ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีหรือไม่ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ BTS ศิลปินเด็กหนุ่มเกาหลี ที่มีชื่อขึ้นอันดับยอดนิยมสูงสุดของผู้ฟังในอเมริกา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อยๆ เท่านั้นไม่พอ น้องๆ BTS ยังได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมของสหประชาชาติอีกด้วย

ความสำเร็จของ BTS ในระดับโลก ก็คือความสำเร็จทางวัฒนธรรมและการต่างประเทศของเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจวิธีคิดของเกาหลีใต้ในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการต่างประเทศผ่านแนวคิด “การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy)” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้มาไกลถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพราะมีสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมีการกำหนดยุทธศาสตร์และการพัฒนาสมรรถนะขององค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย

 

การทูตสาธารณะคืออะไร?

ในวงวิชาการการทูตสาธารณะนั้น มีนักวิชาการที่นิยามคำนี้ไว้หลากหลายครับ นิยามที่ผมเห็นจะครอบคลุมที่สุดก็คือ นิยามของ Bruce Gregory เขาบอกว่า การทูตสาธารณะคือ “เครื่องมือของรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องของรัฐ และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อเข้าใจวัฒนธรรม ทัศนคติ และพฤติกรรม สร้างและบริหารความสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างอิทธิพลต่อความคิดและการลงมือกระทำสิ่งที่เป็นการขยายผลประโยชน์และชุดคุณค่าของตัวแสดงเหล่านั้น”

เกาหลีใต้ให้ความสำคัญแก่การทูตสาธารณะในฐานะเครื่องมือบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติเป็นลำดับที่สองรองลงมาจากการแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือและการสร้างสันติภาพถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า รัฐบาลจะใช้การทูตสาธารณะควบคู่ไปกับการทูตที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centered Diplomacy) โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับคำแปลคำว่าการทูตสาธารณะในภาษาเกาหลีหรือ 공공외교 ซึ่งแปลครอบคลุมได้ว่า การทูตโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ประชาชนในที่นี้ก็หมายรวมถึงประชาชนชาวต่างชาติและประชาชนชาวเกาหลีเองด้วย

การกำหนดแผน พัฒนางานด้านวัฒนธรรม

ก่อนที่คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีจะกลายเป็นทรัพยากรหลักในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการต่างประเทศ เกาหลีใต้มองเห็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยก่อตั้งองค์กรความร่วมมือแห่งประเทศเกาหลี (Korea International Cooperation Agency: KOICA) ที่เน้นส่งเสริมโครงการพัฒนาระหว่างประเทศ และมูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation: KF) ในปี 1991 ที่เน้นกิจกรรมทางวิชาการและการวิจัย โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายเกาหลีศึกษาในระดับโลกและภูมิภาค ทั้งสององค์กรดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

ความพยายามกำหนดยุทธศาสตร์และพัฒนาสมรรถนะขององค์กรเหล่านี้เพิ่งจะเป็นรูปธรรมในสมัยประธานาธิบดีอีมย็อง-บัก โดยออกคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการกิจการแบรนด์แห่งชาติขึ้น ในปี 2010 จากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศใช้ “คู่มือการทูตวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy Manual/문화외교 메뉴얼)” ขึ้นเป็นครั้งแรก

แต่ในสมัยรัฐบาลปัก กึน-ฮเย มีคำสั่งยุบคณะกรรมการกิจการแบรนด์แห่งชาติ และสนับสนุนให้สภาผ่านมติรับรองร่าง “กฎหมายการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy Act/공공외교법)” ในปี 2016 ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่การดำเนินนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกันในทุกฝ่าย ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการการทูตสาธารณะในระดับชาติขึ้น ที่นำมาสู่การรับรองแผนแม่บทว่าด้วยการทูตสาธารณะ ฉบับที่ 1 (2017-2021) (The First Basic Plan on Korea’s Public Diplomacy/제1차 대한민국 공공외교 기본계획) การส่งเสริมความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเกาหลีเหนือและประเด็นคาบสมุทรในต่างประเทศ การส่งเสริมการบูรณาการปฏิบัติงานระหว่างองค์กรส่วนกลางด้วยกันและกับองค์กรในระดับท้องถิ่น การส่งเสริมการทูตสาธารณะที่ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบาย

กิจกรรมการทูตสาธารณะ 3 รูปแบบ ได้แก่ การทูตวัฒนธรรม การทูตเน้นองค์ความรู้ และการทูตขับเคลื่อนนโยบาย คือแผนงานที่เกาหลีใต้จะ “สื่อสารกับโลกด้วยเกาหลีที่มีเสน่ห์ ร่วมกันกับประชาชนเกาหลี”

แม้ในภาพรวมของการกำหนดยุทธศาสตร์เหล่านี้จะดูดีงาม แต่เวลาปฏิบัติจริงก็มีปัญหาพอสมควร เรื่องแรกคือ กิจกรรมการทูตสาธารณะที่เกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรม เช่น การให้ทุนการศึกษา การจัดแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน มักจะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมาก แต่ผลตอบแทนจะไม่ค่อยชัดเจน หรือไม่ได้เห็นผลในทันที หรือเป็นผลลัพธ์เชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ ยิ่งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ผู้บริหารโครงการก็มีภารกิจที่จะต้องปกป้องและอธิบายเหตุผลต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและฝ่ายนิติบัญญัติ

เรื่องที่สองคือ การเมืองของอุดมการณ์กับการกำหนดนโยบายการทูตสาธารณะ โดยเฉพาะจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าในเกาหลี ที่ผมเรียกว่า “สองโคริยาประชาธิปไตย” รัฐบาลแต่ละฝ่ายจะมีวาระหรือประเด็นสำคัญที่ต้องการขับเคลื่อนแตกต่างกัน เช่น รัฐบาลปักจะเน้นโฆษณาแนวทางการพัฒนาแบบพึ่งตนเองของขบวนการนวชุมชน (New Village Movement/새마을 운동) เป็นพิเศษ เพราะเป็นมรดกทางนโยบายของพ่อตัวเอง ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า ก็จะตัดงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ไป ไม่พูดถึงมากนัก และไปเน้นโครงการการทูตสาธารณะเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น ส่งเสริมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจูอย่างเรื่อง Taxi Driver เป็นต้น

เรื่องที่สามคือ การสื่อสารของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ในพื้นที่ดิจิทัล ในประเด็นนี้ Jeffrey Robertson ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทูตสาธารณะจากออสเตรเลียที่ทำวิจัยการจัดภารกิจการทูตและการบริหารองค์กรของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ชี้ให้เห็นว่า แม้เกาหลีใต้จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่การประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการทูตสาธารณะในพื้นที่ดิจิทัลกลับจำกัดอย่างมาก ส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อหาเป็นภาษาเกาหลี ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า กระทรวงฯ มุ่งสื่อสารกับคนภายในประเทศมากกว่า ขณะเดียวกัน นักการทูตที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้สื่อโซเชียลของตัวเองในการเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ภารกิจของกระทรวงฯ มากนัก

เรื่องสุดท้ายและน่าจะสำคัญที่สุดด้วยคือ การส่งเสริมบทบาทที่แข็งขันของประชาชนในการเป็นนักการทูตสาธารณะ ซึ่งประธานาธิบดีมุนให้ความสำคัญอย่างมาก หลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า คนเกาหลีรุ่นใหม่ที่มีช่วงอายุประมาณ 20-30 ปีจำนวนหนึ่งเรียกประเทศของพวกเขาเองว่า “นรกโชซ็อน (Hell Joseon)” พวกเขาเห็นว่า ประเทศของเขาไม่มีอนาคต หางานก็ยาก แข่งขันก็สูง เหลื่อมล้ำอีกต่างหาก ซึ่งที่ประชุมนักวิชาการการทูตสาธารณะเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้วิจารณ์และต่อต้านการดำเนินนโยบายที่พวกเราทำออกไปสู่ต่างชาติ เพราะฉะนั้น จะต้องหาโอกาสเชิญชวนพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมให้ได้มากที่สุด

คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี…ข้อดีและข้อจำกัด

ผมมีโอกาสร่วมนำเสนอบทความและทำวิจัยในโครงการ Korea’s Public Diplomacy โดยมีกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้เป็นผู้สนับสนุน เราพบว่า ธีมหลักที่ชาวต่างชาติรับรู้เกี่ยวกับเกาหลีใต้มากที่สุดคือ คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (K-Wave/한류) ในรูปแบบของสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร ละครโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งกระแสนี้ส่งผลต่อความรับรู้ของคนไทยต่อสภาพสังคม ชีวิตประจำวัน ลักษณะนิสัยของชาวเกาหลีด้วย ที่สำคัญ คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเหล่านี้ มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในเกาหลีใต้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี กระแสเกาหลีมีข้อจำกัด เรื่องแรกคือ ความยั่งยืนของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี

ในวงสัมมนาของโครงการวิจัย เราถามกันว่า กระแสเกาหลีนี้จะมีพลังไปได้สักแค่ไหน แล้วพลังนี้จะมีวันหมดอายุหรือไม่ จะทำอย่างไรถึงจะทำให้คลื่นวัฒนธรรมของเรานี้ยั่งยืน เรื่องที่สองคือ ข้อจำกัดในการสื่อสารข้ามบริบท กระแสเกาหลีไม่ได้มีผลตอบรับเชิงบวกในทุกภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการตอบรับจากแฟนๆ ดีที่สุด ขณะที่คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมในยุโรปและอเมริกา จากกระแสความนิยมของ BTS

ส่วนที่ผมสนใจที่สุดก็คือ มุมมองต่อคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในเพื่อนบ้านแสนใกล้ชิดอย่างจีนและญี่ปุ่น บทความหนึ่งในโครงการชี้ให้เห็นว่า มีกิจกรรมต่อต้านคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีปรากฏขี้นในสองประเทศโดยมีเหตุผลแตกต่างกันไป การต่อต้านกระแสเกาหลีในจีนมีรัฐบาลเป็นผู้เล่นหลัก โดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมืองเฉพาะหน้า เพราะเห็นว่า คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีครองส่วนแบ่งตลาดในสื่อจีนมากเกินไป ควบคู่กับความพยายามโต้ตอบการตัดสินใจติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลหรือ THAAD

ขณะที่ในกรณีของญี่ปุ่น กระแสต่อต้านคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเป็นการโต้ตอบกระแสต้านญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ โดยมีกลุ่มประชาชนญี่ปุ่นที่ต้องการยืนยันความยิ่งใหญ่ของแนวคิดชาตินิยม-ทหารนิยมเป็นหัวขบวนหลักของการเคลื่อนไหว และพยายามลดทอนคุณค่าของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ชูป้ายที่มีข้อความว่า “No More Zombie Wave” เป็นต้น

โดยรวมแล้ว ในฐานะผู้รับทุนการศึกษาจาก KF ซึ่งก็เป็นผลผลิตจากนโยบายการทูตสาธารณะของประเทศนี้ ผมคิดว่า มีบางประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนภารกิจการทูตสาธารณะของประเทศไทยซึ่งทั้งไทยและเกาหลีต่างมีสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ที่ผ่านมาทีมประเทศไทยก็มีความพยายามนำโขนไปจัดแสดง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ฯลฯ ซึ่งก็ทำได้ดี

บทเรียนจากเกาหลีที่สำคัญในเรื่องนี้คือ ต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และให้ความสำคัญแก่การประเมินผลลัพธ์และกิจกรรมสืบเนื่องในระยะยาว แม้สิ่งที่ทำจะไม่ได้เห็นผลในวันนี้พรุ่งนี้ก็ตาม

Tags: ,