Rule of Law
กลไกการทวงหนี้ตามสัญญา ณ ห้วงเวลาปัจจุบันมีอยู่ว่า หากปัจเจกบุคคลทำสัญญากู้เงินกัน ฝ่ายเจ้าหนี้ก็สามารถเรียกให้ฝ่ายลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ชำระหนี้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนด แต่ถ้าไม่สามารถทวงได้ เจ้าหนี้จะต้องอาศัยการบังคับผ่านกลไกสถาบันศาลหรือให้รัฐบังคับให้เท่านั้น หาได้มีอำนาจเข้าไปข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ประจานหรือกระทำการต่างๆ อันกระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกหนี้ และการบังคับก็ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สิน โดยไม่อาจบังคับจากตัวร่างกายของลูกหนี้ได้ หลักการพื้นฐานดังกล่าว เกิดจากวิวัฒนาการทางสังคมและการเมืองภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การบังคับหนี้เอาจากเนื้อตัวร่างกายของบุคคล ได้ถูกถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยเด็ดขาดในมิติของสิทธิมนุษยชน ทว่าความคิดดังกล่าวเพิ่งจะมีอายุประมาณ 100 กว่าปีเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ติดกับเวลาทั้งหมดของมวลมนุษยชาติที่ดำรงอยู่บนโลก ขณะที่สำหรับสังคมไทย หลักคิดดังกล่าวก็เพิ่งเข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายหลังการชำระสะสางกฎหมาย และปฏิรูประบบกฎหมายทั้งระบบเสร็จสิ้นช่วงปี 2466-2478 เท่านั้น เนื้อหาบทความนี้ จะเป็นการย้อนสำรวจถึงระบบหนี้และกลไกการบังคับหนี้ในอดีตของสังคมไทยว่ามีลักษณะอย่างไร ก่อนจะกลายมาเป็นระบบหนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมแบบไทยๆ ตลอดจนโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจสะท้อนผ่านบทบัญญัติกฎหมาย หนี้ภายใต้ความเป็นไทย หนี้เงินอันเกิดจากการเข้าทำสัญญาระหว่างปัจเจกบุคคล 2 ฝ่าย หากยึดตามความคิดที่อยู่ในตำรากฎหมาย มักจะโยงไปถึงหลักเสรีภาพในการทำสัญญาที่เชื่อว่า มนุษย์มีเสรีภาพในการทำข้อตกลง และสัญญาก็จะเกิดทันทีเมื่อข้อเสนอถูกต้องตรงตามคำสนอง เป็นนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันทางกฎหมายที่ยืนอยู่บนหลักความเสมอภาค นอกจากนี้การที่มนุษย์ต้องทำตามสัญญาก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาที่ทำให้ ‘สัญญาต้องเป็นสัญญา’ ซึ่งหลักการเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจากพื้นฐานอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่ถือว่า มนุษย์มีอิสระในทางความคิดที่มีอยู่ในตัวเป็นธรรมชาติ รวมถึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อหันมาพิจารณารากฐานระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของไทย ย่อมมีที่มาจากระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนภายใต้อำนาจรัฐจารีต โดยมีลักษณะอันเด่นชัดคือ เป็นระบบความสัมพันธ์ในระบอบศักดินาที่สร้างระเบียบแบบแนวดิ่ง ในความหมายที่ว่า มนุษย์จะมีหลักการปฏิบัติหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไม่เสมอภาคกัน คุณค่าของสถานะบุคคลไม่ได้เท่าเทียมกัน แต่จะขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคม […]