ธนาคารกลางหรือที่เราคุ้นหูกันว่าแบงก์ชาติ เป็นองค์กรระดับประเทศที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนรู้จักดี แต่หากถามว่าธนาคารกลางมีหน้าที่ บทบาท และกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร หลายคนคงยักไหล่แล้วตอบกลับไปว่าก็ไม่นะ เพราะทุกวันนี้ สถาบันการเงินที่เราจะไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็ไม่พ้นเหล่าธนาคารสีเขียว สีม่วง สีฟ้า ในขณะที่ธนาคารกลางดูเป็นเรื่องที่แสนจะไกลตัว

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการดำเนินการของธนาคารกลางอาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด หากเราไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือกินข้าวแกงริมถนน ราคาสินค้าก็ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากนโยบายของธนาคารกลางที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อ หากเราโอนเงินซื้อของออนไลน์ ธนาคารกลางก็เป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์ให้ลื่นไหล ส่วนใครที่กำลังขอสินเชื่อซื้อบ้าน เปิดบัญชีฝากประจำ หรือสมัครบัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลและการกำกับดูแลของธนาคารกลางทั้งสิ้น

ยิ่งในโลกปัจจุบัน นโยบายการเงินเริ่มกลายเป็นพาดหัวข่าวบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยธนาคารกลาง ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเงินและนโยบายแบงก์ชาติน่าจะช่วยให้เรา ‘อ่านระหว่างบรรทัด’ และเห็นทิศทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเงินและนโยบายแบงก์ชาติน่าจะช่วยให้เรา ‘อ่านระหว่างบรรทัด’ และเห็นทิศทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น

ธนาคารกลาง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาทมากมายตั้งแต่การจัดพิมพ์ธนบัตร การดูแลหลักทรัพย์ของรัฐบาล การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการจัดการระบบชำระเงิน แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปแอบดูหลังบ้านของระบบการเงิน ว่าธนาคารกลางมีวิธีอย่างไรในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ

ปริมาณเงินระบบกับอัตราเงินเฟ้อ

เป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางคือสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีความผันผวนต่ำ โดยอาจมีดัชนีชี้วัด เช่น อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้าและบริการในประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ 

ในกรณีที่ธนาคารกลางอ่อนแอ ขาดอิสระ หรือเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน ผลลัพธ์ที่ได้คือภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) เช่นที่เราเห็นในพาดหัวข่าวอย่างวิกฤติประเทศเวเนซุเอลาซึ่งเงินไม่มีค่าอีกต่อไป เนื่องจากธนาคารกลางอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดี ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงเวลาที่เงินเฟ้อถีบตัวขึ้นสูง แต่ในทางกลับกัน หากธนาคารกลางยังคงเป็นอิสระและดำเนินการอย่างมืออาชีพ ก็เป็นไปได้ว่าจะสามารถสกัดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเอาไว้ได้

เพื่อเข้าใจว่าธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร เราต้องเปลี่ยนมุมมองว่าเงินเป็นสินค้าหนึ่งชนิดที่เราจะเอาไปใช้แลกเปลี่ยน ซึ่งมูลค่าของเงินนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการเงินและปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบ ลองจินตนาการว่าอยู่ดีๆ ธนาคารกลางก็พิมพ์เงินเพิ่มปริมาณมหาศาลโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้วอัดเข้าไปในระบบ ในขณะที่ความต้องการเงินอยู่เท่าเดิม ผลลัพธ์ที่ได้คือมูลค่าของ ‘เงิน’ จะลดลงโดยเปรียบเทียบ สะท้อนอยู่ในดัชนีที่เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

เงินเป็นสินค้าหนึ่งชนิดที่เราจะเอาไปใช้แลกเปลี่ยน ซึ่งมูลค่าของเงินนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการเงินและปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบ

หัวใจสำคัญของนโยบายทางการเงินก็คือการปรับปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบให้เหมาะสม อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจบอกว่าก็ไม่เห็นยากอะไรนี่ ขนาดเด็กอนุบาลยังนับได้เลยว่ามีเงินอยู่กี่บาทในกระเป๋าสตางค์ อย่างนั้นถ้าธนาคารกลางจะเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจ 100 บาท ก็แค่พิมพ์เงิน 100 บาทมายัดใส่มือธนาคารพาณิชย์ก็สิ้นเรื่อง

แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นนะครับ การวัดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเป็นศาสตร์ที่แสนจะยุ่งยาก โดยไม่มีใครตอบได้ว่าปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเท่าไร อย่างมากก็ได้เพียงแต่คาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากเงินสามารถเปลี่ยนมือได้อย่างรวดเร็ว เช่น หากธนาคารกลางยัดเงินใส่มือธนาคารพาณิชย์ 100 บาท ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้คุณพ่อหมี 90 บาท คุณพ่อหมีเอาเงินไปซื้อข้าวที่แม่ค้ากุ๊กไก่ 50 บาท แม่ค้ากุ๊กไก่เอาเงินไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาด 30 บาท ฯลฯ การเปลี่ยนมือเหล่านี้เรียกว่าการหมุนของเงิน (money velocity) ยิ่งเงินหมุนเร็วเท่าไร เงินตั้งต้น 100 บาทก็จะยิ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำธุรกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ในทางทฤษฎี ปริมาณเงินจะสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการหมุนของเงิน ระดับราคา และปริมาณผลผลิต สำหรับธนาคารกลางที่ตั้งเป้าหมายที่อัตราเงินเฟ้อจะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อปรับปริมาณเงินที่ใส่เข้าไปในระบบ แล้วรอดูผลลัพธ์ที่ปลายทางคือระดับราคาที่จะสะท้อนอยู่ในดัชนีที่เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

เนื่องจากเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ซึ่งธนาคารกลางจะใช้จะผ่านสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นสำคัญ โดยแทบจะไม่มาสัมผัสกับปุถุชนคนเดินถนนอย่างเราๆ ท่านๆ เครื่องมือทางการเงินเหล่านั้นจึงดูเป็นเรื่องลึกลับไกลตัว แต่อย่าลืมว่าผลกระทบนั้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร?

หลายคนอาจเคยผ่านตามาบ้างกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งประกาศโดยธนาคารกลาง อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว กระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้เกิดการกู้ยืมเงินและการบริโภคมากขึ้น หรือลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจโดยดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัว เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาโอกาสเกิดเงินเฟ้อหรือภาวะฟองสบู่ในเวลาอันใกล้

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นเพียงสัญญาณ แต่หากธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ต้องงัดสารพัดเครื่องมือมาใช้

อันดับแรกคือการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (reserve requirements) คือสัดส่วนสินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องถือไว้โดยห้ามนำไปปล่อยสินเชื่อ เช่น หากอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ร้อยละ 10 แล้วธนาคารพาณิชย์มีเงินฝาก 100 บาทก็จะปล่อยสินเชื่อได้เพียง 90 บาทเท่านั้น 

การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนดังกล่าวกระทบต่อปริมาณเงินในระดับมหาศาล เนื่องจากสินเชื่อ 90 บาทที่ปล่อยออกไปนั้น ก็สามารถกลายเป็นเงินฝากใหม่ของอีกธนาคารพาณิชย์หนึ่งซึ่งสามารถนำไปปล่อยสินเชื่อได้ใหม่ ต่อไปเป็นทอดๆ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเรียกว่าตัวคูณทางการเงิน (money multiplier) โดยสามารถคำนวณแบบไม่เคร่งครัดคือ 1 หารด้วยอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่นในตัวอย่างข้างต้น ตัวคูณทางการเงินจะมีค่าเท่ากับ 10 กล่าวคือเงินฝาก 100 บาทสามารถสร้างเงินในระบบได้ 1,000 บาทนั่นเอง

อันดับที่สองคือการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations หรือ OMOs) โดยธนาคารกลางจะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบหรือดึงเงินออกจากระบบซึ่งจะนำไปสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุดผ่านการปรับระดับสภาพคล่องหรือปริมาณเงินในตลาดสำหรับสถาบันการเงินให้อยู่ในระดับที่ต้องการนั่นเอง

หลายคนอาจจะงงๆ ว่าการที่ธนาคารกลางซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์คือการอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างไร หากมองให้เข้าใจง่ายให้สมมติว่าธนาคารพาณิชย์ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง การที่ใครสักคนมาซื้อสินทรัพย์ของเรานั่นหมายความว่าเงินในกระเป๋าเรามากขึ้น ในทางกลับกัน หากเราเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ยั่วยวนใจ หมายความว่าเงินก็จะย้ายออกจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋ารัฐบาลนั่นเอง

กรณีตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือการที่ธนาคารกลางนิวยอร์ก (The Federal Reserve Bank of New York) ต้องเข้ากว้านซื้อหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดสินเชื่อระยะสั้นกู้ยืมข้ามคืน (overnight lending market) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 หลังพบว่าอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมาก หลังจากฉีดเงินเข้าไปในระบบ อัตราดอกเบี้ยก็ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

อันดับสุดท้ายคือหน้าต่างตั้งรับ (standing facilities) หรือหน้าต่างคิดลด (discount window) ซึ่งเป็นช่องทางให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางระยะข้ามคืน (overnight) เพื่อปรับสภาพคล่องของเงินในกระเป๋า ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมของการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน

นอกจากเครื่องมือดังกล่าวแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายังใช้เครื่องมือนอกกรอบ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ภายหลังวิกฤติซับไพรม์ซึ่งเครื่องมืออย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกหั่นจนเหลือศูนย์แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่กระเตื้อง ธนาคารกลางจึงกวาดซื้อตราสารหนี้และสินเชื่อจำนองภาคเอกชนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจนงบการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เกิดอาการ ‘บวม’ โดยถือสินทรัพย์มากขึ้นถึง 5 เท่าหากเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติ

ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกลางสหรัฐจึงพยายามลดกิจกรรมการซื้อขายผ่านตลาดการเงิน และพยายามควบคุมระดับดอกเบี้ยนโยบายผ่านเครื่องมือใหม่คือการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสินทรัพย์สภาพคล่องที่ดำรงไว้ ณ ธนาคารกลาง เช่น หากธนาคารกลางต้องการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยสินเชื่อก็จะลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง หรือหากต้องการจูงใจให้มาฝากสินทรัพย์สภาพคล่องมากขึ้นก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่แนวทางนโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดสินเชื่อระยะสั้นกู้ยืมข้ามคืนเกิดสะดุดเนื่องจากสภาพคล่องไม่เพียงพอ

นี่คือส่วนหนึ่งของ ‘หลังบ้าน’ ระบบการเงินทั่วโลกซึ่งใช้ระบบการกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง แม้จะดูเหมือนไกลตัวและยุ่งยากซับซ้อน แต่อย่าลืมว่านโยบายเหล่านี้สัมพันธ์แนบแน่นกับชีวิตเราอย่างยิ่ง หากเทียบระบบเศรษฐกิจเป็นรถยนต์หนึ่งคัน ธนาคารกลางก็เป็นผู้เล่นหนึ่งซึ่งสามารถแตะคันเร่งหรือเหยียบเบรคได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะสวนทางกับรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตตลอดเวลาอยู่บ้าง แต่เป้าหมายสำคัญของธนาคารกลางคือเสถียรภาพ และคนไทยน่าจะรู้ดีกว่าใครว่าผลกระทบจาก ‘อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ’ นั้นเจ็บปวดมากขนาดไหน

 

เอกสารประกอบการเขียน

นโยบายการเงินไทยในปัจจุบัน

นโยบายการเงิน – ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

Monetary Policy Tools and How They Work

The Federal Reserve and What It Does

How Monetary Policy Works

Why the Fed Matters

 

 

Tags: , , ,