำนาจมหาศาลกว่าคนทั่วไป
อันที่จริง ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย การป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจของตำแหน่งหนึ่งๆ มีโอกาสไปละเมิดอำนาจของตำแหน่งอื่น หรือนั่งหลายตำแหน่งจนทำให้การทำหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพ มีความสำคัญมากจนถูกแยกออกมาเป็นหลักการต่างหาก เรียกว่า ‘หลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ’ (doctrine of incompatibility of public offices) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่มีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ เป็นหลักการทั่วไปที่ห้ามไม่ให้บุคคลเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน หากว่าตำแหน่งเหล่านั้นมีความขัดกัน
คุณรัฐวิทย์ เรืองประโคน เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทนิติศาสตร์เรื่องนี้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ชื่อ “หลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ : ศึกษากรณีบุคคลดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติและตำแหน่งฝ่ายบริหารในเวลาเดียวกัน” ซึ่งได้ สกัดออกมาเป็นบทความเชิงวิชาการชื่อเดียวกัน ทุกท่านที่สนใจเรื่องนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ (ผู้เขียนขอขอบคุณคุณรัฐวิทย์ที่แนะนำเอกสารดังกล่าวมา ณ ที่นี้)
จากการศึกษารัฐธรรมนูญไทยนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คุณรัฐวิทย์พบว่า “รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับต่างก็มีบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้บุคคลดำรงตำแหน่งของรัฐหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐโดยตรง แต่ทั้งนี้ เหล่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือนักกฎหมายทั่วไป หรือศาล ได้เรียกบทบัญญัติเหล่านี้ว่าเป็นหลักแบ่งแยกอำนาจ หรือหลักผลประโยชน์ขัดกัน” โดยไม่แยกแยะระหว่าง ‘หลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ’ กับ ‘หลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์’ ซึ่งถึงแม้จะมีบางส่วนคล้ายกัน ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
ตัวอย่างของกลไกป้องกันที่คุณรัฐวิทย์เขียนถึง คือ กฎหมายของมลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ คริสต์ศักราช 1978 ซึ่งได้วางบทนิยามของคำว่าการขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 1(b)8 ว่า ‘การขัดกันของตำแหน่งหน้าที่’ หมายถึง กรณีซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐดำรงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และในขณะเวลาเช่นว่านั้น ก่อให้เกิดผลดังต่อไปนี้
- ตำแหน่งหนึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอีกตำแหน่งหนึ่ง
- ตำแหน่งหนึ่งมีอำนาจในการควบคุมดูแลตรวจสอบอีกตำแหน่งหนึ่ง
- มีการละเมิดหน้าที่ของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง …”
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูลวินิจฉัย ใครเลยจะเชื่อว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังพักอาศัยอยู่ในบ้านของกองทัพบก ได้รับการอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟฟรีตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แม้เกษียณอายุราชการแล้ว จะไม่มีผลใดๆ ต่อการพิจารณางบประมาณประจำปี รวมถึงการพิจารณานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
ความชอบด้วยกฎหมายของระเบียบกองทัพบกที่ให้อดีตนายพลพำนักในบ้านพักหลังเกษียณได้ รวมถึงคุณประโยชน์ใดๆ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยทำมาเมื่อครั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จึงเป็นคนละประเด็นกันกับสถานการณ์ ‘การขัดกันแห่งผลประโยชน์’ ที่เกิดขึ้นเมื่ออดีต ผบ.ทบ. มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจควบคุมตรวจสอบและให้คุณให้โทษกับกองทัพบก
การปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินไป จึงน่าจะผิดทั้งหลักการขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ (ตำแหน่งอดีตนายพลซึ่งทำให้มีสิทธิพักบ้านกองทัพ ขัดกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจควบคุมกองทัพ) และหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ได้ประโยชน์ส่วนตัวจากกองทัพในแง่บ้านฟรี ค่าน้ำค่าไฟฟรี สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์แก่กองทัพเกินสมควร)
ถ้าหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ก็หมายความว่าในอนาคตเราเพียงแต่อ่านระเบียบต่างๆ ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และดูว่าบุคคลทำ ‘ถูกระเบียบ’ หรือเปล่าเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องดู ‘สถานการณ์’ เลยว่าขัดต่อหลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ หรือหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
สมมติบริษัทแห่งหนึ่งออกระเบียบมาว่า จะให้สวัสดิการแก่อดีตผู้บริหารระดับสูง ได้พักบ้านพักของบริษัท จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ฟรี ต่อมามีอดีตผู้บริหารไปเล่นการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรี การที่รัฐมนตรี/อดีตผู้บริหารคนนั้นจะอยู่บ้านพักของบริษัทต่อไปก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าทำถูกต้องตามระเบียบของบริษัท
สมมติมีหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งออกระเบียบมาว่า จะมอบของขวัญปีใหม่เป็นทัวร์ต่างประเทศ มูลค่าหนึ่งแสนบาท ให้กับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี การที่บุคคลเหล่านี้ตอบรับ เดินทางไปทัวร์กับหน่วยงานดังกล่าวทุกปีก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าทำถูกต้องตามระเบียบของหน่วยงาน
พูดสั้นๆ ก็คือ ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าหากคำวินิจฉัยกรณี ‘บ้านพักหลวง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นบรรทัดฐานในสังคม กลไกป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์และบทบัญญัติเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญที่เราเรียกร้องมายาวนานก็อาจไร้ความหมาย สุ่มเสี่ยงที่จะใช้การไม่ได้อีกต่อไป เป็นเพียงตัวอักษรในกระดาษ
แต่คิดไปคิดมา หลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงหลักขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ อาจจะมลายหายไปแล้วนานก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน – หายไปตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ เพราะกติกาสูงสุดฉบับนี้ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจ รวม 6 คน สามารถมาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจควบคุมตรวจสอบกองทัพ ได้อย่างไม่ต้องอธิบายอะไรกับใครทั้งนั้น ยังไม่นับว่าวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดมีทหารและตำรวจมากถึง 104 คน คิดเป็นร้อยละ 42 ของทั้งวุฒิสภา
ในเมื่อกติกาทั้งหลายที่เกี่ยวกับวุฒิสภา สถาบันซึ่งโดยหน้าที่ต้องตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. และรัฐบาล ทำให้ธรรมาภิบาลหมดความหมาย การคาดหวังให้องคาพยพอื่นๆ ในยุคนี้ทำงานอย่างสุจริตเที่ยงธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง ก็อาจเป็นได้แค่ฝันกลางวัน – ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ตราบใดที่เรายังไม่แก้รัฐธรรมนูญ
Tags: บ้านพักหลวง, การฉ้อฉลเชิงอำนาจ, Citizen 2.0, สงครามจิตวิทยา