อาการสะลึมสะลือในเช้ามืดของวันเสาร์คงแสดงออกชัดเจนทางสายตา จนเพื่อนที่ชวนมาดู ‘วาฬ’ แบบปุปปับเมื่อวานรู้สึกผิดหน่อยๆ จึงอาสารับหน้าที่เป็นสารถีและออกปากให้เราหลับยาวๆ ไปอีกเกือบสองชั่วโมง แน่ล่ะสิ ก็ทริปนี้เรามาในฐานะ ‘ผู้มาแทน’ แต่เรื่องเที่ยวขอให้บอกเถอะ เมื่อไรเมื่อนั้น พร้อมเสมอ แม้จะไม่ทันได้ฟังว่า ปลายทางอยู่ที่ไหน ความทรงจำครั้งสุดท้ายของเราจึงได้ยินแต่คำว่า เพชรบุรี รู้สึกตัวอีกทีตาก็ยิบหยีสู้แสงทองของดวงอาทิตย์ “ถึงแล้วจ้ะ บางตะบูน”
วิถีชุมชนชาวบางตะบูน
กลิ่นคาวน้ำเค็มผสมโอโซนลอยมา เราเรียกกำลังวังชาด้วยการสูดทั้งสองอย่างเข้าปอดไปเต็มๆ กลุ่มคนรักสุขภาพร่างกำยำวิ่งเป็นจังหวะพร้อมเพรียงสร้างเงายึกยือบนตัวสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา รถจอดสนิทที่หน้าตลาดนัดตอนเช้า หนึ่งในกิจกรรม A must เวลาออกต่างจังหวัดเสมอ กลิ่นอาหารคาวหวานปรุงใหม่ๆ ทำให้น้ำย่อยพลุ่งพล่าน เดินเพลินจนเกือบลืมเวลานัดแนะกับกลุ่มชมวาฬ Whale Watching Group Thailand สายเรียกเข้าหยุดกิจกรรมชิมช็อปแชะ แล้ววิ่งหน้าตื่นไปสมทบชาวบ้านได้ทันในเสี้ยววินาที
เรือชมวาฬ
แปดโมงเช้าแดดยังไม่แรงมาก เราและเพื่อนรวมกับกรุ๊ปอื่นๆ ทั้งหมด 20 คน ทยอยกันขึ้นเรือประมงซึ่งดัดแปลงให้บริการเป็นเรือท่องเที่ยว ดูสะอาดสะอ้านและมีห้องน้ำบนเรือ เมื่อเริ่มออกจากท่า ฝ่าสายลมโชยฉิว ทุกคนจึงเริ่มชิลล์ “คุณโน้ต” เจ้าหน้าที่ของกลุ่มชมวาฬช่วยอธิบายถึงโปรแกรมวันเดย์ทริปแบบคร่าวๆ คือจะใช้เวลาเดินทางไปหาวาฬตามจุดต่างๆ ราว 2 ชั่วโมง พักรับประทานอาหารและกลับมาถึงฝั่งประมาณห้าโมงเย็น ส่วนช่วงเวลาที่จะพบฝูงวาฬบรูด้าไม่สามารถกำหนดเวลาและจุดการเจอวาฬได้ คนขับเรือประมงจะขับเรือไปเรื่อย ๆ ในจุดที่คาดการณ์ว่า มีฝูงปลาเล็กปลาน้อยอันเป็นอาหารอันโอชะของวาฬ “ขอให้วันนี้เราโชคดี!”
เรือค่อยๆ วิ่งผ่านป่าชายเลนและออกสู่ ‘อ่าวตัว ก’ ส่วนบนสุดของอ่าวไทย ระหว่างทางพบเห็นวิถีชีวิตชุมชนของชาวบางตะบูนทั้งฟาร์มหอยแครง หอยนางรม และหอยแมลงภู่ รวมถึงโป๊ะปลาแม่กลอง ระหว่างนี้ทุกคนจึงใช้เวลากับโมเมนต์ของตัวเอง ไม่ว่าจะกินอาหารเช้าแบบง่ายๆ นั่งใส่หูฟังเพลง เมาท์มอยเรื่องเจ้านายกันคล่องปาก ไปจนถึงเล่นเกมซ่อนตาดำ มีคู่รักคู่หนึ่งเอานกค๊อกคาเทลแก้มแดงมาเที่ยวด้วย เจ้านกตีปีกรับลมดูเหมือนชอบใจได้ใช้ปีกรับอิสระ แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวก็ตาม เราเองไม่แพ้กันเจอลมเย็นตึงๆ เข้าไปความเหนื่อยล้าจากงานกองพะเนินเทินทึกก็ลายไปเสียสิ้น อย่างที่คำขวัญประจำชาติบีชเลิฟเวอร์ทั้งหลายเคยกล่าวไว้นั่นแหละ “Happiness comes in waves”
ปลาซิวปลาสร้อย อาหารของวาฬบรูด้า
ผ่านไปแค่ชั่วโมงกว่า คนนั่งแถวหน้าเรือเริ่มออกอาการชี้มือชี้ไม้ ฝูงโลมาราวสามสี่ตัวกระโดดเด้งไปมาอยู่ลิบๆ พอกรุ๊ปหน้าเรือเห็น กรุ๊ปหลังเรือและข้างๆ ก็เริ่มออกอาการมองหา เด็กชายตัวจิ๋วที่สุดในนาวีวิ่งวุ่นไปทั่วแล้วร้องว่า “ไหนอะๆ” ทุกคนเริ่มสนุกกับการจ้องมองไปที่ทะเล เจ้าสัตว์ที่ได้รับการจัดอันดับความฉลาดเป็นที่ 2 ของโลกดูเหมือนจะรับรู้สัญญาณความอยากเห็นของเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย โผล่ซ้ายที ขวาที ให้ได้รอยยิ้มกันถ้วนทั่ว ถึงแม้จะปลื้มปริ่มกับโลมาแสนรู้มากแค่ไหน แต่เชื่อว่า ทุกคนต่างภาวนาที่จะได้พบกับพระเอกพี่เบิ้มของน่านน้ำไทยโดยไว
วาฬบรูด้าอ้าปากงับปลาเล็กปลาน้อย
เรือบ่ายหน้าสู่ท้องฟ้าที่ไกลลิบออกไป วินาทีที่เฝ้าคอยก็มาถึง กัปตันของเราก็ได้รับสัญญาณข่าวดีจากเรือที่ออกไปก่อนหน้า พบวาฬบรูด้าแล้ว! องศาเรือเริ่มหันเหไปตามคำกล่าวอ้าง กัปตันเร่งเครื่องเต็มแรงพร้อมกับเสียงเชียร์ของทุกคน ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที เราก็ตามเรือต้นเรื่องได้ทัน แต่…น่าเสียดายที่วาฬตัวนั้นหายไปแล้ว ทีมเจ้าหน้าที่ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะเกมล่าวาฬเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง
และแล้วก็เป็นจริงดังว่า วาฬบรูด้าแม่ลูกอยู่ห่างออกไปที่ 9 นาฬิกา พอเห็นตัวเจ้าหน้าที่บนเรือก็พากันเรียกชื่อ “แม่วันดี” ซึ่งมาพร้อมกับ “เจ้าวันชัย” สายตาทุกคนยังเฝ้ามองผิวน้ำไปอย่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
จากเห็นไกลๆ ก็เริ่มเขยิบเข้ามาใกล้ๆ ทุกคนบนเรือตื่นเต้นจนกลั้นอาการไม่อยู่ สองแม่ลูกว่ายตีคู่เรือของเรา ก่อนจะค่อยๆ โชว์การพ่นน้ำขึ้นเป็นฝอยกลางอากาศ เสียงชัตเตอร์ลั่นรัวๆ เลนส์กระบอกข้าวหลามถูกยกขึ้นมาใช้งานกันพึ่บพั่บ แวะมาอวดโฉมได้สักพักแล้วสองแม่ลูกก็ดำหายไป ทุกคนต่างแซวกันว่า สงสัยแม่วันดีมีคิวแสดงต่อ
เรือยังคงแล่นไปเรื่อยๆ และเราก็ยังพบเห็นวาฬบรูด้าในเกือบทุกครึ่งชั่วโมง ไกลใกล้สลับกันแล้วแต่ตาดีได้ ที่เห็นจะๆ คือ วาฬตัวหนึ่งซึ่งพิการครีบ มีรอยเหมือนโดนตัดน่าสงสาร คุณโน้ตเล่าว่า ตัวนี้เคยถูกเฝ้าสังเกตและดูแลใกล้ชิดโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เลยค่อนข้างเป็นมิตรกับคน เรือทุกลำจะมีกฎไม่เข้าใกล้วาฬจนเกินไป เรือของเราไม่ใช่เล็กๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวาฬแล้ว เราถึงกับอึ้ง จากฝั่งซ้ายวาฬบรูด้าค่อยๆ ลอดท้องเรือมาโผล่ด้านขวา ทุกคนรับรู้ได้ถึงพลังใต้น้ำอันทรงพลัง ช่างเป็นความมหัศจรรย์ของสัตว์โลกยิ่งนัก เสียงของนกค๊อกคาเทลดังขึ้นมาทันทีเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลโผล่ขึ้นมาใกล้ๆ สัตว์บนฟ้ากับพญาใต้ผืนน้ำอาจจะสื่อสารอะไรกันบางอย่าง
วาฬโผล่ขึ้นมาสูดลมหายใจในทุก ๆ 20 นาที
เรือแล่นมาได้เกือบเที่ยงกว่า ทุกคนเสียพลังกับการไล่ล่ามองหาวาฬไปไม่ใช่น้อย อาหารกลางวันถูกเสิร์ฟมาได้จังหวะ พักยกเพื่ออิ่มท้องและคลายความกระหายน้ำในขณะที่เรือเริ่มผ่อนสปีด ภัตตาคารกลางน้ำครั้งนี้ไม่ได้เลิศหรู แต่พูดได้เต็มปากว่า เป็นอีกมื้อที่น่าจดจำ หลังอิ่มหนำทุกคนสวมวิญญาณนักเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยอัตโนมัติ ไม่มีการทิ้งขยะลงน้ำแต่อย่างใด เพื่อผืนทะเลไทยจะได้อยู่กับเรานานๆ
คนขับเรือยังคอยหาโอกาสและโชคก็มาพร้อมกับความพยายาม เรือเข้าใกล้ไปยังแหล่งชุมนุมปลาเล็กปลาน้อย ช่างภาพทุกคนตั้งกล้องเตรียมพร้อม คำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลเร็วเกินคาด วาฬบรูด้าโผล่ขึ้นมา และใช้ปากโต ๆ เสยปลาเล็กๆ เข้าปากของมัน โดยมีฝูงนกนางนวลบินอยู่เหนือน้ำเพื่อคอยจิกปลาที่กระโดดหนีวาฬอีกที สัจธรรมเรื่องปลาเล็กกินปลาใหญ่กลายเป็นภาพชัดๆ ตรงหน้านี่เอง เรายังเห็นครีบหลังของวาฬบรูด้าตัวอื่นๆ ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงเล็กน้อย บางตัวโก่งตัวสวยงามก่อนดำน้ำและชูหางขึ้น เรียกได้ว่า อยากได้ภาพแบบไหน นางแบบของเราจัดให้ทุกกระบวนท่า สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ลูกทัวร์เป็นอย่างมาก
ช่วงเวลาที่เราจดจำได้มากที่สุด คือการเผชิญหน้ากับเหล่าวาฬบรูด้าอันยิ่งใหญ่ การได้เห็นพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในน่านน้ำไทย และมีชื่อเรียกแบบไทยๆ ทำให้เรารู้สึกผูกพันขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว เหนือกว่าความดีใจทั้งหมด คือความภูมิใจที่ว่า ประสบการณ์อันล้ำค่าครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และขอให้มันเป็นเช่นนั้นตลอดไป
เครดิตภาพ: Whale Watching Group Thailand
Fact Box
- 4 จุดชมวาฬ ในอ่าวตัว “ก”
- 1. จุดลงเรือบริเวณปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม
- เรือลุงจำรูญ ตรงสะพานบางตะบูน ติดต่อ โทรศัพท์ 032-581-233
- เรือลุงเล็ก (ร้านริมทะเล)โทรศัพท์ 032-581-306
- เรือบางตะบูนเบย์ โทรศัพท์ 082-499-9993
- กลุ่มชมวาฬ Whale watching group thailand https://m.facebook.com/groups/1488576441360539?ref=share หรือ https://www.facebook.com/WhaleWatchThai
- 2. จุดลงเรือบริเวณท่าเรือแหลมผักเบี้ย ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม
- คุณมนู อรัญพันธ์ ประธานชมรมวาฬบรูด้าแหลมผักเบี้ย โทรศัพท์ 081-856-4939 คุณสนธยา โทรศัพท์ 092-567-5713
- 3. จุดลงเรือบริเวณหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี
- ติดต่อประสานงาน คุณเปิ้ล เจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวเทศบาลหาดเจ้าสำราญ โทรศัพท์ 089-395-8852, 087-793-2739
- 4. จุดลงเรือบริเวณสมุทรสาคร
- Wild Encouter Thailand www.facebook.com/wildencounterthailand
- ร้านเจ๋ง ครัวชายทะเล โทรศัพท์ 098-795-4563
การเดินทาง : ออกจากกรุงเทพตอนเช้าราว6:00 น. วิ่งผ่านถนนพระราม 2 ตัดเข้าเส้นทางเลี่ยงเมืองเรียบทะเล (เส้นทางลัดไปชะอำ) เส้นทางนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่คนชอบมาใช้เป็นเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยว โดยจะผ่านคลองโคลน สมุทรสงคราม เข้าสู่ ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี