คงไม่แปลกนัก เมื่อเราได้ยินข่าวคราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในจีนจนถึงการพยายามควบคุมประชาชนโดยสมบูรณ์ของรัฐบาลจีน เราจะรู้สึกระคายเคืองเสมอหากประเทศไทยดันไปมีเอี่ยวความสัมพันธ์กับจีนในเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือพอมีอะไรที่เกี่ยวกับจีน ก็เหมือนขนพอง หางชัน ขึ้นมาอัตโนมัติ
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าเรามองแค่ว่า ‘จีนคือตัวร้าย’ นั่นอาจหมายความว่าคงไม่มีอะไรที่เราจะเรียนรู้จากความสำเร็จ (และล้มเหลว) ของจีนได้เลย
หากจีนก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็คงบอกว่าลอกเขามา ถ้าจีนเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ ก็บอกว่า คงไปเล่นกลล่อลวงเอาเปรียบประเทศอื่นมาล่ะสิ ฯลฯ
บางคนกลัวถึงขั้นว่า สุดท้ายแล้ว ด้วยแนวโน้ม ‘วัฒนธรรรม’ อำนาจนิยมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้อาเซียนจะไปอยู่ใต้ร่มเงาของจีน และผสานอยู่กับห่วงโซ่เศรษฐกิจที่สองแห่งโลกตะวันออก ที่มีจีนเป็นพี่ใหญ่ ดังนั้นสหรัฐฯ อาจจะดีกว่าจีนอยู่เป็นไหนๆ…
แต่นักวิชาการก็บอกว่า อันที่จริง การทูตที่ฉลาด คือการไม่เลือกข้างว่าจะไปทางสหรัฐฯ หรือจีนทั้งนั้น อยู่กลางๆ คอยดูท่าที โอนอ่อนบ้าง แข็งข้อบ้าง กับทั้งสองฝ่าย ไม่มองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นปีศาจร้าย เพราะสุดท้ายการที่เขาต้องมาแข่งกันพะเน้าพะนอและไม่เห็นเราเป็นของตาย จะนำประโยชน์และโอกาสมากมายมาให้
หนังสือ จีน-เมริกา ที่เขียนโดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สะท้อนภาพการประจันหน้าของสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ได้ชัดเจนและครอบคลุม ชวนให้ผู้อ่านพิจารณาหลายๆ ประเด็นในหนังสือเล่มบางๆ
หนังสือไม่ได้บอกว่าจีนดีเลิศเลอแบบที่ผู้นิยมสีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายมักยกยอกัน แต่เตือนให้เราไม่ระบายสีให้จีนเป็นตัวร้ายเกินงามเพราะฟังวาทะและสื่อของฟากสหรัฐฯ อยู่ฝ่ายเดียว
ดร.อาร์ม ตั้งประเด็นได้น่าสนใจว่า ที่เราเห็นๆ (และเรียก) กันอยู่ว่า ‘สงครามการค้า’ นั้นไม่ได้เรียบง่ายแต่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น แต่แฝงไปด้วยจุดประสงค์การเรียกคะแนนเสียงจากการเมืองภายในทั้งฝั่งทรัมป์และความเชื่อมั่นของประชาชนจีนในฝ่ายสีจิ้นผิง ความขัดแย้งที่เหมือนเป็นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ที่จริงแล้วเป็นประเด็นที่ซ้อนกันถึงสามเลเยอร์ หรือที่ ดร.อาร์ม เรียกอย่างยั่วน้ำลายว่าเป็นทฤษฎี ‘หมูสามชั้น’
ชั้นแรกคือเศรษฐกิจ ชั้นต่อมาคือเทคโนโลยีที่จีนรุดหน้าจนสหรัฐฯ เองก็ยังหวั่นใจ ซึ่งเทคโนโลยีที่ทั้งล้ำและราคาถูกนี้ ก็นำมาสู่ประเด็นชั้นสุดท้าย คือความมั่นคง
เพราะหากเทคโนโลยีจีนเข้าไปชอนไชโครงสร้างพื้นฐานของคนในประเทศต่างๆ แล้ว เรื่องนี้ก็กลายเป็นภัยทางความมั่นคงในสายตาสหรัฐฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้
เรื่องที่เหมือนจะเรียบง่าย อย่างการที่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับจีน สื่อสารออกไปว่าเพื่อปกป้องกลุ่มเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงของตนเอง จริงๆ แล้วเป็นแค่หมากก้าวหนึ่งที่สร้างอำนาจต่อรองในประเด็นชั้นอื่นๆ ก่อนที่จีนจะเติบใหญ่และได้เปรียบไปมากกว่านี้
ดร.อาร์มบอกว่า นี่อาจเรียกว่าเป็น ‘สงครามเย็น 2.0’ เพราะความแตกต่างกันเหลือเกินของหลักการทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีน เหมือนคราวที่ค่าย ‘เสรีนิยม’ ที่นำโดยสหรัฐฯ แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับค่าย ‘คอมมิวนิสต์’ ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียตเมื่อสงครามเย็นที่ผ่านมา
แต่สงครามนี้ไม่เหมือนเดิม ครั้งก่อนนั้นอาจเป็นการประจันหน้าที่พร้อมจะทำลายฝ่ายตรงข้ามได้ทุกเมื่อ โดยมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเดิมพัน ในขณะที่ครั้งนี้ เศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ต่างสอดประสานกันอย่างเหนียวแน่น นับตั้งแต่จีนได้เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก
จะพูดว่าสงครามเย็นในยุคนี้ การทำให้อีกฝ่ายเจ็บ ก็ลงเอยทำให้ตัวเองกระอักเลือดไปด้วย คงไม่ผิดนัก ต้องวัดใจกันว่าใครจะล้มก่อน หรือใครจะยอมอ่อนข้อก่อนที่จะพากันพังไปทั้งคู่
ฟังดูเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่เนื้อหาวิชาการ แต่เสน่ห์ของหนังสือ จีน-เมริกา คือการที่หนังสือได้ตั้งโครงสร้างของประเด็นในแต่ละบทความไว้อย่างแข็งแกร่ง ติดตามอ่านได้ไหลลื่นเพราะภาษาที่กระชับ แต่ละบทสั้นๆ ยังไม่ทันเหนื่อยก็ได้ใจความหลักให้เก็บไปคิดแล้ว
ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่บทความอวยจีนจนเกินงาม หรือ ‘ฟาดจีน’ จนพลาดประเด็นที่น่าเรียนรู้ไป แต่คือการมองจีนแบบมุมมองของบุคคลที่สามที่มองเข้าไปในสงครามของสองยักษ์ใหญ่ ดูว่าจีนตั้งใจจะทำอะไร หรือหากคิดแบบยุทธศาสตร์ในสามก๊ก สิ่งที่จีนทำคือการมองการณ์ไกลและยอมเจ็บในระยะสั้นๆ มองปัญหาเป็นโอกาส มองภูมิภาคที่ถูกมองข้ามเป็นขุมทรัพย์ใหม่ รวมทั้งเรื่องความสำเร็จและเติบโตรวดเร็วนั้นมาจากรัฐจริงๆ หรือว่าภาคเอกชนในตลาดเองก็มีส่วน
หนังสือแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ที่คนน่าจะถามถึงมากที่สุด ได้แก่ สงครามการค้านี้มีความหมายมากกว่าที่เห็นหรือไม่? เทคโนโลยีจีนเจ๋งจริงหรือแค่โม้? และสุดท้าย อิทธิพลจีนในระดับโลกไปถึงไหนแล้ว ในระหว่างที่ทรัมป์ทำตัวกร่างและไม่แคร์เวิลด์อยู่ในอีกฝั่งหนึ่ง
นอกจากทฤษฎีหมูสามชั้นที่ทำให้เราต้องฟังหูไว้หูว่ากำลังดูข่าวอะไร ก็ยังมีเรื่องนวัตกรรม Made in China ที่ท้าทายอคติของหลายๆ คน บางคนยังไม่อยากเชื่อว่าของที่ผลิตในจีนจะเป็นของคุณภาพสูง หรือ ‘แท้’ ได้—แท้ในรูปแบบว่าไม่ได้ไปก๊อปใครมา
ดร.อาร์ม ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า จริงอยู่ว่าแพลตฟอร์มหลายๆ อย่างของจีน เริ่มต้นตั้งไข่ด้วยการลอกแบบที่มีอยู่แล้ว แบบที่เราชอบแซวกันว่าเว็บนั้นเว็บนี้ก็เป็นแค่เฟซบุ๊ก กูเกิล หรือทวิตเตอร์เวอร์ชันจีนแดง
แต่ระหว่างที่สบประมาทจีนด้วยภาพจำเหล่านั้น บางส่วนของผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มจีนได้ต่อยอดและก้าวข้ามสิ่งที่มันลอกไปแล้ว ใช้ประโยชน์จากดาต้าเพื่อปรับให้เหมาะกับบริบทสังคมผู้ใช้จีน ไม่แปลกที่เมื่อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ มาตั้งในจีนแล้วจะเจอความล้มเหลว เพราะคิดว่าสินค้าตัวเองดีแล้วกับทั้งโลก จึงไม่ต้องปรับปรุง
ดร.อาร์มยังบอกว่า สัดส่วนการลงทุนใน R&D (Research and Development) ในจีนกำลังมา เราคงจะมัวแต่พูดว่าจีนขี้ลอกไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า วันที่อเมริกามีกูเกิล (ปี 1998) สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนนั้นมีเพียงแค่ 0.2% ไม่แปลกหากการเริ่มต้นจะมาจากการหาต้นแบบเพื่อต่อยอดอีกที
แต่มองในระยะยาว จีนเป็นนักวิ่งที่วิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้จีนเริ่มตามทันและเริ่มเป็นผู้นำ มาสุดทางของนวัตกรรม จนต้องเริ่มหาทางคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตัวเอง ดูได้จากสถิติการจดสิทธิบัตรที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่สหรัฐฯ และอยู่เหนือญี่ปุ่น
หนังสือในส่วนที่สาม คือการสำรวจความสัมพันธ์หลากมิติที่จีนมีกับประเทศต่างๆ ทั้ง BRI (Belt and Road Initiative) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนชื่อเพื่อให้ครอบคลุม ไม่ส่อให้เข้าใจผิดว่าเป็นโครงการเดี่ยวๆ แบบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (ชื่อเดิมคือ OBOR หรือ One Belt One Road) รวมถึง ความสัมพันธ์กับไทยในเรื่องการลงทุนสร้างทางรถไฟ ความกระอักกระอ่วนที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ที่ทั้งอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมในฮ่องกงก็โทษกันเองว่าสังคมฮ่องกงเหลื่อมล้ำขนาดนี้ก็เป็นเพราะอีกฝ่าย ความสัมพันธ์ที่จีนเป็นผู้ปกครองของเกาหลีเหนือแบบสปอยล์บ้างห้ามปรามบ้างเพื่อท้าทายสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับออสเตรเลียที่มีการชอนไชผ่านทุนเอกชนจีนซึ่งบริจาคให้นักการเมืองออสเตรเลีย จนฝั่งนั้นต้องออกกฎหมายสกัดกั้น (แม้ว่าจีนจะบอกว่าไม่เกี่ยว)
หนังสือปิดจบด้วยการกลับมาที่อาเซียน โดยบอกว่า ปีที่แล้วที่อาเซียนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (AOIP) แม้จะดูไม่มีอะไรเพราะไม่ใช่นโยบายแต่เป็น ‘ทัศนะ’ แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นการประกาศจุดยืนอาเซียนได้ชัดเจนมากไปถึงหูสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากการที่อาเซียนเลือกใช้คำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งเป็นวลีที่ตั้งขึ้นโดยสหรัฐฯ เพื่อขยายนิยามภูมิภาคนี้ให้ครอบคลุมเป็นแผ่นใหญ่กว่าเอเชียและลดอิทธิพลจีนไปโดยปริยาย แต่อาเซียนก็เลือกจะนิยามคำนี้ใหม่ในแบบของตัวเอง เพื่อให้มีจีนเข้ามาเอี่ยวด้วย
กล่าวคือ ถึงจะใช้คำของสหรัฐฯ เหมือนจะเอาใจ แต่สุดท้ายก็ขอดึงจีนมาด้วย บอกว่าเราเองก็ต้องการให้จีนมีบทบาทเหมือนกัน
เรียกว่าเป็นการบริหารเสน่ห์ ไม่เลือกใคร แต่ปล่อยให้ไปคิดกันเอาเองว่าจะจีบอาเซียนด้วยวิธีไหนในอนาคต
Tags: จีน-อเมริกา, หนังสือ, สหรัฐฯ-จีน