เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ปะทะกันอย่างสร้างสรรค์ของความคิดเห็นที่แตกต่าง? ในบางพื้นที่ ผู้คนยึดถือว่าข้อมูลจากเฟซบุ๊กเป็นเสมือนแหล่งข่าวสารเดียวที่เชื่อถือได้ ทั้งที่จริงแล้วต้นทางของการโพสต์อาจไม่มีมูลเลย และเฟซบุ๊กเองก็วางตัวว่าจะไม่รับผิดชอบต่อเนื้อหาเหล่านั้น

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าความเชื่อที่ผิดๆ ก็คือ การไม่แยกแยะหรือเผื่อใจให้กับความเท็จ ที่อาจทำให้ข่าวเหล่านั้นนำไปสู่ความรุนแรงในชีวิตจริง และไล่ลามไปจนกลายเป็นความแตกแยกในประเทศ

ตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น คือความรุนแรงที่ศรีลังกา เริ่มต้นจากข้อกล่าวหาที่ว่า กลุ่มมุสลิมในประเทศสมคบคิดกันวางยาเพื่อทำให้ชาวพุทธผู้ใช้ภาษาสิงหลกลายเป็นหมันเพื่อลดจำนวนประชากรซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ข้อกล่าวหานี้ไปสนับสนุน ‘ข่าวลวง’ ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กที่บอกว่า ตำรวจยึดของกลาง เป็นยาทำหมันจำนวน 23,000 เม็ดในร้านขายยาของชาวมุสลิมในเมืองอัมพารา (Ampara)

อาจเป็นคราวเคราะห์ของสองพี่น้องชาวมุสลิมผู้ใช้ภาษาทมิฬครอบครัวหนึ่ง ซึ่งลงทุนเงินเก็บที่ได้จากการไปตรากตรำทำงานในซาอุดิอาระเบียมาเปิดร้านอาหารขนาดหนึ่งคูหาในศรีลังกา แต่แล้วเย็นวันหนึ่งในเดืนกุมภาพันธ์ ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มในประเทศที่ร้อนระอุอยู่ใต้พื้นผิวมานาน ก็ดันมาเลือกจังหวะปะทุขึ้นในร้านของพวกเขา

เริ่มจากการที่ลูกค้าคนหนึ่งตะโกนเป็นภาษาสิงหลขึ้นมาว่า เขาเจอบางอย่างในจานอาหารของตัวเอง Farsith เจ้าของร้านวัย 28 ปี ไม่เข้าใจภาษาสิงหล จึงได้แต่ทำนิ่งเฉย

เขาไม่รู้เลยว่าวันก่อนเกิดเหตุ มีข่าวลือแพร่สะพัดไปในเฟซบุ๊กว่าตำรวจบุกจับและยึดยาทำหมันจำนวนมากจากร้านขายยาของชาวมุสลิม ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นข่าวลวง

ลูกค้าที่เดือดดาลคนดังกล่าวเรียกฝูงชนให้เข้ามารุมล้อมรอบตัว Farsith แล้วตะโกนใส่ “แกใส่ยาทำหมันลงไปใช่ไหม”

เขาจับความได้เพียงว่า คนเหล่านั้นถามถึงผงแป้งในอาหาร และหวาดกลัวว่า หากพูดอะไรพลาดไป จะทำให้คนเหล่านั้นก่อความรุนแรงขึ้นมา

“ผมไม่รู้” เขาตอบกลับเป็นภาษาสิงหลกระท่อนกระแท่น “ใช่… เราใส่?”

หลังจากฝูงชนได้ยินคำยืนยัน พวกเขาก็รุมซ้อม Farsith ทำลายข้าวของในร้าน แล้วจุดไฟเผามัสยิดในพื้นที่

หากเป็นสมัยก่อน เรื่องนี้คงจบแค่ในอัมพารา แต่เมื่อ “คำยืนยัน” ของ Farsith ถูกบันทึกลงในโทรศัพท์มือถือ ภายในไม่กี่ชั่วโมงนั้น กลุ่มศูนย์ข้อมูลชาวพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มยอดนิยมในเฟซบุ๊ก ก็ปล่อยคลิปวิดีโอความยาว 18 วินาทีที่ถ่ายแบบสั่นๆ นี้ มาเผยแพร่ เพื่อยืนยันข่าวที่ลือกันมานานถึงแผนการของมุสลิม แล้วเรื่องนี้ก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง ทำให้ความรุนแรงระลอกใหม่เกิดตามมา

“เชื้อความเกลียดชังอยู่ในตัวพวกเราเอง แต่เฟซบุ๊กก็เหมือนลม [ที่พัดเชื้อเหล่านี้แพร่ไป]” เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งบอกกับไทมส์เมื่อพูดถึงการแบ่งแยกทางศาสนา

เฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของแพลตฟอร์มที่มีต่อความรุนแรงในศรีลังกา โฆษกเพียงกล่าวในอีเมลว่า “เราได้ลบคอนเทนต์ดังกล่าวทันทีที่ทราบ” และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญภาษาท้องถิ่นเพื่อช่วยรับมือกับคอนเทนต์ที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้

แต่รายงานของไทมส์ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กซึ่งไม่มีสำนักงานในศรีลังกาแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอาสาสมัครที่พยายามหยุดยั้งพายุความเกลียดชังที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ด้วยการรีพอร์ตโพสต์สุ่มเสี่ยงต่างๆ

เฟซบุ๊กบอกว่าเครื่องมือสำหรับการแจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมที่ตนมีให้นั้นเพียงพอแล้ว แต่กลุ่มพลเมืองดีที่พยายามกดรีพอร์ตโพสต์ที่เนื้อหาไม่เหมาะสมซ้ำๆ เช่นโพสต์ที่มีข้อความทำนองว่า “ฆ่ามุสลิมให้หมด อย่าเก็บไว้แม้แต่ทารก” กลับพบว่า “เกือบทุกการรีพอร์ต” นั้นถูกตอบกลับมาว่าไม่ได้ละเมิดมาตรฐานของเฟซบุ๊ก

แน่นอนว่าความเกลียดชังจากเชื้อชาติและศาสนาไม่ได้มีต้นกำเนิดจากเฟซบุ๊ก แต่รายงานของไทมส์ชิ้นนี้ชี้ว่า โครงสร้างแกนกลางของเฟซบุ๊กซึ่งรวมถึงอัลกอริทึมที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ได้รับการปฏิสัมพันธ์จากผู้ใช้สูงสุด (ซึ่งนั่นอาจจะไปกระตุ้นโพสต์ที่มีเนื้อหาเป็นปฏิปักษ์โดยไม่ตั้งใจ) อาจเป็นตัวช่วยปั่นกระแสความชิงชัง และทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งศาลเตี้ยด้วยตัวเองในท้ายที่สุด

เรื่องราวทำนองนี้ยังเคยเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทของอินโดนีเซีย หลังจากมีข่าวลือแพร่ในเฟซบุ๊กและวอตส์แอปว่า มีแก๊งลักพาตัวเด็กเพื่อนำอวัยวะไปขาย บางข้อความยังแนบรูปชิ้นส่วนมนุษย์ที่แยกออกจากกัน สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ คนท้องถิ่นในหมู่บ้านเก้าแห่ง ตัดสินใจสังหารคนแปลกถิ่นที่พวกเขาสงสัยว่าจะมาลักพาตัวเด็กๆ ในหมู่บ้านไป

“บริษัทใหญ่ๆ ที่มองพวกเราเป็นเพียงตลาด ควรเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อะไรบ้างในประเทศอย่างศรีลังกา” นาย Gunawardana หัวหน้าฝ่ายข้อมูลสาธารณะของศรีลังกากล่าว หลังจากตนพบความล้มเหลวในการรายงานปัญหาต่อเฟซบุ๊ก “เพราะเราเป็นสังคม ไม่ใช่แค่ตลาด”

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Dinuka Liyanawatte

ที่มา:

Tags: , , , , , , , ,