เมื่อปีที่ผ่านมา เข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล สร้างซีนแปลกประหลาดประดับกรุงเทพมหานครด้วยการปลุกเอาเรื่องราวของ ‘คุณหญิงกีรติ’ กลับมาเล่าใหม่อย่างเดือดดาล ในนิทรรศการศิลปะ Museum of Kirati ที่บางกอกซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี่
ในวันสุดท้ายของนิทรรศการเขาฉายหนัง Forget Me Not ที่เป็นการตีความต่อจากนิยายข้างหลังภาพของศรีบูรพาอีกทีหนึ่ง ซึ่งภายใต้การกำกับและเล่นเองทั้งบทนพพรและกีรติ จุฬญาณนนท์พาเรื่องราวความรักต่างวัยและต่างชนชั้นนี้ไปไกลโข นำมาซึ่งอารมณ์หลากหลายกับผู้ชมที่ได้ร่วมประสบการณ์ในคืนนั้น
ปีนี้ เขามีอีกผลงานต่อทันทีกับโปรเจ็กต์ Ten Years Thailand ที่จะฉายรอบพรีเมียร์ในโปรแกรม Special Screening วันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ณ โรงภาพยนตร์ Salle Du Soixantieme ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลหนังเมืองคานส์ อันเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทำหนังกว่าค่อนโลก เขาเป็น 1 ใน 4 ผู้กำกับที่ทีมโปรดิวเซอร์เลือกแล้วว่าจะเล่าเรื่องเมืองไทยได้อย่างแสบสันและน่าจดจำ ซึ่งผู้กำกับอีกสามคน ได้แก่ เจ้ย-อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ และวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่จะมาจินตนาการถึงประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า แล้วบอกเล่าออกมาในหนังของพวกเขา
หากใครที่ติดตามเทศกาลหนังสั้นหรือวงการหนังอิสระ น่าจะได้ยินชื่อของจุฬญาณนนท์มามากพอสมควร เพราะเขาทำหนังสั้นและได้รับรางวัลมาแทบทุกปี ด้วยความตลกหน้าตายกับวิธีเล่าประเด็นสังคมการเมืองสุดเฉพาะตัว และในโอกาสสำคัญอย่าง Ten Years Thiland เขาก็ยังคงคาแรกเตอร์เหล่านั้นเอาไว้ กับมุมมองต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของประเทศไทยซึ่งน่าสนใจเอามากๆ
อยากให้คุณพูดถึงงานชิ้นก่อนหน้าสักหน่อย Museum of Kirati มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อฉายหนัง Forget Me Not เรียบร้อยแล้ว
วันนั้นคนก็มาเยอะกว่าที่คิดไว้ มันอาจเป็นเพราะวิธีที่เราโปรยไปมั้ง ว่าหนัง Forget Me Not มีเนื้อเรื่องที่ต่อจากนิยายต้นฉบับ แล้วส่วนที่เราแต่งเพิ่มเข้าไปมัน local มากๆ ก็จะมีคอมเมนต์จากต่างชาติว่าเข้าใจยาก เพราะมันมีบริบทหรือนัยยะของการเมืองไทยซ่อนอยู่ แต่เราก็พยายามทำให้มันเป็นนิยายรักเรื่องหนึ่งนั่นล่ะ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งหมดก็ได้ แค่เข้าใจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็สามารถเสพงานในอีกมุมหนึ่งได้เหมือนกัน
แต่สำหรับคนดูคนไทยที่เข้าใจสิ่งที่มันลึกลงไปนั้น ตอนแรกเรากับเจ้าของแกลเลอรีก็คุยกันว่าจะเสี่ยงไหม มันมีหลายอย่างที่ก้ำกึ่งอยู่ แต่สุดท้ายเราก็พยายามจะอธิบายว่าเราไม่ได้วิจารณ์อะไรตรงไปตรงมาขนาดนั้น ยังมีช่องว่างให้สิ่งที่เราอยากเล่าพอจะเล็ดรอดออกไปได้ ด้วยการใช้ความเป็นเรื่องแต่งของข้างหลังภาพมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ในงานครั้งที่ผ่านมาคุณต้องให้สัมภาษณ์เยอะพอสมควร มันเป็นการเปิดเผยอะไรอะไรมากเกินไปไหม
สิ่งที่น่าสนใจในงานศิลปะก็คือเราไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกอย่างให้ชัดเจน ยังมีช่องว่างให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจและทำความเข้าใจในแบบของผู้ชมเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีประสบการณ์หรือความเข้าใจกับตัวงานศิลปะที่ต่างกัน พอมีสื่อมาสัมภาษณ์ มันเหมือนเป็นเกมระหว่างคนที่ทำสื่อกับตัวศิลปินด้วย ว่าเราจะเปิดประตูบานไหนบ้าง ประตูบานไหนที่ยังต้องปิดอยู่ แล้วก็รอให้คนดูเข้ามาสำรวจหรือค้นพบเอง
คุณมีแผนจะเผยแพร่ Forget Me Not ผ่านช่องทางอื่นอีกไหม
คิดว่าอยากส่งไปฉายในรูปแบบเทศกาลหนัง แต่ด้วยตัวโปรดักชั่นของเราที่อาจจะไม่ได้จริงจังหรือเป็นทางการ เลยรู้สึกว่าเทศกาลที่เขาจะสนใจงานเรา อาจไม่ใช่เทศกาลที่ต้องการความคราฟต์ขนาดนั้น คงต้องอยู่ระหว่างนิวมีเดียอาร์ตกับภาพยนตร์ซะมากกว่า
‘ความไม่คราฟต์’ ที่เผยออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เป็นลายเซ็นของคุณไปแล้วหรือเปล่า
ตอนทำหนังแรกๆ เราก็คิดว่าความคราฟต์เป็นสิ่งสำคัญ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ไอ้ความไม่คราฟต์ ความดิบ หรือความฉับพลันของวิดีโอ ที่สามารถสร้างภาพขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว มันกลายเป็นคาแรกเตอร์ของยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่ออยู่ในมือของผู้คน ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เท่านั้น ในแง่หนึ่งมันก็ทำให้เราสื่อสารอะไรออกมาได้โดยไม่ต้องอาศัยทีมขนาดใหญ่ และบางทีความคราฟต์ก็กลายเป็นการประดิดประดอยมากเกินไปด้วยซ้ำในบางกรณี
หรืออย่างการใช้ซีจี (คอมพิวเตอร์ กราฟิก) มันก็จะมีเรื่องของความสมจริงมาเกี่ยวข้อง เช่นแสงเงาบนตัวคนกับแสงเงาของฉากหลังมันต้องไปด้วยกัน เพื่อทำให้คนเชื่อว่ามันอยู่ในพื้นที่เดียวกันจริงๆ แต่งานซีจีที่มันหยาบ และไม่ได้โน้มน้าวให้คนเชื่อ มันก็ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น คือทำให้คนดูไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าตัวละครอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ ก็ได้
นพพรอาจจินตนาการไปเองหรือเปล่าว่ากีรติอยู่บนสวรรค์ ซึ่งสวรรค์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็น มันเป็นความเชื่อ และการนำความไม่คราฟต์มาใช้กับความเชื่อก็เป็นรูปแบบที่เราสนใจ กับการที่คนดูแล้วไม่เชื่อ ดูแล้วยังไงก็รู้สึกว่า “นี่มึงกำลังหลอกกูอยู่” บางครั้งคนทำก็อาจอยากบอกว่า “ใช่ไง กูก็กำลังหลอกมึงอยู่ มันคือมายา จะเอาอะไรล่ะ”
สำหรับโปรเจ็กต์ Ten Years Thailand จะยังมีน้ำเสียงหรือวิธีการที่เป็นลายเซ็นเดิมอยู่มากน้อยแค่ไหน
ในตัวคอนเซปต์หรือเนื้อหา มันก็ยังมีความเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งที่เราสนใจในช่วงนี้ นั่นก็คือการสร้างภาพมายาของผู้ที่มีอำนาจในสังคม ซึ่งมันก็จะใกล้เคียงกันกับงาน Forget Me Not เริ่มแรกมันเกิดจากการมองว่าในปัจจุบันมันเกิดอะไรขึ้น แล้วจินตนาการต่อว่ามันจะมีสิ่งตกค้างจากการเมืองในปัจจุบัน ไปสู่อนาคตในอีก 10 ข้างหน้ายังไงบ้าง
เราเลยทำเป็นหนังไซไฟเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและดาราศาสตร์ แล้วก็เรื่องของระบบการศึกษาที่เล่าผ่านเด็กมัธยม ซึ่งถ้านับตามเวลาแล้ว ตอนนี้พวกเขาก็ยังเป็นเด็กประถมกันอยู่ แล้วจากสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ กว่าจะถึงตอนนั้นมันอาจจะมีการสร้างความเชื่ออะไรบางอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาเองก็พร้อมที่จะปฏิบัติการตามคำสั่งนั้น แต่มันไม่ใช่ไซไฟแบบแฟนตาซีหลุดโลกนะ มันยังคงยืนอยู่บนโลกจริง
ผู้กำกับทั้งสี่คนต้องทำงานเชื่อมโยงกันแค่ไหน
เราได้โจทย์เดียวกัน แต่ตัวละครหรือเนื้อหาไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันเลย ทุกคนสามารถเสนอโปรเจ็กต์ไปให้โปรดิวเซอร์ แล้วสิ่งที่โปรดิวเซอร์ทำก็คือเรียงเนื้อหาว่าเรื่องไหนจะมาก่อน-หลัง มันจะมีคอนเซ็ปต์ของการโยงเรื่องราวอยู่
แต่ด้วยความที่ผู้กำกับเองอยู่ในสังคมเดียวกัน เห็นปัญหาคล้ายกัน มันเลยจะมีบางส่วนที่เชื่อมโยงกันอยู่ สุดท้ายพอหนังออกมาแล้ว มันก็เลยเหมือนกันแตะมือกันเบาๆ คือไม่ได้เป็นก้อนเดียวกันขนาดนั้น แต่เชื่อว่าถ้าดูพร้อมกันสี่เรื่องมันน่าจะเห็นมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็ให้ภาพใหญ่บางอย่างที่น่าสนใจ
คิดว่าอะไรที่ทำให้คุณเป็นหนึ่งในสี่ผู้กำกับของโปรเจ็กต์ Ten Years Thailand
คงเพราะที่ผ่านๆ มา เราก็ทำหนังสั้นมาตลอด เนื้อหาที่ทำก็จะเกี่ยวกับการเมืองและสังคม แต่เราก็เห็นเหมือนกันว่าพี่ๆ อีกสามคน ค่อนข้างจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากโปรเจ็กต์ของฮ่องกง ที่เกิดจากโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่และผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมาก แต่เราว่าสำหรับประเทศไทย โปรดิวเซอร์น่าจะต้องมองด้านการตลาดด้วย ก็ต้องเลือกผู้กำกับที่มีชื่อเสียงแล้วพอสมควร ทีนี้ ก็อาจจะมีพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ แล้วเขาก็เลือกเรา
คุณมองว่าตลาดหนังไทยเป็นยังไงบ้าง ในฐานะที่ทำหนังสั้นส่งเทศกาลมาตลอดหลายปี
เราว่าภาพรวมตอนนี้ที่ฉายในบ้านเราส่วนใหญ่ก็จะมีหนังค่าย อาจจะเป็นหนังผี หนังตลก หนังรัก ซึ่งโอเค มันก็มีมาตรฐานตรงนั้นอยู่ แต่ในมุมของเราที่มาในสายหนังอิสระ ที่ทางของมันก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนนะ
คือในยุคประมาณ 10 ปีที่แล้ว จะมีกลุ่มคนทำหนังอิสระชื่อ ‘ไทยอินดี้’ ซึ่งจนตอนนี้ บางคนก็เลิกทำไปแล้ว บางคนก็ยังทำงานอยู่ คนที่ทำงานอยู่ก็ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงกันแล้ว อย่างพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) นุชี่ (อนุชา บุญยวรรธนะ) พี่เบิ้ล (นนทวัฒน์ นำเบญจพล) หรือถ้ารุ่นก่อนหน้านั้นก็จะมีพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) พี่วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง พี่จุ๊ก (อาทิตย์ อัสสรัตน์) โอเค บางคนทำหนังค่ายล่ะแต่ก็ไม่ใช่สายแมสจ๋า ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็เห็นว่าเขายังคงทำหนังในแบบของตัวเองแล้วก็ establish ขึ้นมาได้
แล้วในอีกแง่ หนังอิสระก็มีประโยชน์ในความอิสระของมันอยู่ คือมันสามารถแตะเนื้อหาที่มากกว่าหนังค่ายได้พอสมควร
แล้วการทำหนังอิสระสามารถเป็นอาชีพได้ไหม
มันก็พอได้ แต่ไม่ถึงกับเป็นกอบเป็นกำ คือเวลาเราทำหนัง มันก็จะมีที่มาของทุน คนทำหนังอิสระจะรู้ว่าแหล่งของเงินทุนอยู่ที่ไหนบ้าง เช่นกระทรวงวัฒนธรรมที่เราก็เขียนไปขอทุนได้ หรือไม่ก็ทุนที่มาจากโลกตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่เขาอยากเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศที่กำลังพัฒนา เขาก็จะให้ทุนมาทำในส่วนนี้
นอกจากทุนแล้ว การที่หนังเราได้ไปฉายตามเทศกาลหรือแกลเลอรี เขาก็จะมีค่าตอบแทนให้สำหรับศิลปิน แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก หรืออย่างบางกอกซิตี้ ซิตี้ เขาก็จะช่วยสร้างคอนเน็กชั่นกับแกลเลอรีในต่างประเทศ รวมทั้งคอลเล็กเตอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นสำหรับเราเอง ในแง่การขายผลงานศิลปะก็พอช่วยตรงนี้ได้ ความที่เราทำงานทั้งในฝั่งของศิลปินและคนทำหนัง เลยอาจจะพอมีช่องทางมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดเราก็ต้องรับงานอื่นด้วย ไม่ใช่แค่หนังหรือศิลปะที่เราอยากทำอย่างเดียว
จริงๆ เราก็มองว่าการทำงานสร้างสรรค์เป็นงานที่เสี่ยงเหมือนกัน มันเป็นการลงทุนที่เราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะได้อะไรตอบแทนมาไหม งานศิลปะเองจะมีมูลค่าเป็นกอบเป็นกำก็ต่อเมื่อศิลปินมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ อันนี้ตามความเข้าใจของเรานะ ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้นมันก็ค่อนข้างใช้พลังงาน ใช้เวลา ใช้เงินทุนเยอะเหมือนกัน แต่อย่างเรา เราก็ทำอย่างอื่นไม่เป็นเหมือนกัน (หัวเราะ) ก็มีความหวังลึกๆ อยู่ว่าอนาคตมันจะมีอะไรที่ตอบกลับมา
ยากหรือเปล่า ที่จะให้คนทำงานมีความหวังว่างานของตัวเองจะคุ้มทุนในสักวัน
อืม เราว่าอันนี้มันก็เป็นปัญหาสังคมเหมือนกันนะ คือเราไม่สามารถตัดปัญหาด้วยการบอกว่า ศิลปินเองพยายามไม่มากพอ ศิลปินขี้เกียจ คนทำหนังไม่ขยันส่งหนัง ฯลฯ ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้มันเป็นการกดดันฝั่งคนทำงานสร้างสรรค์แต่เพียงฝ่ายเดียว เราว่ามันก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะระบบนิเวศของงานศิลปะหรืองานภาพยนตร์มันยังมีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สามารถสนับสนุนคนทำงานได้มากกว่านี้
คำถามต่อมาคือเราจะสร้างระบบแบบไหนล่ะ ที่ให้ศิลปินทำงานได้โดยมีความหวัง หรือมีที่ทางที่เข้มแข็งพอ ตัวผู้ชมต้องเรียนรู้ไหม สื่อจะต้องทำอะไร พื้นที่ข่าวศิลปะควรต้องมีมากกว่านี้ไหม หรือสถาบันทางศิลปะต่างๆ เอง ทั้งแกลเลอรีหรือองค์กรของรัฐที่สนับสนุนศิลปะ ควรต้องทำงานอะไรมากขึ้น หรือแตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า
เราว่าสุดท้ายมันก็ไม่ค่อยต่างจากปัญหาที่แม่ฆ่าลูก แล้วคนก็ไปบอกว่าที่เขาฆ่าเพราะเขาไม่มีจิตสำนึก แต่ในมุมกลับ สังคมได้ช่วยป้องกันหรือช่วยเหลือแม่คนนั้นยังไงบ้าง มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกับตัวระบบ ไม่ใช่แค่คนทำงานเท่านั้น
สิ่งที่จะทำให้ศิลปินสักคนมีชื่อเสียง น่าจะมาจากปัจจัยอะไรบ้าง
เท่าที่เราเห็น ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ เขาต้องเข้าใจช่องทางทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ เช่น เมื่องานศิลปะชิ้นนี้พูดถึงการเมืองไทย แต่คนที่มาเสพงานจะเข้าใจการเมืองไทยได้ลึกซึ้งสักแค่ไหนเชียว ดังนั้น ภายใต้สิ่งที่ศิลปินสนใจหรืออยากนำเสนอ ศิลปินก็อาจต้องมองกลุ่มผู้เสพให้กว้างไปจากคนในพื้นที่ คือมองให้เห็นว่าผู้ชมต่างชาติต่างภาษา เขาจะสามารถเสพงานชิ้นนี้ได้อย่างไรบ้าง มันอาจต้องแปลงปัญหาที่ local มากๆ ให้สากลมากขึ้น
ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเราก็ต้องปรับตัวเองเยอะเหมือนกัน ปัญหาในงานเราคือ มันจะพูดถึงแต่เรื่องที่เฉพาะเจาะจง หรือไม่ก็ในพื้นที่มากๆ พอไปฉายต่างประเทศคนดูก็อาจจะเข้าใจยากหน่อย มันต้องการบริบทในการอธิบายเยอะเหมือนกัน เราเลยพยายามแก้ปัญหาความซับซ้อนตรงนั้นให้มันง่ายขึ้น สากลมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าถึงคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม
เราว่าไม่ว่าจะเป็นหนังหรือศิลปะ มันคือเกมขนาดใหญ่ ที่ต่างคนก็ต้องต่างเล่น มันก็คล้ายกับสินค้าอื่นๆ หรือการทำแบรนดิ้งอื่นๆ ที่เราต้องเข้าใจตลาดและโปรดักต์ของเรา ซึ่งอันนี้ก็อาจจะมีคนแย้งว่า ศิลปะกับระบบทุนไม่ควรไปด้วยกัน ศิลปะไม่ควรต้องมาแปดเปื้อนกับเรื่องเงินทอง แต่เรามองว่ามันไม่จำเป็นต้องแยกขาดออกจากกันขนาดนั้น จริงๆ มันไม่เคยแยกขาดออกจากกันด้วยซ้ำ การรักษาความบริสุทธิ์ของงานศิลปะในยุคปัจจุบันอาจจะเชยไปแล้วก็ได้ เพราะยุคสมัยนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปะโดดๆ แต่คือการเชื่อมโยงหลายๆ สิ่งเข้าด้วยกัน ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของคนที่มีความหลากหลาย
หรือในอีกแง่หนึ่ง ความเฉพาะเจาะจงอย่างปัญหาในพื้นที่ของแต่ละประเทศหรือเปล่า ที่ผู้ชมต่างชาติอยากเห็น
เราว่ามันต้องบาลานซ์ คือในงานศิลปะมันมีความส่วนตัวหรือเฉพาะพื้นที่ได้ มันอาจจะมีเรื่องที่คนดูไม่ต้องเข้าใจบริบทก็ได้ สมมติเราดูหนังมาเลเซีย เราอาจจะไม่ได้เข้าใจปัญหาของคนมาเลเซียขนาดนั้น แต่มันก็ยังคงต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นสากลในความเป็น local ของเขา ไม่อย่างนั้นมันก็จะยากในการไปมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะชิ้นนั้นๆ
คุณมองหนังตัวเองเป็นศิลปะมากน้อยแค่ไหน
มองนะ แต่เราก็ใช้เวลามาพอสมควร ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เราเรียนฟิล์มในเชิงนิเทศศาสตร์ แต่หนังแบบที่เราชอบเราสนใจ มันหลุดจากวิธีคิดหรือการสื่อสารแบบนิเทศศาสตร์ไปเยอะเหมือนกัน เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังทำหนังเชิงนิเทศศาสตร์ หรือเรากำลังทำงานศิลปะที่ใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นสื่อกันแน่ เราตั้งคำถามกับตัวเองเยอะจนตัดสินใจว่าจะเรียนปริญญาโทที่มุ่งเน้นเรื่องมีเดียอาร์ต ที่เราสามารถทำภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบใดๆ ก็ได้ แล้วทรีตมันเป็นงานศิลปะ ซึ่งตรงนี้ก็ปลดล็อคเราได้เยอะเหมือนกัน
มาถึงตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องทำแต่สิ่งที่เรียกว่าหนังสั้น ที่จะต้องมีตัวละคร มีเรื่องราว มีบทสนทนา มีโลเคชั่น มีต้นกลางจบ มันไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างแบบนั้นก็ได้ มันสามารถเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบอื่นที่มีโครงสร้างแบบอื่น แล้วก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ด้วยได้ แล้วพอเรามองภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นในฐานะงานศิลปะ มันก็เปิดประตูของความเป็นไปได้อีกหลายๆ บาน ในฐานะคนทำเองก็รู้สึกสบายใจและเป็นอิสระมากกว่าที่จะตีกรอบตัวเองด้วยคำว่าหนังสั้น
คุณจะดีใจที่สุด ถ้างานของคุณ…
เราจะดีใจเมื่อคนมีปฏิสัมพันธ์ต่องานเรา ปฏิสัมพันธ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องมานั่งคุยกัน แต่คือเหมือนเขาเสพงานเราแล้วมันเข้าไปอยู่ในชีวิตเขา เหมือนพอเราดูหนังหลายๆ เรื่องแล้วพบว่า ทำไมหนังเรื่องนี้มันแก้ปมปัญหาในชีวิตเราได้ ปลอบประโลมจิตใจเรา หรือทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น ซึ่งถ้างานเราสามารถเข้าไปอยู่ในใจคนได้อย่างนั้น ไม่ว่าในแง่มุมไหนก็แล้วแต่ เราว่านั่นคือประสบความสำเร็จ
การสร้างอารมณ์ขันหน้าตายของคุณเป็นจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร
มันเป็นนิสัยอยู่แล้ว อาจจะเป็นตั้งแต่เด็กๆ ละมั้ง เราชอบเล่นโจ๊กกับเพื่อน เล่าเรื่องตลก พอเห็นเขาขำแล้วรู้สึกสบายใจ สนุก แล้วพอมาทำงานศิลปะหรือทำหนังที่เนื้อหาซีเรียส เป็นเรื่องการเมือง สังคม เราก็เลยพูดเรื่องซีเรียสด้วยความขบขัน มันทำให้ความจริงจังตรงนั้นผ่อนคลายลง
อย่างที่สองก็คือว่า มันเป็นการตั้งคำถามกับตัวประเด็นนั้นๆ ด้วย ว่าจริงๆ แล้วมันมีความเป็นไปได้อื่นๆ ไหม สำหรับปัญหาข้อนี้ เหมือนโยนหินถามทางด้วยความตลก หรือบางครั้งก็เป็นการเสียดสีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือเราไม่ชอบ แต่แทนที่จะนำเสนอแบบตรงไปตรงมา พอทำให้มันตลก คนดูก็จะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการด่าทอใครอย่างรุนแรง เราแค่เสียดสีเล็กๆ พอเจ็บๆ แสบๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นได้ด้วย
คุณว่าแบบไหนรุนแรงกว่ากัน ระหว่างด่าตรงๆ แรงๆ กับเสียดสีเล็กๆ พอแสบๆ
น่าจะเจ็บคนละแบบ ด่าตรงๆ ก็อาจจะเจ็บหนักแป๊บเดียวแล้วหาย แต่พอเสียดสี เราว่ามันมีเสน่ห์มากกว่า เหมือนชวนให้คิดว่า เฮ้ย มันด่าเราจริงๆ รึเปล่า นี่พูดจริงหรือพูดเล่นกันแน่ ต้องใช้การตรึกตรองและวิเคราะห์การเสียดสีนั้นๆ ว่าคนที่พูดหรือนำเสนอเขาจริงจังกับเนื้อหาที่พูดออกมาแค่ไหน สำหรับเรา มันเลยมีมิติน่าค้นหามากกว่าการด่าไปตรงๆ
จากที่แอบดูผ่านเฟซบุ๊ก คุณมักพาตัวเองไปยืนหน้าตายอยู่ในฉากบางฉาก เช่นวัฒนธรรมการแต่งชุดไทย ปรากฏการณ์เหล่านี้น่าสนใจยังไงบ้าง
มีหลายอย่างในบ้านเราที่ทำให้เห็นว่าเรามองอดีตยังไง มันอาจเป็นช่วงนี้ด้วยล่ะ ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าเราขาดบางอย่าง อัตลักษณ์เราหายไป เราอยากมีเอกลักษณ์หรือเอาตัวตนของเรากลับมามีชีวิตอีกครั้ง สังคมกำลังโหยหาอดีตที่รุ่งเรืองสวยงาม ซึ่งเราว่ามันค่อนข้างยึดติดกับภาพอดีต แล้วมองไม่ค่อยเห็นอนาคต ซึ่งสะท้อนภาพสังคมการเมืองไทยในช่วงนี้ได้ดี อาจเป็นเพราะคนที่มีอำนาจในช่วงนี้เป็นคนมีอายุ และต้องการปั้นสังคมให้เป็นไปในทางที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย ไม่ก้าวหน้ามากเกินไป ไม่ท้าทายกับอำนาจเก่า
หรืออย่างรายการที่มาบอกว่า “นี่สิคนรุ่นใหม่” แต่มันกลับถูกวางกรอบไอเดียโดยคนรุ่นเก่า เหมือนเป็นยุทธศาสตร์ที่เตรียมไว้สำหรับในอีก 10 ปี 20 ปี ให้คนจำว่าสิ่งนี้ดีนะ เราควรอนุรักษ์มันไว้ ซึ่งเราคิดว่า มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่า น่าจะเข้าไปบันทึกช่วงเวลาเหล่านี้เก็บไว้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนก็ได้ หรือถ้าไม่เปลี่ยน ก็จะกลับมาสู่ในช่วงเวลาแบบนี้อีก
นั่นยิ่งทำให้ภาพที่คุณวางเอาไว้ Ten Years Thailand มีแนวโน้มจะเกิดได้จริงไหม
ใช่ คือเราถ่าย Ten Years Thailand เสร็จตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2017) แล้วองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ปรากฏในหนังก็เหมือนจะเริ่มเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงช่วงนี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องโลกอนาคตที่ดูไซไฟ มันอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่ที่แต่งชุดไทยจะเลือกแต่งชุดเจ้านายหมดเลย ไม่ค่อยมีใครแต่งชุดบ่าวไพร่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ชุดเหล่านั้นถูกสงวนเอาไว้สำหรับชนชั้นนำ มันมีการเมืองของเครื่องแต่งกายอยู่ แล้วการที่ทุกคนใส่ชุดแบบเจ้านาย มันเลยทำให้เห็นว่า หรือทุกคนก็อยากเป็นชนชั้นนำ ไม่มีใครอยากกลายเป็นบ่าวหรอก
พร้อมกันนั้นมันก็กลายเป็นการสร้างภาพให้เห็นว่า ความเป็นไทยในจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีแต่ความสวยงาม ทั้งที่จริงๆ มันก็มีด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้สวยงาม แต่มันไม่ได้ถูกนำเสนอออกมา เหมือนว่าภาพลักษณ์จะมีความสำคัญเยอะทีเดียวในบ้านเมืองเรา
—ฟังจากที่เขาเล่าแล้วก็เริ่มนึกภาพตามว่าหนังในโปรเจ็กต์ Ten Years Thailand ของจุฬญาณนนท์จะออกมาในรูปแบบไหน แต่จากภาพนิ่งเท่าที่มีปล่อยออกมาให้เห็น—เพียงเท่านี้ก็ชักอยากให้ถึงตาคนไทยได้ดูเร็วๆ เสียจริง
Fact Box
- จุฬญาณนนท์ ศิริผล เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2529 จบการศึกษาจากสาขาภาพยนตร์และวิดีโอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เขาเริ่มเส้นทางด้วยการทำหนังสั้นออกมาเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และได้รับรางวัลเสมอในเทศกาลหนังสั้นต่างๆ
- เขาเป็น 1 ใน 4 ผู้กำกับ ‘ความเศร้าของภูติผี Insurgency by a Tapir’ (2016) ในโปรเจ็กต์ domino film experiment โดย Filmvirus ที่ให้กลุ่มผู้กำกับ 4 คนมาร่วมสร้างหนังให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน รายชื่อผู้กำกับได้แก่จุฬญาณนนท์ ศิริผล, วชร กัณหา, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค และ เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง โดยตัวหนังเป็นการตีความใหม่จากบทภาพยนตร์ของแดนอรัญ แสงทอง และได้รับรางวัลหนังไทยแห่งปี โดยนิตยสาร BIOSCOPE
- Ten Years Thailand เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากโปรเจ็กต์ Ten Years Hongkong ของกลุ่มผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ลองจินตนาการถึงอนาคตอันมืดหม่นของเขตปกครองพิเศษที่ตนอาศัยอยู่ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน และในปี 2018 ก็กำลังจะมีโปรเจคต์ Ten Years Japan เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
- สำหรับโปรเจ็กต์ประเทศไทย มีผู้กำกับ 4 คน ได้แก่ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล อาทิตย์ อัสสรัตน์ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ส่วนทีมโปรดิวเซอร์ประกอบด้วย อาทิตย์ อัสสรัตน์ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ และ ทองดี สุขุม
- Ten Years Hongkong ประกอบด้วยหนังสั้นห้าเรื่อง สร้างเมื่อปี 2015 หลังช่วง Umbrella Movement โดยตัวหนังประสบความสำเร็จถล่มทลาย แต่ถูกห้ามฉายในประเทศจีน