ทุกวันนี้ โรคหนองในเทียมกลายเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปและมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนสร้างความกังวลว่าจะส่งผลต่อการสืบพันธุ์ของผู้หญิง เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทุกวันมีผู้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 1 ล้านคน 1 ใน 4 โรคที่พบมากที่สุดคือ หนองในเทียม ขณะที่ในช่วงสิบ ปีที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคหนองในเทียมตีพิมพ์ไม่มากนัก

โรคหนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยาปฏิชีวนะ แต่มันมักจะไม่ปรากฏอาการชัดเจนจนทำให้คนไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ และนำไปสู่โรคที่ซับซ้อนมากขึ้น  ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหนองในเทียมมาหลายสิบปี ครั้งแรกๆ คือในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยใช้แบคทีเรียคลามายเดีย แทรโคมาทิส (Chlamydia Trachomatis) แต่ผลออกมาตรงข้าม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไวต่อโรคมากขึ้น หลังได้รับวัคซีนแล้วโดยไม่รู้สาเหตุ

วารสารวิชาการทางการแพทย์ The Lancet Infectious Diseases ตีพิมพ์บทความวิชาการ โดยเปิดเผยว่า ตอนนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนและสถาบันสตาเทิร์น เซรุ่ม เดนมาร์ค เริ่มต้นพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหนองในเทียมแล้ว หลังจากทดลองในสัตว์มาก่อนหน้านี้  และตอนนี้ก็ได้รับอนุญาตให้ทดลองวัคซีนป้องกันโรคนี้กับมนุษย์แล้ว

กลุ่มตัวอย่างในการทดลองนี้เป็นผู้หญิงที่แข็งแรง 32 คน อายุระหว่าง 19-45 ปี โดยนักวิจัยแบ่งผู้หญิงออกเป็น 3 กลุ่ม รับวัคซีน 5 ครั้ง กลุ่มแรกได้รับวัคซีนปลอม  กลุ่มที่ 2 ได้รับวัคซีนหนองในเทียมที่มีไลโปโซม (CTH522:CAF01) และกลุ่มที่ 3 ได้รับวัคซีนหนองในเทียมที่มีอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (CTH522:AH) ระยะเวลาการฉีดวัคซีนของทุกกลุ่มห่างกัน 0, 1 และ 4 เดือน และอีก 2 ครั้งต่อมาในระยะเวลาที่ห่างออกมาอีก 4.5 และ 5 เดือน ซึ่งมีการเติมยากระตุ้นวัคซีนเข้าทางจมูก จากนั้นก็จะมีการทดสอบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย และดูว่ายาทำงานตรงไหน ผลการทดสอบพบว่า ไม่มีใครได้รับผลกระทบจากวัคซีน และในส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงๆ มีภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองได้ดี

แม้ว่าการพัฒนาวัคซีนยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ผลิตภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ได้ และไม่มีผู้หญิงคนใดได้รับผลข้างเคียงอีกในการทดลองครั้งนี้ นี่เป็นการทดลองทางการแพทย์ครั้งแรกและเป็นความก้าวหน้าครั้งล่าสุดในรอบ 15  ปี

แฟรงค์ โฟลล์แมนน์ สถาบันสตาเทิร์น เซรุ่ม เดนมาร์ค ระบุในคำแถลงของสถาบันว่า “การค้นพบที่สำคัญที่สุดก็คือ ได้เห็นแอนติบอดีต่อต้านโรคหนองในเทียมในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง การทดลองในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าพวกมันป้องกันไม่ให้แบคทีเรียคลามายเดียเข้ามาแพร่กระจายในเซลล์ของร่างกายได้”

การค้นพบนี้ทำให้นักวิจัยมีความหวังว่า ท้ายที่สุดมันจะเหมือนกับวัคซีนเอชพีวี ที่ตอนนี้ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกบางชนิดได้ ขั้นตอนต่อไปก็คือ ทดลองวัคซีนนี้ต่อไปจนกว่ามันจะสำเร็จ โดยในขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามันช่วยป้องกันโรคได้จริงๆ หรือไม่ 

ที่มา:

https://www.sciencealert.com/a-potential-chlamydia-vaccine-has-finally-reached-clinical-trials

https://www.theguardian.com/society/2019/aug/12/chlamydia-vaccine-clinical-trial-cure-sexually-transmitted-infection

https://edition.cnn.com/2019/08/13/health/chlamydia-vaccine-trial-scli-intl/index.html

ภาพ : gettyimages

Tags: ,