เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. ซึ่งประกอบไปด้วยความร่วมมือของ 28 องค์กร จากภาควิชาการ ภาคนักศึกษา นักกิจกรรม และภาคประชาชนจัดงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมริมน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาจาก 28 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยกำหนดกรอบช่วงอายุผู้ทำการสำรวจอยู่ที่ 19-26 ปี จำนวนทั้งสิ้น 30,000 คน

จากผลการสำรวจพบว่า นักศึกษาร้อยละ 93.20 (27,960 คน) ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นักศึกษาร้อยละ 95.10 อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็นเป็นร้อยละ 63.90 อยากให้แก้ไขทั้งฉบับ และ 31.20 อยากให้แก้ไขเป็นบางมาตรา 

เฟซบุ๊ก ‘คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน I ครช.’ แจงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาพบว่า ปัญหาที่นักศึกษาคิดว่าเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญมากที่สุด 4 ลำดับ ได้แก่

  • การทำหน้าที่ของ กกต. ล่าช้า สับสน และน่าสงสัยในความเป็นกลาง (4.56/5.00)

  • การคำนวณผลคะแนนการเลือกตั้ง ไม่มีความแน่นอน (4.41/.500)

  • นายกรัฐมนตรีไม่ได้จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4.44/5.00)

  • สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ชี้ขาดผลในการเลือกนายกรัฐมนตรี (4.27/5.00)

ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักศึกษาต่อรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหาดังนี้

  • ร้อยละ 87.10 คิดว่า การคอร์รัปชันในวงราชการเพิ่มขึ้น

  • ร้อยละ 85.10 คิดว่า งบประมาณกลาโหมและความมั่นคงเพิ่มสูงขึ้นเกินความจำเป็น

  • ร้อยละ 86.70 คิดว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมจะเพิ่มขึ้น

  • ร้อยละ 78.25 ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารงานแผ่นดินของรัฐบาล

  • ร้อยละ 78.00 ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและการใช้อำนาจรัฐ

  • ร้อยละ 67.00 เชื่อว่าการตีความ บิดเบือน และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจะมีเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจด้านสิทธิมนุษยชนต่อนักศึกษาพบว่า 

  • การแย่งยึดที่สาธารณะ ที่ทำกินของชาวบ้านมาให้เอกชนประกอบธุรกิจเป็นปัญมากที่สุดที่ร้อยละ 76.20 

  • ประชาชนออกมาต่อต้าน เรียกร้องให้หยุดดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นปัญหาร้อยละ 68.30

  • โครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน เป็นปัญหาร้อยละ 72.00

  • ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านเพื่อทวงคืนผืนป่า เป็นปัญหาร้อยละ 73.00 

  • การเผาหมู่บ้านละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นปัญหาร้อยละ 64.50

ผลสำรวจด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อนักศึกษาพบว่า

  • นาฬิกายืมเพื่อน ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เป็นปัญหาร้อยละ 79.4

  • การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ด้อยคุณภาพไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เป็นปัญหาร้อยละ 83.50

  • งบประมาณกลาโหมและความมั่นคงเพิ่มสูงขึ้นเกินความจำเป็น เป็นปัญหาร้อยละ 85.10

  • ระบบการตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่โปร่งใสเป็นธรรม เป็นปัญหาร้อยละ 61.70

ผลสำรวจด้านการพัฒนาประเทศต่อนักศึกษาพบว่า

  • มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นปัญหาร้อยละ 86.70

  • ความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย คนในชาติไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นปัญหาร้อยละ 78.50

  • ประเทศชาติะจะมีความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 31.10 ไม่แน่ใจร้อยละ 24.40 และไม่เชื่อมั่นร้อยละ 44.60

  • ประชาชนมีความสุขภายใต้หลักการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 39.30 ไม่แน่ใจร้อยละ 24.30 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 36.40

  • ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น นักศึกษาคิดว่ามีเพียงพอร้อยละ 34.10 ไม่แน่ใจร้อยละ 17.70 และไม่เพียงพอร้อยละ 48.20

  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ นักศึกษาคิดว่ามีร้อยละ 30.10 ไม่แน่ใจร้อยละ 2.00 และไม่เพียงพอร้อยละ 41.90

  • การบริหารงบประมาณแผ่นดินมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ นักศึกษาไม่มีความเชื่อมั่นร้อยละ 60.50

ผลสำรวจด้านกระบวนการยุติธรรมและการใช้อำนาจรัฐต่อนักศึกษาพบว่า

  • องค์กรของรัฐทุกองค์กรปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 31.20 ไม่แน่ใจร้อยละ 35.10 และไม่เชื่อมั่นร้อยละ 33.60

  • ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 22.20 ไม่แน่ใจร้อยละ 27.80 และไม่เชื่อมั่นร้อยละ 50.00

  • องค์กรอิสระมีความโปร่งใสและเป็นกลาง นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 20.80 ไม่แน่ใจร้อยละ 28.30 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 50.90

  • ไม่มีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 26.10 ไม่แน่ใจร้อยละ 26.30 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 47.60

  • เจ้าหน้าที่รัฐไม่ละเมิด หรือใช้อำนาจมิชอบต่อประชาชน นักศึกษามีความเชื่อมั่นร้อยละ 25.40 ไม่แน่ใจร้อยละ 25.60 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 49.10

ผลสำรวจด้านการล่วงละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดต่อนักศึกษาพบว่า

  • การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ นักศึกษาไม่มีความเชื่อมั่นร้อยละ 66.70 ไม่แน่ใจร้อยละ 22.80

  • การตีความขององค์กรอิสระบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นักศึกษาไม่มีความเชื่อมั่นร้อยละ 67.00 ไม่แน่ใจร้อยละ 23.10

คณะผู้สำรวจได้ตั้งคำถามปลายเปิดเป็นหัวข้อสุดท้าย โดยให้นักศึกษาร่วมตั้งฉายาให้กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 พบว่าส่วนใหญ่แล้ว ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากมีความหยาบคาย แต่สามารถแบ่งหมวดหมู่คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันได้ ดังนี้ โกง, ปลอม หลอกหลวง และคำที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ หนึ่งทีมวิเคราะห์ข้อมูลได้กล่าวถึงผลสำรวจว่า 

“ภาพรวมของการศึกษา ประเด็นที่เห็นชัดสุดคือ นิสิตนักศึกษามีความวิตกกังวลต่อรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน ทั้งการทำหน้าที่ของกกต. ทั้งวิธีการคำนวณคะแนนที่นั่งของส.ส. ที่มาของนายกรัฐมนตรี และส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งกลายเป็นตัวแปรชี้ขาดในการเลือกนายกรัฐมนตรี

“ลักษณะของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในสายตาของนักศึกษาคือ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าจะปราบโกงได้จริง ในขณะเดียวกันยังมีความน่ากังวลต่อการคอร์รัปชันในอนาคต” 

ช่วงต่อมา สุรพล สงฆ์รักษ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในสายตาประชาชน’ ชี้ว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60 มีหลายประการทั้งด้านเนื้อหา และวิธีการแก้ไขที่สลับซับซ้อน หากมองภายใต้กรอบ เรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน แบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

  1. กระบวนการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองและองค์กรที่มีส่วนในการใช้อำนาจรัฐ นากยกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่ได้มีที่มาจากการได้รับเลือกเป็นส.ส. รวมทั้งยังใช้อำนาจจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่งตั้ง 250 ส.ว. ขึ้นมา และให้สิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 250 เสียงของส.ว. ครองอำนาจถึงหนึ่งในสามของรัฐสภา เป็นดั่งทองแดงกำแพงเหล็กที่คอยปกป้องคุ้มครองรัฐบาล

นอกจากนี้ องค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน, คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9 คน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7 คน ล้วนถูกเลือกโดยเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร 

ดังนั้น การเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ล้วนไร้ซึ่งการยึดโยงกับประชาชน รวมถึงปัญหาทางด้านจริยธรรมของนายกรัฐมนตรี เรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ การกระทำดังกล่าวจึงสะท้อนว่ารัฐบาลนี้จงใจที่จะไม่เคารพและรักษารัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ต้องการสร้างความยึดโยงต่อประชาชน

2.       กระบวนการควบคุม ตรวจสอบ และถอดถอนผู้มีอำนาจทางการเมือง ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุให้ประชาชน 20,000 รายชื่อสามารถถอดถอน ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การถอดถอน ส.ส., ส.ว. รวมถึงนายกรัฐมนตรีอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็แต่งตั้งโดย คสช. อีกเช่นกัน 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่อนุญาติให้ประชาชนสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และไม่ให้อำนาจประชาชนใช้ประชาธิปไตยทางตรงได้

  1. การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คณะผู้ยึดอำนาจแต่งตั้งส.ว., ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช. รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีก 28 คน คนกลุ่มเหล่านี้มีอำนาจในการกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ล้วนไม่มีความยึดโยงกับประชาชน หากดูคล้ายว่ายึดโยงกับคณะผู้ยึดอำนาจ และคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันเสียมากกว่า

  2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ถูกบัญญัติไว้ภายในรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และ 256 หากในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไข หากขาดการร่วมมือจากส.ว. และส.ส. ของพรรคร่วมรัฐบาล

  3. การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มาตรา 279 ทำให้คำสั่งที่ออกระหว่างการคุมอำนาจของคณะรัฐประหารถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เสมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองให้อำนาจเหนือรัฐถูกต้องตามกฏหมาย และให้ความชอบธรรมกับคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะรัฐประหาร 

สรุปนัยยะของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญปิดล้อม ปิดกั้น การเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของพี่น้องเกษตรกรปิดกั้นการเข้าถึงผลโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และปิดล้อมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ

  2. รัฐธรรมนูญควบคุมและยึดคืนพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การใช้อำนาจประชาธิปไตยของประชาชนทางตรงในการมีส่วนร่วมใช้อำนาจทางการเมือง การเมืองจึงเสมือนถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นนำและภาครัฐ ประชาชนเป็นเพียงมดงานที่ทำงานในทางเศรษฐกิจ และให้กลุ่มผู้ปกครองเก็บภาษีขูดรีดเท่านั้น

  3. บทบัญญัติที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มิได้เป็นของประชาชนจริงๆ หากตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาว่าด้วย ‘ปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน’ กล่าวว่า ถ้าไม่นับประเทศสหรัฐอเมริกา การแก้ไขรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญทั่วโลกอยู่ที่ 9 ปี แต่ของไทยอยู่ที่ 4.5 ปี และยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เมื่อประชาชนซึ่งควรเป็นเจ้าของ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญโดยตรงกลับไม่สามารถแก้ไข ออกความเห็น หรือมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญได้ 

ซ้ำร้าย เมื่อใครบางคนพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา กลับโดนฟ้อง ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนเรื่องความถูกต้องในการแก้ไขเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำการตรวจสอบ

เข็มทอง ตั้งคำถามว่า “เรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฏหมายสูงสุด หรือเป็นคู่มือการใช้อำนาจ” หากมันเป็นกฎหมายสูงสุด ประชาชนควรมีความยึดโยงในฐานะข้าวของสำคัญชิ้นหนึ่ง แต่หากมันเป็นคู่มือการใช้อำนาจ ซึ่งจงใจตัดตอนความยึดโยงกับประชาชน ความชอบธรรม ก็เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม 

หากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประชาชนทั้งประเทศ คำกล่าวของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่ว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา’ จึงทำให้รู้สึกสะดุดใจ เพราะเมื่อพูดถึง ‘พวกเรา’ ย่อมบ่งบอกว่ามีคนอีกกลุ่มที่เป็น ‘พวกเขา’ และพวกเขาเหล่านั้น อาจไม่ได้ถูกนับรวมไว้แต่แรกในความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จงใจที่จะไม่ให้มีเจตจำนงค์ร่วมของประชาชนทุกคน

เข็มทองเปรียบเปรยการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ไว้ว่า “ถ้าเปรียบให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นลูกหรือทายาท มันคงเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการสมรสที่ชั่วร้ายระหว่างความไร้เดียงสากับความฉลาดแกมโกง” เพราะคนจำนวนมากที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่า ควรต้องโหวตรับไปก่อน และค่อยไปโหวตอีกทีช่วงเลือกตั้ง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามันไม่เป็นความจริง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสอ่านเนื้อความภายใน การรณรงค์โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญถูกขัดขวาง บ่งบอกว่าคณะผู้ออกแบบได้คิดไว้ถี่ถ้วนแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้คณะรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจต่อ 

เข็มทอง ชวนคิดต่อว่า การทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เป็นการทำประชามติเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญฉบับบทเฉพาะกาล หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่แปลงร่างเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กันแน่ เพราะช่วงระยะเวลาก่อนมีการเลือกตั้ง คสช. ก็ยังคงมีอำนาจในการออกคำสั่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง การออกแบบระบบเลือกตั้ง การแต่งตั้งกกต. รวมถึงการล้างสมาชิกสภาพของพรรคการเมือง ซึ่งล้วนเป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้น เมื่อต่อมาคำสั่งต่างๆ เหล่านี้ ถูกรับรองเป็นกฏหมายจึงคล้ายกับว่ามีรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งแฝงตัวเข้ามาแทนที่ฉบับที่เราลงประชามติเลือก และสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2560

เข็มทองกล่าวว่า “ถ้าเราเปิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อ่าน เราจะอุทานว่า โอ้ นี่มันนวัตกรรม มีอะไรที่ไม่เข้าใจเยอะแยะเต็มไปหมด” เขาเปรียบเปรยให้ รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นจนสำเร็จเปรียบดั่งโครงกระดูก แต่เนื้อหนังของมันจริงๆ อยู่ที่การนำไปใช้ การใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันเป็นเวลานาน ย่อมทำให้เกิดบรรทัดฐานที่กลายมาเป็นระบบ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือ-หลังมือ ย่อมส่งผลต่อเนื้อหนัง ความเป็นระบบอย่างมากที่สุด 

แม้สังคมไทยจะผ่านการเลือกตั้งมากว่า 6 เดือนแล้ว แต่เรายังได้เห็นเพียงบางส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำงานเต็มที่ก็ต่อเมื่อมีการใช้ในกระบวนการนิติบัญญัติออกไปอีกสักระยะ เมื่อมีเรื่องของวินัยการคลัง การแปรญัติ พ.ร.บ. งบประมาณ และเมื่อถึงตอนนั้น สังคมถึงจะได้ตระหนักว่าคู่มือทางอำนาจฉบับนี้ใช้งานได้ดีแค่ไหน จะสร้างความตะกุกตะกัก ราบรื่น หรือข้อพิพาทในทุกก้าวที่รัฐบาลดำเนินการ

ประเด็นหนึ่งที่เข็มทอง มองว่าสำคัญหากไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเรื่อง ความรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เมื่อองค์กรอิสระเหล่านี้เป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่อย่างสุจริต รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่มีความหมาย และจะทำให้เกิดผลอย่างไรตามมาบ้างก็ยากเกินคาดเดา

เข็มทองทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่ยากที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ไร้ซึ่งฉันทามติร่วมกับประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาด้านความชอบธรรม มากกว่าเทคนิคหรือตัวบทกฎหมายที่สามารถเร่งแก้ได้เลย และเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะภายใต้สภาพการเมืองเช่นนี้ การหาฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันเป็นสิ่งยากเกินคาดเดา 

Tags: