ในยุคที่การซื้อขายของสะสม สินค้าแบรนด์เนมหรือของหายากยังคงต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ SASOM คือสตาร์ทอัพไทยที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้น ด้วยความเชื่อว่า การซื้อของแท้ไม่ควรเป็นเรื่องยากหรือเสี่ยงเกินไป
กษิต งานทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สะสม จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ SASOM แพลตฟอร์มที่เขาร่วมพัฒนาขึ้นกับเพื่อนตั้งแต่ปี 2018 จนล่าสุดสามารถระดมทุนในระดับ Pre-series A จาก KREAM บริษัทในเครือ Naver เจ้าของ LINE Corporation ได้สำเร็จ และเมื่อต้นปียังมี Capital Management กองทุนจากสิงคโปร์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย

“ผมเคยซื้อของสะสมจากแพลตฟอร์มต่างประเทศแล้วโดนโกง มีหลาย Pain Point ทั้งความยุ่งยากในการสั่งซื้อ ค่าภาษี การรอนาน แล้วถ้าไปซื้อในโซเชียลมีเดียก็เสี่ยงเจอของปลอมอีก” กษิตเล่าถึงเหตุการณ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้ง SASOM 

หลังกลับจากการเรียนต่อต่างประเทศ กษิตเริ่มศึกษาวิธีการของแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เน้นการตรวจสอบของแท้ ก่อนจะเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยมุ่งหวังให้ SASOM เป็น Next Generation Platform for Authentic Luxurious Transactions หรือแพลตฟอร์มยุคใหม่สำหรับซื้อขายของสะสมของแท้ในภูมิภาคเอเชีย

เมื่อถามถึงที่มาของชื่อ ‘สะสม’ กษิตอธิบายว่า ทีมต้องการชื่อที่เป็นภาษาไทย ซึ่งสะท้อนตัวตนและแนวคิดของธุรกิจอย่างชัดเจน โดยไม่จำกัดอยู่แค่สินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง “เราตั้งใจเลือกชื่อที่ไม่ผูกติดกับของเฉพาะกลุ่ม เพราะอยากให้ครอบคลุมความหลากหลายของของสะสม ทั้งที่ซื้อด้วยความหลงใหลส่วนตัวหรือเพื่อการลงทุน”

นอกจากเล่าถึงชื่อแบรนด์ กษิตยังเปิดใจถึงเส้นทางการเริ่มต้นในโลกสตาร์ทอัพ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังสนใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

“ตอนเริ่มปี 2018 เราแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สตาร์ทอัพคืออะไร หรือการระดมทุนทำยังไง เราเริ่มจากศูนย์ เดินไปถามคนที่มีประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ แล้วก็เริ่มทำงานกับนักลงทุนจากเกาหลีที่อยู่ในเครือ Naver ตั้งแต่นั้นมา”

หนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญคือ บริษัทจากเกาหลีใต้ในเครือ Naver ที่เข้ามาในปี 2021 โดยเห็นศักยภาพของตลาดไทย กษิตมองว่า นักลงทุนที่ดีไม่ใช่แค่ให้เงินทุน แต่ต้องช่วยต่อยอดธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ตรวจสอบสินค้า ซึ่งขณะนั้นยังไม่แพร่หลายในไทย SASOM จึงไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย แต่ยังเป็นตัวกลางที่สร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดของสะสมยุคใหม่

จากแพลตฟอร์มเล็กๆ ที่สร้างขึ้นจากแพสชันของคนรักของสะสม วันนี้ SASOM กำลังก้าวสู่เวทีระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายจะเป็นคอมมูนิตี้กลางในการซื้อขายของสะสมของแท้ในเอเชีย

คำถามที่ตอบยากจากเหล่านักลงทุน

สำหรับ SASOM การระดมทุนถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มหรือมาร์เก็ตเพลสจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในช่วงเริ่มต้น เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานให้เติบโตอย่างรวดเร็ว การระดมทุนจึงไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจตลาด การสื่อสารวิสัยทัศน์ และการปรับตัวให้ทันเทรนด์ เช่น เมื่อกระแส AI มาแรง นักลงทุนย่อมตั้งคำถามว่า มาร์เก็ตเพลสแบบ SASOM จะปรับตัวอย่างไร ให้ยังคงน่าสนใจและมีศักยภาพในตลาดที่เปลี่ยนเร็วแบบนี้

ในแต่ละรอบของการตั้งคำถามจากนักลงทุนแตกต่างกัน บางคนให้ความสำคัญกับเรื่อง Synergy เป็นหลัก เช่น นักลงทุนจากเกาหลีใต้จะมองว่าทำงานร่วมกันได้หรือไม่ แบรนด์จากไทยสามารถไปเติบโตในเกาหลี หรือดึงแบรนด์เกาหลีมาไทยได้ไหม ขณะที่นักลงทุนจากฝั่งไฟแนนซ์จะโฟกัสแผนธุรกิจระยะยาว และวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้างบริษัทและข้อมูลภายใน การรับมือกับคำถามเหล่านี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ทีมยังใหม่ แต่กษิตเชื่อว่า การเปิดกว้าง เรียนรู้ไว และพร้อมปรับตัว คือหัวใจของการทำสตาร์ทอัพ เพราะหลายคำถามตอบไม่ได้ทันที แต่การหาคำตอบให้ได้ในภายหลัง คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโต

ดีเอ็นเอของคนชอบ SASOM

ในช่วง 2-3 ปีแรกของ SASOM ทีมงานต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในตลาดใหม่ และความทุ่มเทนั้นยังคงชัดเจนถึงทุกวันนี้ วัฒนธรรมองค์กรจึงเน้นการเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงศักยภาพ ขับเคลื่อนงานในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ และร่วมกันผลักดันธุรกิจให้เติบโต SASOM มีระบบทำงานแบบไฮบริด โดยให้เข้าออฟฟิศ 3 วัน และทำงานจากที่บ้าน 2 วัน เพื่อให้ทีมบาลานซ์ระหว่างประสิทธิภาพกับความยืดหยุ่น ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 100 คน ทั้งฝั่งออฟฟิศและโกดังสินค้า และยังคงเปิดรับตำแหน่งใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาเสริมทัพให้ธุรกิจโตได้จริง

จากจุดที่ไม่มีคนใช้ จนถึงวันที่เชื่อว่า ‘ต้องไปต่อ’

แม้จะดูมองว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ แต่ SASOM เองก็เคยเผชิญช่วงเวลาที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะไปต่อหรือหยุดดี โดยเฉพาะช่วงปี 2020 ที่ทีมผู้บริหารเคยมองหน้ากันแบบไม่แน่ใจ เพราะจำนวนผู้ใช้งานยังน้อยและธุรกิจก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก อย่างไรก็ตามแรงศรัทธาในไอเดียที่เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ทีมยังสู้ต่อ เพราะถ้าใครในทีมยอมแพ้ในตอนนั้น ทุกอย่างก็คงจบไปแล้ว

แพลตฟอร์มของคนรักการ ‘สะสม’

SASOM ตั้งเป้าว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะขยายตลาดของสะสมและสินค้าแบรนด์เนมมือสองให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่แม้มีผู้บริโภคแบรนด์เนมจำนวนมาก แต่กลับยังไม่มีแพลตฟอร์มกลางที่น่าเชื่อถือเทียบเท่าต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรองอย่าง Instagram หรือโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทีมจึงพยายามขยายสินค้าในหมวดที่มีดีมานด์สูงอย่างนาฬิกา ทะเบียนรถ หรือสินค้าหายาก ที่มักซื้อขายกันนอกระบบ ให้เข้าสู่แพลตฟอร์มที่โปร่งใส และมีการตรวจสอบความแท้ก่อนส่งมอบ ปัจจุบัน SASOM มีผู้ใช้งานราว 1.2 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งยังเป็นฝั่งผู้ซื้อเป็นหลัก ทีมจึงยังเดินหน้าเพิ่มผู้ขาย พร้อมผลักดันบทบาทของแพลตฟอร์มในฐานะตัวกลางที่ช่วยจับคู่ดีลอย่างมีคุณภาพ

ตลาดไทยเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายสู่ภูมิภาค

SASOM มุ่งทำตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก เพราะมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม อีกทั้งยังมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าแฟชั่นและของสะสมระดับลักชูรีจำนวนมาก เช่น สนีกเกอร์หรือสินค้าแบรนด์เนม ที่สำคัญคนไทยยังเป็น Trend Setter ที่มักจะรู้จักและเข้าถึงเทรนด์ใหม่ๆ ก่อนใครในภูมิภาค บริษัทจึงเริ่มขยายบริการไปยังประเทศที่มีศักยภาพต่อเนื่องอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีของแบรนด์เนมและของหายาก เช่น จิวเวลรี แฟชั่น และอาร์ตทอย มีเวทีในระดับสากล

มั่นใจได้ว่าสินค้าบนแพลตฟอร์ม ‘ของแท้’

สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงบนแพลตฟอร์มในตอนนี้คือ สนีกเกอร์ อาร์ตทอย กระเป๋า และเครื่องประดับ ซึ่งมักจะเป็นของที่มีราคาสูงและเสี่ยงต่อการถูกปลอมแปลง SASOM จึงออกแบบระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้ พร้อมสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อด้วยโค้ดยืนยันความแท้ของสินค้า นอกจากตรวจสอบภายในแล้ว ยังมีการแชร์ฐานข้อมูลกับพันธมิตร เพื่อกรองของปลอมจากระบบ การสร้างความเชื่อมั่นนี้ถือเป็นหัวใจของแพลตฟอร์ม ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ และทำให้ประสบการณ์การซื้อขายเป็นไปอย่างปลอดภัย ในยุคที่ของสะสมกลายเป็นสินทรัพย์ของคนรุ่นใหม่

บทเรียนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง SASOM ฝากไว้ว่า ต้องเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เพราะเราจะต้องอยู่กับมันไปนานมาก ไม่ใช่แค่ในช่วงที่สนุกหรือมีแรง แต่ต้องอยู่ในวันที่เจอปัญหาด้วย และต้องมีทีมที่เชื่อในไอเดียและวิสัยทัศน์เดียวกัน คือหัวใจสำคัญของการทำสตาร์ทอัพให้รอด หากหานักลงทุนที่ใช่จริงๆ ไม่เจอ อาจต้องชะลอการเติบโต แล้วปรับตัวเป็น SME ที่เติบโตอย่างมั่นคงก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ผิด

ท้ายที่สุด SASOM อยากเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้การซื้อ-ขายของสะสมเกิดขึ้นได้จริงในไทย โดยเน้นการตรวจสอบสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจ และให้ราคาตลาดอย่างเป็นธรรม ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่คนซื้อ แต่ยังกลับมาเป็นผู้ขายซ้ำ หรือแม้แต่ซื้อไปเพื่อวางขายหน้าร้าน ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นและความยืดหยุ่นของระบบที่ SASOM พยายามพัฒนามาตลอด

Tags: , , , ,