ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเขียนถึงวิธีที่ กลไกต่อต้านคอร์รัปชันถูกบั่นทอนในรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายป้องกันและปราบปราบคอร์รัปชัน (ป.ป.ช.) ว่าเป็นตัวอย่างของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ อันเลวร้ายที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นั่นคือ เมื่อผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ฉ้อฉล เอื้อประโยชน์ ยื้ออำนาจให้ตนเองและพวกพ้องตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญ กติกาสูงสุดของประเทศ ส่งผลให้การฉ้อฉลเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมาย คนทำไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น
การฉ้อฉลเชิงอำนาจตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญนั้นเลวร้ายกว่า ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ ที่เราเคยตื่นตัวในสมัยรัฐบาลก่อนๆ หลายเท่า เพราะไม่มีทางที่ใครจะเอาผิดได้เลย หากไม่แก้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งก็ยากเย็นแสนเข็ญ
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ คอร์รัปชันเชิงนโยบายสมัยก่อนสามารถนำไปสู่การฟ้องและนำตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองขึ้นศาลในข้อหา ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบทรัพย์สินก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎหมาย ป.ป.ช. แต่สมัยนี้เราไม่มีทางแม้แต่จะรู้ว่าทรัพย์สินของผู้ที่ครองอำนาจทางการเมืองต่อเนื่องหลายปีมีมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไร เพราะกฎหมาย ป.ป.ช. ถูกแก้ให้ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สิน ถ้าหากกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 30 วัน
ผลลัพธ์ของการฉ้อฉลเชิงอำนาจก็คือ องคาพยพทั้งหมดของรัฐเอียงข้างกะเท่เร่และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนโจ๋งครึ่มโดยไม่มียางอายใดๆ เพราะไม่เคยต้องรับผิด พวกพ้อง ‘ฝ่ายตัวเอง’ ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องรับผิด จ้องเอาผิดใครก็ตามที่มองว่าอยู่ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ไม่ได้รับใช้ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคอย่างที่ควรเป็น กฎหมายทุกระดับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของตัวเองและเล่นงานคนอื่น
กลไกหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสืบทอดและสะท้อนภาวะ ‘ฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ขั้นรุนแรงในยุคนี้ คือ การทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (information operations: IO)
ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนเคยเขียนถึงวิธีรู้ทัน IO อธิบายความแตกต่างระหว่างประชาสัมพันธ์กับ IO และอธิบายว่า IO ละเมิดนโยบายของบริษัทโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง ทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กจึงออกมาจัดการ แต่ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 2563 มีเอกสารหลุดและข่าวเกี่ยวกับ IO รวมถึงปฏิกิริยาจากกองทัพต่อกรณีเหล่านี้ที่น่าสนใจหลายเรื่องติดกัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึง 1) วิธีปฏิบัติการของ IO ไทย ในการทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน 2) ความกว้างขวางแพร่หลายของปฏิบัติการ และ 3) ความ ‘ไม่ยี่หระ’ ไม่แยแสของกองทัพ ไม่กล้าพอที่จะยอมรับว่าทำ IO กับประชาชน ซึ่งก็สะท้อนถึงภาวะ ‘ฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่กองทัพไม่ต้องรับผิดใดๆ
ลองมาดูประเด็นทั้งสามทีละเรื่อง
ลักษณะ IO: สงครามจิตวิทยากับประชาชนชัดเจน
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ‘เอกสารหลุด’ รอบล่าสุดบนทวิตเตอร์ ซึ่งคณะก้าวหน้าได้นำมาแถลงข่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ชี้ว่ามีหน่วยทหารทั้งหมด 19 หน่วยงาน ใช้บัญชีทวิตเตอร์ 54,800 บัญชี ในการทำปฏิบัติการข่าวสารหรือ IO
ที่ผ่านมาเวลามีเอกสารหลุด กองทัพไทยมักอ้างว่าเป็นแค่การทำประชาสัมพันธ์เฉยๆ ไม่ใช่ IO ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2563 เมื่อทวิตเตอร์ประกาศว่าได้ระงับการใช้งาน 926 บัญชีที่มีหลักฐานว่าเป็น IO ของกองทัพบก ใช้ในลักษณะกระจายเนื้อหาที่สนับสนุนกองทัพและรัฐบาล และโจมตีฝั่งตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาล กองทัพก็ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันกับสื่อว่า ไม่ได้ทำ IO แต่ “สื่อโซเชียลทั้งหมดของกองทัพบกใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก โดยเฉพาะงานสำคัญคือการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ”
สำหรับเอกสารหลุดรอบใหม่นี้ กองทัพไม่ปฏิเสธว่าไม่ใช่เอกสารจริง แต่ยัง ‘แถ-ลง’ ว่าเป็นเอกสารอธิบายวิธีการประชาสัมพันธ์ ทว่าหลังจากการแถลงเรื่องนี้ของคณะก้าวหน้า กองทัพ ‘อัพเดท’ คำชี้แจงผ่านเอกสารที่ส่งให้สื่อมวลชนว่า “การอบรมให้ความรู้ทหารเรื่องออนไลน์และปฏิบัติการข่าวสาร เป็นเรื่องปกติในหลักสูตรทางทหาร”
สรุปว่า กองทัพไทยไม่เคยยอมรับว่าตัวเองทำ IO กับประชาชน ไม่ว่าจะมีเอกสารหลุด ข้อมูลหลักฐานต่างกรรมต่างวาระมัดแน่นมากมายขนาดไหนก็ตาม ล่าสุดอ้างว่าเป็นเพียง ‘การอบรม’ เรื่อง IO เท่านั้น
การอบรมเรื่อง IO เป็นเรื่องปกติในหลักสูตรทางทหารจริงอย่างที่กองทัพกล่าวอ้าง และการทำ IO ก็เป็นเรื่องปกติในภาวะ ‘สงคราม’ ที่กองทัพต้องรบกับประเทศอื่นที่มองว่าเป็น ‘ศัตรู’ ที่กำลังคุกคามอธิปไตยของชาติ
แต่การทำ IO กับประชาชน ทำสงครามจิตวิทยากับประชาชนไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นเรื่องเลวร้ายที่ผิดกฎหมายและสังคมอารยะทุกแห่งล้วนแต่ยอมรับไม่ได้ ผู้เขียนคิดว่ากองทัพไทยเองก็รู้ดีว่าเรื่องนี้น่าอับอายและรับไม่ได้ในทางสากล จึงไม่เคยยอมรับต่อสาธารณะเลย
เอกสารหลุดรอบนี้ชี้ชัดว่า กองทัพไม่เพียงทำ IO แต่ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ (ย่อว่า ฝตข.) ของปฏิบัติการนี้ยังไม่ใช่ประเทศคู่ปรับหรือคู่แข่งประเทศไหนๆ เลย แต่เป็นคนที่กองทัพมองว่าอยู่ตรงข้ามรัฐบาล (ซึ่งผู้นำรัฐบาลในวันนี้ก็ล้วนเป็นอดีตนายพลของกองทัพ)
พูดง่ายๆ คือ ประชาชนคนไทยทุกคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ล้วนเป็น ฝตข. ของ IO ได้ทั้งสิ้น
เอกสารหลุดชุดนี้ชี้ว่า IO มีทั้งกลุ่ม ‘สายขาว’ เน้นสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกเกี่ยวกับกองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลุ่ม ‘สายเทา/ดำ’ เน้นการตอบโต้ ฝตข. เป็นหลัก
มีการแบ่งหน่วยรับผิดชอบที่สำคัญคือ ซ.1, ซ.2, ซ.3
ซ.1 มีหน้าที่ รีทวีต
ซ.2 มีหน้าที่กดไลค์ กดถูกใจต่างๆ
ซ.3 มีหน้าที่ทวีตข้อความ เน้นสร้างผู้ติดตาม
ซ.3.1 เป็นชุดปล่อยข้อมูลเทิดทูนสถาบัน เชิดชูกองทัพ
ซ.3.2 เป็นชุดปล่อยข้อมูลสีดำ เน้นการ ‘ด้อยค่า’ ฝตข.
แผนภาพระบุว่า ‘การปฏิบัติสีเทา/ดำ’ รับผิดชอบโดย พล.ร.2รอ. (ชื่อย่อคล้ายกองพลทหารฉายา ‘บูรพาพยัคฆ์’) โดยมีหน่วยระดับล่าง 4 หน่วย ได้แก่ ร.2รอ., ร.12รอ., ร.21รอ. และ ป.2รอ.
แต่ละหน่วยประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานหลักที่เรียกว่า ‘ซ.3.2’ และ ‘จนท.สื่อดำ’ โดยมี ‘การจัดหน่วยละ 3 แอคเคาน์’ (มีจำนวน 57 บัญชี) และมี ‘ห้วงเวลาปฏิบัติ’ สามกะ คือ 0600-1200, 1200-1800 และ 1800-2400
แสดงว่าปฏิบัติการ IO สีเทา/ดำ ทำงานต่อเนื่องเกือบทั้งวัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้ายันเที่ยงคืน แบ่งเป็น 3 กะ ต่างจากปฏิบัติการสายขาวที่จะทำงานเฉพาะวันละสองรอบ รอบเช้ากับรอบบ่าย ตามเวลาราชการเท่านั้น
ข้อมูลชุดนี้ถือว่าสอดคล้องและให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากผลการวิเคราะห์การทำงานของบัญชี IO ในทวิตเตอร์ ซึ่ง Internet Observatory ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำที่ทวิตเตอร์เปิดเผยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มาวิเคราะห์ต่อ
รายละเอียดการทำงานของกลุ่มสีเทา/ดำ จากเอกสารหลุดนั้นก็น่าสนใจมาก กล่าวคือ ‘ซ.3.2’ มีหน้าที่ “ทวีตข้อความมุ่งเน้นโจมตี ฝตข. ติดแฮชแทก ฝตข. และแฮชแทกโจมตีคู่ไปด้วย” แถมยังต้องใส่รูปและวีดีโอที่ได้รับจากผู้ผลิตสื่อดำ
นอกจากนี้ ซ.3.2 ยังมีหน้าที่ “ติดตามดูข้อความที่ทวิตไป หากมี ฝตข. มาตอบโต้ให้แคปหน้าจอส่งให้ผู้ควบคุมผู้ทำการวิเคราะห์ต่อไป”
ส่วน ‘จนท. ผลิตสื่อดำ’ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล/รูปภาพ/วีดีโอ “ด้านลบของ ฝตข.” นำไปผลิตสื่อให้กับ ซ.3.2 และรวบรวมข้อมูลการตอบโต้ของ ฝตข. ส่งให้ทีมควบคุม
การทำงานของกลุ่มสีเทา/ดำ ตามเอกสารหลุด รวมถึง จนท. ผลิตสื่อดำ จึงชัดเจนว่าเป็นการทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน ทำ IO กับประชาชน ไม่ใช่การทำพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ตามที่กองทัพมักจะกล่าวอ้าง
พูดอีกอย่างคือ ไม่มีอาจารย์สอนวิชาประชาสัมพันธ์ หรือบริษัทประชาสัมพันธ์ดีๆ ที่ไหน (คือบริษัทที่อยากเป็นมืออาชีพ อยากมีชื่อเสียงในวงการ) จะสอนให้ผลิต ‘สื่อดำ’ ขึ้นมาตอบโต้ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ และคอยตอบโต้ข้อความ ส่งต่อให้ ‘ผู้ควบคุม’ ทำการวิเคราะห์และหาทางตอบโต้อย่างเป็นระบบ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีคิดและวิธีปฏิบัติการทางทหารทั้งสิ้น ไม่ใช่วิธีคิดและวิธีทำงานของงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งอย่างมากก็จะเน้นแต่การผลิต ‘สื่อขาว’ (ในภาษาของ IO) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองทัพและสถาบันกษัตริย์ แต่จะไม่คิดเรื่อง ‘สื่อดำ’ และ ‘กลุ่มเทา/ดำ’ อย่างแน่นอน
ขอบเขตปฏิบัติการ IO: จ้างเอกชนและใช้บัญชีมิบังควร
จากเอกสารหลุดและการแถลงของคณะก้าวหน้า พบว่าชื่อของผู้ที่อยู่ในปฏิบัติการ เฉพาะ พล.ร.2รอ. มีมากถึง 17,562 บัญชี้ และแสดงให้เห็นว่ากองทัพมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง หาวิธีที่จะทำ IO ได้กว้างและไกลกว่าเดิม จากเดิมที่ให้คนไปเปิดบัญชีจริงๆ เท่านั้น เปลี่ยนมาเสริมด้วยการใช้แอปพลิเคชันช่วย ทำให้ให้เปิดบัญชีได้พร้อมกันหลายหมื่นบัญชี สามารถสั่งการให้บัญชีเหล่านั้นส่งข้อความและแฮชแทก (hashtag) ที่ต้องการพร้อมกันได้ทันที
เอกสารหลุดระบุชื่อแอปสองตัวที่ใช้ในการประสานงาน คือ Twitter Broadcast และ Free Messenger ว่าใช้ในการประสานงานโพสรวมถึง 17,562 บัญชี ต่อมาผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่เป็นโปรแกรมเมอร์ ได้ถอดแอป Twitter Broadcast ออกมาดู พบว่ามันเชื่อมต่อไปยังโดเมน mhelpme.com ที่จดทะเบียนโดยระบุอีเมลเป็นบริษัทแห่งหนึ่ง หลังมีการเปิดเผยเรื่องนี้เพียงไม่ถึงสองชั่วโมง เว็บดังกล่าวก็หายไป ส่วนแอป Twitter Broadcast และ Free Messenger ก็ถูกถอดออกจาก Google Play
จากกรณีนี้ ชัดเจนว่ากองทัพมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนด้วย โดยหลังจากที่คณะก้าวหน้าแถลง “นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานกลุ่มเอ็มกรุ๊ปที่คณะก้าวหน้าระบุว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงประเด็นที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อ ๆ โดยยอมรับว่าเป็นเจ้าของแอปและเซิร์ฟเวอร์ที่กองทัพบกใช้งานจริง แต่เป็นการให้ใช้ฟรีโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้วิทยากรของบริษัทยังเป็นผู้เข้าไปสอนเจ้าหน้าที่ทหารให้รู้จักการใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีต่าง ๆ จริง และให้ใช้โดเมนเนม ‘เอ็มเฮลป์มี’ ของทางเอ็มกรุ๊ปจริง เพราะตนเองเป็นจิตอาสา 904 ภาคประชาชนที่ต้องการคืนคุณแผ่นดิน และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” (จากข่าวบีบีซีไทย)
การพูดถึงความเป็นสมาชิกจิตอาสา 904 ของประธานบริษัทรายนี้น่าสนใจ เพราะในเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าทวิตเตอร์ได้ระงับบัญชี ‘โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน’ หรือ @jitarsa_school ในทวิตเตอร์แล้ว หลังจากที่รอยเตอร์พบความผิดปกติของบัญชีนี้และแจ้งให้ทวิตเตอร์ตรวจสอบ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อความซ้ำๆ ในลักษณะที่เข้าข่าย ‘สแปม’ (ผิดนโยบายโซเชียลมีเดียทุกบริษัท เพราะก่อความรำคาญให้กับผู้ใช้ทั่วไป) และข้อมูลที่เน้นดิสเครดิตกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งออกมาต่อต้านรัฐ
“ความผิดปกติที่รอยเตอร์ค้นพบ มีตั้งแต่การกระจายแฮชแท็กปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงการตั้งแอคเคานท์ขึ้นมาใหม่หลายหมื่นแอคเคานท์เพื่อกระจายข้อความดังกล่าว โดย 80% ของผู้ติดตามโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เพิ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน มากกว่า 4,600 แอคเคานท์ ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ก็ไม่ได้โพสต์อะไรอย่างอื่น นอกจากการโปรโมตแฮชแท็กต่อต้านผู้ชุมนุม และสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์
“ตัวแทนจากทวิตเตอร์ ระบุว่าแอคเคานท์ดังกล่าวถูกระงับ เนื่องจากละเมิดกฎเรื่องการสแปมข้อมูล และเสนอข่าวหลอกลวง ส่วนกลุ่ม Drone Emprit ที่ปรึกษาด้านโซเชียลมีเดียของรอยเตอร์นั้นพบว่า เมื่อลองสุ่มตัวอย่างการรีทวีต 559 ครั้ง ก็พบว่า มีการรีทวีต คล้ายกับเป็น ‘บอต’
มีการติดต่อจากรอยเตอร์ไปยังผู้รับผิดชอบโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน แต่ทางโรงเรียนปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ” (จากข่าวโมเมนตัมซึ่งสรุปรอยเตอร์มาอีกที)
พูดอีกอย่างคือ บัญชี @jitarsa_school ทำทั้ง IO ‘สายขาว’ และ ‘สายเทา/ดำ’ ในภาษาของเอกสารหลุดเรื่อง IO
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดว่าการทำ IO ในโซเชียลมีเดียระยะหลังทวีความเข้มข้นขึ้นมาก ยิ่งเข้มเท่าไรก็ยิ่ง ‘โป๊ะแตก’ ได้ง่ายเท่านั้น เพราะเน้นปริมาณมากกว่าความ ‘เนียน’ (คือเน้นโพสเยอะๆ มากกว่าพยายามทำให้คนเชื่อว่าเป็น ‘คน’ ที่กำลังออกความคิดเห็นเป็นของตัวเองจริงๆ)
นอกจากนี้ การใช้บัญชีทางการ ‘โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน’ ในการทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน ยังเป็นเรื่องที่มิบังควรอย่างยิ่ง เพราะการทำ IO ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า ‘จิตอาสา’ ส่วนคำว่า ‘พระราชทาน’ เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับปฏิบัติการ IO ก็สุ่มเสี่ยงจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย
IO กับประชาชนขัดต่อกติกาสากลระหว่างประเทศ
หลังจากที่มีเอกสารหลุดมากมายแต่กองทัพยังไม่เคยยอมรับว่าทำ IO กับประชาชน ผู้เขียนสังเกตว่าเพจและเจ้าหน้าที่ IO หลายคนก็ออกมาบิดเบือน พยายามอธิบายว่า จริงๆ ปฏิบัติการจิตวิทยาแบบนี้เป็น ‘เรื่องธรรมดา’ ของกองทัพทุกประเทศ ประเทศไหนๆ ก็ทำ IO ทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะการอบรม IO อาจเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศทำ และการใช้ IO ก็อาจเป็นเรื่องปกติใน ‘ภาวะสงคราม’ ที่ประเทศหนึ่งรบกับอีกประเทศหนึ่ง แต่ ‘การทำ IO กับประชาชน’ มองประชาชนเป็น ฝตข. หรือฝ่ายตรงข้ามนั้นผิดกฎหมายร้ายแรงของประเทศอารยะทุกประเทศ
ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ประเทศต้นแบบของการทำ IO และผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชานี้ให้แก่กองทัพไทยโดยเฉพาะสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1960 กฎหมาย Smith-Mundt Act และคำสั่งประธานาธิบดีหลายฉบับระบุชัดเจนว่าห้ามกองทัพทำ PsyOps (ย่อมาจาก psychological operations ปฏิบัติการจิตวิทยา ซึ่งมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO เป็นกลไกหนึ่งในนั้นด้วย) กับ ‘พลเมืองอเมริกัน’
เอกสาร PsyOps ทางการแจกแจงชัดเจนว่า “กองกำลัง PsyOps จะต้องไม่กำหนดพลเมืองอเมริกันเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามในโลก ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์อะไรก็ตาม” เท่ากับยืนยันชัดเจนว่า PsyOps รวมถึง IO เป็น ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ที่จะใช้เฉพาะกับ ‘ศัตรูของชาติ’ เท่านั้น ไม่ใช่คนในประเทศ และทุกครั้งที่มีเบาะแสว่ากองทัพอาจทำ IO กับพลเมืองตัวเอง เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่กลุ่มสิทธิพลเมืองออกมาชี้ว่าผิดกฎหมาย และเรียกร้องให้สภาคองเกรสทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวทันที
นอกจากการทำ IO กับคนในประเทศตัวเองจะผิดกฎหมายร้ายแรงในประเทศอารยะทุกประเทศแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดข้อตกลงของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยข้อ 20 ของกติกานี้ระบุว่า “การโฆษณาชวนเชื่อใดๆ เพื่อการสงคราม เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย และ “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย”
เอกสาร General Comments no. 11 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ ก็แจกแจงชัดเจนว่า รัฐต้องดำเนินมาตรการใดๆ ก็ตามที่จำเป็นต่อการทำตามข้อ 20 และรัฐเองก็จะต้องไม่ทำในสิ่งที่ข้อ 20 ห้าม นั่นคือ การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการสงคราม และการสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังที่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือใช้ความรุนแรง
การทำ IO ในลักษณะสงครามจิตวิทยากับประชาชนอย่างต่อเนื่องของรัฐไทยนั้นนอกจากจะสะท้อนและตอกตรึงภาวะ ‘ฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ให้ดำเนินต่อไปแล้ว ยังซ้ำเติมความเกลียดชังให้ฝังรากลึก เสี้ยมประชาชนให้แตกเป็นสองฝ่าย ทำให้การท่องคำว่า ‘รัฐบาลเป็นกลาง’ และ ‘กองทัพเป็นกลาง’ ไร้ความหมาย และสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการละเมิดกติกาสากลระหว่างประเทศ
Tags: IO, Citizen 2.0, สงครามจิตวิทยา, การฉ้อฉลเชิงอำนาจ