เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตลาดสินเชื่อระยะสั้นกู้ยืมข้ามคืน (overnight lending market) หรือตลาดรีโป ซึ่งเป็นตลาดเงินสำคัญของสถาบันการเงินขนาดใหญ่รวมถึงเฮดจ์ฟันด์ในการรักษาสภาพคล่องระยะสั้น เผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงอย่างก้าวกระโดด จากเฉลี่ยราวร้อยละ 2 ต่อปีตลอดสัปดาห์ก่อน เป็นร้อยละ 4 ต่อปี นับว่าเป็นสัญญาณผิดปกติเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมักจะใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และมักจะผันผวนในช่วงแคบๆ

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางนิวยอร์ก (The Federal Reserve Bank of New York) กระโดดเข้ามาใช้เครื่องมือในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดเปิด (Open market operations) โดยทำธุรกรรมซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาว่าจะขายคืน (Reverse Repo) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและคลายภาวะตึงเครียดในตลาดเงิน ความพยายามครั้งแรกล้มเหลวจนต้องล้มเลิกเนื่องจาก ‘ปัญหาทางเทคนิค’ แต่ในอีก 25 นาทีต่อมา ธนาคารกลางนิวยอร์กก็สามารถอัดฉีดเงิน 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) เข้าสู่ระบบได้สำเร็จ และวางแผนว่าจะอัดฉีดเพิ่มอีก 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.3 ล้านล้านบาท) ในวันพุธ (18 กันยายน) เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดแบบเร่งด่วนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดรีโปอาจไม่ใช่ดัชนีชี้วัดที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจเหมือนกับดัชนีดาวโจนส์ หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล แต่การเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดของอัตราดอกเบี้ยในตลาดรีโปก็สะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตลาดเงิน 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังมองว่า สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยที่คล้ายคลึงกับการเกิดวิกฤติซับไพรม์

ปัจจัยแรกที่มองว่าเป็นไปได้ คือต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเส้นตายในการจ่ายภาษีเงินได้ของนิติบุคคล วันชำระราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่งประมูลครั้งล่าสุด รวมถึงเป็นวันหยุดในประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้อุปทานเงินในตลาดเงินขาดแคลนกะทันหัน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้เล่นทุกรายในตลาดทราบล่วงหน้า จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยรีโปกระโดดขึ้นถึงเกือบสองเท่า

ปัจจัยที่สองอาจเป็นที่นโยบายของธนาคารกลางเอง ซึ่งเปลี่ยนวิธีการขยับอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เข้าใกล้กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของเงินสดสำรองของธนาคารแทนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดเปิด (Open market operations) เพื่อลดกิจกรรมในตลาด อีกทั้งการลดการถือครองหลักทรัพย์ของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อมาตรการเข้มงวดทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative tightening) ซึ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินลดลงนั่นเอง แนวนโยบายดังกล่าวทำให้ตลาดเงินช่วงปลายไตรมาสตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากธนาคารทุกแห่งจะพยายามถือเงินสดไว้เพื่อแสดงในงบการเงินของตัวเอง

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะสะท้อนความไร้เสถียรภาพของตลาดการเงินที่เกิดอาการสะดุดเมื่อเผชิญกับความตึงเครียดเพียงเล็กน้อย กระนั้น ภาพรวมเงินสดสำรองที่ธนาคารถือครองก็ยังนับว่าเข้มแข็ง โดยมีเงินสดสำรองในระบบธนาคารรวมถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (43 ล้านล้านบาท) แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางต้องกลับไปทบทวนแผนรับมือเมื่อตลาดขาดสภาพคล่อง เนื่องจาก 25 นาทีที่นักลงทุนนั่งรอนั้นถือว่านานมากในตลาดที่ซื้อขายกันในระดับมิลลิวินาที

 

ที่มา:

ภาพ: REUTERS/Brendan McDermid

 

Tags: , ,