ความรักอาจไม่ใช่เรื่องคนสองคน เมื่อมีครอบครัวมาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวคนจีนที่การสร้างครอบครัวเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของชีวิต แต่ทว่าคนจีนรุ่นใหม่มีทางเลือกให้ตัวเองมากขึ้น ทั้งทางเลือกที่จะมีหรือไม่มีคู่ จนถึงทางเลือกในการหาคู่ด้วยตัวเอง
ความต้องการที่สวนทางระหว่างพ่อแม่ลูก
จากที่การแต่งงานเป็นความคาดหวังของครอบครัวชาวจีนมาตลอด ในปัจจุบันอัตราการแต่งงานของประชากรจีนลดลง รวมถึงอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น คนรุ่นใหม่ในจีนเลือกที่จะเป็นโสด บางคนก็ไม่มีเวลาหาคู่เพราะต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ขณะที่ฝ่ายพ่อแม่ยังคงต้องการให้ลูกๆ ได้แต่งงาน เห็นได้จากการเกิดขึ้นตลาดนัดหาคู่ในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และตามเมืองใหญ่ต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในสวนสาธารณะวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงห้าโมงเย็น ที่พ่อแม่ชาวจีนจะนำโพรไฟล์ของลูกๆ ตัวเองมาแขวนป้าย รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของลูกเขย-ลูกสะใภ้ที่อยากได้ ให้บรรดาพ่อๆ แม่ๆ ทั้งหลายได้เดินเลือกสรรกัน
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า การที่พ่อแม่ออกมาหาคู่ให้ลูกนั้น ส่วนมากลูกก็ไม่ได้ทราบด้วย และยังไม่มีสถิติออกมาชี้วัดว่าการหาคู่จากตลาดดังกล่าว ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
การที่ประชากรจีนยังโสดอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน (One-child policy) ที่ถูกประกาศเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1979 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้ล้นประเทศ อีกทั้งยังรู้จักกันว่าเป็นยโยบายวางแผนครอบครัว เมื่อถูกจำกัดไม่ให้มีลูกมากกว่า 1 คนแล้ว กลายเป็นว่า ‘เด็กผู้ชาย’ ถูกเลือกมากกว่า ส่งผลให้ต่อมาจำนวนเพศชายมากกว่าเพศหญิง ตราบจนทุกวันนี้จีนมีประชากรเพศชายที่ยังโสด และยังไม่แต่งงานจำนวนหลายล้านคน โดย Voice TV ระบุว่าในปี 2020 จะมีชายมากกว่า 30 ล้านคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน และอยู่ในช่วงวัยมองหาคู่ชีวิต จนเกิดคำเรียกผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานว่า “剩男” (Shengnan) แปลว่า ‘ผู้ชายที่เหลือ’
ในขณะที่ ลู่ซือเหิง (陆思恒) อายุ 26 ปี เป็นผู้เข้าเเข่งขันรายการแข่งขันหาไอดอลชื่อดัง Produce Camp 2019 (รายการซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องจาก Produce 101 ซึ่งเป็นรายการเรียลิตีค้นหากลุ่มศิลปิน ของประเทศเกาหลีใต้) กล่าวถึงความในใจว่ายังอยากจะเดินตามฝันต่อ เพราะถ้าไม่สู้ต่อแล้ว “แม่จะให้กลับบ้านไปหาคู่” เนื่องจากเหมาะสมกับวัยที่จะแต่งงานแล้ว เพราะสำหรับคนจีนรุ่นพ่อรุ่นแม่ การแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะปกติ และเป็นก้าวสำคัญที่สุดของความเป็นผู้ใหญ่
เพศหญิงเองก็ถูกคาดหวังไม่ต่างกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ปรากฎคำเรียกผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานว่า “剩女” (Shèngnǚ) แปลว่า ‘ผู้หญิงที่เหลืออยู่’ ถูกสร้างขึ้นโดยสื่อของรัฐเพื่อกดดันให้ผู้หญิงแต่งงานเร็วขึ้น ขณะเดียวกันสื่อของรัฐก็มักเขียนบทความเกี่ยวกับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานในเชิงลบ อีกทั้งยังเขียนข้อเสียของการไม่แต่งงาน การถูกเรียกว่าเป็น ‘ผู้หญิงที่เหลือ’ เป็นเสมือนคำตีตราว่าผิดปกติ เพราะยังโสด แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวการยึดมั่นในบทบาทดั้งเดิมของผู้หญิงในฐานะภรรยาแม้จะประสบความสำเร็จในที่ทำงานในในฐานะผู้หญิง อีกทั้งสังคมบางส่วนยังมองว่า แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากแค่ไหน แต่ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ถือว่าล้มเหลว Leta Hong Fincher นักข่าวและนักวิชาการแห่งเว็บไซต์ Sixth Tone กล่าวว่า “ผู้หญิงต้องสูญเสียมากขึ้นเมื่อแต่งงาน ต้องซาบซึ้งกับครอบครัวฝ่ายชาย เพราะความเป็นปิตาธิปไตยที่แอบซ่อนอยู่” ผู้หญิงหลายคนยังคงหาคู่เพื่อแต่งงาน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบ และเป็นหน้าที่ของพวกเธอต่อพ่อแม่
การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ให้มีลูกคนที่สองได้ในปี 2016 สอดคล้องไปกับการที่รัฐส่งเสริมการแต่งงานมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด และจำนวนประชากร อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟู ‘ค่านิยมครอบครัว’ รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมการแต่งงาน ด้วยการให้เงินสนับสนุนแก่คู่บ่าวสาว และบางท้องที่ก็ให้เงินโบนัส หากคู่แต่งงานมีลูกคนที่สองด้วย โดยรัฐเองก็ชัดเจนในเรื่องนี้ ด้วยการกล่าวว่า “คนหนุ่มสาวควรแต่งงาน และมีลูกเพื่อรักษาอนาคตของประเทศจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่จำนวนมากประสงค์จะเลือกคู่หรือเลือกจะมีหรือไม่มีคู่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การรับแนวคิดเชิงก้าวหน้า หรือกระทั่งเรื่องของเศรษฐกิจ การสร้างครอบครัวหรือการให้พ่อแม่เป็นธุระจัดหาคู่ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำหนดให้เป็นเป้าหมายใหญ่ของชีวิตอีกต่อไปแล้ว
แต่สำหรับกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาแฟนไปไหว้พ่อแม่ในวันตรุษจีนแล้วจริงๆ หนุ่มสาววัยทำงานก็ยังมีทางเลือกอื่นคือการ ‘เช่าแฟนปลอม’ โดยใช้แอปพลิเคชั่นเช่น Hire Me Plz สำหรับราคาเช่าอยู่ที่ 500 – 2,000 หยวนต่อคืน (2,300 บาท – 8,900บาท) แต่เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ค่าเช่าก็อาจพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยค่าจ้างมากถึง 10,000 หยวน (45,000 บาท) ทั้งนี้ราคาอยู่ที่คุณสมบัติของแฟนปลอมๆ ด้วย ตั้งแต่สรรพคุณตัวเอง การศึกษา ไปจนถึงการตอบคำถามอย่างฉะฉานเมื่อถูกถามถึงเรื่องการแต่งงาน ซึ่งผู้เช่าต้องเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
LGBT กับการหาคู่ครอง
ย้อนกลับไปที่ตลาดหาคู่ น่าสนใจที่มีพ่อแม่กลุ่มหนึ่งจับจองพื้นที่ในสวนสาธารณะเซี่ยงไฮ้ แปะรูปถ่าย ข้อมูล ประวัติการศึกษา นิสัยบนร่มสีรุ้งเพื่อหาคู่ให้ลูกๆ ที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการหาคู่เพื่อกลุ่มคนเหล่านี้ พร้อมกล่าวว่านี่เป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (และแอบมีความย้อนแย้ง เพราะขณะที่ยอมรับในเพศสภาวะของลูก แต่ก็ยังคาดหวังให้ลูกแต่งงานมีคู่อยู่ดี) แน่นอนว่ามีคนบางส่วนพยายามขับไล่พวกเขาให้ออกไปจากกิจกรรมหาคู่
เหตุผลคือ ไม่ควรแสดงความหลากหลายทางเพศในที่สาธารณะ เนื่องจากขัดต่อคุณค่าความเป็นจีน และเรียกความหลากหลายทางเพศว่าเป็น ‘สิ่งผิดปกติ’ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่มาไล่พ่อแม่ของกลุ่ม LGBT ให้ออกจากสวนสาธารณะ โดยแจ้งเหตุผลว่าคนเหล่านี้ใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต
สิ่งนี้เป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควรในสายตารัฐจีน เพราะไม่เพียงแต่หาคู่ให้ลูกแล้ว ผู้ปกครองบางคนยังแจกใบปลิวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศด้วย ชาวเน็ตจีนบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองของ LGBT เหล่านี้บนแอป REla ซึ่งเป็นแอปออกเดทสำหรับเลสเบี้ยน เช่น
“ฉันสัมผัสได้ถึงความจริงใจของพวกเขาจริงๆ พ่อแม่ผู้ปกครองที่ออกมาในที่สาธารณะก็เพื่อปกป้อง และช่วยเหลือลูกๆ ของพวกเขา”
“นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ใจฉันมีความสุข ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าแม่เหล่านี้ทำเรื่องบ้าๆ แต่พวกเขากำลังทำสิ่งที่กล้าหาญมาก เพื่อลูกๆ ของพวกเขา รสนิยมทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ทำไมเราต้องไม่ยอมรับรสนิยมของคนอื่นล่ะ”
“ฉันหวังว่าคนจะปฏิบัติต่อเกย์และเลสเบี้ยนอย่างคนปกติ และฉันหวังว่าจะมีวันที่ฉันและแฟน ได้จับมือกันในที่สาธาณะได้อย่างเปิดเผยบ้าง”
เหตุการณ์นี้สะท้อนว่ากลุ่ม LGBT ในจีนยังคงได้รับแรงกดดันจากสังคมอยู่มาก แม้ว่าในปัจจุบันรัฐธรรมนูญของจีนไม่ได้กำหนดว่ากลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างเป็นสิ่งที่ผิด อย่างการออกกฎในปี 1997 มีกฎหมายลดโทษ (decriminalized) ความเป็นอาชญากรรมกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในจีน และถูกลบออกจากรายการว่าเป็นความผิดปกติทางจิต อย่างเป็นทางการในปี 2001 และมีกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติ แต่กลุ่ม LGBT ก็ยังไม่ได้รับการปกป้องจากอคติทางเพศ
ขณะเดียวกันการออกกฎหมายในแต่ละพื้นที่ของจีนก็ไม่ตรงกัน เพราะบางพื้นที่ก็ถือว่าเป็นเรื่องผิด ดังนั้นสถานะทางกฎหมายของกลุ่ม LGBT จึงเป็นเรื่องไม่ชัดเจน การแสดงออกของรัฐจึงสอดคล้องกับสำนวนจีนว่า 不支持, 不反对, 不提倡 (ไม่สนับสนุน ไม่คัดค้าน ไม่ส่งเสริม) ในขณะเดียวกันเสรีภาพทางการแสดงออกของ LGBT ก็ยังไม่ได้มีมากพอในบริหารเครือข่ายออนไลน์ เช่น บล็อกเว็บไซต์ใดๆ ก็ตามที่มีคำว่า เกย์ (同性恋) และบางครั้งกลุ่ม LGBT ยังคงถูกคุมตัวโดยพลการจากตำรวจ และถูกตำรวจข่มขู่แม้จะไม่ได้กระทำผิดร้ายแรงใดๆ
การหลบเลี่ยงอำนาจรัฐและจารีตสังคมของ LGBT ผ่านโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ขอแวะพูดเรื่องของ LGBT ในจีนอีกสักหน่อย
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลจีนไม่เป็นมิตรต่อเว็บไซต์และบริการโซเชียลมีเดียจากโลกตะวันตกนัก อีกทั้งยังพัฒนามาตรการควบคุมและตรวจตราสอดส่องกิจกรรมออนไลน์ โดยเครือข่ายสังคมในแบบของจีนขึ้นมาเองอย่าง ‘ไป๋ตู้’ (Baidu) เพื่อทดแทนระบบค้นหาข้อมูลอื่นของตะวันตกอย่าง Google ในขณะที่ ‘เว่ยป๋อ’ ซึ่งมีผู้ใช้ชาวจีนกว่า 300 ล้านคน ทั้งนี้การคิดค้นบริการเครือข่ายสังคมเหล่านี้เอง ก็เพื่อติดตามสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้และเก็บเป็นฐานข้อมูลของรัฐไปในตัว
กลุ่ม LGBT ที่จีนจึงมีวิธีการหลบเลี่ยงการสอดส่องของรัฐ ด้วยบริการอื่นๆ เช่นแอปฯ หาคู่ชาวเกย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอย่าง ‘Blued’ มีรายงานว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน รายงานบางฉบับแนะนำว่าเป็นแอปหาคู่เกย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (แอปฯ นี้ยังช่วยให้คู่รักชาวจีนหาแม่อุ้มบุญที่ต่างประเทศได้ด้วย) ทว่าปีที่ผ่าน Blued แอปหาคู่กำลังวางแผนเสนอขายหุ้น IPO ให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขั้นตอนการจดทะเบียน และลงทุนง่ายขึ้น เว็บไซต์บลูมเบิร์ก ระบุว่ารายชื่อดังกล่าวมีแผนสำหรับปี 2563 และจะสร้างเงินสด 200 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขั้นตอนการเข้าจดทะเบียนและนักลงทุนที่ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามแม้แอปฯจะเติบโตขึ้นมาก แต่ก็ยากที่จะได้รับการลงทุนเพิ่มในจีน เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ได้มีทัศนคติที่ดีนักต่อชุมชุม LGBT นัก
เกิง เล่อ (Geng Le) ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากพบว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Danlan.org ในปี 2000 ซึ่งเป็นเว็บไซต์พูดคุย ให้ความรู้เรื่องป้องกันเอชไอวีสำหรับเกย์ และต้องการพัฒนาสังคมให้มีความเข้าใจมากขึ้นว่าเกย์ไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่ปี 2007 เว็บถูกปิดเนื่องจากนโยบายคำสั่งจากรัฐบาล โดยเกิง เล่อได้ให้สัมภาษณ์กับ Techsauce Team ว่าแม้เว็บจะถูกปิดไป “แต่โชคดีในปี 2008 มีจัดโอลิมปิกที่ปักกิ่ง สื่อทางการของจีนจึงต้องการสื่อสารว่าเมืองจีนเป็นประเทศที่เปิดกว้าง จึงได้ยอมรับเว็บของเรา นั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของเราตั้งแต่นั้นมา” ภายหลังเขาได้พัฒนาแอปฯ Blued เปิดตัวในปี 2012 ซึ่งมีพนักงาน มากกว่า 200 คนที่ประจำการอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีสาขาที่ลอนดอน สหราชอาณาจักรอีกด้วย
นอกจากแอปฯ Blued แล้วยังมีแอปมือถือที่ชื่อว่า ‘iHomo’ หรือเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อว่า xinghun เป็นบริการอำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่มีความจำเป็นต้องแต่งงานกับเพศตรงข้าม ซึ่งปัจจุบันได้จัดให้มีการแต่งงานกว่า 100 คู่ ออกแบบโดยโอว เสี่ยวป๋าย (Ou Xiaobai) เกย์หญิงที่ต้องการหาคู่แต่งงาน เธอกล่าวว่า “ฉันต้องการปกป้อง และอยู่กับแฟนสาวไปตลอดชีวิต ตอนนั้นฉันใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับแฟนที่ปักกิ่ง แต่พ่อแม่อยู่ที่ต้าเหลียนอยากให้ฉันแต่งงาน และนั่นคือเหตุผลที่ฉันแต่งงานกับผู้ชายในปี 2012”
เนื่องจากแรงกดดันจากครอบครัวที่เพิ่มขึ้น เธอจึงแต่งงานกับชายคนหนึ่งในปี 2012 ขณะเดียวกัน สามีของเธอก็เป็นคนรักเพศเดียวกัน ที่มีแฟนแล้วเช่นกัน ระหว่างการจัดงานแต่งงาน แฟนสาวของโอว เสี่ยวป๋ายก็เป็นเพื่อนเจ้าสาวด้วย โดยเธอกล่าวว่า การแต่งงานในครั้งนี้ทำให้แม่สบายใจ เพราะมั่นใจว่าเธอจะมีคนดูแลไปตลอดชีวิต และรักษาเสรีภาพของเธอไว้ได้ ขณะเดียวกัน สามีที่เธอแต่งงานด้วยก็ได้ผลประโยชน์อย่างเดียวกัน คือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครอบครัว ทั้งคู่ยังกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ของกันและกันในช่วงเทศกาล
“ฉันอยู่กับแฟนของฉัน และเขาใช้ชีวิตอยู่กับแฟนของเขา บางครั้งเราสี่คนไปทานอาหารเย็นด้วยกัน เราเหมือนเพื่อนที่ดีต่อกัน” โอว เสี่ยวป๋ายกล่าว อย่างไรก็ตามแม้เธอจะแต่งงานกับผู้ชายไปแล้ว แต่ในเดือนกันยายน ปี 2012 โอว เสี่ยวป๋ายบินไปแต่งงานที่ลาสเวกัสกับแฟนสาวของเธอ
อย่างไรก็ตามแม้จะมีแอปฯขนาดใหญ่ไว้ให้พูดคุย หรือหลีกเลี่ยงรัฐ แต่ข้อมูลทางสถิติชี้ว่าประเทศที่มี LGBT มากที่สุดในโลกคือจีน มีราวๆ 60 ล้านคน แต่มีแค่ 5% ที่กล้าเปิดเผยตัวตนในสังคม และอีก 15% ที่กล้าบอกครอบครัวกับเพื่อน อีกทั้ง LGBT จีนหลายคนเลือกมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไทย โดยเลือกย่านใจกลางเมือง สาทร สีลม รัชดา เป็นต้น สาเหตุหนึ่งไม่ใช่แค่เพราะค่าครองชีพถูกกว่าที่จีน แต่ความกดดันทางสังคมที่มีต่อ LGBT ที่ไทยถือว่าน้อยกว่าจีนมาก
Single’s Day : เป็นโสดก็สุขได้
สำหรับใครก็ตามที่ไม่ได้อยากมีคู่ ก็มีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการของคนโสด หรือวันที่ 1111 เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนานกิงในปี 1993 ภายหลังเรียกว่าวันคนโสด (ชื่อภาษาจีนเรียก ‘วันท่อนไม้’ ที่มีลักษณะเหมือนเลข 1)
ขณะเดียวกันวันนี้กลายมาเป็นวันช็อปปิ้งที่สำคัญของจีน รวมไปถึงทั่วโลก ในปี 2009 อาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนได้ทำการเปลี่ยนโฉมวัน Singles Day ให้เป็นเทศกาลช็อปปิ้งระดับโลก เริ่มให้ส่วนลดแก่ลูกค้ามากถึง 50% ในแพลตฟอร์มของตนเอง ตามมาด้วยโปรโมชั่นอื่นๆ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้อาลีบาบาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ในปี 2014
วันคนโสดเป็นโอกาสสำหรับคนโสดในการพบปะ พูดคุยและจัดปาร์ตี้ อย่างไรก็ตามวันดังกล่าวไม่ได้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เป็นทางการในประเทศจีน แต่กลายเป็นวันช็อปปิ้งออนไลน์ และออฟไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในปี 2019 ที่ผ่านมา อาลีบาบาสร้างรายได้จากการซื้อ-ขายทางออนไลน์แตะหลัก 10,000 ล้านหยวน (ราว 43,000 ล้านบาท) หลังจากเริ่มวันที่ 11/11 ไม่ถึง 2 นาที กลายเป็นเวลาที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ไปแล้ว และมีการเปิดเผยว่าสินค้าที่ขายดีที่สุด คือสมาร์ตโฟนสัญชาติจีน ยี่ห้อหัวเว่ย ตามมาด้วย iPhone จากสหรัฐอเมริกา
ภายหลังคนจีน ได้ตั้งฉายาใหม่ให้วันคนโสดเสียใหม่ว่า ‘วันตัดมือ’ เพราะช็อปปิ้งจนแทบจะตัดมือตัวเองทิ้ง เนื่องจากโปรโมชั่นที่ลดกระหน่ำ ซึ่งก็ถือเป็นเทศกาลที่สร้างความสุขให้แก่คนโสด (และทั้งไม่โสด) เลยไม่น้อย เพราะได้ของที่ถูกกว่าเดิมแล้ว ยังอาจเป็นโอกาสในการหาคู่สำหรับใครบางคนเช่นกัน
อ้างอิง :
https://nextshark.com/parents-lgbt-singles-kicked-shanghais-famous-marriage-market-police/
https://www.youtube.com/watch?v=oRNX9pdqspw
https://www.voicetv.co.th/read/B1mq6dZvM
https://www.bbc.com/zhongwen/simp/chinese-news-43775360
https://xw.qq.com/cmsid/20191212A05YQU00
https://journals.uic.edu/ojs/index.php/fm/article/view/3943/3169
https://www.files.ethz.ch/isn/177388/media%20censorship%20in%20china.pdf
https://techsauce.co/tech-and-biz/blued-ceo-biggest-gay-app-come-thailand
https://www.bbc.com/worklife/article/20170213-why-millions-of-chinese-men-are-staying-single
http://europe.chinadaily.com.cn/a/201606/27/WS5a290165a310fcb6fafd3014.html
https://www.youtube.com/watch?v=svP7ykggT4Y&t=3s
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737266
http://www.sixthtone.com/news/1002717/its-complicated-chinese-millennials-and-marriage
https://en.wikipedia.org/wiki/Ou_Xiaobai
lhttps://www.bbc.com/news/magazine-37470074
https://workpointnews.com/2019/11/11/china-alibaba-singles-day-sales/
https://positioningmag.com/1196784
Tags: ความรัก, LGBTQ, ประเทศจีน, วันวาเลนไทน์, iHomo