ปี 2020 นี้ เรื่องร้อนแรงในการเมืองระหว่างประเทศเอเชียที่ตกค้างจากปีก่อน ก็ยังวนอยู่กับเรื่องการผงาดขึ้นของจีน และทิศทางความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี​ สงครามการค้าที่สะเทือนไปทั้งเอเชีย รวมทั้งการที่อาเซียน ภายใต้การเป็นประธานของไทยในปี 2019 ได้ออกเอกสารมุมมองต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิคของตัวเอง (Asean Outlook on Indo-Pacific (AOIP)) ได้สำเร็จ ในขณะที่ประเทศผู้นำต่างๆ ในเอเชียเอง และสหรัฐฯ ต่างอยากจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือกลุ่มประเทศอาเซียนเหล่านี้

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 โครงการหลักสูตรนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญ อิชิโร ฟูจิซากิ (Ichiro Fujisaki) ประธานสถาบันสันติภาพนากาโซเนะ (Nakasone Peace Institute) และอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ และทูตญี่ปุ่นประจำองค์กรสหประชาชาติและองค์การการค้าโลกแห่งเจนีวา มานำเสนอมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในหัวข้อ ‘Challenges and Chances for Asia Pacific in the Coming Years’ โดยมี รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายหลังการนำเสนอ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ประเด็นหลักๆ ได้แก่ บทบาทญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป ทั้งอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ ศักยภาพด้านเทคโนโลยีในเวทีโลก ในขณะที่ซอฟต์พาวเวอร์จากทุนและวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังคงเหนียวแน่นอยู่ในอาเซียน

อาทิตย์อุทัยที่เคยเร็ว ปีนี้จะตามใครทันไหม

ฟูจิซากิเปิดการนำเสนอโดยแสดงภาพแผนภูมิเปรียบเทียบจีดีพีและการใช้จ่ายด้านการทหารของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีนเมื่อปี 1989 เทียบกับปี 2018 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังคงเหมือนเดิมทั้งสองด้าน สหรัฐฯ เติบโตขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่จีนพองขยายขึ้นอย่างใหญ่โตในทั้งสองด้าน

ฟูจิซากิยอมรับว่าญี่ปุ่นเชื่องช้าในเรื่องนี้จริงๆ แต่เมื่อพูดถึงแต่ละด้านของการพัฒนา เขาก็อยากให้เรามองภาพที่เล็กลงมาเป็นมิติต่างๆ ประกอบด้วย เช่น การเปรียบเทียบอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน ความปลอดภัยในชีวิต การใช้จ่ายด้านสุขภาพ ดัชนี GINI ที่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าอีกสองประเทศมาก ส่วนด้านที่ยังต้องปรับปรุง คือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ญี่ปุ่นยังถือว่าไม่ค่อยดี อัตราการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย และค่าเล่าเรียนที่แม้จะไม่สูงนัก (5,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เทียบกับสหรัฐอเมริกา (50,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ก็ยังสูงกว่าจีน (700 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือการจดสิทธิบัตรที่ยังอยู่อันดับสาม รองจากสหรัฐฯ และจีน

ฟูจิซากิ กล่าวว่าหลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1868 ประเทศก็ใช้การศึกษาเป็นแกนหลักเพื่อก้าวตามให้ทันประเทศตะวันตก “พ่อของผมมาจากหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็สามารถมาเป็นทูตที่ไทยได้ เพราะการศึกษาที่ราคาถูก ทำให้เขาได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และการศึกษาแบบนี้ก็ยังดำรงอยู่ในประเทศเรา” 

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ถูกเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ระหว่างทหารและชนชั้นนายทุนใหญ่ถูกสลาย เพราะมองว่าเป็นสาเหตุของการก่อสงคราม ในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา รัฐก็พยายามจะสร้างสังคมเสมอภาคมากขึ้น ผ่านนโยบายภาษีและสลายอำนาจของกลุ่มไซบัตสึ

สภาพสังคมแนวราบนี้ดำเนินมายาวนาน แต่เมื่อมาปะทะกับโลกาภิวัตน์ คุณจะไม่สามารถสู้กับใครได้เลย ถ้าสังคมมันเท่าเทียมกันเกินไป รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลยพยายามผ่อนคลายการควบคุมตลาด (deregulate) ผลที่ตามมาคืออะไร แน่นอน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และมันจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหา” โจทย์ของญี่ปุ่นที่ผ่านมา คือการหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนบริษัทใหญ่และการสร้างสังคมเท่าเทียมไปด้วย ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไประหว่างเส้นทางการพัฒนา “นี่คือภาวะเขาควายที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเผชิญ”

อีกหนึ่งเรื่องที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีญี่ปุ่น คือระบบอาวุโสอันแข็งแกร่ง

“เราอาจจะยังดีในด้านโรโบติกส์และส่วนประกอบ แต่พูดจริงๆ คือเราค่อนข้างอ่อนแอในด้านการสร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอมะซอน เฟซบุ๊ก ฯลฯ ล้วนมาจากอเมริกันทั้งนั้น และนี่เป็นสิ่งที่เรากำลังกังวลกันอยู่ ครั้งหนึ่งเราเคยมีแบรนด์ดังอย่างโซนี่ พานาโซนิค ฯลฯ แต่ตอนนี้เราตามหลังในเรื่องนี้ 

“ผมเคยถามเพื่อนซีอีโอชาวอเมริกันที่เคยทำงานในญี่ปุ่นว่าทำไม เขาบอกว่า เพราะระบบอาวุโสในบริษัททำให้คนจะเปิดปากพูดได้ก็เมื่ออายุ 40 … มันจึงไม่มีอะไรใหม่ไงล่ะ” 

ข้อดีของระบบอาวุโสก็ยังมีอยู่ ฟูจิซากิกล่าวว่าด้วยความที่คนญี่ปุ่นทำงานที่ไหนก็จะทำไปตลอดชีวิต ระบบอาวุโสยังทำให้คนไม่กล้าย้ายงาน เพราะหากย้ายก็เท่ากับนับความอาวุโสใหม่ตั้งแต่ต้น การสร้างความภักดีกับบริษัทผ่านโครงสร้างนี้ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจเมื่อผู้อาวุโสจะสอนงานหรือถ่ายทอดข้อมูลของบริษัทให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป มองในแง่นี้ระบบอาวุโสก็ยังมีฟังก์ชันบางอย่างในบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งคงต้องทบทวนว่าที่ทางของมันในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียง แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องหมู่เกาะเซนกากุและกรณีการไปแสดงความเคารพกับวีรชนสงคราม แต่ 7 ปีให้หลังจากซินโซะ อาเบะไปพบสีจิ้นผิง ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญอาจเป็นเพราะจีนและอเมริกามีปัญหาขัดแย้งกัน จีนย่อมต้องหาทางผูกมิตรกับประเทศรอบข้าง

ฟูจิซากิพูดถึงหนังสือ Destined for War: Can America and China Escape Thucydides’s Trap? ของเกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด “ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฎีแบบนั้นนัก นักวิชาการหลายคนเลือกตีพิมพ์หนังสือโดยใข้คำที่จับความสนใจ” 

“แน่นอนว่าที่ผ่านมามีการต่อสู้และเป็นปฏิปักษ์ระหว่างรัฐผู้นำและรัฐผู้ท้าทายระบบ แต่ช่วงเวลาแบบนั้นได้หมดไปแล้ว ถ้าสหรัฐฯ กับจีนยังสู้กันอยู่ พวกเขาไม่ได้สู้กันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ พวกเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน และผมไม่คิดว่ามีประเทศหลายประเทศนักที่อยากจะเดินตามรอยจีน”  

ในประเด็นนี้ อาจารย์ท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามชวนคิดว่า ในเมื่อญี่ปุ่นทำตัวเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาตลอด การที่ญี่ปุ่นจะทำตัวเป็นทางเลือกและผูกมิตรกับจีน สวนทางกับท่าทีเป็นปฏิปักษ์ของสหรัฐฯ นั้นจะเป็นไปได้หรือ

ด้านความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ฟูจิซากิกล่าวว่าโดยส่วนตัว เขาเป็นห่วงสองประเด็น ประการแรกคือหากวันหนึ่ง เกาหลีเหนือใช้ขีปนาวุธโจมตีญี่ปุ่น ผู้นำสหรัฐฯ อาจแสดงท่าทีไม่ใส่ใจเพราะตัวเองไม่เดือดร้อน ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การสิ้นสุดของความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทั้งสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น 

ประการที่สอง เขากังวลว่าสุดท้ายแล้วความตกลงจะนำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตรโดยที่ยังปล่อยให้เกาหลีเหนือถือครองขีปนาวุธนิวเคลียร์ไว้โดยไม่มีการทำลายล้าง นั่นจะถือเป็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด

“สื่อมวลชนมากมายชอบพูดถึงเรื่องเกาหลีเหนือว่าเป็นเรื่องระหว่างคิมจองอึนกับ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่มันไม่ใช่ ทรัมป์ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นแบบนั้น แต่ความจริงก็คือ มันคือสากลโลกประจันหน้ากับจอมเผด็จการที่ไม่ยอมปฏิบัติตามปฏิญญาขององค์การสหประชาชาติ นี่แหละคือปัญหา เราไม่สามารถปล่อยให้เขาพัฒนาต่อไปได้ทั้งในแง่ของนิวเคลียร์ อย่างที่เราได้เห็น”

ส่วนความสัมพันธ์ร้าวฉานกับเกาหลีใต้ที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อปีที่แล้ว ฟูจิซากิก็แสดงความเห็นสอดคล้องกับท่าทีของทางการญี่ปุ่นที่ผ่านมา คือมองว่าทั้งสองประเทศเคยทำข้อตกลงประนีประนอมกันแล้วเมื่อปี 1965 และเรื่องนี้ควรจะจบไปนานแล้ว แต่ดูเหมือนเกาหลีใต้จะพยายามขุดเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ทั้งประเด็นหญิงบำเรอกาม (comfort women) และการจ่ายค่าชดเชยแรงงานสงคราม ซึ่งญี่ปุ่นมองว่าเป็นการเปลี่ยนกติกาตามอำเภอใจ และการที่ญี่ปุ่นมีมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าบางประเภท อันที่จริงก็มีเจตนาเพื่อไม่ให้สินค้าหลุดไปยังประเทศที่ไม่พึงประสงค์ แต่กลับกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกาหลีใต้โกรธเคือง 

ประเด็นสุดท้ายคือความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน ฟูจิซากิบอกว่า ญี่ปุ่นให้ค่ากับความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้มาก เนื่องมาจากความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงที่กล่าวไปข้างต้นนั้นไม่ค่อยจะมั่นคงเท่าไร และสนับสนุน AOIP (Asean Outlook on Indo-Pacific) เต็มที่

จากตัวร้ายในสนามรบ กลายเป็นมิตรผู้ร่ำรวยวัฒนธรรม

รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข สรุปภาพรวมความสัมพันธ์ 40 ปีที่ผ่านมาในเอเชียแปซิฟิกว่า จากเดิมที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองญี่ปุ่นด้วยสายตาหวาดระแวงและต่อต้าน เช่น การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในไทยและอินโดนีเซีย จากการเกิดความไม่สมดุลของการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นในประเทศเหล่านี้ หรือการขาดดุลการค้า รวมทั้งอคติที่เกิดจากความทรงจำที่เลวร้ายซึ่งญี่ปุ่นกระทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 

เมื่อมองภาพลักษณ์ญี่ปุ่นในสายตาอาเซียนในวันนี้ กิตติ มองว่าทัศนคติของคนในอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการใช้ซอฟต์พาวเวอร์อย่างมีประสิทธิภาพของญี่ปุ่น เขากล่าวว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ญี่ปุ่นลงทุนสูงกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตอบสนองต่อการต่อต้านได้อย่างรวดเร็ว ได้ก่อตั้งเจแปนฟาวเดชันในภูมิภาคนี้เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่น การให้ทุนรัฐบาลไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เช่น ทุน MEXT การลงทุนทางตรง (FDI) และการเพิ่มเงินลงทุนในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) ซึ่งช่วยบรรเทาทัศนคติในทางลบ และฉายภาพญี่ปุ่นเป็นตัวแสดงด้านเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าภาพลักษณ์ผู้คุกคาม

ด้วยเหตุนี้ในทศวรรษ 1990s ความสัมพันธ์พัฒนาขึ้นมาก จากความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกันในทางเศรษฐกิจ การค้า และการสร้างงานมากขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและประเทศในอาเซียน อีกส่วนคือพลังทางวัฒนธรรม เช่น มังงะ เจป๊อป อาหาร ฯลฯ

“โดยเฉพาะในไทย ถึงกับมีซูชิขายในตลาดนัดด้วย!” กิตติ กล่าวเสริมพลางหันไปทางฟูจิซากิ เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นปลายทางท่องเที่ยวในฝันอันดับหนึ่งของคนไทย แม้ปัจจุบันจะมี K-wave หรืออิทธิพลวัฒนธรรมป๊อปจากเกาหลีใต้ในไทย แต่ความเป็นญี่ปุ่นก็ยังอยู่ทนนานกว่า ตั้งแต่สมัยที่ไทยสร้างวงเกิร์ลกรุ๊ป ‘สาวสาวสาว’ ตามแบบวงโซโจไต มาจนถึง BNK48 ที่ตามโมเดล AKB48 

อีกประเด็นที่ย้ำชัดถึงทัศนคติที่ดีต่อญี่ปุ่น คือการที่คนไทยมักวิพากษ์ทุนจีนมากกว่าทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม กิตติชี้ว่า ปัจจุบันอาเซียนมองศักยภาพญี่ปุ่นในแง่เศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่ำกว่าความเป็นจริง (underestimate) เพราะไปให้ความสนใจกับผลผลิตทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมากกว่าสินค้าเทคโนโลยี ในขณะที่แบรนด์เทคโนโลยีดังๆ ของญี่ปุ่นก็ไม่สามารถตีตลาดสมาร์ตโฟนได้ สิ่งที่ยังสร้างชื่อก็มีเพียงเทคโนโลยีรถยนต์ อาเซียนจึงมองข้ามญี่ปุ่นในเรื่องนี้ไป ทั้งที่ญี่ปุ่นยังสร้างรายได้จากเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ มากกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย

จากการรับรู้ทั่วๆ ไป ไทยมองจีนว่าแกร่งด้านเศรษฐกิจ แต่จริงๆ เม็ตเงินลงทุนมากสุดยังมาจากญี่ปุ่น และการลงทุนจากจีนส่วนใหญ่คือด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกิตติมองว่าอาจไม่ใช่การลงทุนที่ส่งผลทางบวกกับคนในพื้นที่ “ไม่ใช่ healthy investment” เพราะไม่ได้สร้างตำแหน่งงานเท่าเงินลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่น

อีกประเด็นทิ้งท้าย คือเรื่องความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก กิตติ กล่าวว่าภูมิภาคนี้ยังเจอความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในนิยามดั้งเดิม (traditional security) เช่น ความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้ และประเด็นความมั่นคงรูปแบบอื่น (non-traditional security) เช่น สงครามการค้า

“โชคดีที่เราได้เห็นว่าจีนและญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายความขัดแย้งในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตได้ ปีที่แล้วเราได้บรรลุข้อเจรจาออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับข้อปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้า ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับจีน จีนไม่สามารถจะชะลอหรือเล่นเกมนี้นานไปกว่านี้ ก็เพื่อประโยชน์ของจีนเอง รวมทั้งประโยชน์ของอาเซียนด้วย เราจึงสามารถคาดหวังได้ว่าเรื่องนี้จะเป็นไปในทางบวก”

อาเซียนที่เปลี่ยนไปในมุมมองทูต

“เมื่อราว 25 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศ และได้มาเยือนอาเซียน เขาว่ากันว่ามีสามสิ่งที่ต้องทำให้ได้ดีหากต้องเป็นนักการทูตอาวุโสในอาเซียน ได้แก่ กอล์ฟ คาราโอเกะ และมุกขำขัน แต่เมื่อ 10 ปีต่อมา พอได้ดำรงตำแหน่งอาวุโสเข้าจริงๆ อาเซียนก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีกอล์ฟ ไม่มีคาราโอเกะ เพราะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เข้ามาเปลี่ยนบรรยากาศในอาเซียน” 

ฟูจิซากิพูดถึงความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ในอาเซียน เปรียบเทียบกับความแน่นแฟ้นแบบสหภาพยุโรป ที่ในบางมุมก็มีผลเสียคือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่งของสำนักงานใหญ่ในบางประเทศ หากแข็งแกร่งเกินไปก็อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่สบายใจ

สำหรับคำถามว่า ญี่ปุ่นจะยังคงอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้อย่างไรเมื่อจีนและเกาหลีใต้ก็เริ่มแผ่อิทธิพลและซอฟต์พาวเวอร์ของตนเองเข้ามาอย่างจงใจ ฟูจิซากิกล่าวว่า จุดแข็งของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้คือความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจที่มีมานาน 

“ไม่มีใครระแวงว่าญี่ปุ่นจะมาเทคโอเวอร์โครงสร้างพื้นฐานที่เข้ามาร่วมลงทุน” 

ซึ่งเขามองว่าความเชื่อใจนี้ อาจจะยังยากสำหรับประเทศอื่นๆ ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพล

Tags: ,