รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นประกาศเปลี่ยนขนบการเรียงลำดับชื่อในภาษาต่างประเทศ ให้เอานามสกุลขึ้นก่อนจึงตามด้วยชื่อ ตามแบบแผนต้นตำรับในภาษาญี่ปุ่น

“ในโลกโลกาภิวัฒน์ การตระหนักในความหลากหลายของภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้น มันเป็นการดีกว่าที่เราจะกลับไปยึดตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของภาษาญี่ปุ่นเวลาที่เขียนชื่อด้วยอักษรโรมัน” มาซาฮิโกะ ชิบายามะ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นกล่าว

สภาญี่ปุ่นตอบรับข้อเสนอนี้ของชิบายามะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 กันยายน) แต่ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียดว่า จะต้องดำเนินการอะไรบ้างในการเปลี่ยนแปลงนี้ รวมถึงจะเริ่มใช้วิธีเขียนแบบใหม่นี้เมื่อไร และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ภาคเอกชนทำตามรัฐบาลหรือไม่

ญี่ปุ่นนำหลักการเรียงชื่อแบบตะวันตกที่เขียนชื่อตัวก่อนค่อยตามด้วยนามสกุลมาราว 150 ปีแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ญีปุ่นใช้เพื่อแสดงออกถึงความทันสมัยและทำให้ดูเป็นสากล และแนวทางการเขียนชื่อแบบนี้ก็ใช้ทั้งในวารสาร ตำราเรียน รวมถึงบนบัตรเครดิต

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนวิธีเขียนชื่อ ให้กลับมาใช้นามสกุลขึ้นต้นก่อนแล้วค่อยตามด้วยชื่อ ถูกพูดถึงมา 20 ปีแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลอนุรักษนิยมสุดโต่งของชินโซ อาเบะ พยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริง 

ชิบายามะไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่เสนอประเด็นนี้ ก่อนหน้านี้ ในแผนแนวนโยบายด้านภาษาญี่ปุ่นที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ปี 2000 ก็เคยระบุให้สลับเอานามสกุลมาขึ้นก่อนค่อยตามด้วยชื่อ โดยกระทรวงวัฒนธรรมก็ขอให้ทั้งหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน เปลี่ยนวิธีลำดับชื่อเสียใหม่ นอกจากนี้ ทาโร โกโน รัฐมนตรีต่างประเทศ ก็เคยเสนอให้เปลี่ยนวิธีเขียนชื่อ โดยยกตัวอย่างว่า ผู้นำในประเทศเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสีจิ้นผิงจากจีน หรือมุนแจอินจากเกาหลีใต้ ต่างก็เขียนชื่อในภาษาอังกฤษโดยเอานามสกุลขึ้นก่อน ตามขนบดั้งเดิมของภาษาต้นฉบับ แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีใครทำตาม 

สำหรับการประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลครั้งนี้ จึงยังเป็นที่สงสัยว่า คนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นและภาคธุรกิจจะยอมเปลี่ยนตามหรือไม่

ที่มา: 

ที่มาภาพ: REUTERS/Issei Kato

Tags: ,