“Do you want to stop by at a dispensary?” โฮสมัมเอ่ยถามขึ้นระหว่างทางที่กำลังขับรถกลับบ้าน

ในพจนานุกรมทั่วไป คำว่า ‘dispensary’ แปลว่าร้านขายยา แต่เมื่อไรที่คำนี้ไปโผล่อยู่ในบทสนทนาที่มีรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นฉากหลังแล้วล่ะก็ เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงร้านขายกัญชาแบบไม่ต้องสงสัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ‘กัญชา’ เป็นประเด็นร้อนที่หลายคนกำลังตื่นตัวและให้ความสนใจ ชวนให้ถกเถียงกันในวงกว้าง ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลักดันให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ อีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มีการผ่อนปรนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชามากขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสันทนาการ โดยในปี 2014 อุรุกวัยเป็นชาติแรกของโลกที่รัฐบาลไฟเขียวให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี ตามมาด้วยแคนาดาเป็นประเทศที่ 2 

ส่วนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แม้จะยังไม่ได้มีการเปิดเสรีทั่วทั้งประเทศ แต่ทุกวันนี้ก็มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ทั้งเพื่อการแพทย์ (medical) และสันทนาการ (recreational) ในรัฐต่าง ๆ ถึง 11 รัฐ และหนึ่งในนั้นคือรัฐโอเรกอน (Oregon) 

นอกจากโอเรกอนจะขึ้นชื่อเรื่องคราฟต์เบียร์และภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามแล้ว รัฐชายฝั่งตะวันตกของแดนลุงแซมแห่งนี้ยังเป็นรัฐที่ 3 ของประเทศ (ต่อจากรัฐโคโลราโดและวอชิงตัน) ที่ประกาศให้ประชาชนสามารถครอบครองและเสพกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2015 จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลาร่วม 4 ปีแล้ว  

ร้าน Farma ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน / ภาพ: Farma PDX 

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวอุปถัมภ์ในพอร์ตแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐโอเรกอน มาคราวนี้ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับกัญชา ส่วนหนึ่งก็เพราะโฮสมัมใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการปวดรุนแรงจากโรคหมอนกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ส่วนโฮสแด๊ดและโฮสพี่ชายเองก็สูบกัญชาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจอยู่เป็นประจำ

เพียงเดินเล่นในย่านใจกลางเมืองสักพักก็รู้สึกได้ถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างถนัดตาจากเมื่อ 4 ปีก่อน นั่นคือร้านขายกัญชาทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่พบเห็นได้ทั่วไปตามริมถนนและตรอกซอกซอย ภายหลังจึงทราบจากโฮสว่าแค่ในพอร์ตแลนด์เมืองเดียวก็มีร้านขายกัญชาเกือบตั้ง 200 ร้าน เรียกรอยยิ้มจากนักท่องเที่ยวสายเขียวทั้งหลายได้เลยทีเดียว

เราเดินสุ่มๆ มาเจอร้านกัญชาแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในตึกบนถนน 1st Avenue เมื่อผลักประตูเข้าไปก็พบพนักงานที่ขอดูบัตรประจำตัวบุคคลโดยทันที ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันว่าเราอายุเกิน 21 ปีจริง สามารถซื้อ เสพและครอบครองกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย เมื่อได้บัตรประจำตัวคืนแล้ว เราจึงสามารถเดินดูสินค้าภายในร้านได้ตามอัธยาศัย โดยจะมี ‘บัดเทนเดอร์’ (Budtender) คอยช่วยแนะนำและให้ความรู้

ร้าน Serra ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน / ภาพ: Serra

บรรยากาศภายในร้านนั้นสะอาดสะอ้าน เงียบสงบ และมีการแบ่งสินค้าตามหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งแต่โหลแก้วบรรจุดอกกัญชาวางเรียงรายบนชั้นไม้ อุปกรณ์การสูบในตู้กระจก ไปจนถึงน้ำมันกัญชาสกัด (tincture) และผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา (edibles) ที่มีให้เลือกหลากหลาย เช่น คุ้กกี้ คัพเค้ก บราวนี ช็อกโกแลต ลูกอม และเยลลี

ขนมอบผสมกัญชาภายในร้านแห่งหนึ่งในเมืองพอร์ตแลนด์

เมื่อเขยิบเข้าไปใกล้กล่องคุ้กกี้น่าทานบนหิ้ง ณ มุมหนึ่งของร้าน บัดเทนเดอร์สาวก็ตรงดิ่งเข้ามาทักทายอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะถามลูกค้าหน้าใหม่ว่าสนใจสินค้าแบบไหน 

“Indica or sativa?”

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับ 2 คำนี้ อินดิก้า (Indica) และ ซาทิว่า (Sativa) คือชนิดของต้นกัญชาที่ออกฤทธิ์แตกต่างกัน สรุปแบบง่าย ๆ คือ อินดิก้ามีฤทธิ์ในการบรรเทาความเจ็บปวด ช่วยให้ผ่อนคลาย และบำบัดอาการนอนไม่หลับ เหมาะสำหรับใช้ในตอนกลางคืน ในขณะที่ซาทิว่านั้นช่วยลดภาวะความเครียด เพิ่มความกระตือรือร้น และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เหมาะสำหรับใช้ในตอนกลางวัน

นอกจากอินดิก้าและซาทิว่า อีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือสัดส่วนของสารที่มีอยู่ในกัญชาอย่าง Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม มึนเมา ส่วนสารอีกตัวคือ Cannabidiol (CBD) มีฤทธิ์ลดอาการปวดและอักเสบ แต่ต่างจาก THC ตรงที่ไม่ก่อให้เกิดอาการมึนเมาแต่อย่างใด 

ภาพ: Bridge City Collective (Facebook)

ถัดไปไม่กี่เมตรเป็นโซนดอกกัญชา ที่แค่เดินอ่านป้ายชื่อบนขวดโหลแต่ละขวดก็เพลินแล้ว เนื่องจากกัญชาแต่ละดอกมีกลิ่นและรสชาติที่หลากหลายเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่กลิ่นหวานหอมแบบผลไม้ไปจนถึงกลิ่นเผ็ดร้อนนิด ๆ คล้ายพริกไทย ทำให้เกิดการตั้งชื่อเพื่อให้จดจำได้ง่ายอย่าง Orange Mojito, Key Lime Pie, Sunset Sherbet และ Ice Cream Cake 

เนื่องจากตลาดกัญชาในโอเรกอนมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ทำให้ร้านกัญชาหลายร้านต้องหันมาใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ละร้านมีโปรโมชันที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัน ยี่ห้อและชนิดสินค้า เช่น ร้าน A มีโปรโมชัน Munchie Monday วันจันทร์ลดราคาขนมหวานผสมกัญชา 10 เปอร์เซ็นต์ ร้าน B มีโปรโมชัน Thirsty Thursday วันพฤหัสลดราคาเครื่องดื่มผสมกัญชา 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ยิ่งวันไหนโชคดีหน่อยก็อาจจะเดินเข้าไปเจอร้านที่กำลังลดกระหน่ำสูงสุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์!

ป้ายแสดงโปรโมชันในแต่ละวันของร้านแห่งหนึ่งในเมืองพอร์ตแลนด์

ความนิยมของกัญชาในโอเรกอนไม่ได้หยุดอยู่แค่ในร้านขายกัญชาเท่านั้น แต่เรายังสามารถพบเห็นกัญชาตามร้านอาหาร บาร์และร้านกาแฟได้อีกด้วย ใครที่เป็นคอกาแฟตัวจริงคงจะเคยได้ยินชื่อเมืองพอร์ตแลนด์ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างในฐานะเมืองที่อุดมไปด้วยกาแฟคุณภาพสูงและคาเฟ่สุดฮิปที่พบเห็นได้เกือบทุกมุมถนน

ด้วยกระแสกัญชาที่กำลังมาแรง ทำให้เหล่าบาริสต้าผุดไอเดียเมนูใหม่ขึ้นมา โดยผสมสารสกัดกัญชาลงไปในเครื่องดื่มคาเฟอีน เมื่อ ‘วันกัญชาโลก’ (20 เมษายน) ที่ผ่านมา โรงคั่วกาแฟชื่อดังประจำเมืองอย่าง Stumptown Coffee Roasters ถือโอกาสเปิดตัวเมนูชื่อ CBD Cold Brew Elixir โดยจับกาแฟสกัดเย็นมาผสมสาร CBD ก่อนบรรจุขวดพร้อมดื่ม จำหน่ายในราคา 4.20 ดอลล่าร์ (ล้อไปกับรหัสกัญชา 4/20 หรือเดือน 4 วันที่ 20 นั่นเอง)

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ด้วยความที่พอร์ตแลนด์มีชื่อเสียงในฐานะ‘สวรรค์’ ของคนรักเบียร์ จึงมีโรงเบียร์จำนวนไม่น้อยที่ปล่อยตัวเครื่องดื่มเอาใจนักดริงก์สายเขียวออกมาให้เลือกสรร โดยเบียร์ผสมกัญชาตัวแรกของรัฐโอเรกอนที่ถูกปล่อยออกสู่ท้องตลาดคือ Two Flowers IPA โดย Coalition Brewing เป็นเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 6 เปอร์เซ็นต์และสารสกัด CBD จากกัญชา 4 กรัมต่อแก้ว  

เบียร์ผสมสารสกัดจากกัญชา Two Flowers IPA / ภาพ: Coalition Brewing (Facebook)

ยังมีธุรกิจรูปแบบอื่นๆ อีกมากที่นำกัญชามาประยุกต์เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กัญชาชนในพอร์ตแลนด์ ที่เกิดขึ้นแล้วก็มีตั้งแต่บริการจัดส่งกัญชาถึงบ้าน (ripcitydelivery, portland.hellodiem, pdxgreenbox ) ธุรกิจโรงแรม-ที่พักที่เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้กัญชาได้อย่างเต็มที่ (หรือที่เรียกกันว่า Bud & Breakfast) ไปจนถึงธุรกิจ ‘ทัวร์กัญชา’ ที่พาลูกค้าไปชมไร่กัญชา แวะร้านขายกัญชาหรือแม้แต่สูบกัญชากับบรรดาคนดัง (high5tour, potlandiaexperience)

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าการเสพกัญชาในรัฐโอเรกอนจะไม่มีการกำกับดูแลใดๆ จากภาครัฐ แน่นอนว่ากฎหมายได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดให้ผู้ซื้อและผู้เสพต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปเท่านั้น มีการตรวจบัตรประจำตัวทุกครั้งก่อนลูกค้าเข้าร้าน ผู้ซื้อสามารถซื้อกัญชาแห้งได้คนละไม่เกิน 1 ออนซ์ (28 กรัม) ต่อวัน แต่ละครัวเรือนสามารถปลูกต้นกัญชาได้ไม่เกิน 4 ต้น ส่วนร้านขายกัญชาก็ต้องตั้งอยู่ห่างจากเขตโรงเรียน 1,000 ฟุต (ราวๆ 300 เมตร)

นอกจากนี้ยังห้ามเสพกัญชาในที่สาธารณะหรือขณะขับรถ หากฝ่าฝืนก็จะเจอโทษจำคุก ถูกสั่งพักใบขับขี่ หรือโดนจ่ายค่าปรับหลังอานกันเลยทีเดียว (1,000 เหรียญเป็นอย่างน้อย

Tags: , , ,