ในพื้นที่โรงกลั่นขนาดเล็กของฉลองเบย์ (Chalong Bay) แบรนด์เหล้ารัมที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย  ณ ตำบลฉลอง จังหวัดภูเก็ต แม้คำว่าโรงกลั่นจะให้ภาพดูเป็นโรงงานที่คงเต็มไปด้วยเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือสารพัด แต่โรงกลั่นของฉลองเบย์นั้นกลับร่มรื่นไปด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดเล็ก ดงกล้วย พื้นหญ้า ต้นไม้น้อยใหญ่และเพิงที่ทำจากไม้ไผ่ที่ดูเก๋ราวกับอยู่รีสอร์ท

แต่ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่โรงกลั่นหรอกนะ แต่เป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตเหล้ารัมแบบธรรมชาติ เป็นทั้งร้านอาหารและค็อกเทลบาร์ และที่สำคัญเป็นฟลอร์เต้นรำที่คึกครื้นที่สุดในคืนลาตินไนต์

Rum 101

รัม เป็นเหล้าแอลกอฮอล์ (spirit) ชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตมาจากน้ำอ้อยหรือกากน้ำตาลก็ได้ ในท้องตลาดก็จะมีเหล้าแอลกอฮอล์แตกต่างกันหลายแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต เช่น วอดก้า ก็ผลิตมาจากทั้งมันสำปะหลัง ผลไม้ น้ำตาล ธัญพืชต่างๆ เตกีล่า ผลิตมาจากอากาเว่ ซึ่งต้องเป็นอากาเว่ในประเทศเม็กซิโกเท่านั้นถึงจะเรียกว่าเตกีล่า วิสกี้ ผลิตมาจากพวกข้าวต่างๆ ข้าวโพด วีต ไรย์ บาร์เลย์ บรั่นดี ผลิตมาจากองุ่น และอีกหนึ่งอย่างก็คือ จิน ที่มีผลจูนิเปอร์และข้าวบาร์เลย์เป็นเบส และสามารถเติมกลิ่นลงไป ทั้งกลิ่นจากเปลือกไม้ รากไม้ เปลือกส้ม

สำหรับรัม มีการผลิตแบบสองกระบวนการใหญ่ๆ ก็คือ เหล้ารัมอุตสาหกรรม และเหล้ารัมธรรมชาติ โดยใช้กากน้ำตาลหรือน้ำอ้อย สำหรับการผลิตเหล้ารัมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในการผลิตมากกว่า ซึ่งบริษัทระดับโลกหรือแบนด์ดังๆ จะนิยมใช้กากน้ำตาลในการผลิต ขั้นตอนก็คือ หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยเสร็จ อ้อยเหล่านั้นก็จะถูกส่งไปยังโรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำตาลก็จะเอาอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล

แต่ในกระบวนการการผลิตน้ำตาล ไม่สามารถที่จะผลึกน้ำตาลจากน้ำอ้อยไปได้ทั้งหมด ประมาณแค่ 70% แต่ที่เหลือ 30% คือกากน้ำตาล ซึ่งยังมีกลูโคลสหรือความหวานหลงเหลือออยู่มาก สามารถนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ได้ บริษัทเหล้ารัมขนาดใหญ่จึงใช้วิธีซื้อกากน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาล เพื่อเอาไปผลิตเหล้ารัม โดยนำไปหมักและกลั่น ก็จะได้เหล้ารัมแบบอุตสาหกรรมขึ้นมา

การผลิตเหล้ารัมในแบบอุตสาหกรรม ซึ่งทำมาจากกากน้ำตาลนั้น เพราะกากน้ำตาลหาซื้อได้ง่าย มีปริมาณมาก ราคาถูก และสามารถเก็บสต็อกเอาไว้เพื่อนำไปผลิตเมื่อไรก็ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ผลลัพธ์ของแอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่นก็จะมีกลิ่นของน้ำอ้อยหลงเหลืออยู่เล็กน้อย และเปอร์เซนต์แอลกอฮอล์ที่ได้ค่อนข้างสูง

สำหรับการผลิตแบบธรรมชาติ อย่างแบรนด์ฉลองแบย์นั้น เป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก มีประมาณ 5% ของการผลิตรัมทั้งหมดในท้องตลาด เป็นการนำเอาอ้อยมาผลิตเหล้ารัมโดยตรง ขั้นตอนแรก นำเอาอ้อยที่เก็บเกี่ยวเสร็จไปหีบเป็นน้ำอ้อย โดยฉลองเบย์จะหีบน้ำห้อยเพียงครั้งเดียว จากนั้นนำน้ำอ้อยไปหมัก และกลั่น ก็จะได้เหล้ารัมธรรมชาติออกมา

การที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการการทำน้ำตาลและนำเอากากน้ำตาลมาใช้ในแบบรัมอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตรัมแบบธรรมชาตินั้นมีกลิ่นน้ำอ้อยมากกว่า และรสชาติมีความนุ่มคอมากกว่า เหล้ารัมที่ผลิตโดยวิธีธรรมชาติของฉลองเบย์หลังจากการกลั่นจะได้เหล้ารัมที่มีเปอร์เซนต์แอลกอฮอล์สูงประมาณ 70-75% หลังจากนั้นจึงนำไปลดเปอร์เซนต์แอลกอฮอล์เหลือประมาณ 40% ในการบรรจุขาย

ออร์แกนิก 100%

แบรนด์ฉลองเบย์เริ่มต้นมาประมาณ 8 ปีที่แล้ว จากชาวฝรั่งเศสสองคนและหุ้นส่วนชาวไทย ในรูปแบบพรีเมี่ยมสปิริต และมุ่งเน้นการผลิตที่รักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน รัมฉลองเบย์ ทำมาจากอ้อยที่ปลูกในเมืองไทย ในแถบภาคกลาง เพราะประเทศไทยปลูกอ้อยมากเป็นอันดับสี่ของโลก รองมาจากบราซิล อินเดีย และจีน

อ้อยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะถูกนำไปผลิตเป็นน้ำตาล ฉลองเบย์จึงอยากจะนำวิธีการผลิตเหล้ารัมจากธรรมชาติที่ได้วิธีการมาจากฝรั่งเศสหรือในแถบคาริเบียนมาใช้ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบโดยตรง โดยในเมืองไทยมีอ้อยมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ฉลองเบย์เลือกมาเพียงสายพันธุ์เดียวในการผลิตรัม เพราะอ้อยแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีความแตกต่างกันไปทั้งสภาพภูมิอากาศ ความหวาน รสชาติ การเลือกมาสายพันธุ์เดียวจะทำให้ได้รสชาติและคุณภาพที่ง่ายต่อการควบคุมและการผลิตในรูปแบบรัมธรรมชาติ

สิ่งที่น่าสนใจของฉลองเบย์รัมก็คือที่มาของการก่อตั้งแบรนด์นี้ ว่าทำไมถึงต้องเป็นประเทศไทย ทีบวท สบีทเฮคิส หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าให้ฟังว่าที่ฉลองเบย์มาตั้งโรงงานที่ภูเก็ต (แทนที่จะเป็นภาคกลางใกล้แหล่งปลูกอ้อย) หรือมาตั้งแบรนด์ที่ประเทศไทยนี้ก็เพราะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์อีกคนเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเธอซาบซึ้งถึงน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือชีวิตและทำให้เธอรอดพ้นเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้ เธอจึงตัดสินใจอยากจะทำอะไรบางอย่างที่เป็นการตอบแทนผู้คนที่มีน้ำใจแก่เธอ

ในขณะที่ ทีบวท สบีทเฮคิส นั้นมาจากพื้นฐานของครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่ทำไวน์อยู่แล้ว เขาจึงเป็นฝั่งองค์ความรู้ในการผลิตรัมแบบธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับที่เขาเล่าอย่างติดตลกว่าเครื่องกลั่นที่ทำมาจากทองแดงที่มีอายุหลายร้อยปีนั้นแบกมาจากฝรั่งเศสและติดตั้งเอง เพราะไม่มีช่างคนไหนทำได้แล้ว แม้จะฟังดูตลกแต่มันกลับเป็นเรื่องจริง

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการทำรัมจากอ้อยออร์แกนิก 100% สิ่งที่ฉลองเบย์ทำ นอกจากการเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมแล้วก็คือ การดีลกับ ‘ผู้ปลูกอ้อย’ อย่างที่รู้กันว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคกลางส่วนใหญ่ปลูกอ้อยเพื่อส่งให้โรงงานน้ำตาล การที่ฉลองเบย์จะสามารถดีลกับเกษตรเพื่อมาปลูกอ้อยให้กับแบรนด์รัมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังต้องปลูกด้วยกรรมวิธีออร์แกนิก 100% อีกด้วย และเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน ตัดด้วยมือ ไม่เผาอ้อย

สิ่งที่ฉลองเบย์ทำก็คือ นอกจากจะต้องอุดหนุนในส่วนของการดูแลอ้อยของเกษตรกรแล้ว ยังต้องรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาอ้อยที่ซื้อไปทำน้ำตาลถึง 70%  เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรเชื่อใจ ยอมปลูกให้ในระยะยาว ปลูกและดูแลอย่างออร์แกนิก 100% และเก็บเกี่ยวโดยไม่เผา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงินมากกว่าการปลูกอ้อยเพื่อส่งให้โรงงานน้ำตาลตามปกติ

ในการผลิตก็ทำได้เพียงรอบปีละหนึ่งครั้ง เพราะอ้อยต้องใช้เวลาปลูกถึงหนึ่งปี กว่าอ้อยจะเจริญเติบโตนำมาใช้ได้ ได้น้ำและความหวานที่มากพอ โดยในแต่ละปีฉลองเบย์รัมสามารถผลิตรัมแบบออริจินัลได้ประมาณ 40,000 กว่าขวดต่อปี และรัมกลิ่นต่างๆ อีก 3,000-5,000 ขวด และผลิตภัณฑ์ใหม่สไปซ์รัม White Spiced อีกเล็กน้อย

นอกจากความออร์แกนิกของอ้อยแล้ว บรรดาพืชสมุนไพรต่างๆ ที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์กลิ่นของรัมฉลองเบย์ ไม่ว่าจะเป็น โหระพา พริก ใบเตย อบเชย ฯลฯ ล้วนเป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกด้วยวิธีออร์แกนิกทั้งสิ้น และมาจากชุมชนในแถบนั้นเอง เป็นอีกหนึ่งการสร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชน

ลาตินไนต์

นอกจากจะเป็นทั้งโรงกลั่นและศูนย์การเรียนรู้เรื่องการผลิตเหล้ารัมแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นค็อกเทลบาร์ และร้านอาหารอีกด้วย ที่นี่เราจะได้ลิ้มลองค็อกเทลหลากหลายรูปแบบแม้กระทั่งได้สร้างสรรค์ค็อกเทลของตัวเองขึ้นมา จับคู่กับอาหารรสเลิศที่นำเอาอาหารพื้นเมืองมาผสมผสานกับอาหารตะวันตก ในรสชาติที่คุ้นลิ้นทั้งคนไทยและต่างชาติ และบรรยากาศสุดชิลล์ของสวนที่ร่มรื่น ที่สำคัญที่นี่ไม่ใช้พลาสติก หลอดดูดที่เห็นก็ทำจากข้าวโพด

แต่ความชิลล์นี้จะหายไปพร้อมกับพระอาทิตย์ที่ตกดิน ในขณะที่อุณหภูมิบนพื้นจะเริ่มร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเสียงเพลงลาตินและคลาสการสอนเต้นรำหมู่ ในเพิงไม้ไผ่ที่เปลี่ยนจากร้านอาหารมาเป็นฟลอร์เต้นรำ พรั่งพร้อมด้วยแสงไฟดิสโก้และลำพง ไม่นาน แขกฝรั่งทุกเชื้อชาติและไทยทั้งเกาะภูเก็ตก็ไหลมารวมกันที่นี่จนมืดฟ้ามัวดิน ในคืนวันลาตินไนต์ และไม่ต้องเขิน หากคุณเต้นจังหวะลาตินไม่ได้ เพราะเสียงเพลงและบรรยากาศจะพาคุณขยับร่างกายไปโดยอัตโนมัติ

เช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี จากฉลองเบย์ ที่ช่วยทำให้สนุกและเร่าร้อนขึ้นตามจังหวะของเสียงเพลง

Tags: , , , , ,