การเปลี่ยนแปลงที่อาจไม่ทันรับมือ

01.21

ในช่วงเวลาประมาณห้าปีที่ผ่านมาเราต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หนึ่งในวงการที่โดนผลกระทบมากที่สุดคือวงการธนาคารที่เจอหนักจนถึงกับมีคนบอกว่าทุกวันนี้คู่แข่งนั้นไม่ใช่ธนาคารอื่นๆ แล้ว แต่คืออะไรก็ไม่รู้ เป็นเทคโนโลยีที่ยังตั้งรับกันไม่ถูก การเข้ามาของ FinTech (Financial technology) ทำให้คนเดินทางไปธนาคารน้อยลงมาก ธนาคารต่างๆ จำเป็นต้องคิดเผื่อถึงอนาคต การมีสาขาต่างๆ ยังคงจำเป็นมั้ย หรือตราสารทางการเงินอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปรึเปล่า และตอนนี้ธุรกิจ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ก็เริ่มมีการปล่อยเงินกู้ด้วยข้อมูลของลูกค้าที่มีมากกว่าธนาคารทั่วไป นั่นทำให้ฝั่งของธนาคารต้องเร่งปรับตัวและรับมือในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้

“กลยุทธที่จะสู้กับสิ่งที่เราไม่รู้จัก คือเรียนรู้จากความล้มเหลว”
– หนุ่มเมืองจันท์ –

 

FinTech จะเปลี่ยนโลกธนาคารอย่างไร

07.48

ธุรกรรมการเงินที่มีประโยชน์ต่อธนาคารจะเริ่มหายไปเรื่อยๆ แต่เดิมรายได้หลักของธนาคารคือค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หากเกิดเคสอย่าง Alibaba มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ารายได้ตรงนี้จะหายไป ความได้เปรียบและจุดแข็งของธนาคารที่รู้ข้อมูลลูกค้ามากกว่าใครก็เปลี่ยนแปลง และมันจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป เปรียบการเปลี่ยนแปลงในสมัยก่อนเป็นเส้นกราฟที่จะค่อยๆ ชันขึ้นเรื่อยๆ แต่กับตอนนี้การเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนกราฟที่พุ่งขึ้นหรือดิ่งลงทันที ไม่มีการค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เหมือนสมัยก่อนแล้ว

แล้วเราจะรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไรดี

09.58

เหมือนกับองค์กรธุรกิจที่พยายามปรับทุกอย่างให้เบาตัว คนทั่วไปอย่างเราก็ต้องลดภาระและเพิ่มความคล่องตัวเช่นกัน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเมื่อเวลานั้นมาถึง ในขณะเดียวกันก็ต้องระลึกไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังจะมาแน่ และให้เชื่อว่าไม่มีอะไรแน่นอน ควรหาตัวเลือกเผื่อไว้ในกรณีที่ว่าถ้าสิ่งที่เราทำอยู่มันแย่ลงหรือไม่เวิร์กเหมือนเดิม หาทางออกให้ตัวเองให้ได้ว่าเราจะไปทางไหน

เก่งเพียงด้านเดียวอาจจะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป

11.05

วิธีคิดแบบเพลง นายไข่เจียว ของวง เฉลียง ที่เป็นคนเก่งเชี่ยวชาญในด้านเดียวจะน้อยลง ทุกวันนี้นอกจากไข่เจียวแล้วเรายังต้องมีกับข้าวอย่างอื่นขายอีกด้วย อย่างล่าสุดที่บ้านเราประมูลทีวีดิจิทัลกันไป เราต่างมองว่านี่จะเป็นทางรอดของหลายๆ สื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ย้ายกันเข้ามาและทุ่มกันลงไปอย่างสุดตัว ปรากฏว่าพื้นที่นี้ก็ไม่ใช่ทางรอดอย่างที่ฝัน สื่อโทรทัศน์ก็เจอกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นเดียวกันจากพฤติกรรมการเสพย์สื่อผ่านหน้าจอโทรศัพท์

สื่อสิ่งพิมพ์ยังจะอยู่รอดไหม

16.40

จากการทำงานในสายสิ่งพิมพ์ทำให้วงศ์ทนงต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการล้มหายตายจากของสื่อกระดาษอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่าด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์นั้นลดลง หนังสือพิมพ์รายวันกลายเป็นข่าวที่ช้าไปแล้ว เมื่อสู้กับความเร็วไม่ไหวโอกาสที่จะหายไปก็มีสูง ดังที่เราเห็นได้จากหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงนิตยสารหัวดังๆ ทั่วโลก แต่ไม่ว่าอย่างไรสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังมีอานุภาพบางอย่างที่จะยังทำให้อยู่ได้ในโลกนี้ ยกตัวอย่างเช่นนิตยสาร a day BULLETIN ที่เป็นภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ก็ยังเป็นที่ต้องการของคนมาถึงขนาดที่ต้องเข้าแถวรับกัน ซึ่งคำตอบของเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นการที่คนเรายังต้องการสิ่งที่บันทึกความทรงจำที่จับต้องได้อยู่ และอีกส่วนคือความเชื่อถือของคนที่มีต่อสื่อบนกระดาษนั้นยังมีมากกว่าโลกออนไลน์อยู่พอสมควร

“บางทีเราก็ต้องการสิ่งบันทึกความทรงจำที่ไม่ได้อยู่ในอากาศ แต่อยู่ตรงหน้าเรา”
– หนุ่มเมืองจันท์ –

ทางออกของสื่อสิ่งพิมพ์

21.57

จากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อสื่อต่างๆ น้อยลง หนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นทางเลือก (หรืออาจจะเป็นทางรอด) นั่นก็คือ Free copy จากจุดแข็งต่างๆ ที่นอกจากจะให้คุณหยิบไปอ่านได้โดยไม่เสียเงินแล้ว การมีจุดแจกชัดเจนและมีเนื้อหาที่มีปริมาณพอดีสำหรับการเดินทางก็ทำให้ สิ่งพิมพ์แจกฟรีเหล่านี้เป็นที่นิยม ในขณะเดียวกัน มุมมองของเอเจนซี่โฆษณาก็จะมองว่าสื่อ Free copy สามารถเข้าถึงคนอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงด้วย

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หนีไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัว” – วงศ์ทนง

“จงเปลี่ยนแปลง ก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง” – หนุ่มเมืองจันท์

Tags: , , , , , , ,