28 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงาน “ประชาชนเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมีทั้งการพูดคุยจากนักศึกษา นักวิชาการ และภาคประชาสังคมในหัวข้อ “ความหวัง ความฝัน และรัฐธรรมนูญ” รวมถึงประกาศจุดยืนสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มาจากตัวแทนประชาชนเพื่อประชาชน โดยจะยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญ เรื่องการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) ในวันที่ 13 มีนาคม 2563
‘เพนกวิน’ ขอทวงคืนอนาคต เสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” จากกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า คำว่า ‘อนาคต’ คำว่า ‘ความหวัง’ คำว่า ‘ความฝัน’ เป็นคำที่เราพูดกันมากโดยเฉพาะกิจกรรมชุมนุมของนักศึกษาที่จัดขึ้น และถึงแม้จะมีคนกล่าวหาว่านักศึกษาออกมาเพราะยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ในความเป็นจริงแทบไม่มีการปราศรัยที่ใช้คำว่า คำว่า ‘อนาคตใหม่’ ‘ธนาธร’ หรือ ‘ปิยบุตร’ มีแต่คำว่า ‘อนาคตของเรา’ และหน้าที่ของพวกเราที่เป็นนักศึกษาคือ ตีแผ่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอย่างไร
พริษฐ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 พรากความหวังจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไป เพราะมีการลดทอนเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของเราทุกคน ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนให้การเรียนศึกษาฟรี ที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หายไป แต่ก่อนประชาชนมีสิทธิเรียนฟรี 12 ปี มีหลักประกันว่าเด็กทุกคนมีโอกาสเรียนจบมัธยมปลาย แต่สิ่งที่เคยต่อสู้เรียกร้องมาในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับถูกทำให้หายไปด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เว้นแม้แต่คำว่า “ประชาธิปไตย”
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พาประเทศไทยถอยหลังจากสิ่งที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540 แทนที่จะได้ผลักดันเรื่องใหม่ๆ เช่น เรื่องเทคโนโลยี สิทธิสตรี สิ่งแวดล้อม กลับต้องมาพูดเรื่องประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากแผนการสืบทอดอำนาจของคนแก่ๆ กลุ่มหนึ่ง ดังนั้นเป็นหน้าที่ขอคนรุ่นใหม่ต้องรื้อทุกอย่างที่ประยุทธ์เคยสร้างไว้ และการจะรื้อออกไปได้นั้น ไม่ใช่จะทำได้ด้วยพลังของคนไม่กี่คน ไม่ได้ทำได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน แต่ทุกคนทุกรุ่นต้องช่วยกันให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างกำหนดกติการัฐธรรมนูญ และที่สำคัญเสียงของ สสร.ต้องศักดิ์สิทธิ์กว่า ส.ว. 250 เสียง
กลุ่มนักศึกษาปาตานี ดันแก้รัฐธรรมนูญฉบับพวกพ้อง
ซูรัยยา วาฮะ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี กล่าวว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ยังเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง ยังมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้คนโดยที่ไม่มีหลักฐานการกระทำความผิดเข้าค่ายทหาร และการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ เหมือนอย่างกรณี ‘อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ’ ที่เสียชีวิตหลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร แต่การสืบหาข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตกลับไม่มีความคืบหน้า
ซูรัยยา มองว่า ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ สะท้อนปัญหา “การลอยนวลพ้นผิด” ของกองทัพ และการลอยนวลพ้นผิดของกองทัพก็สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพวกพ้องน้องพี่ และปัญหาของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ไม่ใช่ปัญหาว่ามีโจรใต้ แต่เป็นปัญหาจากโครงสร้างอำนาจ เนื่องจากประเทศไทยมีการเอื้อให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำให้นักศึกษาที่ใส่ใจต่อประเด็นปัญหาในพื้นที่ต้องการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ
‘เดชรัตน์’ ชวนฝันถึงรัฐธรรมนูญฉบับเห็นหัวประชาชน
เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่กฎหมายฉบับหนึ่ง และรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ใช้เปิดเพื่อจะดูว่าจะฟ้องใครได้บ้าง แกล้งใครได้บ้าง รัฐธรรมนูญต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนภูมิใจ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่เป็นอย่างนั้น ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ประชาชนเคยมีส่วนร่วมอย่างรัฐธรรมนูญ 2540
เดชรัตน์ กล่าวว่า ย้อนกลับปี 2540 พอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีเวทีมากมายที่พยายามจะใช้รัฐธรรมนูญในการปฏิรูปสังคมในด้านต่างๆ มีการถ่ายรูปมาตราในรัฐธรรมนูญไปติดตามหมู่บ้าน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีแต่มองว่าจะใช้ฟ้องใคร ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีสถานะเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เดชรัตน์ ได้ยกตัวอย่างของปัญหาในรัฐธรรมนูญไว้ว่า ในเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล ประชาชนเคยมีสิทธิโดยเสมอภาคในการรับการรักษาพยาบาลฟรี แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แปลงสิทธิรักษาพยาบาลฟรีที่ทุกคนควรจะมีอย่างเท่าเทียมกันไปไว้เฉพาะกับกลุ่มคนที่ยากไร้ ซึ่งเป็นการพรากสิทธิที่ทุกคนพึงมีและได้รับอย่างมีศักดิ์ศรีเท่ากันไป
ไอติม ชู 5 ยกเลิก-5 ยกระดับ รัฐธรรมนูญ
พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และหนึ่งในเครือข่ายครช. กล่าวในงานว่า จากการเดินสายพบนักศึกษาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่ใช่เพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นการเรียกร้องให้ทหารกลับเข้ากรมกอง ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ เพื่อพาประเทศไปข้างหน้า
ไอติม กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐบาล แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาลาออก แต่ประชาชนก็ยังต้องอยู่กับอำนาจของทหารผ่านกลไกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560
สำหรับข้อเสนอของทางกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ามีสองส่วน ส่วนแรกคือ ห้าสิ่งที่ต้องยกเลิก ได้แก่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับมัดมือชก ยกเลิกหมวดการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ที่ผูกมัดและก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบแก้ไม่ได้ ด้วยการยกเลิกเงื่อนไขต้องใช้เสียง ส.ว. หนึ่งในสามในการแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกการอ้างความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยเป็นเหตุในการจำกัดเสรีภาพ ยกเลิกกติการการเลือกตั้งที่มีแต่ความงงให้กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ และให้ยกเลิกวุฒิสภาที่มีอำนาจล้นมือแต่ไม่ได้มาจากประชาชน และเสนอให้ยกเลิก ส.ว. ใช้ระบบสภาเดี่ยว หรือมีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร
ยกระดับสิทธิเสรีภาพให้เท่าทันโลก และถูกบังคังใช้ได้จริง เช่น สิทธิทางการศึกษา สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถัดมาคือ ยกระดับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี โดยกำหนดว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และให้ยกระดับองค์กรอิสระ ให้มาจากการเห็นชอบของ ส.ส. โดยอาศัยเสียงข้างมากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และยกระดับประชาธิปไตยทางตรงและการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และให้ทุกจังหวัดสามารถจัดการตัวเองได้ มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
‘ครช.’ ชวนประชาชนแสดงพลังแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภา
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ประธานครช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มาจากเจตจำนงประชาชน แต่เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งของคนที่ไม่เห็นหัวประชาชน สิ่งที่ผู้มีอำนาจทำคือ การเอาประชาชนออกไปจากรัฐธรรมนูญ อันเห็นไดจากการตั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีส่วนยึดโยงกับประชาชน และยังลดทอนสถานะของประชาชนในฐานะผู้ทรงสิทธิให้กลายเป็นผู้รอรับสิ่งที่รัฐจะประทานให้
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังลดทอนเสียงของประชาชนผ่านการควบคุมพรรคการเมืองซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดผ่านระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้พรรคที่หนุนคสช. กลับมาได้ใหม่ รวมไปถึงการใช้องค์กรอิสระ และ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง รวมไปถึงการวางกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ ทำให้จังหวะในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรนูญอาจต้องกระชับขึ้น โดยแนวทางการขับเคลื่อนของครช. คือ หนึ่งในช่องทางรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงประมวลและสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อนำไปขับเคลื่อนผ่าน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ทางครช. จะรณรงค์ผ่านทางออนไลน์ให้ประชาชนเข้าชื่อแสดงความต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และจะเดินทางไปยื่นหนังสือแสดงพลังประชาชนที่รัฐสภาในวันที่ 13 มีนาคม 2563
Tags: พริษฐ์ ชิวารักษ์, แก้รัฐธรรมนูญ, ครช., รัฐธรรมนูญ 60, สนท.