บุคลิกเฉพาะตัวสำคัญกับธุรกิจอย่างไร
00.35
แต่ก่อนนั้นร้านค้าต่างๆ จะสร้างมาตรฐานให้กับแต่ละสาขาของตัวเองในรูปแบบของร้านแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่ร้านหนังสือ เจ้าของกิจการมักจะคิดว่าจุดแข็งของร้านคือมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าคุณไปร้านไหนก็เจอสิ่งที่คุ้นเคย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสูตรสำเร็จนี้เริ่มใช้ไม่ได้อีกต่อไป วงศ์ทนงให้ความเห็นว่ามันเกิดจากความเบื่อของคนที่ต้องให้คนอื่นมากำหนดสิ่งต่างๆ ให้เราตลอด เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากทำตามเพราะแต่ละคนก็มีความรู้สึกและความชอบที่ไม่เหมือนกัน
เลือกซื้อหนังสือคัดสรรที่ร้าน Strand
05.56
ยุคหนึ่งร้านหนังสือแบบสาขาเคยขายดีมาก แต่ยุคนี้คนอ่านเริ่มไม่ชอบร้านที่มีคนกำหนดไว้ว่าเราต้องอ่านอะไร เริ่มไม่เชื่อหนังสือที่ร้านรับมาว่าดีจริง เริ่มไม่เชื่ออันดับเบสต์เซลเลอร์ของร้าน เลยทำให้เกิดกระแสตีกลับ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เมื่อก่อนอาการร่อแร่กลับฟื้นคืนมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกันทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา ที่นิวยอร์กมีร้านหนังสือร้านหนึ่งชื่อ Strand เป็นร้านที่นอกจากจะมีหนังสือใหม่แล้วยังจัดมุมให้กับหนังสือคลาสสิกและหนังสือเก่า แถมยังขายในราคาสูงกว่าปกเพราะถือเป็นหนังสือหายากอีกด้วย และยังมีมุมหนังสือในหมวดต่างๆ ของที่ระลึก รวมถึงโซนหนังสือมือสอง ซึ่งทางร้านก็รับซื้อเองด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Strand เป็นร้านหนังสือที่มีบุคลิก และแตกต่างในแบบที่ร้านหนังสือแฟรนไชส์ให้ไม่ได้
Village Vanguard ร้านตามใจฉัน
08.28
Village Vanguard เป็นร้านตามใจฉันที่ก่อตั้งโดยคนรักหนังสือคนหนึ่งที่อยากทำร้านหนังสือเป็นของตัวเอง จากที่เคยเป็นผู้จัดการร้านหนังสือมาก่อนก็ทำให้รู้ว่ากำไรจากหนังสือนั้นไม่ได้เยอะ เค้าเลยเริ่มจากการขายแม็กกาซีนและการ์ตูนฉบับย้อนหลังที่ตัวเองชอบมาวางขาย จากนั้นก็เพิ่มสินค้าอื่นๆพวกเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า จักรยานที่กำไรดีมาขายด้วย ซึ่งทุกอย่างนั้นวางกันแบบมั่วๆ อยู่ในโกดังมือสอง ด้วยความแปลกทำให้มีการบอกต่อจนคนเริ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบุคลิกหนึ่งที่วัยรุ่นชอบในร้านนี้คือมีความขี้เล่น ไม่เหมือนร้านหนังสือทั่วไป เป็นตัวอย่างว่าถ้ารสนิยมคนขายตรงกับคนซื้อ มันก็เกิดเป็นธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมาได้
“ผมไม่จำเป็นต้องไปความหาหนังสือที่ชอบในหนังสือหมื่นเล่ม ขอแค่คนที่ชอบหนังสือแบบเดียวกันแนะนำมาสัก 200 เล่มก็พอแล้ว” – หนุ่มเมืองจันท์
ช้อปปิ้งตลอดคืนได้ที่ Don Quijote
11.59
ถ้าเทียบกับ Village Vanguard แล้ว Don Quijote จะใหญ่กว่า แต่ก็มีสินค้าขายในแนวเดียวกัน จุดเริ่มต้นของร้านนี้คือเจ้าของร้านไปเดินผ่านโรงรับจำนำแห่งหนึ่งแล้วเห็นลุงแก่ๆ นั่งขายของอยู่ แกก็นึกได้ว่าขนาดลุงยังขายได้เราก็น่าจะขายได้นะ เลยไปซื้อสินค้าที่โละจากโรงงานแล้วมาวางขาย แรกๆ ก็ขายไม่ดีนัก แต่ในตอนหลังแกเปิดร้านดึกขึ้น ซึ่งในช่วงกลางคืนนั้นก็เริ่มมีคนมาคุ้ยของที่วางระเกะระกะมากขึ้นเรื่อยๆ ไอเดียที่ว่าต่อให้ดึกแค่ไหนมันก็ยังมีคนซื้อของอยู่นะจึงเริ่มขึ้น จากจุดนี้เลยเปลี่ยนบุคลิกจากร้านขายของธรรมดาเป็นร้านที่เปิดขายถึงตีสอง ซึ่งก็จับกลุ่มคนทำงานเลิกตอนกลางคืนที่มีอยู่เยอะมาก
หลังจากประสบความสำเร็จร้านนี้ก็มีการขยายสาขาออกมา โดยมีข้อกำหนดแปลกๆ ว่าสินค้าในร้านนั้นจะกำหนดโดยบริษัทแค่ 60% ที่เหลืออีก 40% จะถูกกำหนดโดยพนักงานขาย เพราะพนักงานคือคนที่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด และเป็นการเปิดให้พนักงานทดลองคัดเลือกสินค้าเอง แต่มีเงื่อนไขคือถ้าขายดีก็ได้ส่วนแบ่งเพิ่ม แต่ถ้ายอดขายแย่ก็โดนหักเงินกันไป ก็ช่วยกระตุ้นพนักงานให้เกิดความภาคภูมิใจว่าได้มีส่วนเป็นเจ้าของร้านเองด้วย
อีกอย่างที่เป็นเสน่ห์ของร้านนี้คือการวางของไม่เป็นระเบียบ เพราะต้องการให้คนเซอร์ไพรส์เวลาเจอของที่คนอื่นมองไม่เห็นแต่ตัวเองมองเห็น และทำให้คนเห็นของไม่ครบจนต้องกลับมาอีกรอบ ซึ่งตามหลักการค้าปลีกยิ่งลูกค้ากลับมาซื้อของมากเท่าไรก็ยิ่งเกิดการซื้อมากขึ้น
หิวเมื่อไรก็แวะมา
16.10
เดิมนั้น 7-11 ตั้งตำแหน่งของตัวเองให้เป็นร้านสะดวกซื้อ จนวันหนึ่งผู้บริหารเกิดคำถามว่าสินค้าอะไรที่ทำให้คนเข้าร้านบ่อยที่สุด ซึ่งนั่นก็คืออาหาร หลังจากนั้น 7-11 เลยเปลี่ยนแคมเปญจากร้านสะดวกซื้อเป็นร้านอิ่มสะดวกแทน ด้วยคนไทยเป็นคนที่กินกันตลอดเวลาอยู่แล้ว ร้านนี้จึงเป็นจุดหมายที่เราต้องเดินเข้าวันละหลายรอบ และเมื่อแวะไปก็ใช่ว่าเราจะซื้อแค่อาหารเท่านั้น ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่เรามักหยิบติดมือออกมาด้วย
คำถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องเหมือนเดิม
17.10
บางทีเราต้องตั้งคำถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องเหมือนเดิม ถ้าเหมือนเดิมมันก็เหมือนกับคนอื่น ยิ่งถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กคุณยิ่งต้องแตกต่าง เพราะถ้าเหมือนตัวใหญ่ลูกค้าก็ต้องเลือกตัวใหญ่แน่นอน การมีบุคลิกมันทำให้ดึงคนที่มีรสนิยมเดียวกันเข้ามาได้ อย่างที่เราเห็นว่าสินค้าช่วงหลังมานี้จะมีพวกลิมิเต็ดออกมาเยอะ อย่างเช่นรองเท้ากีฬาแบรนด์ดังอย่าง adidas, รองเท้านันยางที่ล่าสุดมีแคมเปญ NANYANG X KRAFTKA ที่คุณสามารถออกแบบลายบนรองเท้าได้เองให้มีคู่เดียวในโลก หรืออย่างร้าน กาแฟ Starbucks ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากร้านแฟรนไชส์เป็นร้านที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขา รวมไปถึงการออกแบบเมนูได้เองของลูกค้าด้วย
Hipster บอกอะไรกับเรา
20.53
ฮิปสเตอร์เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนสมัยนี้ไม่อยากทำอะไรให้มันเหมือนกันกับคนหมู่มาก เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะพยายามแสวงหาไลฟ์สไตล์ที่มีบุคลิกเฉพาะกลุ่ม ซึ่งพอกระแสนี้มันกลายมาเป็นกระแสหลัก ผู้ประกอบการที่เคยเป็นร้านใหญ่ก็ต้องมาคำนึงถึงตรงนี้ ทำให้รสนิยมของผู้ซื้อมีส่วนในการกำหนดรูปแบบของธุรกิจใหญ่มากยิ่งขึ้น
Eslite ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง
22.03
Eslite คือร้านหนังสือขนาดใหญ่ในไต้หวันที่เริ่มต้นจากการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์มาก่อน แต่เมื่อมาเปิดร้านเองก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบร้านหนังสือเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง เริ่มจากการเปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งวันที่วงศ์ทนงแวะไปนั้นเป็นเวลาตีหนึ่งกว่าแต่คนยังเต็มร้าน และที่สำคัญคือร้านหนังสือแห่งนี้มีการจัดที่นั่งให้คนอ่านเยอะมาก คุณสามารถหยิบหนังสือไปนั่งอ่านได้ ซึ่งดูแล้วไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจสักเท่าไร แต่ปรากฏว่าผลประกอบการของร้านนี้สูงมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันเวิร์กจริง
ปรับตัวให้เหมือน หรือปรับตัวให้ต่าง
24.34
เวลาเราพูดถึงการปรับตัว มุมหนึ่งคือการเล่นไปตามกระแส แต่อีกมุมหนึ่งคือการปรับตัวให้แตกต่างไปจากคนอื่น เพราะรสนิยมของคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราโฟกัสกลุ่มคนที่มีรสนิยมแตกต่างจากกระแสหลักได้มันก็ก่อให้เกิดสินค้าในรูปแบบใหม่ได้เช่นกัน
Startup โอกาสบนความล้มเหลว
26.53
การบูมของธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้แจ้งเกิดในธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น การเกิดง่ายก็สามารถดับง่ายเช่นกัน สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นคือความแตกต่าง ถ้าเพียงแค่ปรับโมเดลจากต่างประเทศมาใช้ในเมืองไทยบางทีอาจจะไม่พอ เพราะเทคโนโลยีจากต่างประเทศมันสามารถข้ามมาสู่เมืองไทยได้ง่าย ถ้าต้นแบบมาเมื่อไหร่คุณจะสู้ยาก และต้องยอมรับว่าสถิติโดยรวมประสบความสำเร็จไม่เยอะ แต่สิ่งที่ดีในการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่คือการล้มเหลวอย่างรวดเร็ว คือพร้อมที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งนั่นคือบทเรียนจากการทำสตาร์ทอัพในปัจจุบัน
“ถ้าเราล้มแล้วลุกขึ้นในที่เดิม นี่คือความล้มเหลวอย่างแท้จริง แต่ถ้าเราล้มไปข้างหน้า อย่างน้อยเวลาลุก แม้จะไม่ไกลแต่มันก็คือความก้าวหน้าของชีวิต” – หนุ่มเมืองจันท์
Tags: Business, หนุ่มเมืองจันท์, CARPE DIEM, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, สรกล อดุลยานนท์, work, การเปลี่ยนแปลง, bookstore, poscast, Life, startup