ทกวี นิยาย บทเพลง และภาพยนตร์มากมายได้กล่าวถึงฤดูร้อนเอาไว้ในฐานะฤดูแห่งความรัก ล่าสุด ภาพยนตร์ Call Me by Your Name เป็นอีกเรื่องที่ใช้บรรยาศอุ่นไอแดดของฤดูร้อนมาฉายภาพวัยเยาว์อันสดใสและความรักที่สุกงอม กลายเป็นฤดูร้อนหนึ่งอันยากจะลืมเลือนและชวนให้คนดูตกหลุมรัก จนไม่น่าแปลกใจที่หนังกวาดกระแสชื่นชมมหาศาล พร้อมได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมายในตอนนี้
ฉากหลังของหนังคือเมืองอันเงียบสงบทางตอนเหนือของอิตาลีในปี 1983 เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อ เอลิโอ (ทิโมธี ชาลาเมต์) หนุ่มน้อยวัย 17 ต้องยกห้องนอนของตนให้กับ โอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์) นักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันที่มาค้างแรมกับครอบครัวของเขาเป็นเวลาหกสัปดาห์เพื่อเขียนงานวิทยานิพนธ์ของตนให้เสร็จ และช่วยงานพ่อของเอลิโอ (ไมเคิล สตูห์ลบาร์ก) ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี
แม้การสละห้องของตนให้นักศึกษาปริญญาเอกแล้วไปใช้ห้องเล็กๆ ที่อยู่เคียงข้างแทน จะเป็นสิ่งที่เอลิโอต้องทำอยู่แล้วทุกซัมเมอร์ แต่สิ่งที่ต่างออกไปในครั้งนี้คือโอลิเวอร์กลายมาเป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงฤดูร้อนอันแสนสงบของเขาให้ต้องร้อนรุ่มไปด้วยแรงปรารถนาและความรัก จนกลายเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่จะอยู่ในความทรงจำของเขาไปตลอด
Call Me by Your Name ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ อันเดร อาซีมาน (André Aciman) ด้วยฝีมือการเขียนบทของ เจมส์ ไอวอรี (James Ivory) และกำกับโดยคนทำหนังชาวอิตาเลียนผู้น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งของวงการหนังโลกอย่าง ลูกา กัวดาญีโน (Luca Guadagnino) ที่เคยสำรวจแรงปรารถนาพลุ่งพล่านของมนุษย์ไว้อย่างน่าตื่นตามาแล้วใน I Am Love (2009) และ A Bigger Splash (2015)
กัวดาญีโนถักทอองค์ประกอบต่างๆ ในหนังเข้าหากันได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นงานภาพของผู้กำกับภาพชาวไทย สยมภู มุกดีพร้อม ที่จับเอารายละเอียดต่างๆ (ตั้งแต่ทิวทิศน์ อุณหภูมิของแสงแดด แมลงวันที่ไต่ตอม ไปจนถึงเงาของคลื่นน้ำที่สะท้อนขึ้นมากระทบใบหน้า) เอาไว้ในภาพได้อย่างสวยสดเป็นธรรมชาติ เพลงประกอบที่ได้ ซุฟยาน สตีเฟนส์ (Sufjan Stevens) มาเป็นผู้ประพันธ์และขับขานถึงความรักได้ชวนเคลิบเคลิ้ม ไปจนถึงเคมีที่เข้ากันได้ดีเยี่ยมระหว่างชาลาเมต์กับแฮมเมอร์ โดยเฉพาะการแสดงของชาลาเมต์ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเสน่ห์เหลือล้นและยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง ละเอียดอ่อน และซับซ้อนทางอารมณ์
หนังจึงไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งความรักใคร่ (โดยเฉพาะตัวเอลิโอที่กำลังอยู่ในวัยกลัดมัน) แต่ยังชโลมให้ทุกอณูของภาพและเสียงเปี่ยมล้นไปด้วยแรงปรารถนา ทำให้คนดูตกอยู่ในมนตร์สะกดได้ แม้หนังแทบจะไม่มีเหตุการณ์ที่เด่นชัดหรือพล็อตตามตำรับหนังแนว coming-of-age (ที่มันดูเหมือนจะเป็น) มากนักก็ตาม
ตลอดทั้งเรื่อง หนังค่อยๆ เผยให้เห็นชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ของฤดูร้อนนั้น บทสนทนาบนโต๊ะอาหารมื้อแล้วมื้อเล่า การกระโจนลงน้ำเพื่อคลายร้อนในยามบ่าย การง่วนอยู่กับหนังสือและการถอดโน้ตดนตรีของเอลิโอ และประโยคบอกลา “ค่อยว่ากัน!” อันเป็นเอกลักษณ์ของโอลิเวอร์ก่อนที่เขาจะขี่จักรยานจากไป
หลายครั้งแต่ละฉากถูกตัดจบไปดื้อๆ โดยไม่บอกเหตุผลหรือจุดคลี่คลายของเหตุการณ์ แต่ด้วยการเผยให้เห็นฉากสั้นๆ หลายๆ ฉากที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญนี่เอง หนังได้แสดงให้เห็นตัวตนของคนทั้งสองและพัฒนาการความสัมพันธ์ของพวกเขาไปด้วยในตัว จากที่เริ่มรู้จัก สู่การหยั่งเชิงกันไปมา การโกรธเคืองกันด้วยความไม่เข้าใจ ไปถึงการเปิดเผยความรู้สึกทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งรักกันจนหมดหัวใจ
ดนตรี บทประพันธ์ งานศิลปะ และโบราณวัตถุที่รายล้อมกลายมาเป็นสื่อกลางที่พวกเขาใช้ในการเรียงร้อยเชื่อมโยงความรู้สึกถึงกัน ดังเช่นประโยค “พูดออกไปหรือตายซะดีกว่า” ในวรรณคดีโรแมนซ์ของฝรั่งเศส ไม่เพียงถูกใช้เพื่อยั่วล้อการเก็บงำความในใจ หากยังสะท้อนภาวะที่ต้องปกปิดเมื่อตกหลุมรักคนเพศเดียวกันด้วย
ขณะที่อนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่ 1 กลายมาเป็นสถานที่สารภาพความรู้สึก ในฉากนั้น ทั้งสองเดินอ้อมอนุสาวรีย์ไปคนละฝั่ง เอลิโอเผยความในใจให้โอลิเวอร์ได้รับรู้จากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่ง ก่อนจะเดินกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง การสารภาพรักครั้งนี้จึงยั่วเย้าไปกับระยะห่างทางใจและสิ่งที่กีดขวางความรู้สึกของคนทั้งคู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่เพียงทำให้มันกลายเป็นฉากบอกรักที่น่าจดจำที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แต่ยังเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่แสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้จับวางความรู้สึกของคนให้สัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างชาญฉลาด สวยงาม และละเอียดลออเพียงไร
แต่ต่อให้ฤดูร้อนนั้นพิเศษแค่ไหน มันก็ต้องมาถึงจุดจบ และเพราะหนังได้เล่าเรื่องการจากลา Call Me by Your Name จึงไม่ได้เป็นหนังที่ดีแต่พร่ำเพ้อถึงความรัก หากเป็นหนังที่เข้าใจพลังของรักครั้งแรกและความร้าวรานของดวงใจที่แตกสลายลงเพราะมัน เพราะนั่นคือความรักที่เราทุ่มลงไปสุดตัวราวกับไม่มีอะไรจะเสีย ความรักที่ตัวตนของอีกฝ่ายได้เข้ามาผนวกเข้ากับตัวตนของเรา ทำให้เราต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล (ดังเห็นได้จากการที่เอลิโอกับโอลิเวอร์เรียกขานกันและกันด้วยชื่อของอีกฝ่าย)
Call Me by Your Name จึงมอบโอกาสให้คนดูได้สบตากับใบหน้าของความรักอีกครั้ง กระตุ้นเตือนถึงฤดูรักครั้งแรกของพวกเราเองที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำ แม้อาจต้องปวดหัวใจกันอีกหน (ไม่ต่างจากเพลงของสตีเฟนส์ในฉากจบ ซึ่งใคร่ครวญถึงความรักที่กลายไปเป็นเพียงภาพวิดีโอที่เล่นซ้ำอยู่ในความทรงจำ) คำพูดยืดยาวกินใจของพ่อเอลิโอในตอนท้ายเรื่องจึงเป็นเสมือนเสียงเพรียกเตือนสติในวันที่ใจแหลกราญ ย้ำให้จดจำความรักอย่างถ้วนทั่ว ทั้งช่วงเวลาอันหอมหวานและความเจ็บปวดที่มาพร้อมกับมัน เพราะการก้าวเดินต่อไปในชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อที่จะลืมเลือนนั้น มีแต่จะทำให้หัวใจด้านชา
ราวกับว่า การลืมความเจ็บปวดที่มาจากรัก คือการลืมไปด้วยว่า หัวใจของเรานั้น…รักเป็น
Tags: ความรัก, Movie, LGBTQ, Call Me by Your Name, ฤดูร้อน