เป็นที่ทราบกันดีว่า ต่อจากนี้โลกของเทคโนโลยีกำลังจะก้าวกระโดดไปอีกขั้น เมื่อสิ่งที่เรียกว่า ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) หรือตามที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ไว้ว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการขยายขอบเขตจินตนาการของมนุษย์ด้วย ‘โลกเสมือนจริง’ (Virtual Reality: VR) และส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีหลายเจ้าจำเป็นต้องขยับตัวตามให้ทัน
เช่นเดียวกับ ‘ไนแอนติก แล็บ’ (Niantic Labs) บริษัทเทคโนโลยีผู้โด่งดังจากผลงานการปลุกปั้นเกม ‘โปเกมอนโก’ (Pokémon GO) ด้วยจุดเด่นในการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เป็นเจ้าแรกๆ จนได้รับความนิยมล้นหลามทั่วโลก สร้างรายได้หนึ่งเดือนแรกราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีจำนวนยอดดาวน์โหลดหลายร้อยล้าน และเกิดเป็นปรากฏการณ์โปเกมอนฟีเวอร์เมื่อ 5 ปีก่อน (2016) ด้วยแนวคิดความพยายามนำโลกแห่งจินตนาการมาแนบชิดกับโลกเสมือนจริงให้ได้มากที่สุด
แต่ธุรกิจเทคโนโลยีหรือธุรกิจเกี่ยวกับเกมย่อมมีอายุสั้นยาวที่ผันแปรไปตามความนิยมของผู้คน การพยุงตัวให้อยู่รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญตามหลังจากคำว่ากำไร โดยจุดนี้ ‘จอห์น แฮงก์’ (John Hanke) ซีอีโอของไนแอนติก แล็บ เข้าใจเป็นอย่างดี แม้เขาอาจเคยประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านั้นแล้ว กับการนำเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์จาก ‘กูเกิล’ (Google) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไนแอนติก แล็บ มาปรับใช้ อีกทั้งช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาด ยังเอื้อผู้เล่นโปเกมอนโกด้วยการจัดอีเวนต์อีกมากมาย ทว่าการมาของเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง ‘เมตาเวิร์ส’ น่าจะยิ่งเรียกผู้เล่นหน้าเก่ากลับมา และสร้างผู้เล่นหน้าใหม่ได้มากขึ้นกว่าเดิมแบบเท่าตัว ถึงก่อนหน้านี้ซีอีโอของไนแอนติกจะเคยต่อต้านและนิยามเทคโนโลยีนี้ว่าเป็นฝันร้ายแห่งดิสโทเปียก็ตาม แต่เชื่อเหลือเกินว่าด้วยอนุภาคความแปลกใหม่ย่อมมาพร้อมกับกำไรมหาศาล แล้วเหตุใดจะต้องต่อต้านกันต่อไปด้วย
เทคโนโลยีโลกเสมือนที่บริษัทไนแอนติก แล็บ กำลังพัฒนาอยู่นั้น มีชื่อแพลตฟอร์มว่า ‘ไลท์ชิป’ (Lightship) โดยจะทำงานในลักษณะ ‘จำลองโลกเสมือนจริง’ (Real-World Metaverse) แบบ 3 มิติ อิงวัตถุต่างๆ ด้วยการจับภาพของกล้องมือถือสมาร์ตโฟนร่วมกับการสวมแว่นตา AR ก่อนประมวลผลออกมาเป็นวัตถุรูปทรงตามจินตนาการต่างๆ ตามที่มีการเปิดเผยมาเมื่อเดือนก่อน (พ.ย. 2021) โดย จอห์น แฮงก์ ซีอีโอของไนแอนติก แล็บ กล่าวหลังการเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวไว้ว่า นี่ถือเป็นการนำมนุษย์เชื่อมต่อกับโลกแห่งเมตาเวิร์สได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด
“ไนแอนติกเชื่อว่ามนุษยชาติจะมีความสุขและรู้สึกถึงการมีอยู่ของโลกเมตาเวิร์สได้มากสุด หากเราสามารถทำให้พวกมองเห็นภาพตรงหน้าได้แบบเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยัดเยียดเทคโนโลยีหรือความไซไฟกับผู้ใช้งาน แต่เป็นการใช้เทคโนโลยี 3 มิติเปลี่ยนประสบการณ์เดิมๆ ตลอดระยะเวลาหลายพันปีให้กับโลกใบนี้” (ชมคลิปการเปิดตัวแพลตฟอร์มไลท์ชิป)
สิ่งที่น่าสนใจของธุรกิจเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงจากไนแอนติกไม่ได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ เมื่อเงินทุนพัฒนามูลค่า 300 ล้าน มาจาก ‘โค้ท’ (Coatue) บริษัทผู้ให้บริการด้านบล็อกเชนและแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี และหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ยิ่งมีความเป็นไปได้กับโปรเจ็กต์เกมขุดเงินดิจิทัลหรือบิตคอยน์แบบโลกเสมือนจริง หลังประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้ากับการร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์เกมขุดบิตคอยน์กับ ‘โฟลด์’ (Fold) บริษัทสตาร์ทอัพด้านคริปโตเคอร์เรนซี ที่ผู้เล่นสามารถนำเงินรางวัลไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าไนแอนติกจะหาวิธีนำโปรเจ็กต์แพล็ตฟอร์มไลท์ชิปมาเชื่อมเข้ากับเกมเรือธงอย่าง ‘โปเกมอนโก’ ที่ล่าสุดปี 2021 ยังสร้างรายได้ให้กับพวกเขาต่อเนื่องรวมแล้วกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแทบจะเป็นผู้เหลือรอดจากยุคกระแสเกม AR ได้รับความนิยมเหนือเกมอื่นๆ ที่ทยอยล้มหายไปตามกาลเวลา หรืออาจจะฉีกแนวทางเข้าสู่โลกสกุลเงินดิจิทัลตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นก็ได้เช่นกัน แม้ในบั้นปลายแอนติกอาจต้องระดมทุนเงินเพิ่มให้ถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากต้องการทำโปรเจ็กต์จักรวาลนฤมิตรตนเองให้สมบูรณ์
ภาพ: NianticLabs
ที่มา:
– https://www.fastcompany.com/90697992/niantic-pokemon-go-harry-potter-pikmin-bloom-outside-metaverse
– https://www.entrepreneur.com/article/399260
– https://www.techtimes.com/articles/268737/20211130/pokemon-go-creator-niantic-partners-with-fold-to-launch-a-new-crypto-hunting-ar-game.htm
Tags: Business, PokémonGo, Metaverse, NianticLabs