“คุณรู้ไหมว่า ทางเลือกไหนของมนุษย์ที่จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ในราคาถูกที่สุด” ไมเคิล บรองการ์ต (Michael Braungart) อาจารย์นักเคมีเริ่มต้นบรรยายที่มหาวิทยาลัยอีราสมุส ในเนเธอร์แลนด์
ทั้งห้องเงียบกริบ ผิดวิสัยนักศึกษาในห้องเรียนชาวดัตช์
“คำตอบง่ายๆ ของผมคือ กระสุนหนึ่งนัด”… เป็นคำตอบที่ทำเอาทั้งห้องเงียบยิ่งกว่าเดิม
ไมเคิลชี้ให้เห็นว่า วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แบบที่เป็นอยู่ มีแต่การทำลายธรรมชาติ เริ่มจากการถลุงแหล่งทรัพยากรป้อนสู่สายการผลิตจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายจบชีวิตลงในกองขยะ หรือที่เขาเรียกว่า ‘วงจรจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ’ (Cradle-to-landfill)
วงจรแบบนี้ทำให้อนาคตมืดมนลงทุนวัน ในเมื่อโลกใบนี้มีทรัพยากรจำกัด แต่แนวโน้มประชากรโลกกลับพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไม่แน่ใจว่า ระบบการผลิตในปัจจุบันจะชนเพดานการเติบโตเมื่อไร
แม้ทุกวันนี้ ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้กระแส ‘ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ’ (Eco-efficiency) หรือการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงในขณะที่ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นกลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก เราเห็นเหล่าบรรษัทข้ามชาติโหมประโคมว่าใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทุกปี แต่ไมเคิลก็เตือนเราว่า บางทีเราอาจมองเพียงแง่สัมพัทธ์ ดูสัดส่วนที่ลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น อาคารประหยัดพลังงานช่วยประหยัดไฟ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือบริษัทเราลดการใช้กระดาษ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง เราอาจใช้ทรัพยากรในปริมาณที่มากขึ้นจากการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยในวงจรจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ
การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มของราคาทรัพยากร จากที่เคยลดลงอย่างต่อเนื่อง กลับเปลี่ยนทิศทางมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังปี 2000 สะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจกำลังหมดยุค เพราะไม่สามารถรับมือแรงกดดันจากการบริโภคและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีกต่อไป
ไมเคิลแซ็วแนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจแบบขำๆ โดยยกกรณีการขึ้นลิฟต์หรือขึ้นบันได แน่นอนว่าเหล่านักอนุรักษ์มักมองว่าการขึ้นบันไดน่าจะดีต่อโลกและดีต่อเรา แต่หากเปรียบเทียบในแง่การใช้พลังงาน การขึ้นตึกสูงโดยใช้ลิฟต์จะประหยัดพลังงานกว่า!
เหล่านักอนุรักษ์มักมองว่าการขึ้นบันไดน่าจะดีต่อโลกและดีต่อเรา แต่หากเปรียบเทียบในแง่การใช้พลังงาน การขึ้นตึกสูงโดยใช้ลิฟต์จะประหยัดพลังงานกว่า!
ทางออกที่เขานำเสนอไม่ใช่กระสุนหนึ่งนัด แต่คือการเปลี่ยนวงจรการผลิตให้เป็นระบบ จากโรงงานผลิตสู่โรงงานผลิต (Cradle-to-cradle) แม้ฟังดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เขายกตัวอย่างต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลจำนวนมาก เพียงเพื่อหวังให้นกหรือแมลงมาคาบเอาเมล็ดไปกระจายพันธุ์ ซึ่งอาจมีอัตราการสำเร็จแค่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือภาษามนุษย์อาจเรียกว่าไร้ประสิทธิภาพ แต่ที่ต้นไม้ก้าวข้ามกรอบแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพไปได้สบายๆ เพราะดอกผลเหล่านั้นจะร่วงหล่นลงมาเป็นสารอาหารให้ต้นไม้ดูดซับกลับไปใช้ใหม่ได้ เป็นระบบจากโรงงานผลิตสู่โรงงานผลิตอย่างแท้จริง
ไมเคิลแบ่งวัตถุดิบออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือวัตถุดิบชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายกลายเป็นอินทรียสารได้ในเวลาไม่นาน และวัตถุดิบเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ย่อยสลายยาก แต่ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลเพื่อกลับเข้าสู่วงจรการผลิตอีกครั้ง โดยเสนอเป็นแนวคิดเศรษฐกิจของอนาคตที่ทุกอย่างจะสามารถวนกลับสู่โรงงานผลิตได้ เรียกว่า เศรษฐกิจปิดวงจร (Circular Economy)
ฟังดูเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่หลายบริษัททั้งแบรนด์เล็กใหญ่ต่างก็เริ่มหยิบแนวคิดนี้ไปทำให้เป็นรูปธรรม บ้างพยายามปิดวงจรโดยจูงใจให้ผู้บริโภค ‘คืน’ สินค้าหลังจากหมดอายุการใช้งานเพื่อนำชิ้นส่วนเข้าสู่สายพานการผลิตอีกครั้ง บ้างใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า เช่น ผ้าฝ้ายหรือไหม รวมถึงความพยายามคิดค้นวิธีการใหม่ให้การรีไซเคิลวัตถุดิบยอดนิยมอย่างกระดาษและขวดพลาสติกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แบรนด์ใหญ่อย่าง Puma ก็หันมาทำสินค้าย่อยสลายได้ ทั้งรองเท้า กระเป๋าเป้ และเสื้อแจ็กเก็ต โดยใช้ชื่อรุ่น InCycle ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2013 ที่หลังจากเลิกใช้งานแล้ว เพียงนำไปฝังดิน ทิ้งไว้ให้เหล่าจุลินทรีย์ทำงาน เมื่อเวลาผ่านไป ขุดออกมาก็จะไม่เหลือซาก (แต่อาจหลงเหลือส่วนประกอบที่เป็นแร่โลหะ) หลายคนคงคิดว่า InCycle จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เปล่าครับ ความจริงคือตรงกันข้ามกัน เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทบจะล้มไม่เป็นท่าจน Puma ต้องถอยกรูดไปตั้งหลักใหม่
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ทุกแบรนด์ที่ผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบย่อยสลายได้จะล้มเหลวไปทั้งหมด เพราะแบรนด์เล็กๆ อย่าง Industry of All Nations โดยสามพี่น้องชาวอาร์เจนตินาที่ขายสินค้าย่อยสลายได้โดยใช้สีย้อมธรรมชาติกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยมีสินค้าชูโรงคือรองเท้า Espadrilles ที่พื้นรองเท้าสานจากปอ ซึ่งเป็นทรงยอดฮิตในอาร์เจนตินาที่พวกเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ยังไม่นับสตาร์ตอัปหลายแห่งที่เลือกขายสินค้าแฟชันคุณธรรม (Ethical Fashion) ที่เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นภาระต่อโลกและสังคม
โจทย์ที่ยากกว่าคือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่วัตถุดิบส่วนใหญ่คือวัตถุดิบเชิงเทคนิค การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเพื่อให้สามารถถอดประกอบและนำมารีไซเคิลได้ง่าย แต่การออกแบบปัจจุบันแทบไม่สนใจปลายทางของผลิตภัณฑ์ เช่น โทรศัพท์มือถือที่แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 แต่กลับไม่มีการออกแบบว่าหลังจากหมดอายุการใช้งาน สมาร์ตโฟน (ซึ่งเต็มไปด้วยสินแร่มีค่า) จะไปจบชีวิตอยู่ที่ไหน หลายคนก็แค่ซุกๆ ไว้ในลิ้นชักหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านแล้วลืมๆ มันไป หรือโยนลงถังขยะที่จะปะปนไปกับขยะชนิดอื่นทำให้ยากที่จะจำแนก
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเพื่อให้สามารถถอดประกอบและนำมารีไซเคิลได้ง่าย แต่การออกแบบปัจจุบันแทบไม่สนใจปลายทางของผลิตภัณฑ์
สตาร์ตอัปสัญชาติเนเธอร์แลนด์อายุเกือบห้าขวบอย่าง FAIRPHONE พยายามปรับทัศนคติผู้ใช้ใหม่ โดยออกแบบให้โทรศัพท์มือถือสามารถถอดประกอบได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งชิ้นส่วนที่พังไปซ่อมแซมเอง หรือส่งกลับมารีไซเคิลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ FAIRPHONE ยังใส่ใจแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยจะการันตีว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ได้มาจากเหมืองแร่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งเงินให้กลุ่มก่อการร้าย แม้ว่าปัจจุบันยอดขายของ FAIRPHONE อาจเทียบไม่ได้กับแบรนด์ใหญ่ แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าจับตามอง
ความพยายามเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาคธุรกิจ เพราะในบางประเทศ ภาครัฐก็ตื่นตัวผลักดันแนวคิดลดขยะให้เหลือศูนย์ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ที่ตั้งเป้าลดปริมาณขยะที่จะถูกนำเข้าเตาเผาลง 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มสัดส่วนการแยกขยะเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังตั้งใจให้พื้นที่ฝังกลบขยะหายไปจากประเทศ อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎหมายสนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Law for the Promotion of Efficient Utilization of Resources) ที่มองว่าวัตถุดิบเป็นสินค้าที่ควรหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยบังคับให้ผู้ผลิตต้องตั้งโรงงานแยกส่วนประกอบ และนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ โดยมีตัวเลขการรีไซเคิลแร่โลหะถึง 98 เปอร์เซ็นต์
โจทย์ใหญ่ที่ภาคธุรกิจตีไม่แตกคือ จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างไร เพราะในมุมมองของบริษัท ยังไงลูกค้าก็คือพระเจ้าที่ยากจะขัดใจ แต่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปิดวงจรจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริโภคค่อนข้างมาก ตั้งแต่การเปลี่ยนแนวคิดว่า ผลิตภัณฑ์ที่ดีควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่คงทนถาวร เปลี่ยนการซื้อใหม่ให้เป็นการซ่อมแซม รวมทั้งการคืนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำวัตถุดิบกลับสู่สายพานการผลิต เนื่องจากการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน
เป็นเวลากว่า 15 ปีนับตั้งแต่แนวคิดเศรษฐกิจปิดวงจรก่อร่างสร้างตัวจากหนังสือ Cradle to Cradle จวบจนปัจจุบัน เราได้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับผลิตภัณฑ์ไปจนถึงกฎหมายภาครัฐ แต่คงยากที่จะตอบว่าอัตราการเปลี่ยนผ่านนั้นรวดเร็วพอที่จะแก้ปัญหาทรัพยากรของมนุษยชาติหรือไม่ แต่ที่ผู้เขียนมั่นใจคือ ประเทศใดที่ยังยึดมั่นในวงจรการผลิตจากโรงงานผลิตสู่ที่ฝังกลบ จะต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นและทรัพยากรไม่เพียงพออย่างแน่นอน
อ้างอิง
Cradle to Cradle (2002) โดย Michael Braungart และ William Mcdonough
The circular economy – a reappraisal of the ‘stuff’ we love
Failure of Puma’s biodegradable range doesn’t mean eco-fashion is dead
Five countries moving ahead of the pack on circular economy legislation
Moving toward a circular economy
Towards the circular economy: Accelerating the scale-up across global supply chains
Tags: recycle, Circular Economy, ทรัพยากร, World Economic Forum, สิ่งแวดล้อม