ยิ่งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม #ประชาชนปลดแอก และพันธมิตรทั่วประเทศที่เห็นด้วยกับ “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน” คึกคักเข้มข้นมากเท่าไร ผู้เขียนสังเกตว่าการคุกคามแกนนำที่จัดการชุมนุม รวมถึงการทำสงครามจิตวิทยายุคใหม่ หรือเรียกให้ทันสมัยว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operations ย่อว่า IO) โดยรัฐ ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นและรุนแรงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน มิหนำซ้ำ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” ของกระทรวงดีอียังคงเดินหน้าทำหน้าที่แบบเลือกข้างอย่างน่าเกลียด ในแง่ที่เน้นตรวจสอบข่าวปลอม (fake news) ที่เป็นโทษต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่เคยตรวจสอบข่าวปลอมที่โจมตีผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ตรงตามที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ต้นปี 2563 

กองทัพบกไทยนิยามปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารว่า หมายถึง “การปฏิบัติการที่มุ่งสร้างผลกระทบ หรือสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจ ข่าวสาร ระบบสารสนเทศของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงการปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา” ซึ่งก็แยกย่อยไปอีกเป็นปฏิบัติการเชิงรุกกับเชิงรับ (จากเอกสารวิจัย สรุปความโดย Way Magazine)

ในภาวะที่เราเห็นปฏิบัติการปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวเสี้ยมต่างๆ นานาที่จงใจสร้างความเกลียดชัง ไม่ควรค่ากับคำว่า “ข่าว” แม้แต่น้อย แทบทุกช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และที่แพร่หลายมากคือในไลน์กลุ่ม ผู้เขียนคิดว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะมาทบทวนวิธี “รู้ทัน” IO กันอีกครั้ง กว่าหนึ่งปีหลังจากที่ผู้เขียนเขียนบทความ “รู้ทันปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ในช่วงใกล้เลือกตั้ง” ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคมปีกลาย (2562)

ทักษะการรู้ทัน IO วันนี้นับว่าจำเป็นต่อการทำความเข้าใจกับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ช่วยให้เราตั้งสติไม่หลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวลวงต่างๆ โดยง่าย – จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่ประชาชนพึ่งพาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐไม่ได้ บางกรณีศูนย์นี้บิดเบือนข้อเท็จจริงเสียเอง และโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริง อาทิ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย อสมท. และ โคแฟค (CoFact) ที่ได้แรงบันดาลใจจากไต้หวัน ยังเน้นแต่ข่าวทั่วไปหรือประเด็นสุขภาพ ไม่กล้าหรือไม่อยากตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นประเด็นทางการเมือง หรือเนื้อหาที่มุ่งโจมตีผู้ชุมนุม นักศึกษา และคนทั่วไปที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผู้เขียนเรียบเรียงวิธีรู้ทันออกเป็นคำถาม-คำตอบง่ายๆ สี่ข้อดังต่อไปนี้

1. รู้ได้อย่างไรว่ากองทัพทำ IO เชิงรุกกับประชาชนจริง

สำหรับใครก็ตามที่ยังไม่เชื่อว่า กองทัพไทยทุกวันนี้ปีหนึ่งๆ หมดงบประมาณไม่น้อยไปกับการจ้างเจ้าหน้าที่มาโพสต์เนื้อหาที่จงใจสร้างความเกลียดชัง ป้ายสีคนที่เห็นต่างกับรัฐบาลเพื่อ “ด้อยค่า” (ศัพท์ทางการทหาร) คนคนนั้นหรือกลุ่มนั้น – ผู้เขียนเห็นว่าใครก็ตามที่ยังไม่เชื่อเพียงแต่ “ตกข่าว” หรือไม่อยากยอมรับความจริงเท่านั้นเอง เพราะตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันว่ากองทัพทำ IO อย่างต่อเนื่อง 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ “อภิปรายว่าพล.อ.ประยุทธ์รู้เห็นต่อกระบวนการที่สร้างความขัดแย้งของประชาชน ผ่านปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ เพื่อคุกคามคนที่เห็นต่าง และมีหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารลับ 3 ฉบับ …ทำให้เห็นถึงขบวนการอย่างเป็นระบบ มีคำสั่งสนับสนุนภารกิจ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน …ทั้งนี้ทราบว่ามีคณะทำงานไอโอ อยู่กว่า 1,000 คน ปฏิบัติการทางออนไลน์ โดยได้รับงบประมาณของรัฐคุกคามฝ่ายเห็นต่าง” (จากข่าว นสพ.กรุงเทพธุรกิจ) (ดูคลิปวีดีโอย้อนหลังได้ที่นี่)

ในการอภิปรายดังกล่าว ส.ส.วิโรจน์ กล่าวว่าได้เอกสารลับดังกล่าวมาจากทหาร IO ที่รังเกียจพฤติกรรมดังกล่าวของกองทัพ รวมถึงยังแสดงเอกสารเพิ่มเติมที่มีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 63 ชี้ชัดว่า กอ.รมน. “ใช้งบประมาณสนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ผลิตเนื้อหาโจมตีนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมือง เกี่ยวกับข่าวปลอมเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย” บั่นทอนบรรยากาศในการเจรจาเพื่อสันติภาพ (จากข่าวเว็บกระปุก) ปิดท้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยไฮไลท์ เปิดคิวอาร์โค้ดให้ประชาชนที่รับชมถ่ายทอดสดได้สแกนเข้าไปร่วมกลุ่มไลน์ของหน่วย IO หน่วยหนึ่งในเวลาจริง (real time) ส่งผลให้กลุ่มต้องปิดตัวไป

2. แนวคิดและเป้าหมายในการทำ IO เชิงรุกคืออะไร

เอกสารลับที่ ส.ส.วิโรจน์ นำมาแฉในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นหลักฐานการทำ IO ของกองทัพ ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเอกสารที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ อดีตฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยนำส่งเป็นพยานหลักฐานในคดี 6 แกนนำ กรณีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) ศูนย์ทนายฯ สรุปว่า “เอกสารชี้ คสช. ใช้การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำๆ ต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อทำให้เกิดความกดดัน สร้างความยุ่งยากสับสน และเป็นการจำกัดเสรีภาพ หวังทำให้การเคลื่อนไหวลดระดับลง ขณะเดียวกันยังระบุถึงข้อเสนอให้ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ไปคู่กับการดำเนินคดี โดยให้ส่งเนื้อหาต่อประชาชนว่า การชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม”

เอกสารที่ พล.ต.บุรินทร์ นำส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้สรุปว่า “เห็นควรส่งฟ้องดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมือง ปรากฏแกนนำมวลชนที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งท่าทีของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ทั้งนี้การส่งฟ้องดำเนินคดีต่อแกนนำฯ ฝ่ายรัฐควรกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มุ่งส่งเนื้อหาต่อประชาชนสื่อให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การเคลื่อนไหวของพลังบริสุทธิ์ที่มีเพียงนักศึกษา นักวิชาการ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความแตกแยกในสังคม เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดบรรยากาศเกื้อกูลต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้”

จากเอกสารข้างต้น ชัดเจนว่าเป้าหมายหลักในการทำ IO เพื่อ “ด้อยค่า” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็คือ 1. ชักจูงให้ประชาชนเห็นว่า การชุมนุมไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ แต่มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงอยู่เบื้องหลัง ซึ่งแปลว่า 2. เป็นการเคลื่อนไหวที่จงใจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และดังนั้น 3. รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อย (เช่น ด้วยการจับแกนนำมาดำเนินคดี) 

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมลำพังการเชื่อมโยงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกับ “มวลชนเสื้อแดง” ถึงสื่อนัยว่าเท่ากับ “การเคลื่อนไหวที่ไม่บริสุทธิ์ สร้างความแตกแยกในสังคม” ไปได้? คำตอบคือการสถาปนาวาทกรรม เสื้อแดง=เผาบ้านเผาเมือง=รุนแรง ให้เป็นความคิดกระแสหลักในสังคม หลายคนเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามกับสมการนี้นั้น อาจนับได้ว่าเป็น “ความสำเร็จ” ของปฏิบัติการ IO ในอดีต ดังอธิบายชัดเจนละเอียดลออในบทความ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร: กรณี ปปส. ในเมือง (มีนาคม-พฤษภาคม 2553)” วารสารเสนาธิปัตย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ปีที่ 60 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2554) (อ่านออนไลน์ได้ที่นี่)

3. ใครๆ ก็ทำ IO ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านด้วย

ไม่น่าสงสัยเลยว่ายิ่งเนื้อหา IO แพร่สะพัด เจ้าหน้าที่ IO และกองเชียร์รัฐบาลทหารหลายคน (ที่ผู้เขียนเรียกขำๆ ว่า “IO จิตอาสา” เพราะยินดีช่วยเผยแพร่เนื้อหา IO โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน) ยิ่งพยายามเบี่ยงประเด็น ชี้นำชักจูงให้คนเข้าใจผิดว่า “ใครๆ ก็ทำ IO ทั้งนั้น รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย”

ผู้เขียนเห็นว่าข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ร้ายแรง เพราะ IO โดยนิยามหมายถึงปฏิบัติการทางทหาร ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้เจ้าหน้าที่ของกองทัพ (หรือคนนอก) ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเป็นระบบเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มุ่ง “ด้อยค่า” คนหรือกลุ่มคน “เป้าหมาย” ที่ถูกระบุว่าเป็น “ศัตรู” (ภัยต่อความมั่นคง) อย่างชัดเจน มีกระบวนการผลิตเนื้อหาที่โจมตี “เป้าหมาย” โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

ในเมื่อ IO เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้เงินภาษีของประชาชนมาย้อนศรโจมตีประชาชนเอง มันจึงแตกต่างกันมากกับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ หรือกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านใช้กันเป็นปกติ เหมือนองค์กรอื่นๆ อาทิ บริษัทห้างร้าน ที่อยากสร้างคะแนนนิยมในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การ “ปั่น” แท็กในทวิตเตอร์ วิธีสร้างฐานแฟนประจำที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ การผลิตเนื้อหาที่ตั้งใจจะให้ไวรัล (แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว) เป็นต้น

พูดอีกอย่างก็คือ ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีหลักสูตรการตลาด หรือหลักสูตรประชาสัมพันธ์ที่ไหนที่จะสอนวิธี “ด้อยค่า” “ศัตรู” ด้วยการสร้างข่าวปลอมข่าวลวง มุ่งโจมตีโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคการเมืองจะใช้กลยุทธ์แบบทหาร จ้างทีมงานมาทำ IO โจมตีรัฐบาลด้วยการผลิตและเผยแพร่ข่าวปลอมอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีเดียวกันกับ IO ของรัฐ ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์หรือการตลาดออนไลน์ ผู้เขียนตอบสั้นๆ ว่า เป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข้อมูลหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้น

4. เว็บไซต์หรือเพจแบบไหน ที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น IO

ผู้เขียนเคยโพสต์ “สรุปวิธีรู้ทัน IO” ในเฟซบุ๊กเพจของผู้เขียน (SarineeA) แลกเปลี่ยนเบาะแสเกี่ยวกับบุคคลที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น IO รับจ้าง แต่วันนี้เมื่อเพจและเว็บไซต์ที่อ้างว่าตัวเองเป็น “สื่อมวลชน” แต่น่าสงสัยว่าอาจเป็น IO ทวีจำนวนมากกว่าเดิมมาก ผู้เขียนจึงอยากสรุปลักษณะของเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กที่ควรตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ IO สั้นๆ สามข้อหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. ไม่ระบุชื่อทีมงาน ไม่มีรายละเอียดการติดต่อ

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ The Truth อวดอ้างว่าตัวเองเป็นเว็บข่าว มีหัวข้อข่าวด้านต่างๆ อาทิ Entertainment Marketing Business ดูไม่ต่างจากเว็บข่าวทั่วไป แต่เมื่อคลิกที่หน้า About Us กลับปรากฏเพียงข้อความสั้นๆ ที่ไม่บอกอะไรเลยว่า

“เว็บไซต์โดย THE TRUTH เกาะติดข่าวด่วนทั้งไทยและเทศที่คุณสนใจ เจาะลึกทุกสถานการณ์ ร่วมค้นหาความจริงไปกับเรา แล้วพบกันที่เฟซบุ๊ก THE TRUTH และ WWW.TRUTHFORYOU.CO และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ต่อไป”

ไม่มีสื่อมวลชนจริงๆ รายไหนที่จะอยากปกปิดตัวตนของตัวเอง เพราะความโปร่งใสเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะสำนักข่าว ดังนั้นการไม่บอกข้อมูลเบื้องต้นจึงต้องตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า อาจเป็นเว็บ IO ถึงไม่อยากให้ใครรู้ตัวตนที่แท้จริง เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นกับข่าวปลอมที่ตัวเองจงใจสร้าง

2. ไม่อ้างแหล่งข่าวที่ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น “ข่าว” หัวข้อ “สื่อนอกแฉ?!? ม๊อบปลดแอกจัดชุมนุมใหญ่ ปรึกษาทูตUS ใกล้ชิด เตรียมยกระดับสู่ความรุนแรง คาดอ้างผู้ชุมนุมเป็นเหยื่อเปิดทางต่างชาติแทรกแซง” บนเว็บไซต์ THE TRUTH ดังกล่าวข้างต้น แต่พออ่านเนื้อในกลับไม่มีการแจกแจงใดๆ ว่า “สื่อนอก” ที่อ้างถึงในพาดหัวนั้นคือสื่อค่ายใด ไม่มีลิงก์อ้างอิงไปยังต้นฉบับ และไม่มี “แหล่งข่าว” ที่น่าเชื่อถือ (อย่างน้อยก็ระบุตัวตนได้) ใดๆ ทั้งสิ้น 

3. จับแพะชนแกะจากมูลความจริงเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลย และใช้สำนวนป้ายสีเป็นหลัก ข้อมูลหลักฐานเป็นรอง

จากบทความที่อ้างถึงข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าเพียงสองย่อหน้านี้ก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นแล้วว่า นี่คือวิธีบิดเบือนและชักจูงคนแบบ IO ไม่ใช่นักข่าวมืออาชีพแต่อย่างใด เพราะเต็มไปด้วยถ้อยคำชี้นำชักจูง ใส่ร้ายป้ายสี และบางจุดก็โกหกชนิดตรงกันข้ามกับความจริง (เช่น การอ้างว่าแอมเนสตี้อินเทอร์เนชันแนลไม่เคยต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ) – 

“มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ประท้วงจะดำเนินการแบบเดียวกับม๊อบเผาเมืองปี 2553/2010 มีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนในการชุมนุม พุ่งเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหาร,ตำรวจ หรือแม้แต่คนในกลุ่มม็อบเอง เพื่อนำไปแห่แหนร้องขอการแทรกแซงจากต่างประเทศ เรื่องนี้มีความพยายามให้บานปลายจากกรณีแกนนำถูกจับกุม ได้แก่ อานนท์ นำพา และแกนนำผู้ชุมนุมคนอื่นๆ โดยองค์กรสิทธิฯ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ตีฆ้องร้องป่าว องค์กรนี้ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯในประเทศสหรัฐ แต่จะเข้าไปป่วนประเทศอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ทันทีทุกครั้ง ด้วยข้อหา ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นประชาธิปไตย”

“เหล่าบรรดาอาจารย์โลภไร้สามัญสำนึกและหิวเงิน พวกหากินทางสังคม ทางการศึกษา ทางกฎหมาย ทางสื่อ ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ พวกเสแสร้งเป็นคนดี พวกสยบตะวันตกเป็นอาชีพ กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะถูกตะวันตก กองทุน NED ของสหรัฐควบคุมและบงการทั้งสิ้น” 

จากข่าวปลอมข่าวปล่อยต่างๆ นานาที่แพร่สะพัดอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งตัวอย่างจากเว็บที่ต้องสงสัยว่าเป็น IO ที่ผู้เขียนยกมาข้างต้น น่าสังเกตว่าแนวคิดและเป้าหมายการทำ IO เชิงรุกดูจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

เพียงแต่ “เป้าหมาย” ที่ต้อง “ด้อยค่า” เปลี่ยนจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มาเป็นเยาวชน #ประชาชนปลดแอก และพันธมิตร และเปลี่ยนตัวละครที่ถูกฉายภาพว่าเป็น “ตัวการ” ที่อยู่เบื้องหลัง จาก “เสื้อแดง” มาเป็น “ธนาธร/ทักษิณ” หรือล่าสุดก็ “จอร์จ โซรอส/รัฐบาลอเมริกัน” เพื่อโน้มน้าวชักจูงคนที่มีแนวโน้มจะเกลียดบุคคลเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทุกวันนี้ ลำพังการทำความเข้าใจ แยกแยะและรับมือกับเนื้อหาบิดเบือน ข้อมูลเท็จ คำพูดที่สร้างความเกลียดชังต่างๆ นานาในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากอคติ ความเข้าใจผิดของเราๆ ท่านๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือนักธุรกิจที่อยากทำกำไรด้วยการหลอกลวงผู้บริโภค ก็กินเวลาเรามากมายมหาศาลบานตะไทอยู่แล้ว 

การตั้งสติเวลาเสพสิ่งที่อ้างว่าเป็น “ข่าว” การพัฒนาทักษะในการ “รู้ทัน” IO วันนี้ นับเป็นอีกทักษะสำคัญในยุคที่การเมืองร้อนแรง ผู้เขียนมองว่าทักษะนี้ขาดไม่ได้ทีเดียว ถ้าเราอยากจะพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) และไม่อยากตกเป็นเหยื่อของ IO โดยไม่รู้ตัว 

Tags: , ,