“คุณรู้ไหมว่า ทางเลือกไหนของมนุษย์ที่จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ในราคาถูกที่สุด” ไมเคิล บรองการ์ต (Michael Braungart) อาจารย์นักเคมีเริ่มต้นบรรยายที่มหาวิทยาลัยอีราสมุส ในเนเธอร์แลนด์

ทั้งห้องเงียบกริบ ผิดวิสัยนักศึกษาในห้องเรียนชาวดัตช์

“คำตอบง่ายๆ ของผมคือ กระสุนหนึ่งนัด”… เป็นคำตอบที่ทำเอาทั้งห้องเงียบยิ่งกว่าเดิม

ไมเคิลชี้ให้เห็นว่า วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แบบที่เป็นอยู่ มีแต่การทำลายธรรมชาติ เริ่มจากการถลุงแหล่งทรัพยากรป้อนสู่สายการผลิตจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายจบชีวิตลงในกองขยะ หรือที่เขาเรียกว่า ‘วงจรจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ’ (Cradle-to-landfill)

วงจรแบบนี้ทำให้อนาคตมืดมนลงทุนวัน ในเมื่อโลกใบนี้มีทรัพยากรจำกัด แต่แนวโน้มประชากรโลกกลับพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไม่แน่ใจว่า ระบบการผลิตในปัจจุบันจะชนเพดานการเติบโตเมื่อไร

แม้ทุกวันนี้ ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้กระแส ‘ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ’ (Eco-efficiency) หรือการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงในขณะที่ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นกลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก เราเห็นเหล่าบรรษัทข้ามชาติโหมประโคมว่าใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทุกปี แต่ไมเคิลก็เตือนเราว่า บางทีเราอาจมองเพียงแง่สัมพัทธ์ ดูสัดส่วนที่ลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น อาคารประหยัดพลังงานช่วยประหยัดไฟ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือบริษัทเราลดการใช้กระดาษ 75 เปอร์เซ็นต์  แต่ในความเป็นจริง เราอาจใช้ทรัพยากรในปริมาณที่มากขึ้นจากการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยในวงจรจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ

การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มของราคาทรัพยากร จากที่เคยลดลงอย่างต่อเนื่อง กลับเปลี่ยนทิศทางมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังปี 2000 สะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจกำลังหมดยุค เพราะไม่สามารถรับมือแรงกดดันจากการบริโภคและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีกต่อไป

ราคาทรัพยากรตลอดช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจาก Ellen MacArthur Foundation

ไมเคิลแซ็วแนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจแบบขำๆ โดยยกกรณีการขึ้นลิฟต์หรือขึ้นบันได แน่นอนว่าเหล่านักอนุรักษ์มักมองว่าการขึ้นบันไดน่าจะดีต่อโลกและดีต่อเรา แต่หากเปรียบเทียบในแง่การใช้พลังงาน การขึ้นตึกสูงโดยใช้ลิฟต์จะประหยัดพลังงานกว่า!

เหล่านักอนุรักษ์มักมองว่าการขึ้นบันไดน่าจะดีต่อโลกและดีต่อเรา แต่หากเปรียบเทียบในแง่การใช้พลังงาน การขึ้นตึกสูงโดยใช้ลิฟต์จะประหยัดพลังงานกว่า!

ทางออกที่เขานำเสนอไม่ใช่กระสุนหนึ่งนัด แต่คือการเปลี่ยนวงจรการผลิตให้เป็นระบบ จากโรงงานผลิตสู่โรงงานผลิต (Cradle-to-cradle) แม้ฟังดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เขายกตัวอย่างต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลจำนวนมาก เพียงเพื่อหวังให้นกหรือแมลงมาคาบเอาเมล็ดไปกระจายพันธุ์ ซึ่งอาจมีอัตราการสำเร็จแค่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือภาษามนุษย์อาจเรียกว่าไร้ประสิทธิภาพ แต่ที่ต้นไม้ก้าวข้ามกรอบแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพไปได้สบายๆ เพราะดอกผลเหล่านั้นจะร่วงหล่นลงมาเป็นสารอาหารให้ต้นไม้ดูดซับกลับไปใช้ใหม่ได้ เป็นระบบจากโรงงานผลิตสู่โรงงานผลิตอย่างแท้จริง

ไมเคิลแบ่งวัตถุดิบออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ  คือวัตถุดิบชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายกลายเป็นอินทรียสารได้ในเวลาไม่นาน และวัตถุดิบเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ย่อยสลายยาก แต่ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลเพื่อกลับเข้าสู่วงจรการผลิตอีกครั้ง โดยเสนอเป็นแนวคิดเศรษฐกิจของอนาคตที่ทุกอย่างจะสามารถวนกลับสู่โรงงานผลิตได้ เรียกว่า เศรษฐกิจปิดวงจร (Circular Economy)

แผนภาพเศรษฐกิจปิดวงจร จากรายงาน Towards Circular Economy โดย World Economic Forum

ฟังดูเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่หลายบริษัททั้งแบรนด์เล็กใหญ่ต่างก็เริ่มหยิบแนวคิดนี้ไปทำให้เป็นรูปธรรม บ้างพยายามปิดวงจรโดยจูงใจให้ผู้บริโภค ‘คืน’ สินค้าหลังจากหมดอายุการใช้งานเพื่อนำชิ้นส่วนเข้าสู่สายพานการผลิตอีกครั้ง บ้างใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า เช่น ผ้าฝ้ายหรือไหม รวมถึงความพยายามคิดค้นวิธีการใหม่ให้การรีไซเคิลวัตถุดิบยอดนิยมอย่างกระดาษและขวดพลาสติกมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แบรนด์ใหญ่อย่าง Puma ก็หันมาทำสินค้าย่อยสลายได้ ทั้งรองเท้า กระเป๋าเป้ และเสื้อแจ็กเก็ต โดยใช้ชื่อรุ่น InCycle ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2013 ที่หลังจากเลิกใช้งานแล้ว เพียงนำไปฝังดิน ทิ้งไว้ให้เหล่าจุลินทรีย์ทำงาน เมื่อเวลาผ่านไป ขุดออกมาก็จะไม่เหลือซาก (แต่อาจหลงเหลือส่วนประกอบที่เป็นแร่โลหะ) หลายคนคงคิดว่า InCycle จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เปล่าครับ ความจริงคือตรงกันข้ามกัน เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทบจะล้มไม่เป็นท่าจน Puma ต้องถอยกรูดไปตั้งหลักใหม่

รองเท้า Espadrilles แบรนด์ Industry of All Nations

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ทุกแบรนด์ที่ผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบย่อยสลายได้จะล้มเหลวไปทั้งหมด เพราะแบรนด์เล็กๆ อย่าง Industry of All Nations โดยสามพี่น้องชาวอาร์เจนตินาที่ขายสินค้าย่อยสลายได้โดยใช้สีย้อมธรรมชาติกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยมีสินค้าชูโรงคือรองเท้า Espadrilles ที่พื้นรองเท้าสานจากปอ ซึ่งเป็นทรงยอดฮิตในอาร์เจนตินาที่พวกเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ยังไม่นับสตาร์ตอัปหลายแห่งที่เลือกขายสินค้าแฟชันคุณธรรม (Ethical Fashion) ที่เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นภาระต่อโลกและสังคม

โจทย์ที่ยากกว่าคือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่วัตถุดิบส่วนใหญ่คือวัตถุดิบเชิงเทคนิค การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเพื่อให้สามารถถอดประกอบและนำมารีไซเคิลได้ง่าย แต่การออกแบบปัจจุบันแทบไม่สนใจปลายทางของผลิตภัณฑ์ เช่น โทรศัพท์มือถือที่แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 แต่กลับไม่มีการออกแบบว่าหลังจากหมดอายุการใช้งาน สมาร์ตโฟน (ซึ่งเต็มไปด้วยสินแร่มีค่า) จะไปจบชีวิตอยู่ที่ไหน หลายคนก็แค่ซุกๆ ไว้ในลิ้นชักหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านแล้วลืมๆ มันไป หรือโยนลงถังขยะที่จะปะปนไปกับขยะชนิดอื่นทำให้ยากที่จะจำแนก

การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเพื่อให้สามารถถอดประกอบและนำมารีไซเคิลได้ง่าย แต่การออกแบบปัจจุบันแทบไม่สนใจปลายทางของผลิตภัณฑ์

สตาร์ตอัปสัญชาติเนเธอร์แลนด์อายุเกือบห้าขวบอย่าง FAIRPHONE พยายามปรับทัศนคติผู้ใช้ใหม่ โดยออกแบบให้โทรศัพท์มือถือสามารถถอดประกอบได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งชิ้นส่วนที่พังไปซ่อมแซมเอง หรือส่งกลับมารีไซเคิลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ FAIRPHONE ยังใส่ใจแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยจะการันตีว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ได้มาจากเหมืองแร่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งเงินให้กลุ่มก่อการร้าย แม้ว่าปัจจุบันยอดขายของ FAIRPHONE อาจเทียบไม่ได้กับแบรนด์ใหญ่ แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าจับตามอง

โทรศัพท์มือถือแบรนด์ FAIRPHONE

ความพยายามเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาคธุรกิจ เพราะในบางประเทศ ภาครัฐก็ตื่นตัวผลักดันแนวคิดลดขยะให้เหลือศูนย์ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ที่ตั้งเป้าลดปริมาณขยะที่จะถูกนำเข้าเตาเผาลง 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มสัดส่วนการแยกขยะเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังตั้งใจให้พื้นที่ฝังกลบขยะหายไปจากประเทศ อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎหมายสนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Law for the Promotion of Efficient Utilization of Resources) ที่มองว่าวัตถุดิบเป็นสินค้าที่ควรหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยบังคับให้ผู้ผลิตต้องตั้งโรงงานแยกส่วนประกอบ และนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ โดยมีตัวเลขการรีไซเคิลแร่โลหะถึง 98 เปอร์เซ็นต์

โจทย์ใหญ่ที่ภาคธุรกิจตีไม่แตกคือ จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างไร เพราะในมุมมองของบริษัท ยังไงลูกค้าก็คือพระเจ้าที่ยากจะขัดใจ แต่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริโภคค่อนข้างมาก ตั้งแต่การเปลี่ยนแนวคิดว่า ผลิตภัณฑ์ที่ดีควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่คงทนถาวร เปลี่ยนการซื้อใหม่ให้เป็นการซ่อมแซม รวมทั้งการคืนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำวัตถุดิบกลับสู่สายพานการผลิต เนื่องจากการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน

เป็นเวลากว่า 15 ปีนับตั้งแต่แนวคิดเศรษฐกิจปิดวงจรก่อร่างสร้างตัวจากหนังสือ Cradle to Cradle จวบจนปัจจุบัน เราได้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับผลิตภัณฑ์ไปจนถึงกฎหมายภาครัฐ แต่คงยากที่จะตอบว่าอัตราการเปลี่ยนผ่านนั้นรวดเร็วพอที่จะแก้ปัญหาทรัพยากรของมนุษยชาติหรือไม่ แต่ที่ผู้เขียนมั่นใจคือ ประเทศใดที่ยังยึดมั่นในวงจรการผลิตจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ จะต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นและทรัพยากรไม่เพียงพออย่างแน่นอน

อ้างอิง

Cradle to Cradle (2002) โดย Michael Braungart และ William Mcdonough

The circular economy – a reappraisal of the ‘stuff’ we love

Failure of Puma’s biodegradable range doesn’t mean eco-fashion is dead

Five countries moving ahead of the pack on circular economy legislation

Moving toward a circular economy

Towards the circular economy: Accelerating the scale-up across global supply chains

Tags: , , , ,