หลายปีก่อน มีข่าวหนึ่งที่แชร์ไปทั่วโซเชียลมีเดีย ปรากฏเป็นรูปบัตรประชาชนชายผู้หนึ่งซึ่งถูกคาดตา และข้อมูลสำคัญๆ เหลือให้เห็นแต่เพียงช่องระบุการนับถือศาสนา เขียนไว้ว่า ‘ลัทธิเบคอน’ ซึ่งทำให้เกิดความตื่นเต้นว่ามีศาสนาหรือลัทธิชื่อนี้อยู่ในโลกด้วยหรือ มากไปกว่านั้นก็คือ เราสามารถระบุชื่อลัทธิและความเชื่อที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนลงในบัตรประชาชนไทยได้ด้วยหรือ ซึ่งบัตรประชาชนของชายผู้นั้นทำให้เห็นแล้วว่า เราทำได้จริงภายใต้กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา

แต่เมื่อไม่นานมานี้…ก็มีข้อมูลออกมาว่า เราทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าชายผู้ที่บัตรประชาชนที่ระบุศาสนาว่า ‘ลัทธิเบคอน’ ผู้นั้น แท้จริงแล้วคืออาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย โดยเฉพาะวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ เขาคือ รศ. ชนินทร์ มณีดำ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และศิลปกรรม สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเมื่อจะคุยเรื่องศาสนาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะมีใครน่าคุยด้วย มากไปกว่าชายผู้ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญและเคยท้าทายสังคมด้วยการระบุในบัตรประชาชนว่านับถือลัทธิเบคอนคนนี้อีกล่ะ 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 อาจารย์มองว่าระหว่างสถาบันกษัตริย์ ทหาร หรือศาสนา กลไกใดหรือสถาบันใดที่มีบทบาทในรัฐธรรมนูญมากที่สุด 

คำถามนี้น่ากลัวนะครับ (หัวเราะ) ผมมองว่าทั้งสามสถาบันนี้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอำนาจมากขึ้นนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น ในรูปแบบของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์โดยตรง ที่ชัดเจนในความคิดของผม คือเรื่องของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากเดิมที่เป็นอำนาจของสภาหรือเป็นการแต่งตั้งตำแหน่งที่มีกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เช่น แต่งตั้งมาจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือ ส.ว.ที่อายุสูงสุดสามคน ตอนนี้อำนาจนี้คืนสู่พระมหากษัตริย์

การเปลี่ยนผ่านอำนาจในกรณีนี้ ในทางประวัติศาสตร์มีช่วงเวลาที่สำคัญอยู่สองช่วง คือ ในปี 2492 ซึ่งให้อำนาจพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง (ผู้สำเร็จราชการฯ) แล้วรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2534 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะแต่งตั้งด้วยการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แล้วก็ให้ไปสาบานต่อสภา

พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ชัดเจนว่า อำนาจนี้เป็นดุลพินิจวินิจฉัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนๆ เช่น จะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ 

ส่วนขั้วอำนาจที่เรียกว่าทหารนั้น ผมมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนชัดถึงสถาบันทหาร แต่เราจะเห็นลักษณะอำนาจของรัฐราชการที่มีมากขึ้น มีการกระจายไปยังสถาบันการเมืองต่างๆ ยกตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือสมาชิกวุฒิสภา จะเห็นได้ว่า ส.ว.ที่มาจากทหารมีจำนวนมากขึ้น 

ส่วนอีกอันหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดเลยนะ ก็คือเรื่องศาสนา ลักษณะของบทบัญญัติเรื่องศาสนาในรัฐธรรมนูญไทย แต่เดิมจะยึดแนวที่ว่า “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น’ มาตลอด ก็คือพุทธศาสนามาก่อน ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง อันดับสองก็คือศาสนาอื่นๆ และมองว่า เสรีภาพทางศาสนาต้องบริบูรณ์ ที่อีกส่วนหนึ่งเรียกว่าความเสมอภาคทางศาสนา ซึ่งเรื่องเสรีภาพทางศาสนาที่ต้องบริบูรณ์นั้น มีการเปลี่ยนถ้อยคำมาเรื่อยๆ จากปกติที่ลักษณะการนับถือจะอยู่ในใจเรา รัฐจะเข้าไปควบคุมไม่ได้ รัฐจึงประกันให้เป็นเสรีภาพโดยบริบูรณ์ ในตอนแรกจึงปรากฏให้เห็นว่า เรามีทั้งศาสนา ทั้งลัทธินิยม ทั้งปรัชญาใดๆ ที่สามารถนับถือได้ และรัฐก็ให้การรับรอง 

แต่มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในทางปฏิบัติ เท่าที่ผมเช็กมา การลงรายการในบัตรประชาชนจะจำกัดลงมาก จากเดิมที่เหมือนว่าอะไรก็สามารถเป็นศาสนาได้ คราวนี้กลายเป็นว่า กรมการศาสนามาเป็นผู้ให้นิยามกำหนดว่าอะไรบ้างคือศาสนา ซึ่งก็จะมีแค่พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ 5 ศาสนาเท่านั้นที่ลงในบัตรประชาชนได้

ลัทธิ หรือศาสนาอื่นๆ ไม่ได้แล้วใช่ไหมครับ

ศาสนาหรือลัทธินิยมแบบ ริลัคคุมะบคอน อะไรแบบนี้ไม่ได้แล้วครับ เอกสารที่ผมเห็นล่าสุด คือมีคนไปขอจดทะเบียนที่จังหวัดจันทบุรี แล้วเจ้าพนักงานไม่อนุญาต จึงขอความเห็นไปยังมหาดไทย มหาดไทยก็ยึดถือแนวทางปฏิบัติตามกรมการศาสนาว่าอะไรเป็นศาสนาได้บ้าง ก็ต้องนิยามโดยรัฐอยู่ดี ฉะนั้นผมว่าคำว่า ‘บริบูรณ์’ มันอาจจะไม่ใช่แล้วครับในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

อีกวลีหนึ่งที่สำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ในส่วนที่พูดถึงการปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนา ที่แต่เดิมอนุญาตในกรณีที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งฉบับล่าสุดนี้มีวรรคสำคัญที่เพิ่มขึ้นมา คือ ‘ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ’ เท่ากับว่า ขึ้นอยู่กับรัฐในการให้คำนิยามหรือตีความ

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มีมาตราที่กล่าวว่า “ไม่ให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิ์หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมศาสนา หรือการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อแตกต่างจากบุคคล” แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดตัดออกไป 

หากย้อนไปในรัฐธรรมนูญปี 2475 เขียนเรื่องนี้ไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือ 2550 ก็เพิ่มไปว่าต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็เพิ่มเข้ามาอีกว่า ต้องห้ามเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ

ซึ่งหมายความว่ารัฐค่อยๆ เข้ามาควบคุมเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้น 

จะพบว่าตั้งแต่มีกระแสการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 เกิดแคมเปญหนึ่งขึ้น คือแคมเปญที่พยายามให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ที่มีปัญหาที่สุดในตอนนี้ ผมมองว่าอยู่ที่มาตรา 67 มากกว่า ก็คือการบัญญัติให้รัฐต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาพุทธเป็นพิเศษ ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ และก็มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว 

เมื่อดูถ้อยคำของบทบัญญัติจะพบว่ารัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติให้รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 

ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กันนะครับ แต่จะเพิ่มความสำคัญของศาสนาพุทธลงไปมากกว่าก่อนหน้า โดยเขียนไว้ว่า “รัฐต้องให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน” และที่พีคคือยังเพิ่มเข้ามาอีกว่า “รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องให้มีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พระพุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย” 

ถ้าอ่านแบบเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ศาสนาอื่นอยู่ตรงไหนบ้างในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ ไม่มี 

และที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการใช้คำว่าพุทธศาสนาเถรวาท เปรียบเสมือนเป็นนิกายประจำชาติไทย

ย้อนกลับไปที่คำถามแรก กับเรื่อง 3 สถาบันสำคัญ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าสถาบันที่มีอำนาจมากขึ้นก็คือพระมหากษัตริย์ รองลงมาก็คือสถาบันศาสนา ซึ่งก็คือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท แต่ที่ไม่ได้มีการกล่าวหรือเขียนบทบัญญัติไว้อย่างตรงๆ แต่มีอำนาจพุ่งปรี๊ดจริงๆ แบบใครก็มองเห็นก็คือสถาบันทหาร ซึ่งขับเคลื่อนผ่านทาง ‘รัฐราชการ’

คิดว่าคนส่วนใหญ่กล้าหรือไม่กล้าที่จะเปลี่ยนศาสนาในบัตรประชาชน แล้วทำไมอาจารย์ถึงเปลี่ยนศาสนาเป็นลัทธิเบคอน 

ผมเชื่อว่าคนไทยนับถือศาสนาพุทธน้อยกว่าที่ทางการเข้าใจแน่ๆ แต่ถามว่ากล้าหรือเปล่า บางเรื่องมันก็มีเรื่องของวัฒนธรรมกดไว้อยู่ เช่น ตอนเราเด็กๆ เราเห็นคนเขาไหว้พระกัน เราก็ยกมือขึ้นมาไหว้บ้าง ประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ระบุศาสนาในบัตรประชาชนนะครับ ในประเทศไทยเองก็เคยมีความพยายามในเรื่องนี้โดยคุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา เพราะรัฐไทยใครเกิดมาปุ๊บก็ถือว่าเป็นพุทธหมด 

อย่างผมเองที่เปลี่ยนเป็นลัทธิเบคอน จริงๆ แล้วผมไม่ได้นึกไปก่อนด้วยซ้ำว่าจะเปลี่ยนมาเป็นลัทธิเบคอน ผมไปคุยกับปลัดอำเภอก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ดีมากๆ ผมจะเอาชื่อหมาผมเป็นศาสนา แต่ปรากฏว่า ปลัดอำเภอบอกว่านิยามของศาสนา มันต้องมีคนนับถือบ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลย รู้เลยว่าผมไม่ใช่กรณีแรกแน่ๆ เท่าที่ผมเห็นนะ ก่อนหน้าผมก็มีหลายคน ที่เคยเห็นก็คือ ริลัคคุมะ เจได แล้วก็มาเป็นผมคือเบคอน 

หลังจากพูดคุยถกเถียงกับปลัดอำเภอเสร็จแล้ว พอตอนไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่รู้แล้วว่าที่เราจะระบุว่าลัทธิเบคอนนั้น มันมีคนนับถือจริงๆ เขาก็กล่าวขอโทษ “โทษทีป้าไม่รู้ ป้าไม่ได้อ่าน” ซึ่งตอนที่ผมเปลี่ยนศาสนา มันยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2557 นะครับ แล้วพอปี 2559 ก็เกิดกรณีมีผู้ว่าฯ ส่งจดหมายไปถามกระทรวงมหาดไทยว่ายึดเกณฑ์อะไรในเรื่องการให้นับถือศาสนา มหาดไทยก็อ้างเกณฑ์ของกรมการศาสนา ซึ่งกรมการศาสนาก็บอกว่า ศาสนาต้องมีผู้เผยแพร่ มีศาสดา ตอนนี้เลยเหลือเพียงแค่ 5 ศาสนาที่สามารถระบุในบัตรประชาชนได้ ผมถามหน่อยว่า แล้วฮินดูใครเป็นศาสดา ก็ไม่มี อย่างชีเปลือย มีพิธีกรรม มีผู้นับถือ ไม่มีศาสดาแต่คุณก็ไม่นับให้เขาเป็นศาสนาในเมืองไทย 

ผมคิดว่าการให้กรมการศาสนาเป็นผู้ตีความ ตามหลักการถือว่าไปไกลมากนะครับ เพราะสุดท้ายมันคือการให้รัฐไทยเป็นผู้นิยามว่าศาสนาคืออะไร

จริงๆ แล้ว การที่รัฐเข้ามานิยามศาสนา ถือว่าเป็นปัญหาไหม

สำหรับผมนะครับ คือเมื่อไรที่จัดสิ่งดังกล่าวเข้าเป็นแดนส่วนตัว รัฐไม่ยุ่ง ไม่มีปัญหาเลย คุณจะไปไหว้อะไรก็ตามแต่ศรัทธาของคุณ เว้นแต่การไหว้ของคุณทำลายศีลธรรมอันดีของประชาชน ถึงจะเป็นปัญหา สิ่งที่รัฐควรจะสนใจคือเราจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะขึ้นสวรรค์หรือลงนรกอย่างไร เรื่องแบบนี้ผมว่ามันเป็นภารกิจของรัฐยุคกลาง รัฐสมัยใหม่ไม่น่าจะต้องเอามารวมกันแล้ว แต่ว่ารัฐไทยก็มีแนวโน้มว่าจะนำมารวมกันมากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเสียอีก 

การที่อาจารย์เปลี่ยนมาเป็นผู้นับถือลัทธิเบคอนแล้ว ในครั้งหน้าที่ต้องไปทำบัตรประชาชนใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะยังสามารถคงคำว่าลัทธิเบคอนไว้ในบัตรประชาชนได้ไหม

ผมมั่นใจเลยว่าต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะว่ามีแนวทางการปฏิบัติของมหาดไทยออกมาแล้ว ถ้าครั้งหน้าเขาไม่ให้ผมใช้ลัทธิเบคอนในบัตรเพราะไม่ใช่ศาสนา ผมก็คงไม่ฝืนอะไร บอกตรงๆ ขี้เกียจ ผมก็คงลงว่าไม่นับถือศาสนาไปครับ ซึ่งสามารถทำได้แล้ว เพราะพอหลังๆ รัฐไทยเริ่มมีปัญหาตรงนี้มากขึ้นๆ เขาก็จะมีแนวปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่นับถือก็ได้ ก็ไม่ต้องเขียนระบุศาสนาก็ได้ แต่ถ้าจะนับถือ จะให้เขียนระบุลงในบัตรประชาชนให้ ก็ต้องเป็นไปตามแพ็คเกจนี้ พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ 

แต่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังไม่ใช่หรือ หากเราเคยได้รับการรับรองว่าสามารถระบุในบัตรประชาชนได้ว่านับถือลัทธิเบคอนมาแล้วครั้งหนึ่ง ทำบัตรครั้งต่อไปก็น่าจะได้ 

ผมมองว่าลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมายย้อนหลัง แต่ครั้งแรกเป็นการตีความที่อาจจะยังไม่มีแบบแผนกลาง แต่พอตีความแบบแผนกลางแล้ว เขาตีความว่าสิ่งที่ผมนับถือไม่ใช่ศาสนา ก็ถือเป็นแค่การเปลี่ยนการตีความมากกว่า

แต่ถามว่าถือเป็นการลิดรอนหรือเปล่า ถือเป็นการลิดรอนอย่างแน่นอน อะไรที่เราเคยทำได้ มันเป็นขอบเขตของเรา แต่คราวนี้ขอบเขตของเราดันลดน้อยลง มันก็ถือเป็นการลิดรอน 

แต่หากพิจารณาภาพใหญ่กว่านั้น ผมมองว่าบทบัญญัติลักษณะนี้ มันไม่ได้แค่ลิดรอนสิทธิสำหรับคนที่นับถือศาสนาแปลกๆ หรือพวกเอทิสต์ (Athiest) เท่านั้นนะครับ พวกที่โดนจริงๆ ผมว่าน่าจะเป็นพวกที่มีศาสนาหลักที่เขาเคารพบูชาของเขามากกว่า

ประเด็นของศาสนาในรัฐธรรมนูญจะดำเนินต่อไปอย่างไร ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ 

ผมคิดว่ามาตรานี้ต้องแก้ให้ซอฟต์ลง เรื่องบางเรื่องมันเป็นศิลปะนะ เช่น คุณจะอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาพุทธ คุณไม่ต้องใส่ให้เห็นในรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่นี่คือพยายามเคลม พยายามประกาศมากเกินไป ไม่ได้คิดว่าในประเทศไทยก็มีศาสนาอื่นๆ อยู่เหมือนกัน อิสลามในประเทศเราก็มี ตัวเลขล่าสุดผมว่าก็หลายล้านอยู่นะ มันต้องกลับมาบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ขุ่นเหมือนเดิม 

นอกจากเรื่องศาสนาแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เกิดขึ้น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง 

มาตรา 1 มาตรา 2 เขาเรียกว่า eternity clause ถ้าเรียกตามรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ก็คือหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐานแห่งรัฐ เป็นแก่นของธรรมนูญ แก้ไม่ได้ รูปแบบของรัฐ ในแง่ของประมุขจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐไม่ได้ ในแง่ของความเป็นรัฐ จะแก้ให้เป็นสหพันธรัฐไม่ได้ และจะแก้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบอื่น ก็ไม่ได้ 

มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทยเขียนคล้ายๆ กับของฝรั่งเศส ซึ่งมีความเป็นชาติอยู่ในนิยาม แต่มาตรา 1 นี้ แก้ไม่ได้ เพราะคือแก่นของระบอบ แนวคิดเรื่องแก่นของระบอบก็จะมีประวัติศาสตร์ความเป็นชาติซ้อนอยู่ในนั้น เช่น พม่า และฝรั่งเศส เขาบอกว่า เขาเป็นสาธารณรัฐอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ มันจะมีเซนส์ทางประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาเคยทะเลาะกันมานานแล้ว ทะเลาะกันแบบสุดๆ ของประเทศนั้นนะครับ 

มาตรา 1 ของเยอรมนีและแอฟริกาใต้ เป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นมาตราหนึ่งซึ่งเป็นแก่นของระบบของสองประเทศนี้ ก็เพราะว่านี่เป็นเรื่องที่เขาเคยมีปัญหาแบบสุดๆ มา 

ถ้าว่ากันตามหลักการจริงๆ คุณแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับเลย ห้ามแก้แค่ 3 เรื่องนี้ ข้อ 1 ห้ามเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ข้อ 2 ห้ามเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ นั้นชัดเจน แต่พอข้อ 3 กับคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มันมีเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินเยอะมากนะครับ ยกตัวอย่างเช่น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 15-16/2556 ที่ระบุว่ายิ่งลักษณ์จะเปลี่ยนให้ ส.ว. มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะกระเทือนระบอบ เสียระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล 

ซึ่งผมก็งงว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ว.ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วก็ใช้ชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกัน แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 กลับบอกว่า แก้ไม่ได้ หากให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะกระเทือนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันเลยทำให้คำคำนี้ดิ้นได้มากเลย ตีความได้กว้างมาก ใครมีอำนาจในการนิยามก็คนนั้นแหละ ซึ่งถ้าเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนตีความว่าอะไรคือเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินสำคัญของระบอบนี้บ้าง

หมายความว่า ข้อเสนอให้แก้มาตรา 1 เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้นั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้ 

ผมคิดว่าไม่ต้องแก้มาตรา 1 เลย คุณไปแก้ระเบียบวิธีบริหารราชการแผ่นดินให้กระจายอำนาจมากขึ้นก็ได้ เช่นในประเทศสเปน สเปนแบ่งเป็นแคว้นๆ มีเสรีมากกว่าหลายๆ ประเทศที่เป็นสหพันธรัฐอีก ผมมองว่าการแก้ไขมาตรา 1 ไม่จำเป็นในแง่นี้ครับ

เราสามารถพูดถึงการแก้ไขหรือไม่แก้ไข หรือการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 1 โดยไม่ถูกตั้งข้อหาได้ไหม

การพูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวก็จริง แต่ผมก็ไม่อยากจะเชื่อเลยนะว่า กรที่ใครคนหนึ่งอธิบายหรือให้ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 1 แล้วโดนแจ้งความจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง) มันเป็นการตีความที่ไปไกลมาก การจะกล่าวถึงมาตรา 1 ว่าแก้ได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่พูดถึงกันได้ โดยเฉพาะในเชิงวิชาการก็พูดถึงกัน อย่างงานของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยกล่าวไว้ในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าแม้มาตรา 291 อนุ 1 จะบอกว่าห้ามแก้ แต่ถ้าจะแก้ ก็ให้แก้มาตราที่บอกว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญก่อน (มาตรา 255 รัฐธรรมนูญ 2560)

ที่จริง รัฐธรรมนูญมันแก้ได้หมดทุกมาตราแหละครับ เพราะมีการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยอำนาจทางการเมืองแบบหนึ่งที่เรียกว่า อำนาจสถาปนารัฐ ซึ่งฉีกได้ทุกมาตราเลย ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดก็คือฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ พอมีการปฏิวัติปุ๊บ มีรัฐธรรมนูญบอกว่าห้ามแก้ให้เป็นสาธารณรัฐ เสร็จแล้วก็แก้ให้เป็นสาธารณรัฐ แก้ปุ๊บก็บอกว่าห้ามแก้ให้เป็นสหราชอาณาจักร ก็แก้กลับมาเป็นสหราชอาณาจักรอีก แล้วก็ห้ามแก้เป็นสาธารณรัฐอีก ห้ามไปห้ามมา จนสุดท้ายมันห้ามไม่ได้ ก็แก้ไปแก้มา 

หรือกรีซก็เหมือนกันครับ หลักการเดียวกัน ตอนมีกษัตริย์บอกว่าห้ามแก้เป็นสาธารณรัฐ พอตอนเป็นสาธารณรัฐห้ามแก้ให้เป็นระบอบกษัตริย์ หรืออย่างสเปน เขาก็มีการบัญญัติลักษณะนี้ให้มันเป็นรูปธรรม เช่น บอกว่าถ้าจะแก้ ให้ใช้เสียง 203 เสียง พอเลือกตั้งได้เสร็จปุ๊บยุบสภา ส่งให้ศาล แล้วค่อยไปทำประชามติ ก็แก้ได้เลยกลายเป็นสาธารณรัฐมาตั้งแต่ประมาณปี 1975-78 แต่จากนั้นเขาก็ไม่แก้กลับนะครับ ระบอบเขาก็ยังดำเนินไปได้ ผมว่าอย่างสเปนเขาร่างอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆ ก็คือถ้าอยากแก้ก็บอกมาเลย จะได้เห็นหน้ากัน ไม่ใช่คุณไปทำเป็นขบวนการใต้ดิน 

ในฐานะนักวิชาการและสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ปัญหาใหญ่ ปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมุมมองของอาจารย์คืออะไร

ผมมองว่าปัญหาสำคัญของมันมีอยู่สองประเด็น เรื่องแรกก็คือที่มาของกระบวนการการร่าง อย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงเราจะไม่เคยไปเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่เคยลงประชามติ แต่มันมีบรรยากาศของการอยากได้ ‘หลักการ’ ร่วมกัน อยากปฏิรูปการเมือง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ก็คือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามากุมอำนาจทางการเมืองแล้วร่างกฎเกณฑ์ขึ้นมาปกครอง 

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติ มีประมาณ 15 ล้านเสียงต่อ 10 ล้านเสียง แต่มันก็ดันมีเหตุการณ์สำคัญที่เพียงพอที่จะทำให้ฝ่าย 10 ล้านเสียงกล่าวอ้างได้ว่าไม่ชอบธรรม ที่สำคัญเลยก็คือ พระราชบัญญัติประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ใครให้ความเห็นในเชิงลบต่อร่างรัฐธรรมนูญ จะเสี่ยงต่อโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โทษทีนะครับ ตอนพม่าเขาลงประชามติรัฐธรรมนูญตอนปี 2550 ซึ่งเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนาร์กิสก็ทรงๆ นี้แหละ ตอนนั้นคนพม่าโดนจับไป 40 คน ยังจำคุกไม่เกิน 3 ปีเลย ของเราโทษสูงสุด 10 ปี โดนจับกันไป 200 คน 

อีกปัญหาหนึ่งคือตอนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทุกคนจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหนังสือเล่มเหลืองเล็กๆ ที่เขาแจกให้ทุกบ้าน แต่ตอนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นี่ไม่แจกนะ มีแจกเฉพาะฉบับโฆษณาอย่างเดียว ไม่ให้เราอ่านทั้งฉบับด้วยซ้ำ

อีกปัญหาคือคำถามรับร่างรัฐธรรมนูญ ตอนลงประชามติ คำถามมีสองคำถาม คำถามแรก รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ รับไม่รับก็เคลียร์ใช่ไหมครับ คำถามที่ 2 เป็นคำถามพ่วง “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในวาระแรก ให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี” คำถามนี้มันตีความได้สองอย่างนะ หนึ่ง คนที่กาเห็นด้วย เพราะเขารักนายกฯ ตู่จริงๆ เขาอยากให้คนที่เป็น ส.ว. ที่นายกฯ ตู่เลือกเข้าไปเลือกนายกฯ ตู่กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และในอีกแง่หนึ่งก็ตีความได้ว่า เขาอ่านไม่รู้เรื่อง เขาแยกไม่ออกว่า รัฐสภาคือ ส.ส. บวก ส.ว. นะ อันนี้เป็นปัญหามากเลย เพราะว่ารัฐธรรมนูญสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 กระบวนการสำคัญเท่าเนื้อหานะครับ 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สังคมประชาธิปไตยไทยอ่อนแอลง หรือมันส่งผลให้มวลชนที่ต่อสู้เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยมีกำลังมากขึ้นหรือเปล่า

ผมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ส่งเสริมการต่อสู้ของมวลชนนะ แต่ถามว่ามวลชนเขามีอะไรเป็นอาวุธ ผมมองอย่างเดียวเลยก็คือ ‘เวลา’ โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่รัฐไทยพยายามจะหมุนประเทศไทยให้กลับไปเป็นรัฐราชการ จะเลือกตั้งก็ได้ แต่รัฐราชการเป็นคนควบคุมหมด ผมมองว่ามันจะเดินไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ แต่อย่างที่บอก อาวุธคือเวลา

ในขณะที่สถาบันพรรคการเมืองก็อ่อนแอลง ดูได้จากอย่างแรกก็คือ ลักษณะของกฎหมายพรรคการเมือง ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรค แบบนี้ใครจะอยากมาเล่นการเมืองครับ เพราะคุณต้องทำในรูปแบบของพรรคการเมืองที่ได้รับการจดทะเบียนจากรัฐเท่านั้น จุดนี้ตายเลยนะ บางประเทศเขาไม่ต้องจดทะเบียนพรรคการเมือง แต่ของเราต้อง ฉะนั้น พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทีก็ยุบพรรคไป

ประเทศอื่น ประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐ ของเรา รัฐไม่ไว้วางใจประชาชน อย่ารวมกลุ่มกัน มึงไม่มีการศึกษา มึงมันโง่ มึงมันไม่พร้อม เดี๋ยวจะไปเลือกนักการเมืองโกงกินเข้ามา เพราะฉะนั้น ก็ต้องผ่านระบบการจดทะเบียน ซึ่งถ้าเมื่อไรรัฐไม่ชอบพรรคไหน เหตุยุบพรรคมีเต็มไปหมดเลย

อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ลองสังเกตดู ยุครัฐธรรมนูญปี 2540 – 2550 ประเทศไทยเริ่มก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่า ‘ระบบการเมือง’ ทั้งในแง่ของจำนวนพรรคการเมืองในอุดมคติ มีสองพรรคใหญ่ สลับกันเหมือนอังกฤษ เหมือนอเมริกา แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มีขั้วการเมืองประมาณสองขั้วก็จริง แต่เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่ประหลาด ทำให้มีพรรคการเมืองกว่า 20 พรรค เยอะจนผิดปกติ มันก็เลยไม่เข้มแข็ง แล้วพอพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง สิ่งที่จะเข้มแข็งขึ้นแทน ก็คือ ‘รัฐราชการ’ 

ในฐานะนักวิชาการ มาตราไหนหรือเรื่องไหนในรัฐธรรมนูญที่คิดว่ามันเป็นภัยต่อประชาชนที่ควรต้องแก้

ฐานคิดสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญทุกที่เขาเอาประชาชนเป็นหลัก แต่ฐานคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฐานคิดที่น่ากลัว บางคนเขาอาจจะชอบอย่างนี้จริงๆ ซึ่งเรียกว่า mixed government คือเอาแต่ละภาคส่วนมาแชร์อำนาจกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนถือว่าล้ำมากนะ เช่น อังกฤษ มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มีพวก house of lord แล้วก็มีศาล มีพระมหากษัตริย์ แต่ละฝ่ายที่ไม่ได้มีรากฐานอย่างเดียวกันมาแชร์ความชอบธรรมกัน

ซึ่งปัจจุบันนี้ บางคนเขามองรัฐธรรมนูญไทย โอ้โห ชอบมากเลย เขาบอกว่ามันเป็นไอเดียที่เวิร์กเมื่อ 200 ปีที่แล้ว แต่สำหรับคนอีกฝั่งหนึ่งก็จะมองว่า เฮ้ย รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันลอยจากประชาชนมาก เพราะอำนาจของประชาชนมันแค่เลือก ส.ส. เป็นเพียงส่วนแสดงให้เห็นความสง่างามว่าเรามีการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่อำนาจตัดสินใจขึ้นช้างลงม้า อำนาจจริงๆ กลับไปอยู่ในองค์กรอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ผมว่าถ้าจะแก้ ระยะใกล้ที่สุด คือ แก้เรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่คุณต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 นะครับ แต่ถ้าแก้แล้วกระเทือนรูปแบบของรัฐ เรื่องประมุข และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ห้ามแก้ แต่เรายังไม่รู้เลยว่า ระบอบนี้ criteria อยู่ขั้นไหน เพราะจากคำวินิจฉัยที่ 15-16/56 ที่กล่าวไปแล้ว สุดท้ายก็แก้เรื่อง ส.ว. ไม่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้กระทั่งวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ออกแบบมาได้ค่อนข้างจะประหลาดมากนะครับ คือ ต้องวางหมาก วางม้า วางโคนกันทางการเมือง สุดท้าย วิธีการลงมติจะเหมือนการเลือกนายกฯ ก็คือใช้วิธีถามเป็นรายตัว ซึ่งวิธีการถามเป็นรายตัว เมื่อดูจากโหวตนายกฯ คราวที่แล้วก็จะพบว่า ส.ว. 249 คน เขาไม่หลุดเลยนะครับ เว้นแต่โจทย์เดียว อย่างน้อย ถ้าจะแก้ไขได้มันต้องมีฉันทามติกันระหว่างทั้งส่วนของภาคประชาชนทั่วไป ทั้งส่วนของรัฐราชการก็ต้องยอมด้วย ซึ่งผมมองว่าในระยะใกล้ๆ นี้ ใครมันจะไปยอม ฝั่งหนึ่งบอกว่ารัฐธรรมนูญร่างมาเพื่อพวกเขา แล้วอีกฝั่งไม่เอาเลย มันก็มีทั้งคนชอบ และจะแก้ได้ก็คงต้องรอถึงเหตุการณ์และเหตุปัจจัย หรือว่าเหตุบังเอิญอะไรสักอย่างในประวัติศาสตร์ข้างหน้า แต่ตอนนี้ผมว่ายังนะครับ

แต่ละประเทศ ถ้าการเมืองเสถียรปกติรัฐธรรมนูญก็จะแก้รัฐธรรมนูญประมาณ 11 ปีครั้ง เพราะสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่สมัยนี้มันยุคจรวด ถ้าดูเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยเอง เร็วยิ่งกว่า 11 ปี อีก ประมาณ 4 ปีครึ่งก็เปลี่ยนแล้วนะครับ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้นานหน่อยก็จะเป็นฉบับ 2475 วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งใช้ยาวไปถึง 2489 เลย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เปลี่ยนระบอบ วางรากฐานของระบอบ ซึ่งผมมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มันมีลักษณะวางรากฐานของระบอบใหม่เหมือนกัน ระบอบใหม่ที่รัฐราชการจะเป็นใหญ่ ก็คือน่าจะยาวอยู่นะครับ แต่ถ้าถามว่าแก้ได้ไหม มันไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่มันแก้ไม่ได้เลย 

แล้วประชาชนจะต่อรองเพื่อหาพื้นที่ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไรบ้าง 

ถ้าตอนนี้ เราหาพื้นที่ได้แค่สนามเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็จะเป็นการต่อรองในรูปแบบที่เรียกว่าย้อนยุคนะครับ เหมือนอังกฤษยุคปฏิวัติเสร็จใหม่ๆ หรือในยุคพระนารายณ์ของเรา คืออำนาจไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่เขาเป็นผู้พูดแทนเราแค่นั้น ส่วนในแง่ที่ว่าถ้าจะต่อรองแก้ไขไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมองว่าประชาชนก็จะต้องอาศัยพรรคการเมือง ถ้ามองตามบทบัญญัตินะครับ เข้าชื่อกันรวมได้ 50,000 เสียง ก็ไปเริ่มที่สภา แต่อีกแง่หนึ่ง ผมมองว่าสภาก็ต้องพึ่งประชาชน 

ในประเทศไทย ผมมองว่าตอนแรก ไม่ว่าอย่างไร อาจจะเริ่มแคมเปญด้วยประชาชน แต่ก็ต้องไปพึ่งนักการเมือง แต่ถ้าจะแก้ให้สำเร็จจริงๆ นักการเมืองต้องพึ่งประชาชน ต้องพึ่งเสียงนอกสภา เสียงนอกสภาต้องดัง ดังจน ส.ว. ได้ยิน พรรคฝ่ายค้านได้ยิน ศาลรัฐธรรมนูญได้ยิน 

ในแง่สังคมวิทยาการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับไหนเริ่มแก้ไขยาก มันจะอายุสั้น เพราะเมื่อแก้ไม่ได้ มันก็พยายามฉีก ผมว่าฉบับนี้อาจจะเลี้ยงไปได้นานหน่อย เพียงแต่ว่าเมื่อไรที่สังคมเริ่มหาฉันทามติกันได้ ก็น่าจะเกิดเป็นโมเดลในการแก้รัฐธรรมนูญได้

ในฐานะนักวิชาการและสอนรัฐธรรมนูญด้วย มองการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้อย่างไร 

ผมว่าเขาวางหมากไว้เจ๋งมากเลยนะ หมากเยอะมากเลย แค่ให้เหลือบัตรเลือกตั้งบัตรเดียวก็เวิร์กมากแล้วสำหรับเขา ถือว่าวางหมากไว้สวยมากครับ วิธีการคำนวณ วิธีการร่าง เขาไม่ได้ร่างจากฐานคิดนะครับ เขาร่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ดึงโน่นนี่นั่นมาซ่อมแซมแบบปะผุ เฮ้ย ตรงนี้มีปัญหาทางปฏิบัติ ก็ดึงตัวนี้มาสู้กับตัวนี้ 

แต่ถ้าถามว่า วิธีวางหมากวางเกมของเขามันสมบูรณ์แบบไหม ก็ยังไม่นะ มันจะมีสเต็ปหนึ่งที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คือ คนไหนที่มีอำนาจในรัฐธรรมนูญนี้ ต้องควบคุมได้หมด แต่ก็เกือบจะโดนทักษิณเจาะได้แล้วในการเสนอชื่อแคนดิเดตพรรคไทยรักษาชาติ มันมีช่องว่างไง คนที่มีอำนาจควรต้องคุมได้หมด ลองคิดดูว่าถ้าเกิดว่าแคนดิเดตพรรคไทยรักษาชาติได้เป็นนายกรัฐมนตรี เกมพลิกนะครับ เขาก็ไม่ได้วางสมบูรณ์แบบขนาดนั้น หรือสมมติมีมือดีๆ รักประชาธิปไตยไปเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เกมก็จบเหมือนกัน

แล้วมีทางที่มีจะสะดุดหมากตัวเองไหม 

ที่จริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลมีอำนาจเลยนะครับ มันไม่ได้ทำให้เขาคล่องในการดำเนินการทุกอย่าง คุณแค่คุมสถานการณ์ได้เฉยๆ รัฐบาลคุณประยุทธ์มีอำนาจไหม ผมว่าไม่มีนะ คนที่มีอำนาจก็คือองค์กรตรวจสอบทั้งหลายนั่นแหละที่มีอำนาจมากกว่า เมื่อไรที่เขาคิดจะเข้ามาตรวจสอบคุณก็คือจบนะครับ เพียงแค่ตอนนี้ยังไม่คิดมาตรวจสอบเท่านั้น

การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองได้ไหม

ปัญหาทางการเมืองมันแก้ด้วยรัฐธรรมนูญได้แน่นอน ในมุมมองของผมนะครับ ไม่ต้องอะไรมาก ขนาดทหารมาถึงปุ๊บ รัฐประหารวันแรกก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญก่อน ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญมีความสำคัญในการแก้ปัญหาทางการเมือง เพียงแต่ว่าเราเสียท่าไปแล้วในฉบับนี้ ตรงที่การแก้ไขเราต้องอาศัยฉันทามติจากหลายส่วน ซึ่งดูภาพอันใกล้ในตอนนี้ก็น่าจะยังไม่เห็นทาง เพราะว่ายังมีฝั่งที่ได้ประโยชน์ ฝั่งที่เสียประโยชน์ อย่างตอนที่ใกล้ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนมากอดคอกันได้เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ตอนนี้ยังไม่มีภาพนั้น เศรษฐกิจฝั่งหนึ่งบอกไม่ดี แต่ฝั่งหนึ่งบอกว่าไอโฟน 11 ยังขายดีอยู่เลย

Tags: , , ,